สรุปข่าวห้องเรียน วิชา อริยสัจ 4 สัปดาห์ที่ 31
วันอาทิตย์ที่ 1 สิงหาคม 2564 เวลา 12.00-15.30 น.
วันนี้มีนักศึกษาให้ความสนใจเข้าร่วมศึกษาเรียนรู้ทั้งหมด 37 ท่าน บรรยากาศในห้องเรียนเต็มไปความเบิกบานดร. วรางคณา ไตรยสุทธิ์ (คุรุพุทธพรฟ้า) รับหน้าที่ผู้ดำเนินรายการและได้ชี้แจงรายละเอียดหลักเกณฑ์ การให้คะแนน วิชา อริยสัจ 4 60 เปอร์เซ็นต์ ดังนี้
-
- ควรปรับปรุง 7 คะแนน
- พอใช้ 10 คะแนน
- ดี 13 คะแนน
- ดีมาก 15 คะแนน
จากนั้นคุณปิ่น คำเพียงเพชร ได้แจ้ง หลักการโหวตให้คะแนน สำหรับนักศึกษาที่มาเสนอการบ้านในชั้นเรียน ดังนี้
-
- ความเบิกบานระหว่างการนำเสนอ
- การนำเสนอที่กระชับ เข้าใจได้ง่าย
- การเขียนถูกต้องตามหัวข้อ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค
- การบ้านที่นำเสนอ สามารถปฏิบัติสู่ความพ้นทุกข์ได้ตามลำดับ
วันนี้มีนักศึกษานำเสนอการบ้าน เพื่อบำเพ็ญทั้งหมด 3 ท่าน และอีก 2 กรณีศึกษา ดังนี้
- คุณพรพรรณ เอศเลอร์ เรื่อง กังวลผลข้างเคียงหลังจากฉีดวัคซีน covid-19 เข็มที่ 2
ท่านมีความกลัวกังวลที่จะไปฉีดวัคซีน เมื่อท่านเห็นอาการกลัวกังวลหวั่นไหวท่านจึงได้พิจารณาว่าความกลัว กังวลใจ ความหวั่นไหว มันคือกิเลสซึ่งเป็นสาเหตุทำให้เจ็บป่วยไม่สบาย และเป็นแรงเหนี่ยวนำดึงสิ่งไม่ดีและเรื่องร้ายต่าง ๆ เข้ามาใส่ตัว ดังนั้นจึงไม่ควรทุกข์กับเรื่องที่ยังไม่เกิดขึ้น ไม่ควรสร้างทุกข์ขึ้นมาทำให้ทุกข์ อยู่ดี ๆ ก็ดีอยู่แล้ว ท่านได้พิจารณาและเข้าใจเรื่องกรรมอย่างแจ่มแจ้งว่า ผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นกับแต่ละคนแตกต่างกัน ตามวิบากดีร้ายของแต่ละชีวิต จึงไม่ควรที่จะคิดปรุงแต่งไปมากให้เกิดความไม่สบายใจ สู้เตรียม กาย ใจ ให้พร้อม ก่อนที่จะได้รับวัคซีน เข็มที่ 2 จะดีกว่า - คุณสุดใจ โสะหาบ เรื่อง ไม่มีความมั่นใจในตัวเอง
มีความตื่นเต้นกลัวที่จะพูดต่อหน้าผู้คนเยอะ ๆ พิจารณาถึงกิเลสตัวเองที่เกิดขึ้นในแต่ละครั้งที่มีโอกาสได้พูด เกิดอาการทางใจคือ กลัว กังวลใจ ประหม่าตื่นเต้นและทำให้เกิดอาการทางกาย ใจเต้นแรง มือสั่น พูดตะกุกตะกัก พูดหน้าลืมหลัง นึกคำพูดไม่ออกว่าจะพูดต่อไปอย่างไร ซึ่งอาการเหล่านี้เป็นอาการที่เกิดขึ้นของกิเลส ที่กำลังหลอกทำให้เราทุกข์ใจ ปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่นที่จะทำให้ได้ดั่งใจหมาย เราให้มีความพลาด ความพร่องได้ เป็นเรื่องธรรมดาของชีวิต ไม่มีใครในโลกนี้ที่ไม่มีความพลาด ความพร่อง มันเป็นวิบากร้ายที่เราทำมา รับแล้วก็หมดไป - คุณโยธกา รือเซ็นแบร์ก เรื่อง คำศัพท์ที่น่าสนใจ
กระวนกระวายใจ ใจร้อนอยากรู้ความหมายพลังงานนิ่งและพลังงานเคลื่อน ยึดดีอยากจะรู้คำตอบและความหมายเร็ว ๆ ถ้ารู้คำตอบและความหมายเร็วจะสุขใจ ถ้ารู้คำตอบและความหมายช้าจะทุกข์ใจ พอจับอาการได้ว่าความอยากรู้เป็นกิเลส ก็ได้วางใจจะรู้คำตอบและความหมายเร็วหรือช้า หรือรู้ตอนไหนก็สุขใจ
คุรุพุทธพรฟ้าได้นำการบ้านของนักศึกษามาให้เรียนรู้อีก 2 กรณีศึกษา ดังนี้
- มงคลวัฒน์ รัตนชล (เพชรไพรพุทธ ) เรื่อง จิตไม่ผ่องใสเพราะไม่ได้ทำการบ้าน มีเหตุการณ์ที่ทำให้ไม่ได้ทำการบ้านทุกข์อริยสัจ เมื่อตรวจจิตดูรู้สึกไม่ผ่องใสเท่าที่ควร มีหมอง ๆ ให้เห็นได้อยู่ ถ้าได้ส่งการบ้านจะสุขใจ ไม่ส่งการบ้านจะหมองใจ พิจารณาเรื่องพร่อง เรื่องพลาด อย่าไปทำทุกข์ทับถมตนในเรื่องพร่อง เรื่องพลาด ที่พลาดไปแล้ว และตั้งศีลขึ้นมาทำใหม่ และเอาประโยชน์ต่อเรื่องที่พร่องที่พลาด ทำให้เห็นกิเลสทับถมตนโผล่มาให้ได้ล้างกิเลสตัวยึดดี เมื่อทำไม่ได้มักจะถ้าไม่โทษคนอื่นก็จะทำทุกข์ทับถมตน ทำให้ทุกข์ใจ หมองใจ เมื่อพิจารณาเสร็จ ความหมองก็คลายไปกลับมาเบิกบาน ทำดีที่ทำได้ด้วยใจผ่องใส ผาสุข ล้างทุกข์ ล้างสภาวะจิตหมองไปได้ ใจก็เบิกบาน
- คุณพรรณทิวา เกตุกลม เรื่อง อีกแล้วหรือ
รู้สึกเซ็งเล็กน้อย ที่พ่อบ้านลืมกุญแจรถไว้ในรถ ยึดมั่นถือมั่นว่าพ่อบ้านต้องไม่ลืมกุญแจ ชอบถ้าพ่อบ้านได้เอากุญแจออกมาจากรถ ชังที่ลืมไว้ในรถ พิจารณาด้วยบททบทวนธรรมข้อที่ 138 ว่า จงเผชิญกับปัญหาและอุปสรรค ที่มีอยู่คู่โลกตลอดกาลนาน อย่างมีชีวิตชีวาให้ได้ ไม่ได้เพ่งโทษ หรือซ้ำเติมพ่อบ้านเลย เพราะปัญหามีไว้ให้แก้ ไม่ใช่มีไว้ให้เซ็ง อาการเซ็งเล็กน้อยก็หายไป
จากนั้นคุรุพุทธพรฟ้าได้เฉลยข้อสอบ อริยสัจ 4 ซึ่งจะมีการจัดทุกเดือน ในครั้งนี้มีนักศึกษา เข้าสอบทั้งหมด 97 ท่าน และนักศึกษาที่เข้าสอบมากที่สุดจากภูผาฟ้าน้ำ และจากภาคส่วนอื่น ๆ ทั้งในและต่างประเทศ นักศึกษาส่วนใหญ่ทำข้อสอบได้ดี
ก่อนที่จะจากกันไปคุณปิ่น คำเพียงเพชรได้ประชาสัมพันธ์ กิจกรรมห้องเรียนอริยสัจ 4 มีให้ได้ร่วมเรียนรู้ หลายกิจกรรม เช่นในวันอังคาร อริยสัจขจัดมาร ภาคใต้ และในวันพุธ นักศึกษาชวนกันทำการบ้านอริยสัจ 4 และภาคกลางอริยสัจ ขจัดมารภาคกลาง
ในช่วงท้ายเราจากลากันด้วย สโลแกน พูดคุยภาษาโลกุตระ อริยสัจ 4
อนุโมทนาสาธุกับพี่น้องนักศึกษาทุกท่าน
เจริญธรรม สำนึกดี มีใจไร้ทุกข์
อรวิภา กริฟฟิธส์ : รายงาน