รายการ “รวมพลังภาคกลางสู้กิเลส” ครั้งที่ 16

รายการ “รวมพลังภาคกลางสู้กิเลส” ครั้งที่ 16
วันพุธที่ 6 มิถุนายน 2564
เวลา 19.35 – 21.50 น.

ประเด็นเด่นจากรายการ

  • รักลูกจนถูกทาง
  • ไลน์หลุด ใจไม่หลุด
  • รักษาฟัน รักษาใจ
  • ฝึกพลัดพรากด้วยรักที่บริสุทธิ์

วันนี้มีจิตอาสาแพทย์วิถีธรรม ภาคกลาง เข้าร่วมรายการทั้งหมด 23 ท่าน ดำเนินรายการ โดย กิ่งแก้ว ฉัตรมณีวัฒนา (เม) ซึ่งครั้งนี้มีผู้ร่วมแบ่งปันการบ้านอริยสัจ 4 จำนวน 3 ท่าน ได้แก่ คุณจาริณี กวีวิวิธชัย (เอ๋) คุณวิภาวัลย์ ถนัดธรรมกุล (หมวย) และ คุณบัณฑิตา  สังข์สุวรรณ (แอน)



บรรยากาศในรายการมีความจริงจังตั้งใจ แต่ผ่อนคลาย พี่น้องทุกท่านต่างแบ่งปันและช่วยกันวิเคราะห์ เอาภาระช่วยกันพาพ้นทุกข์ด้วยการบ้านอริยสัจ 4 ดังนี้

เรื่อง ทรมานจากทำฟัน (คุณจาริณี กวีวิวิธชัย) :

ทุกข์ คือ ในช่วงโควิดระบาด คลินิกที่ได้เข้าไปรักษารากฟันเปิดให้บริการไม่ต่อเนื่อง และมีการส่งต่อให้ไปรับการรักษาจากนักศึกษาแพทย์ ซึ่งวิธีการรักษาละเอียดซับซ้อนเกินไป ทำให้ยังไม่ทราบว่าอีกนานเพียงใดถึงจะรักษารากฟันเสร็จ เป็นทุกข์ที่ต้องเจ็บปวดทรมานในการทำรากฟัน ไม่ชอบที่สุขภาพฟันไม่ดี จึงพิจารณาวางใจไม่ทุกข์หากต้องมีปัญหาเรื่องฟัน ด้วยสาเหตุเกิดจากการกินอาหารหลายมื้อ จึงตั้งศีลกินอาหารมื้อเดียวอย่างต่อเนื่อง และเพียรสู้กับมารในใจที่จะมาดึงใจให้ผิดศีล 

สรุปการวิพากย์และสังเคราะห์ โดย หมู่มิตรดี :

  1. เสนอให้พิจารณาดูอาการทุกข์ทางใจ ที่เกิดจากการทุกข์ทรมานทางกายจากการรักษาฟัน เช่น หงุดหงิด รำคาญ ฯลฯ
  2. จิตทุกข์ เพราะชังสภาพไม่ดี ที่ต้องได้รับวิธีการรักษาที่นานและซับซ้อน ชอบที่จะต้องทำฟันเสร็จเร็ว ๆ จึงจะสุขใจ ส่วนทุกข์ทางกาย คุณเอ๋ได้วางใจไว้แล้ว
  3. การโดนหลุดเข้าไปในกระบวนการรักษาที่ไม่ถูกต้อง ให้ยินดีน้อมรับวิบากกรรม และเชื่อชัดเรื่องกรรมที่เคยไปกดดันผู้อื่นให้ต้องอยู่ในกระบวนการที่เหมือนโดนบังคับ เมื่อมีอาการปวดฟัน ให้ลองระลึกว่าได้ทำกรรมในเรื่องใดบ้าง เช่น อาจพูดให้ผู้อื่นเสียใจ บังคับผู้อื่นไม่ให้พูดหรือพูด ฯลฯ
  4. พิจารณาให้ตัดทิ้ง “ความอยาก” คือ สมุทัยที่ยึดต้องการให้ได้ทุกสิ่งเกิดขึ้นดั่งใจหมายตลอดเวลา จึงทำให้เกิดทุกข์จากเหตุการณ์
  5. เมื่อชัดใน “นิโรธ” ไม่ว่าสิ่งใดจะเกิดช้าหรือเร็ว ดีหรือไม่ดี เราจะไม่ทุกข์ หากใจไม่ยึดมั่นถือมั่น

เรื่อง ไลน์หลุด (คุณวิภาวัลย์ ถนัดธรรมกุล) :

ทุกข์ คือ เนื่องจากไม่ได้บำเพ็ญงานมาเป็นเวลานาน เมื่อมีโอกาสได้ทำ จึงอยากเต็มที่ แต่โปรแกรมไลน์กลับใช้ไม่ได้ ทำให้ทุกข์ใจเพราะกลัวว่าจะไม่ได้บำเพ็ญกุศลส่งธรรมะให้กับพี่น้อง คลายทุกข์ใจด้วยการพิจารณาว่าตนเองจะได้บำเพ็ญหรือไม่ก็ได้ มีความพอใจในสิ่งที่สามารถทำได้ในเวลานั้น ๆ จึงทำให้มีแต่ความเบิกบานผาสุก

สรุปการวิพากย์และสังเคราะห์ โดย หมู่มิตรดี :

  1. พิจารณาจนดับทุกข์ได้ดีแล้ว เพราะพร้อมปรับพร้อมเปลี่ยน
  2. เป็นตัวอย่างที่ดีในการเห็นทุกข์ รู้ทุกข์ วางใจ ปล่อยวางได้ดี
  3. เขียนได้ชัดเจน สามารถพึ่งตนได้ และสามารถจัดการปัญหาได้ดีและมีสติ

เรื่อง รักลูกจนถูกทาง (คุณบัณฑิตา สังข์สุวรรณ) :

ทุกข์ คือ กลัวสูญเสียลูก เหมือนที่เคยสูญเสียสามี จึงทำให้เป็นห่วงลูกชายมาก เมื่อได้ทำกิจกรรมร่วมกับลูก จะมีความสุขมาก ๆ และจะคอยโทรเช็คลูกตลอด ใจหวงไม่อยากให้ลูกมีแฟน ตอนนี้ลูกโตพอดูแลตนเองได้แล้ว แต่ใจตนเองมองว่าการเป็นห่วงแบบนี้เป็นเรื่องธรรมดา พิจารณาว่าหากลูกตาย ก็อาจพร้อมตายตาม

สรุปการวิพากย์และสังเคราะห์ โดย หมู่มิตรดี :

  1. พิจารณาว่าเราไม่สามารถปกป้องหรือทำให้ลูกมีสภาพแบบไหนได้ ทุกอย่างจะเป็นไปตามวิบากดีร้ายของลูก ให้ลองฝึกวางใจยอมรับ และเชื่อชัดในสัจจะ
  2. เสนอให้พิจารณาการห่วงลูกแบบนี้ ไม่ใช่เรื่องธรรมดา เพราะหากมีสิ่งใดเกิดขึ้นกับลูก อาจทำให้มีอาการใจสลายด้วยความหลงยึด
  3. เสนอฝึกให้ลูกสามารถพึงตน ดูแลตนเองให้ได้ จะทำให้ลูกแข็งแกร่ง เพราะลูกอยากกางปีกบินเองแล้ว แต่แม่ไม่ยอมปล่อย
  4. เตรียมพร้อมในความไม่เที่ยงของชีวิต คือ การต้องพลัดพรากกันเป็นเรื่องธรรมดา
  5. ลูกตามใจแม่ แม่ตามใจลูก ทำให้ได้ดั่งใจจนกิเลสโต ทั้งแม่และลูกจึงสูญเสียอิสระทางใจ กลายเป็น “พ่อแม่รังแกฉัน ลูกรังแกแม่”
  6. พิจารณาโทษของความหวง เพราะยิ่งห่วง ยิ่งกลัว ยิ่งเหนื่อย ยิ่งทำให้เสียพลัง ทำให้เกิดโรคภัย เป็นผลเสียต่อสุขภาพ
  7. เสนอให้ลองสละสิ่งของหยาบ ๆ ที่หวงออกไปก่อน เพื่อเป็นบันไดไปสู่การฝึกเบื้องต้นในการสละลูกซึ่งเป็นคนที่เราทั้งรักและหวงมากยิ่งกว่า
  8. พระพุทธเจ้าทรงตั้งชื่อลูกว่า “ราหุล” แปลว่า “บ่วง” แต่การมีบ่วงไม่จำเป็นต้องมีทุกข์ เราเพียงพลัดพรากจากความอยาก แต่เราไม่ได้พลัดพรากจากลูก
  9. การเป็นแม่ที่ดี ดูแลลูกอย่างดี ทำให้เรามีความสุข แต่การเป็นแม่ที่หลงยึดมั่นถือมั่น จะทำให้แม่และลูกมีความทุกข์

สรุปเนื้อหาของวันนี้ คือ

  1. การรวมพลังช่วยกันวิเคราะห์การบ้านอริยสัจ 4 ทำให้พี่น้องมีความทุกข์ใจลดลงเป็นลำดับ ถึงกิเลสจะยังไม่หมด แต่ใจเบาสบาย
  2. การพลัดพรากจากความยึดความอยากจากสิ่งที่รัก คือ หนทางสู่ความพ้นทุกข์

รายงานข่าวโดย :

ศิริพร คำวงษ์ศรี (มั่นผ่องพุทธ) / สวนป่านาบุญ ๙ สังกัดภาคกลาง

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *