รายการ “รวมพลังภาคกลางสู้กิเลส” ครั้งที่ 24
วันพุธที่ 4 สิงหาคม 2564
เวลา 19.00 – 21.25 น.
ประเด็นเด่นจากรายการ
-
- ฮาวทู “สละ” ด้วยใจสุข
- ลดกิเลสต้องช้า จึงได้ใจดีงาม
- แยกขยะในใจ ก่อนแยกจากถัง
วันนี้มีจิตอาสาแพทย์วิถีธรรมภาคกลาง และทุกภาค ได้มาเข้าร่วมรายการทั้งหมด 37 ท่าน ดำเนินรายการ โดย คุณกิ่งแก้ว ฉัตรมณีวัฒนา (เม) และคุณมาลิน จุ้ยทรัพย์เปี่ยม (ต่าย)
วันนี้ผู้เข้าร่วมจากหลายหลากภาคเช่นเดิม จากนั้นจึงมีการเริ่มแบ่งปันการบ้านอาริยสัจ 4 จำนวน 3 ท่าน ได้แก่ คุณสำรวย เดชดี (รักศีล) และ คุณอรุณรัตน์ ไกรลาศศิริ (หม่วย) และคุณเครือแก้ว คุณะวัฒนา (แก้ว)
เรื่อง ทำดี..ไม่มีเดี๋ยว (คุณสำรวย เดชดี) :
ทุกข์ คือ ในอดีตมักชอบเก็บสะสมเงิน และอยากซื้อสิ่งของต่าง ๆ มากมาย จึงทำให้มีจนมากเกินความจำเป็น และวันหนึ่งรู้สึกทุกข์ใจ ที่ทำให้ชีวิตไม่ลงตัวไม่พอเพียง เพราะต้องคอยดูแลรักษาของใช้ต่าง ๆ พิจารณาว่าร่างกายของตนเองยังแข็งแรงมีกำลังอยู่ ถือโอกาสได้แบ่งปันสิ่งของเหล่านี้ไปให้แก่ผู้อื่น เมื่อสละออกแล้ว จึงสุขใจ เพราะคิดดี ทำดี มีศีล และจะทำทุกครั้งที่มีโอกาส โดยไม่ต้องรอ
สรุปการวิพากย์และสังเคราะห์ โดย หมู่มิตรดี :
-
- การที่มีของใช้ซึ่งสะสมไว้มานาน ทำให้เกิดความทุกข์ใจ
- ขัดแย้งในจิตวิญญาณบางจุด เพราะมีของใช้เยอะจึงสามารถได้ใช้ และต้องคอยดูแล แต่พอสละออก ก็อาจไม่มีของใช้ไว้บำเพ็ญงานต่าง ๆ
- พิจารณาเอาประโยชน์จากสิ่งของใช้ที่เก็บไว้ เพื่อใช้ประโยชน์ก็ย่อมดี ไม่ได้ใช้ก็ไม่เป็นไร แต่พิจารณาเอาที่ไม่ลำบากเกินไป
- คำว่า “สะสม” อาจจะหมายถึง การมีสิ่งของ เพื่อเสพความต้องการก็ได้
- การมีของใช้ลักษณะเดียวกัน 2 ชิ้น ที่อาจยังไม่ได้ใช้ในปัจจุบัน ย่อมทำได้ เพื่อสำรองไว้ใช้ประโยชน์ในอนาคต ถึงแม้จะต้องเก็บไว้เป็นเวลา 10 ปีหรือมากกว่านั้นก็ตาม
- การอยู่คนเดียวทำให้มีความจำเป็นที่จะต้องเก็บของใช้ไว้ มากกว่าการอยู่ร่วมกันแบบเป็นหมู่หรือชุมชน เช่น ชุมชนอโศก สวนป่านาบุญในเครือข่ายแพทย์วิถีธรรม ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดา
- อาจมีอาการเหนื่อยบ้างจากการจัดเก็บของ ล้างของ จัดเตรียมเวลาบำเพ็ญ แต่ก็สามารถให้กำลังใจตนเองในการทำความดีต่อไปได้เสมอ
เรื่อง ใจร้อนอยากเจริญในธรรมเร็ว ๆ (คุณอรุณรัตน์ ไกรลาศศิริ) :
ทุกข์ คือ ได้ตั้งศีลเรื่องการรับประทานอาหารมื้อเดียว ในทุกวันจันทร์ พุธ ศุกร์ ไว้ตั้งแต่วันคล้ายวันเกิดของอาจารย์หมอเขียว ปรากฏว่าทำได้บ้างไม่ได้บ้าง วันไหนทำไม่ได้ก็รู้สึกเซ็งกับตนเอง เพราะได้กำหนดหมายว่าเรื่องอาหาร เป็นกามขั้นหยาบ ตนเองคิดว่า ถ้าทำเรื่องนี้ไม่ได้ จะไม่สามารถเจริญในธรรมได้ อยากปฏิบัติได้ อย่างเสถียร แบบไม่ต้องต่อสู้เหมือนการไม่อยากสูบบุหรี่ เพราะตนเองไม่เห็นต้องใช้ความพยายามใด ๆ ก็ยังสามารถทำได้ มีใจเปรียบเทียบตนเองกับผู้อื่นที่สามารถบรรลุการตั้งศีลมื้อเดียวได้แล้ว อยากทำได้บ้าง พิจารณาว่าจะสามารถทำได้หรือไม่ได้ ใจก็ไม่ทุกข์ พิจารณาประโยชน์ของการรับประทานอาหารมื้อเดียว และโทษของการรับประทานอาหารหลายมื้อในทุกด้าน หากพ่ายแพ้ในการต่อสู้ ก็ทำการวิเคราะห์ว่า ในแต่ละครั้งนั้น เกิดจากกามคุณ 5 ตัวใด อ่านเวทนาที่เกิดก่อน ในระหว่าง และหลังรับประทาน การปฏิบัติธรรมต้องเป็นไปตามลำดับ ยอมรับว่าอินทรีย์พละของตนเองนั้น สามารถทำได้เท่านี้ รู้ทัน และเพียรพยายามต่อไป วางใจให้ยินดีที่ได้ต่อสู้กับกิเลส แม้ล้มลุกคลุกคลานบ้าง อย่างน้อยก็ได้เห็นเหลี่ยมมุมของกิเลสที่เข้ามาหลอกล่อให้ทำผิดศีล ฝึกความแข็งแกร่ง จึงสามารถให้คำแนะนำกับผู้อื่นที่อยากตั้งศีลข้อนี้ได้ เข้าใจเรื่องกรรมที่ทำมาในการที่ตนเองเป็นแม่ครัว และมักเป็นสร้างความอยาก ทำให้ผู้อื่นผิดศีล เช่น การพูดเชิญชวนผู้อื่นให้เข้ามารับประทานอาหารในครัว จึงตั้งจิตพากเพียรทำประโยชน์ในช่วงเวลาต่าง ๆ โดยรับประทานมื้อเดียวในช่วงกลางวัน และหลังช่วงบ่ายเป็นต้นไป จะไม่พยายามเดินเข้าครัว
สรุปการวิพากย์และสังเคราะห์ โดย หมู่มิตรดี :
-
- เป็นกรณีศึกษาที่ดีมาก ๆ เนื่องจากมีการพิจารณาที่ละเอียด และกิเลสในการรับประทานอาหารนั้นยากมาก และทุกท่านยังต่อสู้อยู่
- มุ่งมั่นต่อสู้ในการตั้งศีลเช่นเดิม แต่หากพลาดผิดศีล ก็ไม่ตีตนเองว่าทำไมทำไม่ได้
- การต่อสู้ตามฐานของตนเอง ถือว่าเป็นการเจริญในธรรมแล้ว
- เพียรล้างความยึดดีจากการตั้งใจทำสิ่งดี แต่ตนเองทำไม่ได้ เพราะจะทำให้เกิดทุกข์ใจ เนื่องจากในเวลานั้น ๆ อาจเกินกำลังของตน หรืออาจมีวิบากบางอย่างที่ทำให้ไม่สามารถทำข้อนี้ได้ดี
- ศีลการรับประทานมื้อเดียว เป็นศีลที่นำเป็นสู่ทางพ้นทุกข์ก็จริง แต่ยากมาก หากไม่ได้บำเพ็ญฝึกมาหลายภพหลายชาติ แม้กระทั่งพระสงฆ์บางท่านก็ยังไม่สามารถทำได้เช่นกัน
เรื่อง คันหัวใจ (คุณเครือแก้ว คุณะวัฒนา) :
ทุกข์ คือ ขยะพลาสติกที่ตนเองได้แยกสะอาดไว้แล้ว พ่อบ้านแอบทิ้งลงถังขยะ เมื่อรับทราบ จึงรู้สึกคัน โกรธ โมโห ยึดว่าขยะพลาสติกที่เราแยกไว้ ต้องอยู่ในสภาพเดิม เพื่อนำไปทำประโยชน์ พิจารณาวางใจให้ผาสุกว่า ขยะที่คัดแยกไว้อย่างสะอาด จะถูกใครเคลื่อนหรือย้ายไปไหนหรือจะทิ้งก็ได้ เราก็ยังสุขใจ เหตุการณ์นี้ทำให้ได้ชัดเจนในเรื่องกรรมอย่างแจ่มแจ้ง เพราะตนเองเคยนำอาหารที่ลูกชอบ แต่ไม่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย ไปทิ้งขยะเช่นกัน ใช้บททบทวนธรรมข้อที่ 38 “กิเลส โลภ โกรธ หลงเป็นสิ่งที่คนโง่ คนชั่ว คนทุกข์ คนบ้าหวงแหนที่สุดในโลก” และข้อที่ 151 “เราจะทำในสิ่งที่คนอื่นทำได้ยาก เราจะเป็น ในสิ่งทีคนอื่นเป็นได้ยาก เราจะสละ ในสิ่งที่คนอื่นสละได้ยาก เราจะพ้นทุกข์ ในสิ่งที่คนอื่นพ้นทุกข์ได้ยาก ชนะกิเลส เหตุแห่งทุกข์ทั้งปวง” ได้ระลึกถึงความดีของพ่อบ้านที่ได้คอยช่วยแยกขยะ ขนขยะ ร่วมทำความดีหลายอย่างด้วยกันมาตลอด
สรุปการวิพากย์และสังเคราะห์ โดย หมู่มิตรดี :
-
- เนื่องจากเก็บความรู้สึกที่ชังไว้ในใจ ไม่ให้ออกไปทางวาจา จึงรู้สึกคันอยู่ข้างใน
- ลดความต้องการการกระทำดี ๆ และความเข้าใจ ที่เราต้องการจากพ่อบ้าน ใจอาจทุกข์ที่พ่อบ้านที่ไม่เห็นความสำคัญในสิ่งที่เราพูด ว่าการแยกขยะนั้นเป็นสิ่งสำคัญ
- พิจารณากรรมในปัจจุบันว่า ทุกข์ของการยึด แม้เป็นสิ่งดีนั้น เป็นโทษอย่างไร
- การแยกขยะเป็นสิ่งที่ดี แต่อาจผิดศีลข้อ 1 เพราะพื้นที่ในบ้านมีจำกัด แต่นำมาขยะของทั้งบ้านตนเองและบ้านอื่นมาวางไว้เต็มบ้านจนล้น เพื่อรอแยก และอาจเบียดเบียนใจสมาชิกในบ้านได้
- การเป็นสามีภรรยากัน อาจมีวิบากที่เผลอเพ่งโทษกัน เพราะอยู่ใกล้ชิด จึงรู้เห็นไปหมด แต่เมื่อหันมามองที่ตนเองให้มากขึ้น จึงสามารถวางใจที่ยึดได้ง่ายยิ่งขึ้น
สรุปเนื้อหาของวันนี้ คือ
-
- การทิ้งหรือเก็บขยะในใจของตนเองนั้น หากเราสามารถพิจารณาประโยชน์และโทษของสิ่งต่าง ๆ ได้ เราจึงจะสามารถรู้ว่าสิ่งใดควรทิ้งหรือสิ่งใดควรเก็บ ด้วยใจที่ไม่ยึดมั่นถือมั่น
- เพียงได้รับฟังกรณีศึกษาของพี่น้องแต่ละท่าน ก็สามารถได้เก็บข้อมูลและวิธีการต่อสู้กิเลสในเหลี่ยมมุมต่าง ๆ มาใช้ได้จริงในชีวิตประจำวัน
รายงานข่าวโดย :
ศิริพร คำวงษ์ศรี (มั่นผ่องพุทธ) / สวนป่านาบุญ ๙ สังกัดภาคกลาง