แกงหยวกกล้วยปรับสมดุล : วันยา เรียนจันทร์
เมนูนี้ใช้ผักฤทธิ์เย็น จากหยวกกล้วยและมะเขือเทศเป็นหลัก และปรับสมดุลด้วยเครื่องแกงซึ่งมีฤทธิ์ร้อนแต่ใช้เพียงปริมาณเล็กน้อย จึงทำให้เมนูนี้มีความสมดุลร้อนเย็น
ฤทธิ์ของอาหารเมนูนี้ มีฤทธิ์สมดุลร้อนเย็น
เวลาที่ใช้ในการประกอบอาหาร 20-30 นาที
วัตถุดิบ
- ฤทธิ์เย็น หยวกกล้วยน้ำว้า มะเขือเทศ น้ำดื่ม
- ฤทธิ์ร้อน พริกแห้ง ข่า ตะไคร้ กระเทียม หอมแดง ใบกะเพรา กะทิ น้ำตาลมะพร้าว ดอกเกลือ
วิธีทำ
- ตำเครื่องแกง ตำพริกแห้งกับเกลือเล็กน้อยทำให้ละเอียดง่ายขึ้น เติมข่าซอย หัวตะไคร้ซอย กระเทียม หอมแดง ตามลำดับตำให้ละเอียด เติมมะเขือเทศ น้ำตาลมะพร้าวตำให้เข้ากัน
- ใช้หม้อไฟฟ้า ตั้งหม้อแกง เติมน้ำ เสียบไฟ ขยี้ใบตะไคร้ใส่ต้ม
- พอน้ำร้อน เติม กะทิกล่อง เติมเครื่องแกงปิดฝา
- น้ำเดือดเติมหยวกกล้วย ต้มให้หยวกกล้วยสุก เติมใบกะเพรา ปรุงรสด้วยดอกเกลือ พร้อมรับประทาน
สภาวธรรม
มื้อเที่ยงสัมพันธ์ วันนี้ไม่ได้ห่อข้าวมาที่ทำงานมีหม้อหุงข้าว ขนาด 2.2ลิตร 1ชุด เพื่อนร่วมงาน 20 ท่าน ห่อข้าวมาบ้างไม่ได้ห่อข้าวมาบ้าง วันนี้จะแกงหยวกกล้วย จากต้นกล้วยข้างที่ทำงาน ทำแกงเสร็จเพื่อนมาขอชิม รับประทานได้ไหม ถ้ารับประทานก็รับประทานด้วยกันนะคะ เพื่อนบางท่านตอบว่ารสดีเหมือนแกงทั่วไปแต่ไม่มีเนื้อสัตว์ก็รับประทานด้วยกัน แต่บางท่านก็ออกไปทานข้างนอก ตนเคยได้ยินอาจารย์ท่านกล่าว อาหารทำแล้วกินไม่ได้ ทำทำไม จึงได้ปรับสูตร เติมน้ำตาลและกะทิเล็กน้อยเพื่อเอื้อให้ผู้อื่นได้รับประทานร่วมกันได้ โดยสมัครใจ เห็นการวางความยึดมั่นถือมั่น ในการปรุงด้วยเกลืออย่างเดียว เพื่อตนและผู้อื่นได้อาศัย เพราะ 1 เดือนที่ผ่านมา ยึดมั่นถือมั่น ปรุงรสด้วยดอกเกลืออย่างเดียวบ้าง สูตร 1 บ้างดีสำหรับเรา แต่ไม่ดีต่อหมู่กลุ่ม จึงวางการเอาดีที่ตนยึด สภาวะในตนปรุงเพิ่มก็อร่อยอยู่ ตามสัญญา แต่ไม่คิดจะปรุงเสพตามใจ ยกไว้เมื่อจำเป็นตามเหตุ ตามปัจจัย ณ เวลานั้น ๆ
สรุปค่าอาหารมื้อเที่ยง 25 บาทถ้าไปซื้อเขาก็กินได้คนเดียว แต่ทำแกงหยวกเราได้แบ่งปัน ได้รับคำขอบคุณจากพี่น้อง เราก็ได้รับโอกาสในการบำเพ็ญ