การรับประทานเนื้อสัตว์ กับ โรคมะเร็ง ;
แก่นเกื้อ นาวาบุญนิยมม วท.ม. สาขาสาธารณสุขศาสตร์
ปริศนา อิรนพไพบูลย์ วท.ม. สาขาสารณสุขศาสตร์
เอมอร แซ่ลิ้ม วท.ม.สาขาสาธารณสุขศาสตร์
บทคัดย่อ
ภัยเงียบร้ายที่ค่อย ๆ คืบคลานมาฆ่าชีวิตของมนุษย์โดยไม่รู้ตัว ก็คืออาหารแสนอร่อยในแต่ละมื้อที่เรารับประทาน โดยเฉพาะอาหารที่ทำมาจากเนื้อสัตว์ จากหลาย ๆ งานวิจัยที่มีสะท้อนให้เห็นว่า เนื้อสัตว์ มีผลต่อสุขภาพทางกาย ทำให้เกิดความสุ่มเสี่ยงในการ เกิดโรคต่าง ๆ โดยเฉพาะกลุ่มโรคเรื้อรังไม่ติดต่อ เช่น โรคมะเร็ง ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง แต่สิ่งหนึ่งคนทั่วไปไม่รู้ คือ ทุกครั้งที่เราได้กินเนื้อสัตว์ เราได้เพิ่มโรคที่มองไม่เห็นเพิ่มขึ้นทุกครั้ง นั่นก็คือ “โรควิบากกรรม” จากการผิดศีลข้อที่ 1 คือการเบียดเบียนชีวิตตนเอง ผู้อื่น และสัตว์อื่น ทำให้เราต้องรับวิบากกรรมทั้งทางร่างกาย และจิตใจที่เศร้าหมอง จากการเบียดเบียนนั้น
สาเหตุของการเกิดโรคมะเร็งนั้น เกิดจากสารพิษในอาหารมากถึง 50 % ของผู้ป่วยทั้งหมด จากการสำรวจล่าสุดพบว่าอายุของผู้ป่วยโรคมะเร็งมีอายุเฉลี่ยลดลง จากเดิมผู้ป่วยส่วนใหญ่มีอายุประมาณ 60 ปีขึ้นไป แต่ปัจจุบันมีอายุเฉลี่ย 30-40 ปีเท่านั้น การบริโภคเนื้อสัตว์เป็นประจำจะก่อให้เกิดโรคมะเร็งบริเวณลำไส้ใหญ่ เต้านม ตับ และต่อมลูกหมาก ปัจจุบันมีสารอันตรายปนเปื้อนอยู่ในปริมาณสูงมาก ไม่ว่าจะเป็นสารเร่งเนื้อแดง ซึ่งอันตรายมาก หากบริโภคเป็นประจำ สถาบันโภชนาการ ระบุว่า ไตของคนกินเนื้อต้องทำงานมากกว่าคนกินผักถึง 3 เท่าเพื่อขับสิ่งสกปรก (ยูเรีย แอมโมเนีย กรดยูริค) และสารพิษในเนื้อที่กินเข้าไป เนื้อวัวพบสารอันตรายนานาชนิด โดยเฉพาะสารฟอกขาว อาหารอีกประเภทที่กระทรวงสาธารณสุขเตือนให้ผู้บริโภคควรหลีกเลี่ยงคือ อาหารรมควัน พบว่า มีสารโพลีไซคลิก อโรมาติก และไฮโดรคาร์บอน ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญทำให้เกิดโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร อาหารปิ้ง ย่าง ทอด พบว่า สารไนไตรซามีน ซึ่งอาจเป็นสาเหตุหนึ่งทำให้เกิดมะเร็งในตับ มะเร็งหลอดอาหาร และมะเร็งกระเพาะอาหาร อาหารที่พบไนไตรซามีนได้แก่ ปลาหมึกย่าง ปลาทะเลย่าง นอกจากนี้สารกลุ่มพัยโรลัยเซต (Pyrolysates) เป็นสารอินทรีย์ที่มีโมเลกุลเป็นวงแหวน ได้แก่ พวกกรดอะมิโน ถูกทำลายด้วยความร้อนสูงจนกลายเป็นสารใหม่ พบมากในส่วนที่ไหม้เกรียมของอาหารปิ้ง ย่าง สารกลุ่มนี้มีฤทธิ์ทำให้เกิดการกลายพันธุ์สูงมากกว่าสารอะฟลาทอกซินตั้งแต่ 60-100 เท่า การบริโภคเนื้อสัตว์มาก จึงมีความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งลำไส้
วารสารสมาคมแพทย์อเมริกันเปิดเผยว่า โรคมะเร็งลำไส้กับการรับประทานเนื้อ จากการติดตามข้อมูลสุขภาพจำนวน 148,610 คน อายุระหว่าง 50-70 ปี เป็นเวลานาน 10 ปี พบว่า ผู้ที่ชอบกินเนื้อแดงมากเกินระดับมีโอกาสเสี่ยงเป็นมะเร็งลำไส้เล็กมากกว่าผู้ไม่ค่อยรับประทานเนื้อ (กองการแพทย์ทางเลือก. 2549 : 59-63) จากข้อมูลที่ทำการวิจัยในสัตว์ทดลองในระบาดวิทยา เป็นที่ยอมรับว่า อาหารจากพืชผัก ผลไม้ที่มีสีเขียว เหลือง ส้ม และมีเส้นใยสามารถป้องกันหรือลดอัตราการเกิดมะเร็งหลายชนิด ได้เช่น มะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ มะเร็งถุงน้ำดี และมะเร็งปากมดลูก จากการศึกษาที่มหาวิทยาลัยบัฟฟาโล รัฐนิยอร์ก สหรัฐฯ พบว่า ผู้ที่บริโภคผักตระกูลกะหล่ำ ได้แก่ กะหล่ำปลี ดอกกะหล่ำ บร็อคโคลี ผักกาด ผักโขม เป็นประจำ จะไม่เป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งทวารหนัก และโรคทางเดินอาหาร โดยในผักเหล่านี้มีสารประกอบพวกอินโดลซึ่งกระตุ้นเอมไซน์บางชนิดในเซลล์ตับให้ช่วยทำลายสารก่อมะเร็งและยับยั้งการเกิดเซลล์มะเร็งได้ (Griffiths K, Adlercreutz H. 1996 : 16-21)
เนื้อสัตว์นั้นเป็นอาหารอันตรายที่เราอาจคาดไม่ถึงไม่ว่าจะเป็นเนื้อวัว เนื้อหมู เนื้อไก่ เนื้อปลา จะมีสารพิษต่าง ๆ มากมาย ที่ก่อให้เกิดอันตรายกับร่างกาย ปัจจุบัน เนื้อสัตว์ที่เรารับประทานอยู่ทุกวันนี้มีสารปนเปื้อนที่เป็นอันตรายอยู่มากมาย เช่น สารเร่งเนื้อแดง สาเหตุของโรคหัวใจ ยาปฏิชีวนะประเภท คลอแรมแฟนิคอล (Chloramphenicon) และยาในกลุ่มในโตรฟูแลม (Nitrofurams) ที่เป็นสาเหตุของโรคมะเร็ง นอกจากนี้ยังมีสารเคมีอื่น ๆ อีกมากมายที่เกิดขึ้นเองจาก สัตว์ขณะที่พวกมันกำลังถูกฆ่า ซึ่งเหล่านี้ล้วนเป็นสาเหตุของการเกิดโรคมะเร็ง ด้วยเช่นกัน อาหารแปรรูปหลาย ๆ ชนิดที่ทำมาจากเนื้อสัตว์ ไม่ว่าจะเป็นไส้กรอกที่มีสารไนไตรท์ ช่วยให้ไส้กรอกเหนียวนุ่ม หากรับประทานเข้าไปมาก ๆ ก็จะเกิดการสะสมในร่างกายจนคุณเป็นโรคมะเร็ง ได้แก่ มะเร็งในเม็ดเลือด มะเร็งในกระเพาะอาหาร มะเร็งในกระเพาะปัสสาวะ และเนื้องอกในสมอง ตามท้องตลาดจะมีไส้กรอกอยู่หลายชนิด แต่ละชนิดก็มีส่วนผสมที่แตกต่างกันไป รวมไปถึงส่วนผสมที่เป็นวัสดุสังเคราะห์ที่รวมอยู่ด้วยหลายชนิด เช่น สารกันบูดที่มีไว้เพื่อยืดอายุของไส้กรอกให้นานยิ่งขึ้น การบรรจุไส้กรอก “ถุงหลอด” ผลิตมาจากคอลลาเจนสังเคราะห์ ซึ่งมีสารที่ก่อให้เกิดโรคมะเร็ง เนื่องจากมีไขมันเป็นส่วนประกอบอยู่มาก เมื่อนำไปย่างหรือปิ้ง จะทำให้เกิดสารพิษที่เรียกว่า “อะคริลิไมด์” (Acrylimides) ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งเช่นกัน
ทางด้านศาสนา ในหลายศาสนา เช่น ศาสนาพุทธ ศาสนาซิกซ์นิกายนามธารี คริสเตียน นิกายคริสตจักรวันเสาร์ และนิกายโบสถ์ออร์โธดอกซ์ตะวันตก (Eastern Orthodox Church) จึงสอนศาสนิกชนให้มีอหิงสาหรือไม่เบียดเบียนชีวิต คือ ไม่ให้ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต เช่น ศีลข้อที่หนึ่ง ในศาสนาพุทธ เป็นต้น และบางศาสนาไม่ส่งเสริมการบริโภคเนื้อสัตว์ ซึ่งเป็นการลดการฆ่าสัตว์โดยทางอ้อม นักบวชและศาสนิกชนที่ปฏิบัติเคร่งครัดจึงบริโภคอาหารมังสวิรัติเนื่องจากเหตุผลทางจริยธรรมและศีลธรรมทางศาสนา เพราะว่า จิตใจเขามีความสงสารและเมตตาต่อสัตว์ ผู้ตกทุกข์ได้ยากทั้งหลาย ไม่ต้องการให้มีการฆ่าและเบียดเบียนสรรพสัตว์ ในอดีตมีผู้นำทางจิตวิญญาณ นักคิด จิตรกร นักเขียน นักปราชญ์ที่มีชื่อเสียงระดับโลกหลายท่านที่ส่งเสริม และปฏิบัติตนเป็นนักมังสวิรัติ เช่น พระพุทธเจ้า พลาโต (Plato) โสเครตีส (Socrates) ปิธาโกรัส จอร์จ เบอร์นาร์ด ชอว์ (George-Bernard Shaw) มาร์ติน ลูเธอร์ (Martin Luther) และมหาตมะ คานธี รวมทั้งนักวิทยาศาสตร์ดัง ๆ เช่น เซอร์ไอแซค นิวตัน (Albert Einstein) และชาร์ล ดาร์วิน (Charies Darwin) เป็นต้น ต่างก็เป็นนักมังสวิรัติด้วย
เนื่องจากเมื่อสัตว์ถูกฆ่าและมีความเจ็บปวดอย่างรุนแรง มันจะตกใจ หวาดกลัว แล้วจะหลั่งสารอะดรีนาลิน (adrenaline) และสารแห่งความเครียดอื่นๆ ออกมาในปริมาณสูงมาก อย่างอัตโนมัติในเนื้อสัตว์ หากรับประทานเนื้อสัตว์ที่มีฮอร์โมนอะดรีนาลินที่ตกค้างประจำ ผู้บริโภคจะ ได้รับฮอร์โมนอะดรีนาลินเพิ่มด้วย ฮอร์โมนในอาหารมีผลกระตุ้นที่อาจจะทำให้ควบคุมจิตใจได้ยาก ผู้ละเว้นการบริโภคเนื้อสัตว์จะไม่ได้รับฮอร์โมนอะดรีนาลินซึ่งหลั่งออกมาและติดมากับเนื้อสัตว์ ทุกศาสนาได้สอนให้มนุษย์เรารักผู้อื่น มีเมตตา ลดความเห็นแก่ตัว และเสียสละเพื่อผู้อื่น พุทธศาสนาได้สรรเสริญการไม่เบียดเบียนสัตว์เป็นธรรมอันยอดเยี่ยม (สังคสูตร คาถา) และเมตตาเป็นธรรมคํ้าจุนโลก ถ้าเราอยู่ด้วยความรู้ว่าควรได้รับอะไรเท่าไรจึงจะพอ ก็ย่อมอิ่มกาย อิ่มใจ เจริญเติบโตสมบูรณ์ แข็งแรง มีสติปัญญาดี สามารถทำประโยชน์และความดีได้เต็มที่ (กองการแพทย์ทางเลือก. 2549 : 147-153)
จากคำตรัสของพระพุทธเจ้าในพระไตรปิฏกเล่มที่ 19 “เวฬุทวารสูตร” ข้อที่ 1459 ที่ทรงบัญญัติศีลข้อที่ 1 ไว้ ว่า “ห้ามฆ่าสัตว์” เพื่อสร้างความเมตตากรุณาให้เกิดผลแก่มนุษยชาติ โดยต้องการให้เกิดการกระทำเมตตากรุณา เอ็นดูต่อผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นคนด้วยกัน หรือเป็นสัตว์ทั้งหลายก็ตาม ทรงมุ่งหมายไม่ให้เบียดเบียนกัน เว้นขาดจากความรุนแรงโหดร้าย ไม่ฆ่า ไม่ทำลายชีวิตผู้อื่น แต่ให้รักและปรานีชีวิตผู้อื่น เหมือนกันกับที่รักและปราณีชีวิตตัวเอง ศีลข้อนี้จึงเป็นบทแผ่เมตตาที่ถูกต้องแท้จริง แผ่เมตตาให้แก่สัตว์โลกทั้งหลาย ด้วยการกระทำทั้งทางกาย วาจา ใจ ไม่ใช่แค่เมตตาโดยการสวดมนต์ภาวนาปากเปล่าเท่านั้น แต่ที่จริงยังเคี้ยวกินเนื้อของเขาอยู่ ดังนั้นเพื่อความบริสุทธิ์ในศีลข้อที่ 1 นี้ เราจึงไม่ฆ่าสัตว์ด้วยตนเอง และไม่ต้องให้ใครฆ่าสัตว์แทนเราด้วย ทั้งทางตรงทั้งทางอ้อม การแสวงบุญ การชำระกิเลส ด้วยการถือศีลข้อนี้ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ จะปฏิบัติให้บริสุทธิ์ทั้งกาย วาจา ใจ จนเราเกิดเมตตากรุณาขึ้นจริง ๆ ศีลข้อ 1 นี้จะสร้างมรรคผลได้จริง สมกับที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้ นอกจากเรื่องที่ทรงห้ามการฆ่าสัตว์แล้ว พระพุทธเจ้ายังทรงห้ามถึงเรื่อง “การค้าขายสัตว์” ทั้งสัตว์ที่มีชีวิตอยู่เป็น ๆ ทั้งสัตว์ที่ตายแล้วกลายเป็นเนื้อ หนัง ตับ ไต ไส้พุงต่าง ๆ ที่โดนนำมาประกอบอาหารกิน จากพระไตรปิฏกเล่มที่ 22 “วณิชชสูตร” ข้อ177 (ณวมพุทธ. 2560 ; 7-20)
ในการเบียดเบียนชีวิตสัตว์มาเป็นอาหารของมนุษย์ จึงทำให้เกิดโรคต่าง ๆ ตามมามากมาย สอดคล้องกับ คำตรัสพระพุทธเจ้าที่ว่า การเบียดเบียนตนเองและผู้อื่นด้วยการปฏิบัติผิดศีลธรรมมีผลทำให้เกิดทุกข์ภัย มีโรคมากและอายุสั้น แต่เมื่อไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่นด้วยการปฏิบัติศีลธรรมให้มากยิ่งขึ้น ๆ มีผลทำให้แข็งแรงอายุยืน เมื่อปฏิบัติศีลธรรมต่อเนื่องได้มากจะส่งผลถึงขั้นโรคต่าง ๆ ลดลงหายไปเหลือเพียง 3 โรค คือ ความอยากกิน ความไม่อยากกิน และความแก่ (แก่ช้า) เท่านั้น ในพระไตรปิฏกที่กล่าวว่า
“ดูกรมาณพ บุคคลบางคนในโลกนี้ จะเป็นสตรีก็ตาม บุรุษก็ตาม เป็นผู้มักทำชีวิตสัตว์ให้ตกล่วง เป็นคนเหี้ยมโหด มีมือเปื้อนเลือดหมกมุ่นในการประหัตประหาร ไม่เอ็นดูในเหล่าสัตว์มีชีวิต … จะเป็นคนมีอายุสั้น … ดูกรมาณพ ส่วนบุคคลบางคนในโลกนี้จะเป็นสตรีก็ตาม บุรุษก็ตาม ละปาณาติบาตแล้ว เป็นผู้เว้นขาดจากปาณาติบาต วางอาชญา วางศาตรา (อาวุธหรือวิชาหรือความรู้หรือวิธีที่เบียดเบียน) ได้ มีความละอาย ถึงความเอ็นดู อนุเคราะห์ด้วยความเกื้อกูลในสรรพสัตว์และภูตอยู่ … จะเป็นคนมีอายุยืน … บุคคลบางคนในโลกนี้จะเป็นสตรีก็ตาม บุรุษก็ตาม เป็นผู้มีปรกติ เบียดเบียนสัตว์ (ทำให้ตนเอง หรือคนอื่น หรือสัตว์อื่น ได้รับความทุกข์ทรมาน เดือดร้อน ไม่สบาย บาดเจ็บ ล้มตาย) ด้วยฝ่ามือ หรือก้อนดิน หรือท่อนไม้ หรือศาตรา (อาวุธหรือวิชาหรือความรู้หรือวิธีการต่าง ๆ) … จะเป็นคนมีโรคมาก … ดูกรมาณพ บุคคลบางคนในโลกนี้จะเป็นสตรีก็ตาม บุรุษก็ตาม เป็นผู้มีปรกติ ไม่เบียดเบียนสัตว์ (ไม่ทำให้ตนเอง หรือคนอื่น หรือสัตว์อื่น ได้รับความทุกข์ทรมาน เดือดร้อน ไม่สบาย บาดเจ็บ หรือล้มตาย) ด้วยฝ่ามือ หรือก้อนดิน หรือท่อนไม้ หรือศาตรา (อาวุธหรือวิชาหรือความรู้หรือวิธีการต่าง ๆ) … จะเป็นคนมีโรคน้อย ….” (ม.อุ.14/582 – 585), “ผู้ใดแสวงหาความสุขเพื่อตนย่อมไม่เบียดเบียนสัตว์ทั้งหลาย (การไม่ทำให้ตนเอง หรือคนอื่น หรือสัตว์อื่น ได้รับความทุกข์ทรมาน เดือดร้อน ไม่สบาย บาดเจ็บ หรือล้มตาย)” (ขุ.ขุ.25/20)
“ดูกรภิกษุทั้งหลาย ตถาคตเคยเป็นมนุษย์ในชาติก่อนภพก่อนกำเนิดก่อน ละปาณาติบาตแล้ว เว้นขาดจากปาณาติบาตแล้ว วางทัณฑะ วางศาตราแล้ว มีความละอาย มีความกรุณาหวังประโยชน์แก่สัตว์ทั้งปวงอยู่ ตถาคตย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก เพราะกรรมนั้น อันตนทำสั่งสมพอกพูนไพบูลย์ … เมื่อเป็นพระราชาได้ผลข้อนี้ คือ มีพระชนมายุยืนดำรงอยู่นาน อภิบาลพระชนมายุยืนยาว ไม่มีใคร ๆ ที่เป็นมนุษย์ซึ่งเป็นข้าศึกศัตรู สามารถปลงพระชนม์ชีพในระหว่างได้ … เมื่อเป็นพระพุทธเจ้าจึงได้ผลข้อนี้ คือ มีพระชนมายุยืนดำรงอยู่นาน ทรงอภิบาลพระชนมายุยืนยาว ไม่มีข้าศึกศัตรู จะเป็นสมณะ พราหมณ์ เทวดา พรหม มาร ใคร ๆ ในโลก สามารถปลงพระชนม์ชีพในระหว่างได้” (ที.ปา.11/136)
“ดูกรภิกษุทั้งหลาย ตถาคตเคยเป็นมนุษย์ในชาติก่อน ภพก่อนกำเนิดก่อน เป็นผู้ไม่เบียดเบียนสัตว์ทั้งหลายด้วยฝ่ามือ ก้อนดิน ท่อนไม้ หรือศาตรา ตถาคตย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก เพราะกรรมนั้น อันตนทำสั่งสมพอกพูนไพบูลย์ ฯลฯ … เมื่อเป็นพระพุทธเจ้าได้จึงรับผลข้อนี้ คือ มีพระโรคาพาธน้อย มีความลำบากน้อย สมบูรณ์ด้วยพระเตโชธาตุอันยังอาหาร ให้ย่อยดี ไม่เย็นนัก ไม่ร้อนนัก อันควรแก่พระปธานเป็นปานกลาง” (ที.ปา.11/156)
จะเห็นได้ว่า การเบียดเบียนสัตว์นั้น ไม่ว่าจะด้วยการกิน การขาย ก็จะทำให้ตัวเองได้รับวิบากกรรมจากการเบียดเบียนสัตว์จนเกิดโรคร้ายต่าง ๆ การไม่เบียดเบียนสัตว์ทั้งหลาย คือ การไม่ทำให้ตนเองคนอื่นหรือสัตว์อื่น ได้รับความเดือดร้อน ทุกข์ ทรมาน ไม่สบาย บาดเจ็บ ล้มตาย และทำประโยชน์สุขให้กับตนเอง ผองชนและหมู่สัตว์ ซึ่งด้านนามธรรมก็คือการละบาป บำเพ็ญกุศล ทำจิตใจให้บริสุทธิ์ผ่องใสไร้ทุกข์ไร้กังวล ทำให้เกิดสมดุลร้อนเย็น เจ็บป่วยน้อย แข็งแรง และอายุยืน (นายใจเพชร กล้าจน. 2559 : 311-312)
จากงานวิจัยของนายใจเพชร กล้าจน (2559: 381-393) ผู้ป่วยที่ดูแลสุขภาพด้วยหลักการแพทย์วิถีธรรม ได้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหารจากเดิมเคยบริโภคเนื้อสัตว์ มาลด ละ เลิกการบริโภคเนื้อสัตว์ จนอาการเจ็บป่วย ได้ทุเลา และหายจากโรคที่เป็นอยู่ ตัวอย่างเช่น ผู้ป่วยมะเร็งตับ ซึ่งเป็นศัลยแพทย์ ป่วยหนัก จนเกือบเสียชีวิต (เตรียมจองวัด) ได้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินอาหาร และปรับสมดุลร่างกายด้วยเทคนิค 9 ข้อ ใช้เวลาประมาณ 5 เดือน จนร่างกายฟื้นตัวขึ้น ทุกวันนี้ หันมากินผักฤทธิ์เย็น แทบจะไม่กินเนื้อสัตว์ ปัจจุบันสามารถทำงานตรวจรักษาคนไข้ได้ปกติ (ชัยพร กันกา สัมภาษณ์ 2555 มิถุนายน 22 กรณีศึกษา 17 ภาคผนวก กหน้า 381 ใจเพชร กล้าจน จิตอาสาแพทย์วิถีพุทธเพื่อมวลมนุษยชาติ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ พ.ศ. 2558) สอดคล้องกับงานวิจัยของเอมอร แซ่ลิ้ม (2561 : 154-15) พบว่า กลุ่มทดลองและกลุ่มเปรียบเทียบ ลด ละ เลิกการบริโภคเนื้อสัตว์ เพราะไม่ต้องการเบียดเบียนสัตว์ ร้อยละ 62.22 และ 60.55 ตามลำดับ มีความผาสุกมากขึ้น จิตใจเบิกบาน ไม่เครียด ไม่เร่งผล ไม่กังวล ในการดูแลสุขภาพ ฟังธรรมะทำให้ใจเป็นสุข สงบ สบายใจ เข้าใจในเรื่องของกรรม และศีลข้อที่ 1 เรื่องของการไม่เบียดเบียนสัตว์ ซึ่งตรงกับงานวิจัยของใจเพชร กล้าจน. (2559 : 177) กับหลักการถอนพิษที่สะสมจนทำให้เกิดอาการเจ็บป่วยไม่สบายต่าง ๆ ออกจากร่างกายของแพทย์วิถีพุทธ คือการรับประทานอาหารปรับสมดุลร่างกาย โดยแนะนำให้เพิ่มการรับประทานผัก และผลไม้ที่ไม่หวานจัดรวมถึงโปรตีนจากถั่วเป็นหลัก แต่ในท่านที่ไม่งดเนื้อสัตว์ได้จริง ๆ ก็อนุโลมให้รับประทานปลากับไข่ได้ เพื่อหลีกเลี่ยงสารพิษสารเคมีที่อยู่ในเนื้อสัตว์และวิบากบาปในการเบียดเบียนสัตว์ใหญ่ ที่เป็นสาเหตุสำคัญในการเจ็บป่วยและอาการไม่สบายต่าง ๆ ซึ่งจากการเก็บข้อมูลเชิงลึกในงานวิจัยนายใจเพชร กล้าจน. (2560 : 22) พบว่า จิตอาสาแพทย์วิถีธรรม จำนวน 300 คน ในอดีตส่วนใหญ่รับประทานเนื้อสัตว์ ร้อยละ 90.00 ของจำนวนจิตอาสาแพทย์วิถีธรรม ทำให้มีความเจ็บป่วยด้วยโรค หรืออาการไม่สบายต่าง ๆ เมื่อหยุดกินเนื้อสัตว์หรือกินเนื้อสัตว์น้อยลง กินอาหารให้ถูกสมดุลร้อนเย็น และดูแลสุขภาพตามหลักการแพทย์วิถีธรรมข้ออื่น ๆ ต่อเนื่องกัน 3 ปีขึ้นไป พบว่าร้อยละ 90.00 ของจำนวนจิตอาสาแพทย์วิถีธรรม อาการเจ็บป่วยด้วยโรคหรืออาการไม่สบายต่าง ๆ ลดน้อยลงถึงขั้นที่ไม่ต้องใช้วิธีการรักษาแผนอื่นเลย
จากงานวิจัยของของเอมอร แซ่ลิ้ม. (2561 : 137-142) หลังการทดลองที่พิจารณาผลตรวจเลือดวิจัยของผู้ป่วยมะเร็ง พบว่า หลังไม่กินเนื้อสัตว์ 3 เดือน โดยส่วนใหญ่ อาการทางด้านร่างกาย เบาสบาย อาการปวดตึงหายไป ไม่อึดอัด ทางด้านทางจิตใจ สบายใจ ไม่เครียดหลังจากได้ฟังธรรมะ ทำให้ไม่เร่งผล ไม่กังวล ในการดูแลตนเอง และมีความผาสุกในการไม่เบียดเบียนสัตว์ จำนวนผู้ป่วยมะเร็งจำนวน 6 คน ค่าเลือดดีขึ้น 2 คน (ไม่พบเซลล์มะเร็ง) คิดเป็นร้อยละ 33.33 ก่อนงดเนื้อสัตว์ มีอาการไม่สบายตัวจากความเจ็บป่วยทั้งทางร่างกาย และเกิดความเศร้า
หมอง กลัว กังวล หวั่นไหว กับโรคที่เป็นอยู่ หลังงดเนื้อสัตว์ 3 เดือน
ได้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคเนื้อสัตว์ รวมทั้งเพิ่มการฟังธรรมะ พบว่า อาการเจ็บป่วยทางกายดีขึ้น จิตใจมีความผาสุกผ่องใส กับการดูแลตนเองมากขึ้น
เช่นตัวอย่างผู้ป่วยมะเร็งช่องท้องรายหนึ่งงดกินเนื้อสัตว์ 3 เดือน ให้ข้อมูลว่า เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2560 หลังการให้ คีโมเข็มแรก รู้สึกร่างกายไม่ไหว ไม่สบาย ไม่มีแรง ท้องบวม แขนขามีอาการชาตึง หลังเลิกกินเนื้อสัตว์ อาการดีขึ้น ท้องบวมยุบลง พอเกิดความเครียดท้องบวมกลับมา ฟังธรรมะทำใจ โดยใช้หลัก ไม่เร่งผล ไม่กังวล และปรับสมดุลร้อนเย็นวันต่อวัน ลดเนื้อสัตว์ 3 เดือน บริเวณท้องบวม ยุบ เหลือประมาณ 20 % ผู้ป่วยมะเร็งเต้านม 3 ราย ก่อนงดเนื้อสัตว์ มีอาการแขนขามีอาการชาตึงแน่นท้อง อึดอัด ไม่สบายกาย และมีอาการร้อนใน เดิน ลุก นั่ง นอน ไม่ค่อยสบายกาย เจ็บตรงนั้น ตรงนี้เป็นประจำ หลังได้รับการอบรมผ่านไป ได้รู้การปฏิบัติรักษาตัว อาการปวดเมื่อยตามแขนขา ทุเลา แล้วทำให้รู้สึกสบายกาย สบายใจเป็นอย่างมาก เมื่อรับประทานอาหารที่ไม่มีเนื้อสัตว์ปรับสมดุลอาหารด้วยการกินอาหารตามหลักแพทย์วิถีธรรม ประมาณ 3 เดือน เข้าไปไม่รู้สึกอึดอัด ไม่ร้อนใน ลุก เดิน นั่ง นอน สบายกาย ไม่เจ็บปวด น้ำหนักลดลง เบากาย สบายตัว แผลแห้ง สบายใจ ไม่กังวล สอดคล้องกับงานวิจัยของแลป ไต เลอ และ โจน ซาเบท (Lap Tai Le and Joan Sabaté. 2014 : 2131-2147) พบว่าผู้ที่ทานมังสวิรัติมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคมะเร็งต่าง ๆ ลดลง เช่น มีความเสี่ยงลดลงในโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งทางเดินอาหาร และมะเร็งต่อมลูกหมาก ร้อยละ 50.00, 23.00 และ 35.00 ตามลำดับ เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มผู้ที่ไม่กินมังสวิรัติ
บทสรุป
จะเห็นว่า การกินเนื้อสัตว์มีผลกับโรคมะเร็งโดยตรง จากงานวิจัยโดยส่วนใหญ่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน จากผลงานวิจัยเมื่อผู้ป่วย ได้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมทั้งทางกายและทางใจ แก้ไขที่ต้นเหตุ ปรับการกินที่สมดุล ลดการเบียดเบียนตนเอง ชีวิตอื่น สัตว์อื่น (ทำศีลข้อ 1 ให้บริบูรณ์) ก็ทำให้โรคที่เป็นอยู่ดีขึ้น และหายจากโรคได้ ตรงกับคำตรัสขององค์สมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ว่า “การเบียดเบียนทำให้มีโรคมาก และอายุสั้น” “การไม่เบียดเบียนทำให้มีโรคน้อย และอายุยืน”
อ้างอิง
กองการแพทย์ทางเลือก. (2549). ตำราวิชาการ อาหารเพื่อสุขภาพ. พิมพ์ครั้งที่ กรุงเทพมหานคร : สำนักงานกิจการโรงพิมพ์ องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก.
ใจเพชร กล้าจน. (2553). ความเจ็บป่วยกับการดูแลสุขภาพแนวเศรษฐกิจพอเพียง ตามหลักแพทย์ทางเลือก วิถีพุทธ ของศูนย์เรียนรู้สุขภาพพึ่งตนตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง สวนป่านาบุญ อำเภอดอนตาล จังหวัดมุกดาหาร. วิทยานิพนธ์ศิลปะศาสตร
มหบัณฑิต มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.ใจเพชร กล้าจน. (2559). จิตอาสาแพทย์วิถีพุทธเพื่อมวลมนุษยชาติ. ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชายุทธศาสตร์การพัฒนาภูมิภาค (สาธารณสุขชุมชน) คณะกรรมการบัณฑิตศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์.
ใจเพชร กล้าจน. (2560). การกินหรือไม่กินเนื้อสัตว์กับพุทธ. กรุงเทพฯ : บริษัทพิมพ์ดี.
ณวมพุทธ. (2560). พระพุทธเจ้ากับมังสวิรัติ. กรุงเทพฯ : อุษาการพิมพ์.
เอมอร แซ่ลิ้ม. (2561). ผลของการเสริมพลังต่อพฤติกรรมการลด ละ เลิกการบริโภคเนื้อสัตว์และภาวะสุขภาพ ของผู้เข้าอบรมแพทย์วิถีธรรม, วิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์.
Gfiffiths K, Adlercreutz H, Boyle P, Denis L, Nichoison Rl, Morton MS. (1996). Nutrition and Cancer. Isis Medical Media : Oxford.