รายการ “รวมพลังภาคกลางสู้กิเลส” ครั้งที่ 20

รายการ “รวมพลังภาคกลางสู้กิเลส” ครั้งที่ 20
วันพุธที่ 7 กรกฎาคม 2564
เวลา 19.15 – 21.45 น.

ประเด็นเด่นจากรายการ

    • เสน่ห์ปลายจวัก ปรุงความดี ไม่ปรุงทุกข์
    • เหยียบแก้ว เหยียบทุกข์
    • วางมือ วางใจ

[คลิกเพื่อรับชมคลิปวีดีโอ]

วันนี้พิเศษมากกว่าทุกครั้ง เพราะมีการสัญจรจากจิตอาสาแพทย์วิถีธรรมทางภาคใต้ เข้ามาร่วมรายการพร้อมกับจิตอาสาแพทย์วิถีธรรมภาคกลาง รวมทั้งหมด 38 ท่าน ดำเนินรายการ โดย คุณกิ่งแก้ว ฉัตรมณีวัฒนา (เม) และคุณมาลิน จุ้ยทรัพย์เปี่ยม (ต่าย) ซึ่งครั้งนี้มีผู้ร่วมแบ่งปันการบ้านอาริยสัจ 4 จำนวน 3 ท่าน ได้แก่ คุณภคมน ถิระธรรมภณ (ษา) คุณจิตรา พรหมโคตร (ตา) และคุณนงนุช พาสนาโสภณ (นุช)
________________________________________

พี่น้องทุกท่านช่วยกันวิเคราะห์การบ้านและร่วมกันหาเหตุแห่งทุกข์ให้กับผู้แบ่งปันการบ้าน ดังนี้

เรื่อง ฝีมือปลายจวักของใคร (คุณภคมน ถิระธรรมภณ) :

ทุกข์ คือ เมื่อต้องมาทำอาหารแบ่งปันบุคลากรการแพทย์ จึงทุกข์เพราะไม่เคยใช้หม้อใหญ่ และไม่ถนัดปรุงอาหารรสจัด อยากปรุงอาหารให้ผู้รับสามารถรับประทานได้หมด กลัวพวกเขาไม่ชอบและนำไปทิ้ง เมื่อปรุงอาหารเสร็จ จึงลองให้พี่น้องบางท่านชิม บางวันท่านก็ชอบ แต่บางวันไม่ชอบ อยากให้รสชาติอาหารฝีมือของตนเองเสถียรและเป็นรสชาติที่ทุกท่านชอบ ตนเองจะได้ปลื้มใจ พิจารณาตระหนักได้ว่า ตนเองนั้นก็ไม่ใช่เชฟมืออาชีพ เราได้ปรุงอาหารอย่างดีที่สุดเท่าที่ทำได้แล้ว พยายามวางใจให้พ้นทุกข์

สรุปการวิพากย์และสังเคราะห์ โดย หมู่มิตรดี :

    1. เมื่อทำอย่างดีที่สุดแล้ว ผู้รับจะชอบหรือไม่ชอบ ก็ไม่เป็นไร เมื่อวางใจได้ ใจจึงผาสุก
    2. ใจยังกดข่มอยู่ ยังล้างกิเลสในใจไม่หมด จึงเกิดทุกข์ เพราะใจยึดดี
    3. ให้ตรวจสอบว่าถ้าได้ไปทำอาหารอีกครั้ง ใจยังผาสุกหรือไม่
    4. ยังหาตัวอยากตัวยึดไม่ตรงจุด ค่อย ๆ ลองตรวจสอบไปเรื่อย ๆ
    5. ทำดีแล้ว ไม่ต้องรอให้ตนเองหรือใคร ๆ มาปลื้มหรือชื่นชม วางใจ “ให้ โดยที่ไม่คิดจะเอาอะไรจากใครให้ได้”
    6. ทบทวนธรรมข้อที่ 36 คือ จงทำดีเต็มที่ เหนื่อยเต็มที่ สุขเต็มที่ ไม่มีอะไรคาใจ ไม่เอาอะไร
      คือสุดยอดแห่ง “ความอิ่มเอิบเบิกบานแจ่มใส”
    7. เมื่อได้พูดกิเลสที่อัดแน่นออกมา ทำให้กิเลสค่อย ๆ เผยออกมาว่าจริง ๆ แล้ว ต้องการอะไร ซ่อนความกลัวใดไว้
    8. อยากให้ทั้งตนเองและผู้รับประทานสมใจ เพื่อให้ชอบทั้งสองฝ่าย ผู้ปรุงอาหารปลื้มใจ ผู้รับประทานบอกว่าอร่อย แต่ไม่พ้นทุกข์
    9. เรามีหน้าที่เพียง “ทำดี” แต่ไม่ได้มีหน้าที่ “ทุกข์”

เรื่อง เหยียบแก้ว เหยียบทุกข์ (คุณจิตรา พรหมโคตร) :

ทุกข์ คือได้ยินเสียงแก้วแตก จึงรีบไปดูว่าต้องช่วยอะไรหรือไม่ แต่กลับไปเหยียบโดนเศษแก้วบนพื้น โกรธและไม่อยากเก็บกวาดเศษแก้วที่สามีได้ทำแตกไว้ ระลึกถึงกรรมได้ว่า เคยทำงานไม่เรียบร้อย จนต้องทำให้ผู้อื่นมาคอยตามเก็บงานของเรา วันรุ่งขึ้นลองสอบถามสามีว่าเกิดอะไรขึ้น สามีเล่าว่าทำแก้วหล่นโดนเหวี่ยงเข้าไปตามซอก จึงยังไม่อยากเก็บเท่านั้น ในอดีตมีใจชอบเอาชนะสามีเสมอ จึงตั้งศีลว่าจะยอมน้อมรับในกรรมและการกระทำของสามีทุกเรื่อง

สรุปการวิพากย์และสังเคราะห์ โดย หมู่มิตรดี :

    1. เป็นการกดข่มจากการกระทำในอดีตของสามี ร่วมกับการปรุงแต่ง ยอมยังไม่จริง ยังล้างกิเลสยังไม่ได้
    2. ฆ่าอารมณ์ลบที่ยังฝังไว้ของตนด้วยการคิดบวกกับเหตุการณ์ที่ได้ยินเสียง และเก็บแก้วด้วยใจที่เป็นสุข
    3. ยอมมี 2 แบบ คือ ยอมแบบจำนน และยอมจากใจจริง ๆ หากยอมแบบจำนนจะยังมีกิเลสตัวโกรธอยู่ แต่ยอมจากใจจริง ๆ จะไม่มีความโกรธเจืออยู่เลย จะน้อมพร้อมเข้าไปคุยกับสามีได้ทันทีด้วยใจที่บริสุทธิ์
    4. เหตุการณ์นี้ได้ประโยชน์ เพราะได้เห็นกิเลสที่ยังซ่อนอยู่
    5. ได้เปรียบเทียบความแตกต่างในกิเลสตัว “ชัง” ว่าลดลงมากน้อยเพียงใด กิเลสลดลง คือ “ความก้าวหน้า”
    6. เมื่อเราเปลี่ยนแปลงตนเองในทางที่ดีขึ้นได้ อีกฝ่ายก็เปลี่ยนแปลงเช่นกัน

เรื่อง จิตที่กังวลอุ้งมือจะเจ็บเรื้อรัง (คุณนงนุช พาสนาโสภณ) :

ทุกข์ คือ จากการดูแลคุณแม่ยามป่วย มีอาการเจ็บอุ้งมือทั้ง 2 ข้างเรื้อรังมา 6 ปีแล้ว แต่ยังทำงานได้ปกติ จนเมื่อ 9 เดือนที่แล้ว เริ่มมีอาการปวดมากขึ้น จึงกังวลว่าจะทำงานไม่ได้คล่องตัว เห็นความยึดที่อยากได้สภาพดี ๆ ให้อาการหายเจ็บจึงจะสุขใจ พากเพียรวางใจให้ไม่ทุกข์ น้อมรับในสิ่งที่ตนเองเคยทำมา จะต้องประมาณการตัดรอบทำงานให้ได้ดียิ่งขึ้น รู้เพียรรู้พัก อาการจะหายเจ็บตอนไหนก็ได้

สรุปการวิพากย์และสังเคราะห์ โดย หมู่มิตรดี :

    1. หาเหตุของการบาดเจ็บว่าเกิดจากอะไร เพื่อจะสามารถแก้อาการได้ตรงจุด
    2. รักษาศีลข้อ 1 ให้ดี คือ การไม่เบียดเบียนตนเอง ยอมให้งานเสียได้ แต่อย่าให้จิตใจข้างใจเสียไป งานใดที่ยังไม่เหมาะสมในการทำตอนนี้ ต้องพร้อมวาง หากศีลข้อ 1 ยังทำไม่ได้ ทุกอย่างจะรวนทั้งหมด
    3. เป็นธรรมดาธรรมชาติ หากใช้งานร่างกายมาก ๆ ย่อมมีอาการเสื่อม จิตไปหลงยึดร่างกายว่า อยากให้หายได้ดั่งใจ
    4. การปล่อยวางในสิ่งที่ยึดนั้น ทุกชีวิตล้วนมีอาการยึด ต้องใช้เวลา ยังอาจไม่สามารถวางใจได้ตอนนี้
    5. กิเลสมีความอยากในทุกด้าน อยากหายป่วย อยากทำงาน เราไม่สามารถอยากได้ทุกอย่าง ให้ยอมรับความจริงในสังขารของตนเอง และทำงานที่สามารถทำได้
    6. อาการเจ็บครั้งนี้เป็นเรื่องดี ที่มาเตือนและทดสอบใจว่าจะยอมทิ้งภาระได้หรือไม่ เพื่อรักษาตนเองก่อน
    7. เหงาเคว้งคว้างที่ตนเองเคยทำงานได้เต็มที่ พอลดงานลงเพียงเล็กน้อย อาจรู้สึกว่าตนเองทำไม่ได้เต็มที่

สรุปเนื้อหาของวันนี้ คือ

    1. เมื่อหาทุกข์ยังไม่พบ หมู่มิตรดีมาร่วมช่วยกันหาเหตุแห่งทุกข์อย่างตั้งใจ ถึงอาจยังหาไม่พบบ้าง ก็สามารถพร้อมปล่อยวางให้เป็นไปตามธรรม ให้ทุกท่านได้ใช้เวลาและเจอผัสสะเพิ่ม เพื่อพิจารณาจนพบทุกข์ แบบไม่ยึดมั่นถือมั่น
    2. พี่น้องได้ปัญญาและประโยชน์จากการรับฟังเหลี่ยมมุมอื่น ๆ จากหมู่มิตรดี เพื่อที่จะนำมาสังเคราะห์วิเคราะห์ให้ตนเองหลุดพ้นจากทุกข์ในทุกด้าน ด้วยใจผาสุก

รายงานข่าวโดย :
ศิริพร คำวงษ์ศรี (มั่นผ่องพุทธ) / สวนป่านาบุญ ๙ สังกัดภาคกลาง

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *