ข้อสอบวิชา อริยสัจ 4 (ปลายภาค 1/2564)

ข้อสอบวิชาอริยสัจ 4 สำหรับสอบปลายภาค มีข้อสอบภาคทฤษฎีจำนวน 20 ข้อ และแบบสอบถามการมีส่วนร่วม อีก 3 ข้อ รวมเป็น 23 ข้อ สำหรับท่านที่สนใจสามารถทดลองทำข้อสอบได้ทาง google form มีการบอกผลคะแนนหลังส่งข้อสอบด้วย

ดาวน์โหลดข้อสอบอริยสัจ 4 (ปลายภาค)

ทดลองทำข้อสอบอริยสัจ 4 (ปลายภาค)


ข้อมูลข้อสอบปลายภาค

ข้อสอบวิชา อริยสัจ 4 (ปลายภาค)

คำชี้แจงเริ่มสอบวันจันทร์ที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ.2564 เวลา 18:00 น. (เปิดรับคำตอบล่าช้า ภายใน 24 ชั่วโมง หรือ 20:00น. วันอังคารที่ 1 มิถุนายน พ.ศ.2564 ตามเวลาในประเทศไทย) นักศึกษาที่ส่งข้อสอบภายในเวลาปกติ คือ 31 พ.ค. 64 เวลา 18:00 น. – 19:30 น. จะได้รับคะแนนการให้ความร่วมมือ 1 คะแนน

ข้อสอบมี 2 ส่วน รวม 23 ข้อ คือ

1. แบบสอบถามเพื่อประเมินคะแนนความมีส่วนร่วม 3 ข้อ (9 คะแนน)และส่งในเวลา (1 คะแนน)

2. ข้อสอบ การวิเคราะห์สภาวธรรม 20 ข้อ (20 คะแนน)

นักศึกษาใช้เวลาทำข้อสอบไม่เกิน 1 ชั่วโมง 30 นาที

*ขอความร่วมมือนักศึกษาส่งคำตอบเพียงครั้งเดียว

ข้อมูลทั่วไป

1.ชื่อ-นามสกุล (ชื่อเล่น/ชื่อทางธรรม)(ตามที่ได้ลงทะเบียนนักศึกษาสถาบันวิชชาราม)

2.สถานที่ทำข้อสอบ(ที่อยู่ปัจจุบัน)

– ชุมชนภูผาฟ้าน้ำ

– ศูนย์เครือข่ายแพทย์วิถีธรรม (สวนป่านาบุญ 1, 2, 3, 4, 5, 7, 9 )

– ที่อื่น ๆ ในประเทศไทย

– ต่างประเทศ

3. ภาคการศึกษาที่สังกัด(ตามที่ได้ลงทะเบียนไว้ ไม่ใช่ที่อยู่ปัจจุบัน)

– ภาคอีสาน (สวนป่านาบุญ 1,4)

– ภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคตะวันตก (สวนป่านาบุญ 3,5,7,9)

– ภาคใต้ (สวนป่านาบุญ 2)

– ภาคเหนือ (สวนป่านาบุญ 8)

– ต่างประเทศ (สวนป่านาบุญ 6)

แบบสอบถามการมีส่วนร่วมในชั้นเรียน

ให้นักศึกษาตอบแบบสอบถามตามความเป็นจริงและถูกต้องตามศีลที่สุด

1. การเข้าชั้นเรียนทั้งส่วนกลางและส่วนภาค(ชั้นเรียนส่วนกลางปีนี้ รวม 22 ครั้ง สำหรับส่วนภาค ให้นักศึกษาประเมินด้วยตนเอง)

ก. ไม่เคยเข้าชั้นเรียน

ข. เข้าชั้นเรียนนานนานครั้ง ( 1% – 40%)

ค. เข้าชั้นเรียนเป็นบางครั้ง (41% -70%)

ง. เข้าชั้นเรียนเป็นประจำ (71% ขึ้นไป)

2. การมีส่วนร่วมในห้องเรียนทั้งส่วนกลางและส่วนภาค

ก. ไม่เคยเข้าชั้นเรียนหรือเข้าฟังกิจกรรมโดยไม่มีส่วนร่วมอื่น

ข. เข้าฟังและร่วมลงคะแนนโหวต

ค. เข้าฟังและร่วมแสดงความคิดเห็นในห้องเรียน

ง. เข้าฟัง ร่วมลงคะแนนโหวต และร่วมแสดงความคิดเห็นในห้องเรียน

3. การส่งการบ้านประจำสัปดาห์(ในปีนี้เปิดรับการบ้านมาทั้งหมด 22 สัปดาห์)

ก. ไม่เคยส่งการบ้าน

ข. เคยส่ง 1-2 ครั้ง

ค. เคยบ้างบางสัปดาห์ 3 – 10 ครั้ง

ง. ส่งเป็นประจำ ส่งมากกว่า 11 ครั้ง

อ่านเรื่องสั้นและตอบคำถามข้อ 4 – 23 (20 คะแนน)

กระต่ายตั้งใจตื่นตั้งแต่เช้ามืดเพื่อเข้าฟังรายการธรรมะยามเช้า แต่ด้วยเหตุที่เมื่อคืนทำงานจนดึกดื่นเป็นพิเศษ จึงทำให้อ่อนเพลีย งัวเงีย เดินไปเตะขาเก้าอี้ไม้ที่วางไว้ไม่เข้าที่เข้าทาง วิบากกรรมซัดเข้า ทำเอาเตะไปตรงเหลี่ยมด้านที่เป็นสันแข็งจนเล็บฉีก เลือดไหล กระต่ายรู้สึกเจ็บปวดมาก พลันนึกถึงเมื่อคืนที่ได้บอกน้องชายให้เก็บเก้าอี้ให้เรียบร้อย แต่น้องชายก็ไม่ยอมเก็บ เมื่อนึกได้ดังนั้นก็เกิดอาการหัวร้อน หงุดหงิดขุ่นใจน้องชายขึ้นมา ตั้งใจว่าถ้าน้องชายตื่นจะต้องสั่งสอนให้รู้ถึงผลกรรมที่ไม่ทำให้ดี

ทำแผลไปก็ฟังธรรมะไป ใจหนึ่งก็นึกโทษน้องชาย อีกใจหนึ่งก็คิดว่าซวยจริง ๆ ไม่น่ารีบตื่นขึ้นมาฟังธรรมเลย พอฟังธรรมไปเรื่อย ๆ วิบากร้ายคลาย ระลึกถึงเรื่องกรรมได้ เมื่อครั้งยังไม่ปฏิบัติธรรม ก็เคยชอบกินต้มซุปเปอร์ตีนไก่เอามาก ๆ ระลึกถึงว่าตนเป็นเหตุของการเบียดเบียน ก็สมควรแล้วที่ต้องเจ็บ เมื่อระลึกได้ดังนั้น ก็รู้สึกสำนึกผิดในกรรมที่ตนเคยทำมา กระต่ายก็คลายใจลง เบาใจ ฟังธรรมอย่างเป็นสุขในที่สุด

คำถามหมวดตรวจสอบความเข้าใจ 4-8 (5 คะแนน)

4. ทุกข์ของกระต่าย คือ อาการหัวร้อน หงุดหงิดขุ่นใจ ที่น้องชายไม่เก็บเก้าอี้ให้เรียบร้อย ถูกต้องหรือไม่?

ก. ถูกต้อง

ข. ผิด

5. เหตุแห่งทุกข์ (สมุทัย) ของกระต่าย คือ ทำงานจนดึกดื่นเป็นพิเศษ จึงทำให้อ่อนเพลีย งัวเงีย เดินไปเตะขาเก้าอี้ไม้ ที่วางไว้ไม่เข้าที่เข้าทาง ถูกต้องหรือไม่?

ก. ถูกต้อง

ข. ผิด

6. กระต่ายเคยชอบกินต้มซุปเปอร์ตีนไก่มาก ๆ เมื่อระลึกได้ จึงคิดว่าก็สมควรแล้วที่ต้องเจ็บเท้า เหตุนี้เป็นสมุทัยที่ถูกต้องในครั้งนี้หรือไม่?

ก. ถูกต้อง

ข. ผิด

7. ถ้ากระต่ายระลึกได้ว่า กรรมปัจจุบันมีอาการหงุดหงิดใจกับน้องชาย ก็จะล้างทุกข์อริยสัจได้
ถูกตรงมากขึ้น ถูกต้องหรือไม่?

ก. ถูกต้อง

ข. ผิด

8. ทำแผลไปก็ฟังธรรมะไป ใจหนึ่งก็นึกโทษน้องชาย อีกใจหนึ่งก็คิดว่าซวยจริง ๆ ไม่น่ารีบตื่นขึ้นมาฟังธรรมเลย คิดอย่างนี้ถูกหรือไม่?

ก. ถูกต้อง

ข. ผิด

คำถามหมวดการวิเคราะห์ 9-23 (15 คะแนน)

9. ทุกขอริยสัจ (ทุกข์) ของกระต่าย ข้อใดถูกต้องที่สุด

ก. ความเจ็บปวดที่เล็บฉีก

ข. ความหงุดหงิดใจเมื่อนึกถึงพฤติกรรมของน้องชาย

ค. ใจที่หดหู่เมื่อนึกถึงกรรมที่ติดในความสุขของการเสพของตนในอดีต

ง. ผิดทุกข้อ

10. ถ้ากระต่าย ทำแผลปรับสมดุลร้อนเย็นจนแผลหายปวดและหายดี ทุกขอริยสัจจะลดลงยั่งยืนหรือไม่ เพราะอะไร?

ก. ยั่งยืน เพราะเมื่อแผลหาย ความเจ็บปวดก็จบดับไป

ข. ยั่งยืน เพราะวิบากร้ายนั้น ๆ ใช้แล้วก็หมดไป ใช้แล้วก็โชคดีขึ้น

ค. ไม่ยั่งยืน เพราะยังไม่ได้ดับเหตุที่ใจ

ง. ไม่ยั่งยืน เพราะแผลอาจจะอักเสบขึ้นมาอีกก็ได้

11.ทุกขสมุทัยอริยสัจ (สมุทัย) ของกระต่าย คือ “ชอบที่จะกินต้มซุปเปอร์ตีนไก่” ใช่หรือไม่ เพราะอะไร? ข้อใดถูกต้องที่สุด

ก. ใช่ เพราะเป็นเหตุที่ทำให้ต้องมารับผลกรรมในปัจจุบัน

ข. ใช่ เพราะเป็นจิตที่เหนี่ยวนำไปทางอกุศล มาตลีเทพสารถีจึงส่งวิบากร้ายมาเตือน

ค. ไม่ใช่เพราะไม่ใช่เหตุในปัจจุบันที่ทำให้ใจเกิดทุกข์

ง. ไม่ใช่ เพราะวันนี้กระต่ายไม่ได้กินต้มซุปเปอร์ตีนไก่

12.เลือกสมุทัยที่ตรงกับเหตุปัจจัยของทุกข์ของกระต่ายมากที่สุด

ก. ชอบที่จะกินต้มซุปเปอร์ตีนไก่ ชังที่จะไม่ได้กินต้มซุปเปอร์ตีนไก่

ข. ชอบที่จะฟังธรรมะตอนเช้า ชังที่จะไม่ได้ฟังธรรมะตอนเช้า

ค. ชอบที่จะให้เก้าอี้ไม้อยู่ในตำแหน่งที่เรียบร้อย ชังที่มันจะไม่อยู่ในตำแหน่งที่เรียบร้อย

ง. ชอบที่น้องชายฟังและทำตามคำสั่ง ชังที่น้องชายไม่ฟังและไม่ทำตามคำสั่ง

13.ทุกขนิโรธอริยสัจ (นิโรธ) ที่จะพากระต่ายพ้นทุกข์ ควรกำหนดไว้แบบใด

ก. เจ็บปวดก็ยินดี ไม่เจ็บปวดก็ยินดี

ข. น้องชายจะทำตามที่เราบอกก็ได้ ไม่ทำตามที่เราบอกก็ได้ ทำตามก็ยินดี ไม่ทำตามก็ยินดีได้

ค. ได้บอกได้สอนน้องชายก็ยินดี ไม่ได้บอกก็ยินดี บอกตอนนี้ก็ได้ บอกตอนไหนก็ได้

ง. ผิดทุกข้อ

14. หากกระต่ายได้กำหนดนิโรธที่เข้าใจว่าถูกต้องแล้ว แต่เมื่อเจอหน้าน้องชาย ก็ยังหงุดหงิดขุ่นใจอยู่ เกิดจากสาเหตุใด

ก. ยังปฏิบัติไม่ถึงผล

ข. อาจจะกำหนดนิโรธผิด หรือใช้ภาษาไม่ถูกจริต

ค กิเลสยังมีกำลังแรง ข่มได้ยาก

ง. ถูกทุกข้อ

15. จากเนื้อเรื่องเท่าที่ให้มา การตั้งจิตปฏิบัติมรรคแบบใด จะถูกจริตกับกระต่ายที่สุด

ก. เราจะเลิกกินต้มซุปเปอร์ตีนไก่อย่างสิ้นเกลี้ยง ให้พ้นทั้งกามภพ รูปภพ อรูปภพโดยลำดับ

ข. เราจะจัดกิเลสให้มันอยู่เรียบร้อย เป็นที่เป็นทาง ไม่ให้แล่บออกมาเพ่นพ่าน เกะกะ ผิดที่ผิดทาง ทำร้ายใจตนเองและผู้อื่น

ค. เราจะรู้เพียรรู้พัก ประมาณในการงานให้พอเหมาะ ไม่หลงงานจนย่ำแย่

ง. เราจะจัดห้องให้เรียบร้อยโดยที่ไม่ต้องรอใครทำ เริ่มที่เรา นับหนึ่งที่เรา

16. ความเข้าใจใด เป็นปฏิบัติมรรคที่ถูกต้อง

ก. จะต้องเลิกงานให้ตรงเวลาทุกวัน เพื่อที่จะได้มีพลังมาฟังธรรม

ข. จะต้องสั่งสอนน้องให้รู้จักรับผิดชอบต่อสังคม มีน้ำใจช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อื่นให้ได้

ค. จะต้องเลิกก่อบาปกรรม เพื่อที่จะให้ชีวิตไม่ต้องพบเจอกับวิบากร้ายใด ๆ เลย

ง. ผิดทุกข้อ

17. การที่กระต่ายต้องเจ็บเพราะเตะขาเก้าอี้ ใครผิด?

ก. เก้าอี้ผิด เพราะอยู่ผิดที่ผิดทาง

ข. น้องชายผิด เพราะไม่เก็บเก้าอี้ให้ดี

ค. กระต่ายผิด เพราะไม่อบรบสั่งสอนน้องชายให้ดี

ง. กระต่ายผิด เพราะผลกรรมที่ทำเรื่องผิด ๆ สั่งสมมาจนส่งผลต่อตนเอง

18. การที่กระต่ายสบายใจได้จากการระลึกถึงกรรมเก่า เป็นการทำใจในใจที่ถูกตามหลักอริยสัจ 4 หรือไม่ เพราะอะไร?

ก. ถูกต้อง เพราะเป็นการเชื่อและชัดในเรื่องกรรมอย่างแจ่มแจ้ง

ข. ถูกต้อง เพราะทุกข์เบาลงไปได้จริงก็เพียงพอแล้ว

ค. ถูกต้อง เพราะคิดตามที่ครูบาอาจารย์สอน

ง. ไม่ถูกต้อง เพราะการระลึกเรื่องกรรมนั้น ๆ ไม่ได้เป็นการดับที่สมุทัย

19. การเข้าใจในกรรมเรื่องใด เหมาะแก่การดับเหตุแห่งทุกข์ในปัจจุบันของกระต่ายมากที่สุด

ก. เข้าใจว่าอุบัติเหตุนั้นเกิดจากกรรมที่ตนทำงานจนดึกดื่น

ข. เข้าใจว่ากรรมชั่วที่กำลังทำอยู่ คือมีจิตเพ่งโทษน้องชาย จะให้ผลเป็นทุกข์ใจปัจจุบันและอนาคต

ค. เข้าใจว่าที่เราต้องรับกรรมยอมเจ็บในวันนี้ เพราะเราไปเคยเสพติดต้มซุปเปอร์ขาไก่มาก่อน

ง. เข้าใจว่ายังไง ๆ คนเราก็ต้องรับกรรมชั่วที่ตนทำมา ทั้งจากชาตินี้และชาติก่อน ๆ

20. การเปิดธรรมะฟัง มีผลต่อการลดทุกข์หรือไม่ เพราะอะไร? ข้อใดถูกต้องที่สุด

ก. มีผล เพราะเป็นหนึ่งในเหตุของการหลุดพ้นจากทุกข์

ข. มีผล เพราะจะได้ไม่หมกมุ่นอยู่กับการคิดเรื่องน้องชาย

ค. มีผล เพราะได้ฟังธรรมจากอาจารย์ที่ตนชอบใจ

ง. ไม่มีผล เพราะทุกข์นั้นเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไปของมันเอง

21. ทำไมกระต่ายจึงคิดไปว่า “ซวยจริง ๆ” ตอนเหตุเกิด ข้อใดถูกต้องที่สุด

ก. เพราะมันบังเอิญจริง ๆ

ข. เพราะชีวิตคนเรา ชั่ว 7 ที ดี 7 หน มันมาตกเอาตรงชั่ว ณ ขณะนั้น

ค. เพราะกระต่ายไม่เข้าใจในเรื่องกรรมและผลของกรรม

ง. เพราะเหตุปัจจัย ในโลกนี้ไม่แน่นอน เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป หมุนเวียน แปรเปลี่ยน เกิด

22. จะถูกต้องไหม หากกระต่ายจะคิดว่า “ไม่น่ารีบตื่นขึ้นมาฟังธรรม”

ก. ถูก เพราะฟังย้อนหลังวันหลังก็ได้ ไม่ต้องรีบ

ข. ถูก เพราะถ้าไม่รีบตื่น นอนต่อไป ก็ไม่ต้องเตะขาเก้าอี้

ค. ผิด เพราะการฝึกฝืนบ้างเป็นบางครั้ง เป็นการตั้งตนอยู่บนความลำบาก กุศลธรรมเจริญยิ่ง

ง. ผิด เพราะควรจะเอาเวลาไปคิดโทษตัวเองที่ไม่สั่งสอนน้องชายให้ดี

23. เลือกบททบทวนธรรมที่จะแนะนำกระต่าย

ก. ถ้าเราดับทุกข์ใจได้ ก็ไม่มีทุกข์อะไรที่ดับไม่ได้

ข. ทุกข์ย่อมไม่ตกถึงผู้ที่เข้าใจ เชื่อ และชัดเรื่องกรรมอย่างแจ่มแจ้ง

ค. ถ้าเรายังไม่เข้าใจคนอื่น แสดงว่าเรายังไม่เข้าใจตนเอง

ง. ความยึดมั่นถือมั่น จะทำให้เกิด ความพร่อง ความพลาด ความทุกข์


เฉลยข้อสอบ

1 –
2 –
3 –

4 ก
5 ข
6 ข
7 ก
8 ข

9 ข
10 ค
11 ค
12 ง
13 ข

14 ง
15 ข
16 ง
17 ง
18 ง

19 ข
20 ก
21ค
22 ค
23 ก ข ค ง

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *