รายการ “สายด่วน สุขภาพพึ่งตนวิถีธรรมวิถีไทย”
ช่วง ถามตอบ ปัญหาสุขภาพ
ตามหลักการแพทย์วิถีธรรม
โดย กลุ่มแพทย์แผนไทยวิถีธรรม ค้ำจุนโลก
วันพุธ ที่ 20 เมษายน 2565
เวลา 15.00 – 17.00 น.
ประเด็นเด่นจากรายการ
-
-
- แพทย์วิถีธรรมช่วย “ลดโรค ลดยา ลดค่าใช้จ่าย ดำเนินชีวิตเรียบง่าย พึ่งตนได้อย่างผาสุก”
- เพื่อนบ้านนำผักบวบมาให้ สืบเนื่องจากเราเคยนำผลมะกอกไปแบ่งปันกับเขานานมาแล้ว
- หลงทุกข์ใจไปกับลูกชายที่กำลังมีปัญหากับภรรยา จนได้สติจากการอ่านบททบทวนธรรม ทำให้เกิดปัญญาเตือนตนและวางใจได้ไม่เข้าไปยึดติด
- “คิดดี พูดดี ทำดี” ไว้ก่อน ดีที่สุด
- ฝึกฝืนในการทำสิ่งที่ดี “ใช้ความกล้าล้างความกลัว” เผชิญกับสิ่งที่อยู่ตรงหน้าด้วยปัญญา แก้ปัญหา ฝึกฝนตน
- “โรคกรดไหลย้อน ไทรอยด์ คอพอก” จากพฤติกรรมการรับประทานไม่เลือก ร่างกายมีภาวะร้อนเกิน แต่ไม่ได้ใช้ยาแผนปัจจุบัน กลับกันมาศึกษาและปฏิบัติตนตามศาสตร์ยา 9 เม็ด ลดความอยาก ลดกิเลส โรคที่เป็นเกือบทั้งหมดก็หายไป
- ล้างความกลัว และกล้าด้วยการตั้งศีล เพียงลงมือทำ “พลังจากหมู่มิตรดีก็เหนี่ยวนำให้ความกลัวนั้นหายไป”
- การปฏิบัติตนของคนใกล้ตัวเป็น “กระจกสะท้อน” ถึงสิ่งที่ได้เคยปฏิบัติมากับผู้อื่นมา เตือนตนในสิ่งนี้ตลอดเวลา ทุกครั้งที่เกิดความรู้สึกทุกข์ใจจากความชิงชังรังเกียจ พฤติกรรมที่ไปตัดสิน หมั่นทบทวนธรรมและสอนใจตนเอง จนสามารถวางใจและเปลี่นนพฤติกรรมที่มีต่อคนใกล้ตัวได้ จนวันสุดท้ายของชีวิตท่าน ยินดีที่ได้มีโอกาสมอบสิ่งดี ๆ ให้กันจนกระทั่งลาจาก อบอุ่นในใจและไม่รู้สึกเสียดายในสิ่งใด
- “จูงมือกิเลสไปทำสิ่งที่ดี” ผลที่ได้นั้นคุ้มมากมาย
- “เนื้องอก แต่ไม่ใช่เนื้อร้าย” แพทย์ไม่จ่ายยา ทุกข์ใจจนได้มาพบแพทย์วิถีธรรม เรียนรู้ปรับสมดุล “โรคหายได้ โดยไม่ได้ใช้เสียเงินเลย แม้แต่บาทเดียว” แถมความทุกข์ใจยังหายไปพร้อมโรค เป็นความมหัศจรรย์ใน “ศาสตร์ศูนย์บาทรักษาทุกโรคจริง ๆ”
- หวงมะม่วงที่กำลังโตในบ้าน จึงสอนกิเลสด้วยการเก็บไปถวายวัด “ล้างความหวงในใจ”
- นัดพบแพทย์ แต่ต้องนั่งรอตากแอร์เป็นชั่วโมง สุดท้ายไม่ได้ตรวจ ทั้งที่ได้คิวที่ 1 “เชื่อชัดในวิบากกรรม” จึงตั้งใจลดกิเลสและเพียรปฏิบัติดี “เชื่อสิ่งที่เราได้รับ คือ สิ่งที่เราทำมา”
- ทุกข์ใจที่พี่สาวเกือบโดน “มิจฉาชีพหลอกทางโทรศัพท์” ได้แต่เตือนตนทุกวันว่า “ไม่มีอะไรช่วยเราได้ นอกจากศีลที่มั่นคง”
- พ่อบ้านเผลอ “นำไข่เป็ดที่ฟักเป็นตัวแล้ว ไปทอด” เกิดความทุกข์ใจและไม่มั่นใจว่า “ตนเองเป็นผู้นำไข่ไปแช่ในตู้เย็น หรือไม่?” เนื่องจากกังวลและกลัวต่อบาป จึงคำแนะนำวิธีคลายทุกข์ใจ จากจิตอาสาแพทย์วิถีธรรม
- ได้รับพิษจากแมลงกัดต่อย “กัวซา” บริเวณที่เป็นผื่นแล้ว มีอาการดีขึ้น แต่อยากได้รับคำแนะนำเพิ่มเติม เพราะยังไม่เข้าใจในรายละเอียด ในเรื่องการเว้นระยะการทำกัวซา ว่าควรรอเวลาหรือไม่?”
-
[คลิกเพื่อชมคลิปวิดีโอฉบับเต็ม]
วันนี้มีพี่น้องทั้งจิตอาสาแพทย์วิถีธรรมทั่วโลก และชาวค่ายเข้าร่วมรายการทั้งหมด 84 ท่าน ดำเนินรายการ โดย คุณกมลชนก ทุมวงษ์ (แหม่ม) คุณประภัสสร วารี (กุ้ง) และคุณวิจิตร ตันเดชานุรักษ์
รายการสายด่วนสุขภาพพึ่งตนวิถีธรรมวิถีไทย เริ่มต้นรายการด้วยยาเม็ดที่ 6 คือ มาร์ชชิ่ง [คลิกเพื่อชมคลิปวิดีโอ] และธรรมะเพื่อความผาสุก คือ การอ่านบททบทวนธรรมยาเม็ดที่ 8 ดังนี้ ข้อ 155-165 [คลิกเพื่ออ่านบททบทวนธรรม] และข้อ 1 – 8 [คลิกเพื่ออ่านบททบทวนธรรม]
“ช่วงทำความรู้จักจิตอาสาผู้ดำเนินรายการ”
“แบ่งปันประสบการณ์แพทย์วิถีธรรมนำพ้นทุกข์”
คุณประภัสสร วารี : ช่วงแรกที่ได้มารู้จักแพทย์วิถีธรรม ฝึกตัวเองให้ “รับประทานอาหาร พืช จืด สบาย” รู้สึกทรมาน เพราะก่อนหน้านี้เป็นคนชอบรับประทานอาหารรสจัด แต่หลังจากที่ปฏิบัติต่อเนื่องเป็นเวลานาน หลายโรคที่เป็นนั้น “ก็หายไปหมด หายได้โดยไม่ได้ใช้เงินเลย แม้แต่บาทเดียว” การปฏิบัติเพื่อนำพาพ้นทุกข์นั้น โดยเน้นใช้ยาเม็ดเลิศ คือ ยาเม็ดที่ 8 “ธรรมะ” และยาเม็ดที่ 9 “การรู้เพียรรู้พัก”
คุณวิจิตร ตันเดชานุรักษ์ : ได้ศึกษาแพทย์วิถีธรรมมาเป็นเวลา 13 ปี ช่วยให้สามารถ “ลดโรค ลดยา ลดค่าใช้จ่าย” ลดโรค คือ การนำ “ยา 9 เม็ด” มาปรับสมดุล ทำให้ลดอาการเจ็บป่วยได้เป็นอย่างดี ลดยา คือ “การนำอาหารมาปรุงเป็นยา” แทนที่การรับประทานยา ลดค่าใช้จ่าย คือ “การใช้ศาสตร์แพทย์วิถีธรรมในการพึ่งตน” กินอยู่ใช้สอย แบ่งปันอย่าง “เรียบง่าย” ดำเนินชีวิตแบบพึ่งตนอย่างผาสุก ลดทุกข์ คือ การศึกษาต่อยอด “ธรรมะ” ที่ท่านอาจารย์หมอเขียวได้นำมาสอน ทำให้เวลามีความทุกข์ ก็สามารถพ้นทุกข์ได้
“ช่วงแบ่งปันความประทับใจในบททบทวนธรรม”
“ที่ได้นำมาใช้ในชีวิตประจำวันเพื่อดับทุกข์ใจ”
บททบทวนธรรมข้อที่ 8 “สิ่งที่เราได้รับ คือ สิ่งที่เราทำมา ไม่มีสิ่งใดที่เราได้รับ โดยที่เราไม่เคยทำมา”
คุณเพ็ชรรัตน์ โตจรูญ : ตอนเช้าช่วงทำกับข้าว ลูกบอกว่ามีคนมาหาและนำผักบวบมาให้ 2 ลูก นึกถึงสมัยก่อนที่ตนเองนำผลมะกอกไปแบ่งปันให้เพื่อนบ้านท่านนี้ โดยไปแขวนไว้หน้ารั้วของท่าน ทำให้ตนเองนึกถึงบททบทวนธรรมข้อที่ 8 ซึ่งตรงกับสภาวธรรมที่ได้รับในตอนนี้ “สิ่งที่เราได้รับ คือ สิ่งที่เราทำมา”
คุณประภัสสร วารี : ในการแบ่งปันสภาวธรรมนี้ ผู้แบ่งปันนั้นนอกจากจะเป็นการได้รับมา ในสิ่งซึ่งได้ให้ออกไปแล้ว ยังเป็นการให้ด้วยใจบริสุทธิ์ ซึ่งตรงกับบททบทวนธรรมข้อที่ 159 เช่นกัน คือ “การให้ หรือ แบ่งปัน เป็นที่พึ่งแท้ของโลก” และข้อที่ 160 “การให้ หรือ การแบ่งปันด้วยใจที่บริสุทธิ์ คือ ความเจริญของจิตวิญญาณที่งดงาม มีคุณค่า และผาสุกที่สุดในโลก” อีกด้วย
บททบทวนธรรมข้อที่ 86 “แพทย์วิถีธรรม ลดโรค ลดยา ลดค่าใช้จ่าย ลดทุกข์”
คุณโนอาร์ทาน เลาเวอร์ : วันนี้มีโอกาสได้ปรุงอาหารเป็นยาให้คุณพ่อและคุณแม่ได้รับประทาน “ทำอาหารให้เป็นยา” คือ “ไม่มีเนื้อสัตว์ เน้นผัก และธัญพืช” ใส่ผักทุกอย่างที่มีในสวน ใช้สมุนไพรใกล้ตัวในการช่วยลดทุกข์ ลดกิเลส แม้จะมีกิเลสตัวที่ขี้เกียจเข้ามา ก็สามารถล้างกิเลสนั้นไปได้
คุณกมลชนก ทุมวงษ์ : “ลดโรค ลดยา ลดค่าใช้จ่าย ปลูกเอง รับประทานเอง”
บททบทวนธรรมข้อที่ 82 “จงอยู่กับความเป็นจริงของชีวิต ที่พร่องอยู่เป็นนิตย์ อย่างผาสุกให้ได้”
คุณสวรส เลาเวอร์ : เมื่อคืนลูกชายโทรมาปรึกษาระบายความทุกข์ใจว่า ลูกชายและภรรยามีปากเสียงกัน จึงทำให้ “เห็นกิเลส” ในใจตัวเอง ที่เป็นห่วงลูกชายและภรรยาของเขา กลัวว่าทั้งคู่จะต้องแยกกัน เมื่อมาฟังบททบทวนธรรม “จึงเกิดปัญญาเตือนตน” ขึ้นมาว่า “หากจะเป็นวิถีกรรมของชีวิตใด ก็เป็นกรรมของชีวิตนั้น” ตนเองจะต้องอยู่อย่างผาสุกให้ได้ ไม่ว่าอย่างไรทุกคนต่างมีกรรมเป็นของของตนมา “อย่าไปทุกข์ใจกับเขา” ถึงแม้จะเป็นลูกชายและลูกสะใภ้ ถึงลูกชายและภรรยาจะอยู่ด้วยกันหรือทอดทิ้งกันไป นั่นก็เป็นวิถีกรรมของพวกเขา เมื่อฟังบททบทวนธรรมของท่านอาจารย์หมอเขียวแล้ว ก็สามารถ “วางใจได้ และตั้งใจจะอยู่อย่างผาสุกให้ได้ และจะไม่ไปติดยึดให้ใจเศร้าหมอง” ใจจึงหายทุกข์ “เพราะเมื่อกิเลสตาย ใจก็เบิกบาน”
บททบทวนธรรมข้อที่ 2 “เราต้องรู้ว่า แต่ละคนมีฐานจิตแตกต่างกัน เราจึงควรประมาณการกระทำให้เหมาะสมกับฐานจิตของเรา และฐานจิตของผู้อื่น คิดดี พูดดี ทำดีไว้ก่อน ดีที่สุด”
คุณนวลนภา ยุคันตพรพงษ์ : ในแต่ละวันที่ได้ “อ่านบททบทวนธรรม ไม่ว่าจะเป็นบทไหน ก็มักจะได้ปัญญาถูกตรงที่สอดคล้องกับสิ่งนั้นจริง ๆ” เช่นวันนี้ ตนเองกำลังมาร์ชชิ่งออกกำลังกาย พี่น้องได้เตือนว่า การย่ำเท้าบริเวณนั้นจะทำให้ฝุ่นคลุ้งลงกับข้าวบนโต๊ะ แม้จะคิดเถียงในใจ ปากอยากจะพูดตามใจกิเลส แต่ตนเองก็หยุดไว้ที่ปาก “หยุดที่ตัวเราก่อน” และกล่าวขอโทษท่านออกไป เมื่อได้ “ปล่อยวาง และมาคิดดี พูดดี ทำดี ใจก็เบิกบานผาสุก” ซึ่งตอนแรกหลงคิดไปเองว่า หลังจากที่พี่น้องท่านนี้ได้กล่าวมา แล้วท่านอาจเกิดอารมณ์โกรธ แต่ความจริง คือ “ท่านพูดแล้ว ก็วางไปเท่านั้น ไม่ได้ถือโทษใส่ใจ” และยังไปเก็บฟักทองมาให้อีกด้วย จึงระลึกเตือนตนได้ว่า “เราต้องประมาณการกระทำของแต่ละท่านให้เหมาะสม” และก็ตั้งใจที่จะรักษาศีลยิ่งชีพของเรา
คุณกมลชนก ทุมวงษ์ : หลายครั้งหลงคิดเอาเองว่า ผู้อื่นต้องเป็นแบบนั้นแบบนี้ตามที่ตัวเราคิด ความคิดในลักษณะนี้ จึงทำให้เครียดและไม่สบายใจ จนเกิดความทุกข์กายขึ้นมา เพราะส่งผลมาจากการทุกข์ใจ การได้มาอ่านและทวนบททบทวนธรรม ทำให้หายทุกข์ใจได้ “ทุกอย่างอยู่ที่ตัวเรา”
บททบทวนธรรมข้อที่ 4 “ต้องกล้า ในการทำสิ่งดี ละอายและเกรงกลัว ในการทำสิ่งชั่ว ชีวิตจึงจะพ้นทุกข์ได้”
คุณสุดใจ โสะหาบ : “มาฝึกความกล้าด้วยการอ่านบททบทวนธรรม” เป็นคนไม่มั่นใจในตัวเอง แต่ฝึกที่จะ “ฝืนทำสิ่งดี” คำสอนในข้อที่ 4 นี้จึงตรงกับสภาวธรรมของตนเองพอดี
คุณกมลชนก ทุมวงษ์ : ตัวเราเป็นเหมือนกัน “ไม่มั่นใจในตัวเอง” แต่ก็เลือกที่จะ “กล้าเผชิญกับสิ่งที่อยู่ข้างหน้า” ได้มาใช้ “ปัญญา” ในการแก้ปัญหา เป็นการได้ฝึกฝนตน
คุณประภัสสร วารี : จากการสังเกตกันมาในหมู่กลุ่ม ทุกครั้งที่ผู้ถามปรากฏตัวในห้องประชุม เห็นความกล้าในการเปิดไมค์ทุกครั้ง เชื่อว่าความกล้านั้นได้ปรากฏแล้ว แต่ไม่ว่า “ความกล้าหรือความกลัว ทั้งสองล้วนเป็นกิเลสตัวหนึ่งทั้งสิ้น” การได้มาร่วมกิจกรรมกับหมู่มิตรดี ได้ส่งการบ้าน ได้แสดงสภาวธรรม คือ การได้ “ฆ่ากิเลสฆ่าความกลัว” ทุกครั้งไป
บททบทวนธรรมข้อที่ 151 “เราจะทำ ในสิ่งที่คนอื่น ทำได้ยาก เราจะเป็น ในสิ่งที่คนอื่น เป็นได้ยาก เราจะสละ ในสิ่งที่คนอื่น สละได้ยาก เราจะพ้นทุกข์ ในสิ่งที่คนอื่น พ้นทุกข์ได้ยาก เราจะชนะ ในสิ่งที่คนอื่น ชนะได้ยาก”
คุณประทุมทิพย์ ไชยชิตร : เมื่อก่อนที่ “ยังไม่เป็นโรค” อยากรับประทานอะไร ก็จะรับประทานหมดทุกอย่างที่อยาก แต่เมื่อทราบว่า พฤติกรรมการรับประทานของตนเองไปนั้น คือ “ก่อโรค” จึงพยายามมาแก้ไขพฤติกรรมนี้ “ด้วยการไม่ตามใจตนเองในการบริโภค” พิสูจน์ด้วยตัวเอง “จากการลดความอยาก หรือลดกิเลส” ได้เรียนรู้ที่จะปรับสมดุลร่างกายด้วย “การปรุงอาหารให้เป็นยา” รับประทานน้ำปั่นผักปรับสมดุล และระหว่างวันก็จะดื่มน้ำย่านางแทนน้ำธรรมดา ช่วงที่ยังป่วยหนัก ร่างกายจะมี “ภาวะร้อนมาก” จนต้องใช้ผ้าชุบน้ำและพันไว้ตลอด บริเวณศีรษะ คอและหน้าอก เพียงลองปฏิบัติ ก็ทำให้สามารถลดโรคในร่างกายไปได้เยอะ เช่น “โรคกรดไหลย้อน ไทรอยด์ คอพอก” อาการคอพอกที่เคยเป็นทั้งด้านซ้ายและด้านขวา จากที่คอพอกด้านซ้ายที่มีขนาด 1.9 เซนติเมตร ก็ยุบหายไปแบบไม่เหลือ ตอนนี้เหลือเพียงด้านขวาเท่านั้น
ซึ่งในช่วงที่ปรับสมดุลร่างกาย “เลือกที่จะรักษา โดยไม่ได้ใช้ยาแผนปัจจุบันอื่น ๆ ร่วมด้วย” เนื่องจาก “การรับประทานยาจะทำให้ยิ่งเกิดภาวะร้อน และรู้สึกว่ายาแผนปัจจุบันไม่ได้ช่วยให้ได้ผลดีขึ้น” แม้ตนเองจะยังมีการนัดตรวจกับแพทย์แผนปัจจุบันอยู่ แต่ก็จะใช้เพียง “หลักของยา 9 เม็ดในการรักษาตัวเท่านั้น” ในช่วงแรกจะเน้นปฏิบัติในยาเม็ดที่ 1-7 มากเกินไป แต่ในปัจจุบันเปลี่ยนมาเน้นยาเม็ดที่ 8 และ 9 คือ “เน้นปรับใจ ให้ผาสุกมากขึ้น” และจะใช้ยาเม็ดที่ 1-7 ตามสภาวะอาการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นเป็นกรณี ๆ ไปเท่านั้น
คุณกมลชนก ทุมวงษ์ : อาจารย์หมอเขียวได้กล่าวไว้ว่า “ลดกิเลส ลดทุกโรค” เราทุกคนสามารถเลือกได้ว่า จะนำอาหารที่เป็นประโยชน์หรือเป็นโทษเข้าไปในร่างกาย ช่วงที่ภูผาฟ้าน้ำมีอากาศร้อนมาก อาจารย์หมอเขียวเคยเล่าว่า ท่านจะใส่เสื้อ 2 ตัว โดยเสื้อตัวแรกจะนำมาชุบน้ำให้เปียก แล้วนำมาใส่ ส่วนเสื้ออีกตัวหนึ่งจะใส่ทับลงไป เพื่อทำร่างกายให้เย็น วิธีนี้จึงทำให้อาจารย์หมอเขียวสามารถทำงานกลางแดดได้สบาย กรณีของผู้ป่วยที่มี “ภาวะร้อนเกิน” หรือหากอยู่ที่บ้าน ก็สามารถนำผ้าชุบน้ำ ผสมน้ำย่านางหรือหยดน้ำมันเขียว มาโพกระบายความร้อนได้ การปฏิบัติเช่นนี้จะให้ความรู้สึกเสมือนมีแอร์ติดตัวเลย ลดอาการภาวะร้อนเกินได้เป็นอย่างดี หรืออาจจะใช้วิธีการเช็ดตัวเป็นระยะร่วมด้วยก็ได้
คุณประภัสสร วารี : หลายท่านอาจจะยังมีความเชื่อในวิธีแบบเก่า คือ หากป่วยเป็นโรค จะต้องรับประทานยาแผนปัจจุบัน จึงจะหาย แต่ผู้ถามนั้นเป็นตัวอย่างที่ดีของ “การลดกิเลส เพื่อรักษาโรค” ซึ่งให้ผลลัพธ์ที่เร็วและแรง ประสบการณ์ส่วนตัวของตนเอง ก็เคยมีอาการคอบวมทั้งด้านหน้าและด้านหลัง วิธีการที่ใช้แก้ไขอาการในตอนนั้น คือ “กัวซา” โดยปฏิบัติเป็นประจำ อาการคอบวมก็ยุบหายไปได้
บททบทวนธรรมข้อที่ 8 “สิ่งที่เราได้รับ คือ สิ่งที่เราทำมา ไม่มีสิ่งใดที่เราได้รับ โดยที่เราไม่เคยทำมา”
คุณสมใจ ศิษฐิพงศ์ : “ล้างความกลัว มากล้าค่ะ” ต้องขอบคุณ “โรงเรียนของหนู” และ “น้องบุญ” ตนเองได้ตั้งศีลกับน้องบุญไปด้วยกันว่า จะไม่กลัวและมาเปิดหน้ากล้องเพื่อแบ่งปันสภาวธรรม หลังจากอ่านบททบทวนธรรมเสร็จแล้ว พอจะมาแบ่งปันสภาวธรรมจริง ๆ รู้สึกตื่นเต้น “ถ้าไม่ได้ตั้งศีลไว้ คงไม่ได้มาแบ่งปันแน่ ๆ” บททบทวนธรรม ข้อ 8 นี้จะใช้ได้ตลอด “เหตุการณ์ดีก็ใช้ได้ เหตุการณ์ร้ายก็ใช้ได้” สำหรับตนเองแล้ว เหตุการณ์ที่เคยคิดว่าร้ายในสมัยก่อน ตอนนี้กลับมองว่าเป็นเรื่องดี หากเหตุการณ์เหล่านี้ไม่เกิดขึ้น ก็คงไม่ได้มานั่งเห็นหน้าพี่น้องหลาย ๆ ท่าน และคงไม่ได้มาเจอ “หมู่มิตรดี”
ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา ตนเองจะมักมี “เรื่องทุกข์ใจจากคนใกล้ตัว” เพราะตัวเรามีความ “ชิงชังรังเกียจ” ว่าคนใกล้ตัวทำไม่ดีกับเรา ทรัพย์สินเงินทองที่หายไป ตนเองก็จะโทษท่านอยู่ในใจเสมอ หลังจากได้มีสภาวธรรมจาก “การเข้าค่ายพระไตรปิฎก” ทำให้ได้มาอ่านทบทวนธรรมทุกวัน โดยเฉพาะช่วงที่มีทุกข์ใจ ก็จะอ่านแล้ว เขียนออกมา ได้เขียนบททบทวนธรรมข้อที่ 8 และนำมาท่องจนจำขึ้นใจ
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น คือ คนใกล้ตัวท่านจะมักมาค้นข้าวของที่ตนเองเก็บไว้ กลับมาจากการทำงาน ก็จะเห็นข้าวของกระจุยกระจาย ก็พยายามพึงระลึกในใจว่า “นี่คือสิ่งที่เราทำมา” ที่ท่านปฏิบัติกับเราก็เหมือนเป็น “กระจกสะท้อน” สิ่งที่ตนเองได้เคยปฏิบัติกับท่าน ท่านไม่ได้ผิดเลย ได้เห็นว่าท่านเป็นตัวเราในอดีตด้วยซ้ำ และรู้สึกขอบคุณท่านในใจที่ทำให้เรา “ได้ชดใช้” เมื่อสอนใจตนเองแบบนี้ “ความหงุดหงิดก็หายไป” จึงทำให้สามารถพูดคุยกับท่านได้ปกติ ด้วยความ “ยิ้มแย้มแจ่มใส” และยังส่งความปรารถนาดีไปสู่ท่าน กล่าวอวยพรให้ดูแลตนเองอีกด้วย จากในอดีตที่มักจะมีวิวาทะทางวาจากับคนใกล้ชิดเสมอ ตนเองก็รับรู้ในสิ่งที่ท่านก็สัมผัสได้ว่า “ตัวเราเปลี่ยนไปแล้ว เราเป็นห่วง” ทำให้รู้สึกว่า บรรยากาศภายในบ้านมีความอบอุ่นขึ้น ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา เรา “ส่งมอบแต่สิ่งที่ดี ๆ ให้กันและกัน จนกระทั่งจากลา” โดยไม่มีความเสียดายอาลัยอาวรณ์ ท่านเป็นตัวอย่างที่ดีในการแสดงให้เห็นว่า “ชีวิตก็มีเพียงเท่านี้เอง” ก่อนที่คนใกล้ชิดจะจากไป ท่านเองก็ทำใจได้ว่า ร่างกายนี้เจ็บป่วยแล้ว ท่านจะไปเอาร่างใหม่ เพราะแม้จะหายจากโรคมา หลายอย่างก็คงไม่เหมือนเดิม ตอนท่านจากไป ท่านก็สงบนิ่ง ตนเองจึงได้ “เรียนรู้จากท่านทั้งในช่วงที่ท่านอยู่และจากไป” ไม่ได้เสียดายว่า ไม่ได้ทำดีต่อกัน นี่คือประสบการณ์ที่ท่านได้สอนเราไว้ และอยากนำมาแบ่งปันเพื่อ “ล้างความกลัว”
คุณประภัสสร วารี : นี่คือ “ประโยชน์ของการมาอ่านบททบทวนธรรม” ซึ่งเป็น “ปาฏิหาริย์” ที่ทำให้ชีวิตคนธรรมดา ๆ เปลี่ยนไปอย่างน่ามหัศจรรย์ การได้พิจารณาบทธรรมซ้ำ ๆ “จะเปลี่ยนจิตวิญญาณของเราจากข้างใน” เมื่อจิตวิญญาณเปลี่ยนเกิดเป็นกระแสจิตที่ดี จึงทำให้สามารถส่งมอบความปรารถนาดีจากภายใน ออกไปสู่ผู้อื่น คนที่อยู่ใกล้ชิดจึงสามารถรับรู้ได้ จิตวิญญาณของผู้อื่นก็จะเปลี่ยนตาม เกิดเป็นกระแสการทำดีต่อกันและกัน เป็น “ความผาสุก” ที่ออกมาจากภายในจิตใจของคนผู้นั้นอย่างแท้จริง
คุณจิรานันท์ จำปานวน : มีโอกาสได้เอาภาระไปช่วยหมู่กลุ่ม ในการหารูป เพื่อนำมาทำปกยูทูบ กิเลสบ่นว่า การหารูปพี่น้องแต่ละท่านนั้นยากมาก จึงได้สอนกิเลสไปว่า ในอดีตตัวเราเองก็มักจะใช้ภาพในโปรไฟล์ ที่ยากในการนำมาใช้ได้แบบนี้เหมือนกัน “ตนเองก็เคยเป็นเช่นนี้มาก่อน กิเลสจึงยอม” แล้วทำให้หารูปได้อย่างสบายใจ ใช้เวลาไม่นานในการสู้กับกิเลสตัวนี้
บททบทวนธรรมข้อที่ 117 “ตอนหน้าไม่รู้ ตอนนี้สู้ไม่ถอย สู้กิเลสอย่างรู้เพียรรู้พัก”
คุณพรรณพิมพ์ ทองหล่อ : วันนี้ “กิเลสบอกขี้เกียจ” ไปอ่านบททบทวนธรรม กิเลสบอกว่า “อย่าไปเลย ไม่ไปดีกว่า” จึงได้สอนกิเลสไปว่า “ถ้าขี้เกียจแบบนี้ ยิ่งต้องมา” อ่านเลย มาเดี๋ยวนี้ จูงมือกันมา บอกกิเลสไปว่า โชคดีช่วงนี้เรามีเวลาว่างมาอ่านนะ ถ้าไม่ว่างแล้วจะมานั่งเสียดาย การมาอ่านบททบทวนธรรมเป็นการมาสร้างแรงเหนี่ยวนำเพิ่มพลังให้กับเพื่อนๆ และยังเป็นการได้รับพลังที่ดีจากหมู่กลุ่มกลับไป “คุ้มมากมายทำไมจะไม่มา” สอนไปแบบนี้กิเลสจึงยอมทำตาม
คุณประภัสสร วารี : ถ้าให้ปัญญากิเลสทุกวัน กิเลสก็เชื่อนะ เพราะกิเลสก็อยากฉลาดเหมือนกัน
บททบทวนธรรมข้อที่ 3 “นับ 1 ที่เรา เริ่มต้นที่เรา ทำความดีที่เรา นี่คือเส้นทางเพื่อการพึ่งตน และช่วยคนให้พ้นทุกข์”
คุณบุษกร วรรธนะภูติ : ทุกสิ่งทุกอย่างต้องเริ่มต้นที่เรา นับหนึ่งที่เรา ทำความดีที่เรา เพื่อที่จะพึ่งตนและช่วยคนอื่นได้ แม้กระทั่งเรื่องยา 9 เม็ด ตนเองก็ต้องพากเพียรศึกษาและรู้เพียรรู้พักด้วย “เมื่อสามารถปฏิบัติได้ ผู้ที่อยู่ด้วย ก็จะมีความยินดีไปกับเราด้วย ที่สามารถพึ่งตัวเองได้ และช่วยผู้อื่นได้”
บททบทวนธรรมข้อที่ 165 “คุณค่าและความผาสุกของชีวิต คือ ชีวิตที่พอเพียง เรียบง่าย ร่างกายที่แข็งแรง จิตใจที่ดีงาม จิตใจที่เป็นสุข”
คุณกันติชา รัตนนิรันดร : เมื่อเช้าตอนกำลังจะรับประทานอาหารเช้า กิเลสบอกว่า “แกงมีรสชาติจืด ใส่ซอสเพิ่มเข้าไปสิ” จึงได้สอนกิเลสกลับไปว่า รสจืดก็ดีแล้ว ท่านอาจารย์หมอเขียวสอนให้รับประทานอาหาร พืช จืด สบาย แบบเรียบง่ายและพอเพียง เพราะหากรับประทานอาหารรสจัดแล้ว ร่างกายจะได้รับวิบากกรรม ร่างกายจะไม่แข็งแรง ก็จะทำให้เป็นทุกข์กันทั้งหมด กิเลสจึงยอมไม่ไปเติมซอส เพื่อเพิ่มรสชาติให้อาหารมีรสจัดมากขึ้น เพราะไม่อยากทุกข์ แล้วใจก็เป็นสุขในการรับประทานอาหารรสจืด เพื่อสุขภาพที่แข็งแรงและเรียบง่าย
คุณกมลชนก ทุมวงษ์ : ในช่วงเวลาที่อากาศร้อน ๆ หากได้รับประทานอาหาร พืช จืด สบาย จะทำให้ห่างไกลโรค และไม่ทุกข์ทรมาน เพราะหากรับประทานอาหารรสจัด ร่างกายก็จะร้อน และทำให้เกิดภาวะร้อนเพิ่มขึ้น “รับประทานอาหาร พืช จืด สบาย คือ การทำสิ่งที่ถูกต้องแล้ว”
บททบทวนธรรมข้อที่ 158 “ศูนย์บาทรักษาทุกโรค”
คุณกัญธิมา ทุมมาลา : ตนเองไม่สบายมาหลายปี โดยมีอาการ “ไม่สบาย มาตั้งแต่จำความได้” รับประทานยาจนเป็นเรื่องปกติ เมื่อโตขึ้น มีอาการหนัก จึงไปพบแพทย์ทุกสัปดาห์ เพื่อทำการตรวจหาโรค และทำการรักษาร่างกาย หลังจากที่ครบ 1 เดือน แพทย์แจ้งว่า “ไม่ต้องทำอะไรทั้งนั้น ไม่มียาให้รับประทาน ไม่ต้องผ่าตัด เพราะไม่อันตราย เป็นเพียงเนื้องอก และไม่ใช่เนื้อร้าย” หลังจาก 3- 6 เดือน จึงค่อยมาตรวจอีกครั้ง ในใจก็สงสัยว่า “ไม่มีทั้งยา ไม่มีแนวทางการรักษาแบบอื่นหรือ?” ซึ่งในช่วงก่อนหน้านี้ระหว่างการรักษา รู้สึกตนเองมีความเดือดร้อนและร้อนใจ เพราะทุกครั้งที่ไป “ตรวจ CT Scan” (Computer Tomography) คือ การตรวจสแกนร่างกายด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ เพื่อหาความผิดปกติในบริเวณที่เฉพาะเจาะจง จะต้องใช้เงินจำนวนมาก แต่หลังจากได้มาเข้าค่าย พบท่านอาจารย์หมอเขียว และอ่านเจอบททบทวนธรรมข้อนี้ จากโรคที่คิดว่าจะไม่หาย และกลับกลายเป็นว่าอาการต่าง ๆ ในร่างกาย “ดีขึ้น และสบายขึ้น” เช่น โรคกระเพาะ วิงเวียนศีรษะ “โดยที่ไม่ต้องเสียเงิน แม้แต่บาทเดียว” และจากที่มีความไม่สบายใจ เนื่องจากกังวลกับโรค ก็สามารถทำให้ความทุกข์ใจพลอยหายไปกับโรคในร่างกายของตนเองด้วย
คุณกมลชนก ทุมวงษ์ : สมัยก่อนมีผู้ที่มาเข้าค่ายซึ่งป่วยเป็นโรคมะเร็ง “ต้องใช้เงินรักษาเป็นจำนวนมาก” จนตั้งใจขายบ้านที่เหลืออยู่เพียงหลังเดียว เพื่อนำเงินมาใช้ในการรักษาตัว เพราะการรักษามะเร็งในวิธีนั้น จะต้องฉีดคีโม “หลังจากที่ได้มาฟังท่านอาจารย์หมอเขียวสอน ท่านบอกว่าจะไม่ขายบ้านแล้ว” เพราะบ้านเป็นสมบัติชิ้นสุดท้ายที่จะมอบให้แก่ลูก และจะมาใช้ศาสตร์นี้เพื่อดูแลตัวเอง “การได้ใช้ศาสตร์แพทย์วิถีธรรมนั้นเป็นไปเพื่อประโยชน์ตัวเองและผู้อื่นด้วย” การไปรักษาที่โรงพยาบาลนั้น ผู้ป่วยหลายท่านจึงเกิดความทุกข์กาย แล้วยังต้องทุกข์ใจ เพราะไม่มีเงิน และหากไม่มีเงินมากพอ ก็อาจได้รับการปฏิเสธในการรักษาอีกด้วย เพราะฉะนั้น “ท่านอาจารย์หมอเขียวจึงเปิดค่ายสุขภาพพึ่งตนฯ โดยผู้เข้ารับการอบรมไม่ต้องมีเงินเลยก็ได้” การเรียนรู้ในการรักษาก็ไม่มีค่าใช้จ่าย ในอดีตเคยคิดว่า “ไม่มีที่ไหนในโลก ที่จะมีการรักษาฟรีแบบนี้ แต่มีจริงแล้ว…ที่นี่”
คุณประภัสสร วารี : เพียงทบทวนธรรมก็สามารถรับรู้ได้ว่า พี่น้องของเรา “ใช้บททบทวนธรรมมารักษาโรคไปมากเพียงใด” วันที่ไปพบแพทย์ และได้รับการแจ้งว่า “เป็นโรคสารพัด แต่ไม่มียารักษาให้ และทำอะไรไม่ได้ นอกจากรอดูอาการ” หลายท่านคงรู้สึกหมดหนทางจริง ๆ ตนเองก็เคยเจอสภาพแบบนั้นมา
“ศูนย์บาทรักษาทุกโรค” จึงฟังแล้วรู้สึกมหัศจรรย์ คือ ไม่ต้องใช้เงินเลย แค่เพียงมาดูแลตัวเราเอง โดยไม่ต้องไปพบแพทย์ แต่เริ่มต้นจากก้าวเล็ก ๆ ด้วยการดูแลตัวเราก่อน เพื่อก้าวไปสู่การพึ่งตนที่แท้จริงได้ สุขภาพก็จะดีขึ้น จริง ๆ เมื่อใจของเราไร้ความกังวล โรคที่เป็นก็จะค่อย ๆ หายจากร่างกายไปเอง
บททบทวนธรรมข้อที่ 159 “การให้หรือแบ่งปัน เป็นที่พึ่งแท้ของโลก”
คุณนฤมล ยังแช่ม : ช่วงนี้มะม่วงที่บ้านกำลังโต จึงมีความรู้สึกว่าตนเอง “หวงมะม่วง และไม่อยากแบ่งปัน” เป็นกิเลสตัวหนึ่งที่เล่นงานอยู่ จึงสอนกิเลสไปว่า “การเป็นคนขี้หวงนั้น เป็นวิบากร้ายที่จะเหนี่ยวนำสิ่งที่ไม่ดีให้ผู้อื่นทำตาม แล้วเธออยากเป็นคนดีหรือคนไม่ดี? ให้เธอเลือกเอา” หลังจากที่ถามกิเลสไปแบบนั้น ตนเองก็ “พากิเลสไปสอยมะม่วง” และก็นึกได้ว่า ตนเองไม่ได้ไปใส่บาตรมานานแล้ว อยากนำมะม่วงที่เก็บมาได้ “ไปถวายพระ” จึงขับรถนำมะม่วงเหล่านั้นไปแขวนไว้ที่ประตูวัด เนื่องจากเลยเวลาใส่บาตรมานานแล้ว วันนี้จึงได้สอนกิเลสด้วยการ “พากิเลสไปทำความดี โดยพากิเลสไปแบ่งปัน เพื่อล้างความหวง”
บททบทวนธรรมข้อที่ 154 “หมอที่ดีที่สุดในโลก คือ ตัวเราเอง”
คุณธมกร พลสุวรรณ : วันนี้ลูกสาวแจ้งมาว่า ที่ทำงาน “มีเพื่อนร่วมงานติดเชื้อโควิด” ลูกสาวเป็นห่วง จึงขอให้ “รีบกักตัว เพื่อสังเกตอาการ” ตอนนี้ตนเองจึงแยกออกมา เพื่อดูแลตัวเอง แต่ “ไม่รู้สึกกังวลใจว่า จะติดไม่ติด” ถึงตนเองติด “ใจก็ยินดีรับ” และจะดูแลตัวเองด้วย “ศาสตร์ยา 9 เม็ด” ของท่านอาจารย์หมอเขียวต่อไป
คุณประภัสสร วารี : ความพากเพียรในการปฏิบัติจะเป็นตัวสร้างเสริมให้ “เกิดปัญญา ทำให้มีภูมิคุ้มกันเหตุร้าย” แม้จะเกิดเรื่องใด ๆ ก็ “เปลี่ยนร้าย กลายเป็นดี” สำหรับตัวเราได้ ทั้งยังเบิกบานและมีความผาสุกในใจ เพราะสามารถพึ่งพาตนได้ “ด้วยการเป็นหมอรักษาตนเอง”
บททบทวนธรรมข้อที่ 10 “เมื่อเกิดสิ่งเลวร้ายกับเรา ไม่มีอะไรบังเอิญ ทุกอย่างยุติธรรมเสมอ เพราะเราเคยทำเช่นนั้นมา มากกว่านั้น เมื่อได้รับแล้วก็หมดไป เราก็จะโชคดีขึ้น”
คุณเวียงทอง นุ่นภักดี : วันนี้เดินทางไปพบแพทย์ศัลยกรรมหลอดเลือดตามนัดที่ต้องไปตรวจทุก 3 เดือน ตนเองได้รับคิวเป็นคิวที่ 1 ขณะที่นั่งรออยู่ในโรงพยาบาล จุดที่นั่งรอนั้น ตรงกับช่องแอร์ “รู้สึกหนาว จนสั่น” นั่งรอตรวจเห็นคนไข้ท่านอื่นได้เดินเข้าไปตรวจก่อน รับรู้เลยว่า ที่ตนเองต้องมานั่งตากแอร์ตรงนี้ แม้จะได้คิวที่ 1 แต่ยังต้องรอ “ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ” ระลึกได้ว่า ในอดีตตนเองมักชอบซื้อเนื้อสัตว์มา และจะรีบนำไปเก็บไว้ในช่องแช่แข็ง นั่นคือ “เราทำมา เราก็ยินดีรับยินดีให้หมดไป” รู้ว่าตนเองกำลังชดใช้ นั่งรอจนสุดท้ายทางโรงพยาบาลแจ้งว่า อาจารย์หมอมาไม่ได้เพราะติดตรวจไข้กรณีเร่งด่วน
ถ้ามองอย่างละเอียดเข้าไป จะรู้ได้ว่า ไม่มีอะไรบังเอิญจริง ๆ “วิบากกรรมนั้นมีจริง” แม้วิบากกรรมมีจริง แต่เราก็ตั้งใจลดกิเลสและพากเพียรปฏิบัติได้ จำได้ว่าขณะที่นั่งรอ “กิเลสนั้นร้อนใจ” อยากให้พยาบาลเรียกเข้าไปตรวจไวไว จึงสอนกิเลสไปว่า ไม่ต้องมาทำให้ฉันร้อนรน “ฉันไม่เชื่อหรอก” ความอยากพบแพทย์ไวไว ทำให้ใจกิเลสนั้นร้อน สุดท้ายก็เอาชนะกิเลสตัวนั้นได้ เพราะตนเองคอยเตือนกิเลส และไม่เชื่อฟังในสิ่งที่กิเลสชักชวนให้ไปหลงเชื่อ ใจของตนเองในเวลานั้นจึงไม่วุ่นวาย หรือร้อนรนใจแต่อย่างใด
คุณกมลชนก ทุมวงษ์ : “ทุกอย่างที่เราได้รับ คือ สิ่งที่เราทำมา” ลองนึกถึงเนื้อสัตว์ที่ต้องถูกเก็บไว้ในช่องแช่แข็งเป็นระยะเวลานาน สัตว์เหล่านั้น “ทรมาน” มากกว่าที่ต้องมานั่งตากแอร์เสียอีก เพราะรู้สึกหนาวเพียง 1 ชั่วโมง “เมื่อไม่รับประทานเนื้อสัตว์ ก็จะทำให้เกิดความละเอียดในจิตวิญญาณ” และยิ่งลดกิเลส ก็จะยิ่งทำให้ละเอียดเข้าไปอีกเรื่อย ๆ การที่สามารถมีความยืดหยุ่นกับชีวิตได้ เป็นการดับทุกข์กายทุกข์ใจอย่างดีที่สุด ท่านอาจารย์หมอเขียวบอกว่า “วางแผน คือ วางแผนทิ้งไปเสีย” พร้อมปรับพร้อมเปลี่ยนได้ ใจก็จะไม่ทุกข์ “การเจอเรื่องร้าย ก็ถือเป็นความโชคดี” เป็นขุมทรัพย์สำหรับเรา
บททบทวนธรรมข้อที่ 9 “ถ้าเรายังไม่เข้าใจคนอื่น แสดงว่า เรายังไม่เข้าใจตนเอง”
คุณเพ็ญศิริ เพ็ญแสงฟ้า : เมื่อวานพี่สาวไลน์มาแจ้งว่า “ได้รับโทรศัพท์จากแก๊งคอลเซ็นเตอร์” มิจฉาชีพที่ตั้งใจจะหลอกเอาเงินไปให้หมดบัญชี พี่สาวตกใจมาก เดินทางไปแจ้งตำรวจ แต่ทางสถานีตำรวจ “ไม่รับแจ้งความ” เพราะมีคนจำนวนมากมาแจ้งเรื่องนี้กันเยอะ กิเลสของตนเองเกิดความรู้สึกสงสารและเห็นใจพี่สาว รู้สึกไม่พอใจมิจฉาชีพ จึงได้เขียนบรรยายความรู้สึกเข้าไปในกลุ่ม เมื่อได้เขียนแล้ว ความรู้สึกไม่พอใจก็ลดลง จึงได้แต่ “เตือนตน” ว่าทุกวันนี้ไม่มีอะไรช่วยตัวเราได้เลย นอกจาก “ศีลที่มั่นคง” ทำให้ตนเองได้ทบทวนธรรมไปได้หลายข้อ
อีกสิ่งที่อยากแบ่งปันสภาวธรรม คือ ในวัยเด็กตนเองเป็นคน “หัวรั้น” มักไปปีนต้นไม้ หรือไปทำอะไรที่ทำให้คุณแม่เป็นห่วง และต้องรู้สึกร้อนใจเป็นอย่างมาก ในเวลานี้ที่ตนเองได้มีลูกของตนเอง จึงทำให้ต้องเจอกับ “ลูกที่ดื้อรั้น” และคอยท่องกับตัวเองว่า “สิ่งที่เราได้รับ คือ สิ่งที่เราทำมา”
คุณประภัสสร วารี : “ทุกอย่างจบด้วยศีล” เมื่อเกิดเรื่องเลวร้ายอะไร ถ้าจบด้วยศีล ชีวิตก็จะดีขึ้น สังเกตจากหลายท่านแล้วว่า การมาตรงนี้อาจทำให้เกิดความรู้สึกตื่นเต้น หากลองมาจับกิเลสชัด ๆ ว่า ตื่นเต้นเพราะอะไร เมื่อพบปัญหาก็จะสามารถหาทาง “แก้ปัญหา” ได้ สิ่งท้าทายใด ๆ ที่เข้ามาในชีวิต หากเป็นเรื่องร้าย ให้ถือเป็นวิบากกรรม เพียงวางใจยินดีที่จะรับ แล้วก็หมดไป
คุณกมลชนก ทุมวงษ์ : ในช่วงแบ่งปันสภาวธรรม บททบทวนธรรมเหล่านี้มีประโยชน์อย่างมาก เพราะเป็นการที่ให้ทุกท่านได้มา “ล้างใจ” เพื่อจะดับทุกข์ที่เกิดขึ้น หลายท่านแม้ไม่ได้เข้ามาถามหรือแบ่งปันสภาวธรรม แต่เพียงได้เข้ามารับฟัง ก็จะสามารถเหนี่ยวนำกุศลที่ดีให้ “เกิดปัญญาแก่ตน” การฟังสภาวธรรมจากแต่ละท่าน กลับไปทำให้รู้สึกว่า “ตรงกับชีวิตของตนเอง” เพียงเท่านั้นก็ “ได้ประโยชน์” แล้ว และยังเป็นการ “ชำระล้างใจ” ที่กำลังทุกข์อยู่ได้เช่นกัน
“ช่วงถาม-ตอบปัญหาสดในรายการ”
คุณสวรส เลาเวอร์
คำถามที่ 1 : ปกติตนเองจะ ”ไม่ปรุงอาหารโดยใช้ไข่” ให้พ่อบ้านรับประทาน เมื่อเช้าพ่อบ้านจึงนำ “ไข่เป็ดมาทอดเอง” แต่ปรากฏว่าไข่เป็ดที่นำมาทำอาหาร ข้างในยังมี “ฟักตัวเป็นลูกเป็ด” แล้วไข่เป็ดเหล่านี้ถูกแช่อยู่ในตู้เย็น โดยไม่มีใครทราบว่า “ใครเป็นคนนำไปแช่?” พ่อบ้านเห็นตัวลูกเป็ด “ก็เกิดความสังเวชใจและสงสาร ไม่อยากรับประทาน” ส่วนตัวเราเองก็ไม่แน่ใจว่า เป็นคนนำไข่เป็ดไปแช่หรือไม่? ก็เกิดความทุกข์ใจ ถ้าตนเองเป็นคนนำไปแช่ “คงบาปมากแน่ ๆ” เพราะไข่เป็ดมีจำนวนถึง 10 ฟอง ขณะนี้มีความกังวลและทุกข์ใจ จึงอยากให้พี่น้องและหมู่มิตรดีช่วยแนะนำหนทางคลายทุกข์ใจในเรื่องนี้
คำแนะนำจากจิตอาสาแพทย์วิถีธรรม :
-
-
- กรณีนี้สามารถตรวจดูได้จาก “เจตนา” คือ หากเจตนาของเราไม่ได้ตั้งใจที่จะทำร้ายสัตว์ และไม่ทราบว่าท่านใดเป็นผู้นำไปแช่ตู้เย็น ในเรื่องของความทุกข์ใจ หลักธรรมที่ท่านอาจารย์หมอเขียวสอน ตามหลักของพระพุทธเจ้า โดยใช้หลัก “อาริยสัจสี่” คือ “การหาทางดับทุกข์ ออกจากทุกข์ จนพ้นทุกข์” เมื่อทุกข์ใจ ก็ “หาเหตุ” ตรวจดูว่า เจตนาของเรานั้นตั้งใจทำร้ายชีวิตอื่นหรือไม่? ถ้าเราไม่ได้ตั้งใจหรือไม่มีเจตนาทำร้าย ให้ “ล้างใจ” ว่าเราไม่ได้มีเจตนาในการกระทำสิ่งนั้น และหากมองหาข้อดีของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เมื่อพ่อบ้านได้ “เห็นตัวลูกเป็ด ข้างในไข่ พ่อบ้านไม่กล้ารับประทาน และยังเกิดความสลดสังเวช ตรงนี้กลับกลายเป็นสิ่งดี เกิดประโยชน์” ในอนาคตพ่อบ้านก็จะไม่กล้า และ “ไม่อยากรับประทานไข่ไปโดยปริยาย” เมื่อมองตรงนี้ จึงจะดับทุกข์ใจได้ “ฝึกเรื่องอริยสัจสี่ คือ เรียนรู้ทุกข์และหาประโยชน์จากทุกข์ให้ได้” ดับทุกข์ในใจตัวเองได้ และเห็นประโยชน์จากสิ่งที่เกิดขึ้น
-
คุณอัญชลี โสภา
คำถามที่ 2 : ขอสอบถามเรื่องการ “กัวซา” เนื่องจากไม่เคยกัวซามาก่อน แต่ตอนนี้ได้รับเชื้อจาก “แมลงต่อย” ตั้งแต่ต้นเดือน และได้รับประทานอาหารฤทธิ์ร้อนเยอะ พิษกระจายกลายเป็น “ผื่น” มีอาการรุนแรง รู้สึกคันบริเวณขา พิษแพร่กระจายวิ่งขึ้นศีรษะ และใบหน้า รู้สึกคัน จึงได้แก้ไขด้วยวิธีการทำสวนล้างลำไส้ใหญ่ (ดีท็อกซ์) วันละ 3 ครั้ง แต่ไม่ดีขึ้น มีอาการแบบนี้มาเป็นเวลาประมาณ 1 เดือนแล้ว
เมื่อวานคนรอบข้างจึง “กัวซา” บริเวณแผ่นหลังให้ แล้วมีอาการเป็น “ผื่นแดง” ขึ้นเป็นบางจุด ห่างจากร่องกลางหลัง ประมาณ 20 เซนติเมตร ควรจะต้องรอ และเว้นระยะการกัวซาไปอีกกี่วัน? พยายามวางใจแต่เนื่องจากมีอาการต่อเนื่องมาเป็นเวลานาน จึงอยากเร่งระบายพิษออก แม้จะเคยเข้าอบรม แต่ไม่ได้ศึกษาละเอียดในเรื่องกัวซามากนัก จึงไม่เข้าใจและอยากสอบถามในรายละเอียดว่า “การกัวซาบริเวณรอยผื่นแดง จะต้องเว้นการทำกัวซาด้วยหรือไม่? และเมื่อใดจึงจะสามารถทำกัวซาซ้ำได้อีกครั้ง”
คำแนะนำจากจิตอาสาแพทย์วิถีธรรม :
-
-
- โดยปกติจะไม่แนะนำให้ขูดกัวซาตรง ๆ ลงไปบนบริเวณที่มี “แผล เม็ด ผื่น ฝี หนอง” แต่จะแนะนำให้ขูดกัวซาได้ “บริเวณที่เป็นจุดสะท้อน หรือด้านตรงข้าม”
- ไม่ต้องกังวลว่า จะต้องกัวซาหรือไม่? “การกัวซา” หากทำแล้ว “รู้สึกสบาย สามารถทำซ้ำได้ ถึงแม้จะยังมีรอยแดงอยู่บ้าง” เพียงเน้น “ตรวจดูความสบายของร่างกายเป็นหลัก” หากร่างกายเบาสบาย นั่นคือ “ดีและมีประโยชน์” ถ้ามีผื่นขึ้นมาอีก ให้ลองทำกัวซาดูก่อน แต่หากทำแล้วเจ็บ ผู้ป่วยสามารถใช้ยาเม็ดอื่นแทนได้ เพื่อที่จะเอาพิษออกจากร่างกาย เพราะ “วิธีถอนพิษมีหลายวิธี” เช่น ยาเม็ดที่ 3 คือ “สวนล้างลำไส้ใหญ่” (ดีท็อกซ์) หรือยาเม็ดที่ 4 คือ “แช่มือแช่เท้า” หรือจะเป็นยาเม็ดอื่นร่วมด้วยก็ได้ ที่ทำแล้ว “รู้สึกสบาย”
- ใช้ยาเม็ดที่ 8 คือ “ธรรมะ” เข้ามาช่วยในการลดความกังวลใจที่ทำให้เครียดจากอาการเหล่านี้ “การระบายพิษออกนั้น ถูกต้องแล้ว” เมื่อทำความเข้าใจได้ใน “เรื่องกรรมและผลของกรรม” และ “วางใจเป็นกลางได้ ทำใจไร้กังวลให้ได้ก่อน” จะสามารถมองได้อย่างชัดเจนว่า อาการป่วยจะหายเร็วก็ได้ หายช้าก็ได้ หายเมื่อไหร่ ก็เมื่อนั้น ทำไปเรื่อย ๆ เพื่อที่จะทำให้ความกังวลลดลง เพราะว่าบางครั้งก็เป็น “วิบากกรรม” ที่ทำให้แต่ละชีวิตจะต้องเผชิญอยู่กับอาการแบบนี้เป็นเวลานาน หากเชื่อใน “หลักของพุทธศาสนา คือ ศาสนาแห่งกรรม” เราทุกคนล้วนตั้งอาศัยและดำเนินอยู่ใน “กงกรรม” ไม่มีใครรู้ได้ว่า แต่ละชีวิตนั้นได้ทำอะไรมาบ้าง
-
สรุปเนื้อหาสาระในวันนี้ คือ คำถามสุขภาพอาจมีเพียง 2 คำถามเท่านั้น แสดงว่าพี่น้องที่เข้าร่วมรายการสายด่วน สุขภาพพึ่งตนวิถีธรรมวิถีไทยนั้น เริ่มหมดปัญหาในด้านสุขภาพแล้ว เพราะได้นำหลักการของศาสตร์แพทย์วิถีธรรมไปปฏิบัติ จนอาการป่วยหายไป แสดงว่า “ทุกท่านแข็งแรงกันแล้ว” แต่ก็ยังมีการเสวนาธรรมกัน ซึ่งเป็นหนึ่งในการดูแลสุขภาพทางด้านจิตใจ “บททบทวนธรรม คือ ปัญญาพาพ้นทุกข์ ที่สร้างจิตวิญญาณให้ผาสุกที่สุดในโลก เป็นคัมภีร์ชีวิตพาพ้นทุกข์ กลั่นออกมาจากพระไตรปิฎก โดย ดร.ใจเพชร กล้าจน (หมอเขียว)” ได้กลั่นออกมาเป็น “เพชรทางปัญญา” มากถึง 165 กะรัต ทำให้ผู้ที่ได้ทบทวนเป็นประจำ มีปัญญามากขึ้นทุกวัน มีญาณปริญญาแตกฉานในการทำลายทุกข์ เพิ่มความผาสุกในชีวิต ปัญหาทุกปัญหาจะคลี่คลายและเบาบางลง วันใดที่ทุกข์ก็สามารถทำลายความติดยึดในกิเลสที่ทุกข์ได้ คือ ปัญญาที่ใช้ในการพัฒนาจิตวิญญาณให้ดีงามและผาสุกที่สุดในโลก จึงเป็นสิ่งที่แต่ละชีวิตจะได้มีโอกาสเรียนรู้ และได้พัฒนาตนให้มีคุณค่าและผาสุกสืบไป
รายงานข่าวโดย :
สมหทัย สินก่อเกียรติ (หมวยหลิน) / ผู้บำเพ็ญคบคุ้น สวนป่านาบุญ 3