การล้างความโกรธหรือความชิงชังรังเกียจในบุคคลอื่นของจิตอาสาแพทย์วิถีธรรม

การล้างความโกรธ หรือ ความชิงชังรังเกียจในบุคคลอื่นของจิตอาสาแพทย์วิถีธรรม

บทคัดย่อ

       การวิจัยนี้เป็นงานวิจัยคุณภาพ ในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการล้างความโกรธหรือความชิงชังรังเกียจในบุคคลอื่นของจิตอาสาแพทย์วิถีธรรม เก็บข้อมูลโดยใช้ การสัมภาษณ์เชิงลึก (In depth–Interview) โดยเลือกกลุ่มผู้ให้ข้อมูลหลักแบบเจาะจง ได้แก่ จิตอาสาแพทย์วิถีธรรมทั่วประเทศจำนวน 55 ท่าน ใช้การวิเคราะห์ข้อมูลด้วยการวิเคราะห์เนื้อหา (Content analysis) ผลการศึกษาพบว่า จิตอาสาแพทย์วิถีธรรม ทุกท่านเรียนรู้ฝึกฝนร่วมกัน โดยการฟังธรรม ทบทวนธรรม สนทนาธรรม ใคร่ครวญธรรม และปฏิบัติมรรคมีองค์ 8 ในชีวิตประจำวัน จนเกิดปัญญาที่สามารถล้างความโกรธและความชิงชังรังเกียจบุคคลอื่นได้  ขั้นตอนในการระงับหรือกำจัดความโกรธหรือความชิงชังรังเกียจในบุคคลอื่นประกอบด้วย 3 ขั้นตอน ดังนี้

       1.เริ่มจากการตั้งศีลมาปฏิบัติ เพื่อทำให้จับอาการของกิเลสได้อย่างชัดเจน เมื่อจับกิเลสได้ก็พิจารณาล้างกิเลส ถ้าพิจารณาได้ถูกต้อง กำลังของกิเลสจะลดลง ซึ่งเราจะรู้สึกได้ด้วยตนเอง เพราะเกิดผลคือ ความทุกข์ในใจลดลง สุขภาพกายดีขึ้น และเหตุการณ์ร้าย ๆ ในชีวิตลดลง

  1. การใช้ธรรมะมาพิจารณา เพื่อการระงับหรือกำจัดกิเลสความโกรธหรือความชิงชังรังเกียจในบุคคลอื่น โดยเชื่อและชัดเรื่องกรรมดีกรรมชั่วอย่างแจ่มแจ้ง ทำให้ล้างความโกรธและความชิงชังรังเกียจบุคคลอื่นได้ เพราะสิ่งที่เราได้รับ คือสิ่งที่เราทำมา
  2. ผลที่เกิดขึ้นจากการระงับหรือกำจัดกิเลสความโกรธหรือความชิงชังรังเกียจในบุคคลอื่นได้ ทำให้แต่ละท่านมีชีวิตที่พอเพียงเรียบง่าย ร่างกายที่แข็งแรง จิตใจที่ดีงาม และจิตใจที่เป็นสุขเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ

คำสำคัญ: ความโกรธ ,ความชิงชัง,แพทย์วิถีธรรม

Abstract

This is a qualitative research with the objective of studying the elimination of anger or loathing of other individuals by the Buddhist Medicinal Volunteers. Data were collected by in-depth interview and conversations in the seven states of non-deterioration. A core group was selected to give the main data who were 55 Buddhist Medicinal Volunteers from all over the country, and their data was analyzed with content analysis.

The study found that all of the Buddhist Medicinal Volunteers trained together by listening to sermons of Dhamma, reviewing the Dhamma, discussing the Dhamma,contemplating the Dhamma and practicing the Dhamma with the eight-fold path in their daily lives. They did this until they were able to eliminate anger or loathing of other individuals which comprised three stages as follows:

  1. Setting morality to be practiced to be able to catch the symptoms of defilements (klesa) clearly.
  2. When the symptoms of defilements were caught, Dhamma was used to consider, arrest or limit the defilements of anger or loathing of others with belief and clarity in good and bad karma. It was believed that the thing we received was the thing we had done.
  3. The result was the arresting or limitation of defilements of anger or loathing of other individuals.

In conclusion, the elimination of anger and loathing of other individuals caused the Buddhist Medicinal Volunteers to have good friends, a good environment, a contented and simple life and strong body, and a better and happier mind.

Keywords: Suffering, anger, loathing, Buddhist Medicine

บทนำ

คงไม่มีใครบนโลกใบนี้ที่ไม่เคยไม่มีความโกรธ หรือความขุ่นเคืองใจ  เพราะเป็นอารมณ์ธรรมดาของผู้ที่ยังมีกิเลสอยู่ เป็นสภาวะที่เกิดขึ้นภายในจิต เมื่อถูกกระทบด้วยสิ่งที่ไม่น่าปรารถนา ไม่น่าใคร่ ไม่น่าพอใจทางทวารทั้ง 6 คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แล้วเป็นสมุฏฐานให้เกิด อาการขุ่นเคือง ฉุนเฉียว คิดประทุษร้าย อาฆาตพยาบาท จนทำให้มนุษย์ต้องแสดงเป็นพฤติกรรมต่าง ๆ ออกมาทางกาย ทางวาจา ความโกรธหรือความชิงชังรังเกียจ ทำให้เกิดปัญหาการทำร้ายตนเอง ผู้อื่น และสัตว์อื่น ทำลายทรัพย์สินและสัมพันธภาพระหว่างบุคคล ทำให้มีปัญหาเกี่ยวกับการเรียน การทำงาน การศาสนาการปกครอง การค้าขาย และในธุรกิจต่าง ๆ ทำให้ถูกประเมินจากคนอื่นในทางลบ รวมถึงการศึกษาทางการแพทย์พบว่า การที่คนเรามีความโกรธ ความชิงชังรังเกียจ หรือความเคียดแค้นเกิดขึ้น จะก่อให้เกิดความรู้สึกขุ่นใจ และไม่สบายใจ ส่งผลต่ออวัยวะภายในต่าง ๆ ผ่านการเปลี่ยนแปลงของหัวใจ ความดัน และระบบ ฮอร์โมนอื่น ๆ ยิ่งความกดดันเกิดขึ้นบ่อยเท่าใด ก็ยิ่งส่งผลกระทบถาวรต่อระบบการทำงานของหัวใจ ประสาท และระบบภูมิคุ้มกัน ดังนั้นความโกรธที่เกิดขึ้นในเชิงลบ จะส่งผลเสียทั้งต่อสุขภาพจิต และยังส่งผลเสียไปยังระบบต่าง ๆ ของร่างกาย (พระครูสังฆรักษ์ประนอม จตฺตมโล (กลักย้อม). 2556 : 1)

เป็นที่ทราบกันดีว่าความโกรธหรือความชิงชังรังเกียจที่เกิดขึ้นในระดับกาย วาจา หรือใจ เป็นสิ่งที่ควรระงับเสีย เพราะอารมณ์เหล่านั้นนำมาซึ่งความวิบัติเสียหาย ส่งผลกระทบสุขภาพจิต และระบบต่าง ๆ ของร่างกาย นอกจากนั้น ยังส่งผลให้เกิด
ความเสียหายต่อผู้อื่น กิจกรรมการงาน และสันติสุขของครอบครัว ชุมชน และสังคมด้วย สามารถแก้ไขได้ด้วยการใช้ธรรมะข้อต่าง ๆ มาพิจารณาเพื่อการระงับความโกรธหรือความชิงชังรังเกียจให้หมดไป แต่การปฏิบัติให้เกิดผลจริงนั้นเป็นสิ่งที่ทำได้ไม่ง่ายนัก ยกตัวอย่าง เราชังใครสักคน หรือมีคนมาทำเรื่องไม่ดีกับเราอย่างแรง และเขาก็เป็นญาติเราเอง ผู้ใหญ่ก็สอนว่าอย่าโกรธกันเลยเราเป็นญาติกัน ถามว่าจะหายโกรธไหมเอาความโกรธลงได้ไหม หรือบอกว่าอย่าโกรธเขาเลย เขาเป็นคนรวย จะหายโกรธไหม จริงอยู่เขาเป็นคนรวย เราเป็นญาติกัน หรือเราเป็นคนไทยด้วยกัน อย่าโกรธกันเลย จะเป็นตัวอย่างที่ไม่ดี อย่าโกรธ ๆ โกรธไม่ดี ๆ เหตุผลไหนก็ไม่หายโกรธ หรือไม่หายพยาบาท หรืออาจจะหายได้แค่ชั่วคราว เมื่อกระทบกับผัสสะนั้น หรือเหตุการณ์นั้นอีกก็โกรธอีก

ณ เวลานี้ ผู้มีปัญญาจะกล่าวว่าโทษภัยของความโกรธหรือความชิงชังรังเกียจในบุคคลอื่น นอกจากทำลายสุขภาพกายและใจ เกิดผลเสียต่อกิจกรรมการงานแล้วนั้น ยังส่งผลร้ายแรงมากถึงขั้นทำให้เกิดกองทุกข์ทั้งมวล ที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในปฏิจจสมุปบาท (พระไตรปิฎกเล่มที่ 4 “มหาขันธกะ” ข้อที่ 1) คือสิ่งที่อาศัยกันและกันเกิดขึ้น เป็นไปตามลำดับ หากความโกรธ หรือความชิงชังรังเกียจเกิดขึ้นแล้วไม่ได้ระงับหรือกำจัดให้สิ้นเกลี้ยง จะทำให้เกิดวิบากกรรมร้ายอย่างไม่สิ้นสุดต่อชีวิตของตนเอง คนอื่น และสัตว์อื่น แล้วยังเหนี่ยวนำให้ผู้อื่นเป็นตามอีกด้วย

พระพุทธเจ้ายืนยันว่า การจะระงับหรือกำจัดความโกรธหรือความชิงชังรังเกียจให้สิ้นเกลี้ยงนั้น จะต้องใช้ธรรมะ ที่ทำให้เกิด “ปัญญาที่จะพาพ้นทุกข์ได้” เท่านั้น จึงจะระงับความชิงชังรังเกียจในจิตวิญญาณได้อย่างถาวร จะต้องเป็นปัญญาที่เข้าใจเรื่องกรรมดีกรรมชั่วอย่างแจ่มแจ้ง คือ ปัญญาที่ลึกถึงขั้นรู้ความจริงอย่างแจ่มแจ้ง ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 24 “กิมัตถิยสูตร” ข้อที่ 1 รู้แจ้งเห็นจริงตามความเป็นจริง (ยถาภูตญาณทัสสนะ) ถ้ามีปัญญาลึกถึงขั้นนั้นจะเบื่อหน่ายในกิเลสความชิงชังรังเกียจ (นิพพิทา) จะทำให้คลายความชิงชังรังเกียจนั้นออกไปได้ (วิราคะ) จากนั้นจะรู้แจ้งเห็นจริงในความหลุดพ้น (วิมุตติญาณทัสสนะ) คือ จะเห็นสภาพอิ่มเอิบเบิกบานแจ่มใส ไร้กังวลที่ไม่เอาภัยใส่ตัวเองและผู้อื่น เราจะเป็นผู้ทำประโยชน์ที่แท้จริงต่อตนเองและผู้อื่น เหนี่ยวนำให้ผู้อื่นเป็นตาม เวลากระทบกับเหตุการณ์นั้น ๆ ผัสสะนั้น ๆ เราก็ไม่ชอบไม่ชัง อะไรเกิดอะไรดับก็ไม่ทุกข์ สามารถเอาประโยชน์ได้ทุกเรื่อง เราก็รู้ด้วยตนเองว่าเราหลุดพ้นจากทุกข์ในเรื่องนั้นในประเด็นนั้นแล้ว (ใจเพชร กล้าจน. 2561, สิงหาคม 18)

จากการศึกษาข้อมูลเอกสาร และการปฏิบัติที่ตนเองด้วยเพิ่มอธิศีล พร้อมกับหมู่มิตรดีด้วยการฟังธรรม สนทนาธรรม ทบทวนธรรม ใคร่ครวญธรรมและการปฏิบัติมรรคมีองค์ 8 ร่วมกันทำให้ชัดเจนว่าผู้วิจัยมีปัญญาในการระงับหรือกำจัดความโกรธหรือความชิงชังรังเกียจในบุคคลอื่นได้ง่ายขึ้น รู้สึกร่างกายแข็งแรง จิตใจผาสุกเบิกบานแจ่มใสได้มากกว่าเก่า รวมทั้งปัญหา เหตุการณ์ร้าย หรือวิบากร้ายต่าง ๆ ในชีวิตก็ลดลงอย่างน่าอัศจรรย์ ผู้วิจัยจึงมีความสนใจที่จะศึกษาว่าจิตอาสาแพทย์วิถีธรรมใช้หลักการหรือธรรมะของพระพุทธเจ้าข้อไหนอย่างไรบ้าง เพื่อให้เกิดปัญญาในการระงับหรือกำจัดความโกรธ ความชิงชังรังเกียจในบุคคลอื่น เพื่อเป็นการรวบรวมวิธีการต่าง ๆ ที่จะใช้ในการต่อสู้กับความโกรธของตนเอง ซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่มวลมนุษยชาติผู้ที่ยังมีกิเลสความโกรธหรือความชิงชังรังเกียจในบุคคลอื่นอยู่

วัตถุประสงค์ของการวิจัย

เพื่อศึกษาการล้างความโกรธหรือความชิงชังรังเกียจในบุคคลอื่นของจิตอาสาแพทย์วิถีธรรม

วิธีการวิจัย

กำหนดผู้ให้ข้อมูลหลัก ผู้วิจัยใช้การสัมภาษณ์เชิงลึก (In-depth Interview) ลงภาคสนามทำการสัมภาษณ์ด้วยวิธีสัมภาษณ์เชิงลึกเป็นรายบุคคล และการสนทนากลุ่มแบบอปริหานิยธรรม ใช้เวลาประมาณ 5 ชั่วโมง

การสนทนากลุ่มแบบอปริหานิยธรรม หมายถึง การสนทนาในหมู่ผู้ปฏิบัติธรรม ในการสนทนานั้น จะมีเรื่องการล้างกิเลส (งานใน) และการปรึกษาหารือเกี่ยวกับกิจกรรมการงาน (งานนอก) ซึ่งพระพุทธเจ้าตรัสว่า อปริหานิยธรรม เป็นธรรมที่พาเจริญอย่างเดียว ไม่มีเสื่อม (พระไตรปิฎกเล่ม 10 “มหาปรินิพพานสูตร” ข้อ 70) โดยลักษณะของการสนทนานั้น ทุกท่านจะฝึกใช้หลักการคิดดี พูดดี ทำดี เสนอดี สลายอัตตา (วางความคิดดีของตัวเอง) สามัคคี (ทำตามมติหมู่) ซึ่งจะทำให้เกิดความผาสุกจากการอยู่ร่วมกัน ในการสนทนาครั้งนี้เน้นไปที่หัวข้อการปฏิบัติศีลและการทำผิดศีลประเด็นความชิงชังรังเกียจในบุคคลอื่น

ประชากรและกลุ่มตัวอย่าง

ผู้วิจัยเลือกกลุ่มผู้ให้ข้อมูลหลักจากประชากร คือ จิตอาสาแพทย์วิถีธรรมทั่วประเทศ จำนวน 500 ท่าน โดยจิตอาสาแพทย์วิถีธรรมที่เป็นผู้ให้ข้อมูลหลักนั้น จะต้องเป็นจิตอาสาแพทย์วิถีธรรมมาแล้วมากกว่า 1 ปี ซึ่งประกอบด้วยจิตอาสาประจำและจิตอาสาจร ที่สามารถจัดสรรเวลามาให้ข้อมูลได้ในช่วงเวลาที่ทำวิจัย (แบบเจาะจง) จำนวน 55 ท่าน จิตอาสาประจำ คือ ผู้ที่ปวารณาตนเองมาเป็นจิตอาสาประจำ ทำงานฟรี ไม่มีเงินเดือน พากเพียรลดกิเลสตัวเองและช่วยเหลือผู้อื่น โดยผ่านการฝึกและรับรองว่าเป็นจิตอาสาประจำจากหมู่กลุ่มแพทย์วิถีธรรมรวมมากกว่า 2 ปีขึ้นไป  จิตอาสาจร คือ ผู้ที่ปวารณาตนเองมาเป็นจิตอาสาจร ทำงานฟรี ไม่มีเงินเดือน พากเพียรลดกิเลสตัวเองและช่วยเหลือผู้อื่น โดยผ่านการฝึกและรับรองว่าเป็นจิตอาสาจรจากหมู่กลุ่มแพทย์วิถีธรรมมาแล้วไม่เกิน 2 ปี หรือเกิน 2 ปีขึ้นไปแต่ยังไม่ประสงค์ที่จะเป็นจิตอาสาประจำ

เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย

การสร้างเครื่องมือในการวิจัยครั้งนี้ ใช้แบบสัมภาษณ์ (Interview) โดยได้ทำการศึกษาค้นคว้ารวบรวมข้อมูลจากแหล่งข้อมูลต่าง ๆ ที่มีผู้จัดทำ หรือรวบรวมไว้แล้ว ได้แก่ ตำรา เอกสาร บทความ ทฤษฎี หลักการ และงานวิจัยต่าง ๆ งานวิทยานิพนธ์ วารสาร ตลอดจนปรึกษาอาจารย์ที่ปรึกษา ผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างเครื่องมือแบบสัมภาษณ์ ในการวิจัยให้มีความครอบคลุมตามวัตถุประสงค์ของการวิจัย

การวิเคราะห์ข้อมูล

นำข้อมูลการสัมภาษณ์มาวิเคราะห์ข้อมูลด้วยการวิเคราะห์เนื้อหา (Content analysis) ตามวิธีการเชิงคุณภาพ (ชาย โพธิสิตา. 2552) ผู้ให้สัมภาษณ์หลักในงานวิจัยครั้งนี้มี 45 ท่าน เป็นเพศชาย 9 ท่านและเป็นเพศหญิง 36 ท่าน ส่วนมากมีอายุตั้งแต่ 40 ปี ขึ้นไป พบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เห็นตรงกันว่า การได้พบสัตบุรุษ ได้ฟังธรรม แล้วพิจารณาตาม จะทำให้ได้เห็นโทษของความโกรธ ความชิงชัง รู้ว่าเป็น “กิเลส” ซึ่งกิเลสมีหน้าที่สร้างความทุกข์ และสะสมเป็นวิบากร้ายให้แก่ชีวิต แล้วเราก็จะต้องเป็นผู้มารับวิบากร้ายนั้นเอง ชีวิตที่ผ่านมา พวกเขาก็ได้เห็นด้วยตัวเองแล้วว่า ความชิงชังรังเกียจในบุคคลอื่นสร้างความทุกข์ในใจพวกเขาได้มากมายขนาดไหน มันเหมือนการจุดไฟเผาตัวเอง บางครั้งก็ลามไปเผาผู้อื่นด้วย ซึ่งเขาไม่อยากทุกข์แบบนั้นอีกแล้ว แต่ยังไม่รู้วิธีที่จะระงับหรือกำจัดความชิงชังนี้ออกไปให้ได้ เมื่อก่อนอาจจะเคยใช้วิธีฝึกสมาธิแบบนั่งหลับตา ภาวนาพุทโธ ก็ช่วยให้ใจเย็นขึ้นได้บ้าง แต่เวลาเจอบุคคลหรือเหตุการณ์ที่ไม่ชอบก็โกรธ ชิงชังเหมือนเดิม แต่เมื่อได้พบสัตบุรุษ คือ ท่านอาจารย์หมอเขียว ดร.ใจเพชร กล้าจน ได้เรียนรู้ไตรสิกขาคือ อธิศีล อธิจิต อธิปัญญา การได้มาบำเพ็ญกุศลและลดกิเลสร่วมกับหมู่กลุ่ม พลังของหมู่มิตรดี ช่วยลดวิบาก ช่วยทำให้อาการชิงชังลดลง และทำให้เขาได้เข้าใจในเรื่องของกิเลสมากขึ้น “กิเลสคือมารในใจเรา” เราควรกำจัด ไม่ควรเลี้ยงไว้ อาจารย์สอนการปฎิบัติกายคตาสติ (พระไตรปิฎกเล่มที่ 14 “กายคตาสติสูตร” ข้อที่ 292) โดยการตั้งศีลมาปฏิบัติ การตั้งศีลทำให้เห็นอาการของกิเลสได้ชัด ทำให้เราจับกิเลสได้ เราก็ต้องมีสติในการจับอาการของกิเลส เมื่อจับกิเลสได้ก็พิจารณาล้างกิเลส ถ้าพิจารณาได้ถูกต้อง กำลังของกิเลสจะลดลง ซึ่งเราจะรู้สึกได้ด้วยตัวเราเอง เพราะความทุกข์ในใจจะลดลง
ซึ่งผู้วิจัยแยกประเด็นในการนำเสนอเป็น3 ขั้นตอนในการระงับหรือกำจัดความโกรธหรือความชิงชังรังเกียจในบุคคลอื่น ดังนี้

  1. จับอาการของกิเลสความโกรธหรือความชิงชังรังเกียจในบุคคลอื่น

ผู้ที่จะสามารถระงับหรือกำจัดกิเลสความอยาก ความยึดมั่นถือมั่น ความชอบชังในสิ่งที่ไม่ดีต่าง ๆ ความกลัว กังวล ระแวง หวั่นไหวต่อเหตุการณ์ต่าง ๆ รวมถึงความโกรธหรือความชิงชังรังเกียจในบุคคลอื่นได้ จะต้อง “จับอาการของกิเลส” ที่กำลังสะกดให้ คิด พูด ทำ ตามความต้องการของมันให้ได้ หรือบางท่านจับอาการอึดอัด รำคาญ ดิ้นรนแสวงหาสิ่งต่าง ๆ ที่ทำให้เกิดทุกข์โทษภัยต่อชีวิตตนเอง คนอื่นและสัตว์อื่นได้ นั่นก็คือกิเลสที่จะต้องกำจัดออก ไป เพื่อดับทุกข์ใจซึ่งที่ทุกข์ที่สุดในชีวิตให้ได้ มีผลทำให้เกิดความสุขกาย สงบใจ และเหตุการณ์ต่าง ๆ ในชีวิตลดลง

ดังบทสัมภาษณ์ของท่านที่ 12 เล่าว่า “ขณะที่เข้าค่ายพระไตรปิฎกครั้งที่ 18 รุ่นพลังพุทธย่ำยีมาร (เม.ย.2560) แม่และพี่สาวของเราก็มาเข้าค่ายด้วย ตอนเช้าขณะสวดมนต์ทำวัตรเช้าทุกวัน เราก็จะคอยมองดูว่าแม่มาสวดมนต์มั้ย เวลาอาจารย์แสดงธรรมเราก็จะคอยมองว่าแม่ตั้งใจฟังมั้ย  เพราะเราเองตั้งใจมาก เราก็อยากให้แม่ได้ประโยชน์เหมือนเรา อยู่มาวันหนึ่ง วันนั้นเรารู้สึกมึนศีรษะ ไม่ค่อยมีสมาธิ ฟังธรรมไม่ค่อยเข้าหัว และจำไม่ค่อยได้ เราจึงกลับไปที่เต็นท์แล้วก็ค่อย ๆ พิจารณาว่าวันนี้เกิดอะไรขึ้นทำไมจิตไม่ค่อยสงบ ใช้วิธีใคร่ครวญอย่างละเอียดก็พบว่า ใจมันไปพะวงอยู่กับแม่ เราก็ทำธัมวิจัยว่ามีกิเลสตัวไหนกำลังทำงานอยู่ขณะนี้ ก็ได้คำตอบว่าเรากำลังเพ่งโทษแม่ เราชังที่เค้าไม่ไปสวดมนต์ (เป็นอุปกิเลสตัวอุปนาหะ) รู้สึกว่าทำไมเค้าไม่ตั้งใจ ทั้งที่สิ่งนี้เป็นสิ่งที่มีค่าที่สุดที่ควรทำ ณ เวลานี้ (เป็นอุปกิเลสตัวอติมานะ) แล้วเราก็เห็นกิเลสตัวยึดดี (มานะ) เพราะเราอยากให้เขาทำเขาเป็นอย่างที่ใจเราหมาย พอเห็นกิเลสในใจเราก็รู้สึกตื่น (ชาคริยานุโยคะ) จากความเมา (อุปกิเลสตัวมทะ) เมื่อรู้ตัวว่าเรากำลังถูกกิเลสครอบงำอยู่เราพิจารณาว่า….”

ส่วนท่านที่ 10 ให้สัมภาษณ์ว่า  “มีความชิงชังเพื่อนจิตอาสาด้วยกันอยู่เรื่อย ๆ ค่ะ เพราะเป็นคนที่มีอัตตาสูง คิดว่าตนเองเก่ง ตนเองถูกต้องเสมอ มันจึงซ้อนตัวดูถูกผู้อื่นได้เสมอ คิดว่าผู้อื่นด้อยกว่า ไม่ทันใจ ไม่ได้ดั่งใจเรา คนที่กระทบแล้วจิตเรามีอาการกระดิกข้างใน มันรู้สึกสั่น ๆ หวั่นไหว ไม่ได้ดั่งใจ ทำไมเขาคิดไม่เหมือนเรา รู้สึกรำคาญลีลาแบบนี้จัง พูดมากจัง พูดช้าจัง พูดเยิ่นเย้อจัง บางครั้งแค่ได้ยินเสียงกิเลสก็ขึ้นมาแล้ว จับอาการได้เล็ก ๆ  เป็นรูปภพ แต่มันก็ทำให้เราทุกข์ใจมาก” คล้ายกับท่านที่ 5 เล่าว่า “เกิดกิเลสความชิงชังรังเกียจ ดูถูก และเพ่งโทษ คนที่ด้อยความสามารถ…”

ท่านที่ 7 “เล่าการเกิดของความชิงชังรังเกียจในบุคคลว่า กิเลสของท่านมักจะเกิดเพราะความยึดมั่นถือมั่นในตัวตนบุคคลเราเขา เห็นตัวดีกว่า เก่งกว่า สูงกว่า หรืออื่น ๆ…” และท่านที่ 6 บอกเล่าว่าได้ว่าโทษภัยของการชิงชังรังเกียจคือ “ทุกข์ใจ” และ “โทษของการตามใจกิเลส ไปร่วมสังขารปรุงแต่งเห็นด้วยกับความคิดของกิเลสเพ่งโทษและคิดเอาเองว่าคนนี้คนนั้นมีพฤติกรรมไม่ดีแบบนั้นแบบนี้ ต้องเป็นจริงแน่ ๆ ยิ่งมีข้อมูลจึงเป็นตัวเสริมเราจึงร่วมคิดชั่วไปเลย จึงทำให้ทุกข์ใจ”

แต่ละท่านจะมีกิเลสแง่มุมต่าง ๆ ของท่านที่ 8 เล่าให้ฟังว่า “ตนเองมีกิเลสชิงชังบุคคลที่ชอบเอาเปรียบผู้อื่น…”

ส่วนท่านที่ 2 เล่าว่า “…อดีตพ่อมีแต่ขัดใจเรามาตลอด ไม่เคยตามใจเราสักเรื่องเลยแม้แต่ตอนประถมจะไปงานวันเด็กก็ห้ามไม่ให้ไปเสียใจมากไปแอบร้องไห้ และยังมีเรื่องไม่พอใจต่าง ๆ มากมายตั้งแต่เล็กจนโต จนถึงตอนนี้ยังมีคิดชิงชังพ่ออยู่แต่ไม่มากเหมือนเก่าแล้ว…” บางท่านมารู้จักกับแพทย์วิถีธรรม และเรียนรู้จนเข้าใจในเรื่องกรรม ลดความชิงชังรังเกียจในตัวบุคคลง่ายขึ้น เช่น ท่านที่ 17 “…เมื่อก่อน จะใช้ เมตตา และให้ความรัก กับคนที่เราชิงชัง ก็ใช้ได้บ้างไม่ได้บ้าง และต้องใช้เวลานานกว่าความชิงชังจะหายไป ปัจจุบันนี้ยอมรับได้ว่า มันคือกิเลสและวิบาก มันเป็นสิ่งที่เราเคยทำมา การชิงชังรังเกียจ จะนำมาซึ่งวิบากร้าย การได้นำบททบทวนธรรมมาพิจารณา และสนทนาธรรมกับกัลยาณมิตร ทบทวนผัสสะ ก็ช่วยให้ทำสำเร็จได้….”

  1. การใช้ธรรมะพิจารณาเพื่อระงับหรือกำจัดกิเลสความโกรธหรือความชิงชังรังเกียจในบุคคลอื่น จิตอาสาแพทย์วิถีธรรมทุกท่านใช้วิธีการฟังธรรมมาก ๆ มีเวลาใคร่ครวญธรรมให้มาก ๆ และพยายามมีสติพิจารณาเรื่องกรรมและวิบากกรรม ว่าแต่ละคนทำกรรมไว้จึงต้องรับวิบากของตนการทบทวนธรรม ถึงขั้นวิบากกรรมจะทำให้เข้าใจชัดเจนว่า เราก็เป็นเช่นนั้นมา เราก็เคยทำเช่นนั้นมา เราจึงได้รับสิ่งนั้น และแต่ละคนมีฐานจิตแตกต่างกัน เราจึงควรประมาณการกระทำให้เหมาะสมกับฐานจิตของแต่ละคน การสนทนาธรรม พูดคุยสนทนาธรรมกับผู้ที่มีธรรมะสูงและเมื่อมีอินทรีย์พละสูงขึ้นพอประมาณ ก็จะได้กลับไป กระทบผัสสะพูดคุยกับบุคคลที่เรามีความชิงชังรังเกียจนั้นด้วยความเมตตา สำคัญคือการสารภาพผิดว่าได้เกิดกิเลสความชิงชังรังเกียจในคนนั้นคนนี้ ต่อผู้ที่มีธรรมะสูงกว่าเพื่อจะได้ขอรับคำชี้แนะ เพื่อการฝึกตนในการวางใจให้ถูกที่ และเพื่อการลดความชิงชังรังเกียจได้

ท่านที่ 3 กล่าวว่า “…การฟังธรรมจากสัตบุรุษทำให้เข้าใจผู้ที่เราชิงชังรังเกียจว่า  สิ่งที่เขาทำให้เราชิงชังรังเกียจนั้น เป็นวิบากร่วมของเรากับเขา ที่จะต้องได้มาพบเจอกัน  เป็นผลจากการกระทำของเราเอง…” ตรงกับการปฏิบัติของท่านที่ 11 ที่บอกว่า ใช้ธรรมะที่ได้รับฟังจากพ่อครู อาจารย์หมอเขียวจนเข้าใจในเรื่องของกรรมอย่างแจ่มชัดว่าเราก็เคยเป็นเช่นนั้นมาก่อน เขากำลังแสดงสิ่งไม่ดีสิ่งชั่วร้ายต่าง ๆ ที่เราเคยทำมาให้เห็นจะไปโกรธไปเกลียดเขาทำไมในเมื่อเราเป็นคนทำมาเอง ถ้าเขาทำไม่ดีต่อเรา เราก็โชคดีที่ได้ใช้วิบากร้ายไป วิบากร้ายก็ลดลง เขาช่วยให้เราได้ลดวิบากร้ายไป ต้องขอบคุณเขาไม่ใช่ไปโกรธไปเกลียดไปชิงชังเขา มีแต่รู้สึกสงสารว่าถ้าเขายังทำผิดศีล ไม่เปลี่ยน เบียดเบียนคนอื่น เบียดเบียนตนเอง เบียดเบียนโลกเขาก็ต้องได้รับวิบากร้ายเหมือนกับที่เรากำลังได้รับหรืออาจจะได้รับมากกว่าด้วยซ้ำ ถ้าสามารถช่วยได้ ก็ช่วย ให้เขาหยุดทำสิ่งไม่ดีนั้น ถ้าช่วยไม่ได้ ก็วาง เมื่อเข้าใจเรื่องกรรมอย่างแจ่มชัด ก็จะหมดเรื่องความชิงชังรังเกียจในบุคคลไป รู้สึกเบาสบาย กับทุกเหตุการณ์และกับทุก ๆ คน”

        ส่วนท่านที่ 10 กล่าวถึงทางแก้ของการเกิดอาการชิงชังรังเกียจเพื่อนจิตอาสาด้วยกันว่า “…ใช้การตั้งศีลเป็นรายบุคคล เอาทีละคนเลยค่ะ พอตั้งศีลว่าจะไม่เพ่งโทษท่านนี้ เมื่อกระทบเหมือนมีสายศีลมาล้อมไว้ กิเลสมันดิ้นไปชนสายศีล มันก็โทษเขาอยู่ว่าเขาผิด เราถูก จึงเป็นโอกาสให้ได้พิจารณาล้างมันออกจากจิต เราเคยทำมามากกว่านั้นหาที่ต้นที่สุดไม่ได้ รับเต็ม ๆ หมดเต็ม ๆ ตายก็ให้มันตาย เป็นไงเป็นกัน” กิเลสมันก็สงบลงได้ แต่ไม่หมดก็ยังเกิดใหม่ได้อีก เมื่อกระทบใหม่มันก็ชนสายศีลเหมือนเดิม ถ้าสติดี ๆ จับได้พิจารณาล้างได้ ถ้าสติหลุดก็จะเผลอเพ่งโทษไป รับวิบากร้ายไป แต่ศีลที่ตั้งไว้จะเป็นเครื่องเตือนให้เรามีสติได้ดี เราก็จะไม่เผลอเพ่งนานค่ะ ทำเช่นนี้ไปเรื่อย ๆ ทำซ้ำ ๆ ทำบ่อย ๆ ทำให้มาก ได้ผลจริงค่ะ จากคนที่เราไม่ค่อยอยากทำงานร่วมด้วย หรือทำงานร่วมก็ไม่เบิกบานเต็มที่ กลับกลายเป็นผู้ที่เราสามารถคบหาพูดคุยหารือกันได้ทุกเรื่อง จึงใช้โมเดลนี้ในการล้างกับทุกท่านที่เรายังเผลอไปชิงชังรังเกียจเพ่งโทษ รำคาญอยู่” และ “อาหารปรับสมดุลก็มีส่วนในการช่วยลดความชิงชังดูถูกผู้อื่นได้ค่ะ ตอนที่เรารู้สึกทุกข์มาก ๆ จากการชิงชัง เราจะพยายามหาทางออก ทางที่ดีที่สุดคือ  การตั้งศีลกินอาหารพลังพุทธสูตร 1 ย่ำยีมาร การได้ต่อสู้กับกิเลสความอยากกินอาหารที่ชอบ ไม่ว่าในมื้อนั้นเราจะแพ้หรือชนะก็ตาม แต่เรารู้สึกได้ว่าเรามีพลังมากขึ้น อย่างน้อยเราก็สงบ สำรวมขึ้น เพ่งเพียรมากขึ้น และมีส่วนช่วยทำให้เรามีสติในการจับอาการไม่พอใจ ไม่ได้ดั่งใจในคนนั้นคนนี้ได้ดียิ่งขึ้น เป็นการใช้การลดกามมาลดอัตตา”

ท่านที่ 1 “….พิจารณาเรื่องกรรมว่า “กูทำมา รับแล้วก็หมดไป เราจะได้โชคดีขึ้น”  แล้วจึงตั้งศีลมาปฏิบัติ….”     และท่านที่ 15 ได้ชำแรกความคิดของกิเลสมาร และความคิดของเราที่มีปัญญาที่พาพ้นทุกข์มาตีแผ่ให้เห็นอย่างชัดเจนว่า มารคิดผิด พุทธะคิดถูก ดังนี้คือ เหตุการณ์ ณ ที่ทำงาน วันที่มีพิธีนิมนต์พระมาแสงดธรรมและเจ้าหน้าที่ก็ไปฟังธรรม

มาร : ไม่ชอบเลย พระเทศน์สอนให้คนมีแต่รวย ๆ สุดท้ายก็ทำบุญด้วยเงิน

เรา : มาร ใครทำมาก่อน ทำเยอะด้วย  เป็นแบบอย่างแบบนั้นเลย ใช่เลย ขอสารพัด ขอให้รวย ขอให้ได้เลื่อนขั้น ขอให้แข็งแรง ขอๆๆๆใคร???? หึ!! !บอกมา

มาร : เขาเอง ก็มันไม่รู้นี่นา มันเลยทำ

เรา : นั่นไง แล้วที่แกรู้ขึ้นมาเนี่ยเพราะมีผู้บอกทางใช่ไหม คืออาจารย์ใช่ไหม ถึงได้รู้แล้วออกมาจากพฤติกรรมนั้นได้ แกเองก็ต้องให้โอกาสเขา เขาพลาดเหมือนที่แกเคยพลาดมาไง  เขาจะได้ทุกข์ ถ้าเขาไม่ทุกข์เขาจะเห็นธรรมไหม เหมือนแกไง แล้วอาจารย์ก็เมตตาบอกทางเรา เราจึงได้ตื่นรู้ไง ดังนั้น เหตุการณ์ทั้งหมดที่เห็น คือแกทำมาทั้งหมด ฝีมือแกล้วน ๆ เลย แกได้ใช้หนี้แล้วนะเนี่ย พี่น้องเขาเสียสละมาทำให้ดู  ถ้าเขารู้ว่าทางนั้นไม่ใช่เขาก็ไม่ทำหรอก ไม่มีใครอยากทุกข์อยากชั่วหรอก เขาไปฟังผู้ไม่รู้มา เขาจึงปฏิบัติผิด พอปฏิบัติผิด เขาก็ผิดทาง ผิดศีล เมื่อผิดศีล ก็เพ่งโทษพระพุทธเจ้า มันก็โง่ไง หน้าที่เรา ก็ทำให้ดู เหมือนที่อาจารย์ทำให้เราดูไง  ส่วนเขาจะเอาตอนไหนแล้วแต่วิบากดีร้ายของแต่ละชีวิต อดทน รอคอย ให้อภัย ทำดีเรื่อยไป ใจเย็นข้ามชาติ เข้าใจป๊ะ

มาร : แฮ่ๆๆ เข้าใจแล้ว กูทำมาเอง

เรา : ใช่เราต้องแก้ไขในส่วนที่เราเคยพลาด คือ แก้ที่เรา ไม่ใช่ไปชังเขา ปรารถนาดี เมตตาในส่วนด้อย  ขืนไปชังเขาก็เท่ากับโกหก วิบากตัวเองแท้ ๆ หนี้ตัวเองชัด ๆ กลับไม่รับกลับไปชังเขา ขี้โกง  เพิ่มหนี้อีก ตายๆๆ หนี้เก่าก็ไหม้หัว ใช้ไม่หมด ไปกู้หนี้ใหม่มาอีก ทั้งหนี้เก่าดอกเก่า +หนี้ใหม่ดอกใหม่เลย  นรก โง่ เต็ม ๆ เลย จริง ๆ เขาก็นับถือพระพุทธเจ้า จิตที่คิดจะให้ แต่ผิดทางเพราะมีวิบาก 11 ประการ พอวิบากหมดเขาจะเห็นธรรม สุดท้ายทุกคนก็พ้นทุกข์ด้วยกันทั้งหมด จะชาติไหนก็แล้วแต่ ทุกข์เกินทนเขาก็จะเลิกทำ หน้าที่เราก็ตั้งจิตว่า  “ ขอให้คิดดีได้เร็ว ๆ นะ ขอให้คิดถูกต้องได้เร็ว ๆ นะ เท่านี้แหละมาร

มาร : กระซิบเบา ๆ ทำไมเขาไม่เอา เหมือนที่เราพาทำ

เรา : เอ้า ตัวเองพาเขาทำชั่วมาตั้งมาก อยู่ ๆ พออกจากทุกข์ได้ ก็จะให้คนอื่นเชื่อตาม ตลกแล้ว ใครเขาจะเชื่อง่าย ๆ ทำดีต่อไปมาก ๆ มีแบบอย่างที่ดีมาก ๆ สุดท้ายเมื่อเขาทุกข์ พอมีแบบอย่างที่ดีมาก ๆ เขาก็เอาตามเอง อย่าห่วงใครในโลกนี้เลยมาร ทำที่เรานี่แหละ เข้าใจไหมมาร : เข้าใจแล้ว ชดใช้ๆ ๆ กูทำมาๆๆๆ

ว่าแล้วมารก็สลายกลายมาเป็นมวลได้พลังเต็ม ๆ เลยค่ะ อยู่กับเหตุการณ์นั้นได้อย่างผาสุก  เมื่อมีเหตุการณ์เช่นนี้มากระแทกกี่ครั้งกี่ครั้งเราก็ไม่ชอบไม่ชังแล้ว เพราะมารเขาเข้าใจแล้ว เขาเป็นมวลเราแล้ว

ท่านที่ 2 “….เมตตาท่านมาก ๆ ให้อภัยท่าน ทำดีเรื่อยไป ใจเย็นข้ามชาติ ปล่อยไปตามกรรมของแต่ละคน ทุกคนมีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นทายาท ทุกคนเกิดมาใช้หนี้กรรมเก่า สร้างกรรมใหม่
ให้ดี ได้มาฟังธรรมะจากอาจารย์หมอเขียวพูดเรื่องวิบากกรรมว่า เราต้องเชื่อวิบากกรรมอย่างแจ่มแจ้งก่อนถึงจะล้างกิเลสได้ เมื่อได้ฟังธรรมจากอาจารย์ก็ชัดเจนขึ้นเรื่อย ๆ เลยทำให้เราล้างได้ไปถึงก้นบึ้งของหัวใจเลย หมดความชังในตัวพ่อได้มากขึ้นแล้วค่ะ….”

ท่านที่ 4 กล่าว่า “…อาจารย์บรรยายจนเข้าถึงสภาวะการน้อมศรัทธาต่อทุกชีวิต ที่ย่อมมีคุณงามความดี ท่านก็ลดกิเลสของท่านได้ พึงระลึกถึงโทษหรือวิบากร้าย 11 ประการที่จะต้องได้รับ จากการชิงชังรังเกียจ การเหนี่ยวนำให้ผู้อื่นคิดเช่นเรา และพลังในจิตวิญญาณแห่งการชิงชังรังเกียจ จะส่งผลต่อผู้คนหรือหมู่มิตร ให้ตกสู่นรก แต่ถ้าเราล้างกิเลสได้ ในทางกลับกันพลังนี้ก็จะสามารถ ดึงผู้คนหรือหมู่มิตรให้ขึ้นจากนรกได้ เช่นกัน จึงการตั้งศีลพากเพียรจะไม่เพ่งโทษใคร…”

หลายท่านที่ศึกษาการลดกิเลสอย่างลึกซึ้งถึงกรรมและวิบาก มักจะพิจารณาล้างกิเลสด้วยบททบทวนธรรมของแพทย์วิถีธรรม โดยอาจารย์หมอเขียว รวมถึงท่านที่ 13 เมื่อเจอผัสสะที่แรงมาก ญาติมาพูดว่าร้าย รู้สึกตกใจ ใจสั่น กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ไม่นึกว่าเขาจะพูดแรงอย่างนั้น ต้องระงับความโกรธ ความชิงชัง ท่องบททบทวนธรรม กูทำมา ๆๆๆ หลายรอบ ระลึกถึงกฎแห่งกรรม ว่าเราเคยทำอย่างนั้นกับเขามา จึงทำให้คลายความทุกข์ลงได้ เมื่อหมดความโกรธ ไม่ถือสาเขาแล้ว เรามีหน้าที่ทำดีเรื่อยไป จากการฟังธรรมที่อาจารย์ได้สอนไว้เรื่องความชิงชังรังเกียจ จะเป็นตัวทำให้เกิดทุกข์ เมื่อมีความรู้สึกนี้ขึ้นมา ก็จะพยายามลดความชิงชังนั้น เพิ่มความเมตตามากขึ้น เพราะเราก็เคยเป็นเช่นนั้นมา ตรงกับท่านที่ 5 กล่าวว่า “..เมื่อเกิดอาการดูถูกผู้ที่ด้อยกว่าตน จะมองเห็นทันทีว่า แท้จริงไม่ใช่เขาหรอกที่ด้อย แต่คือเราเองในอดีตที่เป็นแบบนั้น เราด้อยอย่างนั้นมา เราน่าเกลียดแบบนั้น เราเองที่น่ารังเกียจ แต่ตอนนี้เราผ่านพ้นมาแล้ว อดีตเราเองที่ทำชั่วมา จนในวันนี้ความชั่วในอดีตของเรา เป็นโรงเรียนชั่ว ๆ ให้ชีวิตอื่นต้องชั่วตาม เดินตามรอยชั่ว ๆ ของเรา เพื่อให้เราได้เห็นตัวเอง และได้ใช้วิบากนั้น ๆ วิบากเราถูกชดใช้ชุดหนึ่งแล้ว แต่ผู้ที่ทำชั่ว หรือทำความน่ารังเกียจให้เราได้เห็น อนาคตต้องไปใช้วิบากเช่นเดียวกับเราตอนนี้ ช่างน่าเห็นใจยิ่งนัก ต้องขอบคุณที่มาช่วยให้เราได้ใช้วิบาก ได้เห็นความชั่วของตัวเอง แต่เธอเองก็ต้องไปรับวิบากในอนาคต เกิดความเมตตายิ่งนัก จึงหมดความชิงชังรังเกียจเธอ มีแต่เห็นใจและขอบคุณแทนค่ะ”

ส่วนการปฏิบัติของท่านที่ 12 ที่จับกิเลสความชิงชังในตัวคุณแม่ที่ท่านไม่ตั้งใจฟังธรรมและมีความอยากได้ดีสมใจตนเอง ท่านก็ได้จัดการเปลี่ยนความคิดกิเลสให้มาคิดอย่างพุทธะ โดยพิจารณาว่า “…เรามาเพื่อฝึกการเป็นผู้ให้ไม่ใช่เป็นผู้เอา แต่นี่เรากำลังจะเอาจากเขา เราชังคนไม่ตั้งใจฟังธรรม เพราะเราชอบคนตั้งใจฟังธรรม ความชอบชังทำให้ใจเราทุกข์ เพราะใจเราที่ไปยึดว่าถ้าได้สมใจจะเป็นสุข ไม่ได้สมใจจะเป็นทุกข์ ทำให้เราต้องเป็นทุกข์อยู่เรื่อย ๆ เพราะโลกนี้พร่องอยู่เป็นนิจ เราไม่มีทางได้สมใจอยู่ตลอดเวลาหรอก พระพุทธเจ้าตรัสว่า “สัพเพธัมมานาลังอภินิเวสายะ” สิ่งทั้งหลายทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น สิ่งใดที่เข้าไปยึดมั่นถือมั่นจะไม่ทุกข์เป็นไม่มี เมื่อพิจารณาข้อนี้ เราก็มาล้างความยึดในใจเราดีกว่า เพราะเราไปแก้คนอื่นไม่ได้ และยังได้พิจารณาเรื่องกรรมและวิบากในอดีต ว่าเราก็เคยเป็นเช่นนี้มา เราก็เคยเป็นคนที่ไม่ตั้งใจฟังธรรมมาก่อน เคยทำให้ผู้ที่ปรารถนาดีกับเราต้องผิดหวัง จึงต้องมาเจอแบบนี้ พิจารณาเรื่องกรรมและวิบากในปัจจุบันว่าพอเราคิดไม่ดี มีความชิงชัง เราก็ได้รับวิบากทันที คือ ใจเป็นทุกข์และฟังธรรมไม่รู้เรื่อง เมื่อคิดได้ดังนี้เราก็สำนึกผิด ตั้งจิตขออโหสิกรรมต่อพระพุทธเจ้า พระโพธิสัตว์ พระอาริยะ และขออโหสิกรรมกับแม่ที่คิดไม่ดี….”

ท่านที่ 21 มีแนวทางในการปฏิบัติ คือ ถ้าเรายังชิงชังรังเกียจ ก็จะเจอแต่คนแบบนี้ไม่รู้จบ สู้ล้างใจเราตั้งแต่ตอนนี้ในขณะที่ร่างกาย สติปัญญาหมู่มิตรดี ครบพร้อม ก็จะพ้นได้เร็ว วิบากกรรมเราและเชื้อกิเลสที่เหลือนี่แหละที่ไปดึงคนแบบนี้มาหาเรา เหมือนคนโบราณกล่าวว่าเกลียดสิ่งไหนจะได้สิ่งนั้น และในตัวชังนี้ต้องรีบเปิดเผยต่อเพื่อนสหธรรมิก ต้องเลือกเพื่อนคนที่จะให้สัมมาทิฏฐิและเอากิเลสเราลง เพื่อจะได้ไม่ต้องไปชิงชังเขานานเพราะถ้าพิจารณาเองแล้วเอากิเลสไม่ลงก็ต้องให้เพื่อนช่วย

ท่านที่ 25 กล่าวว่าการพิจารณาไตรลักษณ์ทำให้คลายความชังลงได้ “มันไม่ใช่สุข ไม่ใช่ทุกข์ในใจเราเลย แต่หลงโง่สร้างความรู้สึกชอบเป็นสุข ไม่ชอบเป็นทุกข์ในใจของเรา มนุษย์ผู้ฉลาดแท้ เพียรรับรู้ว่าสิ่งใดเป็นประโยชน์สิ่งใดเป็นโทษ มีความผาสุกกับการอาศัยสิ่งที่เป็นประโยชน์และพึงจำไว้เสมอว่า อาการหลงชอบชังเป็นต้นเหตุแห่งทุกข์ในใจเราจะปรากฏออกมาเป็นคราว ๆอยู่เรื่อย ๆ เพราะเราได้หลงโง่สะสมพลังงานมาหลายภพหลายชาติ”

ท่านที่ 27 บอกว่า “…การรู้จักให้อภัย มีเมตตา รู้จักที่จะยกโทษให้ผู้อื่นและตัวเองเป็นสิ่งทำให้ประสบความสำเร็จในการล้างความชิงชังรังเกียจในบุคคลได้ การให้อภัย เป็นการเมตตาตัวเองเป็นคนแรก คนแรกที่จะมีความสุขคือตัวเราเอง จากการได้เรียนรู้สภาวะนี้โดยมีท่านอาจารย์หมอเขียวเป็นผู้ถ่ายทอดองค์ความรู้นี้ จนเกิดประสบการณ์ตรงในจิตวิญญาณ ทำให้ลดความชิงชังในบุคคลได้ระดับหนึ่ง ซึ่งตัวดิฉันเพิ่งจะได้สัมผัสสภาวะนี้ไม่นาน แม้จะมีข้อมูลเรื่องนี้มานานจากครูอาจารย์ท่านอื่น ๆ มาก่อนแต่ไม่สามารถปฏิบัติให้เห็นผลชัดเจนได้ จนกระทั่งได้เข้าค่ายสุขภาพและพระไตรปิฎกต่อเนื่องกัน 3 ค่าย จึงเกิดสภาวะนี้ คาดว่าการได้รับพลังจากท่านอาจารย์ พลังหมู่มิตรดีสหายดี และการได้รับประทานอาหารไม่ปรุงรสจัด เป็นเวลานานต่อเนื่องกัน จนถึงจุดที่จิตใสสะอาดพอที่จะเห็นความขุ่นมัวที่แปลกปลอมมาในจิตวิญญาณได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ทำให้การขจัดสิ่งแปลกปลอมทำได้ง่ายขึ้น กราบขอบพระคุณท่านอาจารย์หมอเขียว หมู่มิตรดีสหายดี และพ่อครัวแม่ครัวที่ทำอาหารชำระจิตวิญญาณให้รับประทานตลอดหนึ่งเดือนที่ผ่านมา”

  1. ผลที่เกิดขึ้นจากการระงับหรือกำจัดกิเลสความโกรธหรือความชิงชังรังเกียจในบุคคลอื่นได้ เมื่อเกิดอารมณ์โกรธหรือชิงชังรังเกียจในบุคคลอื่น บางท่านจะมีอาการไม่สบายทางกาย บางท่านจะมีความทุกข์ใจ บางท่านเจอเหตุการณ์ร้าย ๆ ในชีวิต แต่เป็นเรื่องมหัศจรรย์มากที่ทุกท่านเล่าให้ฟังว่าเมื่อจับอาการของกิเลสความอยาก ความยึดมั่นถือมั่น ความชอบชังในสิ่งที่ไม่ดีต่าง ๆ ความกลัว กังวล ระแวง หวั่นไหวต่อเหตุการณ์ต่าง ๆ รวมถึงความโกรธหรือความชิงชังรังเกียจในบุคคลอื่นได้ แล้วพิจารณาระงับหรือกำจัดกิเลสออกจากจิตวิญญาณ ได้ จะเกิดสิ่งดี ๆ เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ความทุกข์ใจลดลงทันที สุขภาพ กายและเหตุการณ์ต่าง ๆ ดีขึ้นเรื่อย ๆ ดังบทสัมภาษณ์ของท่านที่ 12 เมื่อท่านมึนศีรษะ ท่านจึงไล่จับอาการของกิเลสจนพบว่า เกิดความชิงชังคุณแม่ที่ไม่ฟังธรรม แล้วท่านก็ได้ใช้ธรรมะพิจารณาล้างกิเลสความอยาก ความยึดมั่นถือมั่น ความชอบชังในสิ่งที่ไม่ดีต่าง ๆ ความกลัว กังวล ระแวง หวั่นไหวต่อเหตุการณ์ต่าง ๆ รวมถึงความโกรธหรือความชิงชังรังเกียจในบุคคลอื่นก็ดับไป ส่งผลให้ท่านหายมึนศีรษะ ในทันทีอย่างน่าอัศจรรย์

ดังบทสัมภาษณ์นี้ “…ขณะที่ตั้งจิตขออโหสิกรรมเราก็หลับตา เมื่อลืมตาขึ้นมาปรากฏว่า อาการหนัก ๆ มึน ๆ ตื้อ ๆ หมอง ๆ มัว ๆ หายไปจนหมดสิ้น รู้สึกหัวเบาโล่ง สบาย อารมณ์ก็แจ่มใส เบิกบานขึ้นมาทันที ทำให้เราได้เห็นอานิสงค์จากการสำนึกผิด (ญาณ 7 พระโสดาบัน ข้อที่ 4) อย่างชัดเจน”

ท่านที่ 7 เล่าเรื่องผลของการมีความชิงชังว่า “…ทำให้จิตเศร้าหมอง หรือกระทั่งไปจนถึง  โทสะ  พยาบาท ปองร้าย แต่การพิจารณาล้างความชิงชังได้ทำให้ร่างกายเบา  จิตมีปัญญาเพ่งเผากิเลสถึงกระทั่งอ่านอาการของจิตที่ขุ่นมัว ทึบหนักได้ เมื่อคลายลงก็จะพบความโปร่งโล่งสบาย เพราะโดยธรรมชาติของจิตเองก็ไม่อยากทุกข์อยู่แล้ว เมื่อได้เห็นทั้งสองด้านว่าตอนมีความชิงชังกับตอนที่ไม่มีความชิงชังว่าสุขทุกข์ต่างกันอย่างไร จิตก็จะเลือกเอาสิ่งที่สบายกว่าอยู่แล้ว….” ตรงกับ ท่านที่ 20 บอกว่า “เห็นผลดี คือ  ใจเบาสบายขึ้น ไม่ทุกข์เพราะไม่ยึดไม่จำในสิ่งที่เขาทำไม่ดีกับเรา”

สรุปและอภิปรายผล

จากผลการวิจัยพบว่า จิตอาสาแพทย์วิถีธรรมล้างความโกรธหรือความชิงชังรังเกียจในบุคคลอื่นลงได้มากขึ้นหลังจากที่ได้ฟังธรรมจากสัตบุรุษ ได้สนทนาธรรมกับหมู่มิตรดีสหายดี ได้ใคร่ครวญธรรมและทบทวนธรรมบ่อย ๆ รวมถึงการได้ปฏิบัติมรรคมีองค์ 8 ในชีวิตประจำวัน ทำให้ท่านเหล่านั้นสามารถจับอาการของกิเลสความโกรธหรือความชิงชังรังเกียจในบุคคลอื่นได้เร็วขึ้น ชัดเจนว่าการดูถูก การเพ่งโทษหรือการโทษผู้อื่นนำทุกข์ทั้งมวลมาสู่ชีวิตตนเอง คนอื่นและสัตว์อื่น ส่งผลเสียต่อทั้งด้านร่างกาย จิตใจ และเหตุการณ์ร้าย ๆ ที่จะถาโถมเข้ามาอย่างไม่จบสิ้น ส่วนลดละเลิกความโกรธหรือความชิงชังรังเกียจในบุคคลอื่นด้วยการเมตตา อุเบกขา ให้อภัย และเคารพส่วนดีของทุกชีวิต เปลี่ยนกิเลสมารมาเป็นมวลแห่งพุทธะจะนำความสุขอันไพบูลย์มาสู่ชีวิตตนเอง คนอื่น และสัตว์อื่น ส่งผลดีต่อทั้งด้านร่างกาย จิตใจ และเหตุการณ์ดี ๆ ก็จะหลั่งไหลเข้ามามากขึ้น ๆ

ส่วนการใช้ธรรมะพิจารณาเพื่อการระงับหรือกำจัดกิเลสความโกรธหรือความชิงชังรังเกียจในบุคคลอื่นนั้น ทำให้จิตอาสาแพทย์วีถีธรรมค่อย ๆ ลดความโกรธหรือความชิงชังรังเกียจในบุคคลอื่นได้ โดยใช้ปัญญาขั้นดับทุกข์ได้ สอดคล้องกับพระไตรปิฎกเล่มที่ 24 “กิมัตถิยสูตร” ข้อที่ 1 ยถาภูตญาณทัส-สนะ รู้แจ้งเห็นจริงตามความเป็นจริง แบบนี้จึงจะนิพพิทา วิราคะได้ จึงจะคลายความชังได้ ไม่อย่างนั้นจะคลายความโกรธลงไม่ได้ คลายความชังไม่ออก กิเลสจะชอบที่ไม่มีสภาพนั้น ชังที่มีสภาพนั้น พระพุทธเจ้าตรัสว่าให้ยินดีในความไม่ชอบไม่ชังในสิ่งทั้งปวง จะสามารถพ้นทุกข์ได้ แต่ถ้าเรายังมีความชัง เราก็จะชังที่มีสภาพนั้น หรือถ้าเรายังมีความชอบ เราจะชอบที่ไม่มีสภาพนั้น อย่างนี้จะไม่สามารถคลาย “ความชอบชัง” นั้นออกได้ แต่ถ้าเราเข้าใจความจริงอันนี้ว่า เมื่อเจอสภาพเหตุการณ์ร้าย ๆ เราก็ไม่ชังอะไร รับวิบากร้ายนั้นด้วยความยินดี รับแล้วก็หมดไป เราก็จะโชคดีขึ้น และเราก็หมดความชอบ/ไม่ชอบที่ไม่มีสภาพนั้น หมายความว่า จะมีสภาพนั้นก็ได้ หรือไม่มีสภาพนั้นก็ได้ ถ้ามีสภาพนั้นเราก็ไม่ได้ชัง ถ้าไม่มีสภาพนั้นเราก็ไม่ได้ชอบ มีไม่มีจึงไม่มีปัญหา ไม่ได้ทุกข์อะไร จะเห็นว่าผู้ที่มีปัญญานอกจากจะยินดีในความไม่ชอบไม่ชังในเหตุการณ์นั้น ๆ แล้ว ยังสามารถเอาประโยชน์จากเหตุการณ์ร้าย ๆ นั้นได้ด้วยคือ ถือว่าได้ใช้เวรใช้กรรม ได้ชดใช้วิบากร้าย ยินดีรับเรื่องร้าย สุดท้ายเรื่องร้ายก็หมดไป เมื่อเรื่องร้ายหมดไปเราก็จะโชคดีขึ้นด้วย

นี้คือ “ไม่ชอบไม่ชัง” แบบไม่ยึดมั่นถือมั่น โดยสัจจะความจริงปัญหาทั้งหมดในโลกเกิดจากการชอบการชังแบบยึดมั่นถือมั่น เราต้องล้างความชอบชังแบบยึดมั่นถือมั่นออกให้ได้แล้วเราก็จะชอบก็ได้ถ้าต้องสัมผัสสภาพดีหรือไม่ดีอันนั้น พอมันหมดไปเราก็จะชังก็ได้ เราจะไม่ชอบก็ได้ เราจะเฉย ๆ ก็ได้ หมดไปก็หมดไป เราไม่ได้ชอบแบบยึดมั่นถือมั่นนี่เป็นสภาพอรหัตผล อรหันต์ให้ได้ทีละเรื่อง ๆ ทีละเหตุการณ์ ๆ ไป สะสมไปแต่ละอย่าง ๆ เราก็จะได้อรหันต์เพิ่มขึ้นตามที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในอานิสงส์ของศีลว่า ศีลที่เป็นกุศลย่อมถึงอรหัตผลโดยลำดับดังนี้ อาจารย์ก็พาปฏิบัติ

ศีลข้อ 1 และข้อ 5 ศีลข้อ 1 คือ การไม่เบียดเบียนตนเอง คนอื่น สัตว์อื่น ศีลข้อที่ 5 คือ ยินดีในความไม่ชอบไม่ชังแบบไม่ยึดมั่นถือมั่น

สิ่งที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งที่จะล้างความโกรธหรือความชิงชังรังเกียจในบุคคลอื่น ถึงขั้นคลายความชอบชังได้ คือ การเชื่อเรื่องกรรมอย่างแจ่มแจ้ง พระพุทธเจ้าท่านให้ละอภิชฌาตัวชอบ พยาบาทตัวชัง มิจฉาทิฏฐิตัวหลง ตัวหลงนี่แหละคือ การไม่เชื่อเรื่องกรรม การเชื่อเรื่องกรรมชีวิตจะพ้นทุกข์ ชีวิตจะได้อรหันต์เป็นลำดับ ๆ โดยการตั้งศีลขึ้นมาปฏิบัติ แล้วพิจารณาโทษของการผิดศีล หรือโทษของความชอบชัง โทษของการเบียดเบียนตนเอง คนอื่น สัตว์อื่นนั่นเอง พิจารณาประโยชน์ของการไม่ผิดศีล ว่าการปฏิบัติศีลนั้นดีอย่างไร ประโยชน์ของศีลคือ การยินดีในการไม่ชอบไม่ชัง ทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อตนเอง คนอื่น และสัตว์อื่น ใช้ปัญญาพิจารณาซ้ำ ๆ ว่าดีอย่างไร มารตัวชอบชังเขาจะสลายตัวมาเป็นพุทธะ เพราะคิดแบบมารมันทุกข์ เขาก็รู้อยู่ กิเลสมารเขารู้แล้ว เขาก็ไม่เอาความคิดแบบกิเลสทุกข์ ความคิดแบบพุทธะสุข มาเป็นพุทธะดีกว่า กิเลสสลายตัวเองมาเป็นพุทธะ เราก็ได้พลังผาสุกผ่องใส ไร้กังวล คุมกระบี่ได้หมดเลย อรหันต์ของพุทธะเป็นอย่างนี้

ปฏิบัติศีลอย่างตั้งมั่นด้วยปัญญาให้ถูกตรงจะได้ศีล สมาธิ ปัญญาเป็นผล ได้เป็นเรื่อง ๆ ไปแบบนี้ชีวิตจะไม่มีเรื่องร้ายเลย มีแต่เรื่องดี ๆ ใจผาสุก กายก็แข็งแรง การรู้ความจริงตามความเป็นจริงที่จะพ้นทุกข์ได้ จะต้องรู้ในระดับวิบากกรรม ถ้าไม่รู้ในระดับวิบากกรรม ชีวิตพ้นทุกข์ไม่ได้ พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้ในสัมมาทิฏฐิ 10 ข้อที่ 4 ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 14 “มหาจัตตารีสกสูตร” ข้อที่ 257 สัมมา แปลว่า ถูกต้องถูกตรงสู่ความพ้นทุกข์ ทิฏฐิ แปลว่า ความเห็นความเข้าใจ ที่ถูกต้องถูกตรงสู่ความพ้นทุกข์ จะต้องรู้จักอัตถิ สุกตทุกขฏานัง กัมมานัง ผลัง วิปาโก หมายถึง ผลวิบากของกรรม ที่ทำดีทำชั่วแล้ว มีอยู่ จะต้องรู้ถึงขั้นนี้ชีวิตจึงจะพ้นทุกข์ได้ ถ้าไม่รู้ถึงขั้นว่าผล คือ สิ่งที่เกิดขึ้น วิบาก คือ พลังที่สร้างผลของกรรม คือ การกระทำทางกาย หรือทางวาจา หรือทางใจที่ทำดี คือ ทำถูกศีล ทำชั่ว คือ ทำผิดศีลแล้ว มีอยู่ เธอทำถูกศีลผิดศีลก็จะสร้างผลอยู่ตลอดเวลา สร้างผลและรับผลหมดก็หมดไป พอสร้างผลแล้วเราต้องทำให้เกิดสาระประโยชน์ เราเข้าใจเรื่องกรรมดีกรรมชั่วอย่างแจ่มแจ้งแล้วต้องทำให้เกิดประโยชน์ให้ได้ ประโยชน์ของพุทธนั้นพระพุทธเจ้าตรัสกับพระมาลุงกยบุตรว่า ประโยชน์ของพุทธะคือต้องดับทุกข์ได้ ดับทุกข์ได้เป็นประโยชน์ ดับทุกข์ไม่ได้ไม่เป็นประโยชน์ สัจจะของพุทธะเป็นอย่างนี้

บางท่านเชื่อเรื่องกรรม แต่เอาความเชื่อความชัดเรื่องกรรมนั้นมาดับทุกข์ไม่เป็น ความจริง คือ เขาเชื่อแต่ไม่ชัด ไม่แจ่มแจ้ง เชื่อว่ากรรมดีกรรมชั่วมีจริง ทำดีได้ดีทำชั่วได้ชั่ว แต่ยังไม่รู้สภาพดีสภาพชั่วที่แจ่มแจ้ง ก็รู้ว่าทำดีได้ดีทำชั่วได้ชั่ว แต่เขายัง “ชอบชัง” เหมือนเดิมเพราะเขาไม่รู้ว่า “ชอบชัง” เป็นความชั่ว แปลว่า คนนี้เขาไม่รู้ความจริงอย่างแจ่มแจ้ง เขาไม่ได้รู้วิบากกรรมอย่างแจ่มแจ้งเพราะเขายังไม่รู้เลยว่าชอบชังเป็นความชั่ว เขาเชื่อว่ากรรมดีกรรมชั่วมีจริง ทำดีช่วยเหลือผู้อื่นเป็นเรื่องดี ทำร้ายผู้อื่นเป็นเรื่องไม่ดี เขาก็รู้แต่เขาไม่รู้ลึกไปถึงตัวชอบชังว่า ชอบชังในเรื่องนั้นเรื่องนี้ก็เป็นความชั่ว เขาก็ยังชอบยังชังในเรื่องนั้นเรื่องนี้อยู่เหมือนเดิม เขารู้ตื้น ๆ จะแจ้งเขาจะไม่มีทุกข์ แล้วเขานำมาใช้ดับทุกข์ไม่เป็นด้วย คนเหล่านี้เวลาเจอเรื่องร้ายเขานำความรู้เรื่องกรรมดีกรรมชั่วมาดับทุกข์ในระดับกัลยาณชน ยังรู้ไม่แจ่มแจ้ง ถ้าเขารู้ไม่เป็นนะ เวลาเจอเรื่องร้ายเขารู้นะว่าเป็นวิบากกรรมของเขา เขาก็บอกมันกรรมของเรา แต่ก็เศร้า เป็นกรรมของเราแต่ก็เศร้า คนแบบนี้จะไม่พ้นทุกข์ เขาเชื่อว่าเป็นกรรมไม่ดีของเขา แต่เขาไม่รู้ว่ากรรมอะไร เขาก็เลยเศร้า นี้เป็นสภาพที่ยังไม่สัมมาทิฏฐิเพราะเขายังไม่ได้ทำให้เกิดถึงประโยชน์ เพราะเขายังไม่สามารถทำให้เกิดประโยชน์

ในบุคคลผู้ที่มีปัญญาที่จะดับทุกข์ได้ เมื่อเจอเรื่องร้ายหรือกระทบกับผัสสะที่คนอื่นมาทำให้เกิดกิเลสความโกรธหรือความชิงชังรังเกียจ ผลที่เกิดขึ้นคือ เขาจะสามารถระงับหรือกำจัดกิเลสความโกรธหรือความชิงชังรังเกียจของเขาได้ เขาจะพิจารณาว่า “เราเคยทำมามากกว่านั้นหาที่ต้นที่สุดไม่ได้” เราชอบชังมาจนไปเบียดเบียนตัวเอง คนอื่น สัตว์อื่นมาแบบใดแบบหนึ่ง ตัวชอบชังเป็นรากเหง้าของการเบียดเบียนตนเอง คนอื่น สัตว์อื่นแบบใดแบบหนึ่ง การผิดศีลข้อ 1 ข้อ 2 ข้อ 3 หรือข้อ 4 ทำให้เบียดเบียนตัวเองด้วยกาย วาจา เพราะใจที่ยังชอบชังเรื่องใดเรื่องหนึ่งอยู่เลยไปทำผิดศีลทั้ง 5 ข้อ แล้วจึงเกิดความทุกข์ขึ้น ผู้มีปัญญาเขามั่นใจว่าเราเคยทำมา หาที่ต้นที่สุดไม่ได้ รับแล้วก็หมดไป เราก็จะโชคดีขึ้น เขาจะไม่เศร้า เกิดอะไรจงท่องไว้กูทำมา เขาก็จะเต็มใจรับ เต็มใจให้หมด ไปรับแล้วก็หมดไป เขาก็จะโชคดีขึ้น เขาจึงเบิกบานแจ่มใส ถ้าเจอหนักขึ้นไปอีกก็พิจารณาว่า รับเต็ม ๆ หมดเต็ม ๆ ตายก็ให้มันตาย เป็นไงเป็นกัน ไม่มีอะไรเป็นของใคร ไม่ต้องทุกข์ใจอะไร เบิกบานแจ่มใสดีกว่า แบบนี้ก็จะพ้นทุกข์ การใช้ความเชื่อความชัดเรื่องกรรมมาดับทุกข์ เป็นอย่างนี้การจะมีปัญญาถึงขั้นดับทุกข์ได้นี้จำเป็นต้องมีการศึกษาเรียนรู้ที่ถูกต้องถูกตรง ซึ่งพระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่าการศึกษายอดเยี่ยม

ที่สุดที่โลก คือ สิกขานุตตตริยะ ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 22 “อนุตตริยสูตร” ข้อที่ 301 คือ การศึกษาอธิศีล อธิจิต อธิปัญญา ในธรรมวินัยที่พระตถาคตประกาศแล้วการศึกษานี้ยอดเยี่ยมกว่าการศึกษาทั้งหลาย ย่อมเป็นไปพร้อมเพื่อความบริสุทธิ์แห่งสัตว์ทั้งหลาย หมายถึง การศึกษาเพื่อเพิ่มอธิศีล จนเกิดปัญญารู้ว่า ความคิดใดเป็นพุทธะ ดับทุกข์ได้ และรู้ว่าความคิดใดเป็นมาร ดับทุกข์ไม่ได้ จะต้องแยกให้ออก เมื่อสามารถแยกออกได้ ก็จะสอนมารได้ว่าคิดแบบเธอนั้นทุกข์ เดือดร้อนตัวเอง คนอื่น สัตว์อื่น คิดแบบพุทธะ จะผาสุกเป็นประโยชน์ต่อตนเอง คนอื่น สัตว์อื่น สอนมารไปเรื่อย ๆ มารก็ไม่อยากทุกข์เหมือนกัน มันก็บอกใช่ ๆๆ เถียงไม่สู้แล้ว สลายตัวเองดีกว่า ยอมตายดีกว่า ยกพลังให้พุทธะเลย ฉันเปลี่ยนเป็นพุทธะดีกว่า ไม่เอาแล้วคิดแบบมาร มารเขาก็ไม่โง่นะ จิตวิญญาณของเราก็จะมีความตั้งมั่น มีฌานเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ เรียกว่า สมาธิ หรืออธิจิต (พ่อครูสมณะโพธิรักษ์. 2558, กรกฎาคม 22 ) ดังนั้นถ้าเราสอนมารเขาดี ๆ เขาก็ฉลาดเหมือนกัน เขาก็ยอมสลายตัวเอง ไม่คิดแบบนั้นแล้วมาคิดแบบทุกท่านดีกว่า เป็นสุขกว่า เมื่อเขาก็มาทำแบบพุทธะ ชีวิตเราก็ผาสุก

บุคคลทั่วไปเมื่อมีคนมาทำไม่ดีกับเรา เขาจะคิดว่า ต้องเกลียดเขาสิ กิเลสมารเป็นผู้สอนเขาว่าต้องเกลียดเขา เสร็จแล้วก็เกลียดกัน กลัวเขาจะไม่แก้ไขตัวเอง ถ้าเขาแก้ไขตัวเอง ก็จะกลัวว่าแค่ชั่วคราว บางทีเขาสำนึกผิด แก้ไขตัวเองแล้ว ยังไม่สะใจเรา ก็ยังโกรธเกลียดเขาอยู่อย่างนั้น จองล้างจองผลาญอยู่อย่างนั้น สอดคล้องกับพระไตรปิฎก เล่มที่ 24 “อวิชชาสูตร” ข้อที่ 61 ท่านกล่าวว่า คนส่วนใหญ่ไม่พ้นทุกข์ เพราะไม่ได้เรียนกับผู้รู้ทางพ้นทุกข์ แม้จะจบปริญญาโทปริญญาเอกก็ยังทุกข์เหมือนเดิม ดูกรภิกษุทั้งหลายเราย่อมกล่าวอวิชชาว่ามีอาหารมิได้กล่าวว่าไม่มีอาหาร อาหาร คือ เครื่องบำรุงหล่อเลี้ยง เครื่องให้เกิดชีวิต เรากินอาหารทำให้มีชีวิต ทำให้มีกำลัง ก็อะไรเป็นอาหารของอวิชชา ความไม่รู้ พระพุทธเจ้าตรัสว่าอวิชชานำความทุกข์ทั้งมวลมาให้ ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 4 “ปฏิจจสมุปบาท” ข้อที่ 1 อวิชชาทำให้ต้องพบกองทุกข์ทั้งมวล จะต้องพบผู้รู้หรือสัตบุรุษ จึงจะพ้นทุกข์

สัจจะมีอยู่ว่า สิ่งที่มองเห็นไม่ใช่สิ่งที่มองเห็นนะ แต่ความจริงสิ่งที่มองไม่เห็นเป็นสิ่งที่ตรงกันข้ามกับสิ่งที่มองเห็น สิ่งที่มองเห็น คือ เขามาทำไม่ดีกับเรา แต่สิ่งที่เป็นความจริงแท้เป็นสิ่งที่มองไม่เห็น คือ วิบากร้ายของเรานั้น ยืมชีวิตเขามาทำไม่ดีกับเรา แท้ที่จริง เขาทำไม่ดีกับตัวเขาเอง จะเป็นวิบากร้ายของเขาเอง ที่เขาจะต้องไปรับผล แต่ที่มุมที่เราเห็นคือ เขามาทำไม่ดีกับเรา แต่ในความเป็นจริงคือ เขาทำไม่ดีกับตัวเขาเอง อยากให้สิ่งร้ายต่าง ๆ หมดเร็ว ก็ทำดีไม่มีถือสาไปเรื่อย ๆ เราก็หาทางช่วยเหลือ เมตตาเขา ให้เขาได้ทำในสิ่งที่ดี ๆ ได้เร็ว ๆ แต่ถ้าทำอะไรไม่ได้ก็ทำตัวอย่างที่ดีให้ดู เปิดเผยข้อมูลดี ๆ ออกไป เขาจะนำไปใช้ชาติไหนก็แล้วแต่เขา การคิดแบบนี้ก็เป็นบุญกุศลต่อเรา ใจก็ไม่ทุกข์ด้วย ได้กุศลด้วย ชีวิตจะมีแต่ดีไปข้างหน้า

การคิดแบบพระพุทธเจ้าหรือสาวกของพระพุทธเจ้า คิดทันทีพ้นทุกข์ทันที พิสูจน์ได้ในปัจจุบัน ไม่ต้องรอชาติไหน พ้นทุกข์ใจในปัจจุบันอย่างชัดเจน ร่างกายก็ดีขึ้น เรื่องร้ายก็ลดลง ไม่ใช่เรื่องธรรมดานะ ส่วนการถือสา คือ การก่อเวรเพิ่ม การถือสาเมื่อไร วิบากก็ไม่หมดไปจากชีวิตเรา ยิ่งถือยิ่งไม่หมด ปล่อยวาง แบให้ได้จะเบา ถือสาเป็นพลังก่อเวรใหม่ ไม่ถือสาได้เมื่อไร สิ่งนั้นจะเบาบาง ไม่ก่อเวรใหม่ (ใจเพชร กล้าจน. 2558, มิถุนายน 13)

จิตอาสาแพทย์วิถีธรรมมีการเรียนรู้และฝึกฝนตามครูบาอาจารย์ ซึ่งเดินตามรอยบาทพระศาสดา จิตอาสาแพทย์วิถีธรรม
ทุกท่านเรียนรู้ฝึกฝนร่วมกัน โดยการฟังธรรม ทบทวนธรรม สนทนาธรรม ใคร่ครวญธรรม และปฏิบัติมรรคมีองค์ 8 ในชีวิตประจำวันจนเกิดปัญญาที่สามารถล้างความโกรธและความชิงชังรังเกียจบุคคลอื่นได้ เริ่มจากการตั้งศีลมาปฏิบัติเพื่อทำให้จับอาการของกิเลสได้อย่างชัดเจน เมื่อจับกิเลสได้ก็พิจารณาล้างกิเลส ถ้าพิจารณาได้ถูกต้อง กำลังของกิเลสจะลดลง ซึ่งเราจะรู้สึกได้ด้วยตนเอง เพราะเกิดผลคือ ความทุกข์ในใจลดลง สุขภาพกายดีขึ้น และเหตุการณ์ร้าย ๆ ในชีวิตลดลง การใช้ธรรมะพิจารณาเพื่อการระงับหรือกำจัดกิเลสความโกรธหรือความชิงชังรังเกียจในบุคคลอื่น โดยเชื่อและชัดเรื่องกรรมอย่างแจ่มแจ้ง ทำให้ล้างความโกรธและล้างความชิงชังรังเกียจบุคคลอื่นได้ เพราะสิ่งที่เราได้รับ คือสิ่งที่เราทำมา และผลที่เกิดขึ้นจากการระงับหรือกำจัดกิเลสความโกรธหรือความชิงชังรังเกียจในบุคคลอื่นได้ ทำให้แต่ละท่านมีชีวิตที่พอเพียงเรียบง่าย ร่างกายที่แข็งแรง จิตใจที่ดีงาม และจิตใจที่เป็นสุขเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ

ข้อเสนอแนะ

       ควรศึกษาต่อในเชิงปริมาณ ในรูปแบบ Factor Analysis เพื่อวิเคราะห์องค์ประกอบของปัจจัยที่ทำให้จิตอาสาแพทย์วิถีธรรมล้างกิเลสความชิงชังรังเกียจในบุคคลอื่นได้

อ้างอิง
กรมการศาสนา. (2541). พระไตรปิฎกฉบับสยามรัฐ. กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย.
ใจเพชร กล้าจน. (2561, สิงหาคม 18). ประธานมูลนิธิแพทย์วิถีธรรมแห่งประเทศไทย. สัมภาษณ์.
ชาย โพธิสิตา. (2552). ศาสตร์และศิลป์แห่งการวิจัยเชิงคุณภาพ. กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้ง ฯ.
พระครูสังฆรักษ์ประนอม จตฺตมโล (กลักย้อม). (2556).

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *