ตัวอย่างการพิมพ์การบ้านอริยสัจ4 เพื่อส่งในเว็บไซต์วิชชาราม (vijjaram.ac.th) …ในบทความนี้มีการบ้านทั้งหมด 6 ตัวอย่าง โดยจะสรุปให้พอเข้าใจภาพรวมเนื้อหาในตัวอย่างต่าง ๆ ดังนี้
- สู้กับความอ่อนเพลีย ( สุขภาพ )
- เมื่อต้องนอนน้อย ( ชีวิตประจำวัน )
- งานที่รีบเร่งและจำเป็นต้องทำ ( กิจกรรมการงาน )
- ทุกข์ของผู้หญิง ( สุขภาพ )
- ของชอบ ( อาหารการกิน )
- การศึกษาที่ไม่รู้จบ ( การเรียนรู้ )
นักศึกษาสามารถอ่านรายละเอียดของเนื้อหาเพิ่มเติมได้ด้านล่าง…
1. สู้กับความอ่อนเพลีย
ทุกข์ : ทุกข์ใจเวลาอ่อนเพลียจากการนอนพักผ่อนน้อย
สมุทัย(เหตุแห่งทุกข์) : อยากนอนพักผ่อนให้เพียงพอตามอธิศีลที่ตั้งไว้ว่า “รู้เพียรรู้พักให้พอดีโดยนอนพัก 21.00น.-05.00น.”
นิโรธ(สภาพดับทุกข์) : อ่อนเพลียจากการพักผ่อนน้อยหรือไม่อ่อนเพลียก็ไม่ทุกข์ใจ
มรรค(วิธีดับทุกข์) : พอมีเหตุที่ทำให้นอนพักผ่อนน้อยกว่าที่ตั้งไว้จะพิจารณาโทษของความทุกข์ใจที่ยึดมั่นในอธิศีลเรื่องการนอนพักผ่อนว่า “ทำให้หลงยึดดีไม่มีที่สี้นสุด ทำให้หลงยึดมั่นในศีลโดยไม่รู้จักปรับเปลี่ยนและประมาณเหตุการณ์ในปัจจุบัน ทำให้เนิ่นช้าในการบรรลุธรรม ฯลฯ” ก็ทำให้วางใจยอมรับความจริงในเหตุปัจจัยที่บางครั้งต้องนอนน้อย ซึ่งเราก็พักผ่อนและถอนพิษเพิ่มภายหลังได้แต่ก็พยายามไม่นอนน้อยต่อเนื่องระยะยาวเพราะจะเป็นการเบียดเบียนตนเองเกินจำเป็น การพิจารณาเช่นนี้บ่อย ๆ ซ้ำ ๆ ทำให้ระดับความทุกข์ใจค่อย ๆ ลดลงเรื่อย ๆ จาก 100 % ในหลายปีที่แล้ว ปัจจุบันไม่ทุกข์ใจกับเรื่องนี้
2. เมื่อต้องนอนน้อย
ทุกข์ : อ่อนเพลียจากการนอนพักผ่อนน้อย (ทุกข์ทางร่างกาย)
สมุทัย(เหตุแห่งทุกข์) : นอนพักผ่อนไม่เพียงพอตามอธิศีลที่ตั้งไว้ว่า “รู้เพียรรู้พักให้พอดีโดยนอนพัก 21.00น.-05.00น.”
นิโรธ(สภาพดับทุกข์) : อ่อนเพลียจากการพักผ่อนน้อยหรือไม่อ่อนเพลียก็ไม่ทุกข์ใจ
มรรค(วิธีดับทุกข์) : พอมีเหตุที่ทำให้นอนพักผ่อนน้อยกว่าที่ตั้งไว้จะพิจารณาโทษและประโยชน์ของการนอนพักผ่อนน้อยว่า “โทษคือเสียสุขภาพ ประโยชน์คือได้ฝึกอดทน” ทำให้วางใจยอมรับความจริงในเหตุปัจจัยที่บางครั้งต้องนอนน้อย ซึ่งเราก็พักผ่อนและถอนพิษเพิ่มภายหลังได้แต่ก็พยายามไม่นอนน้อยต่อเนื่องระยะยาวเพราะจะเป็นการเบียดเบียนตนเองเกินจำเป็น การพิจารณาเช่นนี้และตั้งอธิศีลบ่อย ๆ ซ้ำ ๆ ช่วยทำให้ความอ่อนเพลียค่อย ๆ ลดลงเรื่อย ๆ เนื่องจากความกังวลในการนอนน้อยลดลงรวมถึงตั้งศีลออกกำลังกายเพิ่มขึ้นอย่างน้อยวันละ 1 ชั่วโมง และรับประทานอาหารให้ถูกสมดุลร้อนเย็น ในช่วงเดือนนี้จึงไม่ค่อยมีอาการอ่อนเพลีย
3. งานที่รีบเร่งและจำเป็นต้องทำ
ช่วงนี้มีงานให้ทำหลายอย่างแต่ละงานก็เป็นงานที่ต้องรีบเร่งทำทั้งนั้น เช่น งาน ป.เอก ตัวเอง งาน ป.เอก ของพี่น้องที่เรียนรุ่นเดียวกัน งานวิทยาลัยชุมชน งานสถาบันวิชชาราม งานสื่อหมอเขียวทีวี การจัดสรรเวลาทำแต่ละงานก็เป็นไปตามที่ตั้งใจบ้างแต่หลาย ๆ งานก็พร่องไปบ้าง เลยทำให้มีความรู้สึกลังเลใจเล็กน้อยว่า “ขณะนั้นควรทำงานไหนก่อน”
ทุกข์ : ทุกข์จากการทำงานที่ต้องรีบเร่งหลายอย่างพร้อมกัน
สมุทัย (เหตุแห่งทุกข์) : อยากตัดรอบงานอื่น ๆ แล้วทำงานที่จำเป็นที่สุดเพียงงานเดียว
นิโรธ (สภาพดับทุกข์) : จะได้ทำงานที่รีบเร่งและจำเป็นที่สุดเพียงงานเดียวหรือหลายงานพร้อม ๆ กัน ก็ไม่ทุกข์ใจ สบายใจ ผาสุก ผ่องใส กับทุกงานที่ได้ทำในขณะนั้น
มรรค (วิธีดับทุกข์) : พิจารณาถึงความจำเป็นของแต่ละงานในขณะนั้นว่า “หากงานใดผ่านมติหมู่คนดีมาแล้วและขาดคนทำก็ถือว่าเป็นงานที่จำเป็นถ้าเราพอช่วยได้ก็ควรทำ งานใดถ้าเราเข้าไปร่วมบำเพ็ญแล้วมีผลกระทบกับงานอื่นที่เรากำลังบำเพ็ญบ้างแต่ไม่ถึงขั้นเสียหายมากก็ควรทำ แต่ถ้างานไหนที่แม้รีบเร่งและจำเป็นแล้วมีท่านอื่นพอทำได้อยู่ก็ให้พี่น้องบำเพ็ญกันไป เราก็ไปทำงานอื่นต่อ” และพิจารณาถึงประโยชน์ของการบำเพ็ญผ่านงานนั้น ๆ ว่า “เราได้ประโยชน์ตนในการล้างกิเลสไหม พี่น้องที่มาร่วมงานได้ประโยชน์ท่านในการล้างกิเลสของท่านไหม ถ้าเป็นประโยชน์ทั้ง 2 ส่วนนี้ ควรเลือกทำงานนั้นก่อนแล้วก็เรียงแต่ละงานตามข้อมูลนี้เป็นลำดับต่อ ๆ ไป” หลังจากพิจารณาแบบนี้ก็ทำให้สบายใจกับทุกงานที่ได้ทำในขณะนั้น
4. ทุกข์ของผู้หญิง
การเกิดมาเป็นผู้หญิงจะมีสิ่งที่ต้องเผชิญอย่างเลี่ยงไม่ได้อยู่เรื่องหนึ่งเสมอ คือ การมีประจำเดือน ในช่วงของวัยรุ่นจนถึงอายุประมาณ 50 ปี ตอนที่เราอายุ 13-22 ปี เวลามีประจำเดือนจะมีไข้ด้วยเสมอ บางเดือนก็เจ็บปวดตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น เอว ขา หน้าอก ทำให้เวลามีประจำเดือนจะหยุดพักไม่ไปโรงเรียนเดือนละ 2-3 วัน พออายุ 22 ปี มาใช้แพทย์วิถีธรรมดูแลสุขภาพ อาการเหล่านี้หายไปเกือบทั้งหมดภายใน 1 เดือน จนถึงปัจจุบันนี้ แต่ถ้าช่วงไหนพักผ่อนน้อยเวลามีประจำเดือนก็จะอ่อนเพลียบ้าง จึงเลือกที่จะพักการทำงานเพื่อพักฟื้นร่างกายครั้งละ 1-2 วัน
ทุกข์ : ทุกข์จากการเป็นประจำเดือน(ทุกข์ทางร่างกาย)
สมุทัย (เหตุแห่งทุกข์) : ไม่อยากเป็นประจำเดือน
นิโรธ (สภาพดับทุกข์) : จะเป็นประจำเดือนหรือไม่เป็นประจำเดือนก็ไม่ทุกข์ใจ
มรรค (วิธีดับทุกข์) :พิจารณาประโยชน์และโทษของการมีประจำเดือนว่า “การมีประจำเดือนทุกเดือนเป็นความปกติที่ควรมีหากประจำเดือนไม่มาร่างกายก็จะผิดปกติและเป็นโรคต่าง ๆ ที่อันรายร้ายแรงได้ การมีประจำเดือนเป็นกลไกที่ร่างกายเตรียมพร้อมในการมีลูกพอเราไม่มีการปฏิสนธิร่างกายก็ขับเลือดออกมาซึ่งเป็นการระบายเลือดเสียออกจากร่างกาย การมีประจำเดือนเป็นทุกข์ที่เลี่ยงไม่ได้ของผู้หญิงหากไม่อยากทุกข์ทรมานแบบนี้ก็พากเพียรล้างกิเลสเพื่อให้เกิดมาในร่างของผู้ชาย เมื่อเข้าใจความรู้สึกนี้ชัดเจนแล้วก็ยอมรับความจริงและไม่รังเกียจการมีประจำเดือน” พอพิจารณาเช่นนี้บ่อย ๆ ก็สบายใจยอมรับในทุกข์ของผู้หญิงเรื่องนี้และพยายามดูแลสุขภาพให้สมดุลเวลามีประจำเดือนจึงแทบไม่มีอาการไม่สบายแล้ว
5. ของชอบ
มีขนมอย่างหนึ่งที่ชอบกินเป็นประจำตั้งแต่เด็กจนโต เวลาเห็นก็จะซื้อมากินแทบทุกครั้ง คือ ขนมถั่วแปบ พอมาเรียนรู้หลักการแพทย์วิถีธรรม อาจารย์หมอเขียวบอกว่า “ให้ฝึกล้างกามล้างอัตตาจึงจะพ้นทุกข์ได้” จึงฝึกล้างกามก่อนโดยเรียงลำดับการล้างจากชอบน้อยไปหาชอบมาก เลยตั้งศีลเพื่อฝึกล้างกามที่ชอบน้อยก่อน หนึ่งในนั้นก็คือขนมถั่วแปบนั้นเอง พอตั้งใจที่จะไม่กินขนมถั่วแปบช่วงนั้นกลับมีขนมถั่วแปบมาในครัวทุกวันเลย ขนาดเราไม่ซื้อแล้วก็มีคนซื้อมา เราก็รู้สึกว่า “จะกินดีไม่กินดีน้า” จึงตั้งใจว่า “ไม่ต้องกินหรอก! ถ้าเหลือจากพี่น้องค่อยกินก็ได้” พอพี่น้องกินเหลือจริง ๆ เราก็ถามตัวเองอีกว่า “จะกินไหม” ตอนนั้นเลยตั้งใจสู้กับใจตัวเองให้มากขึ้นไปอีกในความอยากกินของที่ชอบ
ทุกข์ : เห็นขนมถั่วแปบแล้วอยากกิน(ทุกข์ทางใจ)
สมุทัย (เหตุแห่งทุกข์) : อยากกินขนมถั่วแปบ
นิโรธ (สภาพดับทุกข์) : จะได้กินขนมถั่วแปบหรือไม่ได้กินก็ไม่ทุกข์ใจ
มรรค (วิธีดับทุกข์) :พิจารณาโทษของความอยากกิน ความชอบใจ และติดใจ ในขนมถั่วแปบ ว่า “ทำให้เป็นอุปสรรคในการล้างกิเลสตัวอื่น ๆ ที่ยากกว่านี้ ทำให้เกิดทุกข์ในใจที่คอยกวนใจเวลาอยากกินไม่จบไม่สิ้น ทำให้ไม่เป็นอิสระเพราะต้องอยู่ภายใต้อิทธิพลของความอยากไปตลอด” หลังจากทำแบบนี้อยู่หลายครั้งพอมีขนมถั่วแปบที่เหลือจากพี่น้องกินแล้วเราก็จไม่หยิบมากิน แต่ก็มีคนหยิบมาให้อยู่ดีจึงพิจารณาต่อว่า “เราชอบขนมถั่วแปบตรงไหนน้า !จึงลองแยกชนิดวัตถุดิบก็มีถั่วเขียวซีกนึ่งสุก แป้งข้าวเหนียวต้มสุก มะพร้าวทึนทึกขูดเป็นเส้น น้ำตาล งาคั่ว เกลือ ทั้งหมดนี้เราชอบถั่วเขียวซีกนึ่งสุกนี่เอง ! เพราะกินแล้วรู้สึกสบาย ถึงจะไม่ได้มาในรูปของขนมถั่วแปบเราก็ชอบกิน” จึงพิจารณาต่อว่า “ที่เราของถั่วเขียวซีกนึ่งเพราะอะไร เลยได้รู้ว่าเพราะกินแล้วมีพลัง สดชื่น อิ่มสบาย เคี้ยวง่าย จึงทำให้รู้ว่าที่จริงแล้วเราชอบประโยชน์และอาการสดชื่นเวลาที่กิน เราเลยอยากได้อาการนี้อีกซ้ำ ๆ จนรู้สึกติดใจ จนหลงติดแล้วแยกแยะไม่ออก ตอนนี้รู้แล้วจึงโล่งใจที่รู้สาเหตุของทุกข์ในความหลงชอบ ทำให้คิดได้ว่าเราก็กินเท่าที่สบาย ประมาณในการกิน และไม่ต้องอยู่ภายใต้อิทธิพลความอยากกินขนมถั่วแปบอีกแล้ว100 %”
6.การศึกษาที่ไม่รู้จบ
หลังจากเรียนจบปริญญาตรีพ่อและพี่สาวตนโตก็บอกว่า “ให้เรียนต่อปริญญาโทแพทย์แผนไทยประยุกต์ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์” เราไม่ยากไปเรียนต่อเพราะชอบในการเป็นจิตอาสาที่สวนป่านาบุญ 1 จ.มุกดาหาร เราจึงขอทำงานไปด้วยและเป็นจิตอาสาไปด้วย แต่พ่อและพี่สาวก็อยากให้เราไปเรียนรู้โลกกว้างเพิ่มขึ้น เราจึงบอกว่า “จะไปสอบให้ถ้าสอบติดก็เรียนแต่ถ้าสอบไม่ติดก็ไม่เรียนนะ”
ทุกข์ : ทุกข์จากการต้องเรียนต่อปริญญาโท(ทุกข์ทางเหตุการณ์)
สมุทัย (เหตุแห่งทุกข์) : ไม่อยากเรียนต่อปริญญาโท
นิโรธ (สภาพดับทุกข์) : จะได้เรียนปริญญาโทหรือไม่ได้เรียนปริญญาโทก็ไม่ทุกข์ใจ
มรรค (วิธีดับทุกข์) :พิจารณาประโยชน์และโทษของการเรียนต่อปริญญาโทว่า “ประโยชน์ คือ ได้เรียนรู้วิชาการทางโลก ได้คุณวุฒิทางการศึกษาที่สูงขึ้นและเป็นความน่าเชื่อถือช่วยเปิดใจคน ได้ชดใช้วิบากร้ายที่เราเคยดูหมิ่นคนที่เรียนปริญญาโทแล้วช่วยสังคมไม่ได้ ได้เรียนรู้กิเลสตนเองตอนที่ไปเรียน ส่วนโทษ คือ ช่วยผู้อื่นได้น้อยกว่าการไม่เรียนปริญญาโท ไม่ได้ชดใช้วิบากร้าย ไม่ได้ล้างกิเลสตัวที่เราไม่อยากเรียน” พอทุกครั้งที่เกิดความรู้สึกทุกข์ใจก็พิจารณาแบบนี้ซ้ำ ๆ ทำให้อาการทุกข์ใจค่อย ๆ ลดลงไปเรื่อย ๆ จนหมดไป 100 %