สรุปข่าวห้องเรียน วิชา อริยสัจ 4 สัปดาห์ที่ 25

สรุปข่าวห้องเรียน วิชา อริยสัจ 4 สัปดาห์ที่ 25

วันอาทิตย์ที่ 20 มิถุนายน 2564 เวลา 12.00-15.30 น

บรรยากาศในห้องเรียนวันนี้เต็มไปความเบิกบานยินดี มีนักศึกษาเข้าร่วมบำเพ็ญออนไลน์ผ่านซูม จำนวน 55 ท่านด้วยกัน ในช่วงแรก ดร. วรางคณา ไตรยสุทธิ์ (คุรุพุทธพรฟ้า) ได้ชี้แจงรายละเอียดหลักเกณฑ์ การให้คะแนน วิชา อริยสัจ 4 ดังนี้

    • การนำเสนอตรวจการบ้าน อริยสัจ 4 60 เปอร์เซ็นต์
    • การสอบภาคทฤษฎี                           20 เปอร์เซ็นต์
    • การส่งการบ้านรายสัปดาห์                10 เปอร์เซ็นต์
    • การมีส่วนร่วมในชั้นเรียน                    10 เปอร์เซ็นต์

จากนั้นคุณปิ่น คำเพียงเพชร ได้แจ้ง หลักการโหวตให้คะแนน สำหรับนักศึกษาที่มาเสนอการบ้านในชั้นเรียน ดังนี้

    1. ความเบิกบานระหว่างการนำเสนอ
    2. การนำเสนอที่กระชับ เข้าใจได้ง่าย
    3. การเขียนถูกต้องตามหัวข้อ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค
    4. การบ้านที่นำเสนอ สามารถปฏิบัติสู่ความพ้นทุกข์ได้ตามลำดับ

วันนี้มีนักศึกษานำเสนอการบ้าน เพื่อบำเพ็ญทั้งหมด 4 ท่าน ดังนี้

  1. คุณพลัฏฐ์ รัตนวชิรืนทร์ เรื่อง หาจนพบเจ้าตัวอยาก
    จากที่ส่งการบ้านอริยสัจ 4 ไปได้รับคำชี้แจงจากหมู่มิตรและอาจารย์ก็มาพิจารณาหาว่าตัวอยากของท่านมันอยู่ตรงไหน แต่ก่อนท่านเข้าใจว่าไม่ได้อยากอะไร ใครจะไปอยากให้ใครๆมาทำเรื่องโน่นนี่ใส่ แล้วท่านค่อยๆพิจารณาอ่านอาการตัวเอง ในเรื่องราวต่างๆที่ผ่านมา ในการดำเนินชีวิตแต่ละวันค่อยมาพบว่ามันหลบอยู่ตรงการที่เมื่อเจอเหตุการณ์ที่ไม่ได้ดั่งใจหมายนี่เอง เลยเจอเต็มไปหมดเลยคราวนี้ มีพี่น้องร่วมสังเคราะห์ และอาจารย์หมอเขียว ดร.ใจเพชร กล้าจน ได้ให้ธรรมะ การล้างความอยาก ว่าต้องล้างทีละอย่าง ๆ กำจัดกิเลสตัวอื่น ๆ ไปด้วย ล้างครั้งเดียวหมดพรวดเดียวเป็นไปไม่ได้ โดยสัจจะการรับรู้ รับรู้ได้ทีละตัว การล้างเราก็ล้างไปทีละตัว อาจารย์ยังกล่าวอีกว่า สิ่งที่ยากที่สุด คือการเห็นว่าความอยากเป็นทุกข์ ในเรื่องเดียวก็มีความอยากหลายเหลี่ยมหลายมุม หัวใจของการล้างทุกข์เราต้องรู้ว่าเราอยากเรื่องอะไร จับได้ก็สำเร็จเท่านั้นเอง โดยเฉพาะเรื่องไหนที่เป็นทุกข์ภัยที่ชัดเจนมากที่สุด แล้วเราจะหมดอยากหมดทุกข์ สุข-ทุกข์ คือรากเหง้าของความอยาก การล้างก็ให้พิจารณาโทษของสุขลวง ว่าเป็นโทษอย่างไร พิจารณาความไม่มีตัวตนแท้ ไม่เที่ยง แปรปรวนตลอดเวลา และทำให้ทุกข์ให้อยากต่อเนื่อง เพราะกลัวไม่ได้สมอยาก เวทนาและความอยากเป็นเหตุและผลของกันและกัน สุขก็ทำให้อยาก พอสมใจอยากก็สุก พอไม่สมใจอยากก็เป็นทุกข์ พิจารณาให้เห็นความเชื่อมโยงกัน พิจารณาความไม่เที่ยง ไม่มีตัวตนของมัน ทำให้ทุกข์เพิ่มโตขึ้นเรื่อย ๆ พิจารณาไปแบบใดก็ตาม มีปัญญาเห็นทุกข์ในสุขลวงให้ได้ ยิ่งเห็นได้มากเท่าไหร่ ๆ เราก็ยิ่งพ้นทุกข์ได้มากขึ้นเท่านั้น
  2. คุณโยธกา รือเซ็นแบร์ก (แจ้งศีล) เรื่อง อยากได้มากกว่านี้
    ทุกข์ของท่านเกิดจากการที่พ่อบ้าน รดน้ำผักไม่ชุ่มอย่างที่ใจต้องการ เลยเกิดทุกข์ใจขึ้น แต่ท่านก็แววไวพอจับอาการทุกข์ใจของท่านได้ ท่านก็ได้แก้ทุกข์ของท่านด้วยหลักอริยสัจ 4 พิจารณาเห็นโทษของการอยากได้มากกว่าที่เป็นไปได้จริง ท่านก็คลายทุกข์ใจของท่านได้ ยินดีรับแต่ของที่เขาให้ด้วยใจที่เป็นสุข พี่น้องนักศึกษาได้ร่วมกันสังเคราะห์ และอาจารย์หมอเขียว ก็ได้ให้ความเห็นเรื่องของการประมาณว่า เราต้องดูองค์ประกอบของแต่ละคนแต่ละเหตุการณ์ที่ต่างกัน การกระทำก็ต่างกัน ต้องรู้จักการเชื่อมร้อยวิญญาณ หรือการเอื้อต่อกัน
  3. คุณสิริรัตน์ ธนพรไพศาล (ผ่องพิมพ์พุทธ) เรื่อง อยากทำฉากหลังได้เวลาเข้าซูม
    ทุกข์ของท่านเกิดจากเวลาเข้าซูม แล้วทำฉากหลังไม่เป็น ทำให้ไม่เหมือนคนอื่น แต่พอท่านจับทุกข์ของท่านได้ท่านก็ล้างด้วยอริยสัจ 4 ซึ่งช่วยดับทุกข์ได้ดี ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ท่านเขียนการบ้าน แต่ก็พบว่าการใช้อริยสัจ 4 ช่วยล้างทุกข์ได้จริง
  4. คุณพิเชษฐ์ บุญย์วิรุฬห์ (ชุน จางคลาย) เรื่องเจ็บก็ให้มันเจ็บ
    รู้สึกเสียใจที่ตนเองได้ทำผิดพลาดไปหลายเรื่อง ท่านไม่อยากให้มีความผิดพลาด ยึดว่าถ้าไม่ผิดพลาดเลยจะเป็นสุข ท่านได้พิจารณาเข้าใจชัด ว่าหมดอยากก็หมดทุกข์ ยอมรับความผิดพลาดและแก้ไขความเจ็บป่วยไปตามเหตุปัจจัยได้ โดยไม่จำเป็นต้องทุกข์ใจเลย ทุกข์แค่ร่างกายเท่านั้น

ในช่วงสุดท้ายคุรุได้แจ้งนักศึกษา ที่สามารถเขียนอริยสัจ 4 ได้คล่องแคล่วแล้วสามารถต่อยอด โดยการเขียนบทความวิจัยตัวเองได้ จากกันด้วยสโลแกน พูดคุยภาษา โลกุตระ อริยสัจ 4 

อนุโมทนาสาธุกับพี่น้องนักศึกษาทุกท่าน

เจริญธรรม สำนึกดี มีใจไร้ทุกข์
อรวิภา กริฟฟิธส์ : รายงาน

 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *