รายการ “รวมพลังภาคกลางสู้กิเลส” ครั้งที่ 15

รายการ “รวมพลังภาคกลางสู้กิเลส” ครั้งที่ 15

วันพุธที่ 26 พฤษภาคม 2564

เวลา 19.00 – 21.44 น.

ประเด็นเด่นจากรายการ

– อยู่นาน ๆ ได้ไหม นาน ๆ จะได้บำเพ็ญสักที

– โควิดปลดแอก

– ติดเชื้อง่าย หากมีโรค NCDs ทางจิตวิญญาณ

– เราตื่น กิเลสตื่น เราหลับ กิเลสหลับ

วันนี้มีจิตอาสาแพทย์วิถีธรรม ภาคกลาง เข้าร่วมรายการทั้งหมด 26 ท่าน ดำเนินรายการ โดย คุณจาริณี กวีวิวิธชัย (เอ๋) ซึ่งครั้งนี้ มีผู้ร่วมแบ่งปันการบ้านอริยสัจ 4 จำนวน 2 ท่าน ได้แก่ คุณอุไร ขวัญเมือง (อุไร) และคุณศิริพร คำวงษ์ศรี (หมู)


เริ่มด้วยการแนะนำสโลแกนของรายการ คือ “พูดคุยภาษาอริยะ โลกุตระ อริยสัจ 4” พร้อมแนวทางการเผยแพร่เพื่อเป็นประโยชน์ต่อสาธารณชน ในการฝึกฝนลด ละ เลิกกิเลส และพากเพียรสู่ความพ้นทุกข์ไปด้วยกัน บรรยากาศผ่อนคลายยืดหยุ่น พร้อมปรับพร้อมเปลี่ยน ไม่ยึดมั่นถือมั่นว่า ท่านใดต้องพูดก่อนหลัง ให้เป็นไปตามธรรม จากนั้นพี่น้องจึงแบ่งปันและช่วยกันวิเคราะห์การบ้านอริยสัจ 4 ดังนี้

เรื่อง อยู่นาน ๆ ได้ไหม นาน ๆ จะได้บำเพ็ญสักที (คุณอุไร ขวัญเมือง) :

ทุกข์ คือ เฝ้ารอมุ่งมั่นตั้งใจที่จะเดินทางเข้าสวนป่านาบุญ 9 หลังจากมีการปลดล็อกให้สามารถเข้าได้ จึงมีการจัดเตรียมดอกไม้เพื่อที่จะนำเข้าไปบำเพ็ญปลูกในศูนย์ฯ แต่ก็ต้องมีอุปสรรคด้วยเหตุภารกิจจากทางครอบครัวแบบเร่งด่วน คือ โดนเรียกตัวให้ต้องกลับบ้านเพื่อไปทำธุระ เช่น การลงนามในเอกสารราชการ ฯลฯ รู้สึกทุกข์ เพราะทำให้ผิดไปจากความตั้งใจที่ต้องการจะเข้ามาบำเพ็ญให้ได้ตามระยะเวลาที่ได้วางแผนไว้ พิจารณาดูแล้วว่า จะมีเหตุการณ์คล้ายกันเช่นนี้ ซ้ำแล้วซ้ำเล่ามาหลายครั้ง จึงปรึกษาหมู่กลุ่ม และได้รับคำแนะนำที่เป็นประโยชน์ ทำให้คลายทุกข์ใจ

 สรุปการวิพากย์และสังเคราะห์ โดย หมู่มิตรดี :

    1. เสนอทางออกว่า มีหลากหลายวิธีการที่ไม่จำเป็นต้องทำธุรกรรมด้วยตนเอง เช่น ให้ทนายดำเนินการแทน ฯลฯ
    2. การบำเพ็ญในศูนย์เป็นเรื่องที่ดี แต่อุปสรรคที่เข้ามานั้น เป็นวิบากกรรมในอดีตที่เราได้เคยขวางการทำกุศลของผู้อื่นไว้
    3. พิจารณาความทุกข์ของการโดนกิเลสลวง ให้มองไม่เห็นการหลงยึดชอบว่า การทำกุศลที่สูงสุด คือ การได้บำเพ็ญอยู่ในศูนย์นาน ๆ และหลงยึดชังหากมีอุปสรรคในการทำให้ได้บำเพ็ญน้อยลง ทุกข์เพราะอยากให้ทุกอย่างเป็นดั่งใจหมาย
    4. ตั้งจิตยินดีในกุศล และวิบากดีร้ายที่เราทำได้ เช่น มีกุศล 100 ก็ยินดีทำแค่ 100 หากอยากทำกุศลมากเกินความเป็นจริง เกินจากกุศลหรืออกุศลที่เราควรได้รับ ทำได้เท่าใด ก็ยินดีเท่านั้น เพื่อล้างความยึดดี
    5. ความตั้งใจในการจัดเตรียมดอกไม้นำมาปลูกในศูนย์นั้น เป็นการได้สละความเห็นแก่ตัวจากตนเองแล้ว คือ ความดีและการทำบุญกุศลมากพอแล้ว เพียงยินดี ใจก็ผาสุก จะได้บำเพ็ญที่ใด ได้กลับบ้านช้าหรือเร็ว จึงไม่เป็นปัญหาให้มีความทุกข์ใจ
    6. ไม่โทษครอบครัว หรือเหตุการณ์ใด ๆ ที่ทำให้เราได้สร้างกุศลน้อย
    7. ล้างความยึดมั่นถือมั่น ในการคิดล่วงหน้าไปก่อนว่า จะมีสิ่งใดสิ่งหนึ่งเกิดขึ้น เช่น ปรุงแต่งตั้งหมายในความคิดไปแล้วว่า จะต้องมีการโดนเรียกตัวกลับบ้านแน่ ๆ ก็โดนเรียกกลับจริง ๆ ตามที่ได้ยึดปรุงความคิดเอาไว้ และกิเลสจะกระซิบบอกตนเองทันทีว่า “ว่าแล้ว” กลัวสิ่งใด ย่อมได้สิ่งนั้น เสนอให้เปลี่ยนมาพิจารณาเป็น ยินดีให้สิ่งที่เป็นกุศลสูงสุดเกิดขึ้น โดยไม่หลงยึดว่าสิ่งนั้นสิ่งนี้ต้องเกิดขึ้นเท่านั้น
    8. การทำความดี โดยไม่มอบสิ่งที่เป็นกุศลบาปผิดศีล เช่น มอบสิ่งของที่มีประโยชน์ แต่ไม่มอบสุราเหล้า ตามที่ผู้รับอยากได้ เพราะเป็นสิงที่เสริมกิเลส ทำร้ายสติปัญญา และเพิ่มความมึนเมาในชีวิต” ส่วนผู้รับจะสามารถรับความดีจากเราไปได้เพียงใด ก็เท่านั้น เราทำสิ่งดีที่สุดแล้ว
    9. คุณอุไรมีใจนักเลง เป็นข้อดีในการนำมาใช้ทำใจในใจ ว่าทุกสิ่งที่เราได้พบเจอ เราเคยทำมา เคยเอาแต่ใจมา และวิบากดีร้ายต้องเกิดขึ้นกับเราแน่ ๆ ตามธรรม จากสิ่งที่เราเคยทำไว้ พึงระลึกไว้เป็นเสมอ จะค่าย ๆ เข้าใจสัจธรรมของชีวิต

เรื่อง โควิดปลดแอก (คุณศิริพร คำวงษ์ศรี) :

(ปลดแอก หมายถึง กระทำอย่างมีอิสระ แต่ไม่คำนึงถึงโทษที่อาจเกิดขึ้นกับผู้อื่น)

ทุกข์ คือ มีสมาชิกในบ้านที่ป่วยเป็นโรค NCDs หลายท่าน ในช่วงเชื้อโควิด 19 ระบาด ผู้ป่วยกลุ่มนี้จะติดง่าย แต่ก็จะมีกลุ่มคนใกล้ชิดกับผู้ป่วยบางท่านที่ไม่เห็นแก่ส่วนรวม เช่น ทิ้งหน้ากากอนามัยและขยะติดเชื้อไม่ถูกที่ พาบุคคลที่ไม่รู้จักเข้าออกบ้าง อ้างว่าตนเป็นคนสนิทบ้าง ไม่ดูแลตนเองบ้าง กิเลสติดดีติดถูกต้องของเราจึงทำงานหนัก เพ่งโทษว่าทำไมพวกเขาจึงประมาทและมักง่ายได้ขนาดนี้ เราตั้งหมายว่าต้องการป้องกันให้ผู้ป่วยในบ้านและตนเองปลอดภัย อยากให้ผู้อื่นเห็นแก่ส่วนรวม ไม่ปลดแอก เอาแต่ความสะดวกของตนเอง พิจารณานิสัยเอาแต่ใจตนเองที่ทำมามากเหลือเกิน เราเหนี่ยวทำสิ่งเหล่านี้มาเยอะ ตั้งสติอยู่กับปัจจุบัน ตัดความคิดเพ่งโทษทิ้ง ไม่ว่าใครจะทำไม่ดีแค่ไหน เราก็ไม่มีสิทธิ์เพ่งโทษใคร

สรุปการวิพากย์และสังเคราะห์ โดย หมู่มิตรดี :

    1. เลิกเพ่งโทษผู้อื่น แต่ให้โทษความกลัวของตนเอง และตัดออกเสีย ที่ไม่อยากให้มีการติดโควิดเกิดขึ้นในบ้าน เมื่อมีความชัง เราจะมองไม่เห็นสภาพตามความเป็นจริง ว่าเราอยู่ทีไหน อะไรคือสิ่งที่ดีที่สุด
    2. การไร้ความกลัว คือ ภูมิคุ้มกันการเกิดโรค
    3. การตื่นกลัวมากเกินไป อาจทำให้มีจิตวิกลจริตได้ ความกลัวและความชอบชัง จะแตกสังขาร ฟุ้งไปหมด กลัวสภาพดี ๆ จะไม่เข้ามา และกลัวสภาพไม่ดีจะเข้ามา จะยิ่งทุกข์ใจและจิตเพ่งโทษไปทั่ว
    4. ความปลอดภัยที่สุดในปัจจุบัน คือ การดูแลตนเองอย่างดีที่สุด พูดคุยพี่น้องหมู่มิตรดี
    5. อคติในความหลง จึงลืมความสามารถทางพุทธะที่ตนเองมี กลายเป็นมีโรค NCDs ในจิตวิญญาณตนเอง ทำให้ยิ่งเหนี่ยวนำโรคภัย
    6. การเข้าใจแจ่มแจ้งในนิโรธ คือ ใจของเราจะไร้ทุกข์ในทุกสภาพ เพราะการได้เห็นทุกข์ คือ ล้างทุกข์
    7. แม่นประเด็นในสมุทัยว่า สาเหตุจริง ๆ “คืออะไร ?” เช่น หลงนึกว่าตนเองกลัวตุ๊กแก แต่ความจริงแล้วนั้น คือ กิเลสขยะแขยงที่ชังขี้ตุ๊กแก และขี้เกียจต้องมาทำความสะอาด
    8. “เราตื่น กิเลสตื่น เราหลับ กิเลสหลับ” กิเลสลวงให้เรานึกว่ากิเลสเป็นของเรา แต่จริง ๆ แล้วไม่ใช่ของเรา กิเลสเพียงสร้างบรรยากาศให้เราหลงชอบหรือชัง
    9. วิบากดีร้ายสามารถเข้ามาได้เสมอ ถึงเราจะทำอย่างดีที่สุดแล้ว เชื่อชัดยอมรับว่า “สิ่งที่เราได้รับ คือ สิ่งที่เราทำมา” เหตุการณ์ภายนอก เป็นเพียงเครื่องมือ ว่าเราจะเชื่อชัดในเรื่องกรรมมากแค่ไหน พึงใช้ชีวิตอย่างไม่ประมาท ตั้งศีล ชำระกิเลส พึงบำเพ็ญกุศลได้ทุกสถานที่ตามธรรมในเวลานั้น ๆ
    10. พิจารณาโทษของความชอบชังและการเพ่งโทษ ในพฤติกรรมของผู้อื่นที่ไม่ทำตามสิ่งที่เราคิด ว่าจะมีวิบากบาป และสร้างความทุกข์ใจอย่างมาก
    11. โลกนี้พร่องอยู่เป็นนิจ ใจเพิ่มทุกข์เพราะยึดมั่นถือมั่นใน “ความถูกต้อง”
    12. สติรู้ทันกิเลส ศีลเกิด สติรู้ทันนิวรณ์ สมาธิที่ตั้งมั่นเกิด สติรู้ความเปลี่ยนแปลงของจิต ปัญญาเกิด ใช้สัมมาทิฐิ และสัมมาสติ ดับทุกข์

สรุปเนื้อหาของวันนี้ คือ

    1. การล้างความยึดดีนั้น เป็นสิ่งที่ยาก แต่เราทุกคนสามารถทำได้ เพียงพึงระลึกเชื่อชัดเรื่องกรรมที่แต่ละท่านทำมา และประเมินทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์สูงสุดต่อตนเองและผู้ที่เกี่ยวข้อง
    2. ตัณหาความอยากให้สภาพดีเป็นไปตามดั่งใจหมาย ไม่ว่าจะบำเพ็ญอยู่สถานที่ใด ก็ไม่มีวันพ้นทุกข์

รายงานข่าวโดย :

ศิริพร คำวงษ์ศรี (มั่นผ่องพุทธ) / สวนป่านาบุญ ๙ สังกัดภาคกลาง

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *