เทคนิคทำใจให้หายโรคเร็ว ฉบับย่อ : ดร.ใจเพชร กล้าจนและคณะ

บทความเทคนิคทำใจให้หายโรคเร็ว (ฉบับย่อ) สามารถอ่านผ่านเว็บไซต์นี้หรือดาวน์โหลดได้ (กดลิงก์หรือเลื่อนลงไปด้านล่าง) สามารถอ่านบทความเนื้อหาเพิ่มเติมได้ใน “ศีลข้อ 1 ที่เป็นอริยศีลรักษาโรค


เทคนิคทำใจให้หายโรคเร็ว ฉบับย่อ

โดย ดร.ใจเพชร กล้าจนและคณะ

ดร.ใจเพชร กล้าจน ปรด.ยุทธศาสตร์การพัฒนาภูมิภาค (สาธารณสุขชุมชน)

ผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์ทางเลือกวิถีธรรมตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง

กองการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข

ประธานมูลนิธิแพทย์วิถีธรรมแห่งประเทศไทย

อธิการบดี (วิชชาธิการบดี) สถาบันวิชชาราม

คำนำ

โรคหรือความเจ็บป่วยเป็นหนึ่งในสิ่งที่สร้างความทุกข์ทรมานให้กับชีวิต การที่จะทำให้โรคหายหรือทุเลาได้เร็วนั้น มีทั้งด้านรูปธรรมและนามธรรมด้านรูปธรรม คือการรับสารหรือพลังงานด้านรูปธรรมที่สมดุลร้อนเย็นกับชีวิต ณ เวลานั้น เช่น อาหารหรือสมุนไพร ฯลฯ ที่ใช้หรือสัมผัสแล้วรู้สึกสบาย เบากาย มีกำลัง เป็นอยู่ผาสุก และระบายสารหรือพลังงานที่ไม่สมดุลร้อนเย็นออกจากชีวิต ด้วยวิธีการต่างๆ ผู้เขียนและคณะได้วิจัยพบว่า วิธีการรับหรือระบายสารหรือพลังงานที่เป็นรูปธรรมดังกล่าว จะมีผลประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ บวกลบ ในการทำให้หายหรือทุเลาจากโรค ส่วนด้านนามธรรม คือ ปฏิบัติอาริยศีล (อาริยสัจ 4) ที่ถูกตรง จนเกิดสภาพใจไร้ทุกข์ ใจดีงาม เป็นลำดับคือ ละบาป บำเพ็ญกุศล ทำจิตใจให้ผ่องใส เป็นลำดับ คบมิตรดี สหายดี สร้างสังคมสิ่งแวดล้อมที่ดีจะมีผลถึงประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์ บวกเกินร้อยเปอร์เซ็นต์ ในการทำให้หายหรือทุเลาจากโรค

การเรียนรู้และฝึกฝนปฏิบัติด้านนามธรรม คือ เทคนิคทำใจให้หายโรคเร็ว จึงมีฤทธิ์เร็วและแรงที่สุดในการทำให้หายหรือทุเลาจากโรค เมื่อเปรียบเทียบกับวิธีอื่น

ดังนั้น การปฏิบัติทั้งด้านรูปธรรมและนามธรรมควบคู่กันไป จึงมีประสิทธิภาพสูงที่สุดในการทำให้หายหรือทุเลาจากโรคทำให้ชีวิตแข็งแรงและผาสุก

เจริญธรรมสำนึกดีมีใจไร้ทุกข์

ดร.ใจเพชร กล้าจน (หมอเขียว) และคณะจิตอาสาแพทย์วิถีธรรม


 Download – ดาวน์โหลดไฟล์ฉบับย่อ (.pdf) ,9 หน้า 154 kb

 Download – ดาวน์โหลดไฟล์ฉบับย่อ (.pdf) ,35 หน้า 3.83 mb (update 29/8/2564)

พิเศษ! ดาวน์โหลดไฟล์ ฉบับเต็ม (.pdf) , 163 หน้า  2.43 mb

 


Read on web (อ่านในเว็บไซต์)

อย่าโกรธ คือ พิจารณาว่า เราหรือใครได้รับอะไรที่ไม่ดี ผู้นั้น ทำมา ส่งเสริมมา เพ่งโทษ ถือสา ดูถูก ชิงชัง หรือ ไม่ให้อภัย สิ่งนั้นมา เราหรือใครทำอะไร ผู้นั้นต้องไปรับผล จากการกระทำนั้น ทุกคนล้วนอยากสุข อยากสมบูรณ์ ไม่มีใครอยากทุกข์ อยากพร่อง ที่ยังทุกข์ ยังพร่อง เพราะไม่รู้ หรือรู้แต่ยังทำไม่ได้ไม่รู้เพราะมีวิบากร้ายกั้นอยู่ หรือรู้แต่ยังทำไม่ได้  หรือเพียรเต็มที่แล้ว แต่ยังมีวิบากร้ายกั้นอยู่ เราทำดีสุดแล้ว พอใจทุกเรื่องให้ได้ แล้วเพียรทำดีต่อไป ด้วยใจไร้ทุกข์

อย่ากลัวเป็น อย่ากลัวตาย คือ พิจารณาว่า ตาย…ก็ไปเกิดใหม่ จะทำดีต่อ อยู่…ก็ทำหน้าที่ต่อไป จะทำดีต่อ

อย่ากลัวโรค คือ พิจารณาว่า โรคไม่หายตอนเป็น ก็หายตอนตาย เราสู้กับโรค เรามีแต่ชนะกับเสมอเท่านั้น โรคหาย เราก็ชนะ  ถ้าโรคไม่หาย เราตาย โรคก็ตาย ก็เสมอกัน! ! !

สูตรแก้โรค คือใจไร้ทุกข์ ใจดีงาม รู้เพียรรู้พัก สมดุลร้อนเย็น หรือใช้สิ่งที่รู้สึกสบาย

อย่าเร่งผล คือ พิจารณาว่า หายเร็วก็ได้ หายช้าก็ได้ หายตอนเป็นก็ได้ หายตอนตายก็ได้  หายตอนไหน ช่างหัวมัน

อย่ากังวล คือ พิจารณาว่า ทำดีที่ทำได้ ไม่วิวาท อย่างรู้เพียรรู้พัก ให้ดีที่สุด ล้างความยึดมั่นถือมั่น ให้ถึงที่สุด สุขสบายใจไร้กังวลที่สุด

ดีที่ทำได้ ไม่วิวาท คือเส้นทางทำดีนั้น ไม่ปิดกั้นเกิน ไม่ฝืดฝืนเกิน ไม่ลำบากเกิน ไม่ทรมานเกิน  ไม่เสียหายเกิน  ไม่แตกร้าวเกิน ไม่เสี่ยงเกิน

ความกลัว กังวล ระแวง หวั่นไหว ทำให้เป็นโรคได้ทุกโรคอย่างเร็วและแรงที่สุด ส่วนใจไร้ทุกข์ ใจดีงาม เป็นสิ่งที่มีฤทธิ์มากที่สุด ที่ทำให้หายหรือทุเลาจากโรค เป็นยารักษาโรคที่มีฤทธิ์เร็วและแรงที่สุดในโลก

การพิจารณาเพื่อปราบมาร คือ ความกลัว เวลาเจ็บป่วย หรือ พบเรื่องร้าย จะทำให้ดับทุกข์ใจ ทุกข์กาย และเรื่องร้าย ได้ดีที่สุด คือ ทำใจว่าโชคดีอีกแล้ว ร้ายหมดอีกแล้ว รับเต็ม ๆ  หมดเต็ม ๆ เจ็บ…ก็ให้มันเจ็บ ปวด…ก็ให้มันปวด ทรมาน…ก็ให้มันทรมาน ตาย…ก็ให้มันตาย เป็นไงเป็นกัน รับเท่าไหร่ หมดเท่านั้น

เรา…แสบ…สุดๆ มัน…ก็ต้องรับ…สุดๆ มัน…จะได้หมดไป…สุดๆ เรา…จะได้เป็นสุข…สุดๆ เพราะสุดท้ายทุกอย่างก็ดับไป ไม่มีอะไรเป็นของใคร จะทุกข์ใจไปทำไม  ไม่มีอะไรต้องทุกข์ใจ “เบิกบาน แจ่มใส ดีกว่า

วิธีการ 5 ข้อ ในการแก้ปัญหาทุกปัญหาในโลก คือ

1) คบและเคารพมิตรดี  

2) มีอาริยศีล 

3) ทำสมดุลร้อนเย็น

4) พึ่งตน

5) แบ่งปันด้วยใจที่บริสุทธิ์

สิ่งที่ดีที่สุดในโลก คือ คบและเคารพมิตรดี ไม่โทษใคร ใจไร้ทุกข์ ทำดีเรื่อยไป ใจเย็นข้ามชาติ

ในพระไตรปิฎก เล่ม 4 ข้อ 14 และ เล่ม 4 ข้อ 1 พระพุทธเจ้าตรัสว่า ตัณหา (ความอยาก) เป็นเหตุแห่งทุกข์ ทำให้เกิดทุกข์ใจ และกองทุกข์ทั้งหมดทั้งมวลสืบเนื่องต่อมา

ผู้วิจัยพบว่า เมื่อใจเกิดความอยากในเรื่องใดเรื่องหนึ่งหรือหลายเรื่องก็ตาม ก็จะเกิดทุกข์ใจ กลัวว่าจะไม่ได้ตามที่อยาก แม้ได้แล้วก็กลัวจะหมดไป โดยหลักพุทธศาสตร์และหลักวิทยาศาสตร์ ชีวิตจะเสียพลังไปไปสร้างทุกข์ใจ เสียพลังดันทุกข์ใจออก โดยชีวิตจะสั่งให้กล้ามเนื้อผลิตพลังงานมากเกินปกติมาเกร็งตัวบีบและผลักดันเอาทุกข์ใจออก การผลิตพลัง
ที่มากเกินปกติ ร่างกายจะเกิดของเสียที่เป็นพิษตกค้าง ส่งผลสืบเนื่องให้ชีวิตสั่งให้กล้ามเนื้อผลิตพลังงานมากเกินปกติมาเกร็งตัวบีบและผลักดันเอาของเสียที่เป็นพิษออก กลไกการเสียพลัง รวมถึงกล้ามเนื้อบีบตัวผลักดันเอาทุกข์ใจและของเสียในร่างกายออกจากชีวิตดังกล่าว จะทำให้เซลล์ผิดโครงสร้างและโครงรูป เซลล์จะเสื่อมและเสียหน้าที่ ภูมิต้านทานลด และทำให้เป็นโรคได้ทุกโรค

เมื่อเกิดกิเลสความอยากในเรื่องใดๆ ก็จะเกิดทุกข์ใจทุกข์กายทันที (สนิทานสูตร) เมื่อลงมือแก้ทุกข์ด้วยการทำให้ได้สมใจอยาก กิเลสก็จะลดความทุกข์ใจลงอย่างรวดเร็วชั่วคราว กล้ามเนื้อก็จะคลายการบีบตัวและคลายการผลักดันความทุกข์ใจลงชั่วคราว ทำให้รู้สึกสุขสบายใจกายขึ้นชั่วคราวและดีใจพอใจชั่วคราวแป๊บหนึ่ง แล้วละลายดับสูญไปในที่สุด (ไม่เที่ยง ไม่ใช่ตัวตน) จะรู้สึกอิ่มเต็มพอสงบสบายชั่วคราวครู่หนึ่ง เป็นสภาพพักยกครู่หนึ่ง ซึ่งกิเลสจะหลอกให้หลงว่าเป็นความสุขสบายที่ยอดเยี่ยมยิ่งใหญ่ยั่งยืนที่ดีงามน่าได้น่าเป็นน่ามีที่สุดในโลกอย่างไม่มีสิ่งใดเทียมเท่า แล้วก็อยากใหม่ เกิดทุกข์ใจทุกข์กายใหม่อีก ซึ่งจะแรงกว่าเดิมทวีคูณไปเรื่อยๆ แม้ไม่ได้สมใจอยาก ความทุกข์ก็จะลดลงเหมือนกัน แต่ช้ากว่าการได้สมใจอยาก แล้วก็อยากใหม่ เกิดทุกข์ใจทุกข์กายใหม่อีก ซึ่งจะแรงกว่าเดิมทวีคูณไปเรื่อยๆ และกิเลสก็จะปรุงแต่งชนิดของความอยากเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ วนเวียนอยู่อย่างนี้ตลอดกาล เพราะไม่ได้ล้างความอยากอย่างถูกตรงหลักพุทธะ

แท้ที่จริงการไม่อยาก ไม่เกิดทุกข์ ไม่ต้องดับทุกข์ นั้นสุขสบายกว่า สุขสบายที่สุด สภาพสุขสงบสบายก่อนเกิดอยาก ก่อนเกิดทุกข์ หรือเมื่อหมดอยาก หมดทุกข์นั้นแหละ สุขสบายที่สุด ดีที่สุด

เมื่ออยากได้มากๆ จะทำไม่ดีทำชั่วต่อตนเอง หรือต่อคนอื่น หรือต่อสัตว์อื่น หรือต่อทรัพยากรสิ่งแวดล้อมได้ทุกเรื่อง เหนี่ยวนำให้คนอื่นเป็นตาม (สนิทานสูตร) เกิดเรื่องร้ายได้ทุกเรื่อง สะสมเป็นวิบากร้าย ดึงเรื่องร้ายมาสู่ตนเอง ผู้อื่น และสัตว์อื่นชั่วกัปชั่วกัลป์ตลอดกาล

ถ้าเรามีอาริยะปัญญาชัดเจนแจ่มแจ้ง ว่าอยากเป็นทุกข์ ทุกข์จากการไม่ได้สมใจอยากก็เป็นทุกข์ สุขจากการที่ได้สมใจอยากก็เป็นทุกข์ ไม่อยากเท่านั้นที่ไม่ทุกข์เลย ก็จะไม่อยาก เมื่อไม่อยากก็ไม่ทุกข์ ไม่อยาก คือไม่ชอบไม่ชัง ไม่สุขไม่ทุกข์ ไม่ดูดไม่ผลัก ไม่รักไม่เกลียด ไม่อยาก ไม่ยึดมั่นถือมั่น ไม่อยากก็ไม่ทุกข์ อะไรจะเกิดจะดับก็ไม่ทุกข์ อะไรจะเกิดก็ไม่ทุกข์ เพราะไม่ได้อยากให้มันดับ อะไรจะดับก็ไม่ทุกข์ เพราะไม่ได้อยากให้มันเกิด ไม่ยึดมั่นถือมั่นว่ามันต้องเกิดหรือมันต้องดับดังใจหมายจึงจะสุขใจชอบใจ แต่ถ้าไม่เป็นดังใจหมายจะทุกข์ใจไม่ชอบใจ เมื่อไม่ยึดมั่นถือมั่นแล้ว อะไรจะเกิดก็ให้มันเกิด อะไรจะดับก็ให้มันดับ จะไม่มีทุกข์ใจใดๆ เป็นความสุขสบายใจไร้กังวลที่ดีเยี่ยมที่สุดในโลกอย่างไม่มีสิ่งใดเทียมเท่า ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสในพระไตรปิฎกเล่ม 30 “โสฬสมาณวกปัญหานิเทส” ข้อ 659 ว่าสภาพนิพพาน คือ สภาพจิตที่สามารถชำระ หรือกำจัดกิเลสความอยากได้นั้น เป็นสภาพผาสุกที่ไม่มีอะไรเปรียบได้ (นัตถิ อุปมา) ไม่มีอะไรหักล้างได้ (อสังหิรัง) ไม่กำเริบ (อสังกุปปัง) เที่ยง (นิจจัง) ยั่งยืน (ธุวัง) ตลอดกาล (สัสสตัง) ไม่แปรปรวนเป็นธรรมดา (อวิปริณามธัมมัง)

เมื่อไม่มีทุกข์ใจ ชีวิตก็จะไม่เสียพลังไปสร้างทุกข์ ไม่เสียพลังไปผลักดันทุกข์ออก พลังนั้นก็จะกลับมาเป็นของเราทั้งหมด ทำให้ร่างกายแข็งแรง สลายโรคและผลักดันโรคออกไปได้ดี ทำให้มีโรคน้อย แข็งแรงอายุยืน ไม่ได้เสียเรี่ยวแรงเวลาไปทำบาปสนองกิเลสความอยาก จึงเอาเรี่ยวแรงเวลามาทำสิ่งที่เป็นกุศลเป็นประโยชน์ต่อตนเองต่อผู้อื่น และเหนี่ยวนำให้ผู้อื่นเป็นตาม (สนิทานสูตร) สั่งสมเป็นวิบากดี ดูดดึงสิ่งดีมาสู่ตนเองและผู้อื่น ผลักดันวิบากร้ายที่ก่อโรคและเรื่องร้ายออกจากตนเองและผู้อื่น ให้เบาลงสืบเนื่องตลอดกาล

เมื่อปฏิบัติศีลสมาธิปัญญาที่เป็นอาริยะ (อาริยสัจ 4 ) คือ ตั้งศีลมาปฏิบัติด้วยอาริยะปัญญาอย่างตั้งมั่น ด้วยการพิจารณาไตรลักษณ์ คือ ความไม่เที่ยงของทุกสิ่งทุกอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งความไม่เที่ยงของกิเลส คือ สุขที่ได้สมใจอยาก (สุขขัลลิกะ ซึ่งเป็นสุขลวง หลอก ปลอม เทียม ที่พระพุทธเจ้าตรัสในธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ว่าเป็นเหตุแห่งทุกข์ทั้งมวล) ความไม่เที่ยงของกิเลสทุกข์ที่ไม่ได้สมใจอยาก ความไม่ใช่ตัวตนของทุกสิ่งทุกอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งความไม่ใช่ตัวตนของกิเลสสุขที่ได้สมใจอยาก ความไม่ใช่ตัวตนของกิเลสทุกข์ที่ไม่ได้สมใจอยาก และความเป็นทุกข์โทษภัยของกิเลสตัณหาความอยากในแต่สิ่งแต่ละอย่างแต่ละเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นอบายมุข กาม โลกธรรม อัตตา ว่าทำให้เกิดทุกข์ใจ ทุกข์กาย และเรื่องร้ายทั้งหมดทั้งมวลต่อตนเอง คนอื่น สัตว์อื่นตลอดกาล

เพื่อกำจัดกิเลสความอยากในแต่ละอย่าง แต่ละเรื่อง ทีละอย่าง ทีละเรื่องเป็นลำดับๆ ตั้งแต่เรื่องที่เลวร้ายมาก ไปสู่เรื่องที่เลวร้ายน้อย เป็นลำดับ เมื่อหมดอยากในสิ่งที่ไม่ดีแล้ว ก็ตัดสิ่งที่ไม่ดีนั้นออกไป

สำหรับเรื่องดีนั้น ให้กำจัดความอยากแบบกิเลส แบบเป็นทุกข์ แบบยึดมั่นถือมั่นออกไป โดยปฏิบัติจากสิ่งที่ดีน้อย ไปสู่สิ่งที่ดีมาก เป็นลำดับ โดยสิ่งดีใดที่เป็นไปไม่ได้ในเวลานั้น ก็ให้หยุดอยากในเวลานั้น ส่วนสิ่งดีใดที่เป็นไปได้ในเวลานั้น ก็ให้อยากแบบไม่ทุกข์ แบบไม่ยึดมั่นถือมั่น แบบพุทธะ คือ อยากหรือปรารถนาให้เกิดสิ่งที่ดีนั้นต่อตนเองหรือต่อผู้อื่นอย่างไม่ทุกข์ใจ คือ จะได้ทำหรือไม่ได้ทำ จะสำเร็จหรือไม่สำเร็จก็ไม่ทุกข์ใจ เพราะเข้าใจเรื่องกรรมและวิบากกรรมอย่างแจ่มแจ้งว่า การยึดมั่นถือมั่นเป็นทุกข์ การไม่ยึดมั่นถือมั่นไม่ทุกข์ เป็นสุข

และเข้าใจชัดเรื่องกรรมว่า ถ้ากุศลหรือวิบากดีของเราและคนที่เกี่ยวข้องทั้งในอดีตและปัจจุบันอย่างละหนึ่งส่วนออกฤทธิ์เท่าใด สิ่งดีนั้นก็จะทำได้และสำเร็จเท่านั้น ให้ได้อาศัยก่อนที่จะหมดฤทธิ์แล้วดับไป แต่ถ้าอกุศลหรือวิบากร้ายของเราและคนที่เกี่ยวข้องทั้งในอดีตและปัจจุบันอย่างละหนึ่งส่วนออกฤทธิ์เท่าใด สิ่งดีนั้นก็จะทำไม่ได้และไม่สำเร็จเท่านั้น สิ่งร้ายก็จะเกิดขึ้นแทนเท่านั้น ให้ได้ชดใช้ก่อนที่จะหมดฤทธิ์แล้วดับไป เมื่อพลังอกุศลหรือวิบากร้ายหมดไป ถ้าเราหรือคนที่เกี่ยวข้องไม่ได้ทำอกุศลวิบากร้ายเพิ่ม จะทำให้พลังกุศลหรือวิบากดีออกฤทธิ์ได้มาก ให้ได้อาศัยก่อนที่ทุกอย่างจะดับไป การพิจารณาสัจจะด้วยอาริยะปัญญาดังกล่าวจะทำให้สุขสบายใจไร้กังวลตลอดกาล

การใช้ธรรมะ มีอาริยะศีล (ใจไร้ทุกข์ ใจดีงาม เป็นลำดับ) คือ ละบาป บำเพ็ญกุศล ทำจิตใจให้ผ่องใส คบมิตรดี สหายดี สร้างสังคมสิ่งแวดล้อมที่ดี จะทำให้ร่างกายแข็งแรง โรคหาย หรือทุเลาได้เร็วที่สุด และนำสิ่งดีทุกมิติมาให้

ท้ายนี้ ผู้เขียนและคณะหวังว่า หนังสือเล่มนี้ จะพอเป็นประโยชน์บ้างต่อผู้ที่ศึกษาเพื่อความผาสุกของชีวิต

เจริญธรรม สำนึกดี มีใจไร้ทุกข์

ดร.ใจเพชร กล้าจน (หมอเขียว) และคณะจิตอาสาแพทย์วิถีธรรม

 

บรรณานุกรม

กนกวรรณ  ติลกสกุลชัย และชัยเลิศ พิชิตพรชัย.  (2552). สรีรวิทยา 3.  พิมพ์ครั้งที่ 7.  กรุงเทพมหานคร :  โรงพิมพ์ เรือนแก้วการพิมพ์.

กรมการศาสนา.  (2541). พระไตรปิฎกฉบับสยามรัฐ. กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย.

จิรนันท์ ทับเนียม.(2561). ผลของการใช้บทเรียนออนไลน์ต่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพของผู้เข้าร่วมกิจกรรมค่ายแพทย์วิถีธรรม. วิทยานิพนธ์วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาสาธารณสุขศาสตร์. มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์.

ใจเพชร กล้าจน.  (2553). ความเจ็บป่วยกับการดูแลสุขภาพแนวเศรษฐกิจพอเพียง ตามหลักแพทย์ทางเลือกวิถีพุทธ ของศูนย์เรียนรู้สุขภาพพึ่งตนตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงสวนป่านาบุญ อำเภอดอนตาล จังหวัดมุกดาหาร.วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาพัฒนบูรณาการศาสตร์  มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.

ใจเพชร กล้าจน.  (2558). ยุทธศาสตร์การสร้างจิตอาสาแพทย์วิถีพุทธเพื่อมวลมนุษยชาติ.  วิทยานิพนธ์ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชายุทธศาสตร์การพัฒนาภูมิภาค (สาธารณสุขชุมชน). มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์.

ใจเพชร กล้าจน และคณะจิตอาสาแพทย์วิถีธรรม (2564). สุขภาพพึ่งตนด้วยหลักการแพทย์วิถีธรรมตามแนวศรษฐกิจพอเพียงกับการป้องกันและลดปัญหาต่างๆ อันเกิดจาก
โควิด 19.  วารสารวิชาการวิชชาราม ฉบับที่ 11.

นิตยาภรณ์  สุระสาย. (2563). รูปแบบการบูรณาการวัฒนธรรมการดูแลสุขภาพด้วยการแพทย์วิถีธรรม.วิทยานิพนธ์ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชายุทธศาสตร์การพัฒนาภูมิภาค. มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี.

พิชิต  โตสุโขวงศ์.  (2535).  “กระบวนการของชีวิตในระดับโมเลกุล”, ใน วิทยาศาสตร์ชีวภาพ.  เครือวัลย์โสภาสรรค์ บรรณาธิการ. หน้า 1-50. พิมพ์ครั้งที่ 11.  นนทบุรี : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมมาธิราช.

พรชัย  มาตังคสมบัติ และจินดา  นัยเนตร.  (2527).  “ความต้านทานและภูมิคุ้มกันโรค”,ในวิทยาศาสตร์ชีวภาพ.  เครือวัลย์  โสภาสรรค์ บรรณาธิการ.  หน้า 255-300.  พิมพ์ครั้งที่ 2.  กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์กราฟฟิตอาร์ต.

พระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร ประกาศนียบัตร และอนุปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยศิลปากร ณ หอประชุมมหาวิทยาลัยศิลปากร วันอังคารที่ 12 กรกฎาคม 2520.           [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก http://www.ohm.go.th/th/monarch/speech. สืบค้น 16 กันยายน 2557.

สำนักการแพทย์ทางเลือก กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข. (2551). การดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็งด้วยการแพทย์ผสมผสาน. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพมหานคร : บริษัท สุขุมวิทย์มีเดีย มาร์เก็ตติ้ง จำกัด.

ราตรี  สุดทรวง และวีระชัย  สิงหนิยม.  (2550).  ประสาทสรีรวิทยา.  พิมพ์ครั้งที่ 5.

หมอเด่น. “เอนโดรฟิน”, ความรักกับสารเอ็นโดรฟินส์ (ENDORPHINS).  [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.oknation.net/blog/ moh-den/2009/07/28/entry-2. สืบค้น 27 ธันวาคม 2552.

เอมอร แซ่ลิ้ม. (2561).  ผลของการเสริมพลังต่อพฤติกรรมการลด ละ เลิก บริโภคเนื้อสัตว์และภาวะสุขภาพของผู้เข้าอบรมแพทย์วิถีธรรม.  วิทยานิพนธ์วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต  สาขาวิชาสาธารณสุขศาสตร์.  มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์.

Wybran, J. (1985, January). Enkephalins and endorphins as modifiers of the immune system: present and future. In Federation proceedings (Vol. 44, No. 1 Pt 1, pp. 92-94).


แนะนำบทความที่เกี่ยวข้อง

ถ้าใครมีความรู้สึกอย่างนี้ โกรธ กลัวเป็น กลัวตาย กลัวโรค เร่งผล กังวล เป็นความหวั่นไหวที่ร้ายแรงที่สุดในโลก ทำให้จิตใจพ้นทุกข์ที่สุดในโลก ทำให้ทรุดอย่างแรงตายอย่างเร็ว

หนังสือเล่มนี้นำเสนอความจริงเกี่ยวกับโรคภัยไข้เจ็บที่สำคัญอย่างยิ่งสิ่งหนึ่ง คือ “ถ้าเราทำใจได้อย่างมีประสิทธิภาพ ก็จะช่วยให้โรคภัยไข้เจ็บลดลงได้รวดเร็วอย่างน่าอัศจรรย์ แต่ถ้าเราทำใจไม่ถูกต้อง ก็จะทำให้โรคภัยไข้เจ็บรุนแรงเพิ่มขึ้นอย่างน่ากลัวทีเดียว”

ในเล่มนำเสนอเรื่องของเทคนิคทำใจให้หายโรคเร็ว เป็นลำดับๆ เริ่มจากเรื่อง จิตใจเกี่ยวข้องกับการหายหรือไม่หายอย่างไร, เทคนิคทำใจให้หายโรคเร็ว ใน 6 แง่มุมคือ อย่าโกรธ อย่างกลัวเป็น อย่ากลัวตาย อย่ากลัวโรค อย่าเร่งผล และอย่ากังวล, ความเข้าใจเรื่องกรรมอย่างแจ่มแจ้งเท่านั้นที่จะพาตนพ้นทุกข์ได้, ยินดี พอใจ ไร้กังวล (พลังอิทธิบาทและวิมุติ) เป็นพลังสูงสุดที่ทำให้แข็งแรงอายุยืนและเป็นมหากุศลที่สุดในโลก และเทคนิคการล้างความทุกข์ใจอย่างยั่งยืน

ใจเพชร กล้าจน. (2562). เทคนิคการทำใจให้หายโรคเร็ว. พิมพ์ครั้งที่ 2 (ปรับปรุงใหม่). พิมพ์ดี. ISBN 978-616-92167-6-6 จำนวน 160 หน้า ราคา 50 บาท.

[ดาวน์โหลดฉบับเต็ม]


ภาพประกอบสาระธรรม

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *