“สายด่วน ค่ายสุขภาพพึ่งตนวิถีธรรม วิถีไทย” – 11 พ.ค. 65

รายการ “สายด่วน สุขภาพพึ่งตนวิถีธรรมวิถีไทย”
ช่วง ถามตอบ ปัญหาสุขภาพ
ตามหลักการแพทย์วิถีธรรม
โดย กลุ่มแพทย์แผนไทยวิถีธรรม ค้ำจุนโลก
วันพุธ ที่ 11 พฤษภาคม 2565
เวลา 15.00 – 17.00 น.

ประเด็นเด่นจากรายการ :

      • ได้รับบทเรียนจากการตื่นสาย ทำให้เข้าร่วมส่งการบ้านไม่ทัน บททบทวนธรรมทำให้นึกย้อนไปได้ว่า เคยไม่อนุญาตให้พี่น้องท่านหนึ่งที่ตื่นสายส่งการบ้านเช่นกัน “สิ่งที่เราได้รับเป็นสิ่งที่เราทำมา”
      • เรียนรู้ธรรมะไปพร้อมกับลูกที่ตื่นสายไม่ทันส่งการบ้านในรายการช่วงเช้า เราได้ทำหน้าที่ของแม่แล้วในการปลุก ในการเตือน วางใจได้ที่ลูกส่งการบ้านไม่ทัน ยินดีกับบทเรียนของลูกและเราเองได้เรียนรู้ที่จะวางความคาดหวัง ยึดมั่นถือมั่นของเรา
      • เกิดมาทำไม เกิดมาเพื่อฝึกฝนทำความดีและสร้างบุญกุศล ในชีวิตหนึ่งเราอาจไม่ต้องสมหวังในทุกเรื่อง หากเราเข้าใจในเรื่องกรรมและผลของกรรม เราจะเข้าใจว่าสิ่งที่เป็นอยู่เป็นส่วนหนึ่งของกรรมที่กำลังส่งผล แล้วเราจะมุ่งมั่นในการทำสิ่งดี ๆ ให้กรรมดีชิงออกฤทธิ์มากขึ้น
      • วิบากต้องรับ กิเลสต้องล้าง พุทธะจึงจะเกิด
      • กังวลใจว่าจะติดโควิดและนำไปติดลูกและครอบครัว เมื่อพิจารณาถี่ถ้วนแล้ว พบกว่า กิเลสน่ากลัวกว่าโควิด ติดโควิดยังหายจากโรคได้ ติดกิเลสต้องตามไปชดใช้กันหลายภพหลายชาติ ยอมติดโควิดดีกว่าติดกิเลส
      • ให้สนุกในการที่จะล้างกิเลส ชีวิตที่ไม่มีอุปสรรคและปัญหาเป็นชีวิตที่เดียวดาย อุปสรรคปัญหาทำให้ชีวิตมีชีวา สนุกที่จะค้นหากิเลสให้พบแล้วชำระล้างกิเลสกันต่อไปอย่างเบิกบาน
      • ประโยชน์ของการได้แบ่งปันสภาวธรรมคือ การได้เห็นกิเลสและสามารถต่อยอดไปสู่การจับกิเลส ชำระล้างกิเลสได้ทัน ยินดีให้ได้ทุกครั้งที่ทันกิเลส เพราะหมายความว่า มันเป็นโอกาสให้เราได้ล้างกิเลสนั้น ๆ
      • ตั้งใจมาเข้าร่วมรายการแต่มีอุปสรรคติดขัดเป็นระยะ ๆ ก่อนรายการเริ่ม พิจารณาตัวเองนึกย้อนไปได้ถึงเวลาที่เราได้ไปทำผิดศีล อุปสรรคทำให้เราเห็นความพร่องไม่ใช่แค่จากภายนอก แต่ส่วนที่เป็นภายในจากตัวเราเองด้วย
      • ยกมืออ่านบททบทวนธรรมแต่วิบากร้ายส่งผลให้มีการผิดคิวและเข้าใจผิด กิเลสหลอกให้กลัวและคิดว่าจะเกิดความเสียหาย แต่บททบทวนธรรมสอนให้เข้าใจได้ว่า อะไรจะเกิดขึ้นเราก็จะยอมรับเพราะเราเป็นคนไปทำมาเอง จะทุกข์ไปทำไม มาแก้ทุกข์ใจดีกว่า
      • เท้าบวมมาประมาณ 1 เดือน นอนโรงพยาบาล ฉีดยาอยู่ 6 วัน หายดีแล้วกลับมาเป็นอีก ควรทำอย่างไร ไม่อยากรับประทานยาอีกแล้ว

[คลิกเพื่อชมคลิปวิดีโอฉบับเต็ม]


วันนี้มีพี่น้องทั้งจิตอาสาแพทย์วิถีธรรมทั่วโลก และชาวค่ายเข้าร่วมรายการทั้งหมด 93 ท่าน ดำเนินรายการ โดย คุณกมลชนก ทุมวงษ์ (แหม่ม) คุณจิราวรรณ ดาโรจน์ (หน่อง) และคุณวิจิตร ตันเดชานุรักษ์

รายการสายด่วนสุขภาพพึ่งตนวิถีธรรมวิถีไทย เริ่มต้นรายการด้วยยาเม็ดที่ 6 คือ มาร์ชชิ่ง [คลิกเพื่อชมคลิปวิดีโอ] และธรรมะเพื่อความผาสุก คือ การอ่านบททบทวนธรรมยาเม็ดที่ 8 ดังนี้ ข้อ 134-154 [คลิกเพื่ออ่านบททบทวนธรรม]


“ช่วงแบ่งปันความประทับใจในบททบทวนธรรม”
“ที่ได้นำมาใช้ในชีวิตประจำวันเพื่อดับทุกข์ใจ”

บททบทวนธรรมข้อที่ 8 “สิ่งที่เราได้รับ คือ สิ่งที่เราทำมา ไม่มีสิ่งใดที่เราได้รับ โดยที่เราไม่เคยทำมา”

คุณพรณิชา ทองหล่อ : เหตุการณ์วันนี้ทำให้นึกถึงบททบทวนธรรมข้อนี้ เนื่องจากตัวเองตื่นนอนสาย จึงเลยเวลาส่งการบ้านกับหมู่กลุ่ม ด้วยความอยากส่งการบ้านจึงไปขอคุรุส่งการบ้านทั้ง ๆ ที่เลยเวลามาแล้ว แต่ไม่ได้รับการอนุญาต กิเลสมันแย้งในใจว่า สายมาแค่หนึ่งนาทีเอง ทำไมใจร้าย แต่ก็มานึกถึงบททบทวนธรรมข้อนี้ได้ เลยนึกออกว่า ตัวเราก็เคยไม่ให้พี่น้องท่านอื่นส่งการบ้านตอนท่านตื่นสายเช่นกัน มันเป็นสิ่งที่เราเคยทำมา


บททบทวนธรรมข้อที่ 84 “ล้างความยึดมั่นถือมั่นของใจได้สำเร็จ คือ ความสำเร็จที่แท้จริง”

คุณพรรณพิมพ์ ทองหล่อ : ในกลุ่มโรงเรียนของหนูจะมีส่งการบ้านกันทุกเช้า แล้วจะมีกฎกำหนดไว้ว่า ท่านที่จะมาจองคิวส่งการบ้านจะต้องตื่นมาจองก่อน 6.10 น. ไม่เช่นนั้นจะอดส่ง ตัวเราคุยกับลูก น้องยูนิ ว่าจะให้คุณแม่ปลุกหรือไม่ ให้ปลุกกี่โมง และปลุกกี่ครั้ง ลูกตอบรับจะให้เราปลุก ปลุก 1 ครั้งตอนเวลา 5.47 นาฬิกา เรารับปากและตกลงกัน ปรากฎว่า เมื่อถึงเวลาปลุก เราปลุกไปแล้ว ลูกไม่ตื่นนอนขึ้นมา เราก็วางใจ แต่ปกติจะยึดมั่นถือมั่นกับลูกและมีความคาดหวัง เราจะยึดว่า ลูกต้องได้จองคิว ได้ส่งการบ้าน แต่คราวนี้เราวางใจได้ ถือว่าเราทำหน้าที่ของเราแล้ว เราจะวางตรงนี้ แล้วเราก็ไปฟังการบ้านของท่านอื่น ๆ ต่อ ต่อมา ลูกได้ตื่นนอนขึ้นมาเอง ลูกพบว่าตัวเองตื่นช้าไปส่งการบ้านไม่ทันแล้ว และในหมู่กลุ่มได้มีการสังเคราะห์กันว่า มาช้าไม่ควรส่ง ตัวเรารู้สึกยินดีกับบทเรียนการเรียนรู้ของลูกในครั้งนี้มาก หากลูกตื่นช้า แต่ยังส่งการบ้านได้ อัตตาน้องเค้าโตแน่เลย เรารู้สึกว่า การที่เราวางใจได้มันดีขึ้นกว่าเดิมมาก ใจไม่ทุกข์เพราะเราเองก็ให้อิสระกับลูกด้วยการวางความยึดมั่นถือมั่นของเรา สิ่งนี้จะทำให้ลูกเราได้ประสบการณ์โดยตรงด้วยว่า ลูกจะต้องมีความตั้งมั่นตั้งใจในสิ่งที่อยากทำ ไม่ใช่ทำในสิ่งที่แม่ยึดมั่นถือมั่นอยากจะให้เขาทำหรือเป็น

คุณจิราวรรณ ดาโรจน์ : คิดว่า ส่วนหนึ่งมาจากการที่ท่านผู้แชร์สภาวะล้างใจตนเองได้ เลยทำให้ลูกเรียนรู้ที่จะจับกิเลสของตัวเองได้ด้วย คิดว่ามันเป็นพลังส่งผล เหมือนลูกสาวก็ไม่ได้ดั่งใจ แต่การที่ไม่ได้ดั่งใจกลับส่งผลดีให้น้องได้เห็นกิเลสของน้อง แล้วก็ได้รู้ด้วยว่า สิ่งที่น้องได้รับก็คือสิ่งที่น้องทำมา ก็เป็นผู้ช่วยเสริมหนุนกันในการลดกิเลสล้างกิเลส

คุณกมลชนก ทุมวงษ์ : ยึดคือทุกข์ ไม่ยึดก็ไม่ทุกข์


บททบทวนธรรมข้อที่ 146 “ถามว่า เกิดมาทำไม ตอบว่า เกิดมาเพื่อฝึกฝน การสร้างความผาสุกที่แท้จริง ให้กับตนเองและผู้อื่น”

คุณธมกร พลสุวรรณ : ทุกคนที่เกิดมา เกิดมาทำไม ก็จะตอบว่า เกิดมาเพื่อเรียนรู้เรื่องทุกข์และฝึกฝนหาวิธีการดับทุกข์ เพราะเมื่อถ้าเราดับทุกข์ได้แล้ว แน่นอนที่สุดชีวิตเราก็จะมีความผาสุก เป็นความผาสุกที่ยั่งยืน แล้วก็แท้จริงด้วย ทั้งกับตัวเองและผู้อื่น

คุณจิราวรรณ ดาโรจน์ : หลายคนก็คงจะเป็นเหมือนกันอย่างนี้ เพราะชีวิตมันมีความซ้ำซาก ก็มีความสงสัยว่า เราจะทำอะไร ทำเหมือนเดิมทุกวันเพื่อรอวันที่จะป่วยแก่แล้วก็เสียชีวิต แต่พอมาเจอแพทย์วิถีธรรม เราจะเจอคำตอบของทุกอย่างเลย แล้วก็รู้แนวทางว่า ชีวิตที่เหลืออยู่ เราจะดำเนินอย่างไรต่อไป

คุณปัทมา ลีฬหาวงศ์ : เกิดมาทำไม เราก็เรียนรู้แล้วเราก็จะได้คำตอบว่า การที่เราเกิดมาก็เพื่อทำความดี ทำบุญกุศลที่มันเป็นประโยชน์ทั้งต่อตนเอง ทั้งต่อผู้อื่น เพราะบางทีถ้าเราไม่ได้คิดว่าจะทำเพื่อผู้อื่นเราจะทำเพื่อตัวเราเองอย่างเดียวมันก็จะสะสมความเห็นแก่ตัว แล้วก็สะสมกิเลส ณ วันหนึ่งถ้าเราทำแต่ในเรื่องของการสะสมกิเลสโดยที่เราไม่ได้มาเรียนรู้ที่จะทำประโยชน์เพื่อผู้อื่น ซักวันหนึ่งมันก็จะเจอทุกข์ การที่เราไปคาดหวังที่จะได้รับแต่ความสุขมันก็จะเจอทุกข์ที่อาจจะทำใจยอมรับไม่ได้ แต่ถ้าเราคิดว่าบางทีเราก็ไม่ต้องได้ทั้งหมด โดยส่วนตัว เราไม่ต้องคิดว่า เราจะต้องสมหวังทุกเรื่องเพราะว่า ถ้าเราเชื่อในเรื่องของกรรมและผลของกรรม บางทีมันเป็นไปตามผลของกรรม ไม่ว่าจะเรื่องชีวิตส่วนตัว เศรษฐกิจหรือสิ่งแวดล้อมที่เราอยู่ แม้แต่เรื่องของอาการป่วย อย่างเช่น วันนี้ก็มีผู้ป่วยมาหาที่บ้าน แล้วท่านก็มีภาวะเครียดจากอาการป่วย ที่นี่ท่านถามเราแต่คำว่า ท่านจะหายหรือไม่ เราดูอาการแล้ว ก็คือมันมีความมุ่งมั่นที่จะมาหาย จะมาหายจากการที่มาใช้ยา 9 เม็ด มันก็เลยมีความคาดหวังสูง แล้วก็ ไม่ได้คิดเผื่อที่ว่าตัวเองอาจจะมีวิบากกรรม บางทีมันก็เป็นส่วนหนึ่งที่กำลังส่งผล เมื่อป่วยหนัก ๆ หากเราคาดหวังแต่จะให้อาการป่วยดีขึ้น เราอาจมองข้ามในจุดเหล่านี้ เราอาจจะรอดหรือไม่รอดก็ได้ อย่างที่ท่านอาจารย์หมอสอนว่า อย่ากลัวตาย อย่ากลัวโรค บางครั้งถ้าผู้ป่วยเพิ่งมารู้จักกันกับเราหรือเพิ่งมาสัมผัสคบคุ้นกัน เราก็ไม่กล้าใช้คำตรงความหมายที่อาจดูรุนแรงแบบนั้น เนื่องด้วยเรายังไม่สนิทกับท่านถึงขั้นที่จะรู้จักท่าน ถ้าเราใช้คำพูดนั้น บางทีท่านอาจจะรับไม่ได้ เลยค่อย ๆ คุย ค่อย ๆ ดูอาการ เราก็ชั่งใจว่า บางทีเราอาจจะไม่ต้องบอกท่านก็ได้ เพราะว่า มันเป็นเรื่องของวิบากกรรม จริง ๆ ถ้าคนเรียนรู้ธรรมะ แบบในแพทย์วิถีธรรม แล้วเรียนรู้เรื่องวิบากกรรม เราจะไม่ไปคาดหวัง เราไม่คาดหวังว่า เราจะต้องได้รับแต่สิ่งดี ๆ เราจะต้องสำเร็จอะไร สำหรับผู้มาใหม่แล้วเข้ามาเรียนรู้กับแพทย์วิถีธรรม อยากแนะนำให้ค่อยๆ เรียนรู้ไป แล้วการเรียนรู้จะยิ่งสนุก การเรียนนั้นไม่มีวันจบ เรียนได้จนตลอดชีวิตเลย

คุณวิจิตร ตันเดชานุรักษ์ : จะขอแบ่งปันในข้อความที่ว่า เกิดมาทำไม ในมุมมองของผม เกิดมาเพื่อที่เราจะต้องล้างกิเลส หลังจากเราล้างกิเลสแล้ว วิบากก็ต้องรับ มันก็จึงเกิดเป็นคำที่ว่า กิเลสต้องล้าง วิบากต้องรับ พุทธะจึงจะเกิด เพราะตราบใดถ้าพุทธะเกิดเมื่อไหร่นั้น เราก็จะมีความผาสุกและยั่งยืนจริง ๆ เพราะว่าพุทธะได้เกิดกับใจเราแล้ว ฉะนั้นมันเป็นสิ่งที่คู่กัน เราจะต้องล้างกิเลสพร้อมกับวิบากร้ายเราก็ต้องรับ ถ้าเราล้างกิเลสแล้วเรื่องวิบากเราไม่ยอมรับไม่ยินดีรับยังไง ๆ พุทธะก็ไม่เกิด ฉะนั้นต้องล้างกิเลสควบคู่ไปกับการรับวิบากด้วยยินดีพอใจเต็มใจที่จะรับวิบากว่านั่นแหล่ะคือสิ่งที่เราต้องรับ พุทธะเกิดเมื่อไหร่เราก็จะมีความผาสุกเมื่อนั้น

คุณกมลชนก ทุมวงษ์ : เกิดมาทำไม พอได้พบแพทย์วิถีธรรม ตัวเราเองก็ได้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ไม่ดีในอดีต ไม่ว่าจะเป็นการซื้อหวย เมื่อก่อนเรามีความโลภ เพราะเราคิดว่า เดี๋ยวพอถูกรางวัลแล้วเราก็จะมีเงินเราจะดีขึ้นเพราะเราคิดว่า การมีเงินจะทำให้เรามีความสุข แต่พอมาเรียนรู้ศาสตร์ของท่านอาจารย์แล้ว การที่เราลดกิเลสคือเราไม่ซื้อมันเป็นการที่เราถูกศีล เมื่อเราถูกศีลเราก็จะพบความผาสุกที่แท้จริง


บททบทวนธรรมข้อที่ 133 “อุปสรรคและปัญหาคือชีวิตชีวา”

คุณโนอาร์ทาน เลาเวอร์ : อุปสรรคและปัญหาคือชีวิตชีวา ขณะที่ทำเกษตรกับครอบครัว ฝนตก ดินกระเด็น เมื่อวานมีหน้าที่ต้องเก็บผัก มดกัด เหยียบพื้นดิน ดินก็เหนียว กิเลสแทรกเข้ามาตอนไปเก็บผักว่า ทำไมต้องมาทำ มดก็กัด ดินก็หนักติดรองเท้า จึงได้โอกาสสวนกิเลสให้ถอยหนีไปว่า หนักก็แก้ปัญหาซิ ถอดรองเท้าเอา เมื่อเห็นปัญหาและอุปสรรคเป็นชีวิตชีวา กิเลสก็จางหาย มาหลอกเราไม่ได้อีก

คุณกมลชนก ทุมวงษ์ : ทำกสิกรรมจะเจอเหมือนกันคือ ทั้งฝนตกและแดดออก แต่การได้ทำเป็นความสุข แม้จะมีอุปสรรคแต่ก็มีชีวิตชีวาจริง ๆ


บททบทวนธรรมข้อที่ 131 “ถ้าชนะ ความโกรธ กลัวเป็น กลัวตาย กลัวโรค เร่งผล กังวลได้ อย่างอื่น ง่ายหมด”

คุณสวรส เลาเวอร์ : มีกิเลสในการที่กังวลว่า เราจะเป็นโควิดหรือไม่ มีความกลัวว่าเราจะนำโควิดไปติดลูกไหมมีความกังวล กิเลสมันหลอกให้กลัว กลัวติดโควิด แต่ก็สวนกิเลสไปว่า ติดโควิดยังไม่น่ากลัวเท่าติดเจ้านะ เจ้ากิเลส ถ้าติดโควิดยังไงก็หายจากโรคได้ แต่ถ้าติดเจ้า จะต้องเจอกันไปอีกหลายภพหลายชาติเลยนะ ติดโควิดยังไงก็หายได้ ไม่หายก็ตายแค่นั้นเอง จะกังวลอะไร จะกลัวเป็นกลัวตายไปทำไม แค่ติดโควิด ร่างกายเจ็บป่วยมันเป็นเรื่องธรรมดา ยังไงก็ยอมติดโควิดดีกว่าติดกิเลส แล้วเสียงกิเลสก็เงียบไป

คุณจิราวรรณ ดาโรจน์ : ท่านอาจารย์หมอเขียวสอนตลอดว่า โรคไม่ชนะเราอยู่แล้ว เรามีแต่ชนะกับเสมอกับโรคเท่านั้น คำสอนอาจารย์ทำให้เราไม่กลัวตายไม่กลัวโรค จริง ๆ ความกลัวตายความกลัวโรค มันก็คือปัญหาและอุปสรรค คืออาจารย์จะบอกว่า ไม่มีปัญหาและอุปสรรคเข้ามาเลย มันเหมือนเดียวดาย อยู่ไปเรื่อย ๆ ไม่มีอุปสรรคปัญหาให้แก้ไข แต่ของเรา เราฝึกฝนที่จะเอาชนะปัญหาและอุปสรรคเหล่านั้น ถ้าคิดว่า มันเป็นชีวิตชีวาทำให้เราสามารถที่จะเห็นกิเลส ล้างกิเลส สู้กิเลส แพ้ไม่เป็นไร ตั้งใหม่ แต่ถ้าชนะ เราจะรู้สึกว่า มันสนุกที่จะค้นหาแล้วก็ล้างต่อไป


บททบทวนธรรมข้อที่ 77 “ระวัง กิเลส มักจะหลอก ให้ยึดมั่นถือมั่น ในสิ่งที่สำคัญยิ่ง ๆ ขึ้นไป”

คุณพิชชาภา แซ่ลิ่ม : กิเลสมันหลอก ตอนที่พ่อใช้ให้ไปเก็บเสื้อ กิเลสมันโวยวายใส่พ่อ เราก็หยุดมันว่า เดี๋ยวก่อน ๆ จะเดี๋ยวนั่นเดี๋ยวนี่ทำไม รีบวางของแล้วไปทำงานให้พ่อซะ แล้วกิเลสก็ยอมและหยุดโวยวาย ใจก็เป็นสุข

คุณกมลชนก ทุมวงษ์ : ผู้แชร์สภาวะจะทันกิเลสตลอด สังเกตเห็นได้ว่า ท่านจะจับกิเลสได้ทุกครั้ง


บททบทวนธรรมข้อที่ 148 “ในโลกนี้ไม่มีอะไรที่ไม่มีข้อดี มีข้อดีได้หมด มีประโยชน์ได้หมด ต้องหาข้อดีหาประโยชน์ให้ได้ในทุกเรื่อง”

คุณกันติชา รัตนนิรันดร : ช่วงใกล้จะอ่านบททบทวนธรรม พี่และน้องเกิดมีการแย่งตุ๊กตากันทำให้เสียงดังขึ้นมา กิเลสเข้ามาก่อกวนใจว่า ทำไมเสียงดังจัง เดี๋ยวเข้ารายการแล้วทางนั้นจะได้ยินเสียงเราไหม ทำไมพี่และน้องเราไม่เงียบกันซักที กิเลสไม่พอใจ เราได้โอกาสสวนหมัดกิเลสไปว่า เจ้านั่นแหล่ะที่เสียงดังกว่าใคร กิเลสช่างโทษ โทษแต่คนอื่นไม่ดีไปหมด มีแต่เจ้าหรือไงที่ดีคนเดียว เจ้าคิดแต่ไม่ดีทั้งนั้น ไปให้ไกลเลย แล้วกิเลสจึงหายไป

คุณจิราวรรณ ดาโรจน์ : เป็นอีกท่านที่ขยันมาอ่านบททบทวนธรรมและขยันมาส่งการบ้านด้วย เป็นนักเรียนโรงเรียนของหนู ประโยชน์อันหนึ่งที่ท่านจะนำไปใช้ต่อยอดได้ก็คือ การได้เห็นกิเลสนี่แหล่ะ ประโยชน์ตัวนี้เลยที่สำคัญมาก ได้เห็นกิเลสแล้วก็จะได้ล้างกิเลส หากเรามองว่า เมื่อพี่กับน้องของเราท่านจะเสียงดังก็ไม่เป็นไร เราก็ไม่ต้องไปเคือง ยินดีให้ได้ เราจึงได้ล้างกิเลสชำระกิเลส


บททบทวนธรรมข้อที่ 142 “ยึดที่ไม่ผิด” คือ “ยึดความไม่ยึดมั่นถือมั่น”

คุณกัญธิมา ทุมมาลา : เมื่อเช้าตอนตื่นนอนเวลา 03.00 น. ตัวเองยึดและตั้งใจว่า จะต้องส่งการบ้านโรงเรียนของหนูให้ได้ เวลาจองคิว คือ เวลา 3.45 น. เราก็ว่า วันนี้ต้องจองให้ได้นะ วันนี้ต้องจอง แล้วใจมันก็คิดว่า ได้ก็ได้ ไม่ได้ก็ไม่เป็นไร เราก็ฟังเพื่อน ก็ตื่นตี 3 ยังไม่ได้เวลา โรงเรียนของหนูตกลงกันว่า ให้ช่วยกันแชร์เข็นกงล้อธรรมจักรสิ่งที่ดีที่เป็นธรรมะ ก็เลยเอาเวลานี้ไปแชร์ก่อน ส่งไลน์ส่งเฟสก็ส่งไปก่อน ส่วนความกังวลที่ว่า เราจะไปส่งการบ้านทันไหม มองดูนาฬิกาก็ไม่เป็นไร เรายังส่งทันอยู่ พอมาดูเวลาอีกครั้ง ปรากฏว่าเวลา 3.44 น. แล้ว นาฬิกาเราผิดหรือเปล่า เราก็ไม่รู้ ผิดถูกก็ช่าง เราก็วางใจ แล้วกดส่งไปมาดูคิวอีกครั้ง ได้คิวที่ 2 ซึ่งเราตั้งใจว่า ได้ก็ได้ ไม่ได้ก็ไม่เป็นไร ในที่สุดก็ได้ส่งการบ้าน

คุณกมลชนก ทุมวงษ์ : นักเรียนที่ห้องโรงเรียนของหนู ขยันทุกคนเลย ตื่นเช้าทุกวันเลย เพื่อที่จะส่งการบ้าน ซึ่งเป็นความพากเพียรมาก ๆ


บททบทวนธรรมข้อที่ 82 “จงฝึกอยู่กับความเป็นจริงของชีวิต ที่พร่องอยู่เป็นนิตย์ อย่างผาสุกให้ได้”

คุณอรพรรณ คุ้มภัย : วันนี้ตั้งใจจะมาเข้ารายการสายด่วน เพื่อมาแชร์สภาวธรรม และชวนเพื่อนมาเข้ารายการด้วย เพื่อนยังไม่เคยเข้าและท่านก็สนใจ ต่อมาเราเกิดติดภารกิจทำให้เข้าร่วมรายการด้วยไม่ได้ ก็นั่งใจจดใจจ่ออยู่จน 3.30 นาฬิกา บอกตัวเองว่า เราจะเข้าไปยกมือ แต่แล้วเพื่อนบ้านก็เปิดเครื่องเสียงเสียงดังมาก เปิดอยู่เป็นพักใหญ่ เรากังวลว่าหากเสียงดังแบบนี้จะทำให้เราอ่านบททบทวนธรรมไม่ได้ มันจะเกิดเป็นเสียงแทรกและไปรบกวนท่านอื่น ๆ ในรายการ จึงคิดว่าจะยังไม่อ่านแต่ช่วงท้ายรายการเราอาจจะแบ่งปันสภาวธรรมกับหมู่กลุ่มได้ พอใกล้ช่วงแบ่งปันสภาวธรรม ปรากฎว่า สุนัขที่บ้านมีอาการไม่สบาย ใจคอเราก็ไม่ค่อยดี เกรงว่า ถ้ายกมือไปแล้วมีปัญหาขึ้นมาคงไม่สะดวก จึงนึกขึ้นมาในใจว่า เราต้องไปผิดศีลเรื่องใดมาแน่ ๆ นึกถึงตอนที่เราไปแชร์โพสต์เรื่องที่ครูที่โรงเรียนท่านไปร้องเพลงกัน ตัวเราสงสัยว่าเราไปผิดศีลเรื่องนั้นมาแน่ ๆ รู้สึกว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมันมีที่มาที่ไป วันนี้มันมีอุปสรรคก็ไม่เป็นไร เราจะได้หันกลับไปดูว่าที่มันพร่องอยู่มันพร่องด้วยเหตุอะไร ด้วยเหตุการณ์ภายนอกด้วย แล้วก็ด้วยที่ตัวเราเองด้วย เราจงยอมรับมันเถิด ลองเดินไปข้างนอกเพื่อนบ้านก็ยังเปิดเพลงยังไม่หยุดก็เลยขำๆ เลยคิดว่า เราต้องกลับมาดูตัวเอง เรานั่นแหล่ะที่พร่องจะไปโทษเหตุการณ์ข้างนอกอย่างเดียวไม่ได้

คุณจิราวรรณ ดาโรจน์ : ถ้าเกิดเรานึกไม่ออกว่าเราพร่องอะไร หรือพร่องศีลอะไรก็ไม่ต้องไปเครียดหรือคิดกับมันเยอะมาก บางทีมันก็จะเป็นวิบากเก่าของเราก็ได้ เป็นวิบากที่เราเต็มใจที่จะยอมรับ บางทีคิดไม่ออกอาจจะไม่ใช่วิบากชาตินี้ อาจจะเป็นชาติอื่น ๆ ซึ่งเราระลึกชาติไม่ได้ บางทีถ้าเราไปโฟกัสว่าเราผิดศีลอะไร เราอาจนึกไม่ออกก็มี

คุณกมลชนก ทุมวงษ์ : บางครั้งสิ่งที่เกิดเราก็อาจระลึกไม่ได้ว่าเกิดจากอะไร เช่นตัวเอง เกิดเหตุโน๊ตบุ๊คใช้ไม่ได้ ใช้ได้แต่มือถือ มานั่งนึกเราผิดศีลอะไรมา ทบทวนไปทบทวนมายังนึกไม่ออก ก็วางใจ เมื่อซักครู่ ข้างบ้านมีเด็กมาเตะบอลแล้วก็ยังมีเด็กส่งเสียงร้องไห้ รู้สึกว่าวิบากเข้าเยอะ แต่วางใจและไม่ทุกข์กับมัน


บททบทวนธรรมข้อที่ 44 “ทีทำชั่วยังมีเวลาทำ ทีทำดี ทำไมไม่มีเวลาทำ”

คุณจิรานันท์ จำปานวน : มาหาคุณยายแล้วคุณยายใช้ให้ไปหาของให้ เราเองที่ได้ฉายาว่าตาเซ่ออยู่ ก็เกิดความกังวลใจว่าจะหาของให้ยายไม่เจอ เมื่อเห็นกิเลสขี้เกียจ นอนเล่นไม่ไปหาของ ก็สอนกิเลสไปว่า มานอนแบบนี้จะไปหาของเจอได้ยังไง มันต้องไปหา ไปลงมือทำ “ลงมือทำคือคำตอบ” กิเลสก็ยอมลุกขึ้นมาไปหาของให้คุณยาย และก็หาเจอจริง ๆ

คุณจิราวรรณ ดาโรจน์ : ส่วนมากตัวขี้เกียจจะใช้เวลา ให้นึกว่า เวลาเราไปทำชั่วหรือผิดศีลเรายังไปทำได้เลย เวลาทำดีอย่าให้มันเริ่มขี้เกียจขึ้นมา บททบทวนธรรมนี้สั้นแต่ความหมายไม่สั้นเลย


บททบทวนธรรมข้อที่ 89 “โลกนี้ไม่มีอะไรเที่ยง ไม่มีอะไรที่เราควบคุมได้ ไม่มีอะไรที่เรากำหนดได้ นอกจากใจที่ไม่ทุกข์ของเราเท่านั้นที่เรากำหนดได้”

คุณนาลี วิไลสัก : สภาวธรรมของตนเอง คือ ตอนที่ได้ยกมือจะอ่านบททบทวนธรรมตอนนั้นยังอยู่ที่ทำงาน ก็ฟังพี่น้องไปด้วย ก็ตั้งใจฟังว่าเราจะได้คิวที่เท่าไหร่ เหมือนจะได้ยินว่านารีได้คิวเป็นคนที่ 2 แต่พอเวลาอ่านคนที่ 2 ไม่ใช่เรา กิเลสมันก็มาบอกว่า เห็นไหมทำงานไปด้วยฟังไปด้วยมันไม่ถนัดแบบนี้แหล่ะ ตอนนี้เราก็เลยไม่รู้เลยว่า เราเป็นคิวที่เท่าไหร่ เราเลยบอกกิเลสว่า มันเป็นคิวตามธรรมจะเป็นคิวที่เท่าไหร่ก็ช่างมัน เราจะไม่ได้อ่านก็ไม่เป็นไร วันนี้ถ้าไม่ได้อ่าน พรุ่งนี้ก็มายกมือใหม่ไม่เห็นจะเสียหายเลย กิเลสมันบอกว่า เสียหายซิเดี๋ยวพิธีกรก็ว่าเราไม่ตั้งใจฟังซิ ท่านจะว่าเราแค่มายกมือแต่ไม่ตั้งใจฟังว่าเป็นคิวที่เท่าไหร่ แบบนี้ทำให้คนอื่นเสียหายเสียคิว เราเลยสวนกิเลสไปว่า ถ้าเราพลาดจริง ๆ จากที่ฟังคิวไม่ถนัดเราก็ยอมรับ ถ้าคุรุจะว่าอะไรเรา อะไรจะเกิดขึ้นเราก็ต้องยอมรับ เพราะเราไปคนไปทำมาเอง เราจะทำให้ทุกข์ใจไปทำไม ตอนนี้ทุกข์ใจไปก็แก้ไขอะไรไม่ได้ มันผ่านไปแล้ว เราจะไปทุกข์กับมันทำไม มาแก้ทุกข์ใจดีกว่า ก็เลยวางใจว่า ถ้าไม่ได้อ่านเราก็จะแชร์สภาวธรรม ซักพักลูกก็บอกว่า ให้นารีไปอ่านบททบทวนธรรมข้อที่ 150

คุณจิราวรรณ ดาโรจน์ : ใจตรงกันเลย เราตั้งใจว่าจะถามอยู่แล้วว่า มีทุกข์หรือไม่ที่ผิดคิวอ่านบททบทวนธรรม ตัวเราเอง ถ้าเป็นเมื่อก่อน จะทุกข์เรื่องนี้เหมือนกัน เพราะเราไปทำให้คนอื่นทุกข์ ที่ทำให้มีความเข้าใจผิดและสับสนในเรื่องคิวการอ่าน แต่เดี๋ยวนี้รู้สึกยินดีที่ได้เป็นผัสสะ ได้เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ท่านได้เห็นกิเลสท่าน ก็รู้สึก ถ้าไม่มีเราท่านก็ไม่ได้เห็นกิเลส แล้วก็คงเป็นวิบาก มาตลีเทพสารถีคงจัดสรรแล้ว ว่าให้เราป้ำเป๋อไปเรียกแทนที่จะเรียกผิด ทั้ง ๆ ที่จริง ๆ จดไว้คนละหน้าด้วย พอเห็นผู้อ่านคิวที่ 2 ทำหน้าตกใจเล็กน้อยก็รู้แล้ว ก็ถามตัวเองเอายังไงดี แล้วเราก็มีหน้าที่ต้องเปิดปิดไมค์ก็จะมีเวลาไม่พอที่จะไปแชทกับท่าน พอแก้ไขอะไรได้ทันเวลาก็เลยแชทไปหาว่ามีช่วงที่ได้พูดออกไปว่าเราทำพลาดตรงส่วนนี้ ก็ยินดีที่ได้มีส่วนร่วมในการล้างกิเลสร่วมกัน ไม่ต้องกังวลเรื่องพิธีกรจะยุ่งยาก เพราะถ้าพิธีกรยุ่งยากแล้วจับกิเลสตัวเองได้ อันนี้พิธีกรก็ได้ประโยชน์ ได้ประโยชน์ร่วมกัน


“ช่วงถาม-ตอบปัญหาสดในรายการ”

คุณเฟื่องศีล

คำถาม : มีอาการ “เท้าบวม” มาเป็นเวลาประมาณ 1 เดือน นอนโรงพยาบาลและได้ฉีดยา 6 วัน รับประทานยาต่อ จนอาการหายดีแล้ว แต่กลับมาเท้าบวมอีกครั้ง ไม่อยากใช้ยาแล้ว ขอคำแนะนำ

คำแนะนำจากจิตอาสาแพทย์วิถีธรรม:

      • “ตามหลักของพุทธศาสนา คือ มีการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป” ในการดูแลรักษาก็เช่นเดียวกัน ตามหลักในศาสตร์แพทย์วิถีธรรม ไม่มีหลักประกันใดที่สามารถยืนยันได้ว่า หากอาการป่วยหายไปแล้ว จะไม่เกิดขึ้นอีก เพราะตามหลักความเป็นจริง เมื่ออาการป่วยหายไป ก็ยังสามารถกลับมาป่วยในอาการเดิมได้อีก
      • ตามหลักศาสตร์แพทย์วิถีธรรม จะมีอาการป่วยที่เกิดจาก “ร้อนเกิน เย็นเกิน หรือร้อนเย็นพันกัน” โดยหลังจากได้แก้อาการด้วยยา 9 เม็ดแล้ว เมื่อมีอาการดีขึ้น ก็ไม่สามารถยึดมั่นถือมั่นได้ว่า อาการจะเกิดขึ้นหรือไม่เกิดขึ้นอีก ซึ่งมักมีผู้ป่วยที่เข้ามาปรึกษาและกังวลกับจุดนี้ “เนื่องจากผู้ป่วยอาจเป็นผู้เรียนรู้ใหม่ จึงจับประเด็นเพียงยา 9 เม็ด ในด้านวัตถุเท่านั้น แต่ยังไม่ได้จับประเด็นในด้านธรรมะ และไม่ได้นำข้อธรรมะมาใช้” จึงทำให้จิตหลงยึดอยู่ว่า แก้อาการแล้ว หายแล้ว แล้วทำไมวันนี้กลับมามีอาการป่วยอีก?
      • จริง ๆ แล้ว คือ เมื่อมีเหตุปัจจัยมีภาวะร้อนเกิน เย็นเกิน หรืออาการร้อนเย็นพันกันเกิดขึ้นอีก “เมื่อได้เรียนรู้ในการแก้อาการเป็นแล้ว ก็สามารถแก้ไขอาการได้อีก ตามภาวะที่เกิดขึ้น เพื่อปรับร่างกายให้สมดุล” เช่น มีภาวะเย็นเกิน ก็สามารถเติมด้วยสมุนไพรหรืออาหารที่มีฤทธิ์ร้อน ให้กับร่างกาย
      • “วางใจไม่ทุกข์” หรือกังวลในเหตุปัจจัยที่ทำให้อาการนั้นเกิดขึ้นอีก ต้องใช้ “ความเพียร” ในการแก้อาการ หากผู้ป่วยใช้ยา 9 เม็ด แล้วมีอาการดีขึ้น แสดงว่ามาถูกทางแล้ว เพียงฝึกด้วยความเพียรต่อไป ซึ่งไม่แน่ใจว่าทางผู้ถามได้ใช้ศาสตร์แพทย์วิถีธรรมมากน้อยเพียงใด เนื่องจากตามข้อมูลระบุว่ายังใช้แพทย์แผนปัจจุบันด้วย
      • การรักษาตามทางแพทย์แผนปัจจุบันนั้น “เป็นธรรมดา” ที่จะกลับมามีอาการป่วยแบบเดิมอีกครั้ง เนื่องจากอาการป่วยที่หายไปหรือดีขึ้นนั้น เกิดจากฤทธิ์ของตัวยาที่ได้ใช้เข้าไป บีบกดอาการไว้ แต่หลังจากที่ฤทธิ์ของยาหมดไปแล้ว หากผู้ป่วยยังมีพฤติกรรมที่ทำให้เกิดโรคเช่นเดิมอยู่ สักระยะหนึ่งอาการป่วยก็จะกลับมาอีกครั้ง
      • หากผู้ป่วยมีความประสงค์ให้ “อาการป่วยหายได้แบบยั่งยืนถาวร” แนะนำให้ใช้วิธีการดูแลรักษาร่างกายโดยที่ “ไม่ต้องพึ่งยา” โดยใช้การปรับสมดุลทั้งทางด้านจิตใจและร่างกาย จึงจะทำให้อาการดีขึ้นแบบยั่งยืนและถาวร
      • สามารถทดลองพิสูจน์ตามแนวทางของแพทย์วิถีธรรมได้ เนื่องจากลักษณะอาการเท้าบวมนั้น “ไม่ใช่เป็นเรื่องยาก” ส่วนใหญ่จิตอาสาแพทย์วิถีธรรมก็มักมีอาการเข่าบวม และเท้าบวมเป็นประจำ แต่สามารถแก้อาการและดูแลได้ด้วยยา 9 เม็ด อย่างไม่ลำบาก
      • ใช้ยาเม็ดที่ 4 คือ “แช่มือแช่เท้า” และยาเม็ดที่ 5 คือ “พอก ทา หยอด ประคบ อบ อาบ เช็ด ด้วยสมุนไพรที่ถูกกัน” เพื่อช่วยบรรเทาอาการด้วยด้านวัตถุในเบื้องต้นได้

[คลิกเพื่อชมคลิปวิดีโอ]


สรุปเนื้อหาสาระในวันนี้ คือ โศลกธรรมของท่านอาจารย์หมอเขียวในวันนี้ มีใจความว่า “ใครที่ถูกคนอื่นว่า อย่าไปโกรธเขานะ แปลว่า เราแสบมาก ขนาดพระพุทธเจ้าท่านยังถูกว่าเลย ทำความดีมาก ๆ นะ มันจะไปชิงออกฤทธิ์แทนวิบากบาปเอง” วันนี้ได้แบ่งปันสภาวธรรมเรื่อง “กิเลสต้องล้าง วิบากต้องรับ พุทธะจึงจะเกิด” ไม่ว่าใครก็ตามที่ว่าเรา เราก็อย่าไปโกรธ เพราะนั่นเป็นสิ่งที่เราจะต้องรับ และเราก็เคยทำสิ่งเหล่านั้นมา พากเพียรล้างกิเลสด้วยใจที่ไม่ยึดมั่นถือมั่น ไม่ใส่ใจไม่เอาสาระในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ยอมรับในสิ่งที่เคยทำมา วิบากดีจึงจะไปชิงออกฤทธิ์แทนวิบากบาปนั่นเอง

รายงานข่าวโดย :

สมหทัย สินก่อเกียรติ (หมวยหลิน) / ผู้บำเพ็ญคบคุ้น สวนป่านาบุญ 3

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *