การใส่รูปภาพประกอบบทความ

การใส่รูปภาพประกอบบทความ

พิมพ์โดย : ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

การทำภาพประกอบบทความในเว็บไซต์หรือสื่อบทความอื่น ๆ จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและศิลปะในการเข้าถึงเนื้อหา ในเชิงประสิทธิภาพ การเผยแพร่บทความในอินเตอร์เน็ตจะมีโอกาสถูกค้นหาได้บ่อยขึ้นหามีภาพประกอบที่มีคุณภาพ และในเชิงศิลปะการสื่อสารก็จะทำให้ผู้รับชมเนื้อหารู้สึกผ่อนคลายมากขึ้น ที่ไม่ต้องดูแต่ตัวอักษร เข้าใจได้ง่ายขึ้นจากการสื่อสารของภาพประกอบนั้น ๆ

1.ทำไมต้องใส่ภาพประกอบบทความ

1.1). โอกาสในการนำเสนอที่เพิ่มขึ้น

การใส่ภาพประกอบจะทำให้บทความของเราติดสารบัญ (index) ของ Search engine เช่น google ฯลฯ ในส่วนของ รูปภาพ(Image) ด้วย ทำให้บทความนั้น ๆ มีโอกาสที่จะถูกค้นเจอได้ง่ายขึ้น เมื่อถูกค้นเจอได้ง่ายขึ้น ก็จะสามารถนำเสนอสิ่งที่เป็นประโยชน์ได้มากขึ้น

1.2). การให้ข้อมูลที่รวดเร็ว

ภาพประกอบคือการสื่อสารที่รวดเร็ว เพียงเห็นภาพผู้ที่กำลังค้นหาเนื้อหาก็รู้แล้วว่าเนื้อหาของเรากำลังจะบอกอะไร ยิ่งเรามีการใส่ชื่อหัวข้อหรือ คำที่น่าสนใจ (title text) เข้าไปในภาพและจัดองค์ประกอบภาพให้สวยงามขึ้นด้วยแล้ว จะยิ่งสามารถสื่อสารได้ไวยิ่งขึ้น

1.3). การเพิ่มความน่าสนใจ

ภาพที่สวยงาม ตัวหนังสือที่ชัดเจน ถ้อยคำที่สื่อสารอย่างชัดเจน จะเพิ่มความน่าสนใจให้คนกดเข้ามาอ่านเนื้อหาของเรา รูปภาพเป็นเหมือนคำเชื้อเชิญ มาสู่บทความที่มีเนื้อหาที่เป็นประโยชน์ของเรา ดังนั้นการใส่รูปภาพและพัฒนาการสื่อสารด้วยภาพประกอบจะช่วยเพิ่มความน่าสนใจในบทความนั้น ๆ ได้

1.4). การให้ข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพ

การใส่ภาพประกอบหรือข้อความที่ชัดเจนว่าจะสื่อสารอะไร จะสร้างการรับรู้ให้ผู้ค้นหา ถ้าเขาสนใจ เขาก็กดเข้ามาชม ถ้าเขาไม่สนใจ เขาก็ข้ามไป ไม่มีการล่อลวง หลอกล่อ มีแต่การสื่อสารตามความเป็นจริง ทำให้เกิดประสิทธิภาพในการสื่อสาร

2.ข้อแนะนำในการใส่ภาพประกอบบทความ

2.1). ความชัดเจนในการสื่อสาร

ในกรณีของรูปภาพ ให้ใช้รูปภาพที่สื่อถึงเนื้อหาชัดเจน ภาพไม่กว้างหรือ crop จนเกินไป ส่วนการใช้ตัวอักษรประกอบภาพ ให้เลือกตัวอักษรที่อ่านง่าย มีสีสันสะดุดตา ตัวอักษรไม่จมไปกับภาพ อ่านออกได้เพียงแค่มองไม่นาน เข้าใจง่าย ไม่ต้องตีความมากนัก

2.2). ความกระชับในการสื่อสาร

สำหรับการใส่ข้อความในภาพประกอบ การใช้ถ้อยคำหรือประโยคที่ชัดเจน ไม่ฟุ่มเฟือย ไม่มากจนอ่านยาก ไม่น้อยจนไม่รู้เรื่อง ไม่กำกวม ใช้ภาษาที่ถูกต้องจะเป็นแบบทางการหรือภาษาพูด ก็ให้ถูกตามสมมุติโลก

2.3). ขนาดของรูป (กว้างxสูง) และการใช้ภาพแนวนอน

ขนาดของภาพประกอบบทความที่ใช้ในเว็บไซต์ จะใช้ภาพขนาดไม่ใหญ่นัก ถ่ายภาพที่ 2 ล้านพิกเซล (2m pixel) ก็เพียงพอแล้ว ขนาดกว้างก็ประมาณ 700 -1200 pixel แนะนำให้ใช้เป็นภาพแนวนอน จะทำให้การแสดงผลไม่ล้นหน้าเว็บ ทั้ง pc และ mobile

2.4). ขนาดและคุณภาพของไฟล์รูป

หลักการของเว็บไซต์ คือโหลดไฟล์ได้ไว ดังนั้น รูปภาพประกอบจึงไม่ควรมีขนาดที่ใหญ่นัก ถ้าสามารถย่อคุณภาพได้ สำหรับบางภาพที่ไม่มีรายละเอียดมากนัก สามารถลดคุณภาพ jpeg ลงได้ถึง 30% เพราะการแสดงผลในเว็บนั้นมีไว้เพื่อดูภาพประกอบเท่านั้น ซึ่งต่างจากงานพิมพ์ที่ต้องใช้ไฟล์คุณภาพสูง

2.5). ชื่อไฟล์รูป

การตั้งชื่อภาพ เป็นวิธีทำให้การเผยแพร่มีประสิทธิภาพสูงขึ้นมาก เพราะการเปลี่ยนชื่อจะเพิ่มโอกาสจะติดสารบัญการค้นหา (index) ได้มากขึ้น การตั้งชื่อสามารถทำได้ทั้ง pc และ mobile หลักสำคัญคือใช้คำสำคัญ (keyword) ลงไปในชื่อรูป และคัดคำฟุ่มเฟือยออก ส่วนช่องว่างหรือ spacebar นั้น จะใช้ – ( เครื่องหมายลบ หรือขีดกลาง) แทนการเว้นช่องว่าง เพราะ spacebar กับ – จะถูกตีเป็นรหัสและความหมายที่ต่างกันในกรณีไฟล์บนเว็บไซต์

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *