ห้องเรียนออนไลน์ ห้องเรียนวิชชาราม ตรวจการบ้าน วิชา อริยสัจ 4 ครั้งที่ 14 ในวันอาทิตย์ที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2564 ในสัปดาห์นี้เปลี่ยนเวลามาเป็น เวลาประมาณ 12:00 น. – 14:00 น.
ตรวจการบ้านวิชาอริยสัจ 4
เรื่อง : ปวดฟัน
อัญชลี พุ่มแย้ม (เย็นแสงธรรม)
- อ่านเรื่องราวหน้าชั้นเรียน ไม่ได้ส่งเอกสารประกอบ
เรื่อง : ห่างไกลคนพาล
เคยตั้งจิตทำมงคลชีวิตข้อแรกให้ดี เพราะรู้ว่าเมื่อไกลคนพาลก็จะไกลภัยด้วย ปฏิบัติมาสักพักก็หยุดกาย วาจาได้สบาย แต่ใจก็ยังมีปรุงอยู่ข้างใน แต่ปรุงแล้วก็เลิก ก็ยังเสียเวลา ยังกวนใจอยู่ ยังเป็นรูปภพอยู่ ยังลำบาก ก็เลยตั้งอธิศีลเพิ่มพากเพียรจนวิบากคลาย ได้รับความรู้
ทุกข์ : ความหงุดหงิด กวนอยู่ภายในใจ
สมุทัย : ความอยากให้เกิดดีกว่าความเป็นจริง (ความโลภ = ผิดศีลข้อ 2)
นิโรธ : ยอมรับด้วยความยินดีเบิกบานใจว่า สิ่งดีจะเกิดก็ได้ ไม่เกิดก็ได้ ไม่เอาใจไปผูกพัน ไม่เอาความคาดหวังไปผูกไว้
มรรค : ปฏิบัติมาตามคำสอนของพระพุทธเจ้าและครูบาอาจารย์มาโดยลำดับ ก็เจริญขึ้นโดยลำดับ ลึก ๆ ก็รู้อยู่ในใจว่าการยังปล่อยให้จิตปรุงวนเวียนอยู่ในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้นั้น เป็นวิบากร้าย เช่น คิดจะไปจัดการคนพาล ให้คนพาลเข้าใจความพาล ซึ่งมันเป็นไปไม่ได้ คนพาลไม่เข้าใจสิ่งที่ถูกก็ถูกแล้ว ต้องคิดผิด พูดผิด ทำผิด ก็ถูกต้องแล้ว
จนมาฟังอาจารย์ช่วงก่อนหน้านี้ที่ท่านอ่านชาดก เจอประโยคถูกจริตเช่น “เราไม่มีกำลังก็หามิได้ เราจะทำลายเขาให้เป็นจุลก็ได้ แต่เรารักษาศีลของเรา เราไม่รักษาชีวิตของเรา” ตรงจริตเพราะตนเองก็รู้ว่ามีกำลังมากพอที่จะปรุงสิ่งที่จะทำลายเขาได้ เพราะรู้จุดอ่อนเขานั่นแหละ แต่แล้วยังไงล่ะ ทำไปแล้วก็ผิดศีล ปรุงไปแล้วก็ผิดศีล ฟังแล้วก็รู้ว่าสิ่งที่ดีกว่าการไปยุ่งกับคนพาล คือรักษาศีล คือห่างไกลคนพาล แม้ใจก็ยังห่างไกล ศีลข้อนี้ก็แข็งแรงขึ้น เป็นสมาธิมากขึ้น ลดการปรุงลงได้มากขึ้น
มาชัดขึ้นอีกตรงได้เห็นคลิปกวางที่ชนกันแล้วเขาติดกัน อีกตัวตายไปหลายวันจนขึ้นอืดแล้ว ตัวที่ยังมีชีวิตอยู่ก็ติดอยู่อย่างนั้น ทั้งสยองทั้งอันตราย คือต้องอยู่กับศัตรูของเราที่ตายไปแล้วอย่างนั้น อันตรายคือถ้ามีภัยเข้ามาก็หนีไม่ได้
จึงชัดเจนเรื่องห่างไกลคนพาลเลยว่า อย่าไปสู้ แม้จะชนะก็อย่าไปสู้ มันจะติดบ่วงแบบกวาง เอากาย วาจา ใจ ไปผูกไว้ก็เป็นแบบกวางนั่นแหละ เน่าเหม็น อันตราย ห่างไว้ดีกว่า แต่ก่อนภาพมันไม่ชัด เรามองโทษภัยไม่ออก มองไม่ชัด มันเลยไม่เต็มใจจะห่างถึงใจ แต่ตอนนี้มีภาพชัด ๆ เห็นกันชัด ๆ ก็เลยชัดแจ้งในสภาวะไปด้วยว่าการไปใกล้คนพาลมันจะมีภัยต่อชีวิตอย่างนี้
ตอนนี้เลยมีอธิศีลที่ยิ่ง ๆ ขึ้นให้ปฏิบัติคือ มีภาพกวางชนกันเขาติดแล้วอีกตัวนึงตายมาเทียบกับการห่างไกลคนพาลนี่แหละ ชัดเจนดี สำหรับเรื่องนี้ก็ใช้คำสอนอาจารย์ที่ว่า “ทำความผาสุกที่ตน ช่วยคนที่ศรัทธา” เป็นกรรมฐานช่วยกำกับไว้ด้วยเช่นกัน
เรื่อง : กังวล
เมื่อสัปดาห์ก่อน ทีมคุรุเฉลยผลสอบ เกิดกิเลสตัวเป็นห่วงว่าพี่น้องในหมู่บางท่านจะได้รับคะแนนไม่ยุติธรรมเนื่องจากทางคุรุอาจขาดข้อมูลบางส่วนไป เช่น การเข้าหมู่ การมีส่วนร่วมในกิจกรรมในหมู่ย่อย ยึดว่าเราควรดูแลพี่น้องในหมู่ให้ทั่วถึง และพอดีมีพี่ในกลุ่มอีกท่าน ก็มีส่วนร่วมใกล้เคียงกัน ในบางมุมอาจจะมีส่วนร่วมน้อยกว่าท่านแรกด้วยซ้ำ แต่ปรากฏว่าคะแนนที่ออกมา กลับมากว่าท่านแรก จึงได้บอกคุรุไปตามความเห็นของเราว่า ถ้าในส่วนของการมีส่วนร่วมกับหมู่ ท่านแรกน่าจะมีมากกว่า แต่คุรุก็บอกว่า มีอะไรให้ไปคุยกันในคลาสเรียน พี่น้องจะได้ร่วมเรียนรู้ไปด้วย เราจึงคิดว่ายังไงก็จะไปพูดในคลาสเรียนอยู่แล้ว เพื่อความโปร่งใส เพื่อไม่ให้เป็นการไปพูดลับหลังพี่น้องในหมู่ จึงพิมพ์แจ้งพี่น้องในกลุ่มย่อยไปด้วย ว่าเรามีความเห็นอย่างไร แต่คำที่เราสื่อออกไปมันก็ต้องไปกระทบกับพี่อีกท่านไปด้วย เนื่องจากเพื่อให้เห็นภาพชัด เราได้ยกกรณีของพี่เขาขึ้นมาเปรียบเทียบกับพี่ท่านแรกด้วย แต่หลังจากที่ได้แจ้งพี่น้องไป ก็รู้สึกกังวลว่าที่เราพูดไปแบบนั้น มันแรงไปหรือเปล่า จะเบียดเบียนหรือทำให้อีกท่านไม่สบายใจไปไหม
ทุกข์ : กังวลใจ ห่วงว่าสิ่งที่พูดไป จะแรงไป จะทำให้พี่น้องอีกท่านเกิดความไม่สบายใจ
สมุทัย : เกรงว่า พี่เขาจะรับไม่ไหว จนกระเด็นออกจากหมู่กลุ่มไป ตีตัวเองซ้ำว่า ถ้าพี่เขาออกจากหมู่ไปจริง ๆ ก็เพราะเราเป็นต้นเหตุ เราเป็นคนผิด ที่ไม่รู้จักประมาณในการพูดให้ดี
นิโรธ : ถ้าพี่เขารับได้ และยังอยู่บำเพ็ญร่วมกับหมู่ต่อได้ เป็นเรื่องที่ดี แต่หากพี่เขา หลุดออกจากหมู่กลุ่มไป เราก็ไม่ควรทุกข์ใจ
มรรค : การทำผิดแล้ว มีสัญชาตญาณแห่งคนตรง
รู้จักยอมรับผิด สำนึกผิด ขอโทษ ขอขมา ขออโหสิกรรม และพร้อมปรับปรุงแก้ไขเป็นเรื่องที่ดี แต่ไม่ควรทำทุกข์ทับถมตนด้วยการโทษตัวเอง
เข้าใจเรื่องกรรมให้ชัดว่า ทุกอย่างเป็นไปตามธรรม
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเกิดจากพลังวิบากดีร้ายของเราและของท่านสังเคราะห์กัน ธรรมทั้งหลายมีฉันทะเป็นมูล คนเราจะมีโอกาสได้ทำดีร่วมกัน ก็เท่าที่เคยมีกุศลร่วมกันมาเท่านั้น หากท่านเห็นว่าหมู่กลุ่มไหนอยู่แล้วรู้สึกสบายใจ ได้ประโยชน์ ท่านก็จะอยู่ หมู่กลุ่มไหนอยู่แล้วไม่สบายใจ ไม่ได้ประโยชน์อะไร ท่านก็จะไป เป็นเรื่องปกติธรรมดา ที่แต่ล่ะชีวิตก็จะแสวงหาสิ่งที่คิดว่าดีที่สุด ที่จะทำให้ตัวเองได้เจริญในธรรมที่สุดให้กับชีวิตตัวเอง
สรุป : เมื่อพิจารณาดังนี้ ความกังวลใจก็คลายลง วางใจ ทำในยอมรับได้ด้วยใจไม่ทุกข์ ไม่ว่าผลจะออกมาอย่างไร สาธุ