บททบทวนธรรม อัพเดท ตามวารสารวิชชาการวิชชาราม ฉบับที่ ๒
บททบทวนธรรมเพื่อการสร้างจิตวิญญาณให้ผาสุกที่สุดในโลก
ดร.ใจเพชร กล้าจน (หมอเขียว)
- เรื่องการเข้าใจผิดของเรากับผู้อื่น เราต้องระลึกรู้ว่า มันคือวิบากกรรมเขา วิบากกรรมเรา แก้ไขได้ด้วยการทำดีไม่มีถือสาไปเรื่อย ๆ แล้ววันใดวันหนึ่งข้างหน้า ในชาตินี้ หรือชาติหน้า หรือชาติอื่น ๆ สืบไป ความเข้าใจผิดนั้นก็จะหมดไปเอง
- เราต้องรู้ว่าแต่ละคนมีฐานจิตแตกต่างกัน เราจึงควรประมาณการกระทำให้เหมาะสมกับ ฐานจิตของเรา และฐานจิตของผู้อื่น “คิดดี พูดดี ทำดีไว้ก่อน” ดีที่สุด
- การกระทำเดียวกัน มีเหตุผลในการกระทำกว่าล้านเหตุผล ต้องระวัง “อคติหรือ ความเข้าใจผิด จากการคาดเดาที่ผิดของเรา”
- สิ่งที่เราได้รับ คือสิ่งที่เราทำมา ไม่มีสิ่งใดที่เราได้รับ โดยที่เราไม่เคยทำมา
- ถ้าเรายังไม่เข้าใจคนอื่น แสดงว่าเรายังไม่เข้าใจตนเอง
- เมื่อเกิดสิ่งเลวร้ายกับเรา โลกนี้ไม่มีใครผิดต่อเรา เราเท่านั้นที่ผิดต่อเรา คนอื่นที่ทำไม่ดีนั้น เขาผิดต่อตัวเขาเองเท่านั้น และเขาก็ต้องได้รับวิบากร้ายนั้นเอง เขาจึงไม่ได้ผิดต่อเรา แต่เขานั้นผิดต่อตัวเขาเอง ถ้าเรายังเห็นว่าคนที่ทำไม่ดีกับเรา เป็นคนผิดต่อเรา แสดงว่าเรานั่นแหละผิด อย่าโทษใครในโลกใบนี้ ผู้ใดที่โทษผู้อื่นว่าผิดต่อตัวเรา จะไม่มีทางบรรลุธรรม นี่คือคนที่ไม่ยอมรับความจริง เพราะไม่เข้าใจเรื่อง “กรรม” อย่างแจ่มแจ้งว่า “ทุกสิ่งทุกอย่างที่ทุกคนได้รับ ล้วนเกิดจากการกระทำของตนเองเท่านั้น เมื่อรับผลดีร้ายจากการกระทำแล้ว ผลนั้นก็จบดับไป และสุดท้ายเมื่อปรินิพพาน ทุกคนก็ต้องสูญจากทั้งดีและร้ายไป ไม่มีอะไรเป็นสมบัติของใคร เพราะสุดท้ายทุกสิ่ง ทุกอย่างก็ต้องดับไป จึงไม่ต้องยึดมั่นถือมั่น ไม่ต้องทุกข์กับอะไร”
- การได้พบกับเหตุการณ์ที่ไม่ถูกใจเรา ไม่ได้ดั่งใจเรา เป็นสุดยอดแห่งเครื่องมืออัน ล้ำค่า ที่ทำให้ได้ฝึกล้างกิเลส คือ ความหลงชิงชังรังเกียจ หลงยึดมั่นถือมั่นในใจเรา และ ทำให้ได้ล้างวิบากร้ายของเรา
- เมื่อเกิดสิ่งเลวร้ายกับเรา ไม่มีอะไรบังเอิญ ทุกอย่างยุติธรรมเสมอ เพราะเราเคยทำเช่นนั้นมามากกว่านั้น เมื่อได้รับแล้วก็หมดไป เราก็จะโชคดีขึ้น
- เรามีหน้าที่ทำแต่ละสิ่งแต่ละอย่าง ให้อยู่ในสภาพที่ดีที่สุด เท่าที่จะพึงทำได้ ให้โลกและเราได้อาศัย ก่อนที่ทุกสิ่งทุกอย่างจะดับไปเท่านั้น
- เราทำดีด้วยการช่วยไม่ให้คนอื่นทำผิดได้ “ก็ช่วย” แล้ว “วาง” ให้เป็นไปตามวิบากดีของเขา “ช่วยไม่ได้” ก็ “วาง” ให้เป็นไปตามวิบากร้ายของเขา เมื่อเขาเห็นทุกข์จนเกินทน จึงจะเห็นธรรม แล้วจะปฏิบัติธรรมสู่ความพ้นทุกข์
- สิ่งที่มองไม่เห็น ที่ทำหน้าที่สร้างสิ่งที่มองเห็น และสิ่งที่เป็นอยู่ทุกอย่างในชีวิตของคน คือ พลังวิบากดีร้ายที่เกิดจากการกระทำทางกาย หรือวาจา หรือใจของผู้นั้น ในอดีตชาติและชาตินี้สังเคราะห์กันอย่างละหนึ่งส่วน
- ถ้าใครมีปัญหาหรือความเจ็บป่วยในชีวิต ให้ทำความดี 4 อย่างนี้ ด้วยความยินดี จริงใจ จะช่วยให้ปัญหาหรือความเจ็บป่วย ลดลงได้เร็ว
1) สำนึกผิด หรือยอมรับผิด
2) ขอโทษ หรือขออโหสิกรรม
3) ตั้งจิตหยุดสิ่งที่ไม่ดีอันนั้น
4) ตั้งจิตทำความดีให้มาก ๆ คือ ลดกิเลสให้มาก ๆ เกื้อกูลผองชนและหมู่สัตว์ให้มาก ๆ - การพิจารณาเพื่อปราบมาร คือ ความกลัว เวลาเจ็บป่วย หรือ พบเรื่องร้ายจะทำให้ดับทุกข์ใจ ทุกข์กาย และเรื่องร้าย ได้ดีที่สุด คือทำใจว่า รับเต็ม ๆ หมดเต็ม ๆ เจ็บ…ก็ให้มันเจ็บ ปวด…ก็ให้มันปวด ทรมาน…ก็ให้มันทรมาน ตาย…ก็ให้มันตาย เป็นไงเป็นกัน รับเท่าไหร่หมดเท่านั้น เพราะสุดท้ายทุกอย่างก็ดับไป ไม่มีอะไรเป็นของใคร จะทุกข์ใจไปทำไม ไม่มีอะไรต้องทุกข์ใจ “ เบิกบาน แจ่มใส ดีกว่า ”
- เทคนิคทำใจให้หายโรคเร็ว คือ อย่าโกรธ อย่ากลัวเป็น อย่ากลัวตาย อย่ากลัวโรค อย่าเร่งผล อย่ากังวล
- วิธีการ 5 ข้อในการแก้ปัญหาทุกปัญหาในโลก คือ
1) คบมิตรดี
2) มีศีล
3) ทำสมดุลร้อนเย็น
4) พึ่งตน
5) แบ่งปันด้วยใจที่บริสุทธิ์ - ตัวชี้วัดว่า วิธีนั้นถูกกันกับผู้นั้น ทำให้สุขภาพดี คือ สบาย เบากาย มีกำลัง เป็นอยู่ผาสุก ตัวชี้วัดว่า วิธีนั้นไม่ถูกกันกับผู้นั้น ทำให้เสียสุขภาพ คือ ไม่สบาย ไม่เบากาย ไม่มีกำลัง ไม่ผาสุก หรือทุกข์ทรมาน
- ตัวชี้วัดว่า อาหารที่สมดุลร้อนเย็น เป็นประโยชน์ จะทำให้มีโรคน้อย มีทุกข์น้อย คือ เบาท้อง สบาย เบากาย มีกำลัง อิ่มนาน ตัวชี้วัดว่า อาหารที่ไม่สมดุลร้อนเย็น เป็นโทษ จะทำให้มีโรคมาก มีทุกข์มาก คือ
หนักท้อง ไม่สบาย ไม่เบากาย ไม่มีกำลัง หิวเร็ว - 18. หลักการทำดีอย่างมีสุข 6 ข้อ
1) รู้ว่าอะไรดีที่สุด
2) ปรารถนาให้เกิดสิ่งที่ดีที่สุด
3) ปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่น แล้วลงมือทำให้ดีที่สุด
4) ยินดีเมื่อได้ทำให้ดีที่สุดแล้ว
5) ไม่ติดไม่ยึดมั่นถือมั่นในสิ่งที่ดีที่สุด
6) นั่นแหละคือสิ่งที่ดีที่สุด - ทำดีให้มาก ๆ เพื่อจะให้ดีชิงออกฤทธิ์แทนร้าย ที่เราเคยพลาดทำมาในชาตินี้หรือชาติก่อน ๆ จะได้มีดีไว้ใช้ในปัจจุบันและอนาคต ในชาตินี้และชาติอื่น ๆ สืบไป
- ยึดอาศัย “ดี” ที่สามารถทำให้เกิดขึ้นได้จริง” “นั้นดี” แต่ยึดมั่นถือมั่นว่า ต้องเกิด “ดี” ดั่งใจหมาย ทั้ง ๆ ที่องค์ประกอบเหตุปัจจัย ณ เวลานั้น “ไม่สามารถทำให้ดีนั้นเกิดขึ้นได้จริง” “นั้นไม่ดี”
- จงทำดีเต็มที่ เหนื่อยเต็มที่ สุขเต็มที่ ไม่มีอะไรคาใจ ไม่เอาอะไร คือสุดยอดแห่ง “ความอิ่มเอิบเบิกบานแจ่มใส” สาธุ…
สุดยอดวาทะแห่งปี
- ปัญหาทั้งหมดในโลก เกิดจาก คน “โง่” กว่ากิเลส
- ยินดีในความไม่ชอบไม่ชัง ได้พลังสุด ๆ ได้สุขสุด ๆ
- ยินดีในความชอบชัง เสียพลังสุด ๆ ได้ทุกข์สุด ๆ
- ทำร้ายเขามาตั้งมากตั้งมาย ยังมีหน้ามาโกรธมาเกลียดเขาอีก มันชั่วเกินไปแล้วเรา
- ทีทำชั่ว ยังมีเวลาทำ ทีทำดี ทำไมไม่มีเวลาทำ
- อยากได้สิ่งใด จงคิดสิ่งนั้น กับผู้อื่น
- เกิดอะไร จงท่องไว้ “กูทำมา”
- คนที่แพ้ไม่ได้ พลาดไม่ได้ พร่องไม่ได้ ทุกข์ตายเลย “โง่ที่สุด”
- คนที่แพ้ก็ได้ ชนะก็ได้พลาดก็ได้ ไม่พลาดก็ได้ พร่องก็ได้ ไม่พร่องก็ได้ สบายใจจริง “ฉลาดที่สุด”
- ถามว่า ตั้งใจทำดี ทำไมได้แค่นี้ ตอบว่า เพราะทำชั่วมามาก
- ถามว่า มากแค่ไหน ตอบว่า หาที่ต้นที่สุดไม่ได้
- ถามว่า แล้วจะทำอย่างไร ตอบว่า อดทน รอคอย ให้อภัย ทำดีเรื่อยไป ใจเย็นข้ามชาติ
- เก่งศีลเป็นสุข ไม่เก่งศีลเป็นทุกข์ อยากเป็นสุข จงติเตียนการผิดศีล จงยกย่องการถูกศีล
- ทุกเสี้ยววินาที ทุกอย่างไม่เที่ยง อย่ายึดมั่นถือมั่น ต้องพร้อมรับ พร้อมรับ พร้อมเปลี่ยนตลอดเวลา
- สมบูรณ์และทันใช้ ดีที่สุด พร่องแต่ทันการณ์ ดีกว่าสมบูรณ์ แต่ไม่ทันใช้ สมบูรณ์แต่ไม่ทันใช้ ไม่มีประโยชน์อะไร เร็วและพร่อง แล้วเกิดผลดีมากกว่าผลเสีย นั้นดี แต่เกิดผลเสียมากกว่าผลดี นั้นไม่ดี
- เย่ ๆ ๆ ดีใจจัง ไม่ได้ดังใจ (วิบากหมด กิเลสตาย ได้กุศล)
- แย่ ๆ ๆ ซวยแน่เรา เอาแต่ใจ (วิบากเพิ่ม กิเลสพอก งอกอกุศล)
- เย่ ๆ ๆ ไม่หวั่นไหว ใจเป็นสุข
- “ให้” แล้วคิดจะไม่เอาอะไรจากใคร ให้ได้ (กล่าวทั้งหมด 3 ครั้ง)
- รวมพลัง พวธ. (ขานรับว่า) พลัง พวธ (กล่าวทั้งหมด 3 ครั้ง ) … คิดดี พูดดี ทำดี เสนอดี สลายอัตตา สามัคคี นี้ผาสุก เย่!
- จงเบิกบาน… เบิกบาน… และเบิกบาน… จนเบิกบานอย่างเป็นอมตะธรรม
สาธุ