การบ้านอริยสัจ 4 แนะนำ สำหรับปี 2563

ข่าววิชชาราม ส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ 2564 นำเสนอ การบ้าน อริยสัจ 4 รายบุคคล แห่งปี”โดยทางทีมบัณฑิตศึกษาพิจารณาแล้วเห็นว่า จะเป็นประโยชน์ต่อนักศึกษาและผู้ที่สนใจ

ได้แก่ 3 เรื่อง ดังนี้…

1. ฟุ้งซ่านกับงาน : ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

2. แข่งดี : วรางคณา ไตรยสุทธิ์ (พุทธพรฟ้า)

3. จะช่วยอย่างไรดี : ตรงพุทธ ทองไพบูลย์


ฟุ้งซ่านกับงาน

สองวันก่อน มีงานที่จำเป็นต้องทำให้เสร็จ เพื่อความต่อเนื่องของงานอื่น นั่นคืองานเขียนแบบก่อสร้าง วางแผนการจัดซื้อ ในการก่อสร้างห้องเก็บของ ก็ใช้เวลาจนเกือบเที่ยงคืน งานก็ยังไม่เสร็จ และงานออกแบบส่วนใหญจะทำตอนค่ำ ซึ่งบางวันก็ไม่มีเวลาทำมากเท่าไหร่ ส่วนตอนเช้า – เย็น จะไปทำงานนอกบ้านเป็นหลัก

ทุกข์ : ความกระวนกระวายกับงานที่ยังจบไม่ลง จนทำให้ไม่ง่วงนอนจากความฟุ้งซ่านนั้น ๆ
สมุทัย : ความยึดว่างานจะต้องเดินไปได้เร็ว ๆ ทำงานนี้เสร็จไว ไปงานอื่นต่อ ถึงจะดี
นิโรธ : งานจะไปได้เร็วหรือช้าก็ไม่โง่ไปทุกข์ เพราะหากเราพยายามเต็มที่ก็ดีพอแล้ว ส่วนจะเสร็จเร็วหรือช้าก็เป็นเพียงความเหมาะสมที่จัดสรรโดยวิบากกรรมเท่านั้น

มรรค : นึกย้อนไปว่าจริง ๆ งานนี้ก็ล่าช้ามานาน ปีนี้ฝนตกยาวนาน ตอนแรกเรารีบสั่งของมาก่อนจนทำให้ถนนพัง เสียเงินค่าจัดการให้กลับมาพอใช้ได้ 3 พันกว่าบาท ก็ช้ามาเดือนกว่า ต่อมาก็ไปเที่ยวกับที่บ้านอีก ก็ช้าไปอีกเดือน จนมาตอนนี้ มันดี มันโล่งขนาดนี้แล้วก็น่าจะพอใจ เพราะองค์ประกอบตอนนี้เหมาะกว่าก่อนหน้านี้ ฝนก็ไม่มี ดินก็แห้ง ช่างก็ว่าง จึงพิจารณาต่อว่าความรีบให้งานเสร็จได้ดั่งใจนี่มันเป็นพิษจริง ๆ มันสร้างความเดือดร้อนให้ทั้งใจเราและสิ่งแวดล้อม ถ้าเราใจเย็น ๆ ค่อยเป็นค่อยไป “ทำดีเต็มที่ พอใจเท่าที่ได้” มันก็จะสบายใจ

สรุปงานเขียนแบบก็ช้าไปอีก 1 วัน โดยใช้เวลาช่วงสายอีกวัน ไม่ออกไปทำงานสวน แต่เอาเวลามาเขียนแบบ และงานจัดซื้อให้เสร็จ แล้วงานแรกนี้ก็เสร็จไปตามลำดับ คำว่าช้าไป 1 วัน อันนี้เรากำหนดเอง ถ้ามองจากมุมคนอื่น เขาก็คงไม่ได้ใส่ใจอะไร จะผ่านไปอีกเดือนอีกปีค่อยทำหรือไม่ทำเลยทั้งชาติเขาก็คงจะไม่ได้ใส่ใจอะไร มีแต่เราเองที่ใส่ใจ เพราะมันเป็นของเรา เรากำหนดไว้ว่ามันงานของเรา เป็นประโยชน์ของเรา แล้วเราก็เข้าไปยึดมั่นถือมั่นในประโยชน์เหล่านั้น ก็กลายเป็นเรานั่นเองแหละที่โง่

การบ้าน อริยสัจ4 : ฟุ้งซ่านกับงาน
ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ | นักศึกษาอริยปัญญาตรี


แข่งดี

แข่งกันทำดีเหมือนจะดีนะ แต่พอเรามาเรียนรู้กับแพทย์วิถีธรรม อ.หมอเขียว และบุญนิยม สมณะโพธิรักษ์ ท่านอธิบายว่าการแข่งดีเป็นอุปกิเลส 16 ที่ต้องล้างจึงจะพ้นทุกข์ ทำให้ละอายใจมากและพากเพียรอธิศีลทำดีเต็มที่แต่ไม่แข่งดีกับใคร จนช่วงก่อนหน้านี้มีเหตุให้ได้ทำงานหลายอย่างมากขึ้นและพอถึงจุดที่พี่น้องทำงานกันเองได้แล้ว เหตุการณ์ก็เตือนให้ควรไปทำงานอื่นที่จำเป็นและยังไม่มีใครทำได้แล้ว วันก่อนเห็นพี่น้องทำงานก็มีความคิดที่บอกว่า “ควรทำแบบนี้ดีกว่านะ ถ้าเราทำน่าจะดีกว่านี้ ทำแบบนี้น่าละอายจริง ๆ” พอจับได้ว่าเราคิดแบบนี้ ก็รู้สึกว่า “เราต่างหากที่ควรละอายที่คิดแบบนี้” เพราะเรากำลังคิดว่า “เราดีกว่า เก่งกว่า”

ทุกข์: อึดอัดใจ

สมุทัย: เห็นพี่น้องทำงานแล้วมีความคิดว่า “ไม่ควรทำแบบนี้ ถ้าเราทำน่าจะดีกว่านี้” ความคิดนี้มีสาเหตุอย่างหนึ่งมาจากการจะแข่งดีว่า “เราทำได้ดีกว่า” ซึ่งก็เป็นความอยากให้เกิดดีรวมกับความถือดีอวดดีในตน

นิโร : พี่น้องจะทำงานออกมาได้ดีหรือไม่ เราก็ไม่ทุกข์ใจ และไม่อวดดีว่าเราทำได้ดีกว่า แต่ยอมรับความเป็นจริงของแต่ละท่านที่ทำได้รวมถึงเราด้วย เพราะทั้งงานนอกและงานในก็ทำได้ดีบ้างพร่องบ้างอยู่แล้ว

มรรค: ตอนที่เห็นพี่น้องทำงานมีความคิดที่บอกว่า “ควรทำแบบนี้ดีกว่านะ ถ้าเราทำน่าจะดีกว่านี้ ทำแบบนี้น่าละอายจริง ๆ” พอจับได้ว่าเราคิดแบบนี้ ก็รู้สึกว่า “เราต่างหากที่ควรละอายที่คิดแบบนี้” เพราะเรากำลังคิดว่า “เราดีกว่า เก่งกว่า” การคิดแบบนี้เราเองที่รู้สึกไม่สบายใจจึงรู้ว่ากำลังคิดผิด การที่พี่น้องแต่ละคนทำงานนอกและงานในได้ดีบ้างพร่องบ้างก็เป็นความจริงที่ดีที่สุดขณะนั้นแล้ว เราก็ควรยอมรับในสิ่งที่เกิดขึ้นได้ขณะนั้นทั้งดีและร้าย เพราะบุญและกุศลทำได้ยาก บางครั้งฟ้าเปิดให้ทำเรื่องนี้มุมนี้ได้ บางครั้งฟ้าปิดไม่ให้ทำเรื่องนี้มุมนี้ ตามวิบากดีร้ายของทุก่ฝ่ายรวมกันทุกวินาที เราควรสังเกตรายละเอียดนี้ให้ดี

การที่รู้ว่าแต่ละท่านพร่องเรื่องอะไรและดีเรื่องอะไร เราพร่องเรื่องอะไรและดีเรื่องอะไร ก็จะไม่มีจิตอกุศลไปแข่งกันทำดีและอวดดี แต่เราก็จะแสดงการคิดดี พูดดี ทำดี เต็มที่ตามภูมิที่เรามีและทำได้ เราควรบอกกล่าวตนเองเป็นหลัก ส่วนท่านอื่นก็เป็นส่วนของท่าน ถ้าบอกกล่าวแนะนำกันได้ก็บอก บางครั้งบอกอะไรไม่ได้ก็วางใจ ถ้ามีโอกาสเราก็ยินดีพูดและทำให้เต็มที่เท่าที่เหตุการณ์ขณะนั้น ๆ ให้ทำได้ต่อไป

การบ้าน อริยสัจ 4 : แข่งดี | วรางคณา ไตรยสุทธิ์ ( พุทธพรฟ้า )
นักศึกษาอริยปัญญาโท | คุรุฝ่ายบัณฑิตศึกษา


จะช่วยอย่างไรดี

ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมามีเหตุการณ์ความเห็นไม่ตรงกันในครอบครัว แต่ไม่ได้กระทบที่ตัวเองโดยตรง เป็นฝ่ายน้องที่ต้องการให้พ่อแม่ทำตามที่น้องเสนอ แต่พ่อแม่ไม่ทำตามมีเหตุผลของท่าน เป็นความไม่เข้าใจกันที่ค่อนข้างรุนแรง แตกร้าว เลยทำให้เกิดความคิดลวงขึ้นมาว่า เราในฐานะพี่คนโตน่าจะต้องทำอะไรสักอย่าง ช่วยเขา ก็คิดปรุงไปว่าทำอย่างไรดี จะไปพูดหรือสื่อสารอย่างไรดีให้เกิดความสามัคคี ไม่อยากให้เกิดบาป ก็หาคำตอบไม่ได้ว่าจะทำอย่างไรดี เพราะรู้ว่าเขาไม่ได้ศรัทธา พูดไปก็ไม่ฟังหรือฟังไม่รู้เรื่องอยู่ดี แต่ก็พยายามหาทางอยู่

ทุกข์ : คิดหาวิธีช่วยเขา
สมุทัย : เห็นสิ่งที่น้องทำ กับสิ่งที่พ่อแม่ยึดล้วนเป็นบาป ทำให้ทุกข์ แล้วเราก็ไปยึดว่าเราน่าจะช่วยเขาให้ได้บ้าง น่าจะลองช่วยดู
นิโรธ : ทำความผาสุกที่ตนดีก่อน แล้วจะช่วยใครได้ก็ช่วย ช่วยไม่ได้ก็วาง ให้เป็นไปตามวิบากดีร้ายของแต่ละคน

มรรค : หลังจากเกิดทุกข์ จากการหาวิธีที่ช่วยคนอื่น แต่ก็ไม่มาไม่ไป ก็กลับมาพิจารณาว่าจริง ๆ แล้วทางไหนถึงจะถูก ความจริงก็คือ เรื่องที่เกิดขึ้นมันเป็นทุกข์ของเขาที่เขาสร้างขึ้นมา แม้จะกระทบเราบ้างแต่เราก็ไม่ได้ทุกข์ตรงนั้น เราดันมาทุกข์ที่จะช่วยเขาต่างหาก แล้วก็พิจารณาไปต่อว่าจะช่วยเขาอย่างไร เรื่องนี้ อ.หมอเขียวได้เคยสอนไว้ว่าให้ช่วยคนที่ศรัทธา คนที่ไม่ศรัทธากันช่วยไม่ได้สอนไม่ได้ เขาไม่ฟังหรอก ดีแค่ไหนก้ไม่ฟัง ไม่มีประโยชน์ เพราะเขาไม่ได้อยากให้เราช่วย เราไปยุ่งเขาเอง มีแต่อกุศล ก็คลายได้ 80 %

แต่ก็ยังติด ๆ อยู่ในใจเล็ก ๆ เนื่องจากเป็นคนในครอบครัวเคยทำดีต่อกันมาบ้าง แล้วได้ อ.หมอเขียวมาสอนอีกที่ เป็นคำแนะนำที่ อ.หมอเขียวแนะนำพี่น้องที่มีปัญหาแนวนี้เหมือนกัน ประมาณว่าอย่างน้อยก็ให้วางใจที่เรา เราไม่ทุกข์ก็พอแล้ว ช่วยเขาไม่ได้ไม่เป็นไร เขามีกิเลสมาก เขาไม่ได้เรียนรู้ธรรมะเวลาเกิดปัญหาก็ต้องทุกข์ เราช่วยเขาไม่ทันหรอก อย่างน้อยก็ลดทุกข์ได้ 1 คน คือเราก็ดีมากแล้ว ดีกว่าทุกข์ 2 คน ทำให้ได้ปัญญาชัดขึ้น เออใช่ใครทุกข์ไม่สำคัญหรอก เราไม่ทุกข์ก่อนถูกที่สุด คลายเรื่องนี้ได้ 100% วางใจได้

การบ้าน อริยสัจ4 : จะช่วยอย่างไรดี
ตรงพุทธ ทองไพบูลย์ | นักศึกษาอริยปัญญาตรี สถาบันวิชชาราม

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *