การปลูกมะระหวาน ไร้สารพิษ : นางสาวสันทนา ประวงศ์ (ริมสวนฝัน)
ภูผาฟ้าน้ำ จังหวัดเชียงใหม่ ลักษณะดินปลูก ดินภูเขา แห้ง และแข็ง
๑) ในสมัยก่อนจะพบเจอมะระหวานได้บนป่าบนดอยเท่านั้น เมื่อไม่นานได้มีคนเริ่มนำมาทำเป็นอาหาร ด้วยความหวาน กรอบ ของมะระหวาน จึงทำให้เป็นเมนูที่นิยมในปัจจุบัน ไม่ว่าจะนำมาผัดไฟแดง หรือยำ ในยอดมะระหวานมีสารคลอโรฟิลล์สูง มีกากใยมาก จึงช่วยย่อยได้ดี ถ้าต้องการคงความเขียว ให้คลอโรฟิลล์ยังคงอยู่มาก ควรลวกน้ำร้อนโดยเติมเกลือลงไปเล็กน้อย ตักขึ้นแล้วแช่น้ำแข็งหรือน้ำเย็น จะทำให้คงความเขียวอีกทั้งยังกรอบ
๒) การปลูกมะระหวานประมาณ ๒ เดือน ก็สามารถเก็บยอดได้ เมื่ออายุประมาณ ๔-๕ เดือน จะเก็บผลผลิตได้ทั้งยอดและผล ตลอดระยะเวลาของการเจริญเติบโต อาจมีศัตรูพืชรบกวนบ้าง แต่ไม่มากนัก ศัตรูพืชที่สำคัญคือ เพลี้ยไฟ แมลงวันผลไม้เจาะผลอ่อนและโรคราแป้ง ซึ่งเกิดที่ใบ คอยเก็บใบที่เป็นโรคหรือแสดงอาการผิดปกตินำไปเผา การเจริญเติบโตก็จะมีต่อไปได้อีกประมาณ ๓-๔ ปี
มะระหวาน ฟักแม้ว หรือซาโยเต้ : เป็นไม้เถาเลื้อย เก็บยอดและผล ยอดอ่อนและผลนิยมนำมาต้มกินกับน้ำพริก ใช้ทำต้มจืด แกงเลียง ก๋วยเตี๋ยวราดหน้า ผัด ลาบ ยำยอดผัก แต่ส่วนใหญ่แล้วจะนำมาผัดรับประทาน
ในทางสมุนไพรไทย : มะระหวานมีสรรพคุณช่วยบำรุงหัวใจและหลอดเลือด ด้วยการใช้ผลและใบมาดองเป็นยาไว้กิน หรือนำผลและใบมาใช้ในการรักษาอาการเส้นเลือดแข็งตัว รักษาโรคความดันโลหิตสูง ด้วยการดื่มน้ำที่ต้มจากผลและใบ ช่วยป้องกันและรักษาโรคเลือดออกตามไรฟัน ช่วยในการขับถ่าย ทำให้ถ่ายได้สะดวกขึ้นจึงป้องกันอาการท้องผูก
ประโยชน์ : มะระหวานเป็นผักฤทธิ์เย็น มีรสหวาน อุดมด้วย โปรตีน วิตามินเอ วิตามินบี แคลเซียม ฟอสฟอรัส เหล็ก โปแทสเซียม ทำให้มีสรรพคุณ ป้องกันความดันโลหิตสูง เหมาะสำหรับผู้ที่มีความดันโลหิตสูง ทั้งยังช่วยให้เลือดเย็น นอกจากนี้ ช่วยให้ผนังเส้นเลือดอ่อนนุ่มยืดหยุ่นดี จึงช่วยชะลอการแข็งตัวของเส้นเลือด ทำให้ผิวพรรณดี มะระหวานเป็นแหล่งของสารต้านอนุมูลอิสระมากมายที่ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน ช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็ง และช่วยชะลอการเกิดริ้วรอยแห่งวัยได้ มีโฟเลตสูง ซึ่งมีประโยชน์อย่างมากสำหรับทารกในครรภ์ เพราะช่วยป้องกันการพิการของทารกแต่กำเนิด ยังประกอบไปด้วยวิตามินและกรดอะมิโนที่มีประโยชน์ต่อร่างกายหลายชนิด เช่น แคลเซียมที่มีส่วนช่วยบำรุงกระดูกและฟันให้แข็งแรง
วิธีการปลูก
๑. การเตรียมแปลง ปรุงดิน : ยกแปลงขนาดตามต้องการ คลุกเคล้าดินด้วยเศษพืชสด หญ้าแห้ง ใส่อินทรียวัตถุ เช่น ใบไม้แห้ง ต้นกล้วยสับ หรือเศษอาหารในครัว ให้เยอะเพื่อปรับสภาพดินภูเขาที่แห้ง แข็ง ให้ดีเหมาะกับการเพาะปลูก
๒. ทำยาฆ่าหญ้าสูตรหมอเขียว : คือ คลุมหน้าแปลงด้วยพลาสติกใสให้ทั่ว (พลาสติกที่เหลือใช้ทุกชนิด) นำมาวางเรียงต่อกันให้คลุมทั่วหน้าแปลง นำดินจากการขุดร่องน้ำข้างแปลงมาใส่ทับด้านบนพลาสติกให้ทั่วแปลง
๓. ขุดร่องน้ำข้างแปลงปลูก : ขนาดกว้าง ๑ ฟุต หรือ ๓๐ ซม. ลึกตามลักษณะความลาดชันของน้ำที่ไหลเข้าแปลงจากสูงไปต่ำ รอบ ๆ แปลงปลูก เป็นการจัดการระบบน้ำไหลผ่านรอบแปลงให้ความชุ่มชื่นตลอดกับแปลงปลูกมะระหวาน
๔. การปลูก : ระยะห่างระหว่างต้น ระหว่างแถวห่างกันประมาณ ๑ เมตร ปลูกเป็นหลุม ๆ ขุดหลุม เจาะผ่านพลาสติกลงไปขนาดกว้างประมาณ ๒๐ ซม. วางผลต้นพันธุ์ที่มีรากและงอกเป็นต้นอ่อนลงในหลุม กลบดินข้างๆ ผลต้นพันธ์ ปลูกลงหลุมเรียงเป็นแถวต่อกันไปตามสภาพของพื้นที่แปลง
๕. ทำค้าง : เพื่อสะดวกในการเก็บยอดและผล นำไม้ไผ่มาทำค้างให้มะระหวานเลื้อยขึ้นค้าง อายุประมาณ ๒ เดือน ก็สามารถเก็บยอดได้
สำหรับต้นพันธุ์ : นำผลสดที่แก่เต็มที่ พร้อมที่จะปลูก ลักษณะของผลจะมีรอยแตก นำมาชำในที่ร่มชื้นหรือชำในถุงชำจนกระทั่งแตกยอดอ่อนจึงนำไปปลูก หรือทิ้งผลที่แก่จัดไว้กับต้นปลายผลจะเกิดรอยแตกและงอกต้นอ่อน ก็สามารถนำไปปลูกได้เช่นกัน สามารถปลูกได้ตลอดปี
สภาวธรรม
ได้ปลูกมะระหวานไร้สารพิษ ในค่ายพระไตรปิฎก ครั้งที่ ๓๑ รุ่น กสิกรรมไร้สารพิษชีวิตผาสุก กับพี่น้องหมู่มิตรดี ตั้งแต่ไปตัดไม้ไผ่มาทำค้าง ยกร่องแปลงปลูก ลงมือปลูก ขุดหลุมเสาทำค้าง รู้สึกไม่เหนื่อย เบิกบานได้พลังรวม ทำงานไปพูดคุยสนทนาธรรมกันไป การได้รวมกันทำ ทำให้เราเข้าใจผู้อื่นมากขึ้น ยอมได้ง่าย เข้าใจว่าแต่ละคนมีความคิดประสบการณ์ที่ต่างกัน ใครคิดอย่างไรก็เสนอกันมา และวางปล่อยให้หมู่กลุ่มพิจารณาตัดสินใจ ทำกันไปปรับกันไปตลอด ณ หน้างาน ได้เรียนรู้ว่า การทำกสิกรรมไร้สารพิษไม่ยากอย่างที่คิด พึ่งตนเองเป็นหลัก ประหยัดเรียบง่ายใช้วัสดุที่มีใกล้ตัว รู้สึกมั่นใจมากขึ้น แม้เราไม่มีเงินก็ทำได้ ขอให้ขยัน อดทน ไม่ใจร้อน