At bagon.is you can Buy webshells, phpmailer, Combo list
รายการ "รวมพลังภาคกลางสู้กิเลส" ครั้งที่ 27 | สถาบันวิชชาราม
Skip to content

รายการ “รวมพลังภาคกลางสู้กิเลส” ครั้งที่ 27

รายการ “รวมพลังภาคกลางสู้กิเลส” ครั้งที่ 27
วันเสาร์ที่ 18 กันยายน 2564
เวลา 12.24 – 16.05 น.

ประเด็นเด่นจากรายการ

    • น้ำร้อนลวก แต่ใจไม่แสบพอง
    • มะเร็งยึดใจ
    • โรคของเขา ทำไมทุกข์ของเรา?
    • พูดได้เท่านี้ ก็ดีมากแล้ว
    • อปริหานิยธรรม ดีจริงต้องไม่ยึด
    • ยินดีจำนนยอมรับวิบาก

วันนี้มีจิตอาสาแพทย์วิถีธรรม ภาคกลาง เข้าร่วมรายการทั้งหมด 36 ท่าน ดำเนินรายการ โดย คุณกิ่งแก้ว ฉัตรมณีวัฒนา (เม) และคุณมาลิน จุ้ยทรัพย์เปี่ยม (ต่าย) ซึ่งครั้งนี้มีผู้ร่วมแบ่งปันการบ้านอาริยสัจ 4 จำนวน 6 ท่าน ได้แก่ คุณวิภาวัลย์ ถนัดธรรมกุล (หมวย) คุณประภัสสร ชาญชัยชูจิต (จวง) คุณพิมพ์ใจ ชาตะศิริ (พิมพ์) คุณสริตา บัวแก้ว (บี) คุณศิริพร คำวงษ์ศรี (หมู) และคุณพรเพียรพุทธ โพธิ์กลาง (ทิพย์)


เริ่มต้นด้วยการแนะนำวิธีการส่งการบ้านอาริยสัจ 4 ของสถาบันวิชชาราม บรรยากาศเต็มไปด้วยการวางใจเท่าที่ได้ เบาสบาย ถึงแม้วันนี้ในห้องเรียนจะมีสมาชิกไม่มากนัก เพราะวันนี้เป็นวันแรกของการเปิดค่ายฯ แต่พี่น้องทุกท่านก็ยังเบิกบาน ร่วมกันแบ่งปัน และวิเคราะห์การบ้าน ดังนี้

เรื่อง น้ำร้อนลวกแขน แต่ไม่ลวกใจ

(คุณวิภาวัลย์ ถนัดธรรมกุล) :

ทุกข์ คือ ปกติจะหุงข้าวด้วยซึ้งนึ่งข้าวเหนียว ในวันเกิดเหตุด้วยความประมาทยกน้ำ พลาดทำน้ำร้อนเดือดในซึ้งชั้นล่างพลิกกลับมาลวกที่ข้อมือขวา รู้สึกปวดแสบปวดร้อน ทุกครั้งที่ทำงาน จะรู้สึกไม่ถนัด เวลาวางมือจะจับเขียนอะไร ก็ลำบาก เวลาทำอาหาร ความร้อนของขอบกระทะจะทำให้บริเวณที่มีอาการนั้น จะแสบขึ้นมาอีก ระลึกถึงวิบากกรรมที่เคยทำมาในอดีต เพราะชอบลวกหอยแครงสด ๆ รับประทาน เข้าใจความรู้สึกทรมานของหอยแครงและสัตว์อื่น ๆ ที่เราได้เบียดเบียนไว้ พิจารณาวางใจที่แขนเจ็บ ทำอะไรไม่ถนัด ไม่กลัวว่ามันจะเจ็บปวด ไม่หวั่นไหว กล้าที่จะรับผลกรรม จะหายเจ็บเมื่อไรก็ได้ ใช้บททบทวนธรรมข้อที่ 25 “เมื่อเกิดทุกข์ใจ ทุกข์กาย เรื่องร้ายเข้ามาในชีวิต เขามาเพื่อให้เราได้ชดใช้ ให้เราไม่ประมาท ให้เราเพิ่มอริยศีล ให้เราได้สำนึก ให้เราได้หมดวิบาก” ยินดีที่จะรับวิบาก และใช้ให้หมดไป เพราะเบียดเบียนสัตว์อื่นมาเยอะ

สรุปการวิพากย์และสังเคราะห์ โดย หมู่มิตรดี :

    1. ชัดที่ใจว่าเป็นกรรม จึงจะไม่ทุกข์ แต่ยังมีอาการรู้สึกรำคาญที่ข้อมือ และไม่ถนัดอยู่บ้าง
    2. สิ่งที่ผ่านมาในอดีตที่เราเคยทำนั้น เป็นสิ่งที่ส่งผลในปัจจุบัน แต่ให้เน้นวิเคราะห์จากกรรมในปัจจุบันเป็นหลัก ว่ามีอาการชอบชังหรือไม่
    3. ไม่ว่าจะเจ็บเพียงใด ทุกครั้งที่ต้องใช้ข้อมือที่เจ็บอยู่ ก็รู้สึกสำนึกได้ในทุกครั้ง ยินดีรับทุกขณะที่เกิดขึ้น
    4. ทุกข์ชังที่ต้องคอยระวังจุดบริเวณข้อมือว่าอาจจะไปกระทบสิ่งใด เลยทำให้จิตระแวงว่าจะเจ็บอีกแล้ว
    5. มรรคได้เดินพิจารณากรรมได้ดีแล้ว เห็นใจทุกข์ที่ตนเองเคยไปทำร้ายสัตว์มา และไม่รู้ว่าตนเองไปทำให้สัตว์อื่นได้ทุกข์ขนาดนั้น
    6. ความทุกข์จากการเจ็บปวดข้อมือครั้งนี้ เป็นภาพสะท้อนในสิ่งเราอาจหลงคิดว่าไม่ได้ทำร้ายใคร แต่จริง ๆ แล้วทำร้ายไว้เยอะมาก ทำให้ได้ตระหนักเชื่อชัดเรื่องกรรม ไม่ประมาทในการใช้ชีวิต

เรื่อง พี่สาวเป็นมะเร็ง (คุณประภัสสร ชาญชัยชูจิต) :

ทุกข์ คือ ได้กลับบ้านที่ต่างจังหวัดและได้เห็นพี่สาวผิดปกติ เช่นเวลาเดินต้องเกาะผนังหรือเก้าอี้ น้ำหนักลด เมื่อกลับกรุงเทพฯ จึงได้ปรึกษากับพี่น้องและมติส่วนใหญ่ให้ไปรับมาดูแลที่กรุงเทพฯ จึงให้พี่ชายไปรับมาในช่วงสงกรานต์ เพื่อที่จะหาสถานพยาบาลในการตรวจรักษา ช่วงแรกไม่ว่าจะไปโรงพยาบาลใด ก็ไม่มีที่ใดรับในช่วงโควิด 19 เพราะจะรับเฉพาะกรณีฉุกเฉิน ในที่สุดก็ได้ที่สถาบันประสาท เมื่อคุณหมอบอกพี่สาวเป็นมะเร็งขั้น 4 ระยะลุกลาม จะอยู่ได้เพียง 6 เดือน หลังจากฟังแล้ว ไม่ได้รู้สึกตกใจหรือทุกข์ที่ทราบว่าพี่สาวเป็นมะเร็ง แต่รู้สึกทุกข์ ไม่พอใจ แต่ก็ไม่ได้ทุกข์มากที่คุณหมอพูดว่า “พี่อยู่ได้ 6 เดือน” และคิดว่าการวิเคราะห์ของคุณหมอ อาจไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้องถาวร เพราะทุกอย่างขึ้นอยู่กับการดูแล พิจารณาวางใจไม่ชอบไม่ชังคุณหมอจะพูดอย่างไร เราก็ไม่ทุกข์ เพราะไม่ว่าพี่สาวจะอยู่ได้แค่ 6 เดือนหรือนานกว่านั้น ตนเองก็ยอมรับตามความเป็นจริง เอาประโยชน์จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ยินดีที่ได้ดูแลพี่ในช่วงหนึ่งของชีวิต และจะดูแลให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ด้วยใจผาสุก

สรุปการวิพากย์และสังเคราะห์ โดย หมู่มิตรดี :

    1. จริง ๆ แล้ว มีจิตปรุงแต่ง สังขารล่วงหน้า จึงกังวลใจไปว่า หากคุณแม่ทราบข้อมูลเรื่องการเป็นมะเร็งของพี่สาวแล้ว คุณแม่จะทุกข์ใจ และไม่สามารถ
    2. ทำใจเรื่องนี้ได้ เพราะพี่สาวดูแลคุณแม่มานาน และมีความผูกพัน กิเลสมาลวง เอาทุกข์มาขู่เรา ใจยึดว่าอยากให้แม่สุข ไม่อยากให้แม่ทุกข์
    3. คุณหมอพูดตามที่ตนเองเรียนมาเท่านั้น หากไม่มีอคติ จะเข้าใจความจริงของคุณหมอ แต่ความลวงจะพาให้ชังสิ่งที่คุณหมอพูด วางใจให้ยินดีผาสุกให้ได้จริง ๆ ว่าคุณหมอพูดว่า พี่สาวอยู่ได้เพียง 6 เดือน
    4. กิเลสในความทุกข์มีเบื้องต้น ท่ามกลาง บั่นปลาย ที่เราคิดว่าตนเองอาจไม่ทุกข์ จริง ๆ มันมีทุกข์อยู่ แต่เรามองไม่เห็นกิเลสได้อย่างชัดเจน เพียงแต่หาเหตุของการที่ใจนั้น กระทบสั่นหวั่นในแต่ละเรื่อง นั้นมาจากเรื่องใด เพื่อให้สามารถล้างกิเลสได้สิ้นเกลี้ยง
    5. วิบากที่เคยเพ่งโทษอาริยะมา จึงทำให้จับอาการทุกข์ไม่เจอ หรือจับได้ยาก
    6. ให้เปรียบเทียบผัสสะที่เราได้รับนั้นว่า ในอดีตและปัจจุบัน ความทุกข์ในเรื่องนั้น ๆ มีความทุกข์ลดลงหรือไม่

เรื่อง มันเรื่องของเขา (คุณสริตา บัวแก้ว) :

ทุกข์ คือ คนงานไม่สบาย จึงขอให้คนงานไปพบแพทย์ เพื่อตรวจว่าติดโควิดหรือเป็นอะไร? แต่คนงานก็ไม่ยอมไป จึงให้สมุนไพรฟ้าทะลายโจร และผสมน้ำพลังศีลให้ดื่ม แต่คนงานก็ยังไม่มีอาการดีขึ้น ได้มาทราบทีหลังว่า คนงานท่านนี้ไม่ได้รับประทานยาที่ได้ให้ไปเลย แต่ไปซื้อยาชุดมาแทน อาการก็ยิ่งหนักขึ้น และแอบไปหาหมอคลินิก ฉีดยา วันรุ่งขึ้นคนงานก็เดินมาบอกว่า อาการไม่ไหวแล้ว เห็นจิตตนเองที่รู้สึกเซ็งขึ้้นมาชั่วขณะ ว่าทำไมคนงานจึงไม่ฟังเราตั้งแต่แรก กิเลสอยากให้ฟังเรา เชื่อเรา จะได้ไม่เป็นหนักขนาดนี้ ทุกข์ใจเพราะเราอยากและยึดดี คิดว่าเป็นลูกน้องเรา ต้องฟังเรา หลงยึดว่าเป็นของ ๆ เรา พิจารณาวางใจว่า คนงานจะต้องการใช้วิธีการรักษาใด ก็เป็นสิทธิ์ของเขา เราไม่ควรไปชังในสิ่งที่เขาตัดสินใจ โดยใช้บททบทวนธรรมข้อที่ 2 เพราะมันเป็นฐานและวิบากของเขา ได้ล้างความยึดมั่นถือมั่นของใจได้สำเร็จ คือความสำเร็จที่แท้จริง ตัวเรายังไม่เข้าใจคนอื่น แสดงว่า เรายังไม่เข้าใจตัวเอง เราต้องรู้ว่าแต่ละคนมีฐานจิตแตกต่างกัน

สรุปการวิพากย์และสังเคราะห์ โดย หมู่มิตรดี :

    1. ได้เรียนรู้อาการกิเลส และเหตุการณ์ที่สัมพันธ์กัน ทำให้ได้เกิดปัญญา ว่าตนเองยึดหรืออยากได้อะไร ส่งผลอย่างไร
    2. ได้เห็นความวิปลาสในจิตวิญญาณอย่างต่อเนื่อง เราหลงทุกข์ว่าคนงานต้องฟัง เมื่อพิจารณาต่อเนื่องแล้ว จะทำให้เห็นความยึดที่วิปลาสอยู่
    3. ลองตั้งศีลเพิ่ม เพื่อทำให้ได้เห็นความวิปลาสได้อย่างชัดเจน ว่าหลงเรื่องอะไร
    4. เหตุการณ์ที่มีกิเลสหลายตัว ให้ลองแกะทีตัว ว่าเรานั้นขโมยอยากได้สิ่งดี ๆ เกินจริงในเรื่องอะไรอยู่
    5. ใช้ปัญญาว่าคิดอย่างไร ให้พ้นทุกข์ เช่น ในอดีตเราอาจเคยไม่รับฟังผู้ที่ให้แนะนำสิ่งดี ๆ กับเราในแง่ต่าง ๆ มา จึงทำให้พบเจอเหตุการณ์นี้
    6. ยึดอยากให้คนงานของเรา ฟังในสิ่งที่เราให้คำแนะนำเท่านั้น แต่หากเป็นคนอื่น เราแนะนำไป ก็จะรู้สึกวางใจง่ายกว่า เพราะไม่ได้ยึดว่าเป็นคนของเรา
    7. หาประโยชน์ว่าอะไรดีที่สุดมากกว่ากัน เพราะการเตือนคนงานไปแล้ว คนงานทำตาม แต่ใจไม่ได้อยากทำ จะเพิ่มวิบากให้กับเรา และยังเพิ่มความซวยให้กับตนเองที่จะได้ความสมใจจากการที่คนงานรับฟังเรา สิ่งนี้จึงเป็นประโยชน์ของเราที่ทำให้ได้เห็นกิเลสความลวงในจิตวิญญาณ เพื่อให้ได้ฝึกอ่านใจตนเอง ซึ่งเป็นประโยชน์สูงสุด
    8. คุณบีรู้สึกขอบคุณคนงานที่ทำให้ได้เห็นกิเลสที่ยังเหลืออยู่ในใจได้อย่างชัดเจนขึ้น

เรื่อง กลัวพูดผิดในการออกสื่อ (คุณพิมพ์ใจ ชาตะศิริ) :

ทุกข์ คือ ได้มีโอกาสเข้าไปร่วมตอบคำตามในกลุ่มแอดมิน ห้องสายด่วนฯ และค่ายสุขภาพพึ่งตนแพทย์วิถีธรรม วิถีไทย ครั้งที่ 3 ซึ่งจะมีจิตอาสาแต่ละท่านเข้ามาช่วยตอบ และเก่ง ๆ ทั้งนั้น ได้มีโอกาสเข้าไปร่วมตอบในช่วงแรก ๆ แต่เมื่อมีพี่น้องจิตอาสามาชวนให้เข้าไปร่วมตอบคำถามอีก รู้สึกไม่กล้า เพราะใจหวั่นไหวว่า เราจะตอบถูกหรือไม่? และมีเหตุการณ์ที่ได้ฟังว่า ผู้ชมทางบ้านได้แสดงความคิดเห็นว่า ให้อาจารย์หมอเขียวคัดกรองจิตอาสาที่มีคุณภาพเข้ามาตอบคำถามด้วย หลังจากนั้นมาท่านอาจารย์ก็เข้ามาร่วมตอบคำถามทุกครั้ง ช่วงหลังตนเองจึงก็ไม่กล้าเข้าไปตอบคำถามอีก แต่คอยหยิบเอาความรู้จากในหมู่กลุ่ม เพื่อนำมาพัฒนาตัวเอง เห็นทุกข์ที่รู้สึกตื่นเต้น กลัว กังวลหวั่นไหว เพราะไม่อยากพูดผิด และอยากพูดให้ได้ดีที่สุด วางใจเราจะพูดผิดหรือไม่ผิดก็ใด้ ทำใจไม่หวั่นไหว ล้างกิเลสตนเองด้วยใจผาสุก และสุดท้ายอาการกลัวระแวงหวั่นไหวก็จะสลายไปเอง

สรุปการวิพากย์และสังเคราะห์ โดย หมู่มิตรดี :

    1. พิจารณาที่เรามีความทุกข์ว่า พูดไปแล้ว มีความกลัวที่ผู้อื่นจะคิดว่าเราพูดไม่ดีหรือไม่ หรือคิดว่าตนเองจะพูดไม่ถูกต้อง ให้ลองพิจารณาว่าหลงอยากได้สภาพดี ๆ ในมุมไหน
    2. เปรียบเทียบในอดีตและปัจจุบันว่า หากเรากล้าทำขนาดนี้แล้ว ได้ฝึกแล้ว ความทุกข์น้อยลงหรือไม่

เรื่อง ต้องอปริหานิยธรรม หรือไม่? (คุณศิริพร คำวงษ์ศรี) :

ทุกข์ คือ ได้เห็นพี่น้องท่านกลุ่มอื่นอปริหานิยธรรมในหมู่ใหญ่ จึงมีกิเลสอยากทำบ้าง แต่องค์ประกอบไม่พร้อมทั้งตนเองและท่านอื่น ๆ ในทีมมีวิบากไม่สามารถเข้าห้องสนทนาได้ แต่ใจก็คิดว่าเราอปริหานิยธรรมกันเองก่อนหน้านี้มามากแล้วนะ บวกกับว่าพี่น้องท่านอื่นมีเรื่องสำคัญที่ต้องอปริหานิยธรรมในหมู่ใหญ่ ซึ่งมีเวลาจำกัดให้ไปรู้เพียรรู้พัก กิเลสสงสัยว่าจำเป็นต้องอปริหานิยธรรมต่อหน้าหมู่ใหญ่หรือไม่? ใจไม่ได้ยึดว่าจะต้องอปริหานิยธรรมเท่านั้น หรือไม่อปริหานิยธรรม จะทำก็ได้ ไม่ทำก็ได้ แต่ใจไปปรุงยึดคิดว่า พี่น้องส่วนใหญ่น่าจะคิดว่าเราควรอปริหานิยธรรมต่อหน้าหมู่ใหญ่ วางใจไม่ชอบไม่ชังพี่น้องส่วนใหญ่จะคิดว่าเราควรอปริหานิยธรรมต่อหน้าหมู่ใหญ่หรือไม่ ไม่ใช่เรื่องของเรา การเดาใจเป็นการผิดศีล ยินดี พอใจ ไร้กังวล ใจเบาสบาย ปล่อยให้เป็นไปตามธรรม จะอปริหานิยธรรมหรือไม่ก็ได้ ทุกอย่างมีเหตุปัจจัยตามธรรม ไม่ยึดติดใน “รูป” ที่จะต้องอปริหานิยธรรมให้คนอื่นเห็นเท่านั้น หากทำดีที่สุดแล้ว ก็วางใจให้เป็นไปตามธรรม สำนึกผิดที่เคยเพ่งโทษเพื่อนไว้ในอดีต ว่าทำไมเขาไม่อปริหานิยธรรม วิบากจึงตีกลับมาเพ่งโทษตนเอง ว่าทำไมตนเองอปริหานิยธรรมไม่สมบูรณ์ ทุกอย่างไม่สมใจก็ดีแล้ว โลกนี้พร่องเป็นนิจ จะโง่ไปทำไม?

สรุปการวิพากย์และสังเคราะห์ โดย หมู่มิตรดี :

    1. ยึดดีในเรื่องอปริหานิยธรรมมานานแล้ว ถึงจะมีความชอบในเรื่องที่ดี แต่ไม่จำเป็นต้องยึดว่า ต้องทำทุกครั้ง หากพี่น้องไม่พร้อม ก็ไม่ต้องอปริหานิยธรรมก็ได้
    2. การอปริหานิยธรรมเป็นสิ่งที่ดี แต่หากยึดให้ดีนี้เกิดขึ้น ก็ไม่สามารถเข้าถึงดีที่ 11 อันสูงสุดได้ คือ การไม่ยึดมั่นถือมั่นในการกระทำใดทั้งนั้น วางใจได้ ใจจะผาสุก ดีอะไรก็ตาม ไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นก็ได้
    3. หากเราไม่ได้มีปัญหาอะไรที่จะต้องเข้าไปแจ้งหมู่ใหญ่ เราควรให้พื้นที่และเวลากับงานที่มีความจำเป็นมากกว่าในเวลานั้น ๆ พร้อมสละได้
    4. การได้ร่วมกันทำงานสานพลังทำสิ่งดีงามไปพร้อมกับหมู่มิตรดีนั้น คือ ความงดงามสูงสุดของการทำงานด้วยกัน บนหนทางแห่งการพ้นทุกข์

เรื่อง ไม่ชอบที่ต้องทรมาน (​คุณพรเพียรพุทธ โพธิ์กลาง)

ทุกข์ คือ ​เกิดอาการปวดหัวหนักมาก ​เส้นประสาทที่อยู่ใกล้หูกระตุกทรมานมาก​ แก้ตามอาการ​มาเป็นเวลา​ 3​ วัน​ แล้ว ครั้งนี้ได้ซาบซึ้งกับอาการที่ปวด​ เลยรู้ว่า “ความตายไม่ได้น่ากลัวเท่ากับความทรมาน​ที่เลี่ยงไม่ได้” ทุกข์​ที่​ไม่​ชอบความทรมาน ​หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ จิตใจกระสับกระส่าย​ ใจยึดว่า ถ้าปวดหัวธรรมดา ไม่ปวดมากจนถึงขั้นทรมาน จะสุขใจชอบใจ พอมีอาการปวดหัวที่รุนแรงมากจนถึงขั้นทรมาน ก็ทุกข์ใจไม่ชอบใจ​ วางใจว่า จะปวดทรมานเพียงใด ก็ไม่ทุกข์ใจ ยินดีรับ ยินดีให้หมดไป ใจไร้ทุกข์ ใจดีงาม พิจารณาไตรลักษณ์ของความทรมานว่าไม่เที่ยง มันเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วดับไป ​มันไม่ใช่ตัวเราของเรา ไม่สามารถบังคับได้ พิจารณากรรมใหม่ที่มีกิเลสชอบรูป รสของอาหาร และยังเสพตามกิเลสบอกอยู่ ทำให้ร่างกายไม่สมดุล โต่งไปทางร้อน ระลึกถึงกรรมเก่าที่ได้เคยทุบหัวปลา หัวไก่ ทำให้ต้องมารับวิบากกรรมปวดหัวในครั้งนี้ ตั้งจิตขอโทษขออโหสิกรรม จะไม่ทำให้ชีวิตใด ต้องมาเจ็บปวดเพราะเราอีก ​ชั่วไม่ทำ และทำดีที่เท่าทำได้

สรุปการวิพากย์และสังเคราะห์ โดย หมู่มิตรดี :

    1. อาการป่วย จะเจ็บ และหายไปเป็นพัก ๆ และมีกิเลสซ้อนที่อยากเร่งให้หายอาการป่วยไว ๆ
    2. วิบากกรรมการป่วยในรอบนี้ ไม่หายเสียที เหมือนอยากให้ได้ชดใช้วิบากอย่างแท้จริง
    3. หัวใจเต้นเร็วมาจากอาการในใจที่กระวนกระวาย เพราะไม่ยอมรับความจริงว่าต้องน้อมรับวิบากอย่างศิโรราบ
    4. ล้างความกลัวที่ไม่อยากมีความทรมาน และ “เพิ่มความกล้า” ที่จะยอมความทรมานตามวิบากดีร้ายของเรา
    5. กรณีศึกษาของพระโมคคัลลา ช่วงที่ท่านโดนฆ่า เมื่อศึกษาแล้ว จะสามารถเพิ่มกำลังใจในการสู้กิเลสครั้งนี้ได้

สรุปเนื้อหาของวันนี้ คือ การนำเรื่องราวของตนเองมาเล่าแบ่งปันนั้น ทำให้พี่น้องทุกท่านได้ช่วยกันดึงกิเลสในเหลี่ยมมุมต่าง ๆ ออกมาได้อย่างชัดเจนยิ่งขึ้น ทำให้ผู้เข้าร่วมรายการได้เรียนรู้ตามไปด้วย ก็จะยิ่งทำให้ค่อย ๆ สามารถจับกิเลสตัวที่ละเอียดไปได้เรื่อย ๆ ทีละตัว ให้ได้ทราบว่ากิเลสตัวไหนที่เด่นในเหตุการณ์นั้น ๆ เป็นผลพลอยได้ที่เห็นผัสสะใหม่ ๆ ในห้องเรียน เพราะเรื่องการจับทุกข์นั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีมาก ๆ ในการได้มาเรียนรู้ร่วมกัน

ประชาสัมพันธ์สำหรับพี่น้องนักศึกษาที่สนใจเข้าร่วมสอบการบ้านอาริยสัจ 4 ต่อหน้าหมู่ สามารถมาร่วมสานพลังวิชาพาพ้นทุกข์ได้ใน “รายการ รวมพลังภาคกลางสู้กิเลส” ทุกวันเสาร์ และ “รายการ อริยสัจ 4 ขจัดมาร” ทุกวันอาทิตย์ เวลา 12.00 – 14.00 น.

รายงานข่าวโดย :
ศิริพร คำวงษ์ศรี (มั่นผ่องพุทธ) / สวนป่านาบุญ ๙ สังกัดภาคกลาง

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *