แบ่งปันสภาวธรรม อริยสัจ 4 (46/2564) [18:24]

641114 แบ่งปันสภาวธรรม อริยสัจ 4 (46/2564)

นักศึกษาสถาบันวิชชาราม แบ่งปันสภาวธรรมการใช้หลักอริยสัจ 4 ในชีวิตประจำวัน ประจำวันที่ 8-14 พฤศจิกายน 2564

สัปดาห์นี้มีผู้แบ่งปันทั้งหมด 18 ท่าน 24 เรื่อง

  1. ชรินรัตน์ ชุมจีด (น้ำน้อมศีล) (2)
  2. พรพรรณ เอ็ทสเลอร์
  3. วันเพ็ญ ตั้งสกุลวงศ์
  4. ทิษฏยา โภชนา (ในสายธรรม) (2)
  5. น้องบุญพิมพ์ไพร (3)
  6. วิภาภรณ์ กอจรัญจิตต์
  7. อรวิภา กริฟฟิธส์
  8. พรพิทย์ สามสี (เพื่อนพิทย์)
  9. พรทิพย์ ไทยเอียด
  10. พรรณทิวา เกตุกลม (2)
  11. รมิตา ซีบังเกิด
  12. สำรวม แก้วแกมจันทร์
  13. ศศิกาญจน์ กาพย์ไกรแก้ว
  14. ศิริรักษ์​ พรมเล็ก
  15. นปภา รัตนวงศา
  16. สุมา ไชยช่วย
  17. เพ็ญศรี มงคลชาติไทย
  18. อรอุมา ภูบังดาว (2)

24 thoughts on “แบ่งปันสภาวธรรม อริยสัจ 4 (46/2564) [18:24]”

  1. น.ส ชรินรัตน์ ชุมจีด (น้ำน้อมศีล)

    ส่งการบ้านอริยสัจ4
    เรื่อง. กล้ายินดีรับสิ่งที่ยาก
    เหตุการณ์.วันนี้เนื่องจากได้มาร่วมงาน มหาปวารณา ครั้งที่39 ที่บวรทะเลธรรม แล้วพี่ญาติธรรมให้โอกาสให้ช่วยอัดคลิปและให้เป็นพิธีกรไปด้วย เนื่องจากขาดคนที่จะมาช่วยงานสื่อ เมื่อพี่ท่านเกริ่นบอกว่าจะให้ทำงานออกมาประมาณไหน เมื่อได้ยินว่าตัวเองต้องทำอะไรบ้าง จึงจับได้เริ่มมีความกังวลหวั่นไหว

    ทุกข์.รู้สึกกังวลหวั่นไหวเมื่อได้ยินที่พี่ญาติธรรมบอกให้โอกาสให้บำเพ็ญในงานที่รู้สึกไม่ถนัด

    สมุทัย.ไม่อยากบำเพ็ญในฐานงานที่ไม่ถนัดอยากทำงานในสิ่งที่ตังเองทำได้ถนัดจะชอบใจสุขใจแต่เมื่อพี่ท่านให้โอกาสทำงานในสิ่งที่ตัวเอวไม่ถนัดจึงทุกข์ใจไม่ชอบใจ

    นิโรธ.ยินดีทำกับทุกฐานงาน จะเป็นงานที่ตังเองถนัดหรือไม่ถนัดก็สุขใจไม่ชอบไม่ชัง

    มรรค.ได้พิจารณาจิต ณ.ปัจจุบันของตัวเองขณะเกิดผัสสะ ที่ทำให้ทุกข์ ใจมีความกังวลหวั่นไหวเพราะอะไร จึงรู้สาเหตุเพราะความยึดมั่นถือมั่น อยากทำงานสบายง่ายๆหรือไม่สบายไม่ง่ายก็ได้แต่ให้เป็นงานที่ถนัด เช่นให้ตัดหญ้าก็ได้เพราะตัวเองถนัด เมื่อยึดมั่นถือมั่นจะทำแต่งานที่ตัวเองถนัดเท่านั้น เมื่อไม่ได้ทำในสิ่งที่ตัวเองยึดไว้ ต้องมาทำในสิ่งที่ตัวเองไม่ถนัดจึงทุกข์ใจ แล้วมาพิจารณาประโยชน์ล้างความยึดมั่นถือมั่นได้ ถือว่าตัวเองโชคดีได้ฝึกได้ทำงานไม่ถนัดก็ดี และกล้าที่จะยินดีทำในทุกฐานงานที่ขาดคนช่วยและได้ฝึกฝนตัวเองไปพร้อมกัน
    สรุป.เมื่อพิจารณาเข้าใจชัดขึ้นจึงทำให้ใจคลายลงได้เลยเปรียบเทียบถ้าเป็นเมื่อก่อนจะปฏิเสธทันทีจะไม่ทำเลยหรือถ้าทำก็จะทุกข์ แต่ตอนนี้เมื่อเราได้โอกาสที่จะบำเพ็ญก็จะยินดีทำในทุกฐานงาน ตามความสามารถเท่าที่ตัวเองทำได้ คิดว่าถ้าเรากล้ายินดีทำแม้งานจะออกมายังไงจะได้แค่ไหนก็ให้เป็นไปตามกุศลอกุศลของเราและผู้ที่เกี่ยวข้อง ยินดีทำด้วยใจที่ผาสุกเบิกบานค่ะ
    และเมื่อถึงเวลาที่จะถ่ายคลิป อานิสงส์ที่เราวางใจได้ ฟ้าเลยส่งนางฟ้ามาช่วย คือพี่ขวัญซึ่งท่านเป็นพิธีกรประจำอยู่แล้ว ท่านมาทันเวลาพอดี และวันนี้ได้บำเพ็ญถ่ายคลิปกันทั้งวัน ทำด้วยใจที่ผาสุกเบิกบานตลอดวันค่ะ

  2. พรพรรณ เอ็ทสเลอร์

    อริยสัจ 4

    เรื่อง คนเริ่มมาซื้อของขวัญ

    วันนี้ข้าพเจ้าได้ไปซื้อของของขวัญเพื่อเตรียมไว้ให้ คุณแม่สามี เนื่องในโอกาสวันคริสต์มาสที่ใกล้จะมาถึงในไม่ช้า ข้าพเจ้ารู้สึกประหลาดใจเล็กน้อยเพราะลานจอดรถที่เคยกว้าง ๆ นั้นแคบลงมาถนัด หาที่จอดรถค่อนข้างยาก รู้สึกตกใจเล็กน้อย ถ้าไม่มีที่จอดรถคิดว่าต้องไปจอดอีกที่หนึ่งซึ่งต้องเดินย้อนกลับมาค่อนข้างไกลพอสมควร แต่ก็โชคดีที่บังเอิญมีที่ว่างอยู่ 2 ที่ กว้างมากพอสำหรับข้าพเจ้าที่จอดรถในที่แคบไม่ค่อยเก่ง
    พอเข้าไปในร้านขายสินค้า ยิ่งทำให้ข้าพเจ้าตกใจมากกว่าเดิม เพราะต่างคนก็เดินขวักไขว่ หาซื้อสิ่งของที่ตัวเองต้องการนั้น เหมือนกับมีเทศการณ์อะไรสักอย่าง ข้าพเจ้าก็คิดในใจว่า “นี่เราจะได้สิ่งที่เราต้องการไหมน้อ” เริ่มมีความกังวลเกิดขึ้นเล็กน้อย

    ทุกข์ : กังวลใจกลัวว่าจะไม่ได้สิ่งของที่ต้องการ

    สมุทัย : อยากได้สิ่งของที่ต้องการ ถ้าไม่ได้สิ่งนั้นจะทุกข์ใจไม่สบายใจ

    นิโรธ : หากไม่ได้สิ่งของที่ต้องการนั้น ก็จะไม่ทุกข์ใจ

    มรรค : พอเริ่มเห็นอาการกลัว กังวล ของข้าพเจ้าเกิดขึ้นก็เลยพูดกับกิเลสว่าไม่เป็นไรนะ หากสิ่งนั้นไม่มี ก็กล้าที่จะกลับบ้านแบบไม่ได้ซื้อก็ได้ แล้วค่อยไปหาสิ่งอื่นเป็นของขวัญก็ได้ พอคิดได้อย่างนั้นก็เริ่มเห็นอาการผ่อนคลายของใจที่แน่น ๆ ก่อนหน้านั้น ผ่อนคลายลงอย่างเห็นได้ชัด

    บังเอิญว่าในเวลานั้นพนักงานในร้านเดินผ่านมาพอดี เลยได้โอกาสถามท่านถึงสิ่งที่ข้าพเจ้าต้องการ ทำให้ข้าพเจ้าไม่ต้องเสียเวลาในการเดินหา และข้าพเจาก็ได้สิ่งที่ข้าพเจ้าต้องการ และได้คิวจ่ายเงินโดยไม่ต้องเข้าคิวรอนาน เหมือนที่กังวลใจไว้ก่อนหน้านั้น

    เหมือนกับท่านอาจารย์หมอเขียวสอนว่าให้กล้ารับสิ่งที่กลัวหรือกังวลให้ได้ เกิดอะไรก็กล้ายอมรับ กล้าให้หมดไป เห็นผลจริง ๆ ค่ะ เพราะเมื่อกล้าที่จะไม่ได้ของที่ต้องการแล้วก็ทำให้ใจเบาสบาย ไม่มีความกังวล ใด ๆ จึงทำให้ได้สิ่งนั้นมาได้อย่างง่ายดาย และทางปลอดโปร่ง สบาย ค่ะ สาธุ

  3. วันเพ็ญ ตั้งสกุลวงศ์

    ส่งงาน อริยสัจสี่ วันที่ 9|11|2564
    เรื่อง คลายความกลัว ความขยะแขยงเหตุการณ์ ตอนนี้ มาบำเพ็ญตน ที่ภูผาฟ้าน้ำ การดำเนินชีวิต ต้องช่วยกันเก็บผัก ปลูกพืชผัก เกี่ยวข้าว สิ่งที่กลัวและกังวลมากที่สุด ในขณะนี้ คือ กลัวตัวทาก แค่คิดก็กลัว และขยะแขยงมาก ยิ่งเรากลัวมาก จิตเขาก็ยิ่งคิดอยู่ตลอดเวลา และยิ่งกลัวก็จะยิ่งเจอเขาตลอดเวลา ก่อนจะออกไปบำเพ็ญ ตามฐานงาน ก็จะใช้น้ำมันเบนซิน บ้าง น้ำมันเขียวบ้าง ทาตามแขนขา ปรากฏว่าครั้งแรกที่โดนเกาะ เขาเกาะที่คอเลย ครั้งที่สองโดนเกาะที่ท้อง แต่ทั้งสองครั้ง เราไม่เห็นตัวเขา เพื่อนๆบอกว่า อย่าไปกลัวเขา ยิ่งกลัวจะยิ่งเจอ บางคนเขาบอกว่า เขาโดนเกาะครั้งนึง 5 ตัว 8 ตัว เพื่อนบอกว่า เขาไม่มีพิษอะไรหรอก เขาช่วยรักษาโรคด้วยซ้ำไป คนที่โดนนั้นต้องมีวิบากกับเขา รับแล้วก็หมดไป หลังๆเรามองและพิจารณาเขาเรื่อยๆ เขาก็ไม่ได้น่ากลัวอะไร พิจารณาบ่อยๆ ความกลัวก็น้อยลง

    ทุกข์ กลัวและขยะแขยง ตัวทาก
    สมุทัย ชังเมื่อตัวทากเกาะ ชอบเมื่อตัวทากไม่เกาะ
    นิโรธ ไม่ชอบไม่ชัง ตัวทากจะเกาะหรือไม่เกาะ
    มรรค เรามาพิจารณาบ่อยๆ ว่าเขาก็ไม่ได้น่ากลัวอะไร ก็เป็นสัตว์ตัวเล็กๆตัวนึง และก็ฟังเพื่อนๆพูดกันบ่อยๆว่ามาตอนแรกเขาก็กลัวแต่เดี๋ยวนี้เขาไม่กลัวแล้ว บางคนเขาบอกว่าเขาโดนเกาะครั้งนึง 5 ตัวบ้าง 8 ตัวบ้าง เพื่อนๆบอกว่าอย่าไปกลัว ยิ่งกลัวยิ่งเจอ คนที่โดนเขาเกาะต้องมีวิบากกับเขา ให้กล้าเลยที่จะเจอเขา กล้ารับ รับแล้วหมดไป ดั่งบททบทวนธรรมข้อแปดที่ว่า สิ่งที่เราได้รับ คือสิ่งที่เราทำมา ไม่มีสิ่งใดที่เราได้รับโดยที่เราไม่เคยทำมา ความกลัว ความขยะแขยง ของเราก็คลายลงไปเยอะเลย ตอนนี้เจอเขาก็รู้สึกเฉยๆไม่ชอบไม่ชัง
    สรุป เมื่อเราพิจารณาความจริงตามความเป็นจริงแล้ว ความกลัวก็จะคลาย และความกล้า 8 ประการที่อ.หมอเขียว ได้พร่ำสอนเรา ถ้าเราได้นำมาใช้ กับความทุกข์ความกลัว แล้ว จะทำให้เราพ้นทุกข์ได้

  4. ทิษฏยา โภชนา (ในสายธรรม)

    อริยสัจ 4
    เรื่อง: ไม่ทำตามสัญญา
    ขอให้เพื่อนช่วยส่งของมาให้ เพื่อนก็รับปากแล้ว แต่ก็ทำนิ่งเฉย ผ่านไป 1 สัปดาห์ ได้ถามซ้ำไปแล้วแต่ก็ยังนิ่งเฉยอีก ทำให้รู้สึกแย่กับเพื่อนคนนี้มาก เพราะที่ผ่านมาก็เคยรู้สึกไม่ดีกับท่านนี้อยู่หลายครั้ง มันมีภาพจำที่เขาชอบตีความการขอความช่วยเหลือ เป็นการไปใช้เขา เขาจะแสดงพฤติกรรมออกมาเลยว่าเขาไม่พอใจ แต่ครั้งนี้ผู้เขียนก็ยังยืนยันเจตนาเดิมว่าเราก็ไม่ได้ไปใช้เขา เราเห็นเขามีสิ่งนี้อยู่แล้ว ก็แค่ขอความช่วยเหลือไป ซึ่งเขาก็ตอบรับมาแล้ว แต่ก็ไม่ทำตามที่ตกลงไว้ เมื่อเป็นแบบนี้ก็เกิดความขุ่นมัวขึ้นมา “เรื่องง่าย ๆ แค่นี้ยังรักษาสัญญาไม่ได้เลย ไม่มีน้ำใจช่วยเหลือกันเลย แต่ทีจะมาให้เราช่วยกลับมาพูดดี ไม่มีผลประโยชน์ก็ทำเป็นลืม คนใจแคบ ” กิเลสมันไปต่อว่าเขาต่าง ๆ นานา
    ทุกข์ : ขุ่นใจที่เพื่อนไม่รักษาสัญญา
    สมุทัย : ชอบถ้าเขาทำตามที่บอกกับเรา ชังที่เขาไม่รักษาสัญญา
    นิโรธ : เขาจะรักษาสัญญาทำตามที่บอกไว้กับเราหรือไม่ก็ไม่ทุกข์ใจ
    มรรค : พิจารณาที่เราทุกข์เพราะเรายึด ว่าคนเรารับปากแล้วก็ต้องทำได้ตามที่พูด เขาทำตามที่พูดไม่ได้จะด้วยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม มันก็เป็นศีลของเขา แล้วเราจะไปทุกข์ทำไม่ ลองหาวิธีอื่นดีกว่าที่จะไปนั่งทุกข์ใจกับเรื่องแบบนี้
    พิจารณาเรื่องวิบากกรรม เพราะ เราเคยเป็นคนแบบนี้มาก่อน สิ่งที่เขาเป็น สิ่งที่เราไม่ชอบในตัวเขา ก็คือกระจกสะท้อนให้เราเห็น สิ่งที่ไม่ดีในตัวเรา ดังนั้นจึงยินดีรับ ยินดีให้หมดไป

    ตรงกับบททบทวนธรรมข้อที่ 8“ สิ่งที่เราได้รับ คือสิ่งที่เราทำมา ไม่มีสิ่งใดที่เราได้รับ โดยที่เราไม่เคยทำมา ”
    สรุป พิจารณาแบบนี้แล้วใจก็โล่งสบายขึ้น

  5. น้องบุญพิมพ์ไพร

    เรื่องขี้เกียจแปลงฟัน
    เหตุการณ์ แม่ใช้ให้ไปแปลงฟันกิเลสก็มามันขี้เกียจ
    ทุกข์ ใจไม่เบิ่กบาน
    สมุทัย ชังไม่อยากไปแปลงฟัน
    นิโรธ ไปแปลงฟันด้วยใจเป็นสุข
    มรรค เอากิเลสไปเข้าหมู่เพราะสู้ไม่ไหว ลุงหมอเขียวบอกว่าไม่ต้องกินข้าวมื้อเย็นก็ไม่ต้องแปลงฟันบ่อยๆ
    สรุป ใจเบิกบานไม่กินมื้อเย็นก็ไม่ต้องแปลงฟันบ่อยๆ

  6. วิภาภรณ์ กอจรัญจิตต์

    สภาวธรรมประจำวัน 11/10/2564
    วิภาภรณ์ กอจรัญจิตต์ (เอ ใจพอแล้ว)
    เรื่อง ไม่ได้อธิบายก็โอเคนะ ใจไร้ทุกข์

    เหตุการณ์ คือ ได้เจอกับเพื่อนญาติธรรมที่สวนสาธารณะระหว่างไปออกกำลังกาย เพื่อนทักว่าเราและพ่อบ้านช่วงนี้ไม่ค่อยไปช่วยงานหมู่เลยนะ เราสองคนก็ตอบว่างานเยอะมาก จนไม่ค่อยมีเวลา เพื่อนก็พูดต่อว่าอย่ามัวแต่ทำงานส่วนตัวเยอะ เข้าหาหมู่บ้างนะ

    ทุกข์ – ลังเลใจว่าเราจะอธิบายเพื่อแก้ไขความเข้าใจผิดของเพื่อนดีไหม

    สมุทัย – อยากจะอธิบาย (ตามความเคยชินเดิม) ให้เค้าเข้าใจว่าเราทำงานบำเพ็ญให้หมู่อยู่ ไม่ได้ทำงานงานส่วนตัว

    นิโรธ – กล้าที่จะไม่อธิบาย กล้าที่จะให้เค้าเข้าใจผิดด้วยความยินดี

    มรรค – พิจารณาจากเหตุการณ์ จังหวะที่เพื่อนพูดว่า – อย่าทำงานส่วนตัวเยอะ – เราหันมาตรวจจับอาการของเราทันที ว่าเราควรจะอธิบายไหม ประมาณดูอาการเพื่อนคนนั้น เค้าอยากฟังคำอธิบายเราไหม อธิบายหรือไม่อธิบายมีค่าเท่ากันไหม สิ่งที่เพื่อนอยากได้จากเรา คือ ให้เราเข้าหมู่ตามคำพูดของเค้า เค้าไม่ได้อยากฟังคำอธิบาย พอคิดมาถึงตรงนี้ เราก็ยิ้มตอบไปว่า ถ้าฟ้าเปิดและเรา(และพ่อบ้าน) มีเวลาสะดวกไม่ติดงานอะไร ก็จะไปร่วมงานกับหมู่ของเค้านะ

    สรุป – จากเหตุการณ์นี้ เราจับกิเลสได้ทันก่อนที่กิเลสจะโผล่หน้ามาทักทาย เราไม่มีอารมณ์หงุดหงิด โกรธเคือง ที่เค้าเข้าใจเราผิดว่าเราทำงานส่วนตัว เราไม่มีอาการรีบเร่งจะอธิบายหรือต้องแก้ตัว แก้ไขข้อมูลที่เค้ามีให้ถูกต้อง เรายินดีให้เค้าเข้าใจตามที่เค้าเข้าใจ การที่เราไม่ได้อธิบายก็โอเคนะ เรายินดีที่จะชดใช้วิบากเรื่องนี้อย่างเบิกบาน เราจะเพียรทำดีต่อไป จนเค้าเห็นได้เอง เค้าเข้าใจเราได้เอง เหมือนที่พ่อครูสมณะโพธิรักษ์ เคยกล่าวไว้ว่า “ทำดีจนคนตาบอดเห็นได้” นั่นแหละ คือ สิ่งที่เราและพ่อบ้านสมควรทำ

  7. น้องบุญพิมพ์ไพร

    2.เรื่อง อยากกินเนื้อสัตว์
    เหตุการณ์ พี่สาวที่ไม่ได้เจอกันนานกลับบ้าน พ่อทำเมนูเนื้อสัตว์ไว้รอ กิเลสก็อยาก
    ทุกข์ ใจไม่เบิ่กบานเพราะอยากกิน
    สมุทัย ชังที่ไม่ได้กินเนื้อสัตว์
    นิโรธ ใจเบิ่กบานที่ไม่ได้กินเนื้อสัตว์
    มรรค กิเลสบอกให้กินเนื้อสัตว์ พุทธะบอกว่าถ้าเธอกินจะไม่ได้เข้าหมู่ กิเลสบอกว่าไม่เอาดีกว่า
    สรุป น้องบุญไม่กินด้วย ใจเบิกบานแล้วก็ไปฟังลุงหมอเขียวต่อ

  8. อรวิภา กริฟฟิธส์

    เรื่อง ผิดก็รับผิด
    ได้ไปทำสวนแล้วพบว่ามีเพลี้ยกินผักอยู่เต็มต้นเลย เราก็เลยตัดสินใจถอนผักทิ้ง แล้วสับลงน้ำหมักทำปุ๋ยดีกว่า แล้วก็ตัดหญ้าในสวนต่อไป ใจก็คิดกังวลไปว่าเพลี้ยเขาก็มีชีวิตนะ เราสับผักหมักด้วยน้ำปัสสาวะ เขาก็ต้องตายสิ

    ทุกข์ กังวลใจ กลัวว่าตัวเองจะมีวิบากทำเพลี้ยตาย

    สมุทัย ไม่อยากรับวิบากร้าย จากการทำเพลี้ยตาย

    นิโรธ เรายินดีรับวิบากดีร้าย ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นเพราะเราทำมาทั้งนั้น เราทำผิดก็ยอมรับผิด

    มรรค เมื่อเห็นใจเกิดความกลัว กังวล ก็เลยสวนลำกิเลส กรรมเป็นอันทำ เมื่อวิบากดีร้ายจะออกฤทธิ์เราก็ต้องกล้ารับ อาจารย์สอนเราให้กล้ารับร้ายเมื่อวิบากร้ายออกฤทธิ์ เพราะเราทำมาทั้งนั้น เมื่อพิจารณาอย่างนั้นก็มีใจยินดี ตัดความกังวลได้ พร้อมร้บวิบากดีร้ายที่จะเกิดขึ้น เย็นนั้นเราก็สึกสำนึกผิด ขออโหสิกรรมยินดีรับโทษก็เข้านอน ตื่นขึ้นมาตอนเช้าผื่นแดงขึ้นเต็มแขนเลย ใจก็ยินดีรับวิบากร้าย โชคดีแล้วเราได้ชดใช้วิบากร้ายใช้แล้วก็หมดไป เราได้เข้าใจชัดวิบากกรรม วิบากกรรมมีจริง ไม่มีอะไรที่เราได้รับโดยที่เราไม่เคยทำมา และได้ปรับสมดุลด้วยการพอกทาค่ะ

  9. พรพิทย์ สามสี(เพื่อนพิทย์)

    เรื่อง : กิเลสเดิมๆ
    เช้าเปิดตู้เย็นเห็น ขมิ้นที่ตำเอาไว้คลุกเกลือ ใส่กระปุกเอาไว้ หล่นลงในตู้เย็นเลอะเทอะ เราก็รีบจัดการกับตู้เย็น ทำไปพลางหูก็ฟัง พี่น้องหมู่มิตรดีคุยกันทางลายคุย การจับกิเลส การล้างกิเลส สักครู่พ่อบ้านก็เอะอะว่า ตู้เย็นเพิ่งจะล้างเอง เราอธิบายสั้นๆว่า ขมิ้นที่ตำเอาไว้ฝากระปุกเปิด หล่นใส่ตู้เย็นเลอะเทอะ เขาก็พูดต่อแบบโกรธๆ ทำอะไรไม่ค่อยระมัดระวัง เช้าก็ฟังแล้ว
    วันๆ หนึ่งไม่ทำอะไรแล้วเอาแต่ฟัง หมอเขียว
    ที่จริงพ่อบ้านรู้อยู่แก่ใจว่า เราฟังไป แต่งานก็ไม่ให้เสียได้หมด วันไหนขายของก็เสียบหูไปฟังไป
    วันไหนเข้าสวนก็เสียบหูไปฟังไป งานบ้านเอ๋ยก็ไม่ให้เสีย แล้วพ่อบ้านมาพูดอย่างงี้ ได้ไงว่าเราไม่ทำงานทำการ
    ทุกข์ : คำพูดของพ่อบ้าน
    สมุทัย : ชอบที่ให้พ่อบ้านพูดความจริงว่าทำงานไปด้วยฟังไปด้วย ชังที่พ่อบ้านชอบพูดแดกดัน
    นิโรธ : พ่อบ้านจะพูดยังไงก็ได้ ยินดีในความไม่ชอบไม่ชัง
    มรรค : คุยกับกิเลส แกอยากอีกแล้ว แกอยากได้พฤติกรรมดีๆจากเขา ไม่ได้สมใจแกก็มานั่งทุกข์ แกก็มานั่งบ่นว่านานมากแล้วแกออกจากตรงนั้นไม่ได้สักที แกยังทำดีไม่ดีพอแกต้องทำดีให้มากกว่านี้ แกเคยทำชั่วมาหาที่ต้นที่สุดไม่ได้ แกต้องกล้ารับวิบากร้าย แกต้องกล้าทุกข์ กล้าให้หายทุกข์ให้ได้ ไม่ต้องรอไม่ต้องหวังว่าสักวัน เขาจะเปลี่ยน แต่แกต้องเปลี่ยนจากมาร มาเป็นพุทธะให้ได้
    บททบทวนธรรม ๗๕
    ถ้าเราดับทุกข์ใจได้ ก็ไม่มีทุกข์อะไรที่ดับไม่ได้

  10. น.ส ชรินรัตน์ ชุมจีด (น้ำน้อมศีล)

    ส่งการบ้านเรื่อง ความกล้า
    ได้นำความกล้า 8 ประการ ความกล้าที่ยอดเยี่ยมที่สุดในโลก กล้าสู่ความพ้นทุกข์ ได้ใช้ ความกล้าข้อที่ 1 กล้าทำดี กล้าให้ดีเกิด
    ข้อที่2 กล้าให้เกิดวิบากร้าย
    ข้อที่6 กล้าที่จะประมาณ การกระทำ กิจกรรมการงานให้พอเหมาะ
    ข้อที่7 กล้าคบ เคารพและสานพลังกับสัตบุรุษและหมู่มิตรดี
    ข้อที8 กล้าเกื้อกูลช่วยเหลือผู้อื่นด้วยใจที่บริสุทธิ์.
    และได้นำมาปรับใช้กับเหตุการณ์ค่ะ
    เหตุการณ์ คือ เนื่องจากได้ไปร่วมงานวันมหาปวารณาที่ทะเลธรรม ตอนกลับได้เอาเสื้อผ้ามือสองที่คนเอามาบริจาค เพื่อลดภาระของพี่น้องญาติธรรมมาช่วยแบ่งปันที่บ้าน และมีป้าจิตอาสาได้มาค้างที่บ้านเพื่อมาร่วมกันทำรายการในวันต่อไป จากการที่นำได้ผ้ามือสองมาแบ่งปัน เมื่อมาถึงบ้าน จึงเรียกอาให้ท่านมาดูว่าท่านจะรับไหม ท่านก็มาเลือกของตัวเองบ้างส่วน แล้วก็เลือกบางส่วนเพื่อไปแบ่งปันต่อให้เพื่อนบ้าน เมื่ออาเลือกเสร็จ ก็เรียกป้าจิตอาสามาถ่ายรูป เป็นหลักฐานเพื่อส่งต่อการแบ่งปัน เมื่อป้าจิตอาสาท่านเห็น ท่านจึงพูดออกไปว่า “เอาไปไหนนักหนา” ตัวเองได้อยู่ในเหตุการณ์จึงพูดสวนไปว่า อาเอาแบ่งปันต่อค่ะป้า แต่ตอนนั้นจับได้ว่าเรามีกิเลส ว่ากลัวอาจะเสียใจกับคำพูดนั้น และไม่อยากให้อาไม่ประทับกับพี่น้องจิตอาสาที่มาด้วยกันกับเรา แต่คิดว่าสิ่งเราเอาของมาแบ่งปัน คือการกล้าทำดี กล้าให้เกิดดี และเมื่อมีเหตุการณ์ก็ทำให้เราได้เรียนรู้ ว่าต้องกล้าให้เกิดวิบากร้าย ตัวเองก็มาล้างความกลัวให้เกิดความกล้า กล้าที่จะคิดดีทำดีทำให้ใจคลายทุกข์ลงได้ค่ะ ส่วนอาก็คิดว่า ถ้าท่านจะได้รับอะไรหรือท่านจะรู้สึกอย่างไรก็เป็นไปตามวิบากของท่านและคนที่เกี่ยวข้อง และถ้าคิดกลัวว่า ไม่อยากให้ท่านไม่ประทับใจ แต่คิดว่าถ้าเรามีวิบากต่ออให้เราทำดีหรือไม่ดีเขาก็จะไม่ประทับใจอยู่ดี เช้ามาตัวเองจึงคิดและประมาณการกระทำของตัวเอง ด้วยการที่เรากล้าคบ เคารพและสานพลังกับสัตบุรุษและหมู่มิตรดี จึงได้กล้าที่จะถามป้าจิตอาสาว่าท่านคิดอะไรหรือที่พูดคำนั้นออกไป ท่านบอกว่าท่านไม่ได้คิดอะไรเลย แค่อยากจะกระแทกให้เขารู้ก็แค่นั้น เมื่อได้มาเจอกันครบกัน3คน จึงถามควารู้สึกกันระหว่างป้าจิตอาสากับอา ป้าจิตอาสาท่านก็ได้ขอโทษกับการกระทำที่ไม่ได้ประมาณในคำพูดของท่าน ส่วนอาท่านก็ได้มาพูด ความรู้สึกให้ฟัง และจากการที่เห็นสีหน้าตอนที่โดนกระแทก ท่านบอกว่าท่านกลับไปพิจารณาเหมือนกัน ว่าตัวเองทำอะไรผิด ก็งง แต่ก็เข้าใจ ไม่โกรธ สิ่งที่เห็นได้อย่างชัดเจนของอา เปรียบเทียบได้ว่าท่านเปลี่ยนไปมาก จากเมื่อก่อนถ้าท่านได้ยิน ใครพูดกับท่านแบบนั้น ท่านจะโต้ตอบกลับไปทันที แต่นี่ไม่มีเลย เหมือนท่านก็ได้ซึมซับสิ่งดีๆ และได้นำไปปรับใช้กับตัวท่านเอง ทำให้ท่านไม่ทุกข์
    และสิ่งที่ตัวเองคิดว่าคำพูดนั้นน่าจะเกิดสิ่งที่ไม่ดี แต่เมื่อเรากล้ายินดีได้ ทุกอย่างก็เปลี่ยนมาดีได้ค่ะ และหลังจากจัดรายการเสร็จ แทมและอาก็ได้ไปส่งป้าจิตอาสาที่ทะเลธรรมกลับบ้านอย่างปลอดภัยค่ะ

  11. พรทิพย์ ไทยเอียด

    เรื่อง ล้างใจที่คิดไม้ดีต่อผู้อื่น
    เดิมทีนั้นเราเป็นคนที่ไม่เคยติดตามอ่านจิตอ่านใจของตัวเองเลยว่าแต่ละวันเราคิด เรานึกอะไร ดีหรือไม่ดีอย่างไร ด้วยความเชื่อมั่นที่เป็นปกติว่าเราไม่ได้คิดชั่ว คิดร้ายอะไรต่อใครๆ เราค่อนข้างมั่นใจว่าเราเป็นคนดี คนนึงเลยทีเดียว
    แต่พอมาเรียนรู้ธรรมะ เริ่มติดตามอ่านความคิด อ่านจิตใจตนเองถึงได้รู้ว่าจริงๆแล้ว มันไม่เป็นอย่างที่เรานึกชื่นชมตนเองดังเก่าเลย จริงๆแล้ว แทบจะทุกขณะจิต เราคิดแต่เรื่องคนอื่น วิจัยวิจารณ์เรื่องราวและเหตุการณ์ของคนอื่นในใจตลอดเวลา ด้วยความที่เราเป็นคนที่ไม่ชอบพูด พูดน้อย(แต่ความคิดเยอะ คิดมาก คิด คิดนาน เต็มและรกสมองไปหมด)ชอบฟังเวลาที่คนอื่นมาเล่าอะไรให้ฟัง แล้วเอาเรื่องราวทีมาปั้น ปรุงในจิต วิจัยความดี หรือไม่ดีของผู้อื่น รวมทั้งตัดสินคนอื่น บางครังหรือหลายๆครั้ง เราตัดสินนิสัยใจคอ ความดีและความไม่ดี ความถูก หรือความไม่ถูกต้องของคนผู้นั้นเลย แค่ได้ยินจากปากคนอื่น เราก็ตัดสิน วิจัยวิจารณ์ว่าเขาดีหรือไม่ดีไปเสียแล้ว และส่วนใหญ่จะตัดสินให้เขาเป็นคนไม่ดี ไม่ถูก เสียด้วยซ้ำ(ไม่ดีตามที่เราคิด หรือคาดการเอาเอง)โดยใช้เหตุการณ์ที่คนอื่นเขาเล่าให้เราฟังมาเท่านั้น ตัดสินคนอื่นโดยยึดความเห็นของตนเป็นหลัก และนี่ก็คือความชั่วร้ายที่แฝงและฝังลึกอยู่ในจิตเรามาโดยตลอด โดยที่ไม่เคยรู้ตัวมาก่อนเลย บางครั้งพอเห็นหน้าคนที่เราได้ยินได้ฟังเรื่องเล่าเกี่ยวกับตัวเขามา เราก็จะไม่อยากเข้าใกล้ ไม่อยากคบหา ไม่อยากสนทนาด้วยแล้ว เนื่องจากเราได้ตัดสินคนผู้นั้นไปตั้งแต่ได้ยินเรื่องเล่าเกี่ยวกับเขามาก่อนแล้ว ว่าเขาเป็นคนไม่ดี ไม่น่าคบหาด้วย เป็นแบบนี้กับคนมาเยอะมาก จนกระทั่งเพิ่งมารู้ตัวเองเมื่อไม่นานมานี้เอง ว่าเราเอาเวลาในชีวิตเกือบทั้งหมดไปใช้คิดวิจัย วิจารณ์ความดี ไม่ดีของผู้อื่นโดยไม่มองมาที่พฤติกรรมของตนเองเลย

    ทุกข์ : อาการทุกข์ใจจากจิตที่ตั้งไว้ผิดต่อบุคคลอื่น

    สมุทัย : ชังจิตที่มันเฝ้าแต่วิตกวิจัยวิจารณ์ พฤติกรรมดีไม่ดีของผู้อื่นทำให้เวลาที่จะไปคิดทำสิ่งดีๆให้กับชีวิตเสียไป ชอบใจ ถ้าจิตจะเลิกคิดวิจัย วิจารณ์ผู้อื่นแล้วเอาเวลามาอ่านจิต อ่านใจตนเอง

    นิโรธ : คนอื่นเขาจะเป็นคนแบบไหนอย่างไร มันก็เป็นเรื่องของเขา เราไม่ใช่ผู้ที่จะไปตัดสินความถูก ความผิดของคนอื่นจากเหตุการณ์หรือการเล่าเรื่องบอกต่อกันมา คนทุกคนมีเหตุผลในการกระทำสิ่งดีร้ายต่างๆตามวิชชา อวิชชาของเขา เราควรเอาเวลาที่เสียไปนั้นมาคิดทบทวน อ่านกิเลสในจิตของตนเองแล้วคิดหาทางแก้ไข จิตของตนเอง ทำความเจริญที่จิตวิญญาณตนเองจะดีที่สุด

    มรรค : ใช้บททบทวนธรรมข้อที่ 6 ที่ว่า การกระทำเดียวกัน มีเหตุผลในการกระทำ กว่าล้านเหตุผล ต้องระวังอคติ หรือความเข้าใจผิด จากการคาดเดาที่ผิดของเรา และข้อที่ 2 คือ เราต้องรู้ว่า แต่ละคน มีฐานจิตแตกต่างกัน เราจึงควรประมาณการกระทำให้เหมาะสมกับฐานจิตของเราและฐานจิตของผู้อื่น “คิดดี พูดดี ทำดีไว้ก่อน” ดีที่สุด และข้อที่ 42 ยินดีในความไม่ชอบไม่ชังได้พลังสุดๆ ได้สุขสุดๆ ยินดีในความชอบชัง เสียพลังสุดๆ ได้ทุกข์ทุกข์สุดๆ

    สรุปว่า เมื่อเราได้ใช้บททบทวนธรรมนี้ไปล้างความคิด ล้างกิเลสความชอบชังในเหตุแห่งทุกข์ได้แล้ว ชีวิตเรามีความสุขมากขึ้น มีรอยยิ้มที่สามารถส่งมอบให้ได้กับคนทุกๆคนที่พบเจอในชีวิตได้โดยปราศจากจิตที่คิดยัดข้อกล่าวหา พรือเพ่งโทษ ตำหนิ ใครต่อใคร ทำให้มีชีวิตที่สุขสำราญ เบิกบานใจมากขึ้น

  12. นางพรรณทิวา เกตุกลม

    เรื่อง วิบากร้ายขวาง
    เหตุการณ์ : วันนี้ (11/11/21) ตอนเช้าขณะเอาดินใส่กระถางเพาะกล้าผลไม้พร้อมทั้งฟังรายการส่งการบ้านของนักศึกษาวิชชารามไปด้วย แต่ต้องหงุดหงิดกับเสียงดังหันไปดูเห็นพ่อบ้านกำลังตัดสังกะสีด้วยหินเจียร์ซึ่งมีเสียงดังมากจนกลบเสียงจากซูมหมดสิ้นได้แต่คิดในใจว่า ทำไมต้องมาตัดตอนนี้ด้วย

    ทุกข์ : รู้สึกหงุดหงิด ที่ไม่ได้ยินเสียงรายการจากซูม

    สมุทัย : อยากได้ยินเสียงรายการชัดๆ ชอบที่พ่อบ้านไม่ทำเสียงดัง ชังที่พ่อบ้านทำเสียงดัง

    นิโรธ : พ่อบ้านจะทำเสียงดัง หรือไม่ ก็ได้ ไม่ชอบ ไม่ชัง ใจไร้ทุกข์

    มรรค : เมื่อรู้สึกหงุดหงิดดูใจตัวเองก่อน รู้ว่าเกิดจากความอยาก รีบล้างความอยากด้วยความกล้า คือกล้าที่จะไม่ให้สิ่งดีเกิด เมื่อมีวิบากร้ายขวาง เสียงดังที่เกิดเป็นวิบากร้ายของเราเองที่ยืมมือพ่อบ้านมาทำให้เกิดเสียงดังขวางการได้รับฟังสิ่งดีๆเพราะเราเคยทำเสียงดังขวางไม่ให้คนอื่นได้ยินสิ่งดีๆมามากกว่านี้แน่นอนซึ่งตรงกับบททบทวนธรรมข้อที่ 8 ว่า”สิ่งที่เราได้รับ คือสิ่งที่เราทำมาไม่มีสิ่งใดที่เราได้รับ โดยที่เราไม่เคยทำมา” ในเมื่อสิ่งนี้เป็นของเราแล้วยังจะมาหงุดหงิดอีก โง่แล้วเรา พ่อบ้านคงไม่ตัดไปตลอดหรอกเมื่อวิบากหมด เขาเลิกทำก็ได้ยินเอง ยินดีรับ เต็มใจรับให้สุดๆไปเลย คิดได้ดังนี้ความรู้สึกหงุดหงิด ก็หายไปทันที ความเบิกบาน แจ่มใส กลับคืนมา
    สรุป เมื่อกล้าที่จะไม่ให้สิ่งดีเกิด ถ้ามีวิบากร้ายขวาง ใจก็ไร้ทุกข์ เบิกบาน แจ่มใส ทันที

  13. รมิตา ซีบังเกิด

    รมิตา ซีบังเกิด
    เรื่อง : ฝนตกจิตอย่าตก
    เหตุการณ์ : เมื่อวันที่ 10 พ.ย. 64 ต้องร่วมรายการกสิกรรมไร้สารพิษทางซูม มีพี่น้องท่านอื่นนำเสนอมา4ท่านแล้ว พอมาถึงช่วงที่เราจะต้องร่วมรายการ ปรากฎว่าฝนที่บ้านตกแรงมาก มีเสียงฟ้าร้องด้วย เสียงดังจนไม่ได้ยินแม้กระทั่งเสียงพูดของตัวเอง ช่วงแรกนั่งหน้าบ้านภาพออกมาชัดเจน พอฝนตกต้องกลับมานั่งในครัวแทน แสงไฟก็สว่างพอประมาณ แก้ไขอะไรไม่ได้ทำเท่าที่ทำได้
    ทุกข์ : อึดอัดใจที่ฝนตกเสียงดังทำงานไม่ได้ดี
    สมุทัย : ฝนไม่ตกจะไม่อึดอัดใจ ฝนตกอึดอัดใจ
    นิโรธ : ฝนจะตกหรือไม่ก็ไม่อึดอัดใจ
    มรรค: เมื่อเกิดเหตุการณ์ธรรมชาติที่ไม่คาดคิดมาก่อน ในขณะที่จะต้องทำงานให้หมู่กลุ่ม ให้ตัวเองได้บำเพ็ญนั้น ฝนที่ตกในวันนั้นแรงมากกว่าที่ผ่านมา ที่แย่กว่านั้นฟ้าร้อง ฟ้าแลป ความรู้สึกในตอนนั้นคืออึดอัดใจมาก เพราะเป็นเหตุการณ์ธรรมชาติ ที่ใครก็แก้ไขอะไรไม่ได้ งานที่ทำในวันนั้นจะออกมาดีหรือเสียหายก็ไม่รู้ได้ เพราะพูดออกไปไม่ได้ยินเสียงตัวเองด้วยซ้ำไป แต่ที่มั่นใจคือหมู่กลุ่มมิตรดี จะไม่ถือโทษใครแน่นอน คิดได้ดังนั้นหลังจบรายการมาสรุปเหตุการณ์นี้ได้ว่า ” ปัญหาและอุปสรรค ไม่เคยหมดไปจากโลก มีแต่ทุกข์ใจเท่านั้นที่หมดไปจากใจเราได้” จากบททบทวนธรรมข้อที่ 71 ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นอีกก็จะไม่กลัว กังวลให้ใจเป็นทุกข์ความอึดอัดใจจากเหตุการณ์ที่ผ่านมาก็หายไปโดยสิ้นเชิง

  14. สำรวม แก้วแกมจันทร์

    13/11/64
    ชื่อ : สำรวม แก้วแกมจันทร์
    ชื่อเล่น : ป้ารวม
    ชื่อทางธรรม : ร้อยแสงศีล
    จิตอาสา : สวนป่านาบุญ 2

    เรื่อง : “ปอกกล้วย ไม่เข้าปาก”

    เหตุการณ์ :
    สัปดาห์ที่ผ่านมา ได้ร่วมบำเพ็ญในห้องวิชชาราม พร้อมกับคุรุ หมู่กลุ่ม นักเรียน,นักศึกษาวิชชาราม มีโอกาสได้เล่าสภาวธรรม แล้วขอตั้งศีลต่อหน้าอาจารย์หมอและหมู่กลุ่ม ด้วยที่ตัวเองเป็นคนที่อดอยากมากๆ เพราะมีพืช ผัก ผลไม้ ไร้สารพิษปลูกเองมีหลากหลาย โดยเฉพาะกล้วย กระทั่งโดนกิเลสหลอก ศีลล้ม กายใจไม่สมดุล ร้อนเกิน เพราะกินเกิน กินนอกมื้อ ทำให้ร่างกายป่วย ตึง แข็ง แรงตก ตั้งอธิศีลว่า“กินมื้อเดียว”และ“ไม่กินนอกมื้อ” บอกกิเลสว่า จะปฏิบัติการประมาณในเรื่องกินให้เด็ดขาด ผิดศีลเรื่องกิน มากพอแล้ว กิเลสมันยอม นิ่ง เงียบ สงบ เกิดปรากฏการณ์“ปอกกล้วย ไม่เข้าปาก”

    ทุกข์ : ชอบ – อยากกินกล้วย ไม่พอใจที่ไม่ได้กิน

    สมุทัย : อยากกินกล้วย ถ้าได้กินตามที่ชอบ จะพอใจ สุขใจ แต่ไม่ได้กิน ไม่ชอบ ไม่พอใจ ทุกข์

    นิโรธ :พอใจที่จะกินหรือไม่กินกล้วย ไม่ชอบ-ไม่ชัง กินเอาประโยชน์ กินพอประมาณ เบิกบาน ไม่ทุกข์

    มรรค : ได้ตั้งสติ ด้วยเหตุผลของปัญญาพุทธะ พิจารณา ใคร่ครวญ ไตร่ตรอง คิดทบทวนตัวเองว่า ทำไมยังผิดศีลเรื่องกินอยู่บ่อยๆ ทำใจในใจ ตรวจใจ ถามใจ ก็พบว่า ได้ทำผิดศีลที่ตั้งไว้ คือ “กินมื้อเดียว” และ “ไม่กินระหว่างมื้อ” ปฏิบัติได้ดี ต่อเนื่องอยู่ได้หลายเดือน ผ่านไประยะหนึ่งแล้ว แพ้กิเลส ศีลล้ม แพ้กิเลสบ่อยขึ้น จนร่างกายไม่สมดุล ป่วย อาการตึง แข็ง แรงตก จากความหวานของกล้วยสุก ชอบกินกล้วย กินอร่อย เหตุผลของกิเลส มันคิดว่ามันฉลาด (ฉลาดแบบโง่ๆ) จนทำให้ร่างกายป่วย ใจป่วยก่อนกายป่วย เพราะใจที่อ่อนแอ ถูกกิเลสมารร้ายครอบครองจิตใจเราไว้ มันไม่ยอมแพ้ง่ายๆ มันเถียง เถียงอยู่นานประมาณ 15-20 นาที ในที่สุด เกิดความกล้าที่ไม่กลัวกิเลสอีกแล้ว สู้มันด้วยการตั้งอธิศีลเพิ่มว่า “ไม่กินกล้วยสุก จนกว่าร่างกายสมดุล” กิเลสยอมแพ้ไปเลย แต่ก่อนที่มันจะยอม มันหาเหตุผลที่คิดว่ามันฉลาด (แบบโง่ๆ) กิเลสเถียงกับพุทธะ ประมาณนี้ คือ

    เหตุผลกิเลส : ชอบกินกล้วย น่ากิน อยากกิน กินเถอะๆ มีประโยชน์มาก ปลูกเอง ไร้สารพิษ หวานอร่อย ไม่ต้องซื้อ ประหยัด

    เหตุผลพุทธะ : กินเกิน กินนอกมื้อ ประมาณผิดพลาด ร้อนเกิน ร่างกายไม่สมดุล ป่วย เนื้อตัวตึง แข็ง แรงตก ปรับพฤติกรรมการกินให้พอประมาณ กินสูตรพลังพุทธะ พืช จืด สบาย ปรุง 30 % กินเอาประโยชน์ เป็นอาหาร เป็นยา ฆ่ากิเลส เพื่อสุขภาพ ได้เพิ่มอธิศีลว่า “ไม่กินกล้วยสุก จนกว่าร่างกายสมดุล”

    สรุป :
    ถ้าได้ตั้งศีล ปฏิบัติศีลละเอียดได้จริง เป็นลำดับๆ แม้ว่าพร่อง-พลาดไปบ้าง พลั้งเผลอไปเพราะมีสัญญาเดิม ด้วยใจของกิเลสที่มันติดชอบกล้วย ติดรสชาติอร่อย อยากกินกล้วย การฝึกฝนตั้งศีลมา เป็นลำดับๆ มีญาณปัญญาพุทธะแววไวเร็วขึ้น เมื่อเห็นทุกข์จึงเห็นธรรมได้เร็วขึ้น ศีลละเอียดขึ้น กิเลสยอมแพ้ เช่นนี้เอง “ปอกกล้วย ไม่เข้าปาก”

  15. ทิษฏยา โภชนา (ในสายธรรม)

    อริยสัจ 4
    เรื่อง: มีอะไรแฝงอยู่ในคำชม
    ได้มีโอกาสพูดคุยกับคน ๆ หนึ่ง เขาก็มาพูดชมผู้เขียน ทำให้รู้สึกอึดอัดและคิดว่ามันต้องมีอะไรแฝงมาในคำชมนี้แน่ ๆ อรัมภบทไปได้สักพัก เขาก็พูดในสิ่งที่เขาต้องการออกมา กิเลสจึงเริ่มทำงานทันที “สิ่งที่คิดไว้ไม่ผิดจริง ๆ เขาชมเราเพราะต้องการผลประโยชน์จากเรา คนอะไรปากหวานก้นเปรี้ยว พูดชมจนเรารู้สึกสะอิดสะเอียด คิดเหรอว่าเราจะเชื่อคำพูดหวานจนเลี่ยนแบบนี้ ”
    ทุกข์ : ชิงชังคนที่ไม่ใจริงใจ
    สมุทัย : ชอบใจถ้าเขาจะเป็นคนตรงไปตรงมา ชังที่เขาเป็นคนปากหวานก้นเปรี้ยว
    นิโรธ : เขาจะเป็นคนแบบไหนก็ไม่ชอบไม่ชัง
    มรรค : เราไปยึดว่าคนดี ต้องเป็นคนจริงใจและมีศีล ทำดีกับคนโดยไม่ได้หวังผลประโยชน์อะไรตอบแทน อยากได้อะไรก็พูดออกมาตรง ๆ อย่าได้ต้องใช้เล่ห์เหลี่ยมเพื่อให้ได้ในสิ่งที่ตนเองต้องการ พอพบเจอคนแบบนี้จึงทำให้เราไปชิงชังรังเกียจเขา จึงพิจารณาว่า ไม่มีใครอยากเป็นคนไม่ดีในสายตาของคนอื่น เขาจะจริงใจหรือไม่ มันก็เป็นเรื่องของเขา ใครทำอะไรไว้ก็ต้องได้รับสิ่งนั้นอย่างแน่นอน เราไปจัดการใครไม่ได้ มีสิ่งเดียวที่เราทำได้ คือ จัดการใจของเราเองไม่ให้ไปทุกข์กับการคิดพูดทำของเขา เขาพูดชมก็ดีกว่าเขาด่า/ตำหนิ
    พิจารณาในเรื่องกรรมต่อว่า เราชิงชังรังเกียจอะไร สิ่งนั้นเราเคยเป็นมาก่อน เขาคือกระจกสะท้อนของเรา ดังนั้นเขาจึงไม่ได้มาเอาเปรียบเรา แต่เขาคือผู้ที่มีพระคุณ ที่มาให้เราได้เห็นและได้ใช้วิบาก

    ตรงกับบททบทวนธรรมข้อที่ 74“ ให้ตรวจดูว่าในชีวิตของเรา ยังมีเรื่องอะไรที่เกิดขึ้นหรือเสียหายแล้ว ทำให้ใจเราเป็นทุกข์ได้ ถ้ามีอยู่แสดงว่า ยังมีกิเลส เหตุแห่งทุกข์อยู่ ให้กำจัดกิเลส เหตุแห่งความยึดมั่นถือมั่นนั้นเสีย”
    สรุป พิจารณาแบบนี้แล้วใจก็โล่งสบายขึ้น คลายความชิงชังรังเกียจที่มีต่อคน ๆ นั้นได้

  16. นางพรรณทิวา เกตุกลม

    เรื่อง ทำมา
    เหตุการณ์ : วันที่12/11/21หลังฝนหยุดตกลงสวนปลูกต้นไม้ แต่ใจรู้สึกไม่เบิกบานนัก เพราะต้องใช้มือปัดไปมาทั่วทั้งตัวโดยเฉพาะบริเวณหน้า หู จมูก เนื่องจากริ้นตัวเล็กๆรุมตอมแถมกัดคันยิ๊บๆทั่วไปหมดจนเกิดคำถามว่า ทำไมๆเยอะอย่างนี้

    ทุกข์ :ไม่เบิกบานใจ ที่ตัวริ้นรุมตอมและกัด

    สมุทัย : ชอบที่ไม่มีตัวริ้นมากัด ชังที่ตัวริ้นกัด

    นิโรธ : จะมีตัวริ้นกัด หรือไม่กัด ก็ไม่ทุกข์ ไม่ชอบ ไม่ชัง

    มรรค : พิจารณา กรรมและผลของกรรมที่เราเคยทำมา ขณะที่ตัวริ้นรุมตอมและกัดอยู่นั้น ภาพในอดีตที่เด็กๆใช้มือปัดหน้า หู ตากันพันละวัน ผุดขึ้นชัดเจนเหมือนเพิ่งเกิดทั้งที่เกินสี่สิบกว่าปีแล้ว เป็นความพิเรนของตัวเองที่ชอบชวนเด็กๆไปจับที่รังไก่ให้ตัวไรไต่ขึ้นเด็กๆแล้วช่วยจับมาบี้แต่มีเด็กหลายคนจับให้ไม่ทันทำให้ตัวไรไต่ตามตัวเด็กๆมีสภาพ เหมือนที่เราเจอ ตอนนั้นไม่รู้ว่าสิ่งที่ทำเป็นการเบียดเบียนเด็กๆและผิดศีลที่จับตัวไรแล้วบี้ พอรู้ตัว รีบสำนึกผิด ขอโทษ ขออโหสิกรรม ยินดีและเต็มใจรับโทษ ในสิ่งที่ทำผิดมาและล้างความรู้สึกไม่เบิกบานใจด้วยบททบทวนธรรมข้อที่12 ว่า “วิบากกรรมมีจริง ทำอะไร ได้ผลอะไร ก็เกิดจากการกระทำ ของเราเองทั้งหมด เจอเรื่องดี..เพราะทำดีมา เจอเรื่องไม่ดี..เพราะทำไม่ดีมา ทั้งในปัจจุบันและอดีต สังเคราะห์กันอย่างละ 1 ส่วน”หลังพิจารณาเห็นชัดเจนว่าเจอเรื่องไม่ดี..เพราะทำไม่ดีมาจริงๆคิดได้แล้วความรู้สึกไม่เบิกบานหายไป ในที่สุดใจกลับมาเบิกบานดังเดิม

  17. น้องบุญพิมพ์ไพร

    3.เรื่อง ถูกตำหนิ
    เหตุการณ์ ในขณะเข้าซูม ลุงท่านหนึ่งเรียกน้องบุญ และบอกน้องบุญว่าน้องบุญเวลาเข้าซูมส่ายหัวไปมาเล่นบ้างกินข้าวบ้างดูไม่เหมาะสมเวลาถ่ายทอดสดออกไป พอได้ยินคำตำหนิกิเลสน้อยใจก็ขึ้นมาทันที
    ทุกข์ โกรธ น้อยใจหน้าบูดร้องไห้
    สมุทัย ชังที่โดนตำหนิ ชอบถ้าไม่โดนตำหนิ
    นิโรธ ใจเป็นสุขยินดีน้อมรับคำตำหนิ
    มรรค กิเลส โกรธ น้อยใจหน้าบูดร้องไห้ จะไม่เข้าหมู่แล้วและอยากทุมโทรศัพท์

    แม่และน้ากิ๊ฟช่วยสอนกิเลสน้องบุญว่า
    แม่..คิดแบบน้ันพ้นทุกข์หรือเพิ่มทุกข์
    น้องบุญ เพิ่มทุกข์ค่ะ
    แม่ ผิดศีลหรือถูกศีล
    น้องบุญ ผิดศีลค่ะ
    แม่ หลวงปูสอนว่าคำตำหนิคือขุมทรัพอันลํ้าค่า ลุงหมอเขียวสอนว่าคำตำหนิคือรางวัลของนักบำเพ็ญ แล้วท่านตำหนิถูกไหม
    น้องบุญ ถูกค่ะ
    พ่อ เราก็แก้ไขตัวเราถ้าเราทำผิดจริง
    น้ากิ๊ฟ บอกว่าตั้งศีลใช้ญาน7พระโสดาบัน
    น้องบุญ ขอสำนึกผิดที่ตำหนิคนอื่นไว้ขอยอมรับผิดและตั้งจิตหยุดทำและแก้ไขตนเองค่ะ

    สรุป น้องบุญไม่โกรธไม่น้อยใจไม่ร้องไห้และยังเบิ่กบานได้พลังปัญญาเพิ่มได้ใช้วิบากอีกด้วย

  18. ศศิกาญจน์ กาพย์ไกรแก้ว (แนน) 64176

    เรื่อง กล้าๆกลัวๆ

    เหตุการณ์ : ตั้งศีลกินมังสวิรัติ กินเขี่ยได้ กินไข่บางครั้ง (ลึกๆไม่อยากกินไข่) กินตามความสะดวก กินจืดได้ กินรสจัดไม่ค่อยได้ สั่งกับข้าวอาหารตามสั่ง ข้าวเช้า และ สั่งไว้มากินตอนบ่าย ข้าวเช้ากินผัดคะน้าน้ำมันหอย (ขออนุโลมเครื่องปรุง) และสั่งข้าวผัดไข่ไว้มากินตอนบ่าย

    ทุกข์ : ครั้งที่ 1 กังวนใจ กลัวแม่ค้าบ่นว่าเรื่องมากเวลาสั่งกับข้าวหรืออาหารตามสั่ง ไม่เอานั่น ไม่ใส่นี่ เลยตัดสินใจ สั่งสิ่งที่มีในร้าน ครั้งที่ 2 กินข้าวผัดไข่ด้วยความไม่สนิทใจ กินไปก็ไม่อร่อย นึกไปนึกมา ทำไมไม่สั่งผัดผักรวม หรือ กระเพราเห็ด (ในเมนูร้านไม่มี ก็ไม่กล้าถามแม่ค้า ความรู้สึกตอนสั่ง คือ สั่งตามที่มีในป้าย เอาที่ง่ายๆ )

    สมุทัย : อยากกินมังสวิรัติให้ได้ตามเป้าหมายที่ตั้งใจไว้ ไม่อยากกินไข่ กินทีไรก็รู้สึกผิด

    นิโรธ : กินไข่ หรือไม่กินไข่ ก็ไม่ทุกข์ใจ ไม่กลัว ไม่กังวนใจ

    มรรค : พิจารณา ทุกข์เกิดจากความกลัว กลัวแม่ค้าจะดุว่าเรื่องมาก สั่งมากเรื่อง เลยสั่งข้าวผัดไข่ตามป้ายรายการเมนูที่มี
    ทีสั่งข้าวผัดไข่ กลับกล้าสั่ง เมื่อกล้าสั่งมา ก็จงกล้ากิน กล้ารับวิบาก กล้าให้เกิดสิ่งไม่ดี กล้าทำ กล้ารับ ครั้งต่อไปก็ให้ตั้งสติดีๆกว่านี้ ถามแม่ค้า พูดกับแม่ค้าดีๆ พูดดีๆ พูดเพราะๆ วิบากร้ายคงไม่หน้ามึน ให้แม่ค้าพูดร้ายกับเราหรอก อย่าพึ่งกลัวล่วงหน้า พิจารณาเสร็จ ก็คิดต่ออีกว่า ข้าวผัดไข่ที่เหลืออีกครึ่งกล่อง ต้องเก็บไว้กินต่ออีกตอนเย็น ก็กินๆไปก่อน กินกันตาย
    กินเพื่ออยู่รอด ต้องใช้จ่ายอย่างประหยัด คราวหน้าจะซื้อจะสั่งอะไรควรตั้งสติให้ดีกว่านี้
    เบาใจสบายใจ ไม่ซ้ำเติมตัวเอง แต่ก็เฝ้าระวังกิเลสทุกขณะ ไม่เผลอใจ ไม่ห่างใจ

    สาธุค่ะ

  19. นางสาวศิริรักษ์​ พรมเล็ก

    เรื่อง​ แม่ชีมาที่บ้าน
    แม่ชีท่านหนึ่งมาที่บ้านเพราะเป็นคนเคยรู้จักกันมาก่อน ท่านจะมาขอคำแนะนำเรื่องการรักษาหัวเข่าที่ท่านได้รับอุบัติเหตุหกล้มเดินไม่สะดวก เราอยากบอกท่านว่าวิธีการ 9 ข้อ ที่ท่านจะมาเรียนรู้ไม่ได้ทำ​ความเข้าใจกันง่าย​ ๆ​ ภายในวันเดียว ทางที่ดีท่านต้องทำความเข้าใจในหลาย​ ๆด้านของแต่ละข้อ แล้วนำไปใช้ถึงจะได้ผล

    ทุกข์ – หนักใจ​ เพราะยา 9 เม็ด หรือวิธีดูแลสุขภาพ 9 ข้อ ไม่ใช่ยาเม็ดหรือยาต้ม ที่คนส่วนใหญ่เขาเข้าใจกัน

    สมุทัย – ชอบ​ ถ้าท่านทำความเข้าใจและศึกษาศาสตร์ทางเลือกนี้ให้ดีก่อน แล้วจึงนำไปใช้​

    นิโรธ – ท่านจะทำความเข้าใจได้แค่ไหนก็แล้วแต่วิบากดี – ร้าย ของท่าน ส่วนเราไม่ต้องไปกังวล บอกได้แค่ไหนก็ตามแต่ปัจจัยและเวลาที่เปิดโอกาสให้ท่าน

    มรรค – การแนะนำยา 9 เม็ด ของอาจารย์หมอเขียว​ ให้ใครสักคนเข้าใจในเวลาอันสั้นนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะแม่ชีท่านมีปัญหาอยู่หลายอย่าง เช่น ท่านไม่มีที่อยู่แน่นอน จะส่งหนังสือหรือเอกสารไปให้อ่านก็ไม่ได้ อาหารที่จะแนะนำให้ท่านรับประทานก็ทำไม่ได้​ เพราะขึ้นอยู่กับญาติโยมนำมาถวาย ส่วนโทรศัพท์มือถือของท่านก็รุ่นเก่า ไม่สามารถนำเอาข้อมูลที่เกี่ยวกับการดูแลสุขภาพมาใช้ได้ ก็ได้แต่บอกให้ท่านเท่าที่พอจะบอกได้ ส่วนเราได้สภาวธรรมที่พระพุทธเจ้าเคยตรัสไว้ว่า “ตนเป็นที่พึ่งของตน”
    พวกเราชาว พวธ. เป็นลูกศิษย์อาจารย์หมอเขียว ได้เรียนรู้การปลูกผักกินเอง ได้ใช้ชีวิตที่เรียบง่าย มีอาหาร 4 เลี้ยงกายและจิตวิญญาณ​ เราเดินมาถูกทางแล้ว ทำให้มีความก้าวหน้าในทางธรรมไปเป็นลำดับ ซึ่งนี้คือความจริงที่สามารถพิสูจน์ด้วยตัวเอง เมื่อพิจารณาอย่างนี้แล้ว กายและใจก็เป็นสุขได้ด้วยปัญญาอันยิ่ง

  20. นปภา รัตนวงศา

    เรื่อง ยิ่งฝึกยิ่งได้ล้าง

    เหตุการณ์ ได้เข้าไปเรียนรู้เรื่อง เทคนิคการจำ ซึ่งเป็นเรื่องใหม่ที่สนใจที่จะเรียนรู้ เพราะเป็นคนที่ลืม ง่าย มีปัญหาเรื่องความจำ เมื่อเข้าเรียนก็จะมีการบ้านให้ส่ง มีปัญหาตอนที่ส่ง นายกรัฐมนตรีไทย ซึ่งได้ใช้เวลาในการท่องและอัดคลิปส่ง ตั้งแต่ 17.30นก่อนท่านอาจารย์บรรยาย จนจบอปริหานิยธรรม ยาวจนกือบถึง 24.00น นั่งท่องจนเสียงเริ่มแหบแห้ง แต่ก็ผิดเล็กผิดน้อย ไม่สมบูรณ์มาเรื่อยๆจนเริ่มเหนื่อย เริ่มใจร้อนอยากท่องได้สำเร็จ

    ทุกข์ ใจร้อน อยากท่องและอัดคลิปนายกรัฐมนตรีได้สำเร็จ

    สมุทัย ชอบถ้าท่องและอัดคลิปนายกรัฐมนตรีได้สำเร็จ ชังถ้าท่องและอัดคลิปนายกรัฐมนตรีไม่สำเร็จ

    นิโรธ ท่องและอัดคลิปนายกรัฐมนตรีได้สำเร็จหรือไม่สำเร็จก็ไม่ใจร้อน ไม่ชอบไม่ชัง

    มรรค ตั้งศีลมาพิจารณาไตรลักษณ์ ความวิปลาส ความยึดมั่นถือมั่นว่าถ้าสามารถท่องจำนายกรัฐมนตรีทั้ง 29 ท่านได้หมด และท่องย้อนหลังได้ก็ดี แต่ถ้าทำไม่ได้จะทุกข์ใจ โทษตัวเอง ทำทุกข์ทับถมตน ใจร้อนอยากให้ได้ในค่ำคืนนี้ก่อนเที่ยงคืน ซึ่งผิดทางพุทธะแล้ว ผิดทางที่ท่านอาจารย์สอนแล้ว เรามาเรียนรู้เพื่อจะพ้นทุกข์ ไม่ใช่มาเพิ่มทุกข์ เมื่อทุกข์ร่างกายก็จะเกร็งตัวเพื่อที่จะเอาความทุกข์ออก ของดีเข้าไม่ได้ ของเสียออกไม่ได้ ก็ยิ่งเกร็งค้าง ยิ่งอยากได้สำเร็จยิ่งไม่ได้ จึงคิดใหม่หักลำกิเลส ตั้งใจใหม่ ไม่อยากได้ ไม่อยากสำเร็จแล้ว วางใจ ขอนอนก่อนค่อยฝึกใหม่ แต่เวลายังไม่ถึงเที่ยงคืนขอลองอีกครั้ง เมื่อวางใจแล้วลองท่องใหม่ดู ก็สามารถท่องและบันทึกได้สำเร็จ
    ใช้บททบทวนธรรมข้อที่ 78 ความสมบูรณ์หรือความสำเร็จของกิจกรรมการงานคือความลวง ลวงให้ยึด ลวงให้ทุกข์ ส่วนความสำเร็จของใจที่พ้นทุกข์ พ้นความยึดมั่นถือมั่นคือความจริง
    พิจารณาในความใจร้อนที่สะสมมามากมายจนเผาไหม้จิตใจให้ทุกข์สาหัส และร่างกายที่สะสมพิษร้อนมาจนเป็นโรคทางกายหลายโรคร่างกายเกร็งค้าง จนมาใช้ยา 9เม็ด อาการใจร้อนและโรคทางกายค่อยๆทุเลาลงไปเป็นลำดับๆ

    สรุป หลังมาพิจารณาเชื่อชัดในวิบากกรรมมีจริง และเห็นชัดในความอยากว่า ยิ่งอยากได้ยิ่งไม่ได้ เมื่อไม่อยากได้จะได้ เมื่อวางทุกอย่างสามารถอ่านและท่องได้สำเร็จ แต่ถ้าเป็นเมื่อก่อนจะโกรธ จะยิ่งทับถมตัวเองจนปวดหัว หงุดหงิด ตีตนเอง แต่ครั้งนี้ถึงจะใช้เวลานาน แต่อาการใจร้อน หงุดหงิดน้อยกว่าเดิมเยอะมาก ก่อนนอนกิเลสมาหลอก ให้นอนตื่นสายไม่ต้องลุกมาออกกำลังกาย แต่สามารถตื่นมาออกกำลังกายได้ปกติโดยไม่ใช้นาฬิกาปลุก ใจสดชื่นแจ่มใส สามารถทำกิจกรรมการงานได้ตามปกติ หักลำกิเลสได้สำเร็จ..สาธุ

  21. สุมา ไชยช่วย

    เรื่อง หมา

    เหตุการณ์ มีหมาตัวหนึ่งมาที่หน้าบ้าน เราก็คาดเดาไปก่อนว่า มันคงจะมาขี้ ทั้งๆมันยังไม่ได้ขี้ ก็เลยคว้ารองเท้า ใส่มัน เพื่อให้มันหนีไป ปรากฏว่ามันตกใจมาก วิ่งหนีรนราน หัวซุกหัวซน เหมือนหนีตายเลย

    ทุกข์ กลัวว่าหมาจะมาขี้ใส่บ้านตัวเอง

    สมุทัย ชอบถ้าหมาไม่มาขี้บ้านเรา ชังหมามาขี้บ้านเรา

    นิโรธ หมาจะขี้ที่ไหนก็ไม่ชอบไม่ชัง

    มรรค พอเหลือบเห็นมา ด่อมๆมองๆก็เข้าใจว่ามันจะมาขี้ เลยใช้รองเท้าโยนใส่มัน แต่ไม่โดนมันตกใจอย่างมาก วิ่งหนีหัวซุกหัวซุน เหมือน
    หนีตายอย่างนั้นเลย จึงเกิดความสงสาร มันยังไม่ทันขี้เลย และไม่รู้ว่ามันจะมาขี้รึเปล่า เดาไปก่อนเลย มันเป็นสัตว์เดรัจฉาน มันก็ทุกข์เกินทนแล้ว เรายังไปทำร้ายมันอีก เราเห็นแก่ตัวสุดๆเลย ใจดำด้วย แทนที่จะเมตตามัน ชาติใดชาติหนึ่ง มันคงต้องเป็นญาติเรามาก่อน เราถึงได้พบเจอมัน และทำไมต้องเป็นหมาตัวนี้เท่านั้น ที่มาณ.เวลานั้นด้วย จริงๆหมาตัวนี้เป็นผู้มี อุปการะคุณแก่เรา ที่ทำให้เราเห็นกิเลสตัวชิงชัง มันอาจมาให้เราเกื้อกูลมัน แต่เราดันพลักไสไล่ส่งมัน ไป จึงสำนึกผิด ยอมรับผิด ตั้งจิตหยุดทำสิ่งชั่ว ตั้งศีลว่าจะไม่ไปเบียดเบียนชีวิตใครๆอีก
    บททบทวนธรรม9
    ถ้าเรายังไม่เข้าใจคนอื่น
    แสดงว่าเรายังไม่เข้าใจตนเอง
    สรุปเมื่อสำนึกผิดใจก็โล่ง ต่อแต่นี้ไปจะเมตตาต่อทุกชีวิต

  22. เพ็ญศรี มงคลชาติไทย

    ส่งการบ้านค่ะ
    เหตุการณ์ ได้คุยไลน์กับลูก พอได้เห็นรูปลูกชาย ก็เลยทักขึ้นมาทันที ทำไมอ้วนจัง
    ทุกข์ ทำไมอ้วนจัง
    สมุทัย ชอบ ถ้าลูกปฏิบัติลดละได้ก็จะไม่อ้วน ไม่มีโรค
    ชัง ที่ลูกไม่ปฏิบัติลดละก็เลยอ้วน
    นิโรธ ลูกจะปฏิบัติลดละตามหรือไม่ จะอ้วนจะผอม มีโรคหรือไม่มี ก็ไม่ชอบไม่ชัง
    มรรค เคยบอกลูกไปว่า ให้ลดละเนื้อสัตว์ แต่ลูกไม่ได้ปฏิบัติ เป็นทุกข์อยู่หลายวัน ก็ได้เอาเรื่องปรึกษาคุรุ ท่านก็ให้ปัญญา แล้วก็เข้าใจได้ว่าให้เราหันมาดูที่ใจเราว่าเรายังยึดยังอยากอยู่ ตามบททบทวนธรรมข้อ 141 ยึดมั่นถือมั่นตามความคิดของเรา เอาดีแบบเราเราหมาย จึงจะสุขใจ ไม่เอาดีแบบเราหมาย จะทุกข์ใจ แล้วจะเป็นแรงเหนี่ยวนำให้ผู้อื่นเป็นตามไปทุกชาติ ซึ่งคิดผิด พุทธะต้องไม่ทุกข์สุขสบายใจ ไร้กังวล ต้องกล้ารับ ในสิ่งที่ไม่ได้ดั่งใจให้ได้ ต้องขอบคุณลูกที่ทำให้ได้เห็นกิเลสตัวไม่ได้ดั่งใจ ส่วนลูกจะทำตามตอนไหนก็ให้เป็นไปตามวิบากดีร้ายของเขาเราและลูกร่วมกันนะเวลานั้น
    สรุป ก็วางใจได้บ้างค่ะ
    และขอตั้งศีลเพิ่ม คือ จะไม่บีบบังคับ ยัดเยียดใครๆค่ะ สาธุค่ะ

  23. อรอุมา ภูบังดาว

    ส่งการบ้านอริยสัจ4 วันที่ 8 พ.ย. 64
    เรื่อง. ชังที่ชอบมีคนทักว่าผอมเกินไป
    เหตุการณ์. เนื่องจากตนเองเป็นคนผอมและในช่วงที่ทำงานหนักทานน้อยทำให้น้ำหนักลดไป 1 กิโลกว่า เมื่ออยู่ที่ทำงาน จะโดนทักเรื่องความผอมเกือบทุกวันว่า ทำไมผอมเกินไปแล้ว แห้งเกินไป ทานข้าวบ้าง หรือปล่าว ผอมไปแล้วน่ะ เหลือแต่กระดูกแล้ว และอีกหลายๆ คำพูด ที่ทำให้รู้สึกทุกข์ใจ หงุดหงิดใจ กังวลใจ เมื่อได้ยิน เพราะทำให้เราไม่มั่นใจในตนเองว่าเราผอมเกินไปจริงๆ หรือปล่าว

    ทุกข์.ไม่ชอบใจ ทุกข์ใจ ที่มีคนทักว่าผอม เพราะทำให้รู้สึกขาดความเชื่อมั่นในรูปร่างของตนเอง

    สมุทัย.ชอบถ้าไม่มีคนทักว่าผอม มีคนทักว่าอ้วนขึ้น ชังที่มีคนทักว่าผอมเกินไป แห้งเกินไป

    นิโรธ.เขาจะทักว่าเราผอมลง หรืออ้วนขึ้น หรือหุ่นดี ก็ไม่ชอบไม่ชัง

    มรรค.ได้พิจารณาระลึกถึงกรรมของตนเองที่ได้กระทำมาว่า เมื่อก่อนนั้นเราก็เป็นที่ชอบทักผู้อื่น เมื่อเห็นว่าผู้อื่นผอมลงหรืออ้วนขึ้น โดยที่เราเองนั้นก็ไม่ทันได้คิดพิจารณาว่าการที่เราทักเขานั้น ได้ก่อวิบากเกิดขึ้นกับเราแล้ว เพราะเราต้องทำให้เขาต้องทุกข์ใจในรูปร่างของตนเองที่อ้วนขึ้น และทำให้เขาต้องหาทางลดน้ำหนักและอาจหาวิธีการในทางที่ผิด พอเราได้ระลึกถึงวิบากนี้ ก็ตั้งใจยอมรับวิบากในสิ่งที่เราได้ทำมา และตั้งจิตสำรวมระวังในการไม่ทักในเรื่องรูปร่างของผู้อื่น จะได้ไม่หลงไปสร้างกรรมต่อ เข้ากับบททบทวนธรรมข้อที่ 10 ว่า เมื่อเกิดสิ่งเลวร้ายกับเรา ไม่มีอะไรบังเอิญ ทุกอย่างยุติธรรมเสมอ เพราะเราเคยทำเช่นนั้นมามากกว่านั้น เมื่อได้รับแล้วก็หมดไป เราก็จะโชคดีขึ้น เมื่อคิดได้ดังนี้ใจเราก็คลายทุกข์ เพราะได้รับรู้ถึงกรรมวิบากที่ได้ก่อไว้และกำลังได้ชดใช้อยู่ ณ ปัจจุบัน

  24. อรอุมา ภูบังดาว

    ส่งการบ้านอริยสัจ4
    ชื่อ อรอุมา ภูบังดาว ชื่อทางธรรม เพ็ญแสงฟ้า
    เรื่อง รำคาญหงุดหงิด ที่เขาชอบโทรตามงาน
    เหตุการณ์.เนื่องจากมีพี่ที่ทำงาน ชอบโทรของาน ตามงาน แก้ไขงานแก้แล้วแก้อีก นอกเวลาทำงาน ช่วง เย็นบ้าง 5 ทุ่ม หรือช่วง 6 – 7 โมงเช้า ทำให้รู้สึก หงุดหงิด รำคาญ กิเลสมารเลยไปคิดว่าเขาว่า ทำไมเป็นคนไม่มีมารยาท แบบนี้ ชอบโทรนอกเวลาทำงานตลอด งานก็แก้ตลอดและชอบพูดไม่ดีขึ้นเสียงใส่เรา ยิ่งทำให้เรารู้สึกขุ่นใจ

    ทุกข์. รู้สึกไม่ชอบใจ หงุดหงิด รำคาญ ที่เขาชอบแก้งาน โทรตามงานนอกเวลางาน

    สมุทัย.ชอบถ้าเขาไม่แก้งานไม่โทรตามงานนอกเวลางาน ชังที่เขาชอบแก้งานแล้วแก้อีก โทรตามงานนอกเวลางาน

    นิโรธ. เขาจะโทรตามงานนอกเวลาหรือในเวลา จะแก้งานแล้วแก้อีก จะพูดขึ้นเสียงหรือไม่ขึ้นเสียง ก็ไม่ชอบไม่ชัง

    มรรค. พิจารณาว่าเราต้องเมตตาเขาให้มากเขาอาจมีความจำเป็นกังวลว่าเขาจะทำงานไม่เสร็จเหมือนที่เรากังวลว่าเราจะทำงานไม่เสร็จเช่นเดียวกัน เราต้องเมตตาเขาให้มากๆ เพราะเขาอาจมีความจำเป็นและว่างเฉพาะนอกเวลางาน จึงต้องโทรหาเราเวลานั้น เพราะเราเองก็เคยตามงานจากคนอื่นเช่นเดียวกัน ตรงกับบททบทวนธรรม ข้อที่ 9 ว่า ถ้าเรายังไม่เข้าใจคน อื่นแสดงว่าเรายังไม่เข้าใจตนเอง ฉะนั้นเราจึงต้องพยายามทำความเข้าใจเขาและเมตตาเขา เมื่อคิดได้ดังนั้นใจเราก็คลายไม่รำคาญหงุดหงิดเวลาเขาโทรมาตามงาน และพยายามค่อยๆ คุยให้เขาเข้าใจ และเมตตาเขาให้มากๆ แทนที่จะรำคาญเขา

Comments are closed.