ปลูกสับปะรดในขวดน้ำ : ศิริพร คำวงษ์ศรี (มั่นผ่องพุทธ)
ได้เรียนรู้เรื่องกสิกรรมหลัก บารายคัลเจอร์ และ เพอร์มาคัลเจอร์ เข้าด้วยกัน โดยนำของเหลือใช้ในบ้าน เช่น เศษผ้าไว้เก็บน้ำ และยังมีหน่อสับปะรดที่เหลือจากครัวอยู่ด้วย ลองทำดีกว่า
ทำกสิกรรมบริเวณหน้าบ้านตึกอาคารพาณิชย์ พื้นที่จำกัดสำหรับทำเกษตร ณ กรุงเทพมหานคร
จริง ๆ แล้ว “ขยะ” คือ ทองคำในบ้านซึ่งมีมากมายในแต่ละวัน บางอย่างก็รีไซเคิลได้ บางอย่างก็ทำไม่ได้ เมื่อมองหาประโยชน์จากทุกสิ่งได้ ก็ไม่จำเป็นต้องทิ้งทุกอย่าง เปิดห้องทดลองการทำเกษตร โดยใช้สิ่งรอบบ้านที่มีอยู่แล้ว ไม่ต้องหาซื้อใหม่
ชวนน้องสาวมาทำเกษตรด้วยกัน เพื่อเป็นแรงเหนี่ยวนำให้เพื่อนบ้าน มาลองทำเกษตรในป่าคอนกรีตว่าก็สามารถทำได้
วัสดุที่ใช้
-
- หน่อสับปะรด
- ถ้วย
- น้ำ
- ไม้จิ้มฟัน
- เศษผ้า
- หิน
- เศษไม้
- ดิน
- เศษอาหาร
- มูลสัตว์ (สัตว์ทุกชนิดสามารถใช้ได้)
- น้ำปัสสาวะ
- เศษใบไม้
วิธีทำ
-
- ทาบมีดให้ชิดกับลูกสับปะรด และตัดหน่อออกมา จากนั้นลอกใบออก ให้เห็นรั้วรากรอบหน่อจนสุด
- เตรียมถ้วยสำหรับเพาะสับปะรดไว้ หาตำแหน่งเพื่อใช้ไม้จิ้มฟันเสียบด้านข้างหน่อ เพื่อไม่ทำให้หน่อจมน้ำ โดยให้ไม้จิ้มฟันค่ำปากถ้วยเอาไว้ จากนั้นเทน้ำใส่แก้ว แต่ไม่ให้น้ำล้นขึ้นไปท่วมยอดด้านบน
- แช่หน่อสับปะรด โดยเพาะไว้ประมาณ 7 วัน หรือจนกว่ารากจะงอกพอสมควร
- ตัดส่วนบนของขวดน้ำ ใส่เศษผ้าลงไปประมาณ 2 ชั้นของร่องรอบขวด
- ใส่วัสดุแต่ละชนิดเรียงลงไปประมาณ 1 ชั้นของร่องรอบขวด เริ่มจากหิน, เศษไม้, ดิน และเศษอาหาร ต่อมาโรยมูลสัตว์ จากนั้นรดน้ำปัสสาวะให้พอชุ่มชื้น
- จากนั้นใส่วัสดุแต่ละชนิดเพิ่มลงไปประมาณ 2 ชั้นของร่องรอบขวด คือ ดิน เศษอาหาร และใส่ดินอีกชั้น
- ใช้นิ้วเจาะลงไป หรือนำหน่อสับปะรดวางลงไปและใส่ดินกลบรอบหน่อ
- โรยเศษใบไม้แห้งรอบหน่อ และรดน้ำให้ชุ่มชื้น มารอดูว่าผลการทดลองจะมีผลลัพธ์เช่นไร
ประโยชน์สูงสุด 3 ชั้น
-
- “โปรสุดคุ้ม” ซื้อของมาใช้งานเสร็จแล้ว ก็ยังสามารถนำมาต่อยอดทำประโยชน์ได้อีก ถึงขวดจะแตก เศษผ้าชิ้นเล็กไป เศษอาหารเต็มถังขยะ ก็ยังนำมาทำกสิกรรมเล็กๆในครัวเรือนได้ เมื่อใช้อย่างรู้คุณค่า ก็ไม่มีเสียของ
- “โปรแสนดี” ได้ลดขยะเศษวัสดุ และอาหารในครัวเรือน โดยไม่ต้องนำส่งขยะเหล่านี้ออกไปสู่สังคม ซึ่งล้นจนเป็นปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมอย่างมากในทุกวันนี้
- “โปรสุดถูก” เมื่อมองหาแต่วัสดุที่มีอยู่ในบ้าน ก็ประหยัดเงินอย่างมาก ใช้ทุกอย่างเท่าที่มีก่อน และหากเราสามารถปลูกผักผลไม้ไร้สารพิษไว้รับประทานเอง ก็สามารถลดค่าใช้จ่ายได้ เพราะอาหารเป็นหนึ่งในโลก ซึ่งต้องรับประทานทุกวัน
สภาวธรรม
เห็นจิตใจที่ลังเล เพราะกลัวทำไปแล้วเสียเวลาในการทดลอง กลัวว่าทำไปแล้ว ไม่ได้ผลลัพธ์ที่ต้องการ คือ ผลผลิต แต่พอตระหนักได้ว่า ไม่มีอะไรต้องเสียหายจากการทำกิจกรรมนี้ แต่จะได้ความรู้เพิ่มด้วยว่า สามารถปลูกได้หรือไม่ ใจปล่อยวาง คือ การส่งพลังงานที่ดีให้แก่พืชผักผลไม้ที่เราปลูก ปลูกขึ้นก็ได้ ไม่ขึ้นก็ได้ แต่อย่างน้อยได้ทำงานร่วมกันกับผู้อื่น ได้เรียนรู้ผัสสะและการทำงานร่วมกัน ผลลัพธ์นั้นก็ให้เป็นไปตามธรรม