สรุปข่าวห้องเรียน วิชา อริยสัจ 4 สัปดาห์ที่ 29

สรุปข่าวห้องเรียน วิชา อริยสัจ 4 สัปดาห์ที่ 29

วันอาทิตย์ที่ 18 กรกฎาคม 2564 เวลา 12.00-15.30 น.

วันนี้มีนักศึกษาให้ความสนใจเข้าร่วมศึกษาเรียนรู้ทั้งหมด 62 ท่าน บรรยากาศในห้องเรียนเต็มไปความเบิกบานดร. วรางคณา ไตรยสุทธิ์ (คุรุพุทธพรฟ้า) รับหน้าที่ผู้ดำเนินรายการและได้ชี้แจงรายละเอียดหลักเกณฑ์ การให้คะแนน วิชา อริยสัจ 4 60 เปอร์เซ็นต์ ดังนี้

    • ควรปรับปรุง     7 คะแนน
    • พอใช้             10 คะแนน
    • ดี                    13 คะแนน
    • ดีมาก             15 คะแนน

จากนั้นคุณปิ่น คำเพียงเพชร ได้แจ้ง หลักการโหวตให้คะแนน สำหรับนักศึกษาที่มาเสนอการบ้านในชั้นเรียน ดังนี้

    1. ความเบิกบานระหว่างการนำเสนอ
    2. การนำเสนอที่กระชับ เข้าใจได้ง่าย
    3. การเขียนถูกต้องตามหัวข้อ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค
    4. การบ้านที่นำเสนอ สามารถปฏิบัติสู่ความพ้นทุกข์ได้ตามลำดับ

วันนี้มีนักศึกษานำเสนอการบ้าน เพื่อบำเพ็ญทั้งหมด 4 ท่าน ดังนี้

  1. คุณพิมพ์พศินา สิทธิประเสิรฐ (เพียรเย็นพุทธ) เรื่อง ชังที่พูดไม่จบ
    ท่านโทรศัพท์ถามพ่อบ้านว่าจัดของเสร็จหรือยัง แต่พ่อบ้านท่านก็พูดตัดบทเสียงดังว่าก็ปิดร้านเลย พูดทางโลกก็คือพูดประชดนั่นแหละ เกิดทุกข์ ชังพ่อบ้านไม่ให้โอกาสพูดจนจบ ท่านได้พิจารณาว่าวิบากต้องรับ ถ้าเป็นแต่ก่อนที่เรายังไม่มีธรรมะเราต้องโต้กลับทันทีแต่เดี๋ยวนี้เราได้ปฏิบัติธรรมเจริญในศีลขึ้นมาตามลำดับ ๆ ใจไม่ทุกข์เพราะเข้าใจอย่างแจ่มแจ้งแล้วว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมันสังเคราะห์การกระทำของเราเอง ที่เคยทำไม่ดีมาส่งเสริมทำชั่วมาจึงได้รับหรือวิบากร้าย เราทำมา ๆ ๆ และใช้บททบทวนธรรม เจอผัสสะไม่ดีได้โชค 5 ชั้น คือได้เห็นทุกข์ ได้ล้างทุกข์ ได้ใช้วิบาก และเพิ่มวิบากดี ดีก็จะออกฤทธิ์ ได้มากยิ่งขึ้น ใจก็จางคลาย ไร้ทุกข์อย่างเบิกบาน
  2. คุณจิรานันท์ จำปานวน เรื่อง เหยียบลวดหนาม เจอกิเลส
    ในระหว่างที่เก็บสาหร่ายหางกระรอกในสระ เราก็เหยียบลวดหนามเก่าๆ ขึ้นสนิมดำ ๆ  เกิดทุกข์ใจกลัวจะเป็นบาดทะยักจึงเดินมรรคด้วยหลักอริยสัจ 4 พิจารณาว่าทำไมต้องกลัวให้ใจเป็นทุกข์ บาดทะยักก็ยังไม่ได้เป็นจริง ๆ จะไม่ป่วยเพราะเป็นบาดทะยักหรอก แต่จะป่วยเพราะมารตัวกลัวนี่แหละ เพราะใจเป็นใหญ่ ถ้าใจกลัวก็จะทุกข์ใหญ่เลยนะคราวนี้ ใจที่กลัวก็เบิกบานขึ้น
  3. คุณสุมา ไชยช่วย เรื่อง พูดมากจัง
    ไปธุระกับลูกสะใภ้ ๆ พูดตั้งแต่ขึ้นรถ ยันไปถึงจุดหมาย ท่านรู้สึกรำคาญเกิดทุกข์ จึงได้พิจารณาวิบากกรรม คิดถึงตอนที่ท่านยังลดกิเลสไม่เป็น ก็มีสภาพเหมือนกับลูกสะใภ้นั่นแหละ ต้องเมตตาเขา เต็มใจรับฟังเขาด้วยความยินดี การที่เราไปรำคาญเขาเท่ากับเรามีกิเลสเขาก็มีกิเลส เท่ากับเราเป็นแรงเหนี่ยวนำเขา ยิ่งอยากให้เขาหยุดพูดเขายิ่งไม่หยุด ทำให้ยิ่งพูดมากขึ้น เขาจึงไม่หยุดพูดสักที เราต้องเพิ่มศีลเราให้เพิ่มขึ้น จึงเพิ่มศีลว่า จะไม่รำคาญ และเพ่งโทษ ลูกสะใภ้อีก ท่านเล่าว่าจะพากเพียรต่อไป
  4. คุณปิ่น คำเพียงเพชร เรื่อง ยืนหยัดและสู้ต่อ
    เนื่องจากการบำเพ็ญกับทีมคุรุ วิชา อริยสัจ 4 มาสักระยะหนึ่ง และพบว่าตัวท่านเอง ทำผิดพลาดทำพร่องอยู่บ่อยครั้งทั้งที่พยายามทำดีเต็มที่แล้ว ท่านเกิดทุกข์ ท้อใจ อัดอั้นใจ ที่ทั้ง ๆ ที่ได้พยายามทำเต็มที่แล้วแต่ก็ยังทำได้ไม่ดี ยังพลาด ซ้ำ ๆ อีก จึงคิดจะถอยด้วยการขอถอนตัวออกจากทีม เมื่อเห็นกิเลสความยึดมั่นถือมั่นของท่าน ท่านจึงได้ใช้หลักอริยสัจ 4 ล้างทุกข์ของท่าน พิจารณาเห็นความจริงว่า ความท้อใจ อัดอั้นใจ ความยึด ว่าถ้าทำงานออกมาแล้วไม่พลาดไม่พร่องจะดี ถ้าพลาดถ้าพร่องไม่ดี และคิดจะถอยออกมาแบบนี้นี่มันไม่ดี มันคือความคิดของกิเลสอัตตาของเรา ตราบใดที่เรายังมีกิเลสอยู่ ความพร่องความพลาดก็ย่อมเกิดขึ้นได้อยู่แล้วเป็นธรรมดา สำคัญคือเมื่อเราได้พยายามทำดีเต็มที่ตามภูมิแล้วยังพลาดยังพร่องอยู่ เราก็ไม่ทุกข์ใจ และพร้อมน้อมนำมาปรับปรุงแก้ไขเท่าที่สามารถทำได้นี่สิดี คือหนทางในการเจริญในธรรมของเรา เมื่อพิจารณาดังนี้ ความทุกข์ใจในครั้งนี้ก็คลายลง และ มีพลังที่จะยืนหยัดในการสู้กิเลสต่อไปได้ขึ้นมาอีก

ในครั้งนี้อาจารย์ ดร.ใจเพชร กล้าจนได้ ให้สัมมาทิฏฐิ ว่า คนเรามันมี “ความพลาด ความพร่อง อยู่ตลอดกาล”มีสิ่งเดียวที่ไม่พลาดไม่พร่อง คือ อริยสัจ 4 นอกนั้นพลาดพร่องทุกเรื่อง แม้แต่พระอรหันต์ พระโพธิสัตว์ ก็พลาด พระพุทธเจ้า พลาดน้อยที่สุด จิตวิญญาณพระพุทธเจ้า ไม่พลาด พระพุทธเจ้า ตรัสโลกนี้พร่องอยู่เป็นนิจ เพราะมี “วิบากที่เลี่ยงไม่ได้”ตัวจริงความพร่องความพลาด คือ กิเลส ทุกข์เลี่ยงไม่ได้ 6 อย่าง หนึ่งในนั้น คือ วิบาก ทุกสิ่งนอกจาก อริยสัจ 4  “นิโรธ” นอกนั้นไม่มีอะไรไม่พร่องไม่พลาด

ความพร่องความพลาด เป็นสัจจะของชีวิต ตราบปรินิพพาน แม้ไม่มีกิเลสก็ยังพร่องยังพลาด นอกจากจิตวิญญาณที่ไร้ทุกข์ ไม่มีอะไรเที่ยง ให้เลิกยึดมั่นถือมั่น เมื่อเห็นความพร่อง ความพลาดก็แก้ไข อย่าทำทุกข์ทับถมตัวเรา

ที่สำคัญ ความพร่องความพลาด มี 2 มิติ ใหญ่
1.) สิ่งที่พร่องพลาด ต้องเลิกทำตลอดกาลนาน ปิดกั้นเกิน ฝืดฝืนเกิน
2.) ต้องทำต่อ ลำบากแต่ยังทำได้ แก้ไขได้ ไม่ปิดกั้น เส้นทางโปร่งโล่ง

ในช่วงท้าย คุณพุทธพรฟ้าพิธีกรของเราจากลากันด้วย สโลแกน พูดคุยภาษาโลกุตระ อริยสัจ 4

อนุโมทนาสาธุกับพี่น้องนักศึกษาทุกท่าน

เจริญธรรม สำนึกดี มีใจไร้ทุกข์
อรวิภา กริฟฟิธส์ : รายงาน

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *