สรุปข่าวห้องเรียน วิชา อริยสัจ 4 สัปดาห์ที่ 35

สรุปข่าวห้องเรียน วิชา อริยสัจ 4 สัปดาห์ที่ 35

วันอาทิตย์ที่ 29 สิงหาคม 2564 เวลา 12.00-15.30 น.

วันนี้มีนักศึกษาให้ความสนใจเข้าร่วมศึกษาเรียนรู้ทั้งหมด 41 ท่าน บรรยากาศในห้องเรียนเต็มไปความเบิกบาน คุณแพรลายไม้ กล้าจน ผู้ดำเนินรายการ เปิดห้องเรียนด้วยสโลแกน พูดคุยภาษาโลกุตระ อริยสัจ 4 จากนั้น ดร. วรางคณา ไตรยสุทธิ์ (คุรุพุทธพรฟ้า) ได้ชี้แจงรายละเอียดหลักเกณฑ์ การให้คะแนน วิชา อริยสัจ 4 60 เปอร์เซ็นต์ ดังนี้

    • ควรปรับปรุง     7 คะแนน
    • พอใช้             10 คะแนน
    • ดี                    13 คะแนน
    • ดีมาก             15 คะแนน

จากนั้นคุณปิ่น คำเพียงเพชร ได้แจ้ง หลักการโหวตให้คะแนน สำหรับนักศึกษาที่มาเสนอการบ้านในชั้นเรียน ดังนี้

    1. ความเบิกบานระหว่างการนำเสนอ
    2. การนำเสนอที่กระชับ เข้าใจได้ง่าย
    3. การเขียนถูกต้องตามหัวข้อ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค
    4. การบ้านที่นำเสนอ สามารถปฏิบัติสู่ความพ้นทุกข์ได้ตามลำดับ

วันนี้มีนักศึกษานำเสนอการบ้าน เพื่อบำเพ็ญทั้งหมด 5 ท่าน

  1. ขวัญจิต เฟื่องฟู เรื่อง ความกลัว
    ท่านมีทุกข์กลัวกังวลหวั่นไหว เกี่ยวกับร่างกายที่เจ็บป่วย ยึดว่าร่างกายเราต้องไม่ป่วย พอท่านเห็นความยึดมั่นถือมั่นทำให้ท่านเป็นทุกข์ ท่านจึงได้พิจารณาความไม่เที่ยงร่างกายว่า เขามีความเปลี่ยนแปลงเป็นธรรมดา ไม่ควรไปยึดว่ามันต้องเที่ยง ต้องเป็นดังที่ใจเราหมาย พอไม่ได้ดังใจเราก็สร้างความเบียดเบียนตนเอง เพราะว่าร่างกายที่เป็นอยู่ขณะนี้ก็ไม่เเข็งเเรงพอเเล้ว อย่าสร้างความกลัวมาเพิ่มทำให้จิตใจเราอ่อนเเอลงมากกว่านี้ เรากำลังเบียดเบียนตัวเอง ผิดศีลข้อที่หนึ่ง พิจารณา เชื่อต่อไปว่า สิ่งที่เราได้รับคือสิ่งที่เราทำมา ไม่มีสิ่งใดที่เราได้รับโดยที่ไม่เคยทำมา รับเเล้วก็หมดไป พี่น้องนักศึกษาร่วมแสดงความคิดเห็น และเป็นกำลังใจให้กับท่าน
    ท่านได้สรุปใจว่า ท่านรู้สึกตื่นเต้นที่ได้มาร่วมบำเพ็ญนำเสนอการบ้านในครั้งนี้
  2. นายจรูญ สุยะ (ชาติพุทธ) เรื่อง หงุดหงิดทำไม
    ท่านทุกข์ทำคลิปมาไม่ได้ดั่งใจจึงหงุดหงิด ยึดมั่นถือมั่นว่าทำคลิปมาดีจะสุขใจทำมาไม่ดีจึงหงุดหงิดทุกข์ใจ ท่านได้ใช้ บททบทวนธรรมมาพิจารณาในการแก้ทุกข์ ความสำเร็จของงาน ไม่ใช่ความสำเร็จของงาน ความสำเร็จของใจคือความสำเร็จของงาน
    หรือตามบททบทวนธรรมข้อที่ 82 จงฝึกอยู่กับความจริงของชีวิตที่พร่องอยู่เป็นนิตย์ อย่างผาสุกให้ได้
    และข้อที่ 84 ล้างความยึดมั่นถือมั่นของใจได้สำเร็จ คือ ความสำเร็จที่แท้จริง
    อาจารย์ หมอเขียว ดร.ใจเพชร กล้าจน ได้ให้สัมมาทิฏฐิว่า อยากได้ดีทำไมใจร้อน อยากได้ดีต้องทำดี ใจร้อนมันไม่ดีแล้ว อยากได้ดีต้องไม่ยึดมั่นถือมั่น โลภดี อยากได้มากกว่าที่เป็นจริง เป็นการเพิ่มพลังอกุศลเข้าไป งานที่หนักที่สุดในโลกคือแบกกิเลส
    คุรุพุทธพรฟ้า 
    สังเคราะห์เพิ่มเติมว่า ดูว่าเรายึดอะไร อยากอะไร  โลภอะไร
  3. ศิริพร ไตรยสุทธิ์ เรื่อง อยากได้ดั่งใจ
    ทุกข์น้อยใจที่ลูกชายไม่มีเวลาเข้าห้องเรียน อยากได้ดั่งใจ อยากให้ลูกชายเข้าห้องเรียนด้วยกัน ท่านได้พิจารณาเพิ่มเติมว่า อาการน้อยใจเกิดจากความอยากของตัวเรา (มันคือกิเลส) เมื่อคิดได้อย่างนั้น (ตามทันกิเลส) ก็วางใจ ปล่อยให้เป็นไปตามวิบากดีร้ายของแต่ละคน วิบากดีออกฤทธิ์เมื่อไร ลูกชายก็จะได้เข้ามาเรียนรู้เอง ความน้อยใจหายไป มีแต่ความยินดีที่ได้เข้าไปเรียนรู้ ผลปรากฏว่าพอท่านวางใจได้ลูกชายก็เข้ามาเรียน
  4. คุณโยธกา รือเซ็นแบร์ก เรื่อง ตื่นเต้น
    ท่านโดนตำรวจโบกมือเรียกให้จอด เห็นอาการตื่นเต้น ตกใจ อาการตื่นเต้นก็เป็นกิเลสทำให้ทุกข์ใจ ไม่อยากทุกข์ก็ต้องรีบล้างกิเลส พิจารณาโทษของความตื่นเต้นว่าไม่มีประโยชน์อะไร ยอมรับผิด ยอมรับโทษ ครั้งหน้าจะได้ ระวังสำรวมให้มากขึ้นกว่านี้  ไม่มีใครอยากพร่อง อยากพลาด ทุกคนก็อยากทำดีแต่ที่มันพลาด มันพร่องเพราะเราเคยทำชั่วมาหาที่ต้นที่สุดไม่ได้ แม้ขนาดพระพุทธเจ้าท่านก็ยังเคยพลาดทำมา พิจารณาถึงตรงนี้อาการตื่นเต้นค่อย ๆ เบาลงจนหายไป
  5. พรพรรณ เอ็ทสเลอร์ เรื่อง อึดอัดใจ
    อยากจะนึกประโยคภาษาเยอรมันให้ออกเพื่อคุณแม่ย่าจะได้เข้าใจสิ่งที่ท่านต้องการสื่อให้ท่านฟัง  ยึดดีว่าหากนึกคำพูดนั้นและสื่อให้ท่านฟังเข้าใจจะสุขใจ ถ้าท่านไม่เข้าใจความหมายที่จะสื่อออกไปจะทุกข์ใจ อึดอัดใจที่นึกประโยคภาษาเยอรมันไม่ออก ท่านได้พิจารณาว่าอยากได้สิ่งใด หากไม่ได้ก็จะทุกข์กับสิ่งนั้น แม้จะได้มาก็จะมีความสุขได้ไม่นาน ไม่ยั่งยืน  ทำให้เบียดเบียน ทั้งจิตวิญญาณและร่างของตัวเอง ทำให้เสียพลัง อวัยวะในร่างกายก็ต้องทำงานปั่นป่วนไปด้วย นี่แหล่ะคือทุกข์ แล้วจะทุกข์ทำไม เลิกซะสิ !พอคิดได้ท่านก็จึงได้สูดลมหายใจเข้าปอดลึก ๆ เข้าออกอยู่หลายครั้ง อาการอึดอัด แน่นหน้าอก และหายใจไม่ทั่วท้องก็เริ่มค่อยหายไป และหายใจคล่องขึ้นในที่สุด
    คุรุพุทธพรฟ้า สังเคราะห์ว่า ความอยากได้ดั่งใจหมาย พอไม่ทันใจจึงอึดอัดใจแน่นหน้าอก ความอยากได้ทำให้ใจร้อน ควรพิจารณาเพิ่มเติมว่า ความอึดอัด มาจากความอยาก ความยึดมั่นถือมั่น เหลี่ยมไหนมุมไหน ดูสภาวะความยึดมั่นถือมั่น

จากนั้นคุรุพุทธพรฟ้า ได้ประชาสัมพันธ์ ความคืบหน้าของงานฝ่ายทะเบียนการปรับปรุงการรับสมัครเข้าเรียนออนไลน์ มีความพร้อมประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์ จะประกาศอีกครั้งเมื่อพร้อมใช้งาน  ในวิชา อริยสัจ 4 มีพี่น้องนักศึกษามาร่วมห้องเรียนจากหลายภาค ทั้งอิสาน เหนือ ต่างประเทศ ภาคใต้มีหลายท่านร่วมสอบหลายครั้ง ซึ่งก็จะมีการเก็บคะแนนไว้ให้และเลือกครั้งที่ได้คะแนนสูงสุด ส่วนภาคกลางมีนักศึกษาสอบ 25 ท่าน เพราะมีกิจกรรมมากกว่าเพื่อนมีการสอบหน้าห้องเรียน ครั้งละ 2-3 ชั่วโมง จึงมีการร่วมกิจกรรมได้มากขึ้น การทำงานได้มีการปรับเปลี่ยนให้พี่น้องแต่ละภาคทำงานร่วมกันมากขึ้น กระจายกันทำงาน และหรือทำงานร่วมกัน ตอนนี้ทีมที่มีส่วนรับผิดชอบแล้วคือ ภาคกลาง ภาคใต้และต่างประเทศ ตอนนี้ยังขาดอยู่คือภาคอิสานและภาคเหนือ ประกาศขอแรงบุญมา ณ ที่นี่ด้วย
ด้านรหัสนักศึกษา ได้มีการปรับเปลี่ยนข้อมูลให้มีการติดตามได้ง่ายมากขึ้นจะได้มีการหารือกันในทีมทะเบียนนักศึกษาต่อไป

จากลากันด้วย สโลแกน พูดคุยภาษาโลกุตระ อริยสัจ 4

อนุโมทนาสาธุกับพี่น้องนักศึกษาทุกท่าน

เจริญธรรม สำนึกดี มีใจไร้ทุกข์
อรวิภา กริฟฟิธส์ : รายงาน

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *