วารสารวิชชาการ วิชาราม เล่ม 2 บรรณาธิการ แถลง

บรรณาธิการแถลง

Editor’s note

วารสารวิชาการวิชชาราม (VIJJARAM JOURNAL) จัดทำโดยสถาบันวิชชาราม มูลนิธิแพทย์วิถีธรรมแห่งประเทศไทย เพื่อเผยแพร่ผลงานวิชาการและผลการศึกษาวิจัยทางด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตหรือสุขภาวะของมวลมนุษยชาติด้วยพุทธธรรมะปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง การแพทย์องค์รวมการเรียนรู้ตลอดชีวิตรวมทั้งเปิดกว้างเป็นสื่อกลางแลกเปลี่ยนความรู้ทางวิชาการและประสบการณ์การวิจัยที่สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์และเป็นประโยชน์ต่อสังคมไทยและสังคมโลกทุกด้าน เช่นศาสนา สุขภาพ การศึกษาการเกษตร เศรษฐศาสตร์ และอื่นๆ กำหนดการเผยแพร่ราย 4 เดือน ปีละ 3 ฉบับ  ฉบับนี้เป็นฉบับที่ 2 ปีที่ 1 เดือนพฤษภาคม – สิงหาคม2561

สิ่งที่มีค่าที่สุดคือการดับทุกข์ได้สำเร็จ ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า

ในพระไตรปิฎก เล่ม 13 ข้อ 152 ดูกรมาลุงกยบุตรเพราะเหตุนั้นแลเธอทั้งหลายจงทรงจำปัญหาที่เราไม่พยากรณ์(ไม่อธิบาย)โดยความเป็นปัญหาที่เราไม่พยากรณ์และจงทรงจำปัญหาที่เราพยากรณ์(อธิบาย) โดยความเป็นปัญหาที่เราพยากรณ์เถิด.

ดูกรมาลุงกยบุตร อะไรเล่าที่เราไม่พยากรณ์ดูกรมาลุงกยบุตรทิฏฐิว่าโลกเที่ยงโลกไม่เที่ยงโลกมีที่สุดโลกไม่มีที่สุดชีพอันนั้นสรีระก็อันนั้นชีพอย่างหนึ่งสรีระอย่างหนึ่งสัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไปมีอยู่สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไปไม่มีอยู่สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไปมีอยู่ก็มีไม่มีอยู่ก็มีสัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไปมีอยู่ก็หามิได้ไม่มีอยู่ ก็หามิได้ดังนี้เราไม่พยากรณ์.

ดูกรมาลุงกยบุตรก็เพราะเหตุไรข้อนั้นเราจึงไม่พยากรณ์เพราะข้อนั้นไม่ประกอบด้วยประโยชน์ไม่เป็นเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์ไม่เป็นไปเพื่อความหน่ายเพื่อความคลายกำหนัดเพื่อความดับเพื่อความสงบเพื่อความรู้ยิ่งเพื่อความตรัสรู้เพื่อนิพพานเหตุนั้นเราจึงไม่พยากรณ์ข้อนั้น.

ดูกรมาลุงกยบุตรอะไรเล่าที่เราพยากรณ์ดูกรมาลุงกยบุตรความเห็นว่านี้ทุกข์นี้เหตุให้เกิดทุกข์นี้ ความดับทุกข์นี้ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ดังนี้เราพยากรณ์. ก็เพราะเหตุไรเราจึงพยากรณ์ข้อนั้นเพราะข้อนั้นประกอบด้วยประโยชน์เป็นเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์เป็นไปเพื่อความหน่ายเพื่อความคลายกำหนัดเพื่อความดับเพื่อความสงบเพื่อความรู้ยิ่งเพื่อความตรัสรู้เพื่อนิพพานเหตุนั้นเราจึงพยากรณ์ข้อนั้น. เพราะเหตุนั้นแหละ เธอทั้งหลายจงทรงจำปัญหาที่เราไม่พยากรณ์โดยความเป็นปัญหาที่เราไม่พยากรณ์และจงทรงจำปัญหาที่เราพยากรณ์โดยความเป็นปัญหาที่เราพยากรณ์เถิด.

พระไตรปิฎก เล่ม 19 ข้อ 1717 พระผู้มีพระภาคตรัสถามภิกษุทั้งหลายว่าดูกรภิกษุทั้งหลายเมื่อผ้าหรือศีรษะถูกไฟไหม้แล้วจะควรกระทำอย่างไร?  ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่าข้าแต่พระองค์ผู้เจริญเมื่อผ้าหรือศีรษะถูกไฟไหม้แล้วควรจะกระทำความพอใจความพยายามความอุตสาหะความไม่ย่นย่อความไม่ท้อถอยสติและสัมปชัญญะอย่างแรงกล้าเพื่อดับผ้าหรือศีรษะนั้น.

พระพุทธเจ้าตรัสดูกรภิกษุทั้งหลายบุคคลพึงวางเฉยไม่ใส่ใจถึงผ้าหรือศีรษะที่ถูกไฟไหม้แล้วพึงกระทำความพอใจความพยายามความอุตสาหะความไม่ย่นย่อความไม่ท้อถอยสติและสัมปชัญญะอย่างแรงกล้า เพื่อตรัสรู้อริยสัจ4ที่ยังไม่ตรัสรู้ตามความเป็นจริงอริยสัจ4เป็นไฉน?  คือทุกขอริยสัจสมุทัยอริยสัจ ทุกขนิโรธอริยสัจทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจดูกรภิกษุทั้งหลายเพราะฉะนั้นแหละเธอทั้งหลายพึงกระทำความเพียร เพื่อรู้ตามความเป็นจริงว่านี้ทุกขอริยสัจสมุทัยอริยสัจ ทุกขนิโรธอริยสัจทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ

พระไตรปิฎกเล่ม 4 ข้อ 14 ดูกรภิกษุทั้งหลายข้อนี้แลเป็นทุกขอริยสัจคือความเกิดก็เป็นทุกข์ความแก่ ก็เป็นทุกข์ความเจ็บไข้ก็เป็นทุกข์ความตายก็เป็นทุกข์ความประจวบด้วยสิ่งที่ไม่เป็นที่รักก็เป็นทุกข์ ความพลัดพรากจากสิ่งเป็นที่รักก็เป็นทุกข์ปรารถนาสิ่งใดไม่ได้สิ่งนั้นก็เป็นทุกข์โดยย่นย่ออุปาทานขันธ์5 เป็นทุกข์

ดูกรภิกษุทั้งหลายข้อนี้แลเป็นทุกขสมุทัยอริยสัจคือตัณหาอันทำให้เกิดอีกประกอบด้วยความกำหนัดด้วยอำนาจความเพลินมีปกติเพลิดเพลินในอารมณ์นั้นๆคือกามตัณหาภวตัณหาวิภวตัณหา.

ดูกรภิกษุทั้งหลายข้อนี้แลเป็นทุกขนิโรธอริยสัจคือตัณหานั่นแลดับโดยไม่เหลือด้วยมรรคคือวิราคะสละสละคืนปล่อยไปไม่พัวพัน.

ดูกรภิกษุทั้งหลายข้อนี้แลเป็นทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจคืออริยมรรคมีองค์8นี้แหละคือปัญญาเห็นชอบ1ความคิดชอบ 1 วาจาชอบ 1 การกระทำชอบ 1 อาชีพชอบ 1 เพียรชอบ 1 สติชอบ 1 ตั้งจิตชอบ1.

จะเห็นได้ว่า พระพุทธเจ้าพบว่า ทุกข์ใจที่มีกับร่างกายหรือเหตุการณ์ต่างๆ เป็นทุกข์อริยสัจ อันมีต้นเหตุมาจากตัณหาคือความอยากตามที่ชอบชัง (ชอบก็อยากได้มา ชังก็อยากเอาออกไป) อยากได้สมใจ ยึดมั่นถือมั่นว่า ถ้าได้สมใจจึงจะสุขใจชอบใจ ถ้าไม่ได้สมใจก็จะทุกข์ใจไม่ชอบใจ อันเป็นรากเหง้าของทุกข์ใจ ทุกข์กาย และเรื่องร้ายทั้งมวล สภาพดับทุกข์คือตัณหาดับ เป็นสภาพยินดีในความไม่ชอบไม่ชัง ไม่ยึดมั่นถือมั่น (ยึดในสิ่งที่ควรยึด วางในสิ่งที่ควรวาง) ไม่กลัว ไม่กังวล ไม่ระแวง ไม่หวั่นไหว วิธีดับทุกข์คือ อริยมรรคมีองค์ 8 (อริยศีล อริยสมาธิ อริยปัญญา)เมื่อดับทุกข์ใจได้ จะไม่ทำชั่ว จะทำแต่ดี ด้วยจิตใจที่ผ่องใส จึงทำให้ทุกข์กายหรือเรื่องร้ายจากพฤติกรรมใหม่ไม่เกิด ทุกข์กายหรือเรื่องร้ายจากพฤติกรรมเก่าที่พลาดทำมาแล้วในชาตินี้หรือชาติก่อนๆก็จะลดลงเบาลงไปเรื่อยๆ

พระพุทธเจ้ายืนยันว่า ทุกข์ใจเป็นทุกข์ที่ทุกข์ที่สุดในโลก เป็นทุกข์ที่มีความแรงเปรียบเทียบเท่ากับดินทั้งแผ่นดินเมื่อเทียบกับทุกข์กายหรือเรื่องร้ายมีความแรงเปรียบเทียบเท่ากับฝุ่นปลายเล็บ (พระไตรปิฎกเล่ม 16 ข้อ311)

วารสารวิชาการวิชชารามจึงเน้นการสื่อสารสาระที่สามารถดับหรือลดปัญหาของชีวิตได้จริง จึงจะเป็นประโยชน์สุขที่แท้จริงต่อมนุษยชาติ

หวังว่าท่านที่ติดตามวารสารวิชชารามจะได้รับสาระที่เป็นประโยชน์สุขต่อชีวิตตนและคนที่ท่านปรารถนาดี

เจริญธรรม สำนึกดี มีอภัย ไร้ทุกข์

ดร.ใจเพชร กล้าจน

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *