รายการ “รวมพลังภาคกลางสู้กิเลส” ครั้งที่ 25
วันพุธที่ 11 สิงหาคม 2564
เวลา 19.00 – 21.25 น.
ประเด็นเด่นจากรายการ
-
- อาหาร “อรหันต์” ลูกจึง “หันซ้ายและหันขวา”
- นอน…บังอรใส่กลอน…นอน นอน
- แยกขยะ จึงเจอ “โดนปรับ”
วันนี้มีจิตอาสาแพทย์วิถีธรรมภาคกลาง และทุกภาค ได้มาเข้าร่วมรายการทั้งหมด 38 ท่าน ดำเนินรายการ โดย คุณจาริณี กวีวิวิธชัย (เอ๋) และคุณมาลิน จุ้ยทรัพย์เปี่ยม (ต่าย)
ในช่วงแรกของรายการได้มีการแนะนำวิธีการเขียนและส่งการบ้าน จากนั้นจึงมีนักศึกษามาร่วมแบ่งปันการบ้านอาริยสัจ 4 จำนวน 3 ท่าน ได้แก่ คุณจิตรา พรหมโคตร (ตา) คุณมาลิน จุ้ยทรัพย์เปี่ยม (ต่าย) และคุณศิรินภา คำวงษ์ศรี (จิ๊บ)
เรื่อง น้อยใจลูก (คุณจิตรา พรหมโคตร) :
ทุกข์ คือ เมื่อเช้าผัดมะละกอใส่โหระพา ลูกถามตนเองว่า “ใส่โหระพาด้วยหรือ?” จึงตอบว่า “ใช่แล้ว มะละกอเป็นฤทธิ์เย็น และโหระพาเป็นฤทธิ์ร้อนจึงใส่รวมด้วย” ลูกพูดว่า “มันไม่เข้ากัน ลูกยังทำแบบแม่ไม่ได้หรอก” (กินอาหารสุขภาพแบบที่แม่ทำไม่ได้ในตอนนี้) ตนเองรู้สึกน้อยใจขึ้นมาทันที เห็นจิตใจร้อนที่จะเอาพฤติกรรมดี ๆ จากลูก อยากให้ลูกรับประทานอาหารได้แบบที่ตนเองศรัทธา จึงจะสุขใจ อยากให้ลูกเข้าใจในความหวังดี และอาหารที่ทำให้รับประทานนั้นเป็นสิ่งที่ดี พิจารณาวางใจยอมรับว่า ลูกจะทำได้หรือไม่ก็ได้ และลูกจะเข้าใจตนเองหรือไม่ก็ได้ ใจก็ไม่ทุกข์ ไม่บังคับลูก เมื่อได้สติ จึงระลึกได้ว่า ตนเองได้มาเรียนรู้คำสอนเรื่องหลักของการรับประทานอาหารจากอาจารย์หมอเขียวแล้ว แต่ตนเองก็ยังปฏิบัติไม่ได้มากเท่าไหร่เลย นี่เป็นสิ่งที่ดีแล้ว ที่มีเหตุการณ์ว่าลูกนั้นมีภาวะเสี่ยงจากเพื่อนที่ทำงาน ที่ได้รับเชื้อโควิด มิเช่นนั้นลูกคงไม่มีโอกาสได้มารับประทานอาหารที่ตนเองได้ทำ เท่านี้เขารับได้ ก็ดีมากแล้ว ไม่ควรโลภอยากได้จากลูกมากเกินกว่าที่เป็นไปได้จริง ซึ่งตรงกับบททบทวนธรรมข้อที่ 2 ว่า “เราต้องรู้ว่าแต่ละคนมีฐานจิตแตกต่างกัน เราจึงควรประมาณการกระทำให้เหมาะสมกับฐานจิตของเราและฐานจิตของผู้อื่น “คิดดี พูดดี ทำดีไว้ก่อน” ดีที่สุด ลูกยังรับไม่ได้ จึงเรียกเมนูนี้ว่า “มั่ว” ส่วนแม่เรียกเมนูนี้ว่า “ปกติ” สัญญาแม่กับลูกไม่ตรงกัน มองความจริงและความลวงให้ชัด ใจก็ไม่ต้องหวั่นไหว รู้สึกใจนั้นคลายจนโล่ง “เมื่อไม่มีความอยาก ก็ไม่ทุกข์ แล้วจะอยากไปทำไม? ก็มันโง่ไง!”
สรุปการวิพากย์และสังเคราะห์ โดย หมู่มิตรดี :
-
- ลูกมีพัฒนาการมากขึ้นในหลายด้าน ตอนนี้สามารถมาเริ่มรับประทานอาหารสุขภาพได้บ้าง ถือว่าดีมาก และตอนนี้ลูกสามารถเลิกบุหรี่ได้แล้ว เพียงยังไม่สามารถเลิกเนื้อสัตว์ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ลูกจะไม่รับประทานเนื้อสัตว์ หากรู้ว่าสถานที่ที่จะไปนั้น มีการเชือดสัตว์สด ๆ ในด้านสามีก็ยังได้รับอานิสงค์เรื่องนี้ด้วย โดยจะไม่เชือดสัตว์ด้วยตนเอง แต่จะซื้อมารับประทานแทน
- ลูกอาจพูดว่าเมนูนี้ ไม่เข้ากันก็จริง แต่ก็ยอมรับประทานเมนูนี้
- ลูกถามเรื่องส่วนผสมของเมนูนี้ อาจเป็นเพราะลูกสงสัยเท่านั้นเอง
- มองใจเขา ใจเรา ว่าลูกสามารถรับได้หรือไม่ ในสิ่งที่ตนเองเสนอ และเรียนรู้การเชื่อมจิตวิญญาณด้วยอาหาร ค่อย ๆ ปรับให้ลูกสามารถรับได้ หรือชวนลูกมาร่วมทำอาหารไปด้วยกัน
- เมนูนี้ พี่น้องจิตอาสาหลายท่านก็มองว่า อาจจะยังไม่สามารถรับประทานได้เช่นกัน เพราะยังไม่สามารถสลายภพของเรื่องอาหารได้ เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ยาก
เรื่อง เริ่มใหม่ได้ทุกวัน (คุณมาลิน จุ้ยทรัพย์เปี่ยม) :
ทุกข์ คือ ตั้งศีลถวายพ่อครูและอาจารย์ตั้งแต่มิถุนายน ในเรื่องการออกกำลังกายและการนอนหัวค่ำ ประมาณ 4 ทุ่ม ตั้งแต่ตอนนั้นเป็นต้นมา ทำตามที่ตั้งศีลได้น้อยมาก เพราะรู้สึกว่าช่วงเวลา 4-5 ทุ่มนั้น จะเป็นช่วงที่มีสมาธิมากที่สุด พร้อมทั้งองค์ประกอบรอบ ๆ ก็เป็นใจให้นอนดึก เพราะพ่อบ้านมักทำงานกลางคืน เนื่องจากช่วงกลางคืนมีอากาศเย็น งานระบายสีของสามีจะทำได้ง่าย เพราะสีแห้งช้า มีความรู้สึกผิด ตีตนเองว่าทำไมยังทำตามศีลที่ตั้งไว้ไม่ได้สักที มีกิเลสว่าหากทำได้จะสุขใจ และทุกข์ใจที่ทำไม่ได้ อุปาทานอยากได้ดั่งใจหมายตามที่ตั้งไว้ พิจารณาวางใจว่าจะทำได้หรือไม่ได้ ก็ไม่ทุกข์ใจ หากทำไมได้ ก็ตั้งใหม่พรุ่งนี้ ด้วยใจที่เบิกบาน พิจารณาเหตุการณ์ภายนอกว่า สามารถเริ่มใหม่ ตั้งเป็นรายวันไป พิจารณาโทษของการนอนตึก โทษของการไม่ออกกำลังกาย ลดความเสี่ยงที่จะพลาด โดยพิจารณาองค์ประกอบที่ทำให้พลาด ทำไม่ได้ เพื่อเป็นบทเรียน ตอบกับกิเลสในครั้งต่อไป องค์ประกอบอื่นๆ หรือสิ่งแวดล้อมนั้นไม่เกี่ยว แต่กิเลสหลอกใจ อาการสุขใจที่ทำได้ นั้นดี เพราะเป็นสิ่งที่ควรยึดอาศัย แต่ถ้าไม่ได้ ก็ดี ทำความเข้าใจว่า เราก็ทำไม่ได้บ้าง ไม่เป็นไร เริ่มใหม่พรุ่งนี้ ให้กำลังใจตัวเอง ทำที่ใจ ไม่ทุกข์ถ้าทำไม่ได้ พิจารณาโทษของการตีตนเองนั้นไม่ดี ทำให้เสียพลัง หมดกำลังใจ ไม่มีประโยชน์อะไร ตัดรอบเวทนา ไม่ร่ำไร พิจารณาความลวง คือ เมื่อตนเองทำไม่ได้ กิเลสหลอกให้ต้องตีตนเองว่า ตนเองด้อยที่ทำไม่ได้ แต่ความจริง คือ การยอมรับความจริง ตามความเป็นจริงว่า ไม่ใช่ทุกอย่างที่คาดหวังกับตนเองไว้ ตนเองจะทำได้ นี่ขนาดเรื่องง่าย ๆ ก็ยังทำไม่ได้เลย ก็เพียงพากเพียรต่อไป ให้กำลังใจตนเอง
สรุปการวิพากย์และสังเคราะห์ โดย หมู่มิตรดี :
-
- การนอนเร็ว หรือ การออกกำลังกาย ดูเหมือนเป็นเรื่องง่าย แต่พอลงมือทำจริง ๆ นั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย
- ถึงจะพากเพียรวางระเบียบวินัยให้กับศีลที่ตนเองตั้งขนาดไหน แต่ว่าก็มักมีเหตุให้ต้องพลั้งผิดศีล เป็นเรื่องธรรมดา
- ตั้งวางเป้าด้วยจิตตั้งมั่น ต้องพูดคุยกับคนใกล้ชิด ชักชวนกันให้นอนเร็ว และรีบปิดไฟตั้งแต่หัวค่ำ เพื่อให้สามารถนอนได้เร็ว
- เมื่อเริ่มนอนเร็วได้ 1 ครั้ง จะค่อย ๆ เริ่มทำได้เรื่อย ๆ เมื่อทำได้บ่อยขึ้น จิตจะตื่นเอง นอนเร็วเอง
- เพียรให้อภัยตนเองไปเรื่อย ๆ
- เมื่อมองว่าการนอนเร็วยังไม่สำคัญ จึงยังไม่ยอมลงมือทำอย่างเต็มที่
- การที่ติดทำงานในตอนกลางคืน อาจไม่ดีต่อสุขภาพ แต่ถ้ายังนอนเร็วไม่ได้ ก็เพียงน้อมวางใจให้ผาสุกในการทำงานไปก่อน
- พ่อครูสมณะโพธิรักษ์ให้ความสำคัญกับการนอนเช่นกัน ท่านจะพักผ่อนมากถึง 10 ชั่วโมง เพื่อทำให้ร่างกายได้สามารถฟื้นฟูได้
- งานนั้นสำคัญ แต่ร่างกายของเรานั้นสำคัญกว่า การนอนไม่เป็นเวลา จะทำให้ชีวิตไม่สมดุล
- การติดงาน ไม่ยอมนอนพักผ่อน หากไม่ตรวจสอบใจให้ดีว่าควรทำเวลาที่ต้องพักผ่อนหรือไม่ การทำเช่นนี้ก็ถือเป็๋นการเสพกิเลสในอีกรูปแบบหนึ่งเช่นกัน เพราะไม่ใช่การสละความยึดมั่นถือมั่น
- ตรวจสอบกิเลสและอัตตาว่ามีความยึดหรือความอยากในการนอนเร็ว หรือนอนดึกหรือไม่ ให้มองประโยชน์สูงสุดในการทำหรือไม่ทำสิ่งใดเป็นหลัก
เรื่อง ใบสั่งอย่างไรดี (คุณศิรินภา คำวงษ์ศรี) :
ทุกข์ คือ ไปเจอใบสั่งที่มีชื่อเอกสารเป็นชื่อของตนเอง หงุดหงิดที่ก็ไม่ทราบว่า ท่านใดมาเปิดซองเอกสารใบสั่งและไม่นำเรื่องมาให้ตนเองได้ทราบข้อมูล แต่กลับไปเจอในถังขยะรีไซเคิลโดยบังเอิญ หลังจากมีการได้แยกขยะ เนื่องจากรถเป็นชื่อของตนเอง แต่ครั้งนี้ไม่ได้เป็นผู้ขับ จึงนำเรื่องไปแจ้งผู้ขับรถในวันนั้น หลังจากพูดคุยแล้ว รู้สึกมีความสงสัย และไม่เข้าใจในเหตุผลของผู้ที่นำรถไปขับว่า เหตุใดเมื่อทราบว่าได้รับใบสั่งแล้ว แต่ไม่ต้องการไปชำระค่าปรับ พยายามพิจารณาวางใจว่าปล่อยให้เหตุการณ์นี้จะเป็นอย่างไรก็ได้ ให้เป็นไปตามวิบากของตนเองและผู้ที่เกี่ยวข้อง แต่ยังไม่สามารถตัดสินใจได้ว่าควรต้องทำอย่างไรกับเรื่องนี้ จึงขอคำปรึกษาและแนวทางเพิ่มเติมจากหมู่มิตรดี
สรุปการวิพากย์และสังเคราะห์ โดย หมู่มิตรดี :
-
- ให้พิจารณาเรื่องวิบากกรรมที่เราได้รับนั้น นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น แต่สิ่งที่ได้คือ ได้ใช้หนี้วิบากกรรมที่เคยทำมา ที่เคยไปทำให้ผู้อื่นมารับผิดชอบในสิ่งตนเองได้ทำผิด โดยที่ผู้นั้นไม่ได้กระทำ
- เป็นวิบากกรรมที่ได้เคยสร้างความสับสน ความมึนงง ในเหตุการณ์ให้กับผู้อื่นมาก่อน ทำให้เราต้องมาสับสนในครั้งนี้
- ส่วนเรื่องการจ่ายค่าปรับนั้น เป็นเรื่องภายนอก ให้พิจารณาประโยชน์ให้ได้เองว่า การจ่ายหรือไม่จ่าย อย่างใดเป็นประโยชน์มากกว่ากัน
สรุปเนื้อหาของวันนี้ คือ
การได้ร่วมทำการบ้านอาริยสัจ 4 กับพี่น้องแต่ละท่านนั้น ทำให้ได้รับฟังประสบการณ์ในด้านต่าง ๆ ของมุมชีวิตและมุมเหตุการณ์เพิ่มเติม ทำให้ได้ช่วยกันสังเคราะห์ หาทางออกร่วมกัน ไม่จำเป็นต้องคิดอยู่คนเดียว โดยเฉพาะทางออกของจิตใจ ที่ทำให้เราสามารถวางใจได้ ไม่ว่าชีวิตของเราหรือการตัดสินใจเรานั้น จะพาชีวิตไปในทิศทางใด ก็พร้อมน้อมรับกับผลนั้น ๆ ด้วยใจเบิกบานเป็นสุข
รายงานข่าวโดย :
ศิริพร คำวงษ์ศรี (มั่นผ่องพุทธ) / สวนป่านาบุญ ๙ สังกัดภาคกลาง