การบ้าน อริยสัจ 4 (34/2564) [15:23]

640822 การบ้าน อริยสัจ 4 (34/2564)

นักศึกษาสถาบันวิชชารามส่งการบ้าน อริยสัจ 4 ประจำวันที่ 16-22 สิงหาคม 2564 (อ่านที่มาและรายละเอียดเพิ่มเติมของการบ้าน)

สรุปสัปดาห์นี้มีผู้ส่งการบ้านทั้งหมด 15 ท่าน 23 เรื่อง

  1. พรพรรณ เอ็ทสเลอร์
  2. อรวิภา กริฟฟิธส์
  3. นางพรรณทิวา เกตุกลม
  4. น.ส.ทิษฏยา โภชนา (นุ้ย)(ในสายธาร) (5)
  5. ชวนชม คำท้วม (3)
  6. น.ส ชรินรัตน์ ชุมจีด (น้ำน้อมศีล)
  7. รมิตา ซีบังเกิด
  8. พรพิทย์ สามสี (เพื่อนพิทย์)
  9. นปภา รัตนวงศา (2)
  10. น.ส.จาริยา จันทร์ภักดี
  11. ปิ่น คำเพียงเพชร
  12. นางสาวนาลี วิไลสัก(นาดี) (2)
  13. น.ส จรรญา ชุมจีด (สร้างกลิ่นศีล)
  14. Ruam Ketklom
  15. โยธกา รือเซ็นแบร์ก

22 thoughts on “การบ้าน อริยสัจ 4 (34/2564) [15:23]”

  1. พรพรรณ เอ็ทสเลอร์

    อริยสัจ 4

    เรื่อง อยากให้คุณแม่ย่าลดการกินไขมัน

    เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมาข้าพเจ้ามีโอกาศได้ไปกินอาหารเช้ากับคุณแม่ย่า (คุณแม่ของสามี) เห็นอาหารที่ท่านกินแล้วก็เกิดอาการ อึดอัด คิ้วขมวด หนักหัว หายใจไม่ทั่วท้อง เพราะท่านจะกินอาหารเช้าที่มีชีท แยม และหมูแผ่น ซึ่งก็ล้วนแต่มีไขมันและน้ำตาล ทำให้โรคประจำตัวที่มีอยู่ต้องกินยามากและเปลี่ยนยาอยู่เรื่อย ๆ ท่านต้องกินยาวัยละหลายเม็ด อยากให้ท่านลดการกินอาหารที่เป็นไขมัน และน้ำตาลลง

    ทุกข์ : อยากให้คุณแม่ย่าปรับเปลี่ยนการกิน ลด ละ อาหารจำพวกไขมันและน้ำตาล

    สมุทัย : อยากให้แม่ย่าลด ละ การกินอาหารประเภทไขมันและน้ำตาลลง เผื่อจะได้ลดการกินยา เพราะโรคภัยที่มีอยู่ก็มีมากอยู่แล้ว หากท่านปรับเปลี่ยนการกินคิดว่าปริมาณยาก็น่าจะลดลงด้วย

    นิโรธ : ถึงแม้ว่าท่านจะไม่ปรับเปลี่ยนการกินอาหารก็จะไม่ทุกข์ใจ

    มรรค : พิจารณาถึงโทษการมีกิเลสของข้าพเจ้าว่า กำลังจะผิดศีล และเบียดเบียนตนเองทำให้เป็นทุกข์ และเสียพลังไปเปล่า ๆ กับการไปจัดการและบงการชีวิตของคนอื่น เรื่องการเจ็บป่วยของท่านข้าพเจ้าก็เคยพูดกับท่านไปแล้ว ซึ่งในครั้งโน้น…ซึ่งท่านก็ได้รับทราบแล้ว แต่เมื่อท่านปฏิบัติไม่ได้หรือไม่ปฏิบัติ นั้นก็ต้องปล่อยให้เป็นไปตามวิบากกรรมดีร้ายของท่านเอง

    ข้าพเจ้าก็ได้ทำในสิ่งที่ควรทำคือบอกสิ่งดี ๆ ต่อท่านไปแล้ว
    ท่านอาจารย์หมอเขียวบอกเสมอว่าทำดี ปรารถดี บอกสิ่งดี ๆ ออกไป ส่วนท่านนั้นจะนำไปใช้เมื่อไหร่ อันนั้นให้เราอุเบกขา ปล่อยวางไปเลย ไม่ควรจะเป็นพรหม 3 หน้า ไปบังคับยัดเยียดสิ่งนั้นสิ่งนี้ให้คนอื่นโดยที่ท่านอาจจะยังไม่พร้อมที่จะรับ

    พอทำใจได้อย่างนี้อาการทุกข์ที่มีอยู่ก็สลายหายไปในทันที ครั้งต่อไปจะพยายามไม่ทุกข์กับการกินอาหารของแม่ย่าอีกต่อไป ท่านจะกินหรือ ไม่กินอะไรก็จะไม่ทุกข์ใจอีกแล้ว จะไม่ไปนำเรื่องของคนอื่นมาทำให้ตัวเองต้องทุกข์ใจอีกต่อไป สาธุ

  2. อรวิภา กริฟฟิธส์

    เรื่อง ชีวิตติดซูม
    ในขณะเข้าซูมการงานสัมนาอยู่นั้น เราได้เห็นภาพพี่น้องท่านหนึ่งแต่งตัวไม่เรียบร้อย คิดว่าท่านคงลืมไปว่ากล้องเปิดอยู่ พอเข้ากลุ่มบำเพ็ญกับพี่น้องก็ถามพี่น้องว่าเห็นอะไรมั้ย ปรากฏว่าไม่มีใครเห็นอะไร แต่คุรุเสนอว่าควรจะนำไปพูดเพื่อให้พี่น้องได้ระมัดระวัง แต่พอเราคิดว่าเราต้องไปพูดต่อหน้าหมู่ เกิดความกลัวกังวลว่าพี่น้องท่านนั้นจะอายเรา
    ทุกข์ เกิดกลัวกังวลว่าพี่น้องท่านนั้นรู้ตัวแล้วจะอายเรา
    สมุทัย ไม่อยากไปพูดต่อหน้าหมู่ กลัวกังวลว่าถ้าพี่น้องรู้ตัวแล้วจะอายเรา
    นิโรธ ไปพูดต่อหน้าหมู่หรือไม่ก็ไม่ทุกข์ใจ และพี่น้องจะอายเราหรือไม่ก็ไม่ทุกข์ใจ
    มรรค พิจารณาถึงประโยชน์ว่าสิ่งที่เราจะไปทำเป็นสิ่งดี เป็นประโยชน์ต่อหมู่กลุ่ม ความกลัวเป็นมารยาของกิเลสมาหลอก ไม่ให้เรากล้าทำความดี พี่น้องท่านนั้นจะรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ได้ หรือท่านจะอายหรือไม่อายก็ได้ ที่จริงเราสามารถใช้คำพูดที่ไม่ได้ระบุอะไร พูดไปกลาง ๆ เพื่อว่าเวลาเข้าซูมให้พี่น้องได้สำรวจความเรียบร้อย และระมัดระวังการแต่งตัว ให้ระลึกอยู่เสมอว่าเราอยู่ต่อหน้าสาธารณะ ถ้าพี่น้องท่านจะรู้ตัวก็จะเป็นประโยชน์ต่อท่าน เรามีหน้าที่เสนอดีสลายอัตตา เมื่อคิดได้อย่างนี้ใจก็คลายความกลัวกังวล

  3. นางพรรณทิวา เกตุกลม

    เรื่อง รับเต็มๆ
    เหตุการณ์ :ในวันอาทิตย์ได้ร่วมฟังนโยบายจากอาจารย์ทางไลน์คอล มีพี่น้องหลายคนที่เข้าร่วมท่านหนึ่งไม่ปิดไมค์มีเสียงดัง แทรกเข้ามาตลอดรายการ ช่วงแรกๆฟังอาจารย์ไม่ได้ยินรู้สึกรำคาญ พร้อมมีคำถามเกิดในใจว่า ทำไมๆๆ ไม่ปิดไมค์เขาไม่รู้หรือว่ารบกวนคนอื่นๆ

    ทุกข์ : รู้สึกรำคาญใจ ที่มีเสียงรบกวน

    สมุทัย : อยากแบบยึดมั่นถือมั่นที่จะฟังรายการชัดๆโดยไม่มีเสียงรบกวน แล้วสุขใจ เกิดทุกข์ใจ รำคาญใจ ขณะฟังอยู่มีเสียงดังรบกวน

    นิโรธ : จะมีเสียงดังรบกวน หรือไม่ ก็ได้ ไม่สุข ไม่ทุกข์

    มรรค : พิจารณาเรื่องอยาก ยึด ทำให้ทุกข์ เมื่อเป็นอย่างนี้ก็หันมาปรับใจด้วยการปล่อยวางความอยาก ความยึดมั่นถือมั่นเสีย จึงพิจารณาด้วยบททบทวนธรรมข้อที่47 “เมื่อมีเรื่องไม่ชอบใจ ไม่เข้าใจ แล้วเกิดคำถามว่า..ทำไม ๆ ๆ ให้ตอบว่า..ทำมา ๆ ๆ” พร้อมทั้งเชื่อเรื่องกรรมและผลของกรรม เราได้รับอะไรๆเกิดเพราะเรา ทำสิ่งนั้นมา ส่งเสริมมาทั้งสิ้น ที่มีเสียงรบกวนอย่างนี้ ชาติหนึ่งชาติใดเราเคยทำเสียงดังรบกวนคนอื่นขณะฟังประชุมอย่างนี้มานั่นแหละ พอคิดได้ดังนี้ ความรู้สึกรำคาญใจได้หายไป ในที่สุดฟังรายการจบได้ด้วยใจผาสุก ทั้งๆที่เสียงดังยังมีอยู่เป็นระยะๆ จนจบรายการเหมือนกัน
    สรุป หมดอยาก หมดทุกข์ หมดรำคาญ ใจจึงผาสุก

  4. น.ส.ทิษฏยา โภชนา (นุ้ย)(ในสายธาร)

    16/08/64
    ชื่อ : น.ส.ทิษฏยา โภชนา
    ชื่อทางธรรม : ในสายธรรม
    จิตอาสาสังกัดสวนป่านาบุญ 2
    เรื่อง: เลือกอยู่ได้
    สั่งซื้อของใช้ส่วนตัวของผู้หญิงกับคนที่รู้จัก แม่ค้าก็เอามาให้เลือกถึงที่บ้าน พอญาติ ๆ เห็นเข้าก็สนใจอยากซื้อบ้าง แม่ค้าจึงให้เวลาในการเลือก 4 วัน และฝากให้ผู้เขียนช่วยรับภาระดูแลแทน มีญาติท่านนึงซื้อไปเกิน 10 ชิ้นแล้วก็ยังจะมาดูอีก เลือกแล้วเลือกอีก มาเลือกทุกวัน เดี๋ยวก็มาขอเปลี่ยนอันนั้นอันนี้ พอเจอหน้าเราก็ถามโน่นถามนี่จนรู้สึกรำคาญ ความคิดกิเลสก็เข้ามาทันที “ โอ๊ย!!! ถามอยู่ได้ เขาอุตส่าห์เอามาให้เลือกถึงบ้าน ก็รู้อยู่ว่าเราไม่ใช่เจ้าของร้านก็ยังจะมาต่อราคาอีก… เมื่อไหร่จะเลือกให้เสร็จ ๆ ซะที รำคาญ”
    ทุกข์ : รำคาญที่ญาติเรื่องเยอะ
    สมุทัย : ยึดมั่นถือมั่นว่าญาติจะต้องเข้าใจว่าเราไม่ใช่เจ้าของร้าน ไม่ได้รู้รายละเอียดมากนัก
    ชอบใจถ้าญาติไม่เลือกมากและถามแต่พอดี ชังที่ญาติเลือกแล้วเลือกอีกและถามซอกแซกในสิ่งที่เราไม่รู้
    นิโรธ : ญาติจะเลือกแล้วเลือกอีก และจะถามซอกแซกก็ไม่ชอบไม่ชัง ใจไร้ทุกข์
    มรรค : พิจารณาว่า กิเลสในตัวเรานี่แหละที่น่ารำคาญ ที่ไปอยากให้ญาติคิดและทำเหมือนที่เราต้องการ เราไม่เข้าใจว่าแต่ละคนมีฐานจิตที่แตกต่างกัน แล้วยังจะไปเพ่งมองข้อเสียของเขาอีก เลิกที่จะไปจัดระเบียบคนอื่นว่าต้องทำแบบนั้นแบบนี้เหมือนที่เราอยากจะให้เป็น แล้วมาจัดการกิเลสความยึดมั่นถือมั่นในใจเรา
    แทนที่จะไปรังเกียจก็เปลี่ยนเป็นขอบคุณที่ญาติมาช่วยกระแทกกิเลสเรา เป็นกระจกสะท้อนให้เราได้เห็นว่า เราก็เคยเป็นคนเรื่องเยอะแบบนี้มาก่อน และลองคิดในมุมกลับกันว่า ใคร ๆ ก็อยากจะได้สิ่งที่ดีที่สุดคุ้มค่าที่สุดกันทั้งนั้น เอาใจเขามาใส่ใจเรา ตั้งจิตขออโหสิกรรมที่ไปเพ่งโทษญาติ และสำนึกผิดต่อความผิดพลาดในอดีตที่เคยทำให้ใครต่อใครต้องรำคาญใจมานักต่อนักแล้ว
    ตรงกับบททบทวนธรรมข้อที่ 47 “ เมื่อมีเรื่องไม่ชอบใจ ไม่เข้าใจแล้วเกิดคำถามว่า ทำไมๆๆ ให้ตอบว่า ทำมาๆๆ”

    บทสรุป พิจารณาแบบนี้แล้วใจก็โล่งขึ้น ความรำคาญค่อย ๆ จางคลายไป ยอมให้ญาติเลือกสินค้าจนกว่าเขาจะพอใจได้ด้วยใจไร้ทุกข์

  5. ชวนชม คำท้วม

    ส่งการบ้าน
    นางชวนชม คำท้วม
    ชื่อทางธรรม สู่ร่มศีล
    จิตอาสา ส่วนป่านาบุญ 2
    ชื่อเรื่อง ลูกชายคิดอะไรอยู่นะ
    เหตุการณ์ วันนี้มีการประชุมออนไลน์ของผู้ปกครองโรงเรียนสัมมาสิกขาปฐมอโศก มีกิจกรรมบอกรักในวันแม่ที่ผ่านมา เป็นวิดิโอที่บันทึกไว้แล้ว ลูกชายก็พูดบอกรัก และมีประโยคว่าแม่อยู่กับพ่อนะ และกิจกรรมให้เด็กพูดกับผู้ปกครอผ่านซูม เขาก็บอกรัก แม่คิดถึงแม่และยังพูดคำว่า แม่อยู่กับพ่อนะ
    ทุกข์ กังวลใจทำไมลูกชายถึงคำนี้
    สมุทัย ชอบที่ลูกไม่พูดคำนี้ชังที่ลูกพูดคำนี้
    นิโรธ ลูกจะพูดคำนี้หรือไม่พูดคำนี้ เราก็ไม่กังวลใจ ไม่ทุกข์ใจ
    มรรค ได้ปรึกษากับครูประจำชั้น ครูประจำชั้น บอกว่าเขาคงอยากให้พ่อแม่อยู่กันเป็นครอบครัว อาจเป็นเพราะเด็กอโศก กำพร้าพ่อแม่เป็นส่วนใหญ แล้ววันแม่เป็นวันที่เขาต้องบอกรักแม่ เขาเห็นเพื่อนไม่ได้บอกรักแม่ และวันต่อมาได้ถามลูกชาย ว่าทำไมพูดว่าให้แม่อยู่กับพ่อนะ เขายอกเห็นพ่อกับแม่ทะเลาะกันบ่อย อยากให้อยู่ด้วยกัน หนูก็สารภาพบอกลูกจะไม่ทะเลาะกับพ่อ จะอยู่กับพ่อ เราก็สบายใจ ลูกก็สบายใจ หายทุกข์ใจค่ะ

  6. น.ส.ทิษฏยา โภชนา (นุ้ย)(ในสายธาร)

    17/08/64
    ชื่อ : น.ส.ทิษฏยา โภชนา
    ชื่อทางธรรม : ในสายธรรม
    จิตอาสาสังกัดสวนป่านาบุญ 2
    เรื่อง: ไม่อยากเสียเงิน
    ผู้เขียนได้รับโน้ตบุคเก่ามาใช้งาน 1 เครื่อง ซึ่งใกล้จะถึงเวลาปลดประจำการแล้ว ที่ผ่านมาก็มีสัญญานเตือนมาหลาย ๆ ครั้ง เช่น เสียงจะมาช้า บางโปรแกรมตอบสนองช้า วันนี้ในขณะที่กำลังเปิดใช้งานเพื่อเตรียมตัวประชุมออนไลน์ปรากฏว่าหน้าจอมืดดำ พยายามเปิด-ปิดอยู่ 3 ครั้ง ก็ยังเปิดไม่ได้ ความกังวลก็เข้ามา อยากจะให้โน้ตบุคเครื่องนี้ใช้ได้อีกนานๆ รู้สึกเสียดายเงินถ้าต้องซื้อเครื่องใหม่
    ทุกข์ : หดหู่ใจว่าจะต้องเสียเงินซื้อโน้ตบุคเครื่องใหม่
    สมุทัย : ชอบใจถ้าโน้ตบุคอยู่ในสภาพดีพร้อมใช้งานได้นาน ๆ ชังถ้าต้องจ่ายเงินซื้อโน้ตบุคเครื่องใหม่
    นิโรธ : โน้ตบุคจะอยู่ในสภาพพร้อมใช้งานก็ได้ หรือจะเสียหายจนต้องซื้อเครื่องใหม่ก็ไม่ทุกข์ใจ
    มรรค : พิจารณาเรื่องความไม่เที่ยง ไม่มีสิ่งใดในโลกที่คงอยู่มั่นคง เที่ยงแท้ ต้องเสื่อมสลายไปตามกาลเวลาของมัน โน้ตบุคมีอายุการใช้งานของมัน เครื่องมันก็เก่ามากแล้ว เราได้ใช้งานมาอย่างคุ้มค่าแล้ว ถ้ามันจะเสียก็ต้องเสีย แต่ใจเราจะต้องไม่เสีย ถ้าถึงเวลาจ่ายก็ต้องจ่าย เมื่อก่อนจ่ายเงินไปกับเรื่องไร้สาระตั้งมากมายยังทำได้ ถ้าจะเสียเงินซื้อโน้ตบุคที่เอามาใช้ประโยชน์จะเสียดายไปทำไม
    ตรงกับบททบทวนธรรมข้อที่ 35 “ ยึดอาศัยดี ที่สามารถทำให้เกิดขึ้นได้จริงนั้นดี แต่ยึดมั่นถือมั่นว่าต้องเกิดดีดั่งใจหมาย ทั้ง ๆ ที่องค์ประกอบเหตุปัจจัย ณ เวลานั้น ไม่สามารถทำให้ดีนั้นเกิดขึ้นได้จริง นั้นไม่ดี”

    บทสรุป พิจารณาแบบนี้แล้วใจก็โล่งขึ้น หลังจากเปิดปิดเครื่องอยู่ 3 รอบดังที่กล่าว แล้วยังเปิดไม่ได้ ก็เลยหลบไปล้างทุกข์ใจ สักพักก็กลับมาที่ห้องทำงาน ปรากฎว่าหน้าจอโน้ตบุคก็กลับมาดีเหมือนเดิม ไม่มืดดับเหมือนก่อน

  7. น.ส.ทิษฏยา โภชนา (นุ้ย)(ในสายธาร)

    19/08/64
    ชื่อ : น.ส.ทิษฏยา โภชนา
    ชื่อทางธรรม : ในสายธรรม
    จิตอาสาสังกัดสวนป่านาบุญ 2
    เรื่อง: เดี๋ยวค่อยทำ
    ช่วง 2-3 สัปดาห์มีติดภารกิจยุ่งทั้งวัน จนไม่มีเวลาเขียนการบ้านอริยสัจ 4 ส่งสถาบันวิชชาราม ทั้ง ๆ ที่เห็นความคิดกิเลส และได้ล้างทุกข์ไปได้แล้วด้วย แต่เมื่อจะต้องเขียนการบ้านก็กลับผลัดวันประกันพรุ่ง ความคิดกิเลสก็จะบอกว่า “ ทำงานมาเหนื่อย ๆ ก็พักไปก่อนเถอะ เดี๋ยวพอหายเหนื่อยแล้วค่อยทำก็ได้ ” จนเวลาผ่านไปก็ลืมรายละเอียดที่จะเขียน ทำให้ไม่ได้เขียนการบ้านอยู่หลายครั้ง ความถี่ในการส่งการบ้านจึงลดลง
    ทุกข์ : ลืมรายละเอียดที่จะเขียนการบ้าน
    สมุทัย : ชอบใจถ้าได้เขียนการบ้านส่งทุกครั้งที่จับอาการของกิเลสได้ ชังที่ลืมเรื่องที่จะเขียน
    นิโรธ : เมื่อจับอาการของกิเลสได้ในแต่ละครั้ง จะจำรายละเอียดมาเขียนการบ้านส่งก็ได้ จะลืมก็ได้ ไม่ตีตัวเองซ้ำ ใจไร้ทุกข์
    มรรค : พิจารณาว่า เราก็มีภารกิจที่ต้องรับผิดชอบ(งานนอก)มากจริงๆ ในแต่ละวัน เราก็พยายามเต็มที่แล้ว ถึงแม้ว่าจะทั้งเหนื่อยทั้งยุ่งจนลืมเขียนการบ้านส่งบ้างก็ไม่เป็นไร อย่าไปตีตัวเองซ้ำ แม้ความถี่ในการส่งจะลดลง แต่ก็ยังส่งอยู่ แม้จะไม่ได้เขียนส่งแต่ก็ได้ล้างกิเลสไปบ้างแล้ว ทุกข์ใจก็ดับไปได้บ้างแล้ว
    ตรงกับบททบทวนธรรมข้อที่ 33 “ ทำดีเต็มที่ทุกวัน ก็สุขใจเต็มที่ทุกวัน ได้เท่าไหร่ พอใจเท่านั้น พอใจเท่าไหร่ ก็สุขใจเมื่อนั้น”

    บทสรุป พิจารณาแบบนี้แล้วใจก็โล่งขึ้น ไม่โทษตัวเองซ้ำ และตั้งจิตว่าจะพยายามจดหัวข้อ (กันลืม) ที่จะเขียนการบ้านทุกครั้งที่จับอาการกิเลสได้ เพื่อเป็นรายละเอียดในการเขียนการบ้านอริยสัจ 4 จะทำให้เต็มที่ทั้งงานนอกงานใน แต่จะไม่กดดันตัวเองจนมากเกินไป ทำได้เท่าไหร่ก็เท่านั้น

  8. น.ส.ทิษฏยา โภชนา (นุ้ย)(ในสายธาร)

    18/08/64
    ชื่อ : น.ส.ทิษฏยา โภชนา
    ชื่อทางธรรม : ในสายธรรม
    จิตอาสาสังกัดสวนป่านาบุญ 2
    เรื่อง: ไม่หน้าทำแบบนี้เลย
    ได้ทราบข่าวการทำผิดพลาดของเพื่อน ช่วงแรกที่ได้รู้ก็เฉย ๆ แต่ผ่านไปสักพักกิเลสก็ชวนให้เอาเรื่องนี้กลับมาคิดตำหนิการกระทำของเพื่อน และตัวเอง “ทำไมเขาถึงทำแบบนี้ เขาพูดกับเราแบบหนึ่ง แต่ทำตรงข้ามกับสิ่งที่พูด ครั้งนั้นเราไม่น่าไปเชื่อคำพูดของคนตลบแตลงแบบนี้เลย ทำตัวเหมือนคนน่าสงสาร แต่ที่จริงร้ายลึก เกือบจะทำพลาดไปช่วยเหลือคนทำผิดซะแล้วเรา”
    ทุกข์ : เสียความรู้สึกกับสิ่งที่เพื่อนทำ
    สมุทัย : ชอบใจถ้าเพื่อนพูดความจริง ชังที่เพื่อนโกหกเรา ยึดมั่นถือมั่นว่าคนปฏิบัติธรรมจะต้องเป็นคนตรง เมื่อทำผิดแล้วต้องยอมรับผิด ไม่ปล่อยความผิดให้ยาวนาน
    นิโรธ : เพื่อนจะพูดความจริงหรือโกหกเราก็ได้ คนปฏิบัติธรรมจะเป็นแบบไหนก็ได้ ไม่ทุกข์ใจ
    มรรค : พิจารณาว่า ไม่มีใครอยากทำผิดพลาด ถ้าเขารู้ว่ามันไม่ดีเขาก็คงไม่ทำ ถ้าเขาพูดไม่จริง เขาก็จะได้รับวิบากร้ายนั้นเอง จะไปทุกข์ใจทำไม เรื่องของตัวเองก็ทุกข์มากพออยู่แล้ว ยังจะเอาเรื่องของคนอื่นมาคิดอีก
    พิจารณาต่อว่า เราจะไปยึดว่าคนปฏิบัติธรรมจะต้องพูดความจริงทุกคน ทำผิดแล้วก็ต้องรับผิดตั้งแต่แรกมันเป็นไปไม่ได้ เพราะภูมิธรรมของแต่ละคนมันไม่เท่ากัน โลกนี้ไม่มีอะไรเที่ยง ไม่มีอะไรที่ยึดถือได้เลย การที่เราเสียความรู้กับการกระทำของเพื่อน นั่นคือเราก็เคยทำพลาดในเรื่องแบบนั้นมา แทนที่จะไปตำหนิเพื่อน ก็กลับมาตำหนความชั่วของตัวเอง ดังนั้นจึงตั้งจิตสำนึกผิดต่อการกระทำไม่ดีของเราทั้งหลายที่พลาดทำมาในอดีต จนเป็นแรงเหนี่ยวนำให้เพื่อนและคนอื่น ๆ ทำไม่ดีตาม
    ตรงกับบททบทวนธรรมข้อที่ 89 “ ในโลกนี้ไม่มีอะไรเที่ยง ไม่มีอะไรที่เราควบคุมได้ ไม่มีอะไรที่เรากำหนดได้ นอกจากใจที่ไม่ทุกข์ของเราเท่านั้นที่เรากำหนดได้ ” และข้อที่ 95 “ เมื่อเกิดเรื่องที่เรารู้สึกไม่ดี โดยสัจจะแสดงว่าเราทำหรือส่งเสริมสิ่งผิดสิ่งไม่ดีมา ในชาตินี้หรือชาติก่อน ๆ เมื่อทำผิดแล้วไม่ยอมรับผิดจะเป็นวิบากร้ายใหม่ ที่ทำให้วิบากร้ายเก่าที่รับก็ไม่มีวันหมดเกลี้ยงได้ง่าย แต่จะหมดเกลี้ยงได้ยาก และหมดเกลี้ยงได้ช้า และวิบากร้ายใหม่ ก็จะเพิ่มอย่างไม่มีวันสิ้นสุด”

    บทสรุป พิจารณาแบบนี้แล้วใจก็โล่งขึ้น ให้อภัยทั้งเพื่อนและตนเองได้อย่างสบายใจ

  9. น.ส ชรินรัตน์ ชุมจีด (น้ำน้อมศีล)

    ส่งการบ้าน อริยสัจ4
    เรื่อง. ทำดีแล้ว…วาง
    เหตุการณ์.เนื่องจากมีพี่น้องมาปรึกษาปัญหากับเรา เราก็มีความยึดดีอยากให้ท่านคลายทุกข์ลงได้บ้างจากปัญหานั้น จากตอนแรกที่คุยกันแล้วดูเหมือนว่าท่านจะเข้าใจดีแต่พูดสักพักดูเหมือนว่าท่านจะกลับไปเหมือนเดิม

    ทุกข์.ขุ่นใจเมื่อพี่น้องท่านที่มีปัญหาที่มาปรึกษากับเรา แล้วดูเหมือนจะกลับไปเหมือนเดิมอีกค่ะ

    สมุทัย.อยากที่จะให้พี่น้องท่านทำตามคำที่เราให้คำปรึกษาได้โดยที่ไม่มีท่าทีจะกลับไปเหมือนเดิมแล้วเราจะชอบใจสุขใจ แต่เมื่อท่านมีท่าทีจะกลับไปเหมือนเดิมอีกก็รู้สึกไม่ชอบใจทุกข์ใจ

    นิโรธ.พี่น้องท่านจะปฏิบัติตามคำแนะนำของเราได้โดยไม่กลับไปเหมือนเดิมหรือถ้าท่านจะกลับไปเหมือนเดิมอีก ก็วางใจไม่ชอบไม่ชัง

    มรรค.ตั้งศีลมาพิจารณาเห็นถึงไตรลักษณ์ ความวิปลาส ไม่เที่ยงของอาการกิเลสที่เรายึดที่ทำให้เราทุกข์ใจ จับได้ทันทีเลยว่ามันมีความอยาก คิดว่าพี่ท่านปฏิบัติตัวตามที่เราแนะนำนะมันดีนะ ถ้าพี่ท่านทำได้ แล้วไม่ต้องกลับไปทุกข์เหมือนเดิมก็ดีนะ แต่ดีไม่จริงเพราะเราหลงไปยึดว่าพี่ท่านต้องทำตามที่เราแนะนำจะดี แต่เมื่อพี่ท่านทำท่าทีจะกลับไปเหมือนเดิมเราก็ยังมีความทุกข์อยู่ จึงมาพิจารณาว่าเมื่อเราได้ทำดีที่สุดแล้ว ก็วางใจว่าใครจะทำอะไร ได้รับสิ่งใด ก็เป็นไปตามกุศลอกุศลของแต่ละชีวิตของเราของท่านและคนที่เกี่ยวข้อง และได้ใช้บททบทวนธรรมข้อที่18 มาพิจารณาร่วมด้วย คือ เราทำดี ด้วยการช่วยไม่ให้คนอื่นทำผิดได้ ก็ช่วย แล้ว วาง ให้เป็นไปตามวิบากดีของเขา ช่วยไม่ได้ ก็ วาง ให้เป็นไปตามวิบากร้ายของเรา เมื่อเขาเห็นทุกข์จนเกินทนจึงจะเห็นธรรม แล้วจะปฏิบัติธรรมสู่ความพ้นทุกข์

    สรุปว่า.เมื่อเราวางใจได้ใจก็โล่งลงได้ค่ะ ส่วนตัวของพี่ท่าน เมื่อเราวางใจได้ว่าท่านจะเป็นยังไงก็ได้ วางแบบสิ้นเกลี้ยง รวมกับวิบากดีของท่านมาจับมือกันทำให้ท่านเห็นทุกข์ได้ แล้วเมื่อท่านทุกข์จนเกินทนแล้วท่านจึงได้เห็นธรรมได้ปฏิตบัติธรรมสู่ความพ้นทุกข์ ตามฐานของท่านได้ตามลำดับ

  10. รมิตา ซีบังเกิด

    รมิตา ซีบังเกิด
    เรื่อง : พี่สาวติดเชื้อโควิด
    เหตุการณ์ : ได้รับข่าวว่าพี่สาวที่กทมฯ ติดเชื้อโควิด ทั้งที่เตือนมาตลอดว่าให้หยุดขายของสักระยะหนึ่งจนกว่าโรคระบาดจะเบาบางลง แต่ไม่ยอมเชื่อและยังชอบออกจากบ้านทุกวัน เมนูอาหารและสมุนไพรที่ส่งเป็นข้อความเป็นคลิปไปให้ก็ไม่ศึกษาไม่ทำตาม เพราะคิดว่าตัวเองยังแข็งแรงดี และฉีดวัคซีนมาแล้ว
    ทุกข์ : อยากให้พี่สาวใช้วิธีการของแพทย์วิถีธรรมรักษาตัวเอง
    สมุทัย : ชอบถ้าพี่สาวจะใช้วิธีการของแพทย์วิถีธรรม ชังที่พี่สาวไม่ใช้วิธีการของแพทย์วิถีธรรม
    นิโรธ : พี่สาวจะใช้วิธีการใดๆรักษาตนเองก็ไม่ชอบไม่ชัง
    มรรค : ได้โทรไปสอบถามอาการของการติดเชื้อจากพี่สาว ได้รับคำตอบว่าตรวจหาเชื้อไวรัสโควิดจากรถพระราชทาน ซึ่งมาให้บริการตรวจฟรีในชุมชน ผลตรวจว่าติดเชื้อโควิด ทำให้ต้องแยกมาดูแลตัวเองคนเดียวในบ้านอีกหลังหนึ่ง เราพยายามบอกวิธีการดูแลสุขภาพตามหลักแพทย์วิถีธรรม แต่ดูเหมือนพี่สาวจะไม่ยอมทำตามที่บอกแต่ไปเชื่อเพื่อนๆในชุมชน ดีที่พี่สาวไม่มีอาการมากมายเพราะฉีดวัคซีนมาแล้วเข็มที่ 1 วันต่อมาได้โทรไปใหม่บอกพี่ว่าให้ดูแลตัวเองให้ดี พักผ่อนให้มากๆแต่ไม่ใช่นอนทั้งวัน ให้ออกกำลังกายหรือหาอะไรทำไปบ้างจะได้ไม่เครียด และได้แนะนำให้เปิดคลิปที่ส่งให้วันก่อนดูบ้างและแนะนำให้ใช้มันเขียวที่ให้ไว้วันก่อนเอามาผสมน้ำดื่มทุกวัน จะได้ไม่มีไข้และจะรู้สึกสบายตัว ครั้งนี้ดูเหมือนจะฟังและทำตามบ้างแต่ก็ต้องคอยดูต่อไปว่าอาการจะเป็นอย่างไร ดังบททบทวนธรรมข้อที่ 126 ว่า :คุณค่าและความผาสุกของการเป็นคน คือ การพึ่งตนและช่วยคนให้พ้นทุกข์:
    เมื่อพี่สาวพูดเหมือนว่าไม่มีอาการวิตกกังวลหรือกลัวจากการติดโรค และจะทำตามคำแนะนำ เราก็คลายความวิตกกังวล และความเป็นห่วงได้อย่างสิ้นเชิง ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อจากนี้ก็ยินดี เต็มใจ เป็นที่สุด

  11. พรพิทย์ สามสี (เพื่อนพิทย์)

    เรื่อง : ทำถนนช่วงหน้าฝนเอาดินแดงมาถมถนน
    วันนั้นฝนตกหนักมาก เกือบมืดแล้ว ฝนก็ยังตกหนัก เรายังอยู่ในสวนเพราะจะกลับบ้านไม่ได้ต้องรอให้ฝนซาก่อน พอฝนซาก็กินเข้าไปเกือบ 19 นาฬิกา กว่าๆแล้ว เราขับมอเตอร์ไซด์มาแทบจะร้องไห้เลย เพราะถนนลำบากมากเจอดินแดง เป็นโคลน และข้างถนนก็เป็นคลองน้ำเยอะพอสมควร ไฟถนนก็ไม่มี ไฟรถก็มองไม่ค่อยเห็น ต้องขับรถอย่างระวังมาก กว่าจะกลับถึงบ้านก็ใช้เวลานานพอสมควร
    วันรุ่งขึ้นเราก็ไม่ใช้ถนนสายนั้น (คือขับมอเตอร์ไซด์จากบ้านถึงสวนเลย) เรามาใช้อีกเส้นทางหนึ่งคือขี่จักรยานมาจอดไว้ครึ่งทาง แล้วเดินด้วยเท้าเปล่าข้ามคลองเล็กๆมีไม้เรียบสะพาน ถ้าเดินไม่ดีก็มีสิทธิ์หล่นลงน้ำได้ กว่าจะถึงสวนก็หอบพอสมควร
    ทุกข์ : ต้องเลี่ยงทาง
    สมุทัย : อยากให้เจ้าหน้าผู้เกี่ยวข้องทำถนนมาดูแลบ้างว่า พี่น้องที่ต้องใช้เส้นทางนั้นลำบากมาก
    นิโรธ : จะได้เดินเส้นทางไหนก็ได้ ยินดีเต็มใจ ใช้วิบาก ใจไร้ทุกข์
    มรรค : เราอยากพบเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องถนน
    แต่ไม่รู้ข้อมูล ว่าจะพบใคร เพื่อจะถามว่าต่อไปถนนสายนี้จะออกมาในรูปแบบไหน กิเลส : มันบอกว่ามันเบื่อที่จะไปอีกเส้นทาง เรา : ก็บอกกิเลสว่า ก็แกทำสิ่งที่ไม่ดีเอาไว้ สิ่งที่ได้รับคือสิ่งที่ทำมา ก็คิดว่าโชคดีหนอ ที่ได้ใช้วิบาก
    บททบทวนธรรม ๑๓๒
    คนที่ทำงานลงตัว ไม่มีปัญหาใด ๆ คือ
    คนที่ซวยที่สุดในโลก
    บททบทวนธรรม ๑๓๓
    อุปสรรคและปัญหา
    คือ ชีวิตชีวา

  12. น.ส.ทิษฏยา โภชนา (นุ้ย)(ในสายธาร)

    21/08/64
    ชื่อ : น.ส.ทิษฏยา โภชนา
    ชื่อทางธรรม : ในสายธรรม
    จิตอาสาสังกัดสวนป่านาบุญ 2
    เรื่อง: ไม่รู้จักพึ่งตนเอง
    เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาผู้เขียนมีโอกาสไปช่วยแก้ปัญหาอาการเจ็บป่วยฉุกเฉินให้กับน้าชาย จนท่านฟื้นขึ้นมาได้ ในระหว่างรักษาตัวก็ได้ทำอาหารปรับสมดุลย์ไปส่งให้ทุกมื้อ เป็นเวลา 1 สัปดาห์ ซึ่งน้าชายก็ได้ความอัศจรรย์ของการกินอาหารปรับสมดุลย์ว่าทำให้สุขภาพท่านฟื้นขึ้นมาได้อย่างรวดเร็ว จนเมื่ออาการของท่านหายใกล้หายเป็นปกติ ผู้เขียนจึงไปคุยกับน้าสะไภ้เพื่อให้ท่านได้รับช่วงต่อในการทำอาหารแนวนี้เพื่อดูแลสุขภาพของน้าชายต่อไป(เนื่องจากท่านมีโรคประจำตัวหลายโรค) แต่น้าสะไภ้ไม่ค่อยสนใจ ทั้ง ๆ ที่ท่านมีความพร้อมทั้งเวลาและกำลังทรัพย์ แต่ยังหวังจะพึ่งผู้เขียนให้ทำอาหารมาส่งให้เหมือนที่เคยทำมา นอกจากนี้ยังจะแอบเอาของแสลงให้น้าชายกินอีก ทำให้ผู้เขียนเกิดความรู้สึกไม่พอใจอย่างมาก ความคิดกิเลสก็มา “เห็นชัด ๆ แล้วว่าอาหารสุขภาพทำให้อาการของสามีตัวเองดีขึ้นเร็วขนาดนี้ แต่ไม่สนใจคิดจะทำเอง ไม่รู้จักช่วยตัวเอง คิดแต่จะหวังพึ่งคนอื่น คนอื่นเขาก็มีภาระต้องทำมากมาย ใครจะไปช่วยได้ตลอด เราอุตส่าห์กู้ชีพขึ้นมาได้ ยังจะเอาของแสลงให้กินอีก น่าเบื่อจริง ๆ คราวหน้าถ้าป่วยอีกจะไม่สนใจแล้ว ”
    ทุกข์ : เบื่อน้าสะไภ้ที่ไม่ใสใจการดูแลสุขภาพของน้าชาย หวังจะพึ่งแต่คนอื่น
    สมุทัย : ชอบใจถ้าน้าสะไภ้รู้จักพึ่งตนเองให้มากกว่านี้ ชังที่น้าสะไภ้หวังจะพึ่งให้เราทำอาหารสุขภาพไปส่งให้ทุกวัน
    นิโรธ : น้าสะไภ้จะพึ่งตนเองก็ได้ หรือหวังแต่จะพึ่งคนเราก็ไม่เป็นไร ใจไร้ทุกข์
    มรรค : พิจารณาว่า ความทุกข์ใจในเรื่องนี้เกิดขึ้นเพราะเราไปอยากให้น้าสะไภ้ได้ทำในสิ่งที่เราคิดว่าดี ว่าถูกต้อง อยากให้น้าชายได้หายป่วยจากโรคเรื้อรัง อยากให้เขารู้จักพึ่งตนเองในเรื่องสุขภาพไม่ใช่คอยแต่ความช่วยเหลือจากเรา แต่หน้าที่ของเราไม่ใช่ไปยัดเยียดดีให้กับท่าน เราทำได้เพียงนำเสนอทำสิ่งดี ๆ ให้ ส่วนท่านจะเลือกเอาหรือไม่เอาก็แล้วแต่ท่าน ให้ท่านได้เลือกเอง
    นึกย้อนอดีตได้ว่า เราก็เคยเป็นคนที่ชอบรอคอยแต่ความช่วยเหลือมาก่อน แม้ว่าตอนนี้เราจะเปลี่ยนไปแล้ว เราพัฒนาตนเองไปสู่การพึ่งตนและเป็นที่พึ่งให้คนอื่นได้ในระดับหนึ่งแล้ว เราจึงไม่ควรชิงชังรังเกียจสิ่งที่น้าสะไภ้ทำ เพราะแต่ละชีวิตต้องพัฒนาจากความไม่รู้มาก่อนจึงจะรู้ทั้งนั้น จงขอบคุณที่ท่านได้มาให้เราเห็นตัวตนของเราในอดีต และได้ใช้วิบาก เมื่อเราได้ตอบแทนท่านในฐานะลูกหลานเต็มความสามารถแล้ว ที่เหลือต่อจากนี้ถ้าเราไม่พร้อมที่จะงานนี้ต่อไป ก็เพียงแต่บอกท่านไปตามตรงก็เท่านั้น ก็ไม่มีอะไรจะต้องกังวลใจ
    ตรงกับบททบทวนธรรมข้อที่ 130 “ อย่าแบกชีวิตคนอื่น อย่าทำผิดหน้าที่ อย่าทำเกินหน้าที่ ถ้าเขาไม่ฟังเรา ให้เขาเป็นอย่างที่เขาเป็น ให้เขาทำอย่างที่เขาต้องการจะทำ ปล่อยวาง ให้เป็นไปตามวิบากร้ายของแต่ละชีวิต ถ้าเราได้พยายามบอกแล้ว เตือนแล้ว แต่เขายังไม่ฟัง เราสอนเขาไม่ได้ แสดงว่า การสอน ไม่ใช่หน้าที่ของเรา เราไม่ใช่สัตตบุรุษของเขา หน้าที่เราคือ ทำเต็มที่เต็มแรง อย่างรู้เพียรรู้พัก แล้วปล่อยวางให้เป็นไปตามวิบากดีร้ายของแต่ละชีวิต”

    บทสรุป พิจารณาแบบนี้แล้วความเบื่อที่มีต่อน้าสะไภ้ก็ลดลง จึงตัดสินใจที่จะโทรไปแจ้งกับน้าสะไภ้ว่า เราจะไม่ทำอาหารไปส่งท่านแล้ว แต่หากท่านต้องการเรียนรู้หรือความช่วยเรื่องในเรื่องสุขภาพใด ๆ ก็ตาม เราก็ยินดีที่จะไปช่วยเหลือท่านตามเหตุปัจจัยจะเอื้ออำนวย พูดไปด้วยใจที่ไร้อคติ

  13. นปภา รัตนวงศา

    เรื่อง เหมือนหลอกให้ทำงาน

    เหตุการณ์ หลังลูกเรียนจบ ได้ช่วยทำงานกับครอบครัวอาในฐานะลูกหลาน มาเกือบ 2 ปี โดยไม่ได้รับเงินเดือน จะให้เป็นเปอร์เซนต์ถ้าขายงานได้ แต่งานก็ยังไม่สำเร็จ จนเกิดมีคนติดเชื้อโควิดจึงสั่งปิดบริษัท 2อาทิตย์ ลูกชายได้ทำงานที่รับผิดชอบเสร็จก็ขอกลับบ้าน มีความขุ่นข้องใจ ที่ไม่มีแม้จะถามข่าวคราวจากคนในครอบครัวอาเลยตั้งแต่กลับมาจนครบกำหนด

    ทุกข์ ขุ่นใจที่อาท่านไม่ถามข่าวคราวลูกชาย

    สมุทัย ชอบถ้าอาถามข่าวคราวบ้าง ชังถ้าอาไม่ถามข่าวคราวเลย

    นิโรธ อาจะถามข่าวหรือไม่ถามข่าวคราวเลย ก็ไม่ชอบไม่ชัง ใจไร้ทุกข์ ยินดีในทุกเรื่องให้ได้

    มรรค ตั้งศีลมาพิจารณาไตรลักษณ์ ความวิปลาส ความยึดมั่นถือมั่นว่า อาท่านต้องรัก ต้องเป็นห่วงลูกเหมือนลูกท่าน ที่ได้ออกจากบ้านมา น่าจะถามข่าวคราวบ้างเรื่องการกักตัว 14วัน สุขสบายดี? จะกลับมาตอนไหน? ซึ่งเหมือนจริงแต่ไม่จริง ซึ่งอาก็มีเหตุผลของท่าน แต่ที่สำคัญคือใจเราที่เริ่มขุ่น ไม่พอใจ ไม่ใช่ทางพุทธะแล้ว ผิดทางแล้ว พุทธะต้องยินดีให้ได้ในทุกสถานการณ์ ก็คิดใหม่ โชคดีแล้วที่ลูกได้กลับมาบ้าน ไม่ต้องไปเป็นลูกจ้างใคร ไม่ต้องเครียด ได้ห่างไกลจากโควิด ได้มาอยู่กับธรรมชาติ วิบากร้ายหมดแล้วโชคดีที่สุดแล้ว
    พิจารณาความจริงว่าเราก็เคยทำแบบนั้นมา เกิดอะไรกับทางบ้านกับพี่น้องบางครั้งเราก็ไม่เคยใส่ใจ ซักถามข่าวคราว ก็ขอสำนึกผิดยอมรับผิด ยอมรับในวิบากกรรม เชื่อชัดโดยไม่ลังเลสงสัย
    โดยใช้บททบทวนธรรมข้อที่ 8 “สิ่งที่เราได้รับคือสิ่งที่เราทำมา ไม่มีสิ่งใดที่เราได้รับ โดยที่เราไม่เคยทำมา ”
    ข้อ77 “ระวัง..กิเลสมักจะหลอก ให้ยึดมั่นถือมั่น ในสิ่งที่สำคัญยิ่งๆขึ้นไป”

    สรุป หลังพิจารณาแล้วเห็นใจในใจตัวเองชัดเจนขึ้น ถ้าเป็นเมื่อก่อน คงจะโทรศัพท์ไปต่อว่า หรือซักถามว่าทำไมๆๆ แต่ปัจจุบันเชื่อชัดว่าเราทำมาๆๆ และทำมามากกว่านี้ด้วย ใจก็เบิกบาน ยินดีที่ลูกได้กลับมาอยู่ที่บ้าน ได้เห็นความสุข ความร่าเริง ความสดชื่นของลูกก็ดีมากแล้ว ยินดีในทุกเรื่องให้ได้..สาธุ

  14. น.ส.จาริยา จันทร์ภักดี

    เรื่อง สัญญาณมือถือโดนตัด

    เหตุการณ์: เนื่องจากตัวเองต้องไปดูแลผู้ป่วยติดเตียง มีป้าคนหนึ่งต้องการฉีดวัคซีนขอให้เราโทรแจ้งจองสิทธิ์ให้
    แต่ไม่สามารถโทรแจ้งได้ รู้สึกกังวลใจ เพราะสัญญาณมือถือโดนตัด

    ทุกข์ : รู้สึกกังวลใจ ที่
    โทรแจ้งสิทธิ์ไม่ได้

    สมุทัย : ยึดว่ามือถือมีสัญญาณสามารถโทรแจ้งสิทธิ์ให้ป้าได้ ชอบถ้ามือถือมีสัญาณปกติ ชังที่มือถือไม่มีสัญญาณ

    นิโรธ : มือถือจะมีสัญญาณโทรได้ หรือไม่ ก็ไม่ชอบ ไม่ชัง

    มรรค : วางความยึดว่าสัญญาณมือถือต้องมีตลอดเวลา เมื่อดูตามความเป็นจริงว่าวัตถุไม่เที่ยง สัญญาณจะมีหรือไม่มีก็ได้ เราจะโทรจองสิทธิ์ให้ป้าได้หรือไม่ ก็ได้เหมือนกัน เราจึงมาปรับใจตัวเองด้วยการพิจารณาบททบทวนธรรมข้อที่ 90 ที่ว่า “วัตถุ
    ไม่เที่ยง มีแต่ใจที่ไร้ทุกข์เท่านั้นที่เที่ยง” หลังจากพิจารณาแล้วความรู้สึกกังวลใจก็หายไป ใจกลับมาไร้ทุกข์ เบิกบาน มีความยินดีที่จะทำหน้าที่ต่อไป

  15. ชวนชม คำท้วม

    ส่งการบ้าน
    ชื่อนางชวนชม คำท้วม
    ชื่อทางธรรม สู่ร่มศีล
    จิตอาสา สวนป่านาบุญ 2 ชื่อเรื่อง ไม่ชอบที่แม่พูดกระแนะกระแหน
    เหตุการณ์ 2-3 วันนี้พ่อบ้านหยุดกินเหล้า เราก็คุยกับแม่ ว่าเราขอบคุณพ่อบ้าน ที่เขาไม่ไปดื่มเหล้า แต่แม่ก็พูดมาทันทีว่า ไม่ต้องพูดหรอก เดี๋ยวก็ไปกินเหมือนเดิม เราก็บอกแม่ทันที เลยว่าก็ดีแล้ว ที่หยุดดื่มเหล้า 2-3 วัน พอใจมากแล้ว
    ทุกข์ ไม่ชอบใจที่แม่พูดกระแนะกระแหน
    สมุทัย ชอบที่แม่ไม่พูดกระแนะกระแหน ชังที่แม่พูดกระแนะกระแหน
    นิโรธ แม่จะพูดกระแนะกระแหนหรือ ไม่พูดกระแนะกระแหน เราก็ใจไร้ทุกข์
    มรรค แม่ก็พูดตามความจริง เคยเป็นอย่างที่แม่พูดจริงๆ ว่าพ่อบ้านหยุดเหล้าได้แค่ 2-3 วันแล้วก็กลับไปดื่มเหล้าอีกเหมือนเดิม ตรงกับธรรมะ ยินดี พอใจ ไร้กังวล เข้าใจชัดเรื่องกรรม เราก็ไปกระแนะกระแนคนอื่น พูดกระแทกแบบเจ็บๆ แรงๆ ไว้เยอะ รับเต็มๆ ยินดีรับ ร้ายก็หมดไป สบายใจ ใจไร้ทุกข์

  16. ชวนชม คำท้วม

    ส่งการบ้าน
    นางชวนชม คำท้วม
    ชื่อทางธรรม สู่ร่มศีล
    จิตอาสา สวนป่านาบุญ 2
    ชื่อเรื่อง ทำไมไม่ยั้งปากบ้างนะ
    เหตุการณ์ เวลาเราพูดกับแม่ ถ้าเป็นเรื่องที่ เราไม่ถูกใจ ไม่พอใจเราจะเถียง พูดออกไปทันที ไม่สามารถยั้งปากได้
    ทุกข์ ไม่ชอบใจที่ตัวเองยั้งปากไม่ได้
    สมุทัย ชอบที่ตัวเองยั้งปากได้ ชังที่ตัวเองยั้งปากไม่ได้
    นิโรธ ตัวเองจะยั้งปากได้ หรือไม่ได้ ใจเราไร้ทุกข์
    มรรค เราไม่ค่อยได้ฝึกจับอาการความโกรธ ความโมโห และทำให้ทราบว่าเราไม่ค่อย ถือศีลเพิ่ม ทำให้เราทุกข์ใจ เราเป็นคนขี้โมโห ทำให้รู้ว่าการยั้งปาก มันทำได้ยาก ก็จะตั้งใจถือศีลเพิ่ม ลดความโกรธ ลดความโมโหลงไปให้ได้ เราจะมีสติจับอาการกิเลส จะควบคุมปาก จะยั้งปากไม่ให้พูดออกไปเร็ว เพราะเราเป็นคนเร็ว เลยพูดไป ไม่คิด ไม่ยั้งปาก ก็จะไม่ใจร้อน จะทำงานให้ไม่รีบร้อน ใจไร้ทุกข์ สาธุค่ะ

  17. นปภา รัตนวงศา

    เรื่อง ยังปวดไม่พอใช่ไหม?

    เหตุการณ์ หลังฤดูเก็บมังคุด ก็เริ่มตัดแต่งกิ่ง ตัดยอด ยังมีลูกที่ติดต้น ให้พอเก็บกินได้ ลูกจะสุกจึงมีรดชาดหวานจัด เมื่อกินมากโดยไม่ประมาณ จึงมีอาการร้อนเกิน เริ่มปวดข้อมือ ข้อเท้า และปวดนิ้วมือขึ้นมา

    ทุกข์ ขุ่นใจที่มีการปวดข้อมือ ข้อเท้า นิ้วมือ

    สมุทัย ชอบถ้าไม่มีอาการปวด ชังถ้ามีอาการปวดข้อมือ ข้อเท้า นิ้วมือ

    นิโรธ จะมีอาการปวด หรือไม่ปวดข้อมือ ข้อเท้า นิ้วมือก็ไม่ชอบไม่ชัง ใจไร้ทุกข์

    มรรค ตั้งศีลมาพิจารณาไตรลักษณ์ ความยึดมั่นถือมั่นว่า การกินผลไม้เป็นสิ่งที่ดี มีประโยชน์ ทำให้ร่างกายแข็งแรง ซึ่งเหมือนจะจริงแต่ไม่จริง การกินผลไม้ดีแต่ต้องกินให้ถูกสมดุลย์ร้อนเย็น มังคุดถึงจะฤทธิ์เย็นแต่หวานมาก กินมากจึงได้น้ำตาลมาก ซึ่งน้ำตาลทำให้ร่างกายร้อนเกิน ร่างกายก็พยายามดันเอาพิษออก เกิดอาการเกร็งค้าง เมื่อมีอาการทางกายแล้วยังชังซึ่งเป็นอาการทุกข์ใจ ที่ดันทุกข์ออกไม่ได้อาการปวดก็ยิ่งแสดงชัดเจนขึ้น ก็รู้ว่าผิดทางพุทธะ กลับมาทำที่ใจก่อน โดยใช้ญาณ 7พระโสดาบัน ร่วมกับสำนึกผิด ยอมรับผิด ขอโทษ ขออโหสิกรรมที่ไม่รู้จักการประมาณที่กินหวานเกิน มาตั้งศีลการประมาณการกินเพิ่มขึ้น และยินดีที่มีอาการปวด ยอมรับด้วยความยินดี เต็มใจ รับมากเท่าไหร่หมดไปเท่านั้น รับเต็มๆ หมดเต็มๆ

    สรุป หลังจากพิจารณา เห็นได้ชัดว่าถ้าเป็นเมื่อก่อนจะกินผลไม้มาก กินได้เป็นกิโลๆ มีอาการปวดเกร็งค้างก็ไม่ทราบสาเหตุ ต้องใช้ยาช่วย หรือใช้การนวดจากแพทย์แผนไทย ปัจจุบันกิน 5-6 ลูกก็แสดงอาการให้เห็นแล้ว กลับมาแก้ที่ใจ และค่อยๆเอาพิษออกโดยใช้ยา 9เม็ด โชคดีมาตาลีมาเตือนเร็ว เกิดอาการเร็ว ทำให้หยุดได้เร็ว อาการปวดค่อยๆทุเลาลง ใจเบิกบาน…สาธุ

  18. นางสาวนาลี วิไลสัก(นาดี)

    22/8/2564
    เรื่อง : อยากทำให้ได้เหมือนเพื่อน

    เหตุการณ์ : ครุพานักศึกษาทำข้อสอบเกี่ยวกับการป้องกันโรคโควิด-19 ตัวเองก็อยากทำด้วย แต่มันมีข้อเขียนหลายข้อ แล้วตนเองมีอุปสรรคในการเขียนภาษาไทย

    ทุกข์ : รู้สึกเหนื่อยหมดแรง น้อยใจ เสียดายที่ไม่ได้บำเพ็ญทำข้อสอบกับเพื่อน

    สมุทัย : ชอบถ้าเราเขียนภาษาไทยถนัด และสามารถร่วมทำกิจกรรมต่างๆของนักศึกษา ชังที่เขียนภาษไทยไม่ถนัด และพลาดไม่ได้บำเพ็ญในการทำข้อสอบ

    นิโรธ : แม้จะเขียนภาษาไทยไม่ถนัด และไม่ได้บำเพ็ญในการทำข้อสอบ ก็ไม่ชอบไม่ชัง ไปเอาดีที่ 11

    มรรค : ในเมื่อมันมีอุปสรรคงานนี้เราฝึกตัดรอบแล้วแต่กิเลสยังเสียดายว่า เราอยู่รอบนอก ไม่ค่อยมีโอกาสบำเพ็ญเหมือนเพื่อน งานนี้เหมาะที่สุดสำหรับนักศึกษาที่อยู่รอบนอกอย่างเรา ก็พิจารณาว่า การอยากทำสิ่งที่ดีนั้นก็ดีแล้ว แต่ถ้าเราอยากแบบยึดมั่นถือมั่นทั้งๆที่เราไม่สามารถทำได้นั้นไม่ดี เป็นการเบียดเบียนตนเอง และเพิ่มภาระแก่ครูบาอาจารย์ด้วย งานทำกุศลสูงสุดคือการล้างกิเลสในใจเรา ในขณะที่กระทบกับผัสสะนั้นๆ ในเมื่องานนี้เราทำไม่ได้แสดงว่าไม่ไช่กุศลของเรา และคนที่เกี่ยวข้อง ถ้าเราฝืนมากเกินไปทั้งๆที่องค์ประกอบยังไม่พร้อมอาจก่อให้เกิดวิบากร้ายใหม่

    สรุปเมื่อเปรียบเทียบกับวันก่อนเรายึดที่ตอบแบบสอบถามงานวิจัยจนได้(เพิ่มภาระให้พี่น้องที่รับผิดชอบงานนั้น)แต่งานนี้พอเราล้างใจได้แรงก็กลับมา และสามารถตัดรอบด้วยใจที่ทุกข์น้อยลง ต้องขอบคุณเหตุการณที่ทำให้เราได้ฝึกล้างใจ สาธุค่ะ

  19. น.ส จรรญา ชุมจีด (สร้างกลิ่นศีล)

    เรื่อง จะกินหรือไม่กินก็ดี

    เหตุการณ์ ไปตักข้าวต้มมากินก็กินไปคำแรกก็รู้สึกว่ารสชาติและกลิ่นของข้าวเหมือนจะเสีย
    ก็คิดว่าจะกินตอนไม่กินก็ดี

    ทุกข์ รู้สึกไม่สบายใจถ้าจะต้องกินข้าวที่รู้สึกว่ามันกำลังจะเสีย

    สมุทัย รู้สึกไม่สบายใจถ้าจะต้องกินข้าวต้มถ้วยนั้นต่อ จะสบายใจกว่าถ้าจะไม่ต้องกิน

    นิโรธ ไม่ชอบไม่ชังถ้าจะต้องกินข้าวต้มถ้วยนั้น หรือถ้าจะต้องกินก็กินด้วยความยินดีกินด้วยใจที่ไม่กังวลไม่ชอบไม่ชัง

    มรรค พิจารณาเวทนาทางใจและเวทนาทางกาย ทางใจก็พิจารณาให้เห็นถึงความชอบชังในใจล้างความชอบชังสร้างความยินดี ถ้าจะต้องกินก็กินด้วยความยินดีถ้าจะต้องไม่กินก็ไม่กินด้วยความยินดี ส่วนเวทนาทางกายก็ลองกินดูว่าเมื่อกินแล้วมันส่งผลยังไงกับร่างกายถ้ากินแล้วไม่มีผลอะไรกับร่างกายก็กินต่อไปด้วยความยินดี แต่ถ้ากินแล้วส่งผลเต่อร่างกายปวดท้องหรือมีอาการไม่สบายก็หยุดกินด้วยความยินดีเหมือนกัน

    สรุป เมื่อคิดได้ตามนั้นก็กินต่อด้วยความสบายใจและหยุดกินเมื่อรู้สึกว่ากินต่อไม่ไหวและรู้สึกกินแล้วไม่สบาย เปรียบเทียบกับเมื่อก่อนเราจะไม่มีการพิจารณาเวทนาทางกายหรือเวทนาทางใจ ถ้าจะกินต่อก็กินต่อด้วยใจที่เป็นทุกข์หรือถ้าไม่กินต่อก็กินต่อด้วยความชังไม่ได้มีการล้างกิเลสกิเลสล้างความชอบชัง

  20. เรื่อง ขอบคุณญาติ
    เหตุการณ์ : กำลังจะกินข้าวกลางวันพอดีมีญาติมาเยี่ยม ซึ่งทำให้ต้องเลื่อนเวลากินข้าวออกไป รู้สึกขัดใจนิดๆ ทำไมต้องมาเวลานี้ด้วย
    ทุกข์ : ขัดใจนิดๆ
    สมุทัย : ยึดมั่นถือมั่นว่า ชอบถ้าญาติมาเยี่ยมก่อนหรือหลังกินข้าวแล้ว ชังที่ญาติมาเยี่ยมในขณะที่กำลังจะกินข้าว
    นิโรธ : ญาติจะมาเยี่ยมช่วงไหน เราก็พร้อมรับพร้อมปรับพร้อมเปลี่ยน ไม่ชอบ ไม่ชัง
    มรรค : ปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่น หันกลับมาดูที่ใจเรา เมื่อตรวจดูใจแล้วจึงพบว่า มีความรู้สึกขัดใจไม่เบิกบาน เหตุเพราะมีผัสสะมาขวางไม่ให้ได้ดั่งใจ ที่จริงแล้วที่ญาติมาเป็นผัสสะให้เราไม่ได้ดั่งใจก็ดีแล้ว จะได้รู้ว่าเรายังมีกิเลสตัวนี้อยู่ ต้องขอบคุณญาติที่มาขัดใจให้เราเห็นกิเลสตัวขัดใจ ทำให้เราได้เห็นทุกข์ ได้ล้างทุกข์ และได้ชดใช้วิบากกรรมที่ไม่ดี ที่เราเคยพลาดทำมาในชาตินี้หรือชาติก่อนๆ โลกนี้พร่องอยู่เป็นนิจ เราหรือคนอื่นๆล้วนเป็นส่วนหนึ่งของโลก ย่อมมีความพลาดความพร่องเช่นเดียวกันเป็นธรรมดาตามบททบทวนธรรมข้อที่ 56″ทุกเสี้ยววินาทีทุกอย่างไม่เที่ยง อย่ายึดมั่นถือมั่น ต้องพร้อมรับ พร้อมปรับพร้อมเปลี่ยน ตลอดเวลา” เมื่อได้พิจารณาตามบททบทวนธรรมดังกล่าวแล้ว ความรู้สึกขัดใจก็หายไป ใจกลับมา เบิกบาน แจ่มใส เช่นเดิม

  21. โยธกา รือเซ็นแบร์ก

    ตื่นเต้น

    เมื่อก่อนข้าพเจ้าจะเป็นคนไม่นิ่ง สมาธิสั้นจะมีอาการตื่นเต้น ความร้อนจากข้างในเหงื่อจะออกและเป็นอาการอยู่เช่นนั้น หลาย ๆ ชั่วโมง บางครั้งเป็นวัน ๆ ยิ่งถ้าทำผิดกฎระเบียบจราจรด้วยจะเพิ่มปริมาณความตื่นเต้นมากขึ้น
    แม้จะระวังแค่ไหนอาทิตย์ที่แล้วก็ยังพลาดจนได้ เมื่อเข้าเขตโรงเรียนขับรถเร็วเกินกฎจราจรกำหนด แม้ลดเกียร์ลงแล้วก็ยังเร็วอยู่ คุณตำรวจโบกมือเรียกให้จอด เห็นอาการตื่นเต้น ตกใจ จนลืมสวัสดีท่าน พอเปิดประตูรถได้ ถามคุณตำรวจว่าฉันขับเร็วไปใช่มั้ย ? ท่านตอบเร็วไป และขอใบขับขี่ ใบเอกสารรถ ขณะที่ดึงใบขับขี่ออกมาเห็นมือตัวเองสั่น ตื่นเต้น เหงื่อออก คุณตำรวจถามว่ามีบัตร ATM มั้ย ต้องจ่ายค่าปรับ 15 € และท่านเดินไปเอาเครื่องรูดเงิน ข้าพเจ้าจึงลงรถเดินตามไปจ่ายเงิน ข้าพเจ้ากราบขอโทษ และบอกว่าฉันจะระวังให้มากขึ้นกว่านี้ ท่านย้ำอีกครั้ง “ระวังด้วยนะ”

    ทุกข์ : ตื่นเต้น ใจสั่น มือสั่น กาย

    สมุทัย : ชอบที่จะนิ่ง ไม่ชอบที่
    มีอาการตื่นเต้น

    นิโรธ : วางใจ เบิกบานใจ แม้จะมีอาการตื่นเต้นอยู่บ้างก็ไม่ทุกข์ใจ

    มรรค : สงบใจ ตั้งสติ เคยได้ยินครูบาอาจารย์และพี่น้องบอกว่า อาการตื่นเต้นก็เป็นกิเลสทำให้ทุกข์ใจ ไม่อยากทุกข์ก็ต้องรีบล้างกิเลส พิจารณาโทษของความตื่นเต้นว่าไม่มีประโยชน์อะไร ยอมรับผิด ยอมรับโทษ เราทำผิดกฎกติกาและก็พลาดทำไปแล้ว ครั้งหน้าจะได้ ระวังสำรวมให้มากขึ้นกว่านี้ ระลึกถึงคำของท่านอาจารย์หมอเขียว ไม่มีใครอยากพร่อง อยากพลาด ทุกคนก็อยากทำดีแต่ที่มันพลาด มันพร่องเพราะเราเคยทำชั่วมาหาที่ต้นที่สุดไม่ได้ แม้ขนาดพระพุทธเจ้าท่านก็ยังเคยพลาดทำมา เราหรือจะรอด พิจารณาถึงตรงนี้อาการตื่นเต้นค่อย ๆ เบาลงจนหายไป .
    สรุป : เห็นอาการตื่นเต้น อยู่ประมาณ 20 นาที ก็หายไป .

  22. นางสาวนาลี วิไลสัก

    เรื่อง : อยากให้เขาถามในหมู่แต่เราก็ไม่ถามหมู่
    เหตุการณ์ : ในระหว่างที่เข้าร่วมโทรไลน์กลุ่ม พี่น้องท่านนั้นมีข้อข้องใจ หลังจากจบการโทรไลน์กลุ่ม ท่านก็โทรมาถามเรา กิเลสก็เข้า

    ทุกข์ : รู้สึกอึดอัด ขี้เกียจที่จะพูด เรื่องที่เพิ่งคุยกันจบไปไม่กีนาที

    สมุทัย : ชอบถ้าท่านถามเวลา พี่จิตอาสาเปิดโอกาส ชังที่ท่านเก็บงำ ไม่ยอมพูดตอนอยู่กับหมู่กลุ่ม

    นิโรธ : ท่านจะถามตอนไหน ก็ไม่ชอบ ไม่ชัง ยินดีที่จะอธิบายให้ท่านฟังด้วยใจเบิกบาน

    มรรค : ขณะที่คุยกัน จับกิเลสได้ แต่ล้างไม่ลง จึงมาพิจารณาหลังคุยกันจบ

    มาร : อะไรหวา ถ้าไม่เข้าใจทำไมไม่ถามตอนพี่เขาเปิดโอกาสล่ะ เมื่อกี้ทำเป็นเงียบกริบ(เหมือนไม่มีอะไรคาใจ)
    เรา : มารเอ็งอย่าใจดำสิ เมื่อก่อนเอ็งเคยไหมที่ไม่กล้าพูดในหมู่กลุ่มใหญ่
    มาร : ก็เคยมี แต่ก็ต้องล้างโลกธรรม
    เรา : งั้นก็ต้องเข้าใจท่านนอย ท่านอุตุส่าห์ฝ่าโลกธรรมมาคุยกับเรา ขนาดนี้ถือว่ากิเลสท่านลดลงเยอะแล้ว ยังจะเอาอะไรจากท่านอีก ไม่สงสารท่านหรือไง ท่านก็ไม่ได้อยากเป็นแบบนั้นหลอกคนทุกคนไม่มีไครที่ไม่อยากพ้นทุกข์ ถ้าให้เอ็งลงไปเป็นแบบนั้นจะเอาไหม
    มาร : ตอนนี้เข้าใจท่านแล้ว และไม่อยากเป็นแบบนั้นด้วย
    เรา : ถ้าไม่อยากเป็นแบบนั้น ต้องให้โอกาสตนเองได้ฝึกช้อนจิตวิญญานผู้อื่นด้วย ถือว่าเป็นโอกาสทองเลยหาชื้อที่ไหนไม่ได้หรอกที่จะมีคนตั้งใจมาให้เราได้บำเพ็ญถึงที่ ต้องรีบคว้าไว้จะได้ทั้งประโยชน์ตน ประโยชน์ท่าน ตรงกับบดทบทวนธรรมข้อที่ 9 ถ้าเรายังไม่เข้าใจคนอื่น แสดงว่าเรายังไม่เข้าใจตนเอง

    สรุป ต้องขอบคุณพี่น้องท่านนั้นที่ช่วยขุดกิเลสตัวนี้ออกมาให้เราได้ล้าง ตอนนี้เข้าใจท่านมากขึ้น ในเหตุการณ์นี้เราล้างใจได้แล้ว เหลือแต่ความเมตตาที่มีต่อท่าน แต่ต้องติดตามกิเลสตัวนี้ในเหตุการณ์ต่อไปค่ะ

Comments are closed.