ทบทวนธรรมกับ เรื่องเล่าจากพุทธกาล

ทบทวนธรรมกับ เรื่องเล่าจากพุทธกาล ; น้อมพรฟ้า

“กว่าจะเป็นพระอรหันต์…เอตทัคคะในพุทธกาล

ในวัยเรียนผู้เขียนอ่านหนังสือนิยายเป็นงานอดิเรก มีจินตนาการเสมือนอยู่ร่วมในเหตุการณ์ มีอารมณ์สุขทุกข์ร่วมไปกับตัวละคร จำได้ว่า บางตอนสุขก็อ่านไปอมยิ้มไป แต่บางตอนเศร้ามากก็อ่านไปน้ำตาไหลไป เก็บข้อคิดสอนใจจากการอ่านนิยายได้ว่าเพียงว่า “ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว” และเราจะทำตามแบบคนดีในเรื่องซึ่งส่วนใหญ่ก็คือนางเอกพระเอกของเรื่อง นั่นคือประสบการณ์การอ่านนิยายชีวิตแบบโลกียะ ซึ่งตอนนั้นผู้เขียนยังไม่รู้จักคำว่า “โลกียะและโลกุตระ” เมื่อผ่านวัยเรียน มาสู่วัยทำงานผู้เขียนก็ไม่มีเวลาอ่านนิยาย จึงหยุดอ่านโดยไม่ได้รู้สึกเสียดาย เหมือนหมดเวลาแห่งความฝันมาสู่โลกแห่งความจริงของชีวิต

เมื่อไม่นานมานี้ ผู้เขียนเริ่มอ่านเรื่องราวของพระอรหันต์แต่ละพระองค์ในพุทธกาลจากหนังสือและจากสื่ออินเตอร์เนต ผู้เขียนรู้สึกเสมือนได้อยู่ร่วมในเหตุการณ์สมัยพุทธกาล เรื่องที่อ่านเป็นเรื่องของพระอรหันต์ที่เป็นเอตทัคคะ หรือพระพุทธเจ้าประกาศว่าเป็นผู้มีความเป็นเลิศด้านต่าง ๆ  แต่ละพระองค์มีความสำคัญ และสัมพันธ์ใกล้ชิดกับพระพุทธเจ้า และเมื่อได้อ่านเรื่องราวของหลายพระองค์ก็พบว่า ท่านมีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน มีความรู้สึกเหมือนอ่านนิยายเรื่องยาวในวัยเรียน ต่างกันที่ครั้งนี้เป็นประสบการณ์การอ่านนิยายชีวิตแบบโลกุตระ ผู้เขียนได้รับประโยชน์จากการอ่านเพราะเป็นประโยชน์แบบโลกุตระ คือ ได้อริยทรัพย์หรือทรัพย์แท้อันประเสริฐของมนุษย์ (คือศรัทธา ศีล หิริ โอตตัปปะ สุตะ จาคะ ปัญญา) ซึ่งผู้เขียนจะสรุปอาริยทรัพย์ที่ได้รับในตอนท้ายของเรื่อง

ผู้เขียนได้เล่าเรื่องราวของพระอรหันต์ให้เพื่อนพี่น้องผู้ใกล้ชิดฟังเมื่อมีโอกาสเหมาะควร ผู้ฟังบอกว่ารู้สึกสนุกดี ได้สารประโยชน์ และอยากอ่านเรื่องของพระอรหันต์บ้าง บางท่านบอกว่าชอบฟังการเล่ามากกว่าอ่านเอง เพราะได้นอนฟังเหมือนเด็กอนุบาลฟังนิทานก่อนนอน ส่วนผู้เขียนรู้สึกมีความสุขเหมือนได้เล่าเรื่องราวของบุคคลที่เรารู้จักคุ้นเคยให้เพื่อนฟัง มีผู้สนับสนุนให้เขียนเล่าเรื่องลงวารสารวิชาการวิชชาราม จึงลองทำดู การเล่าเรื่องและการเขียนมีความแตกต่างกันมาก ผู้เขียนตั้งจิตว่า “เมื่อเราได้อริยทรัพย์มา ก็ควรแบ่งปันอริยทรัพย์นี้ให้กระจายไป เต็มกำลังเท่าที่เราจะทำได้” ขอเชิญท่านผู้อ่านลองติดตาม แล้วมาสรุปท้ายเรื่องกันว่า ท่านได้อริยทรัพย์ใดบ้างจากเรื่องราวนี้

ฉบับนี้ผู้เขียนขอเล่าเรื่องของท่าน พระกุณฑธานเถระ ซึ่งผู้เขียนเห็นสาระและแง่มุมที่เป็นสาระประโยชน์หลายแง่มุม โดยเฉพาะเป็นตัวอย่างของบททบทวนธรรมข้อที่ 1 เรื่องการเข้าใจผิดของเรากับผู้อื่น และข้ออื่น ๆ ที่เน้นกล่าวถึงเรื่องกรรมและผลของกรรม (วิบาก) ได้เป็นอย่างดี

เรื่องมีอยู่ว่า…

ในอดีตชาติสมัยพระพุทธเจ้าพระนามว่า ปทุมุตตระ

พระกุณฑธานเถระ เกิดเป็นผู้ดีมีสกุลของนครหงสวดี มีโอกาสเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าเป็นประจำ ได้เห็นการแต่งตั้งพระภิกษุรูปหนึ่ง ให้เป็นภิกษุผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายในด้านการได้สลากก่อน เขาปรารถนาตำแหน่งนั้นบ้าง จึงพากเพียรกระทำบุญอยู่เสมอ ๆ เขามีโอกาสยิ่งใหญ่ เคยนำผลกล้วยใบใหญ่เครืองามถวายพระพุทธเจ้า หลังพระองค์ออกจากที่ประทับ ที่ทรงหลีกเร้นอยู่ 7 วัน พระองค์ทรงรับไว้แล้วเสวย จิตใจเขาเลื่อมใสยินดียิ่งนัก พระพุทธองค์ตรัสว่า

“จงฟังคำเรา ผู้บำรุงพระพุทธเจ้า จะได้เป็นใหญ่ในหมู่คนที่มีจิตใจสูง (เทวดา) 11 ครั้ง จะได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ 24 ครั้ง และอีก 1 แสนกัปนับจากนี้ จะได้เป็นพระสาวกของพระพุทธเจ้าองค์สมณะโคดม โดยจะมีชื่อตามผลแห่งกรรมว่า กุณฑธานะ”

ในสมัยพระพุทธเจ้าพระนามว่า กัสสปะ

ท่านธานะเกิดเป็นภุมเทวดา (เทวดาเจ้าที่) เห็นพระภิกษุ 2 รูป มีความรักใคร่และสามัคคีกันอย่างมาก ไม่ว่าจะไปที่ไหน ๆ ทั้งสองมักจะไปด้วยกันเสมอ จึงคิดที่จะทดลองใจท่านทั้งสองดูว่า “จะชอบพอกันมั่นคงเพียงไหน มีอะไรที่จะทำให้ท่านแตกแยกกันได้หรือไม่”

เทวดาจึงรอโอกาสอยู่จนถึงวันอุโบสถวันหนึ่ง เห็นท่านทั้งสองเดินทางมาเพื่อร่วมทำอุโบสถสังฆกรรม ณ อารามแห่งหนึ่ง ในระหว่างทางภิกษุรูปที่หนึ่งขอโอกาสเข้าไปถ่ายอุจจาระในป่าข้างทาง ส่วนภิกษุรูปที่สองรอคอยอยู่ข้างนอก ภุมเทวดาเห็นเป็นโอกาสดี เมื่อภิกษุรูปที่หนึ่งเข้าไปถ่ายอุจจาระในป่าเดินกลับออกมา จึงแปลงร่างเป็นหญิงสาวสวยเดินตามหลังท่านออกมาจากป่าด้วย พร้อมกับแสดงกิริยาอาการเหมือนกับว่าเพิ่งผ่านการสำเร็จกามกิจกับท่านมา มีการจัดผ้านุ่งและจัดผม เป็นต้น ส่วนตัวภิกษุรูปที่หนึ่งนั้นไม่รู้ไม่เห็นเลย แต่เพื่อนภิกษุรูปที่สองที่ยืนรอคอยอยู่นั้นมองเห็นชัดเจน เมื่อท่านออกมาจากป่า จึงถูกภิกษุรูปที่สองต่อว่าและกล่าวโทษตามที่ตนเห็นนั้น จึงเกิดการโต้เถียงกันรุนแรง กล่าวโทษตามที่ตนเห็นนั้น จึงเกิดการโต้เถียงกันรุนแรงขึ้น

ภิกษุรูปที่สอง “ท่านจงรับบาตรของท่านไปเถอะ ผมไม่ต้องการคบกับพระลามกเช่นท่านอีกต่อไป”

ภิกษุรูปที่หนึ่ง “ท่านพูดอะไรอย่างนั้น ผมกระทำกรรมลามกอันใดหรือ”

ภิกษุรูปที่สอง “ท่านกระทำกรรมอันลามกกับมาตุคาม (ผู้หญิง) ในพุ่มไม้ แล้วจึงออกมาด้วยกัน”

ภิกษุรูปที่หนึ่ง “ ไม่มีเรื่องนั้นเลย ผมไม่เห็นมีมาตุคาม (ผู้หญิง) แม้แต่คนเดียว”

แม้ภิกษุรูปที่หนึ่งผู้ตกเป็นจำเลยจะกล่าวความจริงสักกี่ครั้งก็ตาม เพื่อนภิกษุก็ไม่เชื่อถ้อยคำทั้งสิ้น ยึดตามสองตาที่มองเห็น แยกเดินไปตามลำพัง เมื่อถึงเวลาเข้าสู่โรงอุโบสถ ภิกษุรูปที่หนึ่งเข้าสู่โรงอุโบสถด้วย ภิกษุรูปที่สองไม่ชอบใจ ไม่ยอมร่วมทำอุโบสถสังฆกรรมด้วย ออกมายืนนอกโรงอุโบสถ ภุมเทวดาผู้เป็นต้นเหตุนั้น เห็นเหตุการณ์ลุกลามไปอย่างนั้น รู้สึกสำนึกผิด จึงเข้าไปแจ้งความจริงแก่ภิกษุรูปที่สอง จึงได้ร่วมทำอุโบสถสังฆกรรมกันได้ แต่ความรักและความสนิทสนมระหว่างเพื่อนภิกษุทั้งสองรูปนั้น ไม่เป็นไปตามเดิม ต่างแยกกันอยู่แยกกันเดินทางแยกกันปฏิบัติกิจปฏิบัติธรรม พระภิกษุรูปที่หนึ่งผู้โดนแกล้ง ได้พากเพียรวิปัสสนา (ฝึกอบรมปัญญาให้เกิดความรู้แจ้งเห็นจริง) จนได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ในที่สุด

ด้วยผลกรรมอันนั้น ภุมเทวดาจึงต้องตกอยู่ในอบายตลอดพุทธันดรหนึ่ง (นานจนกว่าศาสนาของพระกัสสปะพุทธเจ้าสูญสิ้นไป) และเมื่อมาเกิดเป็นมนุษย์ ก็จะโดนใส่ร้ายป้ายโทษ กรรมที่ตนมิได้กระทำอยู่ตลอดเวลา

ในสมัยพระพุทธเจ้าองค์สมณโคดม

ท่าน “ธานะ” เกิดเป็นบุตรพราหมณ์ ในเมืองสาวัตถี ได้ศึกษาศิลปะวิทยาจบไตรเพท (คัมภีร์สูงสุดศักดิ์สิทธิ์ของพราหมณ์) เมื่ออายุมากแล้วท่านได้มีโอกาสฟังพระธรรมจากพระบรมศาสดาแล้วเกิดศรัทธาเลื่อมใส กราบทูลขอบวชในพระพุทธศาสนา เมื่อท่านได้บวชแล้ว ด้วยเศษแห่งผลกรรมของท่านนั้น ปรากฏว่าไม่ว่าท่านจะอยู่ในกุฏิที่พัก หรือไปในที่อื่น ๆ แม้แต่เวลาที่ท่านออกบิณฑบาตตามหมู่บ้านก็ตามที จะมีหญิงสาวรูปร่างสวยงามเดินตามเป็นเงาตามตัวท่านอยู่ตลอดเวลา สำหรับท่านเองนั้นมองไม่เห็น แต่คนอื่น ๆ ทั่วไปจะเห็นกันอย่างชัดเจน เมื่อท่านเข้าไปบิณฑบาตในหมู่บ้าน ประชาชนที่ใส่บาตรก็จะพากันพูดว่า

“ส่วนนี้เป็นของท่าน อีกส่วนหนึ่งนี้เป็นของหญิงสหายที่ติดตามท่าน”

เวลาที่ท่านอยู่ในวัดก็จะถูกเพื่อนสหธรรมิก (ผู้ประพฤติธรรมร่วมกัน) พูดจาเสียดสีท่านว่า “คนกุณฑะ” (กุณฑะ หมายถึง เหี้ย หรือคนเลวทรามชั่วช้า) ดังนั้น ท่านจึงได้ชื่อว่า “กุณฑธานะ”

พระกุณฑธานะ ตัวท่านเองไม่เห็น และไม่ทราบเลยว่ามีหญิงสาวติดตามท่านอยู่เสมอ เมื่อท่านได้ฟังประชาชน และการที่เพื่อน ๆ สหธรรมิกพูดจาเสียดสีว่าท่านเป็นคนชั่วช้านั้น ทำให้ท่านเกิดความหงุดหงิดรำคาญใจ ท่านจึงพูดโต้ตอบขึ้นด้วยถ้อยคำรุนแรง จนเป็นเหตุให้ทะเลาะกัน

พระธานเถระ “พวกท่านสิเป็นบ้า เป็นเหี้ย อาจารย์ก็บ้า ก็เหี้ย อุปัชฌาย์ก็บ้า ก็เหี้ย

พระบรมศาสดา ทรงทราบความรับสั่งให้ท่านเข้าเฝ้าแล้วตรัสตักเตือน

พระพุทธเจ้า “ดูก่อนธานะ เธอกล่าวคำหยาบช้ากับพระภิกษุทั้งหลายจริงหรือ”

พระธานะเถระ “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เป็นความจริงพระเจ้าข้า”

พระพุทธเจ้า “ก็แล้วเหตุใดเธอจึงกล่าวอย่างนั้นเล่า”

พระธานเถระ “เพราะข้าพระองค์อดทน อดกลั้นคำเย้ยหยันเป็นประจำไม่ได้ ต้องอึดอัดขัดเคืองใจนัก”

พระพุทธเจ้า “ดูก่อนธานะ กรรมเก่าของเธอยังชดใช้ไม่หมด ไฉนเธอจึงสร้างกรรมใหม่อีก เธออย่าได้กล่าวคำหยาบกับใคร ๆ เลย เพราะผู้ที่ถูกเธอกล่าวคำหยาบ ย่อมกล่าวโต้ตอบเธอ อันถ้อยคำหยาบที่เอาชนะกันทำให้เกิดทุกข์ ถ้าเธอทำตนไม่หวั่นไหวได้แล้ว เธอจะเข้าถึงนิพพาน ความเอาชนะกันจะไม่มีแก่เธอ”

จากนั้น พระพุทธองค์ได้ตรัสเล่ากรรมเก่าในอดีตให้ท่านฟัง

พระเจ้าปเสนทิโกศลเสด็จพิสูจน์ความจริง

เรื่องราวของท่านนั้นทราบไปถึงพระเจ้าปเสนทิโกศล ผู้เป็นองค์พุทธศาสนูปถัมภ์ ทรงมีพระดำริที่จะกำจัดมลทินพุทธศาสนาให้สิ้นไป จึงเสด็จไปยังที่อยู่ของพระธานเถระ ขณะนั้น พระธานเถระอยู่ในห้อง เมื่อทราบว่าพระราชาเสด็จมาจึงออกไปรับเสด็จข้างนอก ภาพที่พระเจ้าปเสนทิโกศได้ทอดพระเนตรเห็นก็คือภาพหญิงสาวยืนอยู่ข้างหลัง พระธานเถระสมจริงดังข่าวลือ จึงเสด็จเข้าไปใกล้ ๆเพื่อทอดพระเนตรให้เห็นชัด แต่ภาพนั้นกลับหายไป จึงขออนุญาตท่านเข้าไปตรวจดูภายในห้องทรงตรวจดูด้วยพระองค์เองอย่างละเอียด แต่ก็ไม่พบหญิงสาวคนนั้น จึงเสด็จออกมาข้างนอก ประทับยืนที่เดิม ก็ทรงทอดพระเนตรเห็นภาพหญิงสาวนั้นเหมือนเดิมอีก พระองค์ทรงทดลองเสด็จพระดำเนินเข้า ๆ ออก ๆ หลายครั้ง จนแน่พระทัยว่า รูปหญิงสาวนั้นไม่ใช่ของจริง คงเป็นรูปที่เกิดขึ้นจากกรรมเก่าของท่านเอง ทรงแน่พระทัยว่ามิใช่ความประพฤติผิดลามกอย่างที่เป็นข่าวลือกัน ทรงพระดำริว่า “พระเถระคงจะลำบากด้วยอาหารบิณฑบาตอันเนื่องจากประชาชนรังเกียจท่าน” จึงกราบนมัสการนิมนต์ให้ท่านเข้าไปบิณฑบาตในพระราชวังทุกวัน ทรงให้ความอุปถัมภ์บำรุงท่านด้วยปัจจัย 4 มิให้ท่านต้องวิตกกังวลใด ๆ อีกต่อไป

 สุขภาพกายดี จิตก็ดีด้วย

พระกุณฑธานเถระ ตั้งแต่นั้นมา ท่านมีสุขภาพร่างกายแข็งแรง เพราะได้รับอาหารที่ดี สุขภาพจิตก็ดีขึ้น เพราะไม่มีคำพูดเสียดสี ต่อว่า เยาะเย้ยเป็นต้น ท่านจึงมีโอกาสบำเพ็ญวิปัสสนากรรมฐานอย่างเคร่งครัด ไม่นานนักก็ได้บรรลุพระอรหัตตผล และตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา รูปหญิงสาวก็หายไปไม่ปรากฏอีกเลย

#พระกุณฑธานเถระ เอตทัคคะ เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย ในทางผู้จับสลากเป็นที่หนึ่ง พระกุณฑธานเถระ ท่านนี้ได้รับการสถาปนาจากพระบรมศาสดาให้อยู่ในตำแหน่งที่เป็นเลิศกว่าเหล่าภิกษุสาวกทั้งหลายผู้รับสลากก่อน นั้นก็เนื่องด้วยเหตุ 2 ประการคือ อัตถุปปัติเหตุ (เหตุเกิดเรื่อง) คือ ท่านได้จับสลากภัตได้ที่ 1 ถึงสามครั้ง คือเมื่อพระศาสดาจะเสด็จไปสู่อุคคนคร ในกิจนิมนต์ของนางมหาสุภัททา 1 เมื่อเสด็จไปสู่เมืองสาเกต ในกิจนิมนต์ของนางจุลสุภัททา 1 เมื่อเสด็จไปสู่สุนาปรันตชนบท 1 ในกิจนิมนต์ของพระปุณณเถระ ซึ่งในการไปในกิจนิมนต์แต่ละแห่ง ต้องการแต่พระขีณาสพ (อรหันต์) ล้วน ๆ 500 องค์ ดังนี้ เพราะเหตุนั้น ท่านจึงชื่อว่าเป็น ยอดของเหล่าภิกษุสาวกผู้รับสลากก่อน และอีกเหตุหนึ่งก็คือเนื่องด้วยท่านได้ตั้งความปรารถนาในตำแหน่งนั้นตลอดแสนกัป

ท่านดำรงอายุสังขาร ช่วยเหลือกิจการพระศาสนาสมควรแก่กาลเวลาแล้วก็ดับขันธปรินิพพาน

#เมื่อวิเคราะห์และสังเคราะห์เรื่องราว ผู้เขียนเก็บอริยทรัพย์หรือทรัพย์แท้อันประเสริฐของมนุษย์ ได้ดังนี้

  1. ศรัทธา (ความเชื่อมั่นอย่างสัมมาทิฎฐิ) เรื่องราวสื่อให้เชื่อชัดในเรื่องกรรม สอดคล้องกับบททบทวนธรรมข้อที่ 1 ที่ อาจารย์ ดร.ใจเพชร กล้าจน (หมอเขียว) แปลจากพระไตรปิฎกเป็นภาษาที่เข้าใจง่ายในปัจจุบัน ข้อความว่า ข้อที่ 1 “เรื่องการเข้าใจผิดของเรากับผู้อื่น เราต้องระลึกรู้ว่า มันคือวิบากกรรมเขา วิบากกรรมเรา แก้ไขได้ด้วยการทำดี ไม่มีถือสาไปเรื่อยๆ แล้ววันใดวันหนึ่ง ข้างหน้า ในชาตินี้หรือชาติหน้า หรือชาติอื่นๆ สืบไป ความเข้าใจผิดนั้น ก็จะหมดไปเอง” และข้อที่ 4 “สิ่งที่เราได้รับ คือสิ่งที่เราทำมา ไม่มีสิ่งใดที่เราได้รับ โดยที่เราไม่เคยทำมาม สอดคล้องกับพระไตรปิฎก เล่มที่ 14 “จูฬกัมมวิภังคสูตร” ข้อที่ 581 “พระผู้มีพระภาคตรัส (กับสุภมาณพ โตเทยยบุตร) ว่า ดูกรมาณพ สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของตน เป็นทายาทแห่งกรรม มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย กรรมย่อมจำแนกสัตว์ให้เลวและประณีตได้ ฯ และสอดคล้องกับพระไตรปิฎกเล่มที่ 37 “นัตถิ อรหโต อกาลมัจจูติกถา” ข้อ 1698 “พระผู้มีพระภาคได้ตรัสไว้ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราไม่กล่าวความที่ กรรมอันเป็นไปด้วยสัญเจตนา ที่บุคคลทำแล้ว สะสมแล้วจะสิ้นสุดไป เพราะมิได้เสวยผล แต่กรรมนั้นแล จะให้ผลในทิฏฐธรรมเทียว หรือในภพถัดไป หรือในภพอื่นสืบๆ ไป”
  2. ศีล (ข้อปฏิบัติเว้นจากความชั่ว) ภุมเทวดาปฏิบัติผิดศีลข้อที่ 4 ด้วยความคึกคนอง จึงสร้างเรื่องโกหก กลั่นแกล้ง เบียดเบียนผู้อื่น แม้รู้ตัวว่าทำผิดแล้วรีบแก้ไข สารภาพผิด ยอมรับผิด ผลกรรมที่บันทึกเป็นวิบากไปแล้ว เกิดในชาติใดที่เป็นมนุษย์ วิบากร้ายส่งผลโดยที่ตนเองไม่รู้เรื่องเลย แม้ในชาติที่จะบรรลุอรหันต์ เศษวิบากยังตามมาส่งผลให้คนเข้าใจผิด เมื่อท่านกล่าวคำหยาบด่าอุปัชฌาย์ อาจารย์และเพื่อนภิกษุ พระพุทธเจ้าจึงทรงเมตตากล่าวเตือนไม่ให้สร้างกรรมใหม่
  3. หิริ (ละอายต่อการกระทำผิด)
  4. โอตตัปปะ (เกรงกลัวต่อการกระทำผิด) ถ้าภุมเทวดา ขาดหิริและโอตตัปปะ มีมิจฉาทิฎฐิ คึกคนอง คิดทดลองใจภิกษุและเพื่อนภิกษุที่รักใคร่กันดีด้วยการหยอกล้อกลั่นแกล้งสร้างเรื่องโกหกซึ่งเป็นการกระทำผิด ผู้ถูกแกล้งเป็นพระอรหันต์ในเวลาต่อมา  วิบากร้ายจากความคึกคนอง จึงส่งผลนานแสนนานตราบจนสมัยพระพุทธเจ้าองค์กัสสปะสิ้นจบลง
  1. สุตะ (ตั้งใจฟังเสมอ) มีตัวอย่างผลเสียของการไม่ตั้งใจฟังและผลดีของการตั้งใจฟัง คือ เหตุการณ์ที่หนึ่ง พระภิกษุรูปที่สองไม่ตั้งใจฟังคำพูดของเพื่อนภิกษุรูปที่หนึ่ง ทั้งที่เคยเป็นเพื่อนรักกันมานาน จึงเสียเพื่อนที่ดีห่างเหินกันไป จนสุดท้ายเพื่อนภิกษุบรรลุอรหัตตผล เหตุการณ์ที่สอง พระธานะไม่ตั้งใจฟังคำพูดของเพื่อนภิกษุและประชาชนที่เห็นผู้หญิงเดินตาม แล้วยังโต้ตอบด้วยคำหยาบจนพระพุทธเจ้าเมตตาเตือนว่าเป็นการสร้างกรรมใหม่ เหตุการณ์ที่สาม พระเจ้าปเสนทิโกศลตั้งใจฟังคำพูดของพระกุณฑธานเถระ นำคำพูดไปคิดวิเคราะห์ ทำให้พิสูจน์ความจริงว่าเป็นเงาภาพสตรีได้ และได้อุปถัมภ์พระธานเถระจนบรรลุพระอรหันต์
  1. จาคะ (เสียสละแบ่งปัน) พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงให้ความอุปถัมภ์บำรุงพระธานะด้วยปัจจัย 4 ช่วยให้ท่านสุขภาพกายดี สุขภาพจิตดี เอื้อให้ท่านปฏิบัติจนบรรลุอรหัตตผล ในชีวิตปัจจุบันเราไม่รู้ว่าท่านใดมีภูมิธรรมระดับไหน เราไม่ทราบว่าชีวิตใดใกล้เป็นพระอรหันต์ เผลอไปทำผิดต่อพระอรหันต์ ต้องรับโทษมีวิบากหนักและนานนับกัปไม่ถ้วน การเสียสละแบ่งปันให้ประโยชน์แก่ชีวิตอื่นเป็นสิ่งที่ควรถือปฏิบัติให้เป็นปกติของชีวิต เพื่อเอื้อให้ทุกชีวิตได้ปฏิบัติไปสู่ความพ้นทุกข์
  2. ปัญญา (รู้แจ้งเห็นจริงชำระกิเลสได้) ผู้เขียนรับรู้ได้ว่ามีปัญญาเพิ่มขึ้นจากการอ่านแต่ละเรื่อง เรื่องของพระกุณฑธานเถระ ให้ปัญญาชัดในเรื่องการเข้าใจผิดของเรากับผู้อื่น ความเชื่อชัดเรื่องกรรมและผลของกรรม

#เมื่อมาถึงช่วงท้ายนี้ ผู้อ่านคงพอจะตอบได้แล้วว่า ท่านได้อริยทรัพย์ใดจากการอ่านครั้งนี้

แล้วอย่าลืมแบ่งปันเล่าสู่กันฟังบ้างนะคะ

ผู้เขียน : น้อมพรฟ้า

เอกสารอ้างอิง

กรมศาสนา.  (2541).  พระไตรปิฏกฉบับสยามรัฐ. กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์  มหาวิทยาลัย มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย.

ภิกษุ เอตทัคคะ.  (2561).  [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก ​: www.8400.org/one/1/36.html . สืบค้น 24 กรกฏาคม 2561

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *