รายการ “รวมพลังภาคกลางสู้กิเลส” ครั้งที่ 14

รายการ “รวมพลังภาคกลางสู้กิเลส” ครั้งที่ 14
วันพุธที่ 19 พฤษภาคม 2564
เวลา 19.00 – 21.35 น.

ประเด็นเด่นจากรายการ

    • รู้ทันโกรธ แต่ไม่เร่งให้โกรธ รีบดับดั่งใจ
    • อิสรภาพเหนือการโดนโควิดกักขัง
    • ไม่อ้วนเอาเท่าไหร่ ดูดีอยู่ที่จิตใจ

วันนี้มีจิตอาสาแพทย์วิถีธรรม ภาคกลาง เข้าร่วมรายการทั้งหมด 34 ท่าน ดำเนินรายการ โดย คุณพันธุ์ทิพา นุชทิม (กุ้ง) ซึ่งครั้งนี้ มีผู้ร่วมแบ่งปันการบ้านอริยสัจ 4 จำนวน 3 ท่าน ได้แก่ คุณเรือนแก้ว สว่างวงษ์ (นก) คุณณัฐพร คงประเสริฐ (ต้อม) และคุณพีรพงษ์ จันดี (ต๋อง)



เริ่มด้วยบรรยากาศอบอุ่นของการทบทวนแนะนำวิธีส่งการบ้านผ่านออนไลน์ทางเว็บไซต์ของสถาบันวิชชาราม จากนั้นพี่น้องจึงแบ่งปันและช่วยกันวิเคราะห์การบ้านอริยสัจ 4 ดังนี้

เรื่อง ตามไม่ทันความโกรธ (คุณเรือนแก้ว สว่างวงษ์) :

ทุกข์ คือ คิดว่าเพื่อนพูดว่า ไม่ทำตามมติหมู่ ในช่วงภาวะโควิด เนื่องจากมีการสื่อสารไม่เข้าใจกัน และเป็นคนติดความสมบูรณ์แบบ เมื่อเพื่อนมาไม่ตรงเวลา มีใจร้อนที่ต้องมายืนรอ จึงเพ่งโทษพี่น้องหมู่กลุ่ม มีอาการออกไปทางวาจา ทั้ง ๆ ที่เพื่อนอธิบายแล้วว่าไม่ได้มีเจตนาทำให้รู้สึกไม่ดี ยอมรับว่าตนเองยังติดงาน ไม่ได้ฟังธรรมบ่อยเท่าที่ควร ชี้กิเลสความโกรธเป็นจุดอ่อนของตนเอง จะรู้ตัวทุกครั้งหลังโกรธ และมักมาตีตนเอง  

สรุปการวิพากย์และสังเคราะห์ โดย หมู่มิตรดี :

  1. ชื่นชมว่าสู้ได้ถูกทางแล้ว และเป็นสิ่งที่ดีมากแล้ว ที่สามารถจับกิเลสได้ทัน
  2. เสนอให้ฟังธรรมมากชึ้น และสู้กิเลสด้วยเหตุแห่งวิมุติ 5 อย่างเต็มที่ อาการกิเลสจะค่อย ๆ เบาบางลง
  3. กิเลสบางตัวต้องใช้เวลา อาจไม่สามารถเข้าถึงนิโรธได้ทั้งหมด ให้ลองเปรียบเทียบว่า จากอดีตถึงปัจจุบันกิเลสตัวนี้มีอาการลดลงหรือไม่ ชัดเจนมากขึ้นหรือไม่
  4. พากเพียรเก็บอาการโกรธไว้ข้างใน เพื่อให้มีวิบากน้อยลง
  5. คุณนกเป็นคนทำงานเร็วและเก่ง มักทำกุศลคนเดียว งานสำเร็จดั่งใจหมายง่าย จึงเสนอให้ลองร่วมงานกับคนทำงานเก่งเช่นกัน เพื่อช่วยกันลดกิเลส
  6. เพิ่มความเมตตาต่อเพื่อน

เรื่อง ขอบพระคุณอาจารย์ที่เมตตา (คุณณัฐพร คงประเสริฐ) :

ทุกข์ คือ ชอบชังในการขาดความอิสรภาพที่เคยสามารถไปได้ทุกที่ หรือบำเพ็ญที่ใดก็ได้อย่างสมใจ แต่ไม่สามารถทำได้ในช่วงโควิด 19 ระบาด จึงรู้สึกขอบพระคุณอาจารย์หมอเขียว ที่เมตตาอนุญาตให้ลูกศิษย์สามารถเข้าศูนย์ได้ เนื่องจากเป็นห่วงลูกศิษย์ แต่ไม่ว่าจะมีเหตุการณ์ใดเกิดขึ้น ก็รู้สึกโล่งโปร่ง ยินดีน้อมรับอย่างเต็มใจ จะบำเพ็ญที่ใดก็สุขใจ เพราะกิเลสตัวนี้เคยมีการต่อสู้มาแล้ว และเห็นชัดว่าครั้งนี้อาการลดลง และกิเลสตัวนี้เกิดขึ้นในระหว่างการปรึกษาหารือกับพี่น้อง

สรุปการวิพากย์และสังเคราะห์ โดย หมู่มิตรดี :

  1. อาการอึดอัดเกิดขึ้นจากผัสสะในการฟังเรื่องราวของพี่น้องที่มาปรึกษาเรื่องสามารถเข้าศูนย์ฯ ได้หรือไม่ ทำให้เชื่อมโยงกับสัญญาเก่าของคุณต้อม
  2. คุณต้อมได้จับกิเลส จากนั้นล้างกิเลส และวางใจ จบกิเลสพ้นทุกข์ได้แล้ว
  3. เนื้อเรื่องและชื่อเรื่องไม่เชื่อมโยงกัน ยังไม่พบทุกข์ชัดเจนตามในการบ้านที่เขียนมา
  4. พิจารณาแก่นของคำว่า “อิสระที่แท้จริง” คือ อิสระที่ได้เห็นทุกข์ ล้างทุกข์ และยอมรับในความไม่เที่ยง

เรื่อง อยากได้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นให้มากกว่านี้ (คุณพีรพงษ์ จันดี) :

ทุกข์ คือ อยากให้น้ำหนักเพิ่มขึ้น เพื่อให้ร่างกายดูล่ำ เพราะอยากให้ผู้อื่นทักว่าตนเองดูดี พิจารณาตามคำสอนของอาจารย์หมอเขียวว่า “ให้แต่งความดี มากกว่าแต่งกายนอก” และหากมีน้ำหนักมาก อาจทำให้อึดอัด ไม่สบายกายก็ได้ เห็นโทษของการหลงยึดในร่างกาย ว่าเป็น “กาม”

สรุปการวิพากย์และสังเคราะห์ โดย หมู่มิตรดี :

  1. พิจารณาคำสอนของท่านสมณะโพธิรักษ์ กับคำบาลี “รูปขันธ์” คือ อาการที่ถูกรู้ของกิเลส
  2. รู้คุณค่าของการเกิดเป็นมนุษย์ คือ การทำความดีและลดกิเลส
  3. ร่างกายผอมหรืออ้วน ไม่สามารถเลือกได้ บางท่านทานมากแต่ไม่อ้วน บางท่านทานแล้วอ้วน
  4. ไม่ว่าคนอ้วนหรือผอมก็ต่างมีกิเลสทั้งนั้น จิตตั้งมั่นไม่หวั่นไหว ให้รู้ชัดว่าที่ร่างกายของเราผอมเพราะอะไร ผอมก็สามารถสุขภาพดีได้ ลดกิเลสได้
  5. การสะสมความหลงในรูปกายนั้น ออกจากทุกข์ได้ยากมาก ต้องเหนื่อยยากพยายามหาซื้อวัตถุ มาเติมมาเสริมเติมแต่งหน้าแต่งกายของตนเอง เพื่อให้ผู้อื่นยอมรับ ซึ่งมาใช่คุณค่าแท้ และไม่ใช่หนทางสู่การพ้นทุกข์
  6. ไม่ว่าผู้ชายหรือผู้หญิงต่างก็มีความทุกข์ในเรื่องน้ำหนัก และสังขารรูปกายด้วยกันทั้งนั้น
  7. เพียงวางใจไม่ยึด เราจะไม่ทุกข์ใจ เป็นธรรมดาหากใครจะทักเราดูดี หรือไม่ดีก็ได้ ไม่มีสิ่งใดเที่ยง
  8. ใจทุกข์ในเรื่องรูปกาย อาจเกิดจากการห่างจากหมู่กลุ่มมิตรดี
  9. พิจารณาว่าได้ใช้วิบากกรรมที่เคยไปทักผู้อื่นให้เสียความรู้สึกมา จึงทำให้ต้องพบเจอกรรมนี้ด้วยตนเอง
  10. การตระหนักระวังในการพูดจากับผู้อื่น เป็นสิ่งที่ควรพึงกระทำ เพื่อลดวิบากเป็นเหตุให้ผู้อื่นมีความรู้สึกไม่ดี
  11. สร้างภูมิคุ้มกันให้กับร่างกายและจิตใจ โดยดูแลรักษาสุขภาพ คิดดี พูดดี ทำดี จะผ่านพ้นวิบากร้ายไปได้ ตามบุญบารมีของแต่ละท่าน

สรุปเนื้อหาของวันนี้ คือ

  1. ประโยชน์จากการฟังการแบ่งปันการบ้านอริยสัจ 4 ของพี่น้อง ทำให้สามารถพิจารณาตาม และพ้นทุกข์
  2. การเอาภาระของหมู่มิตรดีที่ได้มาร่วมด้วยช่วยกันวิพากย์สังเคราะห์การบ้าน และกิเลสของแต่ละท่าน สร้างพลังให้เห็นความชัดเจนในกิเลส สู่ความพ้นทุกข์ไปด้วยกัน

รายงานข่าวโดย :

ศิริพร คำวงษ์ศรี (มั่นผ่องพุทธ) / สวนป่านาบุญ ๙ สังกัดภาคกลาง

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *