วิชา อริยสัจ 4 สัปดาห์ที่ 25 l ห้องเรียนวิชชาราม

ห้องเรียนวิชชาราม ตรวจการบ้าน วิชา อริยสัจ 4 ครั้งที่ 25 ภาคเรียนที่ 2/2564 ในวันอาทิตย์ที่ 20 มิถุนายน 2564 เวลา 12.00น. – 14.00 น.

ตรวจการบ้านวิชาอริยสัจ 4

1. เรื่อง หาจนเจอเจ้าตัวอยาก

พลัฏฐ์ รัตนวชิรินทร์ (อุ้ย)

เนื้อเรื่อง : หลังจากที่ส่งการบ้านอริยสัจ 4 ไป ได้รับคำชี้แจงจากหมู่มิตรและอาจารย์ ก็มาพิจารณาหาว่า ตัวอยากของเรามันอยู่ตรงไหน แต่ก่อนก็ไม่ได้คิดว่าไม่ได้อยากนะ เขามาทำเขาเองเราไม่ได้อยากอะไร ใครจะไปอยากให้ใคร ๆ มาทำเรื่องโน้น นี่ ใส่ ค่อย ๆ พิจารณาอาการตัวเองในเรื่องราวต่าง ๆ ที่ผ่านมาในการดำเนินชีวิตแต่ละวันค่อยมาพบว่า มันหลบอยู่ตรง การที่เราเจอเหตุการณ์ที่ไม่ได้ดั่งใจหมาย นี่เองเลยเจอเต็มไปหมดเลยคราวนี้

ทุกข์ : สารพัด

สมุทัย : สารพัดอยาก

นิโรธ : ไม่ทุกข์

มรรค : ไม่อยาก


2) เรื่อง อยากได้มากกว่านี้ 

โยธกา รือเซ็นแบร์ก (แจ้งศีล)

เนื้อเรื่อง : วันหยุด กิจกรรมที่ได้ทำร่วมกับคุณพ่อบ้านคือ การเดินสูดอากาศ เดินสั้น -ยาวแล้วแต่ท่านอยากจะเดิน วันหยุดที่ผ่านมาก็ทำเหมือนเคย ขณะที่เดินไป ท่านถามว่า หลังจากเดินเสร็จ เธอจะทำอะไรต่อ ก็ตอบท่านว่า จะไป Test Corona ต่อจากนั้นจะไปรดน้ำผักในสวน ซึ่งเรากำลังเดินผ่านสวน ท่านก็เปลี่ยนโปรแกรมบอกว่า งั้นไปรดน้ำผักเลยแล้วกัน ก็ได้ สูดอากาศไปในตัว เดี๋ยวฉันจะรดให้ เธอจะทำอะไรก็ทำไป เห็นความดีใจที่ท่านจะช่วย เพราะมีอะไรหลายสิ่งที่ต้องทำในสวน แต่เนื่องจากมีเวลาทำน้อย จึงทำเท่าที่ทำได้ พ่อบ้านฉีดสายยางรดน้ำผัก -ผลไม้ ทำงานอยู่ด้านหลัง ไม่นานเดินออกมาเห็นคุณพ่อบ้านรดน้ำเปียกแต่บน ๆ ข้างล่างไม่เปียกเลย เพราะแดดแรง ดินแห้งมาก คุณพ่อบ้านรดเกือบจะเสร็จแล้ว พูดกับตัวเอง ทำไมรีบเสร็จจัง เห็นความขุ่นใจ ไม่แช่มชื่น บอกใจตัวเองว่า ท่านเมตตาช่วยก็ดีแล้ว จะเอาอะไรอีก แต่ใจก็ไม่ยอม อยากได้มากกว่านี้ ใจก็ปรุงอีก มาช่วยแล้วน่าจะรดให้ชุ่ม ๆ หน่อยก็ดีนะ สักครู่ท่านบอกเสร็จแล้วกลับเถอะ เห็นใจตัวเอง ยังไม่อยากกลับ แต่ก็ถึงเวลาไป Test Corona ด้วยตาแอบมองทั่วสวน ไม่เปียกเลยเดี๋ยวพรุ่งนี้เช้ามารดใหม่ก็ได้ ไม่เห็นต้องทุกข์ใจเลย ความขุ่นใจ ไม่แช่มชื่น ค่อย ๆ คลายลง

ทุกข์ : ขุ่นใจ ไม่แช่มชื่น ที่พืชผักน้ำเปียกแต่ใบบนไม่ลงถึงข้างล่าง

สมุทัย :  อยากได้มากกว่าที่ท่านให้ ชอบ-ที่ให้พ่อบ้านรดน้ำเปียกให้ทั่วถึงดินจะสุขใจ ชัง-ที่พ่อบ้านรดน้ำเปียกแต่ใบบนๆไม่ชอบใจ

นิโรธ : แม้คุณพ่อบ้านจะไม่มาช่วยรดน้ำเลยหรือรดน้ำลงไม่ถึงดินก็ไม่ทุกข์ใจ

มรรค :พิจารณา ความคิดแบบนี้ไม่ใช่ความคิดของเรามันเป็นความคิดของมาร มันขัดขวางทำให้มีความขุ่นใจ ไม่แช่มชื่น  ต้องขอบคุณ คุณพ่อบ้านสละเดินมาช่วยแบ่งเบางานรดน้ำผักและเราก็ไม่ต้องวิ่งกลับมาสวนอีกรอบจะยังเอาอะไรอีกท่านทำให้ก็ดีที่สุดแล้วเรานี่โลภมากจริง”หยุดคิดไม่ดี”เสียเวลา เสียพลังท่านให้เท่านี้จะเอามากกว่าดีกว่าไม่ได้รดเลย ทำผิดศีลข้อ2รับแต่ของที่เขาให้นะ และจะ”ยอม”คนใกล้ตัวแล้วทำไมมาโง่ทุกข์กับเรื่องเล็กน้อยแค่นี้ กิเลสนี่มันหลอกเก่งจริงหลอกให้หลงทุกข์ตั้งหลายนาที กราบสาธุค่ะ


3) เรื่อง : เวลาเข้าซูมอยากทำฉากหลังได้เหมือนคนอื่น

สิริรัตน์ ธนพรไพศาล (ผ่องพิมพ์พุทธ)

เนื้อเรื่อง : ความเป็นมา ช่วงแรกของสถานการณ์โควิดตัวเองอยู่บนภูผาตลอดไม่เคยเข้าซูมเลย แต่หลังทำงานทันตกรรมต้องขึ้นลงระหว่างภูผา สวน 9 และที่บ้าน ทำให้มีเวลาอยู่บ้านนานขึ้น ได้เข้าซูมที่มีฉากหลังแชร์ให้ในกลุ่มครัวหมอเขียวแต่เราทำไม่ได้ ภาพที่ออกมาจึงดูแปลกกว่าคนอื่น จึงเป็นที่มาของทุกข์

ทุกข์ : อยากมีฉากหลังแบบคนอื่นบ้างดูสวยดี

สมุทัย : เห็นคนอื่นทำได้ก็อยากทำบ้าง

นิโรธ : จะทำฉากหลังได้หรือไม่ก็ไม่ทุกข์ เพราะคนที่ทำได้มีไม่ถึง 10 เปอร์เซ็นต์เลย และเราก็ยังเข้าซูมได้ตามปกติ

มรรค ความอยากทุกชนิดเป็นกิเลสถ้าเราหมดอยากก็หมดทุกข์ สาระสำคัญของการเข้าซูมสำคัญที่สุดฉากหลังเป็นแค่องค์ประกอบเล็ก ๆ น้อย ๆ มีก็ได้ไม่มีก็ได้ หลังจากได้พยายามทำเต็มที่แล้วก็ปล่อยวาง หายทุกข์ไปเป็นลำดับๆจนหมดทุกข์

ตรงกับบททบทวนธรรม

ข้อที่ 38. กิเลส โลภ โกรธ หลง เป็นสิ่งที่คนโง่ คนชั่ว คนบ้าหวงแหนที่สุดในโลก

ข้อที่ 39. วิธีการแก้ปัญหาทุกปัญหาในโลกคือ ลดกิเลส เหตุแห่งทุกข์ทั้งปวง ลดกิเลส ลดทุกปัญหา เพิ่มกิเลส เพิ่มทุกปัญหา

ข้อที่ 82. จงฝึกอยู่กับความเป็นจริงของชีวิตที่พร่องอยู่เป็นนิตย์อย่างผาสุกให้ได้


4.) เรื่อง สิ้นอยากสิ้นทุกข์ 

พิเชษฐ์ บุญย์วิรุฬห์ (ชุน จางคลาย)

เนื้อเรื่อง : ช่วงปลายเดือนพฤษภาคมถึงต้นเดือนมิถุนายนผมไม่ได้ส่งการบ้านอริยสัจสี่เลย เพราะมีงานเร่งด่วนหลายเรื่องที่ต้องสะสาง ระหว่างที่พยายามสะสางงานต่าง ๆ อยู่นั้น ในใจก็คิดว่าอยากจะหาเวลามานั่งเขียนการบ้านสักเรื่อง ช่วงนั้นรู้สึกได้ถึงความหวั่นไหว กังวลใจอยู่บ้างที่ไม่ได้ส่งการบ้านประจำสัปดาห์

ทุกข์ – มีความหวั่นไหวในใจที่ไม่ได้ส่งการบ้านประจำสัปดาห์

สมุทัย – มีความอยากส่งการบ้านให้ได้ทุกสัปดาห์ มีเศษของความยึดมั่นถือมั่นด้วยว่า ถ้าได้ส่งการบ้านทุกสัปดาห์จะสบายใจ ถ้าไม่ได้ส่งการบ้านทุกสัปดาห์จะไม่สบายใจ

นิโรธ – สภาพตัณหาดับโดยไม่เหลือ หรือสิ้นอยาก หรืออยากก็ได้แต่ไม่เหลือเศษของความยึดมั่นถือมั่นเลย จะได้ส่งหรือไม่ได้ส่งการบ้านก็สบายใจไร้กังวล

มรรค – พิจารณาความอยากในเรื่องนี้ของเราว่า แท้ที่จริงแล้วมันไม่เที่ยง ไม่มีตัวตน มันเป็นเรื่องที่เราสร้างขึ้นมาเอง ที่ผ่าน ๆ มาเราทำได้สมอยากเราจึงพอใจกับการมีมันไว้ แต่พอมาเจอเหตุการณ์ที่ไม่สามารถทำให้ได้สมอยาก ความไม่พอใจมันจึงเกิดขึ้น ทุกข์ใจจึงเกิดขึ้น ดังนั้น เพียงแค่เราไม่ต้องไปอยาก ทิ้งความอยากนั้นไปเลย มันก็หายทุกข์ ง่าย ๆ แค่นี้เอง

พอผ่านพ้นช่วงที่ต้องเร่งสะสางงานด่วนไปแล้ว เริ่มมีเวลาในแต่ละวันกลับมาเป็นปกติเหมือนเดิม เราจะกลับไปอยากอีกก็ได้ถ้าเราทำได้ แต่สิ่งสำคัญก็คือ ต้องไม่ยึดมั่นถือมั่น ต้องทิ้งเศษของความยึดมั่นถือมั่นที่เหลืออยู่ไปให้เกลี้ยง ต้องพร้อมที่จะปล่อยวางทันทีหากมีเรื่องที่สำคัญกว่าต้องทำ

สรุปว่า สิ้นอยากก็สิ้นทุกข์ อยากมากก็ทุกข์มาก อยากน้อยก็ทุกข์น้อย ไม่อยากเลยก็ไม่ทุกข์เลย พอหายทุกข์แล้วจะกลับไปอยากอีกก็ได้ แต่ต้องไม่ยึดมั่นถือมั่น เป็นอยากแต่ไม่ยึด ถ้ายังเหลือยึดอยู่ก็ยังเหลือทุกข์อยู่ หลังจากพิจารณาเรื่องนี้จนชัดเจนในใจแล้วจึงได้มานั่งเขียนการบ้านในตอนเช้าตรู่วันที่ 11 มิถุนายน 2564 และได้ส่งการบ้านใหม่อย่างสบายใจ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *