ข่าวสรุปการบ้านวิชชาราม
สรุปการบ้านอริยสัจ 4
ประจำสัปดาห์ที่ 16 วันที่ 23 – 29 พฤศจิกายน 2563
ผู้ส่งการบ้าน 31 ท่าน 31 เรื่อง
ข้อแนะนำให้แก้ไข
1. การสะกดชื่อผิด ควรตรวจชื่อตนเองก่อนส่งอย่างน้อย 1 รอบ
2. การเว้นช่องไฟระหว่างชื่อนามสกุล กด spacebar ครั้งเดียว ไม่ควรมี . (จุด) ขั้นกลาง
3. การเว้นบรรทัด ควรปรับปรุงบางท่าน เนื่องจากพิมพ์ติดกัน ทำให้อ่านยาก (ภาพรวมดีแล้ว)
อนุโมทนาความพากเพียรของนักศึกษาในการส่งการบ้านทุกท่าน
การบ้านที่น่าสนใจในสัปดาห์นี้ (3 เรื่อง)
1. บ้านสะอาดแต่ใจสกปรก
วันนี้กลับจากทำงานมาบ้านรู้สึกไม่ชอบใจเห็นบ้านรก เราชอบบ้านสะอาด ลงมือเก็บกวาดบ้านไปด้วยใจหงุดหงิด บ่นพ่อบ้านไปว่าอยู่บ้านอย่างไรนะบ้านถึงได้รกจังเลย ถ้วยชามกินแล้วก็ไม่ล้าง อะไรใช้แล้วก็ไม่เก็บเข้าที่ พอเห็นเราบ่นท่านก็มาช่วยเก็บของ เห็นใจที่ไม่ยินดี งานนอกเราทำความสะอาดบ้าน แต่ใจเราเต็มไปด้วยขยะ บ้านสะอาดแต่ใจสกปรก ใจที่หลงโง่เพ่งโทษถือสาพ่อบ้าน ทำให้ตัวเองหงุดหงิดเสียพลัง แทนที่จะยินดีพอใจที่ได้บำเพ็ญ ได้ใช้วิบาก โดนกิเลสหรอกแล้วเรา
ทุกข์ หงุดหงิดใจที่เห็นบ้านรก
สมุทัย ไม่ชอบใจที่บ้านรก ชอบใจที่บ้านสะอาด
นิโรธ บ้านสะอาดก็ได้ ไม่สะอาดก็ได้ ใจไม่ทุกข์ ตั้งใจทำดีที่ทำได้ด้วยใจที่ยินดี
มรรค เห็นความจริงตามความเป็นจริงว่า ไม่มีอะไรที่เราได้รับโดยที่เราไม่เคยทำมา เราเห็นว่าพ่อบ้านทำบ้านรกทำให้เราหงุดหงิดใจ แต่ความจริงแล้ว เป็นวิบากร้ายของเรามาเพื่อให้เราได้ชดใช้ ใช้แล้วก็หมดไปเราก็จะโชคดีขึ้น แต่ก่อนเราก็เป็นเช่นนั้นมาเคยทำบ้านรก ๆให้คนอื่นลำบากเพราะเรา อาจารย์หมอเขียวสอนว่าทำความสะอาดบ้านก็ให้ทำความสะอาดใจของเราด้วย บ้าน คือ ใจของเรา ขยะ คือ ความหลงโง่ไปเพ่งโทษถือสาพ่อบ้าน เป็นการเบียดเบียนตนเองและผู้อื่น บัานสะอาดแต่ใจสกปรกใช้ไม่ได้ เมื่อพิจารณาเห็นดังนี้รู้สึกละอายใจจึงรีบสำนึกผิดขอโทษพ่อบ้าน ซึ่งพ่อบ้านก็ขอโทษเราตอบเหมือนกัน ท่านบอกว่าจะช่วยงานบ้านมากขึ้นขอให้บอกก็แล้วกัน
2. จะเป็นเหมือนเดิมรึเปล่า
วันที่ 19/11/63 รู้สึกครั่นเนื้อครั่นตัว ท้องอึด ปวดหลัง ลองบำบัดตัวเองด้วยการดีทอกซ์ และปรับอาหารแต่อาการก็ยังไม่ดีขึ้น ทำให้นึกถึงอาการที่เคยป่วย เคยเป็นหนักถึงขนาดจนเกือบขยับตัวไม่ได้ เห็นใจตัวเองรู้สึกกลัวอาการป่วยจะกลับมาเป็นอีก
ทุกข์ : กังวล หวั่นไหว ที่บำบัดอาการ ไม่สบายของตัวเองแล้วไม่ดีขึ้น (อาการครั่นเนื้อครั่นตัว ท้องอืด ปวดหลัง)
สมุทัย : กลัวที่จะมีอาการเจ็บป่วยหนักแบบเก่า ถ้ามีอาการเจ็บหนักแบบเก่าจะทุกข์ใจ ถ้าไมีอาการเจ็บหนักแบบเก่าจะสุขใจ
นิโรธ : วางใจได้ เมื่อได้บำบัดตัวเองเต็มที่แล้ว จะมีอาการเจ็บหนักแบบเก่า หรือไม่มีก็ไม่ทุกข์ใจ
มรรค : ตั้งสติพิจารณาทุกข์ที่กำลังเกิดขึ้น แล้วนำธรรมะที่ท่านอจ.หมอเขียว เคยบรรยายเอาไว้ว่า ชีวิตคนเราเกิดมามีวิบากรรมจึงต้องประสบกับทุกข์ที่เลี่ยงไม่ได้ กับทุกข์ที่เลี่ยงได้เป็นธรรมดา ทุกข์ที่เลี่ยงไม่ได้คือทุกข์ทางกายต่างๆ แต่ทุกข์ที่เลี่ยงได้คือทุกข์ใจ พอพิจารณาว่าเราทำวิบากกรรมที่ทำชั่วมาหาที่ต้นที่สุดไม่ได้จึงเป็นเรื่องธรรมดาที่จะต้องเจอเรื่องร้ายและความเจ็บป่วยต่าง ๆ เมื่อยอมรับแล้วก็หมดไป ทำการบำบัดตัวเองไปเท่าที่ทำได้ ไม่ใจร้อนว่าเค้าจะหายตอนไหน เห็นความกลัวในใจคลายลงจนเกือบหมด แล้วทำภารกิจของตัวเองไปโดยไม่ได้มาคิดเรื่องการเจ็บป่วยเลย เวลาผ่านไป 6-7 ชม.อาการทางกายก็ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ข้าพเจ้านึกถึงธรรมะที่ท่านอาจารย์หมอเขียวได้บรรยายเอาไว้ว่า “ใจเป็นใหญ่ ใจเป็นประธานของสิ่งทั้งปวง ความกลัวเป็นทุกข์ที่ทุกข์ที่สุด” ข้าพเจ้าได้พิจารณาตามดับความกลัวที่อยู่ในใจก่อน และเห็นผลคือกายก็ดีขึ้นตามมา น้อมกราบสาธุธรรมท่านอาจารย์เจ้าค่ะ สาธุค่ะ
3. แข่งดี
แข่งกันทำดีเหมือนจะดีนะ แต่พอเรามาเรียนรู้กับแพทย์วิถีธรรม อ.หมอเขียว และบุญนิยม สมณะโพธิรักษณ์ ท่านอธิบายว่าการแข่งดีเป็นอุปกิเลส 16 ที่ต้องล้างจึงจะพ้นทุกข์ ทำให้ละอายใจมากและพากเพียรอธิศีลทำดีเต็มที่แต่ไม่แข่งดีกับใคร จนช่วงก่อนหน้านี้มีเหตุให้ได้ทำงานหลายอย่างมากขึ้นและพอถึงจุดที่พี่น้องทำงานกันเองได้แล้ว เหตุการณ์ก็เตือนให้ควรไปทำงานอื่นที่จำเป็นและยังไม่มีใครทำได้แล้ว วันก่อนเห็นพี่น้องทำงานก็มีความคิดที่บอกว่า “ควรทำแบบนี้ดีกว่านะ ถ้าเราทำน่าจะดีกว่านี้ ทำแบบนี้น่าละอายจริง ๆ” พอจับได้ว่าเราคิดแบบนี้ ก็รู้สึกว่า “เราต่างหากที่ควรละอายที่คิดแบบนี้” เพราะเรากำลังคิดว่า “เราดีกว่า เก่งกว่า”
ทุกข์ : อึดอัดใจ
สมุทัย : เป็นความอยากให้เกิดดีรวมกับความถือดีอวดดีในตน
นิโรธ : พี่น้องจะทำงานออกมาได้ดีหรือไม่ เราก็ไม่ทุกข์ใจ และไม่อวดดีว่าเราทำได้ดีกว่า แต่ยอมรับความเป็นจริงของแต่ละท่านที่ทำได้รวมถึงเราด้วย เพราะทั้งงานนอกและงานในก็ทำได้ดีบ้างพร่องบ้างอยู่แล้ว
มรรค : ตอนที่เห็นพี่น้องทำงานมีความคิดที่บอกว่า “ควรทำแบบนี้ดีกว่านะ ถ้าเราทำน่าจะดีกว่านี้ ทำแบบนี้น่าละอายจริง ๆ” พอจับได้ว่าเราคิดแบบนี้ ก็รู้สึกว่า “เราต่างหากที่ควรละอายที่คิดแบบนี้” เพราะเรากำลังคิดว่า “เราดีกว่า เก่งกว่า” การคิดแบบนี้เราเองที่รู้สึกไม่สบายใจจึงรู้ว่ากำลังคิดผิด การที่พี่น้องแต่ละคนทำงานนอกและงานในได้ดีบ้างพร่องบ้างก็เป็นความจริงที่ดีที่สุดขณะนั้นแล้ว เราก็ควรยอมรับในสิ่งที่เกิดขึ้นได้ขณะนั้นทั้งดีและร้าย เพราะบุญและกุศลทำได้ยาก บางครั้งฟ้าเปิดให้ทำเรื่องนี้มุมนี้ได้ บางครั้งฟ้าปิดไม่ให้ทำเรื่องนี้มุมนี้ ตามวิบากดีร้ายของทุก่ฝ่ายรวมกันทุกวินาที เราควรสังเกตรายละเอียดนี้ให้ดี
การที่รู้ว่าแต่ละท่านพร่องเรื่องอะไรและดีเรื่องอะไร เราพร่องเรื่องอะไรและดีเรื่องอะไร ก็จะไม่มีจิตอกุศลไปแข่งกันทำดีและอวดดี แต่เราก็จะแสดงการคิดดี พูดดี ทำดี เต็มที่ตามภูมิที่เรามีและทำได้ เราควรบอกกล่าวตนเองเป็นหลัก ส่วนท่านอื่นก็เป็นส่วนของท่าน ถ้าบอกกล่าวแนะนำกันได้ก็บอก บางครั้งบอกอะไรไม่ได้ก็วางใจ ถ้ามีโอกาสเราก็ยินดีพูดและทำให้เต็มที่เท่าที่เหตุการณ์ขณะนั้น ๆ ให้ทำได้ต่อไป