รายการ “สายด่วน สุขภาพพึ่งตนวิถีธรรมวิถีไทย”
โดย กลุ่มแพทย์แผนไทยวิถีธรรม ค้ำจุนโลก
วันพุธ ที่ 28 กันยายน 2565 (เทศกาลกินเจ)
เวลา 16.15 – 18.15 น.
ประเด็นเด่นจากรายการ
-
-
- เมนูอาหารเจ สไตล์พวธ. “ผัดแตงกวาไร้น้ำมัน“
- “ตั้งใจจริง” กินเจได้จนทุกวันนี้
- กินเจแบบ “บ้านนอก” ชีวิตง่าย
- กินเจทุกวัน เหมือน “ทำบุญ” ทุกวัน
- “ก้อนเนื้อ” บนแผ่นหลัง หลัง #กินเจ อยู่ ๆ ก้อนก็หายไป
- หอม “ไก่ทอด” แต่รู้ชัด จึงไม่กลับไปกิน
- “ถ้าไม่ได้เห็น ไม่ได้กลิ่น ไม่ได้ยิน และไม่ได้รังเกียจว่า เขาฆ่าสัตว์มาเพื่อเรา ก็สามารถฉันได้ โดยไม่อาบัติ ไม่ผิดศีล” เป็นความจริง หรือไม่?
-
[คลิกเพื่อชมคลิปวิดีโอฉบับเต็ม]
วันนี้มีพี่น้องทั้งจิตอาสาแพทย์วิถีธรรมทั่วโลก และชาวค่ายเข้าร่วมรายการทั้งหมด 69 ท่าน ดำเนินรายการ โดย คุณกมลชนก ทุมวงษ์ (แหม่ม) คุณประภัสสร วารี (กุ้ง) และคุณวิจิตร ตันเดชานุรักษ์
รายการสายด่วนสุขภาพพึ่งตนวิถีธรรมวิถีไทย เริ่มต้นรายการด้วยยาเม็ดที่ 6 คือ มาร์ชชิ่ง [คลิกเพื่อชมคลิปวิดีโอ] และธรรมะเพื่อความผาสุก คือ การอ่านบททบทวนธรรมยาเม็ดที่ 8 ดังนี้ ข้อ 79-80 [คลิกเพื่ออ่านบททบทวนธรรม] และข้อ 81-89 [คลิกเพื่ออ่านบททบทวนธรรม] จากนั้นได้นำเสนอ “เมนูอาหารเจ” สไตล์แพทย์วิถีธรรม “ผัดแตงกวาไร้น้ำมัน”
“ช่วงแบ่งปันร่วมแบ่งปันประสบการณ์
“กินเจแล้วได้อะไร?”
“ตั้งใจจริง” กินเจได้จนทุกวันนี้
คุณประพันธ์ โพธิ์คำ :ในอดีตเติบโตและแวดล้อมไปด้วยย่านชาวจีนในอำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี จึงมักรับประทานอาหารตามเทศกาลเป็นประจำทุกปี รวมถึงช่วงที่มี “การขุดศพไร้ญาติ” เป็นเวลา 10 วัน ซึ่งต้องนุ่งชุดขาว ถือศีล รับประทานอาหารเจ และช่วงที่ยังอาศัยอยู่ในประเทศไทยเคยรับประทานอาหารเจเพียงไม่นานหรือบางครั้งบางคราวเท่านั้น รวมถึงในช่วงเวลาเริ่มแรกของการย้ายถิ่นฐานไปอาศัยอยู่ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ก็ได้เลิกรับประทานอาหารเจ และใช้ชีวิตแบบมัวเมาไปเรื่อย แต่ได้พลิกพลันมาพากเพียรตั้งใจที่จะรับประทานอาหารมังสวิรัติอย่างเอาจริง ตามหลักสูตรของแพทย์วิถีธรรม คือ ตั้งแต่เมื่อวันที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2561 (วันแฟนพันธุ์แท้ จิตอาสาแพทย์วิถีธรรม) ณ วัดพระมหาชนก รัฐจอร์เจีย จากความตั้งใจจริงจึงสามารถรับประทานมังสวิรัติมาได้จนถึงวันนี้ และได้ตั้งปณิธานว่า “จะไม่มีชีวิตใดที่จะถูกตนเองเบียดเบียนอีกต่อไป”
ความแตกต่างที่ได้รับจากการรับประทานอาหารมังสวิรัติ คือในอดีตเป็นคนมุทะลุดุดัน ไม่ยอมฟังใคร ต้องทำตามความถูกต้องเสมอ แต่หลังจากได้ตั้งอริยศีล ก็สามารถลดอัตตาตนเองได้ ไม่ถือตัวถือตน ยอมรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น โดยตนเองพากเพียรที่จะเพิ่มอริยศีลอย่างต่อเนื่อง รับประทานอาหารที่ไม่เบียดเบียน บำเพ็ญส่งการบ้านและส่งสภาวธรรม ฯลฯ เพื่อตั้งใจปฏิบัติหมั่นขัดเกลากิเลสอย่างต่อเนื่อง เพราะ “กิเลสมักจะล่ำหน้ากว่าเรา 1 ก้าวเสมอ”
เมนูอาหารเจที่ประทับใจ คือ “น้ำพริกเผา” สูตรต่าง ๆ และปรับปรุงดัดแปลงเมนูอาหารตามวัตถุดิบที่มีในบ้าน ซึ่งสามารถติดตามข้อมูลตามที่จิตอาสาแพทย์วิถีธรรมได้ให้คำแนะนำไว้ในคลิปต่าง ๆ
คุณประภัสสร วารี : การรับประทานอาหารเจทำให้ได้พบมิตรดีที่พากันลด ละ เลิกเนื้อสัตว์ ซึ่งก็เป็นผลมาจากการได้รับการอบรมบ่มเพาะฝึกการรับประทานอาหารไร้เนื้อสัตว์มาตั้งแต่วัยเด็ก เมนู “น้ำพริก” ยังทำให้สามารถรับประทานผักได้มากขึ้น
คุณกมลชนก ทุมวงษ์ : เมื่อร่างกายสบายจากการรับประทานอาหารไร้เนื้อสัตว์ จึงทำให้ลดความร้อน และความเครียดให้กับร่างกาย
กินเจแบบ “บ้านนอก” ชีวิตง่าย
คุณนงลักษณ์ ใจมล : เลิกรับประทานเนื้อสัตว์ตั้งแต่ปี 2553 และได้ “ตั้งปณิธาน” ที่จะรับประทานตลอดไป เพราะทำให้จิตใจมีความเมตตา เกรงกลัวละอายต่อบาป อ่อนโยน สามารถแบ่งปันให้กับผู้อื่นได้ ใช้ปัญญาได้มากขึ้น จึงยอมให้ผู้อื่นเอาเปรียบตนเองได้ด้วยใจผาสุก เมื่อลดวิบากกรรมจากการรับประทานเนื้อสัตว์ จึงทำให้ผาสุก แต่ก็ต้องน้อมรับด้วยใจ เพื่อใช้วิบากกรรมในอดีตที่เคยได้รับประทานเนื้อสัตว์มาก่อน
เมนูอาหารเจที่ประทับใจ คือ “แกงขี้เหล็ก” เนื่องจากอาศัยอยู่ในต่างจังหวัด รู้สึกว่ามีอาหารเพียงเท่านี้ ก็พอใจแล้ว การรับประทานอาหารเจแม้เป็นเพียงเวลา 10 วันเท่านั้น แต่ก็ถือว่าเป็นสิ่งที่ดีมาก หากได้ค่อย ๆ พากเพียรปฏิบัติไป
อยากให้ผู้อื่นได้มารู้จักอาจารย์หมอเขียว และแพทย์วิถีธรรม เพราะเมื่อได้ปฏิบัติตาม ก็รู้สึกว่าตนเองมีใจที่กล้าหาญ ถึงแม้จะเป็นเรื่องยากในการสื่อสารให้ผู้อื่นเลิกรับประทานเนื้อสัตว์ แต่ก็จะพยายามสื่อสารให้ผู้ที่เปิดใจได้มารู้จักการรับประทาน “อาหารให้เป็นยา” ต่อไป
คุณประภัสสร วารี : การเห็นประโยชน์ของการเลิกรับประทานเนื้อสัตว์ และประชาสัมพันธ์บอกต่อผู้อื่นให้ได้รับประโยชน์เช่นกันนั้นเป็นสิ่งที่ดีมาก มากกว่านั้นยังสามารถใช้ปัญญา เพื่อยอมรับในวิบากกรรมว่า “ทุกสิ่งที่เราได้รับ คือ สิ่งที่เราทำมา”
คุณกมลชนก ทุมวงษ์ : การรับประทานอาหารเจนั้นเป็น “แรงเหนี่ยวนำ” ที่ดีมาก ๆ ให้ผู้อื่นได้ปฏิบัติตาม
กินเจทุกวัน เหมือน “ทำบุญ” ทุกวัน
คุณบุญนา บุญศรี : ตนเองเริ่มจากการเลิกเนื้อสัตว์ใหญ่ก่อน จนมาถึงวันนี้ก็เพิ่งสามารถเลิกรับประทานเนื้อสัตว์ทุกชนิดได้เพียงไม่นาน และได้เห็นความแตกต่างหลังจากที่ได้รับจากการรับประทานอาหารเจ คือ ในอดีตเป็นคนใจน้อย คิดมาก และใจร้อน มักเดาเหตุการณ์ล่วงหน้า แต่หลังจากที่ได้รู้จักแพทย์วิถีธรรม และลด ละ เลิกเนื้อสัตว์แล้ว จึงทำให้จิตใจดีขึ้น มีอาการ “ใจเย็น” ลงมาก ไม่ขี้น้อยใจ ไม่ค่อยโกรธ เหมือนมี “ภูมิในใจ” กล้าหาญในการทำสิ่งดี กล้าคิด กล้าพูด มีสติมากขึ้น มีจิตเมตตาต่อสัตว์ทั้งหลาย ระมัดระวังในการใช้ชีวิตแต่ละวัน เพื่อให้ไม่เบียดเบียนทุกชีวิต การรับประทานอาหารเจนั้นเหมือนได้ “ทำบุญ” ทุกวัน
เมนูอาหารเจที่ประทับใจ คือ “ส้มตำ” ซึ่งจะใช้มะละกอที่ปลูกเอง นำมาทำอาหาร รับประทานพร้อมกับผักสดหรือผักลวกที่ปลูกเอง อีกเมนู คือ “ผัดบวบ” โดยปรุงรสอาหารด้วยดอกเกลือ ทำให้ประหยัดเรียบง่าย ดีต่อสุขภาพกายใจ ใจผาสุก
คุณประภัสสร วารี : เมื่อมีความเข้าใจในวิบากกรรม ก็สามารถใช้ปัญญาค่อย ๆ พิจารณา และลด ละ เลิกเนื้อสัตว์ได้อย่างรวดเร็วมาก จึงส่งผลทำให้มีจิตใจที่ร่มเย็น เปรียบเหมือน “ต้นไม้ใหญ่” พืชผักผลไม้ที่มีราคาถูก อาจเหมือนไร้ค่าไร้ราคา แต่อาจารย์หมอเขียวกล่าวว่า พืชผักที่ปลูกง่าย จะทำให้ผู้รับประทานเข้าไปแล้ว มีพลังชีวิตสูง
“ก้อนเนื้อ” บนแผ่นหลัง หลัง #กินเจ อยู่ ๆ ก้อนก็หายไป
คุณวณิชชา จันทร์จรัสวัฒนา : ย้อนไปในช่วงวัยเด็ก ตนเองยังไม่ทราบข้อมูล จึงไม่ค่อยสนใจการรับประทานอาหารเจมากนัก แต่คุณแม่จะรับประทานเป็นประจำทุกปี เมื่อเติบโตขึ้นมาจนถึงช่วงแต่งงานก็ยังไม่ได้รับประทานอาหารเจ จนได้มีโอกาสมาบำเพ็ญเป็น “จิตอาสา” จึงสามารถรับประทานอาหารเจได้อย่างถาวร ในความเป็นจริงแล้ว การเลิกรับประทานเนื้อสัตว์หรือยังรับประทานอยู่นั้น จะเป็นไปตาม “ฐานจิต” ของแต่ละท่าน ซึ่งมีความแตกต่างกัน และไม่ใช่เรื่องง่าย หลังจากได้รับฟังธรรมะจากอาจารย์หมอเขียวแล้ว ช่วงแรกตนเองต้องฝึกในการรับประทานมาเป็นเวลา 2 ปี จึงจะสามารถลด ละเนื้อสัตว์ได้บางชนิด แต่ก็ยังมีรับประทานอาหารทะเลและไข่อยู่บ้าง เนื่องจากเติบโตมากับทะเล จนกระทั่งย่างเข้าปีที่ 3 จึงสามารถเลิกรับประทานเนื้อสัตว์ได้ทุกชนิด ซึ่งสิ่งที่ปฏิบัตินั้น ทำให้ได้รับอานิสงส์และประโยชน์ คือ จากที่อดีตเป็น “คนใจร้อน ใจเร็ว โกรธง่าย” จิตใจเปลี่ยนแปลงไปเป็น “คนใจเย็น ไม่โกรธ” พร้อมด้วยการกล่อมเกลาจากการรับฟังธรรมะของอาจารย์หมอเขียว ทั้งยังมีใจ “เมตตา” มากกว่าในอดีต เช่น หากพบแมลงอยู่ในโถส้วม ในอดีตก็จะเป็น “นางมาร” เพราะจะราดน้ำ เพื่อให้แมลงไหลลงไปกับท่อ แต่ปัจจุบันแม้พบแมลงเพียง 1 ตัว ในโถส้วม ก็ไม่ปล่อยให้ผ่านไป ตนเองจะช่วยแมลงขึ้นมา ยุงมากัด ก็จะไม่ตบ จึงทำให้สามารถรักษา “ศีลข้อ 1” ได้
อาการโรคที่เคยมี ก็หายไปอย่างชัดเจน เนื่องจากตนเองมี “ก้อนเนื้อ” เกิดขึ้นบริเวณแผ่นหลัง เหมือนหลังเต่า ไม่มีอาการเจ็บปวด ครอบครัวจึงบอกให้ไปผ่าตัด แต่หลังจากได้เลิกรับประทานเนื้อสัตว์แล้ว อยู่ ๆ ก้อนเนื้อนั้นก็ยุบหายไปเอง
อีกประการ คือ “การได้พบมิตรดี” และเคารพหมู่มิตรดี แต่ละท่านล้วนมีจิตใจดี การเลิกรับประทานอาหารทะเล ไข่ และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ทุกชนิดแล้ว ตอนนั้นที่ว่ายังเหลือไข่ ชีวิตมีความสุขมากขึ้น ไม่มีความรู้สึกกังวลหวั่นไหว และหลุดออกจากวงเวียนของความกลุ้มใจที่ต้องห่วงบ้าน ห่วงสิ่งรอบข้าง ซึ่งทำให้เกิดความทุกข์ใจ ผาสุกขึ้นอย่างชัดเจนตามที่อาจารย์หมอเขียวได้เคยสอนไว้
เมนูอาหารเจที่ประทับใจ คือ “ผักผลไม้ปั่น” ซึ่งจะชอบดื่มช่วงเช้า มีวัตถุดิบอะไรก็จะนำมาปั่นทั้งหมด เนื่องจากตนเองไม่ชอบเคี้ยวผัก เมื่อปั่นแล้ว จึงทำให้สามารถรับประทานผักได้เยอะ และอีกเมนู คือ “ข้าวต้ม” เช่น ข้าวต้มเห็ด ข้าวต้มทรงเครื่อง เพราะรับประทานแล้ว ร่างกายเบา
คุณประภัสสร วารี : นอกจากการดื่มน้ำผักปั่น จะสามารถทำให้รับประทานผักได้เยอะแล้ว ในช่วงที่มีอาการไม่สบาย เมื่อดื่มเป็นประจำทุกวัน ก็ยังสามารถฟื้นฟูสุขภาพได้เร็วมากอีกด้วย จากการที่ได้รับฟังพี่น้องส่วนใหญ่ที่มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์การรับประทานอาหารเจ จะพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า “โรคและอาการเจ็บป่วย หายไปเมื่อไหร่ ก็ไม่รู้” และสิ่งที่เป็นความใฝ่ฝันของทุกท่านน คือ “ความสุข” เนื่องจากหลังจากเลิกเนื้อสัตว์แล้ว พี่น้องหลายท่านมีจิตใจที่เย็นลง
คุณกมลชนก ทุมวงษ์ : นี่คือ “สิ่งมหัศจรรย์” มากที่ก้อนเนื้อสามารถยุบหายไปเอง ซึ่งเรื่องราวเหล่านี้ทุกท่านสามารถพิสูจน์ด้วยตนเองได้ จากการเลิกรับประทานเนื้อสัตว์
หอม “ไก่ทอด” แต่รู้ชัด จึงไม่กลับไปกิน
คุณเครือแก้ว คุณะวัฒนา : ย้อนกลับไปช่วงวัยเด็ก ตนเองเป็นเด็กย่านตลาดน้อย สำเพ็ง และเยาวราช จึงมีการปลูกฝังในด้านวัฒนธรรมของจีนมาตั้งแต่ยังเด็ก ครอบครัวจึงมีการรับประทานอาหารเจเป็นประจำทุกปีตลอด 10 วัน ผู้ใหญ่รับประทานอะไร ก็จะรับประทานตามไปด้วย อาม่ามักเล่าว่า “กินเจ แล้วจะเรียนหนังสือเก่ง” จึงตั้งใจภาวนาที่จะไม่เบียดเบียนสัตว์ โดยหวังว่าจะส่งผลกุศลให้ตนเองเรียนเก่ง แต่ในความเป็นจริงแล้ว เรื่องนี้ไม่น่าจะเกี่ยวข้องกัน แต่เป็นเพียง “กุศโลบาย” ของผู้ใหญ่ที่จูงใจให้เด็กหันมารับประทานอาหารเจ รวมถึงการแบ่งปัน เช่น พี่น้อง 5 ท่านในครอบครัวทั้งบ้านจะแบ่งกันรับประทานไอศกรีมแท่งเดียวกัน ในช่วงเช้าก็จะต้องพกปิ่นโตและนำอาหารเจไปรับประทานที่โรงเรียน กลับบ้านก็จะต้องมารับประทานอาหารเจ โดยที่จะไม่มีเงินในการไปซื้อขนม ผู้ใหญ่จะไม่ให้ไปซื้ออย่างอื่น จนกระทั่งแต่งงานพ่อบ้านก็รับประทานอาหารเจตามเทศกาลเช่นกัน
ในการลด ละ เลิกรับประทานเนื้อสัตว์นั้น ช่วงแรกก็ยังรับประทานปลา และกุ้ง เพราะเป็นคนชอบรับประทานกุ้งมาก จากนั้นจึงค่อย ๆ ลด ละ เลิกรับประทานหมู เป็ด ไก่ ซึ่งในอดีต “หมูหัน” เป็นเมนูที่ชื่นชอบมาก เพราะหลังจากการทำงาน ก็จะมีการเลี้ยงโต๊ะจีน
ชีวิตก็ได้พลิกพลัน เมื่อมารู้จักกับแพทย์วิถีธรรม เนื่องจากตนเองมีอาการป่วยหลายโรค คือ ไขมันในเลือดสูง ริดสีดวงทวาร ภูมิแพ้ โรคโลหิตจาง ซึ่งต้องพบแพทย์เป็นประจำ อาการก็ไม่เคยหาย ท่ามกลางคำพูดของบางท่านที่บอกว่า “ต้องรับประทานเนื้อสัตว์ ไข่ นม เครื่องในสัตว์ เพื่อกระตุ้นให้มีธาตุเหล็ก” แต่อาการป่วย “โรคโลหิตจาง” ของตนเองนั้น ก็สามารถหายได้ภายใน 3 เดือน จากการรับประทานอาหารพืช จืด สบายเท่านั้น
โดยหลังจากที่เข้าค่ายสุขภาพแพทย์วิถีธรรมในครั้งแรก และได้รับชมคลิป “ชีวิตร่ำไห้” ทำให้รู้สึกสะเทือนใจว่า “ทำไมคนเรานั้นเหมือนยักษ์เหมือนมาร? เพียงแค่ความอร่อยที่ลิ้น ก็สามารถกลืนกินชีวิตผู้อื่นได้” รับประทานเข้าไป ก็มาเป็น “ซากศพ” อยู่ในท้องและลำไส้ในร่างกายเท่านั้น มากกว่านั้นกระเพาะอาหารยังต้องใช้เวลาในการย่อยอาหารอีกหลายวัน จึงตั้งจิตและมีปณิธานว่า “ต่อจากนี้จะเลิกรับประทานเนื้อสัตว์ทุกชนิด เลิกเบียดเบียนชีวิตอื่น”
ระลึกได้ในช่วงเด็ก เคยได้ถามอาม่าว่า “ทำไมวันนี้คุณครูสอนเรื่องศีล 5 และห้ามฆ่าสัตว์ แล้วเป็ดและไก่ที่เรายังกิน นี่หมายความว่าอย่างไร?” อาม่าก็ตอบว่า “กินไปเถอะ สัตว์เหล่านี้เกิดมาเพื่อเป็นอาหารของมนุษย์” เมื่อได้รับฟังคำตอบแล้ว ข้างในใจบอกว่า “นี่ยังไม่ใช่คำตอบ” จึงทำให้ยังรู้สึกคาใจอยู่ จนกระทั่งได้มารู้จักแพทย์วิถีธรรม ตนเองจึง “หักดิบ” ในการเลิกรับประทานเนื้อสัตว์อย่างเด็ดขาด และรู้สึกได้ว่าเส้นทางนี้ คือ เส้นทางที่โปร่ง โล่ง สบาย เพราะไม่ต้องเบียดเบียนชีวิตใคร และมีความเรียบง่าย
เมนูอาหารเจที่ถนัด คือ “ผักลวก” และ “ผักสด” ซึ่งผักที่นำมารับประทานนั้นเป็นผักที่ปลูกเองทั้งหมด เช่น อ่อมแซ่บ ผักไชยา (คะน้าเม็กซิกัน) เสลดพังพอน มะรุม ขี้เหล็ก สะเดา ชีวิตจึงมีความสุข และเรียบง่าย เพราะการใช้ชีวิตก็มีเพียงเท่านี้เอง
โดยรวมแล้วตนเองก็รับประทานอาหารมังสวิรัติมาได้ประมาณมากกว่า 10 ปีแล้ว มีบางครั้งที่เดินผ่าน “ไก่ทอด” ที่มีกลิ่นหอม ก็จะตระหนักได้ว่า นี่คือ “ซากศพ” ที่นำมาชุบแป้งทอดผสมกับเครื่องเทศ เช่น กระเทียม พริกไทย และรากผักชี ซึ่งความหอมนั้นไม่ได้มาจากไก่ แต่มาจากกลิ่นเครื่องเทศ เมื่อรู้ชัด จึงไม่โง่กลับไปรับประทานไก่ทอดอีก โดยมั่นใจแล้วว่าทางนี้เป็นทางเดียวที่จะทำให้มีความสุขสงบเย็นได้อย่างยั่งยืน ตอนนี้จะ “พุ่งเดินหน้าอย่างเดียว” หากได้สัมผัสความสุขนี้ด้วยตนเอง ก็จะรู้ได้ว่า “การไม่เบียดเบียนชีวิตใคร เพื่อมาต่อชีวิตของเรา” นั้นมีความสุขที่สุด
คุณประภัสสร วารี : โรคเลือดจาง ไขมันสูง ภูมิแพ้ โรคริดสีดวงทวาร ล้วนเป็นโรคที่คนส่วนใหญ่ป่วยกัน และต้องทรมานกับการใช้ยา แต่ก็สามารถ “รักษาโรคได้ด้วยการรับประทานผัก” และอีกประเด็นที่ผู้คนมักเข้าใจผิดว่า “สัตว์เหล่านี้เกิดมาเป็นอาหารของมนุษย์” แต่ความโชคดีที่ได้มาพบสัตบุรุษ คือ “อาจารย์หมอเขียว” และได้รับชมคลิป “ชีวิตร่ำไห้” จึงทำให้สามารถเลิกเนื้อสัตว์ได้อย่างรวดเร็ว สิ่งนี้แสดงให้เห็นว่าเราทุกคนล้วนมีใจ “เมตตา” เป็นพื้นฐาน รวมถึงการแบ่งปันไอศกรีมกันทั้งครอบครัว ซึ่งทำให้เห็นได้ชัดเจนว่า พื้นฐานการเลี้ยงดูที่หล่อหลอมมาตั้งแต่เด็กนั้น ทำให้เติบโตมาเป็นคุณเครือแก้วในวันนี้ เนื่องจากจะเห็นการแบ่งปันผักต่าง ๆ อยู่เสมอ
คุณกมลชนก ทุมวงษ์ : การปรุงอาหารเนื้อสัตว์นั้น ต้องใส่เครื่องปรุงรสมากมาย แต่การรับประทาน “ผักสด” และ “ผักลวก” นั้นเป็นสิ่งที่ดีมาก เพราะเป็นการตัดช่องทางในการปรุงรสที่เกินจำเป็น
“ช่วงถาม-ตอบปัญหาสดในรายการ”
คุณน้อย เวียงจันทร์
คำถาม : คุ้นชินกับการรับประทานเนื้อสัตว์และปลา มาตั้งแต่ยังเด็ก แต่ได้รับทราบข้อมูลโทษของการรับประทานเนื้อสัตว์ จากปัญหาสุขภาพ
จึงตั้งใจว่าจะพยายามลด ละ เลิก แต่มีคำถามเกี่ยวกับข้อความในพระไตรปิฎก ซึ่งตนเองเคยได้สอบถามครูบาอาจารย์ทางฝั่งลาว และท่านได้ยืนยันว่าเป็นข้อเท็จจริง คือ ข้อความที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่า
“ถ้าไม่ได้เห็น ไม่ได้กลิ่น ไม่ได้ยิน และไม่ได้รังเกียจว่า เขาฆ่าสัตว์มาเพื่อเรา ก็สามารถฉันได้ โดยไม่อาบัติ ไม่ผิดศีล” อยากทราบว่าเป็นสัจจะความจริง หรือเป็นคำแต่งใหม่ หรือไม่?
คำแนะนำจากจิตอาสาแพทย์วิถีธรรม :
-
-
- ตามพระสูตรในพระไตรปิฎก พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้ “สามารถรับประทานเนื้อสัตว์ได้ แต่จะต้องเป็นสัตว์ที่ตายเอง เป็นซากสัตว์ หรือเป็นเดนจากสัตว์ที่ฆ่ากันเองเท่านั้น” มิใช่การรับประทานเนื้อสัตว์จากการที่มนุษย์ต้องการซื้อ หรือสั่งมาเพื่อรับประทานด้วยตัวเอง หรือมีส่วนเกี่ยวข้องในการตายของสัตว์ในแง่เชิงต่าง ๆ พระพุทธเจ้าจึงยกเว้นข้อห้ามในการเลิกรับประทานเนื้อสัตว์ แต่เนื่องจากเนื้อสัตว์ที่จะเกิดขึ้นด้วยลักษณะดังกล่าว นั้นมี “จำนวนน้อย”
- “การศึกษา ไม่สำคัญเท่ากับลงมือปฏิบัติ” พระไตรปิฎกมีให้ศึกษาหลากหลายพระสูตร มากกว่านั้นใน “ด้านสุขภาพ” ไม่มีพระสูตรใดในพระไตรปิฎกที่ส่งเสริมให้มีการรับประทานเนื้อสัตว์เลย ให้มองตนเองเป็น “นักวิจัย” ในสิ่งที่พระไตรปิฎกกล่าวไว้อย่างเป็น “วิทยาศาสตร์” ด้วยการ “ลงมือทำ ทดลอง และพิสูจน์” เปรียบเทียบด้วยตนเองนั้นจะทำให้เกิด “ความรู้ที่ชัดเจนแจ่มแจ้งด้วยตนเอง” โดยปกติมนุษย์ก็รับประทานเนื้อสัตว์มานานอยู่แล้ว ซึ่งก็ได้เห็นผลลัพธ์ในโทษที่เกิดขึ้นจากด้านสุขภาพ ฯลฯ จึงเชิญชวนให้มาพิสูจน์ด้วยตนเองว่า ตามที่พระไตรปิฎกระบุไว้ “การไม่เบียดเบียนชีวิตอื่น จะทำให้มีโรคน้อย และอายุยืน แต่การเบียดเบียนชีวิตอื่น จะทำให้มีโรคมาก และอายุสั้น นั้นมีผลลัพธ์เป็นจริงตามนี้ หรือไม่?”
- การกล่าวถึงเรื่องการเลิกรับประทานเนื้อสัตว์ เป็นเรื่องที่ “ยากมาก” เนื่องจากผู้คนส่วนใหญ่ยังรับประทานเนื้อสัตว์อยู่ ถึงแม้จะนับถือ “ศาสนาพุทธ” ก็ตาม คนส่วนใหญ่ยังมีความเข้าใจผิดที่ว่า “สัตว์เหล่านั้นเกิดมาเพื่อเป็นอาหารของมนุษย์” แต่หากล้วงลึกอย่างแท้จริง จึงควรตั้งคำถามว่า “สัตว์เหล่านั้นเกิดมาเพื่อเป็นอาหารของมนุษย์ จริงหรือไม่? และมนุษย์มีสิทธิ์ไปรับประทานเนื้อสัตว์ได้อย่างไร?” เช่น การไถ่ชีวิตโคกระบือ แสดงให้เห็นว่ามนุษย์รู้ว่า “วัวจะต้องตาย เพื่อนำมาเป็นเนื้อให้รับประทาน” หรือแม้แต่สุนัขหรือแมว ที่มักถูกจัดเป็นประเภทสัตว์เลี้ยง ส่วนใหญ่ก็ไม่ถูกฆ่า แต่ในสังคมยัง “ไม่มีการไถ่ชีวิตหมู ไถ่ชีวิตไก่” ซึ่งความเป็นจริงแล้ว สิ่งนี้เป็นหลักการเดียวกัน คือ “การละเว้นชีวิตสัตว์” โดยสังคมจะมองว่า “วัวเป็นสัตว์ใหญ่ จึงไถ่ชีวิตให้” แต่เนื่องจากยังต้องการรับประทานหมู และไก่อยู่ จึงไม่มีโครงการไถ่ชีวิตสัตว์เหล่านี้บ้าง ทั้ง ๆ ที่ไม่ว่าจะเป็นสัตว์ชนิดใดก็ตาม “ทุกชีวิตล้วนรักชีวิตของตนเองกันทั้งนั้น”
- ตามที่ผู้ถามเล่าว่า จากเหตุการณ์ที่มีบุคคลหนึ่งกล่าวกับพระพุทธเจ้าว่า “พระพุทธเจ้าไม่ทรงห้ามการรับประทานเนื้อสัตว์” และพระพุทธเจ้าตรัสตอบกลับไปว่า “การฆ่านั้นมีอยู่แต่เดิมแล้ว พระพุทธเจ้าไม่ได้ทรงเกิดมา เพื่อให้มีการฆ่าเพิ่มเติม แต่หากท่านใดสะดวกที่จะรับประทานเนื้อสัตว์ หรือต้องการจะรับประทานอาหารมังสวิรัติ ก็ให้แล้วแต่ธาตุของบุคคลนั้น”
ข้อความดังกล่าว “ยังไม่ชัดเจน และไม่คุ้นหู” อาจารย์หมอเขียวสอนว่า “ศาสนาพุทธไม่บีบบังคับให้ผู้ใดกระทำหรือไม่กระทำสิ่งใดอยู่แล้ว แต่ก็ไม่ตีทิ้งใคร” ย้อนกลับไปในสมัยพุทธกาล มีพระภิกษุบางรูปที่ยังติดการรับประทานเนื้อสัตว์อยู่ แต่มีสิทธิ์ที่จะสามารถบรรลุธรรมในโอกาสต่อไปได้ พระพุทธเจ้าจึงไม่สั่งห้าม หรือให้เลิกรับประทานเนื้อสัตว์ โดยส่วนใหญ่ชาวอินเดีย ซึ่งนับถือศาสนาฮินดูในประเทศอินเดีย (ลัทธิฤาษี) รวมถึงพระพุทธเจ้าก็จะรับประทานอาหารมังสวิรัติ หรือรับประทานเนื้อสัตว์น้อยอยู่แล้ว “จึงไม่จำเป็นต้องบัญญัติ” ออกมาเป็น “ข้อห้ามในการเลิกรับประทานเนื้อสัตว์” - “การตีความที่แตกต่างกัน” อาจทำให้เกิดการถกเถียง จนไปถึงสู่การทะเลาะกัน ซึ่งไม่เกิดประโยชน์อันใด ข้อความข้างต้นนั้น เป็นความจริงที่ว่าพระพุทธองค์ไดเทรงตรัสเช่นนั้นไว้ แต่หากได้รับฟังการอธิบายจากอาจารย์หมอเขียว ก็จะเข้าใจมากใน “รายละเอียดอันลึกซึ้ง” มากยิ่งขึ้น
โดยการตีความคำตรัสของพระพุทธเจ้านั้น จะต้อง “พิจารณาจากพระสูตรอื่นร่วมด้วย ที่มีความสอดร้อยและไม่ขัดแย้งกัน” ซึ่งผู้คนส่วนใหญ่จะตีความจากเพียง “พระสูตรเดียว” และอ้างจากคำพูดของ “พระเทวทัต” เท่านั้น หากคนเรายังถูกกิเลสหลอกให้ยังมี “ความถูกใจ” ในการรับประทานเนื้อสัตว์อยู่ ก็อาจ “ยากที่จะยอมรับ” และมักใช้ข้ออ้างนี้เพื่อ “หลอกตัวเอง” ในการรับประทานเนื้อสัตว์ต่อไป - “การตีความจากภาษาอย่างเดียว จะทำให้ยิ่งวนและยิ่งงง” เช่น การตีความของคำว่า “อนุญาต” ก็อาจระบุได้ว่า “เคยห้ามมาก่อน หรืออาจเป็นเหตุผลอื่นก็ได้” การวนอยู่กับภาษา “จึงอาจไม่พ้นทุกข์ แต่เป็นการเพิ่มทุกข์ให้กับตนเอง”
- เมื่อ “มั่นใจว่าการเลิกเนื้อสัตว์นั้น เป็นบุญแล้ว ก็มุ่งตรงไปเลย” เนื่องจากฝ่ายที่ยังรับประทานเนื้อสัตว์อยู่ ก็มักจะตีความข้อความนี้ว่า “ตนเองไม่ได้ฆ่าสัตว์เพื่อมาให้ตนเองรับประทาน ตนเองไม่ได้รับรู้ในการฆ่าสัตว์นั้น ๆ จึงเข้าใจว่า ตนเองสามารถรับประทานเนื้อสัตว์ได้ โดยไม่ผิดประการใด”
ในทางกลับกันฝ่ายที่เลิกรับประทานเนื้อสัตว์แล้ว ก็จะ “ตีความตามการสอดร้อยของพระสูตร” ซึ่งหากสามารถเข้าใจในคำสอนของพระพุทธเจ้าอันลึกซึ้งแล้ว “จึงเน้นมาปฏิบัติที่ตนเองดีกว่า ด้วยความเข้าใจรู้ชัดจากตนเองเป็นหลัก โดยไม่จำเป็นต้องไปถกเถียงกับผู้อื่น” - จากการอ่าน “ศีลข้อที่ 1 คือ การห้ามฆ่าสัตว์” ก็ระบุชัดเจนแล้วว่า “มนุษย์เราไม่มีสิทธิ์ที่จะรับประทานสัตว์อยู่แล้ว” เนื่องจากศีลข้อนี้มีไว้เพื่อมุ่งไม่ให้มนุษย์เบียดเบียนชีวิตอื่น “มนุษย์นั้นก็เป็นสัตว์เช่นกัน” กล่าวคือ “ไม่เบียดเบียนทั้งชีวิตตนเองและชีวิตอื่น” หาก “น้อมทำใจตาม” เพียงศีลข้อที่ 1 เท่านั้น ก็สามารถยุติคำถามในการรับประทานเนื้อสัตว์นั้นไม่ผิดศีลได้แล้ว เพราะเป็นการเบียดเบียนชีวิตสัตว์อื่น เปรียบเทียบเหมือน “การจ้างวานฆ่า” ผู้รับประทานเนื้อสัตว์ บางท่านไม่ได้ฆ่าเอง แต่สั่งอาหารเนื้อสัตว์ หรือซื้อเนื้อสัตว์จากโรงฆ่าไปเพื่อรับประทาน ก็ไม่ต่างจากการจ้างวานฆ่า แม้แต่ตามกฎหมายทางโลก “ผู้จ้างวานฆ่าย่อมมีความผิดมากกว่า”
- “หากไม่มีความต้องการบริโภคเนื้อสัตว์ สัตว์ก็จะไม่ถูกฆ่า” และโดยหลักความเป็นจริงแล้ว “โลกใบนี้ไม่ได้มีความขาดแคลนขนาดนั้น จนทำให้ต้องไปเบียดเบียนชีวิตสัตว์อื่น และนำมาเป็นอาหารของมนุษย์” จึงมีความชัดเจนว่า “ผู้ซื้อเนื้อสัตว์ เป็นผู้สนับสนุนอย่างเป็นทางการให้กับธุรกิจเนื้อสัตว์ได้เกิดขึ้นและเติบโต” เปรียบเทียบเหมือนกับการซื้อสินค้าทุกชนิดบนโลกนี้ หากมีความต้องการจากผู้บริโภคน้อยหรือไม่มีผู้บริโภค ก็จะตัดวงจรการผลิตสินค้านั้น ๆ ออกมาขายในตลาด”[คลิกเพื่อรับชมแหล่งข้อมูล “การกินไม่กินเนื้อสัตว์กับพุทธ”][คลิกเพื่อรับชมแหล่งข้อมูล “การกินหรือไม่กินเนื้อสัตว์ที่ถูกจงใจฆ่า”]
-
สรุปเนื้อหาสาระในวันนี้ คือ ทุกคำบอกกล่าวที่เคยได้รับฟังมา สามารถพิสูจน์ข้อเท็จจริงด้วยตนเอง อย่างเป็นนักวิทยาศาสตร์ จึงทำให้สิ้นสงสัย และรู้ชัดว่าสิ่งใด คือ “สัจธรรม”
รายงานข่าวโดย :
ศิริพร คำวงษ์ศรี (มั่นผ่องพุทธ) / สวนป่านาบุญ ๙ สังกัดภาคกลาง