ห้องเรียนวิชชาราม ตรวจการบ้าน วิชา อริยสัจ 4 ครั้งที่ 24 ภาคการเรียนที่ 2/2564 ในวันอาทิตย์ที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2564 เวลา 12:00 น. – 14:00 น.
ตรวจการบ้านวิชาอริยสัจ 4
1). เรื่อง ใครดื้อ
จรูญ สุยะ (ชาติพุทธ)
อยากขึ้นภูผาใจแทบจะขาด เนื่องในวันสำคัญของครูบาอาจารย์ วางแผนไว้และติดต่อฝ่ายตรวจสอบก่อนล่วงหน้า 20 วัน วันที่จะขึ้นภูผา แจ้งไว้คือ 9-13 มิ.ย.นี้
พอดีช่วงก่อนขึ้นโควิด 19 ระบาดหนักสายพันธุ์ใหม่เข้ามามากมายทางฝ่ายตรวจสอบก็ขอไทไลน์ 14 วัน พอเราตรวจสอบตัวเองแล้วเราเองยังคงไปขายพวงมาลัยตลาดในอำเภออยู่ทุกวัน ตรวจสอบตัวเองแล้วว่าไม่ผ่าน เลยส่งไลน์หาฝ่ายตรวจสอบว่าขอยกเลิกการเดินทางขึ้นภูผา แต่ใจลึกๆก็เกิดอาการทุกข์ใจขึ้นมาทันที วันสำคัญิย่างนี้เราจะพลาดได้อย่างไร ถ้าขึ้นภูผาเราก็ผิดศีล พอวันที่ 3 มิ.ย.ใจมันไม่ยอมก็ส่งไลน์ไปหาทีมตรวจสอบอีกว่าขอขึ้นภูผาวันเดียวได้ไหม ไปเช้าเย็นกลับก็ได้ สวมแมสเว้นระยะห่างก็ได้ ในใจก็ยังลุ้นรอคำตอบกลับคอยเช็คแต่ไลน์ ทีมตรวจสอบได้อ่านไลน์เราแล้วแต่ยังไม่ตอบกลับ ขณะที่รอคำตอบ ก็คิดทบทวนตัวเอง เรามันเก็นแก่ตัวเอาแต่ใจตัวเอง ดื้อมากๆ ยอมผิดศีลเลยหรือนี่ ทั้งๆที่รู้ว่าตัวเองมันเสี่ยงต่อครูบาอาจารย์และหมู่มิตรดีอันเป็นที่รักของเรา เราจะยอมผิดศีลไม่ได้นะสอนตัวเอง เลยตัดสินใจส่งไลน์ไปขอยกเลิกอีกครั้งว่า ขอตัดรอบการเดินทางครับ สุดท้ายฝ่ายตรวจสอบก็ส่งข้อความมาว่า ขึ้นภูผาได้นะแต่กักตัวอยู่ด้านล่าง สวมแมสเว้นระยะห่าง ส่งไทไลน์ 14 วัน สุดท้ายเรายอมแพ้เราซื่อสัตย์ต่อศีลดีกว่า เรานี่ดื้อจริงๆ
ทุกข์ อยากขึ้นภูผามากจึงทุกข์
สมุทัย ได้ขึ้นภูผาจึงสุขใจ ไม่ได้ขึ้นภูผาจึงทุกข์ใจ
นิโรธ ได้ขึ้นภูผาก็สุขใจ ไม่ได้ขึ้นภูผาก็ไม่ทุกข์ใจ
มรรค อยู่ที่ไหน ตรงไหน ก็ปฎิบัติธรรมได้ อาจารย์เคยสอนอยู่เสมอว่า แม้อยู่ไกลถ้าปฎิบัติธรรมได้ดีก็เหมือนอยู่ใกล้ ถ้าเราอยู่ใกล้แต่ไม่ปฎิบัติธรรมและผิดศีลอยู่เรื่อยไปก็เหมือนอยู่ไกล พอคิดถึงคำอาจารย์สอน ทุกข์ที่อยู่ในใจ ก็จางคลายมลายหายไปพอไปอ่านบททวนธรรมข้อที่ 82 จงฝึกอยู่กับ ความจริงของชีวิต ที่พร่องอยู่เป็นนิตย์ อย่างผาสุขให้ได้ แค่นี้แหละก็สบายใจไร้กังวล สาธุครับ
2). เรื่อง กินแน่นเกินเห็นกิเลส
นปภา รัตนวงศา (แอ๋ว แก้วมั่นศีล)
เหตุการณ์ ตอนนี้รับประทานอาหารมื้อเดียวส่วนใหญ่จะเป็นอาหารปั่นมาได้ระยะหนึ่งแล้ว แต่มีปัญหาในการประมาณการกินที่ยังพลาดอยู่ ได้พยายามพากเพียรให้พอดีแต่ส่วนใหญ่ก็ยังกินเกิน ในวันนี้ก็เช่นกันที่ประมาณพลาดกินอาหารปั่นไป 2ถ้วยใหญ่เริ่มอิ่ม แต่มีเหลือในถ้วย 3ช้อนและในโถอีก 1/2 ถ้วย ในโถตัดใจทิ้งเป็นปุ๋ยได้ แต่ในถ้วยกิเลสมันเสียดาย แพ้กิเลสกินไปหมด มีอาการ อึดอัด จุก แน่นท้อง ต้องปลดสายรัดกางเกง ขอเข้าห้องน้ำไปถ่ายออก มีผะอืดผะอมจะอาเจียน โชคดีที่มีโทรศัพท์อปริหาธรรมในกลุ่มสวน 2 จึงเอาเรื่องเข้าปรึกษาหมู่กลุ่ม
ทุกข์ ขุ่นใจจากร่างกายที่มีอาการอึดอัด จุก แน่นท้อง จากการกินเกิน
สมุทัย ชอบถ้าร่างกายไม่มีอาการ อึดอัด จุก แน่นท้อง ชังถ้าร่างกายมีอาการ อึดอัด จุก แน่นท้องจากการกินเกิน
นิโรธ ร่างกายจะมีอาการหรือไม่มีอาการอึดอัด จุก แน่นท้องจากอาการกินเกินก็ไม่ชอบไม่ชัง ใจไร้ทุกข์
มรรค ตั้งศีลมาพิจารณาไตรลักษณ์ ความวิปลาส ความทุกข์จากการชอบที่ร่างกายสบาย ชังที่ร่างกายไม่สบาย ซึ่งอาการทางกายมันอยู่ที่ร่างกายสามารถแก้ไขได้ง่าย แต่อาการขุ่นใจที่ไม่สบายนั้นหนักและแรงทำให้ทุกข์ทั้งแผ่นดิน ที่จะออกจากทุกข์ได้ยากกว่า ก็มาแก้ที่ทุกข์ใจก่อน จะทุกข์ใจไปทำไมในเมื่อทุกคนไม่มีใครไม่พลาด พลาดแล้วได้ใช้วิบาก ใช้แล้วก็หมดไปก็จะโชคดีขึ้น โชคดีอีกแล้วร้ายหมดไปอีกแล้ว
จากการประมาณการกินที่เกิน ในช่วงเวลาที่ผ่านมาไม่มีที่กินไม่พอ ส่วนใหญ่กินเกิน มีน้อยมากที่กินได้พอดี เมื่อมีอาการแน่นท้องมาก จุก อึดอัดมาดูลีลากิเลสมารกันค่ะ
มาร :โอ้ย: ปวดท้อง แน่นท้อง จุก อึดอัดจังเข้าห้องน้ำไปถ่ายก็ดีนะ หรือถ้าได้อาเจียนก็อาจจะดีขึ้น
เรา :ไม่ ยังไม่เข้าห้องน้ำ มา มานั่งคุยกันก่อนก็เกิดเหตุแบบนี้มากี่ครั้งแล้ว กินมากแล้วแน่นท้อง อึดอัด ก็ไม่เคยเข็ดหลาบ ไม่เคยจำ เป็นไงละ ทุกข์ละสิ ดีแล้วที่ทุกข์ เห็นทุกข์จึงเห็นธรรมไง จำไว้แล้วไม่ต้องมาบ่นเลยนะ แน่นท้อง จุก อึดอัด เมื่อยตัว ตัวแข็งเกร็งค้าง ใครทำมาละ ก็ทำตัวเองใช่ไหม?
มาร :ใช่ๆ ทำมาเอง ยอมแล้ว ไม่เอาแล้ว คราวหน้าจะพิจารณาให้ดี พอเริ่มอิ่มก็จะหยุดกิน ส่วนที่เหลือจะไม่เสียดายอีกแล้ว
เรา :ดีแล้ว เมื่อใจไม่ทุกข์แล้ว เข้าห้องน้ำได้ เห็นโทษของการกินเกินแล้วนะที่นำทุกข์มาให้ และยังมีโทษหนักที่เป็นพลังเหนี่ยวนำที่ไม่ดีให้คนอื่นทำตาม กินเกินทำให้โลกเดือดร้อน โลกขาดแคลน เขาไม่มีกิน แต่เขาต้องกินเขาอาจไปปล้น ไปจี้ ไปฆ่า ไปข่มขืนหรือทำให้โลกเกิดภัยพิบัติได้ทั้งหมดและวิบากนั้นก็เป็นของเราทั้งหมด ที่เราต้องรับก็ขอสำนึกผิด ยอมรับผิด ขอโทษ ขออโหสิกรรม ต่อไปจะตั้งใจปฎิบัติศีลข้อนี้ให้ดีขึ้น และขอบคุณที่กินเกินทำให้เห็นกิเลสตัวนี้ชัดเจนมากในวันนี้ และขอบคุณคุรุและหมู่มิตรดีที่ให้ปัญญาทำให้ได้ล้างเหลี่ยมมุมของกิเลสตัวนี้
ใช้บททบทวนธรรมข้อที่ 53 “ศีลคือไม่เบียดเบียนตนเอง คนอื่น สัตว์อื่น เป็นประโยชน์ต่อตนเอง ต่อคนอื่น ต่อสัตว์อื่น ข้อที่ 55 “อย่าดื้อต่อศีล ดื้อต่อศีลทำให้ทุกข์หนัก ทุกข์หนักมาก ทุกข์หนักที่สุด”
สรุป หลังจากได้ปัญญาจากคุรุและหมู่กลุ่มร่วมกับการพิจารณาอาการขุ่นใจก็คลายลง เบาลง จนค่อยๆหายไป เบิกบานได้ ส่วนร่างกายหลังจากได้ถ่ายอุจจาระก็ดีขึ้นอาการแน่นท้อง จุก อึดอัดก็หายไป ..สาธุ
3). เรื่อง ถ้าต่อไม่จบ
อรวิภา กริฟฟิธส์
ตื่นขึ้นมาแล้วแปลกใจที่เห็นพ่อบ้านตื่นขึ้นมาแต่เช้า ปกติเราจะตื่นก่อน มาทราบทีหลังว่าท่านไม่ได้นอนเลยเมื่อคืนนี้ พ่อบ้านท่านมีปัญหาเรื่องการนอนไม่หลับมาเป็นปีแล้วแต่เป็นช่วง ๆ พอเห็นหน้าเราท่านก็รายงานว่าวันนี้ครบรอบ 1 ปี ที่ท่านเริ่มมีปัญหาเรื่องนอนไม่หลับ เราเห็นอาการกังวลใจหวั่นไหวของท่าน ก็อยากช่วยท่านเลยบอกท่านว่าต้องทำใจ ไม่กังวล หวั่นไหว ควรทำใจให้สบาย ๆ ร่างกายมันไม่เหนื่อยก็เลยไม่อยากพัก เราสังเกตเห็นว่าท่านกินอาหารที่ค่อนไปทางร้อน และชอบกินตอนกลางคืนด้วย ขณะที่อธิบายอยู่ท่านก็โบกมือบอกให้เราหยุดพูด เห็นใจเราขุ่นเล็กน้อยอยากพูดต่อ
ทุกข์ ขุ่นใจเล็กน้อยเมื่อโดนตัดบท พูดยังไม่จบ
สมุทัย อยากพูดต่อให้จบ ถ้าได้พูดจนจบจะสุขใจชอบใจ คิดว่าถ้าได้ให้ข้อมูลที่เต็มครบถ้วนจะเป็นประโยชน์ต่อท่านเอง
นิโรธ จะได้พูดจบ หรือพูดไม่จบก็ไม่ทุกข์ใจ ยินดีได้
มรรค พิจารณาโทษของความอยากได้ดั่งใจหมายของเรามันเป็นทุกข์ ได้สมใจก็เป็นสุขชั่วคราว การที่เราคิดว่าการได้ให้ข้อมูลเต็มที่มันก็ดีอยู่ แต่เราต้องไม่ยึดมั่นถือมั่น เราต้องพร้อมที่จะวางดีนั้นเสีย เข้าใจกุศลอกุศลของเราและคนที่เกี่ยวข้อง ก็เมื่อท่านไม่อยากฟังแล้วแสดงว่าไม่ใช่เวลาที่เราจะได้บำเพ็ญกับท่าน แม้ว่าสิ่งที่เราพูดจะเป็นประโยชน์จริง แต่เมื่อท่านไม่เปิดใจรับมันก็ไม่เป็นประโยชน์อะไรต่อท่านเลย ใจที่ขุ่นมัวก็หายไป มีความเบิกบานยินดีเข้ามาแทน ยินดีรับแต่ของที่เขาให้ เขาให้บำเพ็ญเท่านี้ก็ยินดีที่ได้บำเพ็ญ ยินดีที่เราไม่ได้ทำตามที่เราอยากทำ แต่เราทำตามเหตุปัจจัยที่เอื้อให้เราทำ ไม่ฝึดฝืนเกิน ไม่ลำบากเกินและไม่วิวาท ยินดีที่เห็นความจริงตามความเป็นจริง ว่าสิ่งที่เราได้รับคือสิ่งที่เราทำมา ส่งเสริมมา เราเคยพูดตัดบทคนอื่นไม่ฟังคนอื่นมา ใจที่ขุ่นมัวก็เราทำเอง ไม่มีใครทำให้เราทุกข์ใจได้นอกจากใจของเราเอง ใจที่อยากได้มากกว่าที่เป็นไปได้จริง ใจที่ยึดมั่นถือมั่น เมื่อพิจารณาเรื่องกรรมอย่างแจ่มแจ้งเช่นนี้ เราก็สำนึกผิดยินดีรับโทษ เต็มใจรับโทษ ตั้งใจหยุดสิ่งที่ไม่ดี เรายินดีรับยินดีให้หมดไป แล้วเราก็จะโชคดีขึ้น เมื่อท่านห้ามเราพูดเราก็หยุดพูด เป็นกุศลดีของเราแล้ว ไม่ต้องเหนื่อยอธิบาย ได้พลังแรงงานไปทำประโยชน์อย่างอื่น ไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่นด้วย สาธุค่ะ
4). เรื่อง เอาภาระแบบใจไร้ทุกข์
วิภาภรณ์ กอจรัญจิตต์ (เอ ใจพอแล้ว)
เหตุการณ์ คือ มีนัดอัดรายการกับพี่น้องจิตอาสาช่วงเช้าวันหนึ่ง แต่เพราะช่วงนี้มีงานเยอะมากจนลืมไป พอเพื่อนมาเตือนว่าพรุ่งนี้เรามีคิวต้องพูดด้วยอย่าลืมนะ แต่พอเช้าขึ้นมาเรามีอาการปวดหัว ปวดตา เพราะเมื่อคืนนอนหลับไม่สนิท หลับๆ ตื่นๆ ทำให้รู้สึกร่างกายไม่พร้อม สมองไม่ปลอดโปร่ง จิตก็เริ่มคิดว่า เราจะขอถอนตัวจากรายการวันนี้ดีไหม ทั้งรายการขาดเราไปหนึ่งคนคงไม่เป็นไร
ทุกข์ – ลังเลใจ ไม่อยากเข้าร่วมรายการ เพราะร่างกายไม่พร้อมปวดหัว ปวดตา มีอาการมึนๆ
สมุทัย – ถ้าไม่ต้องเข้าร่วมรายการ ได้ไปพักผ่อน จะชอบใจ ถ้าต้องเข้าร่วมรายการ ไม่ได้พักผ่อน จะทุกข์ใจ
นิโรธ – จะเข้าร่วมรายการหรือไม่เข้าร่วมรายการ ก็ไม่ชอบ ไม่ชัง ไม่ทุกข์ใจ
มรรค – พิจารณาโทษของกิเลสความเกียจคร้าน การที่เราถอนตัวออกมา ทำตัวเป็นคนไม่เอาภาระ ไม่เอาภาระในสิ่งที่เป็นประโยชน์ ไม่เอาภาระในสิ่งที่ช่วยให้คนอื่นลดทุกข์ กิเลสหลอกให้เราทำตัวเป็นภาระของพี่น้องท่านอื่นๆ แทน หลอกให้เราไปสร้างวิบากร้ายนั่นเอง ทุกข์กายจากการปวดหัว ปวดตา หลังอัดรายการเสร็จเราก็ยังไปพักผ่อน ปรับสมดุลได้ แต่ทุกข์ใจจากการไม่อยากบำเพ็ญ ยิ่งเร่งอาการปวดหัวให้ดูเหมือนจะแย่กว่าความเป็นจริง ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้วเราก็ยังมีแรงไปทำโน่น ทำนี่ได้อยู่
พอเราเห็นลีลากิเลสที่พยายามหลอก มีวิบากดีมาถึงหน้าให้บำเพ็ญกลับไม่อยากทำ มีโอกาสได้ทำดีกลับทำเฉย พอคิดได้ถึงตรงนี้ เราจึงเปลี่ยนไปมองหาอีกด้านหนึ่งที่กิเลสปกปิดไว้หรือประโยชน์ของการไม่มีกิเลสนั่นเอง การไม่มีกิเลสตัวเกียจคร้าน คือ เราได้ร่วมบำเพ็ญกับหมู่มิตรดี ได้ฝึกตั้งตนในความลำบาก ได้สร้างประโยชน์ให้ผู้ชมรายการ อีกอย่างเราจำได้ว่า อาจารย์หมอเขียวเคยไม่สบายเจ็บคอ อาจารย์ยังขึ้นบรรยายทุกวัน บรรยายด้วยความยินดี และบรรยายจนหายเจ็บคอ เมื่อคิดได้ตามนี้ เราจึงมีความยินดี เต็มใจที่จะเอาภาระแบบใจไร้ทุกข์เช่นกัน ตามบททบทวนธรรมข้อที่ 125 อย่าปล่อยเวลาชีวิตให้สูญเปล่าด้วยการไม่ลดกิเลส
สรุป – หลังจากเดินมรรคพิจารณาประโยชน์ของการไม่มีกิเลสตัวนี้แล้ว รายการนี้ใช้เวลาอัดรายการประมาณ 1.30 ชั่วโมง เวลาก็ไม่ได้นานอะไร อาจารย์เคยกล่าวไว้ว่า การตั้งต้นอยู่บนความลำบาก กุศลธรรมเจริญยิ่ง ลำบากเราเพียงแค่ 1.30 ชั่วโมง เราได้ล้างกิเลส พี่น้องและผู้ฟังได้ประโยชน์อีกมากมายแค่นี้ ก็คุ้มแล้ว เราก็ปลอดโปร่งโล่งใจ ไม่ลังเลใจอีก อาการปวดหัว ปวดตาก็ลดลง และก็เข้าร่วมรายการอย่างใจไร้ทุกข์
5). เรื่อง ตัดกิเลสถวายพ่อครู
ปิ่น คำเพียงเพชร
จากที่ได้ต่อสู้แล้วล้างกิเลสเรื่องละครในมุมที่ชอบพระเอกเป็นคนดีเป็นสุภาพบุรุษและมุมอื่น ด้วยหลักอริยสัจ 4 มาก่อนหน้านี้ ก็ทำให้หยุดดูละครมาสักพักใหญ่ แต่ช่วงหลัง ๆ มานี้ ก่อนนอนก็จะกลับมาเปิดดูละครในยูทูปอีก แต่คราวนี้เป็นการดูผ่าน ๆ แบบไม่กำหนดว่าจะต้องดูเรื่องนั้นเรื่องนี้ คือดูไปเรื่อย ๆ แต่จะเป็นเพียงคลิปสั้น ๆ ที่ไม่ได้คิดว่าจะต้องตามไปดูจนจบเรื่อง แต่มันก็ทำให้ไหลไปเรื่อย ๆ คลิปต่อคลิปจนทำให้นอนดึกตื่นสายเป็นประจำ ส่งผลให้เสียสุขภาพปวดศีรษะนอนหลับไม่สนิท ส่งผลให้สมองไม่ปลอดโปร่งและเวลาในการบำเพ็ญกิจกรรมการงานที่เป็นประโยชน์กับหมู่มิตรดี จริง ๆ ก็รู้ว่าเรากำลังหลงไปตามกิเลสอีกแล้วและตั้งใจว่าจะหยุดพฤติกรรมนี้ แต่ไม่มีพลังมากพอ คิดว่าจะตั้งศีลนอนเร็วขึ้น เพื่อแก้ปัญหาจะได้ไม่ต้องดูเลย กิเลสมันก็ยังไม่ยอม ก็เลยยังทำไม่ได้เสียที
จนเมื่อเร็ว ๆ นี้ได้ฟังธรรมพอครูสมณะโพธิรักษ์ ท่านเทศเรื่องกาม ว่าถ้ากามหยาบเรายังล้างไม่ได้ ก็ไม่มีทางที่เราจะล้างกามล้างกิเลสตัวละเอียดยิ่งขึ้นได้หรอก ดังนั้นเนื่องในโอกาสวันคล้ายวันเกิดย่างเข้า ๘๘ พรรษาของ “พ่อครูสมณะโพธิรักษ์” ในปีนี้ ข้าพเจ้าจึงถือโอกาสนี้มาเป็นพลังในการกระชากตัวเองขึ้นมา และขอหักดิบกิเลสด้วยการตั้งศีลว่าจะไม่ดูละครแล้ว เพื่อเป็นการปฏิบัติบูชาถวายท่าน และจะพยายามอ่านอาการกิเลสอาการทุกข์ใจและฝึกล้างด้วยหลักอริยสัจ 4 ไปตามภูมิ ซึ่งขณะที่ตั้งศีลก็มีละครเรื่องหนึ่งที่แว๊บขึ้นมากวนให้รู้สึกเสียดาย ๆ อยู่
ทุกข์ : เห็นอาการกิเลสมันดิ้นดุ๊กดิ๊ก ๆ เสียดาย ๆ อยู่ ขณะตั้งศีลว่าจะไม่ดูละครแล้ว (แม้แต่ฉอดสั้น ๆ ก็ตาม )
สมุทัย : ยังชอบยังพอใจและเพลิดเพลินกับการที่จะได้ดูละครอยู่ ยึดว่าละครเรื่องนี้มีสาระน่าดูน่าติดตาม สนุกและเบาสมองดี
นิโรธ : ไม่ว่าเรื่องราวในละครจะมีสาระน่าดูน่าติดตามและสนุกแค่ไหน เราก็จะไม่หลงไปเสพเพลิดเพลินตกเป็นทาสมัน จะไม่ดูละครด้วยใจที่เป็นสุขให้ได้
มรรค : พิจารณาเห็นความจริงว่า ละครก็คือละคร คือเรื่องไม่จริงที่เขาแต่งขึ้นมาเพื่อหลอกให้คนโง่ ๆ อย่างเรานี่แหละ หลงติดหลงยึดตาม การที่เราไปหลงเสพหลงเพลิดเพลินกับการดูละครอยู่แบบนี้นี่ เรากำลังใช้ชีวิตประมาทอยู่นะ นี่เรากำลังตกเป็นทาสกิเลสกามที่ทั้งหยาบและใหญ่มากอยู่นะ ได้ดูก็สุขใจแว๊บหนึ่ง พอไม่ได้ดูก็ทุกข์ใจอยู่อย่างนี้ แล้วยังทำให้เสียสุขภาพ เสียเวลาแรงกายแรงใจในการบำเพ็ญการงานที่เป็นประโยชน์กับครูบาอาจารย์และหมูมิตรดี แถมยังมีต้องรับวิบากจากการเป็นแรงเหนี่ยวนำที่ทำให้คนอยากเสพกิเลสตามอีกด้วย ถ้าเราไม่มีกิเลสตัวนี้ เราก็จะเป็นอิสระจากมัน ไม่ต้องมาตกเป็นทาสมัน จะได้ดูหรือไม่ได้ดูก็ไม่ต้องทุกข์ใจ ไม่ต้องมาหลงเพลิดเพลิน ไม่ต้องเสียเวลาแรงกายแรงใจกับเรื่องไร้สาระที่ไม่เป็นไปเพื่อการพ้นทุกข์ แล้วก็ไม่ต้องรับวิบากจากการเป็นแรงเหนี่ยวนำให้คนอยากเสพกิเลสตามอีกด้วย
มีโอกาสเกิดมาเป็นคน มีโอกาสได้พบพระโพธิสัตว์ได้พบ สัตบุรุษ และหมู่มิตรดีทั้งที กลับไม่เห็นคุณค่า กลับมาใช้ชีวิตอย่างประมาท มาเสียเวลาแรงกายแรงใจกับเรื่องไร้สาระที่นอกจากไม่เป็นไปเพื่อการพ้นทุกข์แล้ว ยังเพิ่มกิเลส ความติดความยึดความหลงเข้าไปอีก โง่สิ้นดี ไม่ว่าเรื่องราวในละครจะมีสาระน่าดูน่าติดตามและสนุกแค่ไหนมันก็แค่เรื่องที่เขาแต่งเขาปั้นขึ้นมาเท่านั้น มันเทียบไม่ได้เลยกับเรื่องราวชีวิตจริงตัวจริงเป็น ๆ ของพระโพธิสัตว์ สัตบุรุษ และหมู่มิตรดี เรื่องราวชีวิตจริงของพระโพธิสัตว์ สัตบุรุษ และหมู่มิตรดีนี่แหละมีสาระน่าดูน่าติดตามที่สุดสนุกที่สุดแล้ว
สรุป เมื่อพิจารณาทบทวนซ้ำไปมาดังนี้หลาย ๆ รอบ ก็ทำให้กิเลสตัวนี้สลายไปตามลำดับจนหมดลงไปได้ต่อหน้าต่อตาอย่างน่าอัศจรรย์ใจจริง ๆ ครั้งนี้ทำให้ได้เห็นไตรลักณ์ของกิเลส คือได้เห็นตั้งแต่ขณะที่กิเลสมันกำลังดิ้นสู้ดู๊กดิ๊ก ๆ อยู่ และแรงดิ้นของกิเลสมันก็ลดลง ๆ ไปได้ตามลำดับ และสุดท้ายมันก็สลายไปต่อหน้าต่อตาเลย ที่สำคัญคือหลังจากที่กิเลสตัวนี้มันสลายไป ก็กลับสัมผัสได้ถึงพลังพุทธะในตัวที่เพิ่มขึ้น ทำให้มีกำลังที่จะสู้กับกิเลสตัวอื่นต่อได้อย่างไม่ยากไม่ลำบากอีกด้วย ทำให้นึกถึงคำสอนของอาจารย์หมอเขียว ดร.ใจเพชร กล้าจน ที่ท่านว่า ถ้าเราล้างกิเลสได้จริงเราจะได้พลังกลับมาเป็นของเรานั้นสภาวะเป็นอย่างไร ทำให้ข้าพเจ้าชัดเจนยิ่งขึ้นว่า อานุภาพของอริยสัจ 4 นี่มันสุดยอดที่สุดเลย วิชาไหน ๆ ในโลกก็ไม่สู้วิชาอริยสัจ 4 ตามที่อาจารย์ว่าจริง ๆ
6). เรื่อง ความเป็นอยู่ในครอบครัว
พิมพ์พศินา สิทธิประเสริฐ (หมู เพียรเย็นพุทธ)
เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2564 ที่ผ่านมา ได้เข้าออฟฟิศทำงาน ทำสต๊อกของตลอดทั้งวัน ก็มีหลานชายและหลานสาวทั้งสองคน มาเล่นด้วยที่บ้านปู่กับย่า (น้าหมู) เขาก็เล่นของเขาอยู่ดีดีนะ ไม่ทราบว่าวิบากร้ายจะมาเยือน มันเป็นวิบากร่วมในครอบครัว ขณะนั้นปู่ของหลานก็อยู่ด้วยกันนะคะ เห็นหลานนั่งเล่นก็อยากจะซื้อขนมให้หลานกินด้วยความรักและหวังดีแบบทางโลก ก็ได้ให้พี่เลี้ยงพาหลานไปซื้อขนม แต่หลานชายบอกว่าไม่ต้องซื้อหรอกปู่เขาไม่หิวแต่ปู่ก็ไม่ฟังต้องการที่จะซื้อให้ น้าหมูก็นั่งฟังอยู่ เพราะน้าหมูนั่งทำสต๊อกอยู่ ก็เปรยว่าอย่าซื้อให้เขาเลยหลานไม่ต้องการ การไปซื้อขนมให้เขากิน ไม่มีประโยชน์อะไรเลย น้าหมูก็เตือนพ่อบ้านว่า อากาศร้อนแบบนี้หลานกินจะทำให้เขาไม่สบาย แต่ด้วยความรักหลานของปู่ ก็ยังดื้อซื้ออยู่เหมือนเดิม ซึ่งน้าหมูไม่เคยโทษพ่อบ้านในข้อนี้ ภพก่อนน้าหมูก็ดื้อแบบนี้ บอกไม่ฟังเช่นกัน ขนมที่หลานไปซื้อกับพี่เลี้ยงก็มี KFC อมยิ้ม ไอศกรีม ซึ่งเป็นขนมที่เด็กชอบ เพราะเขาเดินไปซื้อเอง พี่เลี้ยงเป็นแค่คนพาไปไม่มีใครห้ามใคร ซึ่งมันเป็นเหตุที่ทำให้เขาไม่สบายจริง ๆ
ปรากฏว่ายังไม่ทันข้ามคืน เมื่อเวลาประมาณ 2 ทุ่มกว่า ๆ ของวันนั้น พ่อแม่ของหลานซึ่งอยู่บ้านอีกหลังหนึ่ง ก็แจ้งมาว่าหลานไม่สบาย มีอาการปวดหัวตัวร้อนท้องเสีย และอ้วก พอรู้ว่าเด็กไม่สบาย น้าหมูก็รู้ได้ทันทีเลยว่า วิบากร้ายมันมาแล้ว เรื่องขนมเป็นพิษแน่ ๆ จนถึงขั้นเข้าโรงพยาบาลเลย ใจน้าหมูเห็นเขาแล้วเป็นทุกข์ เด็กไม่สบายน่าสงสารมาก ไม่ใช่ว่าแต่หลานของเราเท่านั้น เวลาเห็นเด็กคนอื่น ๆ ไม่สบายก็น่าสงสารมาก ๆ เช่นกัน เราไม่รู้หรอกว่าความเจ็บป่วยของเขามีมากน้อยขนาดไหน น่าสงสารจริง ๆ หลานชายอายุ 5 ขวบ น้องสาว 4 ขวบ หลานทั้งสองคนเขาก็กินด้วยกันค่ะ ผู้ป่วยเป็นพี่ ส่วนน้องไม่เป็นอะไรเลย ทำให้น้าหมูต้องทุกข์ใจ ไม่สบายใจ เป็นห่วงหลานไม่แช่มชื่น เป็นกังวล
ทุกข์ : อยากให้พ่อบ้านฟังความคิดเห็นของเรา
สมุทัย : ถ้าพ่อบ้านฟังความคิดเห็นของเรา เราจะสุขใจหลานก็จะไม่ป่วย ถ้าเขาไม่ฟังความคิดเห็นของเรา เราจะทุกข์ใจ
นิโรธ : เขาจะฟังความคิดเห็นของเราหรือไม่ฟังความคิดเห็นของเรา เราก็สุขใจ
มรรค : พิจารณาบททบทวนธรรม ข้อที่ 2 เราต้องรู้ว่าแต่ละคนมีฐานจิตแตกต่างกัน เราจึงควรประมาณ การกระทำให้เหมาะสมกับฐานจิตของเราและฐานจิตของผู้อื่น คิดดี พูดดี ทำดีไว้ก่อนดีที่สุด มันเป็นวิบากและเหตุการณ์ของหลานทั้งสองคน หลานคนหนึ่งวิบากดีออกฤทธิ์ก็ไม่เจ็บป่วย แต่หลานอีกคนหนึ่งวิบากร้ายออกฤทธิ์จึงเจ็บป่วยถึงขั้นเข้าโรงพยาบาล เมื่อเราเข้าใจเรื่องกรรมอย่างแจ่มแจ้งเช่นนี้ เราก็สุขใจเพราะสัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม ของแต่ละคน จิตของเราจึงไม่ทุกข์ เบิกบานแจ่มใส ยินดีรับได้ทุกสถานการณ์ สาธุ เจริญธรรมสำนึกดีมีใจไร้ทุกข์