ห้องเรียนวิชชาราม ตรวจการบ้าน วิชา อริยสัจ 4 ครั้งที่ 31 ภาคเรียนที่ 2 / 2564 ในวันอาทิตย์ที่ 1 สิงหาคม 2564 เวลา 12.00 น. – 14.00 น.
ตรวจการบ้านวิชาอริยสัจ 4
1.เรื่อง กังวลผลข้างเคียงหลังจากฉีดวัคซีน covid-19 เข็มที่ 2
พรพรรณ เอ็ทส์เลอร์
เมื่อ 2 วันที่ผ่านมาพี่น้องท่านหนึ่งได้แบ่งปันถึงผลข้างเคียงหลังจากฉีดวัคซีน covid-19 เข็มที่ 2 ให้ฟัง เมื่อได้ฟังแล้วทำให้เกิดความกังวลและหวั่นไหวเล็กน้อย เห็นอาการใจสั่น รู้สึกเจ็บที่ต้นแขนซ้ายทันทีเหมือนโดนฉีดยาอย่างนั้นเลย ฟังท่านพูดไปใจก็คิดไปว่า เราก็ฉีดเข็มที่ 1 มาแล้วก็ไม่มีอาการข้างเคียงมาก สงสัยเข็ม 2 ของเราอาจจะมีผลข้างเคียงเหมือนพี่น้องท่านนี้ก็ได้นะ (กิเลสตัวกังวล หวั่นไหว บอก)
ทุกข์ : กลัว กังวลใจ และหวั่นไหว ว่าตัวเองจะมีผลข้างเคียงเมื่อได้รับวัคซีน covid-19 เข็มที่ 2
สมุทัย : ฟังพี่น้องท่านนั้นเล่าถึงผลที่เกิดหลังจากที่ได้รับวัคซีนแล้ว ทำให้กลัว กังวลใจ ถึงผลข้างเคียงที่จะเกิดกับตัวเอง หากเกิดผลข้างเคียงเหมือนพี่น้องท่านนั้นตัวเองก็คงแย่แน่เลย ไม่อยากให้ตัวเองเป็นเหมือนพี่น้องท่านนั้นเลย ถ้าไม่มีผลข้างเคียงเหมือนท่านก็คงจะดี
นิโรธ : จะเกิดผลข้างเคียงจากการได้รับวัคซีน covid-19 แบบไหนก็จะยินดีรับ และจะไม่คิดล่วงหน้าที่ทำทุกข์ใจ
มรรค : ท่านอาจารย์หมอเขียวสอนว่า ความกลัว กังวลใจ ความหวั่นไหว มันคือกิเลสซึ่งเป็นสาเหตุทำให้เจ็บป่วยไม่สบาย และเป็นแรงเหนี่ยวนำดึงสิ่งไม่ดีและเรื่องร้ายต่าง ๆ เข้ามาใส่ตัว ดังนั้นจึงไม่ควรทุกข์กับเรื่องที่ยังไม่เกิดขึ้น ไม่ควรสร้างทุกข์ขึ้นมาทำให้ทุกข์ อยู่ดี ๆ ก็ดีอยู่แล้ว ผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นกับแต่ละคนก็น่าจะแตกต่างกัน จึงไม่ควรที่จะคิดปรุงแต่งไปมากให้เกิดความไม่สบายใจ สู้เตรียม กาย ใจ ให้พร้อม ก่อนที่จะได้รับวัคซีน เข็มที่ 2 จะดีกว่า คือ ไม่กลัว ไม่กังวล และไม่หวั่น เพราะอย่างไร ก็จะได้รู้อย่างแน่นอนอยู่แล้วว่าผลข้างเคียงจะเป็นอย่างไร จะเตรียมยา 9 เม็ด พร้อมสมุนไพรทั้งในตัว และใกล้ตัว ไว้ให้พร้อม ก่อนจะไปรับวัคซีน พอพูดถึงยา 9 เม็ดก็มีความรู้สึกดี และอุ่นใจขึ้นมาทันที เห็นอาการทุกข์ใจเริ่มคลายลง และเห็นว่าพลังเริ่มกลับมา รู้สึกสดชื่นขึ้นมาทันที ท่านอาจารย์หมอเขียวได้สอนไว้ว่า อะไรจะเกิดกับเราทั้งดีและร้ายมันก็คือสิ่งที่เราได้ทำมาทั้งนั้น ดังนั้นจึงไม่ต้องไปกลัว เพราะถึงกลัวหรือไม่กลัวถ้าวิบากกรรมนั้นมาถึงก็ต้องได้รับอยู่แล้ว เมื่อคิดได้เช่นนั้น ความทุกข์ที่มีอยู่ก็หายไปสิ้นเกลี้ยง มีแต่ความเบิกบานหัวใจเข้ามาแทนที่ค่ะ สาธุ
2.เรื่อง ไม่มีความมั่นใจในตัวเอง(ฉบับแก้ไข)
คุณสุดใจ โสะหาบ
เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นกลับตัวเองทุกครั้งที่ได้มีโอกาสพูดต่อหน้าผู้คนเยอะ ๆ เมื่อมีใครบอกให้พูดก็จะมีความกลัว เกิดอาการกิริยาเปลี่ยนไปทันที ตื่นเต้น ใจสั่นเต้นแรงพูดเสียงสั่น นึกคำพูดไม่ออกว่าจะพูดอะไร เป็นแบบนี้ทุกครั้งที่ได้แสดงความคิดเห็นต่อหน้าคนอื่นจึงไม่มีความมั่นใจในตัวเองที่จะพูดทั้งที่ความจริงตัวเองมีเรื่องจะพูดมากมายแต่เอาเข้าจริงนึกคำพูดไม่ออก
ทุกข์ : มีความตื่นเต้นกลัวที่จะพูดต่อหน้าผู้คนเยอะ ๆ เวลาพูดจะตื่นเต้นทุกครั้งทำให้เสียงสั่นนึกคำพูดไม่ออก
สมุทัย :ไม่มีความมั่นใจในตัวเอง ไม่อยากตื่นเต้น อยากมีความมั่นใจในตัวเอง
นิโรธ : เวลาพูดจะตื่นเต้นหรือไม่ตื่นเต้นก็ไม่ทุกข์ใจ คิดว่าอย่างน้อยเราก็เริ่มนับหนึ่งแล้ว ก็จะขอฝึกฝนพูดบ่อย ๆ เพื่อความมั่นใจและช่วยให้ตัวเองพ้นทุกข์ใจได้ตามลำดับ
มรรค : พิจารณาถึงกิเลสตัวเองที่เกิดขึ้นในแต่ละครั้งที่มีโอกาสได้พูด เกิดอาการทางใจคือ กลัว กังวลใจ ประหม่าตื่นเต้นและทำให้เกิดอาการทางกาย ใจเต้นแรง มือสั่น พูดตะกุกตะกัก พูดหน้าลืมหลัง นึกคำพูดไม่ออกว่าจะพูดต่อไปอย่างไรซึ่งอาการเหล่านี้เป็นอาการที่เกิดขึ้นของกิเลสที่กำลังหลอกทำให้เราทุกข์ใจ
จึงพิจารณาถึงความไม่มีตัวตนมันเกิดขึ้นมาก็ดับไป ทำไมต้องทุกข์ใจปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่นที่จะทำให้ได้ดั่งใจหมาย จะทำได้หรือไม่ได้ก็ไม่ทุกข์ใจ ทำได้แค่ไหนก็แค่นั้นเห็นประโยชน์ของการวางใจให้เป็นไปตามวิบากกรรมของตัวเอง จึงใช้บททบทวนธรรม ข้อที่ 4 “ต้องกล้า ในการทำสิ่งดี ละอายและเกรงกลัวในการทำสิ่งชั่ว ชีวิตจึงจะพ้นทุกข์ได้” และใช้บททบทวนธรรมข้อที่ 82 ” จงฝึกอยู่กับความเป็นจริงของชีวิต ที่พร่องอยู่เป็นนิตย์อย่างผาสุกให้ได้” เพราะที่เราได้รับวิบากเรื่องนี้เพราะเราเคยทำมาก่อนสำนึกผิดยอมรับผิดให้อภัยตัวเองขอรับโทษเต็มใจรับโทษไม่ทำทุกข์ทับถมตนตั้งจิตหยุดสิ่งไม่ดีและตั้งจิตทำดีให้มาก ๆ เพื่อจะได้มีสิ่งดี ๆ ให้เราได้ใช้ได้อาศัยก่อนที่ทุกสิ่งทุกอย่างจะจากไป
สรุป
ช่วงนี้ประทับใจในการฟังธรรมะจากอาจารย์หมอเขียวตอนหนึ่งว่า”คนเรามีความพลาด ความพร่อง เป็นเรื่องธรรมดาของชีวิตไม่มีใครในโลกนี้ที่ไม่มีความพลาด ความพร่อง มันเป็นวิบากร้ายที่เราทำมา” เพราะฉะนั้นเราต้องรับ มันจะได้หมดไปให้อภัยตัวเอง มันเป็นสิ่งที่ดี จะไม่ทำทุกข์ทับถมตนต่อไป จะให้อภัยตัวเอง เมื่อคิดได้แบบนี้ก็รู้สึกสบายใจและมีความมั่นใจความกล้าเพิ่มขึ้น และที่สำคัญอีกอย่างได้มาฝึกการพูดการทำงานร่วมกับหมู่มิตรดีทำให้ได้รับพลังเหนี่ยวนำทำให้ตัวเองมีความมั่นใจมากขึ้นกล้าที่จะพูดกล้าที่จะแสดงออกในสิ่งที่ดีและถูกต้องมากขึ้น จะขอพากเพียรสู้กับกิเลสและฝึกพัฒนาตัวเองต่อไปเรื่อย ๆ เท่าที่จะทำได้ สาธุค่ะ
3.เรื่อง: คำศัพท์ที่น่าสนใจ
โยธกา รือเซ็นแบร์ก
หลังจากทำข้อสอบอริยสัจ 4 ปลายภาค ที่มีคำถามข้อหนึ่งที่น่าสนใจ เกี่ยวกับพลังงานนิ่งและพลังงานเคลื่อนมีความสัมพันธ์กับอริยสัจ 4 อย่างไร ซึ่งข้าพเจ้าตอบผิด และมีความสนใจ และอยากรู้ว่าคำนี้มีความหมายว่าอย่างไร จนอยากจะโทรหาเพื่อนเพื่อที่จะให้ท่านขยายให้ฟัง แต่ก็ยังไม่ได้โทร แต่ก็ยังมีความอยากรู้อยู่เป็นเวลานานประมาณ 15 นาที
ทุกข์ : กระวนกระวายใจ ใจร้อน
สมุทัย : ยึดดีอยากจะรู้คำตอบและความหมายเร็วๆ ถ้ารู้คำตอบและความหมายเร็วจะสุขใจ ถ้ารู้คำตอบและความหมายช้าจะทุกข์ใจ
นิโรธ : วางใจจะรู้คำตอบและความหมายเร็วหรือช้า หรือรู้ตอนไหนก็สุขใจได้
มรรค : พอได้คุยสภาวธรรมกับพี่น้องท่านหนึ่งแล้วได้ถามท่านไปและขอให้ท่านขยายความหมายให้ฟัง ท่านก็ได้ขยายให้ฟังตามภูมิของท่านและท่านก็ได้ถามข้าพเจ้ากลับมาว่าอาการนี้เป็นทุกข์อริยสัจ 4 รึเปล่า เราลืมไปแล้วเหรอว่าเราเรียนอะไรอยู่ ข้าพเจ้าเลยได้สติ หัวเราะออกมา ความใจร้อนที่อยากรู้เร็ว ๆ หายไปเลย
เหตุการณ์นี้ทำให้ข้าพเจ้าน้อมระลึกถึงพระธรรมคำสอนขององค์สมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ว่า หมู่มิตรดี คือ ทั้งหมดทั้งสิ้นของพรหมจรรย์และความพ้นทุกข์ เห็นทุกข์จึงเห็นธรรม กราบสาธุค่ะ
4.เรื่อง จิตไม่ผ่องใสเพราะไม่ได้ทำการบ้าน
มงคลวัฒน์ รัตนชล
เหตุการณ์: สองอาทิตย์ที่ผ่านมา มีเหตุการณ์ที่ทำให้ไม่ได้ทำการบ้านทุกข์อริยสัจ เมื่อตรวจจิตดูรู้สึกไม่ผ่องใสเท่าที่ควร มีหมองๆให้เห็นได้อยู่
ทุกข์: ไม่ได้ส่งการบ้านอริยสัจ
สมุทัย: ถ้าได้ส่งการบ้านจะสุขใจ ไม่ส่งการบ้านจะหมองใจ
นิโรธ: ไม่ทุกข์ใจแม้ว่าจะได้ส่งการบ้านหรือไม่
มรรค: พิจารณาเรื่องพร่องเรื่องพลาด เมื่อผ่านไปแล้วอย่าไปทำทุกข์ทับถมตนในเรื่องพร่อง เรื่องพลาดที่พลาดไปแล้ว และตั้งศีลขึ้นมาทำใหม่ และเอาประโยชน์ต่อเรื่องที่พร่องที่พลาด ทำให้กิเลสทับถมตนโผล่มาให้เห็นได้ล้างกิเลสตัวยึดดี ที่ควรทำเมื่อทำไม่ได้มักจะไม่โทษคนอื่น ก็จะทำทุกข์ทับถมตน ซึ่งถ้าไม่มีปัญญาที่ชัดมักจะเกิดทุกข์ทับถมตนขึ้นมาเสมอ ทำให้ทุกข์ใจ หมองใจ เมื่อพิจารณาเสร็จ ความหมองก็คลายไปกลับมาเบิกบาน ทำดีที่ทำได้ด้วยใจผ่องใส ผาสุก ล้างทุกข์ ล้างสภาวะจิตหมองไปได้ ใจก็เบิกบาน
5.เรื่อง อีกแล้วหรือ
นางพรรณทิวา เกตุกลม
เหตุการณ์ :ไปร้านทำฟันกับพ่อบ้านมีคนรอหลายคนจึงเลี่ยงไปตลาดใกล้ๆไม่เปิดจึงกลับมาเห็นพ่อบ้านลงจากรถจะเดินไปที่ร้าน แต่ชะงักหันกลับมาที่รถพร้อมพูดว่า กุญแจอยู่ในรถ พอได้ยินคิดในใจว่า อีกแล้วหรือ รู้สึกเซ็งเล็กน้อยแว็บหนึ่ง
ทุกข์ : รู้สึกเซ็งเล็กน้อย ที่พ่อบ้านลืมกุญแจ
สมุทัย : ยึดมั่นถือมั่นว่าพ่อบ้านต้องไม่ลืมกุญแจ ชอบถ้าพ่อบ้านได้เอากุญแจออกมาจากรถ ชังที่ลืมไว้ในรถ
นิโรธ : ใจไร้ทุกข์ตลอดเวลาไม่ว่าพ่อบ้านจะได้เอากุญแจออกมาจากรถ หรือไม่ ก็ได้
มรรค : เมื่อรู้สึกเซ็งเล็กน้อยรีบสลัดออกโดยการพิจารณาด้วย บททบทวนธรรมข้อที่ 138 ว่า “จงเผชิญกับปัญหาและอุปสรรค ที่มีอยู่คู่โลกตลอดกาลนาน อย่างมีชีวิตชีวาให้ได้ “ ใช่สินะปัญหาไม่เคยหมดไปจากโลกและเราก็เหมือนกัน การลืมก็เป็นเรื่องธรรมดาใครๆก็ลืมได้ เราเองยังลืมนั่นลืมนี่ บ่อยไป ไม่ได้เพ่งโทษ หรือซ้ำเติมพ่อบ้านเลย เมื่อไม่ได้เอาออกมา ก็ต้องช่วยกันคิดหาวิธีเอากุญแจออกมาจากรถสิ เพราะปัญหามีไว้ให้แก้ ไม่ใช่มีไว้ให้ เซ็ง อาการเซ็งเล็กน้อย ก็หายไป แล้วก็เดินไปที่ร้านหลังจากคนวายแล้ว บอกน้องเจ้าของร้านเขาอาสาช่วยทำให้ แต่ไม่ได้ เขาจึงช่วยจัดการหาช่างมาไขประตูรถใช้เวลานานพอควรในที่สุดก็เอากุญแจออกจากรถได้สำเร็จสรุป พอสลัดความรู้สึกเซ็งเล็กน้อยออกได้ ใจไร้ทุกข์คืนมาจึงมีทางออกในการเอากุญแจออกมาจากรถได้ในที่สุด