รายการ “รวมพลังภาคกลางสู้กิเลส” ครั้งที่ 26

รายการ “รวมพลังภาคกลางสู้กิเลส” ครั้งที่ 26
วันเสาร์ที่ 11 กันยายน 2564
เวลา 13.00 – 16.06 น.

ประเด็นเด่นจากรายการ

    • คันขา ให้เกาที่ใจ
    • ทุกข์มา ปัญญาเกิด
    • ใจไร้กังวล ช่วยคนที่เรารักได้
    • รักน้องแมวจริง ต้องไม่ยึด
    • ข้อสอบชีวิตที่ต้องสอบให้ผ่าน

[คลิกเพื่อรับชมคลิปวีดีโอ]

วันนี้มีจิตอาสาแพทย์วิถีธรรม ภาคกลาง เข้าร่วมรายการทั้งหมด 37 ท่าน ดำเนินรายการ โดย คุณกิ่งแก้ว ฉัตรมณีวัฒนา (เม) และคุณมาลิน จุ้ยทรัพย์เปี่ยม (ต่าย) ซึ่งครั้งนี้มีผู้ร่วมแบ่งปันการบ้านอาริยสัจ 4 ได้แก่ คุณคมเวช หงส์เชิดชัย (เวช) คุณสมทรง นาคแสงทอง (ติ๋ม) คุณสุขนา ทิวถนอม (หญิง) คุณกมลชนก ทุมวงษ์ (แหม่ม) และคุณปัทมา ลีฬหาวงศ์ (หมู)


ประกาศการเปลี่ยนแปลงวันและเวลาจัดรายการ โดยจะเปลี่ยนจากวันพุธ  เป็นทุกวันเสาร์ เวลา 13.00 – 16.00 น. โดยประมาณ  จากนั้นพี่น้องทุกท่านร่วมกันแบ่งปัน และวิเคราะห์การบ้าน ดังนี้

เรื่อง อาการขาบวม (คุณคมเวช หงส์เชิดชัย) :

ทุกข์ คือ กังวลใจที่เท้าขวาบวม และมีอาการคัน รู้สึกไม่ชอบใจ รำคาญใจ ยิ่งคันก็ยิ่งเกาจนเป็นผื่นแดงมาก และกลัวว่าจะไปกระทบกับเท้าที่บวมด้วย เมื่องดรับประทานยาความตันแล้ว อาการเท้าบวมก็ลตลงเป็นปกติ พิจารณาว่าต้องดับที่ใจ และวางอาการที่ทุกข์ใจเพราะคัน และบวม ตั้งใจว่าจะไม่เกามันอีก พากเพียรน้อมนำคำสอนของท่านอาจารย์หมอเขียวสอนไว้ ต้องทำใจว่าไม่ต้องกลัว เพราะยิ่งกลัวเรายิ่งแพ้ จะเป็นอะไรให้คิดว่า จะหายหรือไม่หายก็ได้ ไม่ให้ใจเป็นทุกข์ เพราะทุกข์เกิดจากความหวั่นไหวเป็นปัจจัยให้ป่วย

สรุปการวิพากย์และสังเคราะห์ โดย หมู่มิตรดี :

    1. หากเราทำอย่างดีที่สุดแล้ว ไม่ว่าเท้าจะยังบวมหรือไม่หายบวม เราก็วางใจให้เป็นสุขให้ได้
    2. สิ่งใดที่พิจารณาแล้ว ทำให้ทุกข์ลดลง ให้ย้ายมาเป็น “มรรค”
    3. พิจารณาอาการ “ความกลัวเจ็บ” เมื่อจับได้ทัน ให้น้อมสำนึกผิดที่เราได้เคยเบียดเบียนชีวิตสัตว์อื่น และเป็นเหตุให้สัตว์เหล่านั้นต้องทรมานกับการตาย
    4. เพื่อมาเป็นอาหารให้เรารับประทานด้วยกิเลส
    5. สิ่งร้ายเข้ามา เพื่อที่จะหมดไปเท่านั้น

เรื่อง ทุกข์มา ปัญญาเกิด (คุณสมทรง นาคแสงทอง) :

ทุกข์ คือ ในอดีตเคยมีอาการป่วย ใจจึงกังวลว่า ลูกจะให้ตนเองมาบำเพ็ญงานที่สวนป่านาบุญ 9 มีกิเลสอยากมาเพื่อบำเพ็ญ ถ้าได้มา จะสุขใจ แต่ถ้าไม่ได้มา จะทุกข์ใจ พิจารณาว่า ปล่อยวางโดยไม่ยึดมั่นถือมั่นว่า จะต้องมาสวนป่านาบุญ 9 เพราะเห็นประโยชน์ว่าอยู่ที่ไหน ใจก็เป็นสุขได้ ตั้งจิตคิดแต่ดี เพราะเป็นศีลแห่งธรรม และปฏิบัติอยู่ในกรอบของพุทธที่ถูกตรง ด้วยกาย วาจา ใจ ทำดีเรื่อยไป ใจเย็นข้ามชาติ เชื่อชัดในเรื่องกรรม เพราะสิ่งนี้ คือ หนทางสู่ความพ้นทุกข์

สรุปการวิพากย์และสังเคราะห์ โดย หมู่มิตรดี :

    1. การเขียนการบ้านสละสลวย คมชัดเจน และแม่นประเด็นดี เพียงตัดข้อมูลอื่นออก และให้เหลือแต่การบ้านอาริยสัจ 4
    2. เมื่อเขียนการบ้านอาริยสัจ 4 ไปเรื่อย ๆ อาการทุกข์ใจก็ค่อย ๆ หายจนหมดไป

เรื่อง อยากได้ดีดั่งใจหมาย (คุณสุขนา ทิวถนอม) :

ทุกข์ คือ ช่วงนี้เป็นรอบบุญที่ได้บำเพ็ญดูแลคุณพ่อ ซึ่งป่วยเป็นโรคเบาหวาน ความดันและไต ต้องฟอกไตอาทิตย์ละ 2 ครั้ง คุณพ่อมักจะชอบรับประทานอาหารพวก ของหวาน น้ำหวาน และเนื้อสัตว์ที่มัน ๆ อาหารเหล่านี้ทำให้น้ำตาล ความดัน ค่าของเสียในเลือดขึ้นสูง เห็นว่ามันเป็นสิ่งที่ทำร้ายพ่อ จึงเตือนท่านว่า อย่ากินเลย จึงได้อธิบาย ก็กินนิดเดียว ผลเลือดต่าง ๆก็เลยแย่ แต่พ่อก็บอกว่า “กินนิดเดียว” ไม่เป็นไรหรอก เตือนว่าท่านเคยมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหารนะ ท้ายที่สุดพ่อก็โมโห ขึ้นเสียงดัง “กูจะกิน มึงอย่ามายุ่ง” ใจทุกข์มีความไม่สบายใจ ความกลัวและกังวลห่วงว่า พ่อจะมีอาการไม่สบาย จนต้องไปฟอกไต เพราะใจอยากให้พ่อเราทำตามที่ตนเองได้แนะนำ วางใจยอมรับ กล้าที่จะเผชิญความจริงให้ได้ ว่าไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น พ่อก็เป็นคนเลือก เขาก็ต้องรับผลที่เขาเลือก เราไม่สามารถไปเปลี่ยนแปลงอะไรตรงนั้นได้ และเราก็แค่คอยแก้ไขสิ่งที่จะเกิดขึ้นตามอาการของเขาไปอย่างไม่ทุกข์ใจ ไม่อึดอัดคับข้องใจ เมื่อวางใจเมตตาคุณพ่อ ท่านก็ค่อย ๆ ดีขึ้น

สรุปการวิพากย์และสังเคราะห์ โดย หมู่มิตรดี :

    1. สุขใจที่คุณพ่อทำตามคำแนะนำ ทุกข์ใจที่คุณพ่อไม่ทำตามคำแนะนำ ไม่ว่าคุณพ่อจะทำตามคำแนะนำหรือไม่ ใจก็ไม่ทุกข์
    2. ช่วงนี้เป็นช่วงมีวิบากดีที่คุณพ่อเริ่มฟัง แต่ก็เตรียมใจไว้ว่าท่านอาจจะไม่ฟังในอนาคตก็ได้

เรื่อง น้องแมวเหมียว (คุณกมลชนก ทุมวงษ์) :

ทุกข์ คือ เพื่อนข้างบ้านย้ายไปต่างจังหวัด จึบทิ้งแมวตัวเมียไว้หนึ่งตัว พี่สาวได้เอาข้าวให้กินทุกวัน จนกระทั่งมีลูกสามตัว แล้วแมวตัวนี้ก็พาลูกมาที่หน้าบ้าน ซึ่งตนเองก็ปฏิเสธกับพี่สาวตลอดว่า ไม่อยากเลี้ยง เพราะเคยเลี้ยงสุนัขมาหลายปี แล้วพอสุนัขตาย ตนเองไม่อยากจะเสียใจกับการตายอีก แต่ก็ไม่ไล่เพราะสงสารลูกแมวที่ต้องเร่ร่อนไปข้างนอกอีก เพราะก่อนหน้านี้แมวตัวนี้มีลูกมาหลายครั้ง แต่ลูกแมวก็ค่อย ๆ หายไป เพราะอาจโดนสัตว์ร้ายมากินไป เพื่อนบ้านก็มานำลูกแมวไปเลี้ยง แต่สุดท้ายแมวก็กลับมา เพราะผูกพันกับพี่สาวของเราที่เคยซื้อข้าวเลี้ยงดู รู้สึกสงสารเพราะช่วงพี่สาวไม่อยู่ ตนเองจึงนำข้าวมาให้กันแทน และจัดวางพื้นที่ให้ได้ขับถ่าย ปรากฎว่าแมวตัวนี้ถูกรถชนตาย รู้สึกเศร้าใจ กังวลใจ ใจหาย ที่ต้องมาเห็นแมวตัวนี้เสียชีวิตต่อหน้า ใจชอบที่จะไม่ได้เลี้ยงแมว ชังที่ได้เลี้ยงแมว ยึดว่าจะไม่เลี้ยงสัตว์อีก จะได้เลี้ยงแมวหรือไม่ ก็จะไม่ทุกข์ใจ ได้เลี้ยงก็ได้ ไม่ได้เลี้ยงก็ได้ พิจารณาว่าเหตุการณ์นี้ทำให้ได้ล้างการยึดมั่นถือมั่นได้ เพราะเคยตั้งจิตเอาไว้ว่า จะไม่เลี้ยงสัตว์ใด ๆ อีก หลังจากที่เคยเลี้ยงสุนัขมาแล้ว สุนัขได้เสียชีวิต ซึ่งตนเองยังทุกข์และยึดติดกับเหตุการณ์สูญเสียอยู่ พิจารณาเชื่อชัดเรื่องกรรมอย่างแจ่มแจ้งในการพลัดพราก และการเสียชีวิตของแมวต่อหน้า ทำให้รู้ว่าสิ่งที่เราได้รับคือสิ่งที่เราทำมา การเข้าใจเรื่องกรรมอย่างแจ่มแจ้งเท่านั้น จึงสามารถลดทุกข์ และพบความผาสุขที่แท้จริงได้

สรุปการวิพากย์และสังเคราะห์ โดย หมู่มิตรดี :

    1. หากอยากช่วยสัตว์จริง ๆ จะต้องปล่อยให้สัตว์เหล่านี้มีชีวิตเป็นไปตามกรรม
    2. เลี้ยงสัตว์ 1 ตัว ก็ทุกข์หนึ่ง เลี้ยงหลายตัว ก็ทุกข์หลายครั้ง เพราะวันหนึ่งต้องพลัดพราก
    3. ตัวเราเองก็เป็นร่างขันธ์หนึ่ง เราต้องมาแบกภาระขันธ์แมว ขันธ์หมาอีกหลายขันธ์ ใจจะยิ่งทุกข์ และสร้างวิบากให้ตนเองยาวขึ้นไปอีกขนาดไหน
    4. การยึดติดในสัตว์เลี้ยงนั้น ไม่ต่างจากกับยึดติดในคนรัก ครอบครัว ฯลฯ เมื่อมีการพลัดพราก ด้วยความผูกพัน จึงยากที่จะทำใจได้ เพราะเรายึดว่าเป็นของ ๆ เรา
    5. พิจารณาให้ดี ๆ การมีหรือไม่มี เราก็อยู่ได้
    6. การตายคือตายคนเดียว หากมีความผูกพัน แทนที่สัตว์เลี้ยงที่เสียชีวิตจะได้เปลี่ยนร่าง กลายเป็นว่ามีบ่วงมาผูก ยิ่งจะทำให้เปลี่ยนร่างยากขึ้น
    7. การเลี้ยงสัตว์ เป็นการยิ่งเสียเวลาในการจะไปทำความดีได้มากขึ้น เพราะต้องมาเสียเวลาระลึกถึงสัตว์ที่ผูกพัน
    8. ให้ขอบคุณพี่สาวที่นำโจทย์นี้เข้ามาอีกครั้ง จนเห็นกิเลสของการยึดติดในสัตว์เลี้ยงมาให้ได้เห็นทุกข์ในใจได้อย่างชัดเจนของการพลัดพราก
    9. ยังทุกข์ใจจนเสียน้ำตา เพราะการตายของแมว ทำให้ได้ระลึกถึงสุนัขสัตว์เลี้ยงที่รักมากในอดีต
    10. รู้ว่าการเลี้ยงสัตว์นั้นไม่ดี แต่พอได้มีโจทย์ที่เป็นสัตว์ และด้วยใจที่สงสาร จึงทำให้พลาดไปผูกพันไปดูแลอีก ซึ่งเป็นเรื่องที่ยากพอสมควร เหมือนการติดของหวาน ไม่ดีแต่ก็ยังอยากกิน
    11. เมื่อพิจารณาทุกข์บ่อย ๆ ในวันหนึ่งเมื่อเราล้างกิเลสที่จะไม่เลี้ยงสัตว์ได้แล้ว เบื้องต้นจะรู้สึกชังคนที่เลี้ยงสัตว์ และเมื่อฝึกค่อย ๆ ล้างไปเรื่อย ๆ ก็จะไม่ชังคนเลี้ยงสัตว์ แต่จะเห็นแล้วไม่ไปยุ่ง

เรื่อง บททดสอบของชีวิต (คุณปัทมา ลีฬหาวงศ์) :

ทุกข์ คือ หลังตากคุณพ่อคุณแม่เสียชีวิต ก็เลี้ยงน้องสาวเหมือนเป็นลูก พอโตขึ้นแล้ว น้องสาวบอกว่าจะดูแลกิจการแทนตนเอง ใจสละเพราะตนเองมีตัวคนเดียว แต่น้องสาวมีลูก ทำให้ยินดีที่จะสละกิจการให้ และน้องสาวก็ยินดีให้ตนเองมีเวลามากขึ้นในการทำงานจิตอาสาช่วยเหลือสังคม อยู่ดี ๆ เมื่อวันหนึ่งน้องสาวและครอบครัวหายไป เพราะเคยให้น้องสาวยืมเงินมาตลอด น้องสาวไปพูดกับน้องสาวอีกคนว่า ตนเองไม่ดีอย่างนั้นอย่างนี้ กล่าวหาว่าเราโกหกเรื่องต่าง ๆ และห้ามไม่ให้พบเจอหลาน ขู่ว่าหากยังไปพบหลานอีก จะให้หลานออกจากโรงเรียน หลอกให้เราออกจากบ้านมา ทำให้เราต้องมาสู้ชีวิตแบบศูนย์ มาสู้ชีวิต ลงมือทำมาหากินขึ้นมาใหม่อีกครั้ง มาศึกษาภายหลัง จึงรู้ว่าน้องสาวคนนี้ป่วยเป็นโรคซึมเศร้า เคยมีอาการจะฆ่าตัวตาย รู้สึกชังที่น้องสาวกล่าวหาว่าตนเองโกหก ทั้ง ๆ ที่เราไม่ได้ทำ พิจารณากรรมน้อมรับ ว่ารับแล้วก็หมด และก็จะโชคดีขึ้น ยินดีเต็มใจรับ

สรุปการวิพากย์และสังเคราะห์ โดย หมู่มิตรดี :

    1. หากเข้าใจความจริงตามความเป็นจริงว่า น้องสาวป่วยเป็นโรคซึมเศร้า ก็มีใจเมตตาที่น้องป่วยเป็นโรคนี้ ย่อมมีพฤติกรรมแบบนี้ เราจะไม่ชังเขาเลย สามารถสละทุกข์ได้จนหมด
    2. ไม่ชอบไม่ชังที่น้องสาวจะเข้าใจผิดเรา หรือจะพูดถึงเราอย่างไรก็ได้ ใจก็ยินดีน้อมรับ
    3. การที่ใจมีความรักให้น้องสาวเหมือนดั่งลูก ทำให้มีใจเมตตาให้อภัยได้ง่ายมากขึ้น แค่เพียงให้น้องสาวได้รอดชีวิต
    4. ไม่มีความกลัวขาดในสิ่งที่ตนเองเคยมี ไม่มีเงินก็ไม่กลัว ไม่อายที่จะทำมาหากิน
    5. วิบากที่เผลอใจไปรักและผูกพันกับหลาน จึงกลายเป็นทำให้หลานเดือดร้อน จนเกือบต้องออกจากโรงเรียน พอรู้สึกเหมือนว่าจะต้องพลักพรากกับหลาน จึงเห็นทุกข์
    6. เหตุการณ์นี้มีทุกข์หลายตัว อาจจะลองค่อย ๆ แยกทุกข์ออกมาทีละตัว

สรุปเนื้อหาของวันนี้ คือ ถึงแม้การเรียนบางวิชาจะต้องถูกยกเลิกไปบ้าง แต่การบ้านวิชา “อริยสัจ 4” เป็นการบ้านที่อาจารย์หมอเขียวท่านมีนโยบายให้คงไว้ เพราะเป็นวิชาที่สำคัญมากที่สุดสำหรับการเกิดมาเรียนรู้บนโลกนี้ ไม่มีการศึกษาใดที่จะทำให้เราพ้นทุกข์ได้อย่างแท้จริง เท่ากับ “วิชาปัญญาพาใจให้ผาสุก” ตัดความอยากให้สิ้น จึงสิ้นทุกข์โดยธรรม

รายงานข่าวโดย :
ศิริพร คำวงษ์ศรี (มั่นผ่องพุทธ) / สวนป่านาบุญ ๙ สังกัดภาคกลาง

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *