ปุ๋ยพืชสด จากต้นไชยา : ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์
ลพบุรี ดินลูกรัง มีคลองหลังบ้าน ฝนดี ลมดี แดดก็ดี เข้าช่วงฤดูหนาว พืชเริ่มหยุดการเติบโต เหมาะแก่การปรับแต่งทัศนียภาพ
ฤดูฝนที่ผ่านมา ไชยาที่ปลูกไว้หลายพื้นที่โตขึ้นมาก หาวิธีมากมายที่จะใช้ประโยชน์จากไชยาที่โตไวเหล่านั้น จนสุดท้ายเอามาสับเป็นปุ๋ยพืชสด
ไชยาเป็นพืชที่โตไว ปักชำง่าย ปักชำติดแล้วก็ปล่อยไปได้ยาว ๆ ไม่ต้องรดน้ำ แค่ได้รับน้ำฝนตามธรรมชาติก็อยู่ได้ โตได้ดี การเจริญเติบโตของไชยาจึงเป็นปัญหาที่ตามมา ที่ต้องบริหารจัดการทรัพยากรที่มากเกินไป
เคยทำมาตั้งแต่เอาไชยาสับแล้วไปหมัก จนเป็นปุ๋ยหมักน้ำ กลิ่นแรงเหมือนกลิ่นส้วม ใช้แล้วเหม็นไปสองสามวัน หลังจากนั้นลองเอามาแยกใบแยกก้าน ใบเอาไปคลุมแปลงผัก ก้านเอาไปตากแห้งเอาไปทำเชื้อเพลิง แต่ไชยาแห้งยาก สุดท้ายจึงลองเอามาสับย่อยเป็นชิ้นเล็ก ๆ แล้วเอาไปตากแห้ง พบว่าได้ผลดี เมื่อตัดไชยาแล้วจะแห้งไวขึ้น ได้ปุ๋ยและซากพืชที่เอาไว้ผสมดินเพิ่มความร่วนซุยได้ แต่ในเรื่องตอนนี้เป็นอีกวิธีหนึ่ง คือการทำปุ๋ยพืชสดด้วยต้นไชยา
วิธีทำ
- เลือกไชยาที่โตเกินจะใช้ประโยชน์ เลือกกิ่งที่ไม่หนามาก เส้นผ่าศูนย์กลางไม่ควรเกิน 2 เซ็นติเมตร เพราะจะสับยาก ถ้ากิ่งนั้น ๆ มีความหนาเกินไป ให้ตัดแยกไว้ใช้ประโยชน์อื่น เช่น ตากแห้งไว้เป็นเชื้อเพลิง
- นำกิ่งที่ขนาดพอเหมาะ ไม่ใหญ่จนเกินไป แต่เล็กเท่าไหร่ก็ได้ มาวางเรียงไปในแนวเดียวกัน โดยให้ยอดไปในทางเดียวกันจะสามารถประมาณแรงที่ลงได้ง่าย
- สับลงไป ใช้การสบัดเหมือนเฉาะผลไม้ ศึกษาจังหวะการออกแรงไปเรื่อย ๆ หาน้ำหนักที่เหมาะกับตนเอง ควรเลือกอุปกรณ์ที่ไม่หนักเกินไป ไม่เบาเกินไป และลับคมให้ดี เลือกพื้นที่ที่ไม่แข็ง เช่น พื้นดิน พื้นทราย ไม่ควรเป็นพื้นหิน สับไปเรื่อย ๆ
- สับจนย่อยได้ขนาดที่พอใจ เช่นประมาณ 1 คืบ จึงนำไปใช้ประโยชน์อื่นเช่น เอาไปคลุมโคนต้นไม้ เอาไปหมัก เอาไปตากแห้ง ฯลฯ
ข้อแนะนำอื่น ๆ
- เลือกมีดที่มีน้ำหนักพอดี ถ้าเบาไปจะทำให้สับลงยาก ถ้าหนักไปจะทำให้ปวดข้อมือ
- ลับมีดให้คม ความคมจะช่วยให้ประหยัดแรง
- ศึกษาจังหวะของการสับ ความคล่องแคล่วจะทำให้ประหยัดพลังงานและเกิดประสิทธิภาพสูงขึ้น
- ใส่ถุงมืด เพื่อลดการเสียดสี และป้องกันการสัมผัสยางไชยา
- เลือกพื้นที่รับแรงให้เหมาะ ถ้าเป็นพื้นที่มีหินจะทำให้มีดบิ่นได้ง่าย เสียคมไว ต้องออกแรงมากขึ้น งานยากขึ้น
- การสับไชยาให้ท่อนสั้นลงจะทำให้ไชยาย่อยสลายได้ไวขึ้น
สภาวธรรม
หลังจากบริหารจัดการไชยามาหลายวิธี ก็ได้วิธีนี้มาโดยบังเอิญ คือช่วงพักเหนื่อยจากการตัดกิ่งไชยา ก็เอามีดมาสับเล่น ระหว่างพัก ก็รู้สึกว่าการใช้มีดสับนั้นไวดี เพียงแค่ต้องแยกขนาดกิ่งก่อนสักหน่อย จะง่ายขึ้น ก็ลองเอากิ่งมารวม ๆ กันแล้วสับ พบว่าสะดวกกว่าสมัยก่อนที่เอามาสับทีละกิ่ง อันนั้นมันงานละเอียดไป อันนี้งานทำแบบหยาบ ๆ เอากิ่งมาวางรวม ๆ สับ ๆ ๆ ลงไป ได้ผลดีกว่าที่คาด เป็นวิธีย่อยไชยาเป็นปุ๋ยได้ดี เพราะบางจุดเอาตัดไปคลุมต้นพืชทั้งก้านซึ่งยาวเป็นเมตร พบว่ามันย่อยสลายยาก บางทีไม่ยอมตายอีกต่างหาก วิธีนี้ก็ดีไปอีกแบบหนึ่ง