การวิเคราะห์คำสำคัญ keyword research (เบื้องต้น)

การวิเคราะห์คำสำคัญ keyword research (เบื้องต้น)

ผู้เขียน ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

การสร้างบทความนั้น ถ้าไม่ได้มีทุนทรัพย์ (จ่ายเงินโฆษณา) หรือทุนทางสังคม(ใช้ชื่อเสียงเพื่อเผยแพร่) ก็ต้องใช้ทักษะในการนำเสนอบทความ ซึ่งหนึ่งใน “ฟรี” เทคนิค นั่นก็คือการใช้ความรู้เกี่ยวกับ SEO (Search Engine Optimization) หนึ่งในชุดความรู้เหล่านั้น ก็คือการใช้คำสำคัญหรือ keyword ในเนื้อหาตอนนี้เราจะมากล่าวถึงเกณฑ์การใช้คำสำคัญกันในเบื้องต้น โดยมีลำดับดังนี้

  1. ควรแก้ไข : พิมพ์ผิด (รีบพิมพ์จนตกหล่น)
  2. พอใช้ได้ : พิมพ์เพี้ยนไปจากสมมุติ (เช่น หลงเข้าใจไปเองว่าพิมพ์แบบนี้)
  3. ดี : สามารถใช้คำที่คนทั่วไปค้นหาได้
  4. ดีมาก : สามารถใช้ชุดประโยค ที่คนทั่วไปค้นหาได้
  5. ดีมากที่สุด : สามารถใช้คำ ใช้ชุดประโยค และเรียบเรียงคำและประโยคเหล่านั้นไปในบทความได้อย่างมีศิลปะ

สรุปมาโดยย่อก็ได้ภาพรวมของการใช้คำสำคัญเช่นนี้ ต่อจากนี้จะเป็นการแจกรายละเอียดของการใช้เป็นลำดับ

1).ควรแก้ไข : พิมพ์ผิด (รีบพิมพ์จนตกหล่น)

งานบทความนั้นเป็นงานที่มีความละเอียด ควรตรวจทานบทความก่อนที่จะส่งเผยแพร่ เพราะโดยมากแล้ว หลังจากเผยแพร่ก็มักจะไม่ได้มาตรวจคำผิดอีกเลย ดังนั้นการตรวจเพื่อหาข้อบกพร่องของตนเองนั้น ก็ถือเป็นงานอย่างหนึ่งของผู้เขียนบทความ การพิมพ์ผิด โดยเฉพาะคำสำคัญ จะทำให้คะแนนคำสำคัญนั้น ๆ ลดลง

2).พอใช้ได้ : พิมพ์เพี้ยนไปจากสมมุติ (เช่น หลงเข้าใจไปเองว่าพิมพ์แบบนี้)

การพิมพ์ผิด เพราเข้าใจผิดนั้น แก้ไขได้ไม่ยาก เพียงแค่บอกกันบ่อย ๆ ทบทวนกันบ่อย ๆ ก็จะสามารถปรับสัญญากันได้ในเวลาไม่นานนัก ไม่ใช่ปัญหาใหญ่ เพราะเป็นเรื่องธรรมดาของภาษาที่มีความหลากหลาย ตรงนี้ให้ใช้การช่วยกันดู ทบทวนกันบ่อย ๆ

3). ดี : สามารถใช้คำที่คนทั่วไปค้นหาได้

การใช้ google หรือเครื่องมือ อื่น ๆ ตรวจสอบความถูกต้องของคำสำคัญ หรือคำต่าง  ๆ ที่ใช้ในบทความ แสดงถึงความละเอียดลออในงานบทความที่มากขึ้น หลักการก็ไม่มีอะไรยาก แค่เอาคำที่เราสงสัยหรือไม่มั่นใจไปค้นดู ก็จะพอเห็นภาพว่าคนส่วนใหญ่เข้าใช้แบบไหน หรือถ้ากรณีเป็นคำที่คนพิมพ์กันผิดบ่อย ๆ ก็มักจะมีบทความบอกเอาไว้ เราก็กดเข้าไปศึกษา

ในขั้นนี้เราจะเริ่มรู้ว่าคนทั่วไปเขาใช้คำสำคัญคำไหนในการค้นหา สังเกตได้จาก ชื่อเรื่องของบทความที่ติดอันดับต้น ๆ หรือดูลิงก์แนะนำจาก google ไปเรื่อย ๆ จะเริ่มเข้าใจหลักการใช้คำสำคัญและนำมาใช้กับการเขียนบทความของตนเองได้

4). ดีมาก : สามารถใช้ชุดประโยค ที่คนทั่วไปค้นหาได้

เมื่อเข้าใจการใช้คำสำคัญ จะสามารถสร้างบทความที่มีความซับซ้อนของคำสำคัญนั้นได้เพิ่มคือ คือมีรูปแบบของประโยค เพิ่มขึ้นมาจากการใส่เป็นคำ เช่น ปกติเราจะตั้งชื่อเรื่องตรง ๆ เช่น “ข้าวผัดมังสวิรัติ” แต่เมื่อเราค้นดูว่าคนทั่วไปเขาค้นหาอะไร เราจึงพบว่ามีคำว่า “อาหารสุขภาพ ทำเอง” เราก็อาจจะแต่งบทความของเราเป็น “ข้าวผัดมังสวิรัติ อาหารสุขภาพ ทำเองได้ง่าย ๆ ด้วยตัวคุณ”

คำว่าข้าวผัดมังสวิรัติอาจจะมีคนค้นหาไม่มากนัก แต่คำว่า “อาหารสุขภาพ” หรือ “อาหารสุขภาพ ทำเอง” นั้นก็มียอดผู้คนที่ค้นหาจำนวนหนึ่ง ดังนั้นการใส่คำสำคัญที่คนสนใจเข้าไปใน ชื่อเรื่อง และ เนื้อหาด้วย จะเพิ่มโอกาสที่บทความจะถูกเผยแพร่กว้างไกลขึ้น

5). ดีมากที่สุด : สามารถใช้คำ ใช้ชุดประโยค และเรียบเรียงคำและประโยคเหล่านั้นไปในบทความได้อย่างมีศิลปะ

ปัญหาของนักเขียนบทความ เมื่อผนวกเข้ากับความเข้าใจ SEO จะทำให้เกิดความแข็ง ทื่อ อ่านยาก น่ารำคาญ คือมีคำซ้ำฟุ่มเฟือยเต็มไปหมด เรียกง่าย ๆ  ว่าไม่เป็นธรรมชาติ เหมือนไม่ได้พิมพ์ให้คนอ่าน เพราะเน้นเรื่องคำสำคัญมากจนเกินงาม

ดังนั้นความพอดีคือมีคำสำคัญนั้น ๆ แทรก เจือ กระจายอยู่ในบทความอย่างเป็นธรรมชาติ ให้ผู้อ่าน อ่านแล้วรู้สึกสบาย ไม่ย้ำจนมึนเหมือนบทความวิชาการที่อ่านยาก คำสำคัญซ้ำเยอะ คำยาก ๆ ก็เยอะเช่นกัน ดังนั้นการถ่ายทอดอย่างมีศิลปะคือ การสร้างบทความให้เข้าถึงได้ง่าย ค้นเจอบทความได้ง่าย และอ่านได้ง่าย นี้คือผลของการศึกษาการใช้ทักษะการใช้คำสำคัญมาสร้างบทความ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *