อธิศีลกับการรับประทานอาหารปรับสมดุลตามหลักการแพทย์วิถีธรรม (Higher Morality and the consumption of food to adjust balance according to the principles of Buddhist Medicine)
บทคัดย่อ
การวิจัยนี้เป็นงานวิจัยเชิงคุณภาพ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาวิธีการตั้งอธิศีลกับการรับประทานอาหารปรับสมดุลตาม
หลักการแพทย์วิถีธรรม การวิจัยนี้เป็นงานวิจัยเชิงคุณภาพ ใช้การสัมภาษณ์เชิงลึกรายบุคคล (In-depth Interview) และสนทนากลุ่ม โดยเลือกกลุ่มผู้ให้ข้อมูลหลักแบบเจาะจง ได้แก่ จิตอาสาแพทย์วิถีธรรมทั่วประเทศจำนวน 42 ท่าน และใช้การวิเคราะห์ข้อมูลด้วยการวิเคราะห์เนื้อหา (Content analysis)
ผลการศึกษาพบว่า การรับประทานอาหารกับการเจริญอธิศีลนั้นมีความเกี่ยวข้องกัน โดยเฉพาะการรับประทานอาหารปรับสมดุลตามหลักการแพทย์วิถีธรรม คือ การปฏิบัติธรรม รักษาศีลที่เป็นอริยศีล คือ ศีลที่ลดกิเลสได้ ไม่เบียดชีวิตผู้อื่น ชีวิตตนเอง ซึ่งเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดความเจ็บป่วยทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ จิตอาสาแพทย์วิถีธรรมหลายท่านเคร่งครัดในการตั้งศีล ตั้งตบะในการรับประทานอาหารปรับสมดุล หรืออาจกล่าวได้ว่าถ้าต้องการลดละเลิกอาหารรสจัด ต้องตั้งศีลมาปฏิบัติ โดยมีวิธีการลดละเลิก ไปเป็นลำดับ เริ่มจากสิ่งที่ง่ายเลิกได้โดยไม่ยากไม่ลำบากก่อน แล้วทำต่อไปตามลำดับ โดยยึดหลัก “ตั้งตนอยู่บนความลำบาก กุศลธรรมเจริญยิ่ง” (ลำบากในขีดที่เบิกบาน ไม่ทรมานจนเบิกบูด ไม่หย่อนยานจนย่ำแย่) ฝึกล้างชอบชังในสิ่งที่เป็นโทษภัยแรงที่สุด และสิ่งที่ดีที่มีความสำคัญน้อยที่สุดก่อน แล้วค่อยล้างชอบชังในสิ่งที่เป็นโทษภัยรองลงไป และสิ่งที่ดีที่สำคัญมากขึ้น เป็นลำดับ เราก็จะไม่กลัว ไม่ชั่ว ไม่ทุกข์ เป็นลำดับ ๆ มีแต่สุขแท้ ๆ และดีแท้ ๆ เท่านั้น ด้วยการตั้งศีลมาลดละเลิกสิ่งที่เป็นโทษต่อตนเองและผู้อื่น ทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่น ให้เหมาะสมกับฐานจิตของตน ไม่ตึงเครียด หรือหย่อนยานเกินไป ให้ลำบากในขีดที่เบิกบาน ใช้ปัญญาจับอาการและความคิดของกิเลสให้ได้ พิจารณาไตรลักษณ์ของกิเลส ความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่มีตัวตน) ว่าสุขปลอมจากเสพตามกิเลสนั้น ไม่เที่ยง ไม่มีตัวตนแท้ เกิดดับอย่างรวดเร็ว เก็บไม่ได้ ไม่มีสาระ นำความกลัว โรค และเรื่องร้ายทั้งมวลมาให้เราและผู้อื่นชั่วกัปชั่วกัลป์ พิจารณาซ้ำ ๆ จนกิเลสชอบชังสลายตายไปเป็นลำดับ ๆ
คำสำคัญ: อธิศีล, การรับประทานอาหารปรับสมดุล, การแพทย์วิถีธรรม
Abstract
This is qualitative research with the objective of studying methods of establishing Higher Morality (adhisila) and the consumption of food to adjust balance according to the principles of Buddhist medicine. Data were collected by in-depth interview and conversations in the seven states of non-deterioration. A core group was selected to give the main data who were 42 Buddhist Medicinal Volunteers from all over the country, and their data was analyzed with content analysis.
The study found that eating and attaining Higher Morality were correlated, in particular the setting of morality to consume food to adjust balance according to the principles of Buddhist medicine. That is, the ethics of reducing defilements (klesa) and not affecting the lives of themselves or others, which are a fundamental cause of physical and mental illness. The Buddhist Medicinal Volunteers set morality in consuming food to adjust balance, or reduced and abstained from food with pungent taste, or food not in balance with their physical condition. The methods of reduction and abstaining were in a series, starting from things easy to abstain, things with the most potently dangerous effects, and good things which were the least important. Then they gradually wash away likes and hatreds concerning the next most hazardous thing and the next most important thing and continue in that order to be appropriate for their mental basis, and not be too tense or too relaxed, to be difficult in the limit of happiness. They used their intellect to catch symptoms and ideas of the defilements of likes and hatreds in the taste of food. They considered the Tilakkana of the defilements in food (impermanence, suffering and lack of self). False happiness from consumption led by the defilements was impermanent and lacking self. It arose and was extinguished quickly, could not be stored, lacked substance and led to disease and other bad things to ourselves and others over aeons. These thoughts were repeatedly considered until the defilements of likes and hatreds in food gradually disappeared.In conclusion, the individuals setting morality in the consumption of food to adjust balance according to the principles of Buddhist medicine had mindfulness and intellect in choosing to consume more food. When there was a violation of this morality there was a warning in their thoughts with the effect of less physical illness, and more feelings of comfort, lightness and energy, a better mind and a happier mind.
Keywords: Higher Morality, Food to adjust balance, Buddhist Medicine
บทนำ
พฤติกรรมการบริโภคอาหารตามกิเลสความโลภ โกรธ หลง ความยึดมั่นถือมั่น มักทำให้การประมาณการบริโภคผิดพลาด มักได้รับสารอาหารขาดหรือเกินความต้องการของร่างกายเสมอ ซึ่งก่อให้เกิดภาวะเสี่ยงต่อสุขภาพกายและใจอย่างยากที่จะแก้คืนได้ เนื่องจากอาหารที่นิยมบริโภคมักเป็นอาหารที่อร่อยถูกปาก สีสันหลากหลาย การผลิตและบริโภคจึงจำเป็นต้องมีการปรุงแต่งด้วยสารเคมีต่าง ๆ มากมาย หรือแม้แต่อาหารธรรมชาติที่ได้จากพืชผักผลไม้ก็อาจจะปนเปื้อนด้วยสารเคมีประเภทต่าง ๆ ซึ่งเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค จะเห็นว่าสาเหตุการเจ็บป่วยและการตายของมนุษยชาติได้เปลี่ยนไปจากเดิม ในอดีตสาเหตุการตายมาจากโรคติดเชื้อที่แพร่ระบาด ปัจจุบันนี้สาเหตุการตายส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากพฤติกรรมการกินอยู่และการใช้ชีวิตตามความต้องการของกิเลสความโลภ โกรธ หลง ความยึดมั่นถือมั่นของตนเอง คนเริ่มป่วยเรื้อรังตั้งแต่อายุยังน้อย และขณะนี้ประเทศไทยก็กำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ เราก็คงจะมองเห็นภาพแนวโน้มความเจ็บป่วยของประชากรที่น่าจะเกิดขึ้นในอนาคต ทั้งผู้ที่อายุน้อยและผู้สูงอายุที่ไม่ได้เรียนรู้เรื่องการลดกิเลสความโลภ โกรธ หลง ความยึดมั่นถือมั่น ยิ่งอายุมากขึ้นก็ยิ่งมีความเสี่ยงที่จะเจ็บป่วยรุนแรงมากขึ้น โรคของประชากรส่วนใหญ่เป็นโรคเรื้อรังที่ต้องการซึ่งการดูแลระยะยาว เช่น โรคเบาหวาน โรคความจำเสื่อม อัมพฤกษ์ อัมพาตการรักษาต่อเนื่องของผู้ป่วยเหล่านี้จะเพิ่มภาระในการดูแลรักษาให้กับสังคมไทยในอนาคตอย่างมากมายมหาศาล (สถาบันวิจัยประชากรและสังคม. 2555 : 14)
และมีประชากรอีกกลุ่มหนึ่งที่รักการดูแลสุขภาพ โดยไม่รอให้เจ็บป่วยก่อนแล้วค่อยรักษา เริ่มศึกษาหาความรู้และได้มี
การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคอาหารอย่างรู้เท่าทันโทษของกิเลส หันมารับประทานอาหารที่ถือเอาประโยชน์ต่อร่างกายและจิตใจเป็นหลัก เน้นผัก ธัญพืช และผลไม้ ไม่ทานเนื้อสัตว์ทุกชนิด เพื่อป้องกันและรักษาโรคด้วยการรับประทานอาหารมังสวิรัติ จากการสำรวจพบว่า ประชากรไทยอายุ 15 ปีขึ้นไปร้อยละ 0.6 กินอาหารมังสวิรัติเป็นประจำ และร้อยละ 14.9 กินเป็นครั้งคราว ความชุกของการกินอาหารมังสวิรัติสูงสุดอยู่ในกลุ่มอายุระหว่าง 45-59 ปี (วิชัย เอกพลากร. 2557 : 103)
การต่อยอดการรับประทานอาหารมังสวิรัติให้ได้ประโยชน์สูงสุด โดยการปรับสูตรอาหารให้เป็นอาหารปรับสมดุลตามหลักการแพทย์วิถีธรรม เพื่อช่วยให้ผู้ที่ป่วยและยังไม่ป่วยสามารถปรับสมดุลร่างกายให้เข้าสู่ภาวะปกติมากยิ่งขึ้น ร่วมกับการปรับสมดุลด้วยยา 9 เม็ด พบว่า ร้อยละ 90 ของผู้ที่มาเข้าค่ายแพทย์วิถีธรรมส่วนใหญ่มีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมสุขภาพไปในทางบวกมากขึ้น และปัญหาความเจ็บป่วยด้านจิตใจ เศรษฐกิจ และสังคมลดน้อยลง ผู้ป่วยด้วยโรคที่แพทย์แผนปัจจุบันพยากรณ์โรคว่าไม่หาย หรืออาการเจ็บป่วยธรรมดาที่ไม่ร้ายแรงก็สามารถหายหรือทุเลาได้ ด้วยการใช้วิธีการตามหลักแพทย์ทางเลือกวิถีพุทธ แม้ผู้ป่วยระยะสุดท้าย วิธีการนี้ก็ช่วยลดความทุกข์ทรมานและเสียชีวิตด้วยความสงบ (ใจเพชร กล้าจน. 2561, กรกฎาคม 22)
สำหรับท่านที่ต้องการหายจากโรคหรือผู้ที่ปรารถนาสุขภาพที่แข็งแรงย่อมสามารถฝึกฝนเรียนรู้และปฏิบัติตามหลักการแพทย์วิถีธรรมได้อย่างไม่ยากเย็นนัก แต่สำหรับผู้ที่ปรารถนาความผาสุกในชีวิตอย่างยั่งยืน พ้นทุกข์จากกิเลสโลภ โกรธ หลง ความยึดมั่นถือมั่น พ้นจากการเวียนเกิดเวียนตาย เดินตามรอยบาทพระศาสดาองค์สัมมาสัมพุทธเจ้าเพื่อพบพระนิพพาน คงต้องศึกษาพระธรรมคำสอนของท่านให้แตกฉาน แล้วพากเพียรล้างกิเลสให้สิ้นเกลี้ยง ดังที่ท่านอาจารย์หมอเขียว ดร.ใจเพชร กล้าจน ได้นำพาเหล่าจิตอาสาแพทย์วิถีธรรมเรียนรู้และฝึกฝนจนได้มรรคผลไปตามลำดับ ผู้วิจัยจึงมีความสนใจที่จะศึกษาว่า วิธีการตั้งอธิศีลกับการรับประทานอาหารปรับสมดุลตามหลักการแพทย์วิถีธรรม เพื่อการศึกษาเรียนรู้ร่วมกันเป็นองค์ความรู้แก่มวลมนุษยชาติต่อไป
วัตถุประสงค์การวิจัย
การวิจัยครั้งนี้ เพื่อศึกษาวิธีการตั้งอธิศีลกับการรับประทานอาหารปรับสมดุลตามหลักการแพทย์วิถีธรรม
วิธีการวิจัย
กำหนดผู้ให้ข้อมูลหลัก ผู้วิจัยใช้การสัมภาษณ์เชิงลึก (In-depth Interview) ลงภาคสนามทำการสัมภาษณ์ด้วยวิธีสัมภาษณ์เชิงลึกเป็นรายบุคคล และการสนทนากลุ่มแบบอปริหานิยธรรม ใช้เวลาประมาณ 7 ชั่วโมง
การสนทนากลุ่มแบบอปริหานิยธรรม หมายถึง การสนทนาในหมู่ผู้ปฏิบัติธรรม ในการสนทนานั้น จะมีเรื่องการล้างกิเลส
(งานใน) และการปรึกษาหารือเกี่ยวกับกิจกรรมการงาน (งานนอก) ซึ่งพระพุทธเจ้าตรัสว่า อปริหานิยธรรม เป็นธรรมที่พาเจริญอย่างเดียว ไม่มีเสื่อม (พระไตรปิฎกเล่ม 10 “มหาปรินิพพานสูตร” ข้อ 71) โดยลักษณะของการสนทนานั้น ทุกท่านจะฝึกฝนโดยใช้หลักการคิดดี พูดดี ทำดี เสนอดี สลายอัตตา (วางความคิดดีของตัวเอง) สามัคคี (ทำตามมติหมู่) ซึ่งจะทำให้เกิดความผาสุกการอยู่ร่วมกัน หัวข้อในการสนทนาครั้งนี้ คือการรับประทานอาหารปรับสมดุล หรืออาหารที่ไม่เบียดเบียน
ประชากรและกลุ่มตัวอย่าง
ผู้วิจัยเลือกกลุ่มผู้ให้ข้อมูลหลักจากประชากร คือ จิตอาสาแพทย์วิถีธรรมทั่วประเทศ จำนวน 500 ท่าน โดยจิตอาสาแพทย์วิถีธรรมที่เป็นผู้ให้ข้อมูลหลักนั้น จะต้องเป็นจิตอาสาแพทย์วิถีธรรมมาแล้วมากกว่า 1 ปี ซึ่งประกอบด้วยจิตอาสาประจำและจิตอาสาจร ที่สามารถจัดสรรเวลามาให้ข้อมูลได้ในช่วงเวลาที่ทำวิจัย (แบบเจาะจง) จำนวน 42 ท่าน จิตอาสาประจำ คือ ผู้ที่ปวารณาตนเองมาเป็นจิตอาสาประจำ ทำงานฟรี ไม่มีเงินเดือน พากเพียรลดกิเลสตัวเองและช่วยเหลือผู้อื่นโดยผ่านการฝึกและรับรองว่าเป็นจิตอาสาประจำจากหมู่กลุ่มแพทย์วิถีธรรมรวมมากกว่า 2 ปีขึ้นไป จิตอาสาจร คือ ผู้ที่ปวารณาตนเองมาเป็นจิตอาสาจร ทำงานฟรี ไม่มีเงินเดือน พากเพียรลดกิเลสตัวเองและช่วยเหลือผู้อื่น โดยผ่านการฝึกและรับรองว่าเป็นจิตอาสาจรจากหมู่กลุ่มแพทย์วิถีธรรมมาแล้วไม่เกิน 2 ปี หรือเกิน 2 ปีขึ้นไปแต่ยังไม่ประสงค์ที่จะเป็นจิตอาสาประจำ
เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย
การสร้างเครื่องมือในการวิจัยครั้งนี้ ใช้แบบสัมภาษณ์ (Interview) โดยได้ทำการศึกษาค้นคว้ารวบรวมข้อมูลจากแหล่งข้อมูลต่าง ๆ ที่มีผู้จัดทำ หรือรวบรวมไว้แล้ว ได้แก่ ตำรา เอกสาร บทความ ทฤษฎี หลักการ และงานวิจัยต่าง ๆ งานวิทยานิพนธ์ วารสาร ตลอดจนปรึกษาอาจารย์ที่ปรึกษา ผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างเครื่องมือแบบสัมภาษณ์ ในการวิจัยให้มี
ความครอบคลุมตามวัตถุประสงค์ของการวิจัย
การวิเคราะห์ข้อมูล
นำข้อมูลการสัมภาษณ์มาวิเคราะห์ข้อมูลด้วยการวิเคราะห์เนื้อหา (Content analysis) ตามวิธีการเชิงคุณภาพ (ชาย โพธิสิตา, 2552) ผู้ให้สัมภาษณ์หลักในงานวิจัยครั้งนี้มี 42 ท่าน เป็นเพศชาย 8 ท่านและเป็นเพศหญิง 34 ท่าน มีอายุต่ำสุด 27 ปี อายุสูงสุด 66 ปี อายุค่าเฉลี่ย 49.50 ปี พบว่า
การรับประทานอาหารกับการเจริญอธิศีลนั้นมีความเกี่ยวข้องกัน โดยเฉพาะการรับประทานอาหารปรับสมดุลตามหลักการแพทย์วิถีธรรม คือ การปฏิบัติธรรม รักษาศีลที่เป็นอาริยศีล ศีลที่ลดกิเลสได้ ไม่เบียดเบียนชีวิตผู้อื่น ชีวิตตนเอง ซึ่งเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดอาการไม่สบายทางด้านร่างกายและจิตใจ เพราะพระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่าการเบียดเบียนทำให้มีโรคมากและอายุสั้น จิตอาสาแพทย์วิถีธรรมหลายท่านเคร่งครัดในการตั้งศีลตั้งตบะในการรับประทานอาหารปรับสมดุล บางท่านบอกว่าไม่อยากผิดศีลที่ตั้งไว้ การตั้งอธิศีลขึ้นมาเพื่อฝึกลดละเลิกกิเลสกามและอัตตาในอาหารไปด้วย เป็นการรับประทานอาหารเพื่อการบรรลุธรรมได้เร็วที่สุดและสูงสุด ไปตามลำดับ ๆ ที่ทำได้ดีที่สุด จิตอาสาทุกท่านมีความตั้งใจจริงที่จะรับประทานอาหารสูตรนี้ให้ได้ตลอดชีวิต แต่ไม่ยึดมั่นถือมั่นหากหาอาหารสูตรนี้ไม่ได้ เรียนรู้พร้อมปรับ พร้อมเปลี่ยน สามารถประยุกต์ให้เหมาะสมกับทุกสถานการณ์ใน
การที่จะรับประทานอาหารสูตรปรับสมดุลจากความเห็นของผู้ให้สัมภาษณ์ของท่านที่ 32 ว่า “ตั้งศีลมาลดละเป็นลำดับ จากสิ่งที่ง่ายเลิกได้โดยไม่ยากไม่ลำบากก่อน เช่น กาแฟ เนื้อสัตว์ ขนมเค้ก ขนมปัง พร้อม ๆ ไปกับการตั้งศีลฝึกรับประทานอาหารมื้อเดียว และไม่รับประทานอาหารมากเกินความจำเป็น ไม่กลัวหิว และให้ความสำคัญกับคำว่า พฤติกรรมที่ดีกว่านี้ยังมีอีก ทำได้มาก ก็ลดกิเลสได้มาก”
จะเห็นได้ว่าเมื่อเรามีความบริสุทธิ์ใจในการปฏิบัติอธิศีล ศีลย่อมคุ้มครองเรา ท่านจึงมีปัญญาที่จะไม่ทำตามกิเลส โดยท่านที่ 6 บอกกับกิเลสความอยากกินอาหารรสจัด และเนื้อสัตว์ว่า “ก็วันนี้ตั้งศีลไว้แล้ว ไปกินก็จะเกิดอาการไม่สบาย พรุ่งนี้ค่อยกิน ไม่ตายหรอก” มีบางครั้งที่ท่านตั้งศีลแล้วปฏิบัติตามไม่ได้ แพ้กิเลส แต่ก็ไม่ท้อใจเพราะการแพ้ก็ทำให้ได้ปัญญา ได้ประสบการณ์เพื่อใช้ในการต่อสู้ในครั้งต่อไปเมื่อเกิดความอยากกินเนื้อสัตว์ว่า บางท่านก็บอกกับกิเลสความอยากว่า “แค่ทานผิดสมดุลก็ต้องเสียเวลามาถอนพิษตั้งหลายวัน จะให้ผิดศีลมากไปกว่านี้ ไม่ไหวละ เหนื่อยแล้ว จะไปทำเรื่องที่เป็นประโยชน์ก็ไม่ได้ไป ต้องมาเสียเวลาถอนพิษออกจากร่างกายอยู่อย่างนี้ เพราะความโง่ของเราเอง ถ้าเชื่อกิเลสแล้วเมื่อไหร่จะจบจะสิ้นล่ะ พอแล้ว พอแล้ว อย่าโง่มากกว่านี้เลย เหนื่อยกับการทำเรื่องที่มีประโยชน์ ดีกว่าเหนื่อยกับความโง่ไม่รู้จักจบจักสิ้น พอแล้ว พอแล้ว”
กรณีของท่านที่ 27 ท่านเล่าว่า“มีครั้งหนึ่งในช่วงแรก ๆ ที่ฝึกกินอาหารปรับสมดุล เนื่องจากท่านยังติดการปรุงรสอาหารด้วยซีอิ๊ว แต่เห็นโทษทางร่างกายทุกครั้งที่กิน กินน้อยก็ป่วยน้อย กินติดต่อกันหลายวันก็ปวดบวมเมื่อยเนื้อตัวมากขึ้น ๆ ตอนนั้นจึงตั้งศีลว่า วันนี้จะกินแต่กับข้าวที่ปรุงด้วยเกลืออย่างเดียวเท่านั้น ปรากฏว่า กิเลสดิ้นมาก มันบอกว่าไม่อร่อยเลย อยากจะไปหยิบซีอิ๊วมาใส่มาก ๆ เลย แต่ พอเราตั้งศีลไว้ อานุภาพของศีลจะทำให้มีสติและปัญญา มีสิ่งมาบอกมาเตือนให้ได้คิด และโต้ตอบกิเลสว่า ไม่ได้หรอกกิเลส เราตั้งศีลว่าวันนี้เราจะไม่ใช้ซีอิ๊ว กิเลสที่กำลังต้องการเต็มที่ก็อ่อนแรงลงนิดหนึ่ง เหมือนโดนเบรคเอี๊ยด ความอยากก็ลดลง หยุดความต้องการไปได้พอสมควร แต่พอนั่งกินต่อไปอีก กิเลสที่ยังตายไม่สนิทเพราะเรายังไม่ได้สลายมันให้หมด มันก็กลับมาเขย่าเราอีก กิเลสบอกว่าใส่ซีอิ๊วเถอะ ๆ เราก็เริ่มหวั่นไหวตามกิเลสมากขึ้น ๆ แต่ด้วยมีสติเข้มแข็ง จึงสามารถพิจารณาโทษของซีอิ๊วว่าทำให้เราบวม ทำให้เราอ้วน ทำให้ปวดเมื่อย ขณะที่พิจารณาไปก็กินสูตรเกลือไปเรื่อย ๆ กิเลสมันก็ฟังเราอยู่นะ ไม่ว่าเราจะให้เหตุผลว่าอะไรมันก็จำนนเพราะเป็นเรื่องจริงที่เกิดกับเรามาตลอด แต่มันก็ยังบอกเรากลับมาว่าไม่อร่อย ไม่อร่อย ไม่อร่อย ๆ นะ ไปเอาซีอิ๊วมาใส่เถอะ ๆ มันเริ่มดิ้นมากขึ้นค่ะ กิเลสเริ่มไม่ยอม ขาเราก็เริ่มจะขยับ ๆ จะลุกขึ้นอยู่แล้ว ค่ะ แต่พอเรานึกถึงหมู่กลุ่ม นึกถึงอาจารย์ว่าท่านก็ต้องอดทนต่อสู้เหมือนเรานี่แหละ กิเลสมันอ่อนแรงลงมากเลยค่ะ พลังของหมู่มิตรดีมีฤทธิ์จริง ๆ ค่ะ เรารู้เลยว่า วันนี้เป็นวันที่เราจะต้องชนะกิเลสอย่างแน่นอน เราจะรู้ในใจเลยว่าเราอยู่เหนือกว่ามันแล้ว เพราะกำลังของกิเลสอ่อนลงมาก รู้เลยว่ามันสู้เราไม่ได้แน่ ๆ ก็เลยยิงหมัดวิปัสสนาสุดท้ายออกไปบอกกิเลสว่า อาหารปรับสมดุลก็ไม่อร่อยอย่างนี้แหละ แต่ดีต่อสุขภาพนะฉะนั้น กินเถอะ ๆ อาจารย์หมอเขียวสอนว่า ความอยากไม่เที่ยง ความอยากเป็นทุกข์ความอยากจะนำวิบากร้ายมาให้อย่างเจ็บแสบ ความอยากจะเหนี่ยวนำให้ผู้อื่นทำตามมากขึ้น มากขึ้น ๆ แล้ววิบากร้ายที่พวกเขาจะได้รับนั้นก็จะเป็นของเราด้วย พิจารณามาถึงตรงนี้กิเลสมันยอมค่ะ ไม่เอาซีอิ๊วก็ได้ ๆ กินแบบนี้ก็ได้ จากนั้นเราก็ตั้งใจกินอาหารปรับสมดุลที่ปรุงด้วยเกลืออย่างเป็นสุข และไม่มีอาการร้อนรนดิ้นเดือดที่จะไปหยิบซีอิ๊วมาใส่ในจานอีกค่ะ”
นอกจากนั้นท่านที่ 2 กล่าวว่าท่านใช้วิธีการตั้งศีลมาปฏิบัติ คือ “จะไม่เบียดเบียน เมื่อตอนติดกิเลสชอบกินขนมจีน ซึ่งเป็นอาหารสมดุลของกิเลส วันหนึ่งเมื่อเห็นขนมจีน มารตัวเบียดเบียนก็โผล่มาให้เราจับอาการได้ดังนี้
มาร: เฮ้ย ! ขนมจีนของชอบ กิน ๆ
เรา: มารอยากกินหรือ ลองเอาขนมจีนมาอมไว้สัก 1 ชั่วโมง แบบไม่ต้องกลืนเอามั้ย
มาร: เฮ้ย ! บ้าเรอะ เอามาอมไว้มันก็พองอะดิ ทั้งพองทั้งเผ็ดทั้งเค็ม ปากบานพอดี ใครเขาจะทำ
เรา: เอ้า ก็เธออยากกิน จะได้รู้ไงว่ามันอร่อยไหม ที่เธอชอบเนี่ย แหมพอมันพอง มันอืดก็ไม่ชอบซะงั้น แน่จริงทำเลย เธอรู้ไหม เวลาเธออยากกินขนมจีนเนี่ยมันทำให้คนอื่นเขาอยากกินตาม ไอ้ตัวขนมจีนมันทำร้าย มันเป็นพิษต่อเราไม่เท่าไหร่หรอกว่ะ แต่อาการอยากขนมจีนเนี่ย..ทำร้ายทั้งตัวเองและผู้อื่นรู้ไหม กี่ชาติจึงจะเอาออก ห๊ะ!!!! กินครั้งหนึ่ง ขนาดพิษจากขนมจีนเนี่ยบางทีเมื่อยไปตั้ง7 วัน นี่ขนาดวัตถุนะโว้ย แต่พิษจากอาการอยากของแกเนี่ย…7 วันไม่หมดนะโว้ย 7 ชาติ กว่าจะหมดเผลอ ๆ ไม่ได้เจอผู้รู้ ติดไปตลอดชั่วกัปชั่วกัลป์เลย เข้าใจไม๊
มาร: ก็มันอร่อยนี่ ให้กินแบบนี้ไม่อ่ะ ไม่อร่อยอะดิ
เรา: มารเอ้ย..อร่อยมากี่ชาติแล้ว อร่อยจนจะตายอยู่แล้ว อร่อยมีจริงไหมพอปวดเมื่อย ๆ แกก็ไม่รับผิดชอบ แกหนีไปตั้งแต่กินยังไม่หมดจาน แกนี่ชาติชั่ว ไร้สาระ ทำแต่เรื่องสารเลว อาหารที่อาจารย์พาทาน แกเองก็รู้ว่ากินแล้วสบาย กินแล้วไม่เบียดเบียนตัวเองและผู้อื่น จะสร้างหนี้สินไปถึงไหนกัน พอแกสร้างหนี้ไว้ คนที่ใช้หนี้..คือฉัน ทั้งต้นทั้งดอก แกยกให้ฉัน..มันเหนี่อยนะโว้ย…พอป่วยเธอก็ไม่รับ เปิดตูดไปอีก ไอ้คนไม่รับผิดชอบ ไอ้คนเห็นแก่ตัว
มาร: แฮ่ แฮ่ ๆ จริงด้วย ก็กินแล้วเมื่อยก็บ่นมั่งแหละ
เรา: แล้วสุขตรงไหน หึ!!!!!
มาร: ตอนกินแป๊ปเดียวเอง
เรา: นั่นไงแกอยากได้สุข แกอยากหมดหนี้ แต่แกดันทำทุกข์ สร้างหนี้ มันจะหมดทุกข์หมดหนี้ไม๊ ..ห๊ะ!!! บ้าเรอะ!!!! ถ้ากินขนมจีนแล้วบรรลุธรรม พ้นทุกข์ป่านนี้พ้นทุกข์ไปนานแล้วโว้ย แล้วนี่ กินมากี่เข่งแล้ว มีแต่เพิ่มทุกข์เพิ่มโรค เพิ่มหนี้ ..จะเอาอีกมั้ย….
มาร: ฮุ้ย!!! อะไรกันแค่ขนมจีนเนี่ย มันร้ายขนาดนี้เลยเหรอ
เรา: ไม่ใช่แค่ขนมจีน แต่อาการที่แกชอบขนมจีนเนี่ย ร้ายที่สุด เหม็นที่สุด ทุกข์ที่สุด มาร: ตกลง..เข้าใจแล้ว เออจริงด้วย มันสุขแวปเดียวแล้วก็หมดไป ถ้าให้ไปอมขนมจีนไว้ 1 ชั่วโมง โอ้ยนึกแล้วจะอ๊วก มาเอาสุขยั่งยืน ดีกว่า อาหารปรับสมดุลกินแล้วเบาตัว แรงเต็ม สบาย ๆ ไม่ต้องเพิ่มหนี้ด้วย เย้ เย้ ๆได้ ได้ ๆ
เมื่อกิเลสตัวชอบขนมจีนตาย เราก็ไม่มีอาการชอบชังในขนมจีนอีก เราและขนมจีนมากระแทกเท่าไหร่ ๆ เราก็ผาสุก กินก็ได้ไม่กินก็ได้ พอเราตัดสิ่งที่เป็นพิษ (ทั้งวัตถุและกิเลส) ด้วยจิตที่เป็นสุข เปลี่ยนมารมาเป็นมวลได้ เราก็ไม่ต้องไปเสียพลังให้กับมาร (ไม่มีอาการดิ้นรนอยากกิน) แต่ได้มารมาเป็นมวล ได้พลังกลับมาเลี้ยงชีวิตเราเต็ม ๆ ไม่ต้องเพิ่มกิเลส ไม่ต้องเพิ่มพิษเข้าร่างกาย เราก็ผาสุกทั้งกายและใจ เราก็อาศัยอาหารปรับสมดุลเป็นหลักแบบยั่งยืนได้ เพราะไม่มีมารมาคอยป่วน ที่เหลือคือจิตแท้ ๆ จิตที่บริสุทธิ์ของเรานั่นเอง จะเห็นกรรมและผลของกรรมอย่างแจ่มแจ้งว่า การเสพนำทุกข์มาให้อย่างไร
การไม่เสพเกิดความผาสุกอย่างไร เกิดปัญญาขึ้นเป็นลำดับ ๆ ก็จะเป็นปัจจัยให้เราทานอาหารปรับสมดุลได้แบบยั่งยืน เพราะเราชัดในผลจริง ๆ”
สรุปและอภิปรายผล
จากการวิจัยพบว่า บุคคลผู้ปฏิบัติศีลในเรื่องการรับประทานอาหารปรับสมดุล ย่อมได้พบกับความผาสุกทั้งทางด้านร่างกาย ได้รับประโยชน์ในชีวิต ไม่เบียดเบียนตัวเอง คนอื่น และสัตว์อื่น และสูงสุดคือ ได้พัฒนาจิตวิญญาณให้สูงขึ้น พ้นจากกิเลสโลภ โกรธ หลง ความยึดมั่นถือมั่น ขึ้นมาเป็นลำดับ สอดคล้องกับ สิ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ คือ สิ่งที่เป็นประโยชน์ที่สุดต่อมนุษยชาติ ท่านตรัสรู้วิชาพฤติกรรมศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก คือ ได้เรียนรู้ความจริงว่า พฤติกรรมทางกายหรือทางวาจา หรือทางใจ สร้างผลทุกสิ่งทุกอย่างให้กับชีวิต ซึ่งเป็นเรื่องมหัศจรรย์มาก และท่านยังตรัสว่าเขาจะสร้างผลในภพชาติปัจจุบันที่ทำพฤติกรรมนั้นส่วนหนึ่งและในภพชาติอื่น ๆ ต่อไปอีกส่วนหนึ่ง (พระไตรปิฎกเล่มที่ 4 ข้อที่ 1)
นอกจากนั้นท่านยังยืนยันว่าท่านทรงค้นพ้นสิ่งที่ทรงคุณค่าอย่างยิ่งนี้ โดยท่านได้ศึกษาความจริงมาอย่างยาวนานบางตำราบอกว่า 4 องสงไขย กับเศษแสนกัป แต่บางตำราบอกว่า 20 อสงไขยกับเศษแสนกัป (หมายความว่า นับล้าน ๆ ปีไม่ถ้วน) ท่านจึงรู้ความจริงหมดทั้งมหาจักรวาลนี้ และท่านตรัสว่าคำตรัสของท่านเป็นจริงตลอดกาล ไม่มีผู้ใดลบล้างได้ เอหิปัสสิโก เชื้อเชิญให้มาพิสูจน์กันได้ อกาลิโกเป็นจริงตลอดกาล และท่านตรัสว่าคำตรัสทุกคำของท่านเป็นไปเพื่อความพ้นทุกข์ทั้งหมด (ใบไม้กำมือเดียว) เพราะฉะนั้นทุกคำที่ท่านสอนนั้นจะเป็นปัญญาที่จะนำไปฆ่าทุกข์ ฆ่ากิเลสได้ทั้งหมด ดังนั้นถ้าผู้ใดได้ศึกษาและได้พิสูจน์ตามคำตรัสของพระพุทธเจ้าแต่ละประโยค แต่ละคำอย่างแจ่มแจ้งจะสามารถพ้นทุกข์ได้ เกิดความผาสุกที่แท้จริงได้
พระไตรปิฎกเล่มที่ 20 ข้อที่ [167-178] ท่านยืนยันได้ว่า ข้อที่วิบากอันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจแห่งกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริตจะพึงเกิดขึ้นนั้น มิใช่ฐานะ มิใช่โอกาสที่จะมีได้ แต่ข้อที่วิบากอันไม่น่าปรารถนา ไม่น่าใคร่ ไม่น่าพอใจ แห่งกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริตจะพึงเกิดขึ้นนั้น เป็นฐานะที่จะมีได้ ฯ
หมายความว่า พฤติกรรมทางกาย หรือวาจา หรือใจที่ทุจริตหรือผิดศีล เป็นไปไม่ได้ที่จะเกิดสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อชีวิต แต่จะเกิดสิ่งที่เป็นโทษ เดือดร้อน เลวร้าย ทุกข์ทรมานเท่านั้น และข้อที่วิบากอันไม่น่าปรารถนา ไม่น่าใคร่ไม่น่าพอใจแห่งกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต จะพึงเกิดขึ้นนั้น มิใช่ฐานะ มิใช่โอกาสที่จะมีได้ แต่ข้อที่วิบากอันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ แห่งวจีสุจริตจะพึงเกิดขึ้นนั้น เป็นฐานะที่จะมีได้ ฯ
หมายถึง พระพุทธเจ้าทรงยืนยันว่า เมื่อพฤติกรรมทางกาย หรือวาจา หรือใจที่สุจริตหรือถูกศีล เป็นไปไม่ได้ที่จะเกิดเรื่องเลวร้ายในชีวิต แต่ตรงกันข้ามเมื่อพฤติกรรมทางกาย หรือวาจา หรือใจที่สุจริตหรือถูกศีลจะเกิดแต่วิบาก (พลังที่สร้างผล) หรือสิ่งอันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ และเป็นประโยชน์สุขต่อชีวิตเท่านั้น และเมื่อถึงวาระสุดท้ายของชีวิต บุคคลผู้มีความเพรียบพร้อมด้วยกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริตเมื่อแตกกายตายไป พึงเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ เพราะความเพียบพร้อมด้วยกายทุจริต วจีทุจริตมโนทุจริต เป็นเหตุ เป็นปัจจัยนั้น มิใช่ฐานะ มิใช่โอกาสที่จะมีได้ แต่บุคคลผู้เพรียบพร้อมด้วยกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต เมื่อแตกกายตายไปพึงเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก เพราะความเพียบพร้อมด้วยกายทุจริตวจีทุจริต มโนทุจริตเป็นเหตุเป็นปัจจัยนั้นเป็นฐานะที่จะมีได้ ฯ ในกรณีที่บุคคลผู้มีความเพียบพร้อมด้วย กายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริตเมื่อแตกกายตายไป พึงเข้าถึงอบายทุคติ วินิบาต นรก เพราะความเพียบพร้อมด้วยกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริตเป็นเหตุ เป็นปัจจัยนั้น มิใช่ฐานะ มิใช่โอกาสที่จะมีได้ ดูกรภิกษุทั้งหลายแต่ข้อที่บุคคลผู้เพรียบพร้อมด้วยวจีสุจริต เมื่อแตกกายตายไป พึงเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ เพราะความเพรียบพร้อมด้วยกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริตเป็นเหตุ เป็นปัจจัยนั้นเป็นฐานะที่จะมีได้ ฯ หมายถึง พระพุทธเจ้าทรงฟันธงว่า บุคคลผู้ที่มีพฤติกรรมผิดศีลทางกาย หรือวาจา หรือใจเมื่อแตกกาย ตายไปจะพึงเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ มิใช่ฐานะ มิใช่โอกาสที่จะมีได้ แต่ตรงกันข้าม บุคคลผู้เพียบพร้อมด้วย กายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต เมื่อแตกกายตายไปจะพึงเข้าถึงอบาย (ความพินาศฉิบหาย) ทุคติ (ไปชั่ว) วินิบาต (ตกต่ำทรมาน) นรก (เดือดร้อนใจ) เพราะความเพรียบพร้อมด้วยกาย วาจา ใจที่ทุจริตหรือผิดศีลเท่านั้นเป็นเหตุ เป็นปัจจัย เป็นฐานะที่จะมีได้
เมื่อใดก็ตามที่ชีวิตเราได้รับวิบาก (พลังที่สร้างผล) อันไม่น่าปรารถนา ไม่น่าใคร่ ไม่น่าพอใจนั้น เรารู้ได้เลยว่าสิ่งนั้นเกิดจากการกระทำของเราอย่างแน่นอน คือ เราทำมาแน่ ๆ ถ้าไม่ได้ทำในปัจจุบันก็แสดงว่าเราทำมาในอดีตทั้งในชาตินี้และชาติก่อน ๆ ท่านที่มีปัญญาจะสามารถตรวจสอบได้ว่าเป็นอย่างนั้นจริงหรือไม่อย่างไร ท่านสามารถพิสูจน์ หรือตรวจสอบด้วยการหาความสัมพันธ์ได้ แต่วิธีการหนึ่งที่สามารถตรวจสอบที่ได้แม่นยำ
ที่สุดคือ การตั้งศีลมาปฏิบัติ (ใจเพชร กล้าจน. 2561 : 2) ซึ่ง มี 2 วิธีคือ
- เมื่อตั้งศีลแล้วเราทำตามนั้นจะเกิดเรื่องดีอย่างเร็ว ไม่ทำตามนั้นจะเกิดเรื่องร้ายอย่างเร็ว
- เมื่อเกิดเรื่องร้าย ให้เราสำนึกผิด (ญาณ 7 พระโสดาบันข้อที่ 4) สารภาพผิด ขอรับโทษ ตั้งจิตหยุดสิ่งที่ไม่ดี ตั้งจิตทำสิ่งที่ดี ถ้าทำอย่างนั้นแล้วเรื่องร้าย ๆ ลดลง แสดงว่าทำได้ถูกต้องแล้ว ซึ่งถ้าทำได้ถูกเรื่องร้าย ๆ
จะเบาลงวินาทีนั้นเลย ใจก็เป็นสุขทันทีเลย และถ้าต้องการพิสูจน์อีกว่าถ้าไม่สำนึกจะเป็นอย่างไร ก็สามารถทดลองได้ ไม่สำนึกผิด ยังโทษผู้อื่นอยู่ต่อไป ก็จะเห็นได้ว่า เรื่องร้าย ๆจะไม่เบาบาง นอกจากไม่เบาบางแล้วยังจะเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย ใจก็ยังทุกข์ยังกังวลอยู่ตลอดเวลา นอกจากนี้ยังสอดคล้องกับพระไตรปิฎกเล่มที่ 25 ข้อที่ [206] “…ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม 2 ประการ ย่อมอยู่เป็นทุกข์ มีความเดือดร้อน มีความคับแค้น มีความเร่าร้อนในปัจจุบัน เมื่อตายไปพึงหวังได้ทุคติ ธรรม 2 ประการเป็นไฉน คือ ความเป็นผู้ไม่คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย 1 ความเป็นผู้ไม่รู้จักประมาณในโภชนะ 1 …” หมายความว่า บุคคลใดไม่คุ้มครองทวารเหล่านี้ คือ ตา หู จมูก ลิ้นกาย และใจ ไม่รู้จักประมาณในโภชนะ (การบริโภคอาหาร) และไม่สำรวมในอินทรีย์ทั้งหลาย บุคคลนั้นย่อมถึงความทุกข์ คือ ทุกข์กาย ทุกข์ใจ ภิกษุเช่นนั้นมีกายถูกไฟ คือ ความทุกข์แผดเผาอยู่ มีใจถูกไฟ คือความทุกข์แผดเผาอยู่ ย่อมอยู่เป็นทุกข์ทั้งกลางวันกลางคืน ฯ
ข้อที่ [207] “…ผู้ประกอบด้วยธรรม 2 ประการ ย่อมอยู่เป็นสุข ไม่มีความเดือดร้อน ไม่มีความคับแค้น ไม่มีความเร่าร้อนในปัจจุบัน เมื่อตายไปพึงได้สุคติ ธรรม 2 ประการเป็นไฉน คือ ความเป็นผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย 1 ความเป็นผู้รู้จักประมาณในโภชนะ 1…” หมายถึง บุคคลใดใดคุ้มครองดีแล้วซึ่งทวารเหล่านี้ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ รู้จักประมาณในโภชนะ และสำรวมในอินทรีย์ทั้งหลาย บุคคลนั้นย่อมถึงความสุข คือสุขกาย สุขใจ ภิกษุเช่นนั้นมีกายไม่ถูกไฟ คือ ความทุกข์แผดเผา มีใจไม่ถูกไฟ คือ ความทุกข์แผดเผา ย่อมอยู่เป็นสุขทั้งกลางวันกลางคืน ฯ อาจารย์หมอเขียว ใจเพชร กล้าจน ได้แนะนำวิธีเพิ่มอธิศีลอย่างละเอียด ซึ่งมีลำดับตามขั้นตอน เบื้องต้น ท่ามกลางบั้นปลาย ตามที่พระพุทธเจ้าสอนและอาจารย์ได้พิสูจน์ตามมา ดังพระไตรปิฎกเล่มที่ 25 ข้อที่ 30 คาถาธรรมบทมรรควรรคที่ 20 คือ การปฏิบัติมรรคมีองค์ 8 ประเสริฐที่สุด อริยสัจ 4 ประเสริฐกว่าอริยสัจทั้งหลาย วิราคะ ทำการคลายความชอบความชังออกประเสริฐที่สุด ท่านทั้งหลายควรดำเนินไปตามทางนี้แหละ เป็นทางที่ยังมารและเสนามารให้หลงทาง จะทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ แปลว่า จะดับทุกข์ได้ กิเลสเป็นเหมือนลูกศรปัก จงรีบถอนลูกศรนั้นออกเสียโดยเร็ว ท่านทั้งหลายพึงทำความเพียรเครื่องยังกิเลสให้เร่าร้อน
สิ่งที่ทำให้กิเลสเร่าร้อน คือ ศีล เพียงตั้งศีลมาปฏิบัติ กิเลสจะเร่าร้อน เพราะกิเลสอยากทำผิดศีล ถ้าทำตามใจกิเลสได้กิเลสจะสงบชั่วคราว เช่น กิเลสอยากกินกาแฟ ถ้าเราไปกินกิเลสจะสงบเลยนะ แต่ถ้าเราตั้งศีลขึ้นมาว่าจะไม่กินกาแฟ เมื่อเกิดความอยากกินขึ้นมาแล้วเราไม่กิน กิเลสมันจะไม่สงบ มันจะดิ้น ไม่โปร่ง ไม่โล่ง ไม่สบาย ชักดิ้นชักงอ ทุรน
ทุรายเลยนะ ในใจมันจะอึมครึม ๆ เมื่อกิเลสมันอยากทำผิดศีลที่เราตั้งไว้ เราจะเห็นอาการทุกข์ อย่างน้อยได้เห็นว่านี่คือทุกข์ที่เหลืออยู่ กิเลสมันอยากทำผิดศีลอย่างนี้ เราก็ต้องฝืนขึ้นมาเพื่อที่จะลดละเลิกสิ่งที่เป็นโทษเป็นภัยในชีวิตทุกอย่าง จึงจะเกิดความผาสุกที่ยั่งยืนได้
ในการตั้งศีลมาปฏิบัติ พระพุทธเจ้าตรัสว่าอย่าตึงเครียดเกินไป อย่าหย่อนเกินไปฉะนั้นต้องตั้งศีลให้พอเหมาะตามฐานของเรา ในกิเลสแต่ละตัวจะมี 4 ลำดับในการออกจากการติดยึด คือ 1. เสพ 2. ลด 3. ละ 4. เลิก โดย
- ตั้งลดละเลิกในสิ่งที่เป็นโทษเป็นภัย รูปรสกลิ่นเสียงที่เป็นโทษเป็นภัยหรือพฤติกรรมชั่ว ๆ พฤติกรรมทำให้เกิดความเดือดร้อนต่อตนเองหรือผู้อื่นมาก ๆ แต่ติดน้อย ๆ ก่อน แล้วค่อยตั้งลดละเลิกสิ่งที่เป็นโทษเป็นภัยน้อย ๆ ไปเป็นลำดับ ๆ ถ้าอะไรเราชอบมาก ๆ ติดมาก ๆ ลดนิดเดียวก็ไม่ได้ อันนี้เป็นแชมป์โลกให้ตั้งเสพไปก่อน อย่าเพิ่งไปยุ่งกับมัน มันสั่งให้ทำอะไรก็ยอมมันไปก่อน สู้มันไม่ได้หรอกกิเลสตัวนี้มันหนามาก มันเก่งอย่าไปสู้
- กิเลสตัวที่เราชอบมาก แต่พอลดได้ ให้ตั้งลด
- กิเลสตัวที่เราชอบปานกลาง ละได้เป็นบางคราวอันนี้ให้ตั้งละ เช่น ให้กินอาหารสุขภาพ 7 วันก็พอได้ ละตัวที่เป็นโทษเป็นภัยตัวที่เป็นพิษ 7 วันก็พอได้ เกินนี้ไม่แน่ใจ ไม่รับประกันว่าจะรอดหรือเปล่าก็ให้ตั้งละเป็นบางวันบางคราว ถ้าอดไม่ได้เครียดมากก็ไปกินบ้างในบางวันบางคราว พอตั้งหลักได้ก็ลด ละ เลิกต่อ ทำอย่างนี้สลับไปสลับมาจะก้าวหน้าไปเรื่อย ๆ
- กิเลสตัวที่เราชอบน้อยหรือไม่ชอบเลย ให้ตั้งเลิกไปเลยเพราะว่าเลิกแล้วก็ไม่เครียด และถ้าจะให้ดีตอนที่เรายังไม่เก่ง ให้ตั้งเลิกทีละอย่างก่อน พอเก่งแล้วค่อยซัดทีละหลาย ๆ อย่าง เวลาเก่งแล้วเป็นพระเอกนางเอกไม่ยากหรอกสู้ 1 ต่อ 5 หรือ 1 ต่อ 10 ก็ได้ แต่ใหม่ ๆ ตัวต่อตัวก่อน 1 ต่อ 1 ก่อน แต่ตอนฝึกใหม่ ๆ ให้ตั้งลดละเลิก 1 อัน 1 ช่องทางก่อน 1 อันหรือ1 เรื่อง 1 อวัยวะสัมผัสก็พอแล้ว เช่น เราชอบกาแฟมาก แต่จะตั้งเลิกกาแฟ อย่างนี้ก็เอาแค่ทางลิ้นก็พอ อย่าเพิ่งไปเอาทางอื่น เอาแค่ทางลิ้นก็พอ อย่าเพิ่งไปสู้ทางอื่นบางคนไม่กิน ไม่ดม ไม่ดู ไม่ฟังเสียงคนพูดถึงกาแฟเลย แบบนี้กิเลสจะดิ้นแรง จะเป็นลม เราจะสู้ไม่ไหว แต่ถ้าเราไม่กินแล้ว แต่ขอดมหน่อย ในบางคนก็พอสบายใจอยู่ ชื่นใจ ค่อยยังชั่วหน่อย ไม่กินก็ขอได้ดม ไม่ได้ดมก็ขอให้ได้ดูได้เห็น ก็จะค่อยยังชั่ว หรือพอได้ยินคนพูดเรื่องนี้ก็ค่อยอุ่นใจหน่อย หรือไม่ก็ขอให้ได้พกไว้ติดกระเป๋าไว้หน่อยก็ยังดี ก็ให้ประเมินกำลังของตัวเองว่าเราทำได้แค่ไหน ให้ดูตามเหตุปัจจัย อย่างนี้ไม่ให้มันเครียดไป ไม่ให้มันหย่อนไป และค่อยล้างกิเลสชอบชังออก
บางคนบอกลดละเลิกไปทีละอย่างมันจะทันหรือ หนู/ผมเป็นมะเร็งระยะสุดท้ายแล้วจะลดละเลิกอย่างไร อาจารย์บอกว่าทัน
ให้ปฏิบัติอย่างนี้นะ 1. ถ้าเราล้างกิเลสไป เราจะเข้าพุทธะ แม้ต้องตายไปก็จะไปเข้าพุทธะ มันจะไม่ไปไหนหรอก จะอยู่ในกระแส มันจะเข้าพุทธะ ไม่ต้องกลัวหลุดกระแส ไม่ลดกิเลสน่ะสิมันจะไม่ทัน จะไม่ได้เข้าพุทธะ ทำให้เก่งทำให้ได้สัก 1 เรื่องก็ถือว่าได้เข้าพุทธะ ได้เข้ากระแสแล้ว จากนั้นก็ไปทำต่อ 2. เราก็ล้างชอบชังไปทีละเรื่อง เราจะได้ยารักษาโรคที่ดีที่สุด แต่การลดละเลิกสามารถทำไปทีละหลายเรื่องได้ข่มเอาก็ได้ เช่น เราจะล้างชอบชังก็ทำทีละเรื่อง แต่ถ้าเรารู้ว่าอะไรเป็นโทษเป็นภัยต่อชีวิตเรามาก ถ้าเสพเข้าไปเป็นพิษเยอะตายเร็วแน่ เราติดตั้งหลายอัน กินทีไรก็เป็นพิษทุกที ป่วยทุกที เราก็ข่มไว้ก่อน อดทนไว้ก่อน มันอดไม่ได้ค่อยไปเสพไปกินบ้าง พอตั้งหลักได้ก็ข่มใหม่ ข่มไม่ได้ก็ไปเสพอย่างนี้เป็นต้น
ทำอย่างนี้ไปก็จะพอสู้ได้ ในระหว่างนั้นเราก็ล้างชอบชังไปทีละเรื่องก่อน อย่างอื่นอย่าเพิ่งไปท้ารบกับมัน อะไรมาข่มได้ก็ข่ม ข่มไม่ได้ก็เสพ สลับไปสลับมาอย่างนี้ เมื่อตั้งศีลได้ถูกตรงโดยเฉพาะตั้งลดละเลิกสิ่งที่มันเป็นโทษเป็นภัย คือ เมื่อเรารับเข้าไปแล้วเป็นโทษเป็นภัยแรง ๆ หรือพฤติกรรมที่ชั่วร้ายต่อตนเองและผู้อื่นแรงก่อน พอเราเก่งขึ้นค่อยไปซัดกับแชมป์โลกทีหลัง ไม่ต้องรีบเมื่อเราต้องศีลอย่างนี้ จะทำให้เราจับอาการความคิดของกิเลสได้ กิเลสก็จะมีอาการ มีความคิดเหนี่ยวนำให้เราไปเสพเหนี่ยวนำให้คนอื่นไปเสพอย่างนั้นอย่างนี้ พอเราจับได้ว่าอาการชักดิ้นชักงอทุรนทุรายไม่โปร่งไม่โล่งไม่สบายอย่างนี้แหละคือทุกข์ในใจ อย่างนี้แหละเราจะเห็นอาการไม่แช่มชื่น เห็นแล้วจะรู้ทันทีว่าเกิดจากกิเลส ไม่ได้สมใจแล้วมันก็คิดว่าถ้าได้เสพจะสุขใจ ไม่ได้เสพจะทุกข์ใจ เราก็จับได้แล้ว จากนั้นก็กำจัดเลย
ดังที่พระตถาคตบอกว่าชนทั้งหลายดำเนินไปแล้ว ผู้เพ่งพินิจจะพ้นจากเครื่องผูกแห่งมารได้ แปลว่า ผู้เพ่ง คือ เพ่งไปที่อาการและความคิดของกิเลส อาการ คือ ได้สมใจจะสุขใจ ไม่สมใจจะทุกข์ใจ แล้วชักดิ้นชักงอนี่แหละคืออาการของกิเลส มันไม่โปร่ง ไม่โล่งไม่สบาย เราจะรู้ความทุกข์ในใจ จะเห็นอยู่มันไม่ผ่องใสมันจะเศร้าหมองไม่แช่มชื่น เราจะเห็นอาการไม่สบายในใจ จับได้นั่นแหละคือกิเลส ไม่ใช่จิตแท้ ๆ ของเรา ไม่ใช่ธรรมะ แยกให้ออก พอเราแยกออก ก็เพ่งไปที่อาการ เราจะใช้ฌานใช้ปัญญาเผา พินิจพิจารณาไตรลักษณ์ เมื่อใดบุคคลพิจารณาเห็นด้วยปัญญาแล้วว่าสังขารทั้งปวงไม่เที่ยง เมื่อนั้นเขาย่อมเบื่อหน่ายในทุกข์นี้ จะหมดจดจากทุกข์ เมื่อใดบุคคลพิจารณาเห็นด้วยปัญญาว่าสังขารทั้งปวงไม่เที่ยง เมื่อนั้นเขาย่อมเบื่อหน่ายในทุกข์เป็นทางแห่งความหมดจด สังขารทั้งปวงไม่ได้หมายถึงร่างกายอย่างเดียวเท่านั้น การล้างความคิดชอบชังในสิ่งต่าง ๆ ทั้งหลายทั้งปวง ทั้งหมดนั่นแหละ แต่เราทำไปทีละเรื่องนะ ความชอบชังเหลี่ยมไหนมุมไหนในเรื่องนั้นเรียกว่า สังขาร เราก็ล้างออก เห็นความไม่เที่ยงจากสุขปลอม จากชอบชัง ได้เอามาก็สมชอบ ได้ออกไปก็สมชังแล้วเรารู้สึกสุขใจเป็นสุขแป๊บเดียวหมด เก็บไม่ได้ไม่มีสาระ ไม่มีจริง พิจารณาไปเลยว่าสุขปลอมแบบนี้มันไม่จริง ไม่มีสุขไม่มี เป็นสุขเท็จ สุขเทียม สุขปลอม สุขหลอก เราก็พิจารณาไปว่าสุขเก็บไม่ได้ สุขไม่เที่ยง แต่สุขแท้ คือ สุขที่ยินดีในความไม่ชอบไม่ชังสิ ไม่กลัวไม่กังวลไม่ระแวงไม่หวั่นไหวซิ อันนี้เที่ยง แต่สุขปลอมไม่เที่ยง แล้วสุขปลอมเป็นทุกข์อย่างไรก็พิจารณาต่อ เมื่อใดบุคคลพิจารณาเห็นด้วยปัญญาว่าสังขารทั้งปวงเป็นทุกข์ สังขาร คือ การหลงปรุงชอบชังในสิ่งต่าง ๆ จะเป็นทุกข์ เมื่อบุคคลเบื่อหน่ายในทุกข์นี้ เป็นทางแห่งความหมดจด ก็พิจารณาเข้าไปว่าทำให้ทุกข์ใจ ทำให้กลัวไม่ได้สมใจชอบก็กลัวจะไม่ได้มาได้มา ก็กลัวจะหมดไป ความชังก็กลัวว่ามันจะเข้ามา เข้ามาแล้วก็กลัวว่าจะไม่หมดไป กลัวจะหมดไปช้า นี่แหละคือสังขารทั้งปวงเป็นทุกข์ พิจารณาเข้าไป ใจเป็นทุกข์จะทำให้การเจ็บป่วย ทำให้เกิดเรื่องร้ายทั้งมวล เพราะไปเหนี่ยวนำให้ตัวเองคนอื่นทำชั่วได้ ให้รู้สึกแบบนั้นตามได้ ชั่วกับชั่วกัลป์ แล้วทำชั่วได้ทุกเรื่อง ดึงเรื่องร้ายมาใส่ตัวเองและคนอื่นชั่วกับชั่วกัลป์ พิจารณาแบบนี้ซ้ำ ๆ เข้าไปกิเลสก็จะตายได้ หมดจดจากทุกข์ได้
เมื่อใดบุคคลพิจารณาด้วยปัญญาว่า ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา เมื่อนั้นเขาย่อมเบื่อหน่ายในทุกข์ นี้เป็นทางแห่งความหมดจดสุขปลอมนั้น มันไม่ใช่ตัวเราของเรา เก็บก็ไม่ได้ อยากให้สุขอยู่แบบนั้นก็ไม่ได้ ทุกข์ที่มันมาจากการไม่ได้เสพสมใจจะสั่งให้ลงก็ไม่ได้ มันไม่ใช่ตัวเราของเรา มันหมดฤทธิ์มันก็ดับไปเอง สั่งให้ลงก็ไม่ได้ แต่เรากำจัดมันได้ด้วยการพิจารณาความไม่เที่ยงซ้ำ ๆ เข้าไป มันจะสลายตายไป โดยอยู่ในเงื่อนไขที่เราไม่ไปยึดมั่นถือมั่นว่ามันจะหายไปตอนไหน แต่ถ้าเราไปยึดมั่นถือมั่นไปใจร้อนว่ามันจะต้องหายเร็ว ๆ สลายเร็ว ๆ ทุกข์นี้จะต้องสลายไปเร็ว ๆ อันนั้นมันจะไม่สลายเลย เพราะว่าเราใจร้อน ยึดมั่นถือมั่นว่าหายเร็วจะสุขใจ หายช้าจะทุกข์ใจ มันจะไม่ลงเลย แต่ถ้าเราพิจารณาความไม่เที่ยง ความเป็นทุกข์ ความไม่มีตัวตนของกิเลส เสร็จแล้วมันจะลงตอนไหนก็ช่างหัวมัน พิจารณาไปเรื่อย ๆ แบบนี้ เดี๋ยวมันจะลงแต่ถ้าเราไปยึดว่าพิจารณา 1 นาทีต้องลง 5 นาที 10 นาทีต้องลง พิจารณา 5 ครั้งต้องลง 100 ครั้งต้องลง มันจะไม่ลง ไม่มีทางลงเลย เป็นความละเอียดอย่างนี้ เพราะเป็นตัวยึดมั่นถือมั่นว่ากิเลสสลายเราจะสุขใจ กิเลสไม่สลายเราจะทุกข์ใจ การยึดมั่นถือมั่นแบบนั้น เท่ากับการเติมกิเลสเข้าไปอีกทำยังไงก็ไม่ลง เพราะเป็น วิบาก 11 ประการที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ พิจารณาความไม่เที่ยง ความเป็นทุกข์ของมันใส่เข้าไปใส่เข้าไป แล้วลงตอนไหนก็เรื่องของมัน นี่แหละอนัตตา แล้วมันจะสลายตายไป เราก็จะได้อนัตตาจากกิเลสเห็นพลังผาสุกผ่องใสที่ไม่เอาภัยใส่ชีวิตตัวเอง กิเลสก็จะเปลี่ยนเป็นพุทธะ เราก็บอกว่าพุทธะสุขกว่า ไม่มีแกเป็นสุขที่สุด ยินดีในความไม่ชอบไม่ชังดีที่สุด คิดแบบพุทธะสุขใจที่สุดในโลก สุขกายที่สุดในโลก เกิดเรื่องดีที่สุดในโลก พิจารณาซ้ำ ๆ เข้าไปกิเลสก็รู้ว่าเป็นพุทธะดีกว่าเป็นกิเลส เพราะมีแต่ทุกข์สุขปลอมมีแต่ทุกข์ใจทุกข์กายและเรื่องร้ายทั้งมวล กิเลสก็จะสลายตัวเขาเอง ความจริง เขาจะเปลี่ยนมาเป็นพุทธะ เขาจะยอมพุทธะ แล้วเปลี่ยนมาเป็นพุทธะ สวามิภักดิ์กับพุทธะ เราจะได้พลังผาสุกผ่องใสเลย แล้วพอใจเป็นสุขอย่างนั้นความเจ็บป่วยจะลดลงวินาทีนั้นเลย ความทุกข์และความเจ็บป่วยลดลงวินาทีนั้นเลย ทุกข์จากเรื่องร้ายจะลดลงทันทีเลย เราจะเห็นอย่างมหัศจรรย์ จะเหลือแค่ฝุ่นปลายเล็บเลย จิตใจเราก็จะเป็นสุขทิพย์ เป็นสุขทั้งแผ่นดินเลย ปฏิบัติให้ถูกแบบนี้
ถ้ากิเลสตัวไหนไม่โตมากเราพิจารณาไม่กี่ทีมันก็ตายและไม่กลับมาอีก แต่ถ้ากิเลสตัวไหนมันโตมากต้องกำจัดอีกเวอร์ชั่นหนึ่งนะ จะต้องมีเทคนิคเพิ่มขึ้นตามที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า ทุกข์จากความโต่ง 2 ด้าน หนึ่งกามสุขลิกะอีกด้านหนึ่งอัตกิลมถะ เราก็ตั้งศีลลดละเลิกรูปรสกลิ่นเสียงสัมผัสออกมาแล้ว ทำอย่างตั้งมั่นอย่างเป็นสมาธิ ใช้ปัญญากำจัดกิเลส อ่านกิเลสและกำจัดกิเลสได้มันจะฆ่ากิเลสไปได้ชุดหนึ่ง แต่ถ้าติดกิเลสตัวนั้นเยอะ ชอบมาก ๆ ก็ทำซ้ำ ๆ ไป เพราะพิจารณา 1 ครั้งฆ่ากิเลสได้ 1 หน่วย พิจารณา 3 ครั้งฆ่าได้ 3 หน่วย พิจารณาสิบครั้งก็ได้สิบหน่วย เราต้องพิจารณาซ้ำ ๆ เข้าไป เพราะว่าพอกมิจฉาไว้เยอะพอกมารไว้เยอะ เวลาปราบก็ต้องปราบทีละส่วน ๆ จึงต้องพิจารณาซ้ำ ๆ เข้าไป
สมมุติว่ากิเลสมี 100 หน่วย เราพิจารณาไปกิเลสก็ตายไป 10 หน่วย ส่วนที่เหลืออีก 90 หน่วยมันก็จะมีอาการ ดูดพลังเราไปชักดิ้นชักงอทุรนทุราย ไม่โปร่งไม่โล่งไม่สบาย ตึงเครียดมาก ทนได้ยากได้ลำบาก เรียกว่าอัตกิลมถะ แบบนี้มันเครียดมากแล้ว ให้วางดีนั้นซะ ไม่อย่างนั้นจะเป็นอัตถกิลมถะ ที่เรายึดดีว่าไม่เสพกิเลสน่ะดี แต่มันเครียดมาก มันเป็นอัตกิลมถะเกินไปแล้ว กล้ามเนื้อจะไปเกร็งตัวบีบความเครียดออก จะเกร็งตัวไปหมดเป็นโรคได้ทุกโรค ถ้าเป็นอย่างนี้ให้เราวางดีนั้นแล้วมาเสพตามที่กิเลสชอบ ก็จะค่อยยังชั่ว พอหายใจหายคอได้ บางคนบอกว่าพอจะคบอาจารย์ได้ก็ตอนนี้แหละนึกว่าจะไม่ให้เสพอะไรเลย คือ แต่ถ้ามันเครียดมากก็ให้ผ่อนได้ เราไม่ได้แพ้กิเลสนะ ฟังให้ดีนะ ระวังอัตตาตัวยึดดี เราไม่ได้แพ้กิเลสนะ เราได้ล้างกิเลสตัวยึดดีต่างหาก เมื่อเครียดเราก็วางซะ เรามาเสพตามที่กิเลสกามชอบ สังเกตว่าเราไม่ได้เสพเท่าเดิมหรอก แต่เดิมเราเสพ 100 หน่วย แต่ตอนนี้เราเสพ 90 หน่วย เพราะมันตายไป 10 หน่วยแล้ว เห็นไหมมันลดลง เพราะเราไม่ได้เสพมาตั้งหลายวันแล้ว เมื่อเครียดแล้วมาเสพก็ไม่ได้เสพเท่าเดิมด้วย สุขปลอมก็ไม่ได้เท่าเดิม แต่เดิมสุขปลอม100 หน่วย ตอนนี้สุขปลอมเหลือ 90 หน่วย เราได้สุขจริง 10 หน่วย ไม่เอาไปใส่ชีวิตตัวเองและผู้อื่นแล้ว 10 หน่วย เหลือสุขปลอมอีก 90 หน่วยก็อาศัยสุขปลอมไปก่อน ทำยังไงได้มันยังไม่หมด จากนั้นพอสบายใจดีแล้วก็ตั้งหลักใหม่ ตั้งศีลลดละเลิกขึ้นมาใหม่ ความจริงสามารถเลือกได้ 2 ทางคือ หนึ่งสบายใจดีแล้วตั้งศีล ลด ละ เลิกต่อไปเลย หรือ สองเสพไปให้เห็นทุกข์ก่อนจึงเห็นธรรม แล้วค่อยตั้งศีลมาลด ละ เลิกใหม่ คือ รอเรื่องร้าย เสพไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะเจอเรื่องร้ายเดี๋ยวมันก็จะทุกข์ใจ มีเรื่องทุกข์กายเรื่องร้ายเกิดขึ้น แล้วมันก็แก้ไม่ได้นั่นแหละ ก็ได้เวลาเพิ่มศีลแล้ว เรื่องร้ายทุกข์กายทุกข์ใจเดี๋ยวมัน เสพไปเรื่อยไปเดี๋ยวมันก็มา เพราะเป็นสัจจะ เมื่อมาปุ๊บเราก็ตั้งศีลลด ละ เลิกขึ้นมาเลย เราก็สู้ไปลดไปได้อีก 10 หน่วยเราก็ชนะมา 20 หน่วยแล้วเหลืออีก 80 หน่วย กิเลสก็ชักดิ้นชักพอเครียดมากอัตกิลมถะก็วางดีมาเสพตามที่กิเลสชอบ วางอัตตาวางดีซะ ทำให้พอหายใจหายคอได้ ซึ่งเราก็ไม่ได้เสพสุขปลอมเต็ม100 หน่วยหรอก เราเสพแค่ 80 หน่วย เพราะตอนนี้ความอยากลดลง ได้สุขจริงถึง20 หน่วยแล้ว เป็นสุขปลอมแค่ 80 หน่วยก็เสพสุขปลอมพอได้อาศัยไปมัน ทำได้ขนาดนี้ก็ขนาดนี้ไปก่อนเราก็สบายใจหายใจหายคอได้แล้วสบายดีแล้ว ก็เลือก 2 ทางที่ว่ามาอีกเหมือนเดิม จะตั้งศีลขึ้นมาเลิกใหม่ หรือรอเรื่องร้ายแล้วค่อยตั้งศีลก็เลือกเอา
ตอนแรก ๆ ก็จะรอเรื่องร้ายก่อนแล้วค่อยตั้งศีล เพราะคิดว่าเรื่องร้ายจะไม่มาเสพเพลินไปเลย แต่พอฉลาดขึ้นเขาจะไม่รอ
เรื่องร้ายหรอก เพราะรู้ว่ามันมาแน่ เขาก็จะตั้งศีลขึ้นมาเลิก ดีกว่าต้องเลิกตอนมีเรื่องร้าย เพราะตอนนั้นมันต้องสู้ทุกข์ 2 อย่างเลยนะ 1. สู้กับความทุกข์จากเรื่องร้าย 2. สู้ทุกข์จากกิเลสดิ้น มันจะเหนื่อยกว่านะ แต่การตั้งศีลขึ้นมาเลิกเลยไม่ต้องรอให้เจอเรื่องร้ายเราจะเหนื่อยแค่อย่างเดียว คือ เหนื่อยกับการสู้กิเลสที่ดิ้น อาจารย์รับประกันสู้อย่างเดียวดีกว่า สู้ 2 อย่าง แต่ใครอยากสู้ 2 อย่างก็ไม่ว่านะ ให้เรื่องร้ายมาก่อนแล้วค่อยตั้งศีลก็ได้ สำหรับอาจารย์ขอสู้อย่างเดียวก็พอแล้ว
เราก็ล้างกามล้างอัตตาไปอย่างนี้ สุดท้ายจะหมดทั้งกามทั้งอัตตา หมดตัวชอบชังในชั่ว ชอบชังในดี เบิกบานแจ่มใส ไร้กังวลในเรื่องนั้น หมดกรรมเราก็ไม่อยากเสพในสิ่งที่เป็นพิษแล้ว หมดกามแม้ไม่เสพก็ไม่ทุกข์ ไม่ชัง หมดอัตตาหมดความยึดดีแล้ว แม้จำเป็นต้องไปเสพไปใช้ หรือหาอะไรกินไม่ได้มัจำเป็นต้องกินตัวที่เป็นพิษนั้น เราก็ไม่ได้ชัง คือหมดอัตตา ปกติเราจะใช้แต่สิ่งที่เป็นประโยชน์เป็นหลัก แต่ถ้าจำเป็นต้องอาศัยสภาพที่เป็นพิษเราก็ไม่ชัง ถือว่ากินเอาวัคซีนก็ได้ กินใช้เวรใช้กรรมก็ได้ เพราะหาตัวที่เป็นประโยชน์ไม่ได้ แสดงว่าตอนนั้นมีวิบากเข้ามา ทำให้เราต้องไปเสพสิ่งที่เป็นพิษ ก็ใช้วิบากไปด้วย ได้วัคซีนไปด้วย พอหมดเวรหมดกรรมเราก็จะได้กินสิ่งที่เป็นประโยชน์เอง การกินเอาวัคซีนเอาพิษเล็กน้อย เพราะเราไม่กลัว จะทำให้พิษกลายเป็นพิษแค่ปลายเล็บ ก็จะกลายเป็นวัคซีนทำให้ร่างกายสร้างเซลล์ที่แข็งแรงมาสู้เซลล์ที่เสื่อมไป ทำให้ร่างกายผลิตเม็ดเลือดขาวมากำจัดพิษ ร่างกายก็แข็งแรงจึงไม่ได้มีปัญหาอะไร พอหมดวิบากชุดนั้นเราก็ได้กินสิ่งที่เป็นประโยชน์ นี่คือเรียกว่าหมดกรรมหมดวิบาก ยินดีในความไม่ชอบไม่ชังในเรื่องนั้นเราก็สบาย นี่เป็นวิธีปฏิบัติละเอียด สามารถนำไปปรับใช้กับกิเลสทุกตัว ทำไปเรื่อย ๆ แบบนี้แล้วชีวิตก็จะผาสุกการพิสูจน์ตามคำตรัสของพระพุทธเจ้าแบบนี้ จะทำให้ทราบว่า กายกรรม วจีกรรมมโนกรรมอะไรที่ทำแล้วเกิดผล (วิบาก) อย่างไร ท่านที่ตั้งศีลมาปฏิบัติจะปัญญาชัดเจนว่าพฤติกรรมใดที่ควรทำ และพฤติกรรมใดที่ไม่ควรทำ การรับประทานอาหารก็เช่นกัน เมื่อท่านได้มาเรียนรู้สมดุลร้อนเย็น และเรียนรู้การลดกิเลสความโลภ โกรธ หลง และความยึดมั่นถือมั่น เมื่อปฏิบัติตามได้ถูกตรง ก็จะทำให้เกิดผลคือ จิตใจที่โปร่งโล่งเบาสบายที่ไม่เอาภัยใส่ชีวิตตนและผู้อื่น แต่เกิดประโยชน์สูงสุดต่อตนเองและผู้อื่น มีชีวิตพอเพียงเรียบง่าย ร่างกายแข็งแรง จิตใจดีงาม และจิตใจเป็นสุข เป็นลำดับ ๆ อันเป็นสุขภาวะที่ทรงคุณค่ายิ่งต่อตนเองและมวลมนุษยชาติ