วิชา อริยสัจ 4 ครั้งที่ 11 | ห้องเรียนวิชชาราม

ห้องเรียนออนไลน์ ห้องเรียนวิชชาราม ตรวจการบ้าน วิชา อริยสัจ 4 ครั้งที่ 11 ในวันเสาร์ที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2564 เวลาประมาณ 18:30 น.-20:00 น.

ตรวจการบ้านวิชาอริยสัจ 4

ศิรินภา คำวงษ์ศรี

เรื่อง ปัญหาขยะและการแยกขยะ

ได้เห็นภาพข่าวเรื่องปัญหาขยะที่ภูเขา ที่ทางพี่น้องจิตอาสาได้ส่งเข้ามาในกลุ่มไลน์
พอได้เห็นแล้ว เกิดผัสสะและกิเลสทันที กิเลสความชังพฤติกรรมการไม่แยกขยะมาครอบงำจิตใจโดยฉับพลัน

ทุกข์: รู้สึกผิดหวังและสงสัยสาเหตุของปัญหาการไม่แยกขยะ

สมุทัย: มีความยึดมั่นถือมั่นว่าทุกคนต้องมีจิตสำนึกในการแยกขยะ โดยเฉพาะกับนักปฏิบัติธรรม และอยากรู้สาเหตุของพฤติกรรมการไม่แยกขยะ

มีความคาดหวังกับนักปฏิบัติธรรมมากกว่า ผู้คนภายนอกทั่วไป ยึดว่าการแยกขยะเป็นสิ่งที่ดี และเป็นสิ่งที่แม้แต่ผู้คนภายนอกยังต้องทำ เป็นสิ่งที่ปกติธรรมดาที่ประชาชนที่ดีต้องพึงทำ แต่พอทราบว่านักปฏิบัติธรรมบางท่านไม่ให้ความร่วมมือกับทางส่วนกลาง เรามีอาการชังพฤติกรรมนี้ และกิเลสก็อยากทราบว่าทำไม? ทำไม? ท่านๆมีเหตุผลอะไรถึงไม่ช่วยกัน? ท่านติดเรื่องอะไรหรือ? ทำไมทำให้ส่วนกลางต้องรับภาระนี้?

นิโรธ: ใครจะแยกขยะก็ได้ ไม่แยกขยะก็ได้ จะเป็นนักปฏิบัติธรรมก็ได้ ไม่เป็นนักปฏิบัติธรรมก็ได้ แต่ละท่านจะมีเหตุผลอะไรก็ได้ เราไม่มีหน้าที่ไปก้าวก่าย ให้เราพิจารณากิเลสที่ตนเองก็พอ

มรรค: พิจารณาอาการชังและความสงสัยที่เกิดขึ้น เหตุการณ์ต่างๆที่เรารับรู้ เป็นเครื่องมือให้ได้อ่านใจและล้างใจ
ก่อนหน้าที่จะมาเจออาจารย์หมอเขียว เราไม่เคยแยกขยะเลย ไม่เคยมองเห็นความสำคัญเลย
จนมาได้บำเพ็ญฐานขยะในค่ายสุขภาพของอาจารย์ จึงได้มองเห็นความสำคัญ สำนึกผิดที่เคยเห็นแก่ตัว ไม่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม และสร้างภาระให้ผู้อื่น
ถึงตอนนี้จะสามารถตระหนักเรื่องการแยกขยะได้แล้ว แต่สิ่งที่สำคัญในการปฏิบัติธรรมของเราคือ การได้เข้าใจผู้อื่น ได้ยอมรับว่าทุกสิ่งที่เราเห็น รับรู้ และสัมผัสสัมพันธ์นั้น เป็นสิ่งที่เราได้ทำมา เราทำมากๆๆจริงๆ
ถ้าเราชังพฤติกรรมของผู้อื่น ก็แปลว่า เรานั้นชังตัวเอง ไม่เข้าใจตนเองด้วย
พฤติกรรมการไม่แยกขยะของเราในสมัยก่อนนั้น จริงๆแล้วเราก็ไม่ได้มีเจตนาที่จะทำร้ายทำลายโลก แต่ด้วยความขาดความรู้ความเข้าใจและผลกระทบที่แท้จริงจากการไม่แยกขยะ เราไม่เคยได้ถูกสอนจากคนในครอบครัวหรือเป็นวัฒนธรรมที่เราทำกันจนเป็นนิสัย
ถ้าเราไม่ได้มาบำเพ็ญฐานขยะที่ค่ายของอาจารย์หมอเขียว เราก็คงยังเป็นบุคคลที่ไม่ยอมแยกขยะอยู่เป็นแน่แท้
ทุกครั้งที่เราได้พบเจอพฤติกรรมการไม่แยกขยะ ให้เราสำนึกผิด ยอมรับผิด ขอโทษ ขออโหสิกรรม ที่ได้เคยเป็นแรงเหนี่ยวที่ไม่ดีมา เราก็เป็นสาเหตุของขยะทุกกองบนโลกใบนี้ เราต้องใช้หนี้ที่เคยทำ
การเพ่งโทษและสงสัยในพฤติกรรมของผู้อื่น มีแต่จะสร้างวิบากร้ายให้กับตนเอง และเป็นแรงเหนี่ยวในการโทษผู้อื่นให้กับโลกใบนี้อีก
เราเลยนึกถึงคำที่พ่อเฒ่าสมณะโพธิรักษ์ ท่านได้กล่าวว่า “เคร่งครัดที่ตน ผ่อนปรนที่ผู้อื่น
เรามัวแต่มองกิเลสของผู้อื่น จนลืมมองข้อบกพร่องของตนเองที่ยังมีมากมายให้ต้องล้างต้องแก้


ศิริพร คำวงษ์ศรี

ชื่อเรื่อง : ขยะทองคำ

เมื่อวานได้เห็นภาพและข้อมูลจากเพื่อนที่ภูผาฟ้าน้ำว่า พี่น้องบางท่านไม่แยกขยะตั้งแต่ต้นทางก่อนทิ้ง จนทำให้ขยะเยอะมากกองสูง ทำให้อาจต้องใช้วิธีนำไปฝั่งกลบ ซึ่งอาจทำให้จุดบริเวณนั้นๆไม่สามารถทำกสิกรรมได้ หรือถึงจะจัดการขยะด้วยวิธีฝั่งกลบไปเรื่อยๆ ก็ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ เนื่องจากจะทำให้ภูเขาขยะอีกหลายกองเกิดขึ้น เพื่อนๆที่เอาภาระงานแยกขยะก็เข้ามาร่วมแสดงความคิดเห็น ส่งข้อมูลวิธีการช่วยแก้ปัญหาเข้ามา ทั้งยังมีบางท่านก็เข้ามาช่วยแสดงความคิดเห็นสมทบอีกด้วย

สิ่งที่เห็นในจิตมีหลายตัวมาก มีทั้งยิ้ม ขำและรู้สึกว่าดีใจ เพราะปัจจุบันก็กำลังพากเพียรในการวางใจเรื่องการไม่แยกขยะของสมาชิกในครอบครัวบางท่าน ซึ่งทำให้ต้องคอยตามแยกตามบอก กิเลสชอบที่ได้รู้ว่ามีเพื่อนร่วมอุดมการณ์ มีเพื่อนเผชิญเหตุการณ์เดียวกันอยู่ เหมือนมีเพื่อนที่สู้ไปด้วยกัน ตรวจใจดูแล้ว ใจไม่หนักมาก มีขุ่นๆบ้าง แต่มีคำถามเกิดขึ้นในใจ…ทำไม…ทำไม…และทำไม?

ทุกข์ คือ ทำไมพี่น้องบางท่านที่ภูผาฟ้าน้ำไม่แยกขยะ?

สมุทัย (เหตุแห่งทุกข์) คือ กิเลส “ผิดหวัง” เพราะการแยกขยะเป็นพื้นฐานของการเป็นพลเมืองที่ดีในการช่วยดูแลโลก ตามนโยบายของครูบาอาจารย์ เป็นความจริงที่ปัญหาการแยกขยะนั้นเกิดขึ้นทั่วโลก ถึงจะมีกลุ่มประชาชนจิตอาสาบางกลุ่มเข้ามาพยายามรณรงค์ผลักดันการแยกขยะ และลดการสร้างขยะ การแก้ปัญหาขยะก็ยังคงมีอยู่ แต่ก็พอเข้าใจได้ว่าคนส่วนใหญ่ทางโลกโลกียะยังไม่ได้รู้จักการปฏิบัติศีล จึงไม่น่าแปลกใจถึงความยากเหลือเกินที่จะยกจิตใจของพวกเขาให้ลุกขึ้นมาตั้งใจแยกขยะได้
กิเลส “สงสัย” ว่าเหตุการณ์แบบนี้ ทำไมจึงมาเกิดขึ้นในภูผาฟ้าน้ำ? ที่นี่คือ โลกทางโลกุตตระ เป็นดินแดนแห่งผู้ปฏิบัติศีลและมีจิตสำนึกมารวมตัวกัน ทำไมพี่น้องบางท่านจึงไม่แยกขยะ ไม่เห็นใจพี่น้องท่านอื่นๆเลยนะ สงสารเพื่อนที่ทำงานในฐานขยะ เพราะมีผู้อาศัยเป็นจำนวนหลายสิบท่านที่ภูผาฟ้าน้ำ ใจไม่อยากให้พวกเราโดนตำหนิว่า ทำไมแค่เรื่องการแยกขยะ ก็ไม่สามารถจัดการได้?
กิเลส “โลภ” อยากเห็นภาพการแยกขยะของพี่น้องทุกท่านเกิดขึ้นแบบสมบูรณ์ ทั้งๆที่ความจริงในปัจจุบันได้เท่านี้ ก็ไปอยากได้เกินความเป็นจริงของวิบากร่วมในปัจจุบัน

นิโรธ (สภาพดับทุกข์) คือ ยินดีในสถานการณ์นี้ พวกเขาจะแยกขยะก็ได้ ไม่แยกก็ได้ ใจของเราก็เบิกบานผาสุก วางจิตให้พอใจที่ได้รับรู้สัจจะธรรมของโลก คือ ไม่มีอะไรที่สามารถสมบูรณ์ตามดั่งใจของเราได้ ถึงแม้เรื่องนั้นๆจะเป็นสิ่งที่ดีก็ตาม ใจไร้กังวล ให้ทุกอย่างเป็นไปตามธรรม

มรรค (ทางเดินสู่ความพ้นทุกข์) คือ พิจารณาภาพ”ขยะทองคำ” ที่มาเป็นผัสสะเพื่อฝึกให้เราสามารถได้เห็นกิเลสที่นอนเนื่องอยู่ในจิต ได้แยกขยะในใจของเรา (กิเลส) ออกมาเป็นส่วนๆ ขยะภายนอกจะรกหรือเหม็นแค่ไหน ก็ไม่เท่าขยะในใจของเราเอง
ตอบคำถามข้างต้นในใจตนเองได้ว่า “ทำไม…ทำไม…และทำไม?” ตอบ “ก็ทำเราทำมา…ทำมา…ทำมา” เหตุการณ์นี้เป็นภาพสะท้อนการกระทำที่มักง่ายเบียดเบียนผู้อื่นและเบียดเบียนโลกของตนเอง เมื่อย้อนระลึกกลับไปในอดีต ตัวเราเองนั้นเป็นผู้สร้างขยะตัวยง ไม่มีจิตสำนึกในการแยกขยะใดๆทั้งสิ้น ทิ้งรวมในถังขยะเดียว ใครเตือนก็ไม่เคยสนใจ เพียงแค่ขอให้สิ่งที่ตนเองซื้อมากินมาใช้ และกลายเป็นขยะต้องออกไปจากห้องหรือบ้านของเราก็พอ รักษาให้บ้านพักอาศัยของเราสะอาดก็พอ แต่ขยะที่ทิ้งรวมกันไปนั้น จะกองมั่วเละที่ใดก็ได้ ไม่เป็นไร ไม่ใช่บ้านเรา เมื่อเราเห็นแก่ตัวไม่มีจิตสำนึกมาก่อน เราคือตัวการที่ไปเหนี่ยวนำผู้อื่นให้รู้สึกว่า “การแยกขยะไม่สำคัญ ไม่เดือดร้อนใคร” ตั้งใจจะพากเพียรที่จะสร้างจิตสำนึกไว้เป็นฐานของจิต ในสิ่งต่างๆที่กำลังจะคิด พูด กระทำ โดยตั้งคำถามว่า สิ่งนั้นเรายังเบียดเบียนตนเองหรือผู้อื่นอยู่หรือไม่?

พิจารณาความเมาโลภดีของตนเอง ด้วยอยากให้สิ่งที่ดีเกิดขึ้นเกินกว่าที่ควรจะเป็นไปได้ ตระหนักถึงคำสอนของอาจารย์หมอเขียวที่ได้กล่าวไว้ “ปรารถนาดี แต่โลภ จะได้ไม่คุ้มเสีย ต้องทำดี แบบไม่สนองกิเลสตนเอง” เป็นความจริงของชีวิตที่เราจะได้พากเพียรฝึกยอมรับ และเหตุการณ์นี้ทำให้ได้ขัดเกลาความอยากได้ดั่งใจหมายของเรา สลายอัตตาตัวติดดี ให้ดับเบาบางลง เพราะหากทุกอย่างสมบูรณ์แบบหรือสำเร็จสมใจไปทั้งหมด ความเสื่อมย่อมเกิดขึ้น มิใช่ความเจริญทางธรรม แล้วเราจะได้ฝึกฝนอะไร?
พิจารณากิเลสความสงสัยในการกระทำของผู้อื่น คือ การเพ่งโทษดูถูกว่า ผู้อื่นคิดดีไม่ได้เท่าที่เราคิด ทำดีทำถูกต้องไม่ได้เท่าที่เราทำ หลงคิดผิด หลงตัวหลงตน หากยังฝึกคิดเช่นนี้อยู่ เราจะสามารถเรียกตนเองได้ว่า “ผู้ปฏิบัติศีลได้อย่างไร?” การแยกขยะเพื่อดูแลโลกนั้นดี แต่ถ้าเราไม่สามารถแยกขยะที่รกในจิตใจของเราได้ เราก็คิด พูด ทำเบียดเบียนผู้อื่นและตนเองอยู่เรื่อยไป ความผาสุกจะเกิดขึ้นได้อย่างไร หากไม่ยอมวางวัตถุภายนอกที่แบกอยู่ ให้ยังมาเป็นภาระหนักหัวใจ ก็ยังเป็นการอยากสนองตัณหาของเองอยู่ดี เหมือนจะดี แต่ก็ยังชั่ว ยังไม่ถูกต้องตามธรรม การให้ความสำคัญสิ่งใดมากๆ ก็จะทำให้ยิ่งหลงยึดมั่นถือมั่นมาก สิ่งดีในด้านนี้เราสามารถปฏิบัติได้ก็จริง แต่ก็ยังมีสิ่งดีในด้านอื่นๆที่ผู้อื่นปฏิบัติได้ แต่เราก็ยังไม่สามารถปฏิบัติเช่นกัน อย่างในเรื่องการเลิกกินขนมนั้น ก็เป็นเรื่องดีที่ยังยากสำหรับตนเองอยู่มาก ทุกวันนี้ก็ยังเลิกไม่ได้ ทุกท่านและตัวเราก็ยังเป็นผู้ที่อยู่บนเส้นทางในการฝึกฝนกันทั้งนั้น นี่แหละ คือ “โลกุตรธรรมที่แท้จริง” ต้องมีความพร่อง และความไม่ได้ดั่งใจ เป็นสัจธรรมเที่ยงแท้

สอดคล้องกับบททบทวนธรรม ข้อที่ ๑๒๑ “โจทย์ทุกโจทย์ เหตุการณ์ทุกเหตุการณ์ เป็นเครื่องมือฝึกจิตของเราให้เป็นสุข อย่างถูกต้องตามธรรม” การมีคัมภีร์ชีวิตเป็นปัญญาทางจิตวิญญาณไว้ใกล้มือ เราก็สามารถนำมาใช้เป็นอาวุธต่อสู้กับกิเลส เพื่อพาจิตใจให้พ้นทุกข์ได้ในทุกวินาที ทำให้ใช้ชีวิตได้อย่างเบิกบานผาสุกในทุกวัน สาธุ

ลิงก์รีวิวบททบทวนธรรม ข้อที่ ๑๒๑
https://lib.vijjaram.ac.th/the-truest-good/

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *