18/2563 การบ้านอริยสัจ 4 แนะนำให้อ่าน

การบ้านอริยสัจ 4 ที่น่าสนใจ สัปดาห์ที่ 18/2563 วันที่ 7 – 13 ธันวาคม 2563

1. งุ่นง่านหางานทำไม่ได้

ช่วงนี้ช่างเข้ามาก่อสร้าง ดังนั้นตารางงานประจำวันจึงปรับเป็นงานเล็ก ๆ น้อย ๆ และใช้เวลาวนเวียนไปดูช่างก่อสร้างเป็นระยะ จึงทำให้ตารางงานว่าง ด้วยความที่ว่างเกือบทั้งวัน งานค้างเท่าที่นึกได้ก็เคลียหมดแล้ว ตอนเย็นจึงว่าง เกิดความหมองหม่นในใจ เพราะนึกหาอะไรทำไม่ออก จิตซัดส่าย หาอะไรสักอย่างที่มันน่าทำ ก็นึกไม่ออก เกิดความหงุดหงิดงุ่นง่านอยู่สักพัก

ทุกข์ : ความหงุดหงิดงุ่นง่าน
สมุทัย : อยากใช้เวลาให้เป็นประโยชน์ เพราะแรงเหลือ
นิโรธ : ถึงจะมีหรือไม่มีงานทำก็ใช้เวลาให้เป็นประโยชน์ได้ คืออยู่กับความจริงตามความเป็นจริง นึกไม่ออกก็คือนึกไม่ออก ไม่ต้องพยายามนึกจนเริ่มหงุดหงิดทรมานตัวเอง ไม่มีงานทำแม้แรงจะเหลือก็ผาสุกได้

มรรค : พอเริ่มรู้สึกว่าเริ่มกดดันตัวเอง ก็เริ่มรู้สึกว่าก้าวเข้าสู่ความโง่ไปสองขาแล้ว ว่าแล้วก็ค่อย ๆ ถอยออกมาจากตรงนั้น คือเลิกคิด เพราะคิดแล้วทุกข์เลยเลิกคิด นั่งเฉย ๆ ถามตัวเองว่าจะเอาอะไร รู้สึกเหมือนอยากได้อะไรที่คุณค่าน้อยแต่ต้องจ่ายแพง คือ ความได้ดั่งใจ เพราะปกติจะเป็นคนที่วางแผน และทำตามแผนไปเรื่อย ๆ พอไม่มีแผนก็เลยออกอาการแบบนี้ คือโล่งแบบโง่ ๆ โล่งแบบไม่มีอะไรทำ โล่งแบบไม่มีปัญญา พอได้สติรู้ดังนั้นก็วางความโง่นั้นไป และหลังจากที่วางความคิดเหล่านั้น ความคิดดี ๆ ใหม่ ก็ไหลเข้ามา งานที่น่าทำ ที่เป็นประโยชน์เข้ามาในหัวเต็มไปหมด อยู่ ๆ ก็นึกออก ว่าแล้วก็ทำ ๆ ๆ ๆ สรุปก็เป็นงานที่ดีเหมาะกับวันที่ว่างและแรงเหลือจริง ๆ

ก็นึกทบทวนซ้ำไปอีกว่าต้องมีงานดี ๆ ทำถึงจะสุขไหม? ก็ไม่หรอก เพราะโจทย์นี้ทุกข์เพราะคิดอะไรไม่ออก มันตื้อ ๆ ไปเฉย ๆ ทำให้เข้าใจว่าบางจังหวะ มันก็ต้องพัก ทำให้นึกถึงโอกาสที่ชีวิตเราจะพิกลพิการ ทำอะไรไม่ได้ หลงลืม คิดอย่างไรก็คิดไม่ออก ถ้าเราฝึกมรณสติไว้ตั้งแต่ตอนนี้ เราก็จะสบายในภายภาคหน้า มรณสติ พิจารณาความตาย ตายจากความปกติ ตายจากความมี ด้วยความผาสุก

2. ทำงานไม่ทัน

รู้สึกว่างานล้นมือทำไม่ทัน จัดสรรเวลาไม่ลงตัว งานสวนก็ต้องทำ งานประจำก็ต้องทำ งานต่าง ๆ ก็เลยค้างคาอยู่ไม่เสร็จ แต่ก็ต้องวางเพราะไม่ใช่เวลา พอตัวเองทำไม่ได้ก็เริ่มเพ่งจะเอาจากพ่อบ้าน ว่าท่านน่าจะเอาภาระมากกว่านี้ เห็นใจหดหู่ ไม่แจ่มใสรู้สึกละอายใจเห็นว่าตัวเรามันโลภมาก ไม่ยินดีพอใจ อยากได้มากกว่าที่เป็นไปได้จริง เราควรทำเต็มที่แล้วยินดีพอใจเท่าที่เราทำได้

ทุกข์ รู้สึกหดหู่ใจไม่แจ่มใส ทำงานไม่ทัน

สมุทัย อยากทำงานทุกอย่างให้เสร็จอย่างที่ใจเราหมายแล้วจะสุขใจ ไม่เสร็จจะทุกข์ใจ

นิโรธ งานจะเสร็จหรือไม่เสร็จอย่างที่ใจเราหมายก็สุขใจได้ เราตั้งใจทำให้ดีที่สุดเท่าที่เราจะทำได้ แล้วยินดีพอใจให้ได้

มรรค พิจารณาว่าการที่เราอยากได้มากกว่าที่เป็นไปได้เป็นความโลภ เมี่อโลภเราก็อยากได้มา พอตัวเองทำไม่ได้ก็ทำชั่วเพ่งเล็งอยากได้ของคนอื่น เราเองก็อยากได้จากพ่อบ้านมากกว่าที่ท่านเต็มใจให้เรา เป็นขโมยผิดศีลข้อสอง เป็นการสร้างวิบากใหม่ ส่งผลให้มีจิตไม่เบิกบานแจ่มใส เป็นการเบียดเบียนตัวเองผิดศีลข้อหนึ่ง เป็นแรงเหนี่ยวนำที่ไม่ดี อาจารย์สอนอย่าไปอยากได้มากกว่าที่เป็นไปได้ งานนอกจะสำเร็จหรือไม่สำเร็จก็ได้แต่ใจจะต้องสำเร็จคือใจที่ไร้ทุกข์ ทำดีเต็มที่แล้วไม่ยึดมั่นถือมั่น ไม่มีอะไรคาใจ ไม่เอาอะไร ปล่อยให้เป็นไปตามเหตุปัจจัยที่จะเป็นไปได้ ณ เวลานั้น พอพิจารณาอย่างนี้ใจก็รู้สึกเบิกบานยินดี วันนั้นก็ทำงานที่บ้านที่สวนเต็มที่ได้เท่าไรก็เท่านั้น พอถึงเวลาไปทำงานก็ไปทำงานด้วยใจที่เป็นสุข

3. ไม่ค่อยสบาย

ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมารู้สึกมีอาการหนักเนื้อหนักตัว ไม่สดชื่น เหมือนจะไม่สบาย ทำอะไรก็เนือย ๆ ไม่กระปรี้กระเปร่า ทั้งที่ช่วงนี้อากาศก็ดี เย็นสบาย

ทุกข์ : ไม่แช่มชื่นจากอาการไม่สบายเนื้อไม่สบายตัว

สมุทัย : ไม่อยากให้เกิดอาการหนักเนื้อหนักตัว ไม่กระปรี้กระเปร่า อยากให้ร่างกายสดชื่นแข็งแรง

นิโรธ : ร่างกายเราจะมีทั้งสบายและไม่สบายเมื่อร่างกายไม่สมดุล ไม่สบายก็ปรับสมดุลไป ไม่ยึดว่าจะต้องหายเมื่อไร หายเร็วก็ได้ หายช้าก็ได้

มรรค : เมื่อพอจับอาการไม่แช่มชื่น จากอาการไม่สบายหนักเนื้อหนักตัว พอรู้ก็เข้าใจว่าเกิดจากการไม่สบายของตัวเรา อาการที่ไม่แช่มชื่นเกิดจากความยึดมั่นของตัวเองที่ต้องการสภาพดี ๆ ร่างกายแข็งแรงมีศักยภาพตลอดเวลา มันเป็นความลวงของกิเลสความจริงไม่มีใครแข็งแรงได้ตลอด ต้องปรับไปปรับมาให้ถูกสมดุลร่างกาย พอได้ความจริง ใจที่ทุกข์ก็เบาลง แล้วมาพอเริ่มเห็นปัญหาเกิดจากการเพียรการพักที่ไม่พอดี ก็ดูจากการพักช่วงนี้ก็พักผ่อนพออยุ่นะ แต่การเพียรที่ได้ออกแรง ช่วงนี้ห่างไปหน่อย ก็เลยเพิ่มการออกกำลังกาย ไปเดินเร็ว ก็รู้สึกสดชื่นขึ้น สบายขึ้น ได้ทบทวนยาเม็ดที่เก้า รู้เพียร รู้พัก การเพียรพักก็ควรทำให้สมดุลด้วย จะแข็งแรงที่สุด

4. ฟ้าเปิด

ก่อนหน้านี้ตั้งใจว่า “จะทำงาน ป.เอก ให้เสร็จก่อนค่อยมาลุยงานวิชชารามกับพี่น้องหมู่มิตรดีก็ได้” แต่เหตุการณ์ก็ให้ได้กลับมาดูแลงานวิชชารามอยู่ดีเพราะยังไม่มีท่านอื่นมาบำเพ็ญงานส่วนนี้ ตอนนั้นมีความคิดว่า “ถ้ามีท่านอื่นมาดูแลงานวิชชารามก็ดีนะ” จึงคิดได้ว่า “จะมีท่านอื่นมาดูแลหรือไม่ก็ตาม ตอนนี้ฟ้าเปิดให้เราบำเพ็ญก็ทำไปเต็มที่ตามฟ้าเปิดเถอะ”

ทุกข์ : ไม่สบายใจ ไม่สดชื่นเต็มที่
สมุทัย : อยากให้ท่านอื่นมาดูแลงานวิชชารามเราจะได้มีเวลาให้งาน ป.เอก มากขึ้น ถ้ามีท่านอื่นมาดูแลงานวิชชารามจะสบายใจ ถ้าไม่มีจะไม่สบายใจ
นิโรธ : จะมีท่านอื่นมาดูแลงานวิชชารามหรือไม่ ก็ไม่ทุกข์ใจ และเราจะได้ทำงานวิชชารามหรือไม่ ก็ไม่ทุกข์ใจ

มรรค : ตอนที่คิดว่า “ถ้ามีท่านอื่นมาดูแลงานวิชชารามก็ดีนะ ท่านที่ทำได้ดีกว่าเราทั้งงานนอกและงานใน หรือท่านที่มีภูมิธรรมมากกว่าเราก็ยิ่งดี” จึงคิดได้ว่า “เราไม่ควรคิดแบบนั้น จะมีท่านอื่นมาดูแลหรือไม่ก็ตาม ตอนนี้ฟ้าเปิดให้เราบำเพ็ญก็ทำไปเต็มที่ตามฟ้าเปิดเถอะ สิ่งที่เกิดขึ้นตอนนี้ก็เป็นสิ่งที่ดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้แล้วล่ะ ! เพราะยังไงทุกสิ่งทุกอย่างก็สลายไปอยู่แล้วทั้งเรื่องดีและร้าย ถ้าเรามาทุกข์ใจกับเรื่องนี้ก็เป็นการสร้างอกุศลไม่จบไม่สิ้น เราควรทำดีเต็มที่ตามที่ฟ้าเปิดให้ทำดีกว่า หลังจากนี้ผลจะออกมาดีหรือแย่ก็ไม่เป็นไร ทำไปปรับกันไปร่วมกับหมู่มิตรดีดีกว่า” พอพิจารณาแบบนี้ก็โล่งใจ เบาใจ สบายใจ และจะพากเพีบรทำงาน ป.เอก ไปด้วย ร่วมกับการส่งเสริมให้พี่น้องทีมภาคเข้ามาเรียนรู้ร่วมกันเพื่อนำไปบำเพ็ญกับพี่น้องในภาคของตนเองด้วย

5. สำนึกผิด

เรื่องย่อ การเดินทางโดยรถตู้ ของจิตอาสาพวธ. เพื่อไปค่ายพตฏ. ครั้งที่ 31 จากสวนป่านาบุญ2 นครศรีธรรมราช ไปที่พุทธสถานภูผาฟ้าน้ำ เชียงใหม่
ระหว่างทางคนขับรถตู้ได้ขนย้ายจัดวางกระเป๋าบางส่วนไปวางไว้ที่ใหม่ โดยการวางสลับรถกับคน จึงหากระเป๋าไม่เจอ ด้วยที่กลัวหนาวมาก เพราะต้องนั่งรถกลางคืน เมื่อเจอกระเป๋าเพื่อน แล้วได้ทำผิดศีลอย่างแรง ไม่น่าให้อภัย น่าอายสุด ๆ ๆ โดยการไปเปิดกระเป๋าคนอื่นโดยไม่ได้รับการอนุญาต ถือวิสาสะหยิบหมวก หยิบเสื้อ มาใช้ มันเป็นวิบากกรรมชั่วตามไล่ล่า จึงเป็นขโมยโดยอัตโนมัติ “โง่ฉับพลัน” สำนึกได้เมื่อโดนเจ้าของใช้วาจาสั่งสอนอย่างรุนแรง จึงได้แต่ขอโทษ ๆ ๆ ๆ ผิดไปแล้ว ๆ ๆ ๆ ยอมรัยผิดเต็ม ๆ แบบไม่มีเงื่อนไข

ทุกข์ : กลัวหนาวมาก อยากได้เสื้อผ้ากันหนาว

สมุทัย : หากระเป๋าไม่เจอ อยากได้เสื้อกันหนาว ถ้าหาเจอจะสุข หาไม่เจอจึงทุกข์ กลัวหนาว

นิโรธ : เจอกระเป๋าก็ได้ ไม่เจอก็วางใจได้ ไม่กลัวหนาว ไม่ทุกข์

มรรค : ตั้งสติ รวมรวบสมาธิ ใช้ปัญญาใคร่ครวญซ้ำๆๆๆ ทบทวน หาสาเหตุแห่งทุกข์ ผิดศีล พูดเล่นพูดหัว ไม่ประมาณในการพูด อีกทั้งเพ่งโทษเพื่อน รีบสำนิกผิด ยอมรับผิด ยอมรับสารภาพผิด ขอโทษขออโหสิกรรม หยุดทำสิ่งไม่ดีเหล่านั้น ตั้งจิตทำความดีให้มาก ๆ ลดกิเลส วางใจว่า หากระเป๋าเจอหรือไม่เจอ ก็ไม่ทุกข์ รับเต็ม ๆ จะได้หมดหมดเต็ม ๆ เราจะโชคดีขึ้น

กิเลส คือ ความกลัวหนาว / อยากได้เสื้อผ้ากันหนาว เมื่อจับตัวกิเลสได้แล้ว จิตวิญญาณที่บริสุทธิ์ยอมรับผิดอย่างเต็มใจ สำนึกผิดเต็มๆ ด้วยใจที่บริสุทธิ์ ขอบคุณเจ้าของกระเป๋าที่มีความเมตตา ที่มาช่วยไม่ให้เราทำผิดมากกว่านี้ ได้ฆ่ากิเลสอย่างง่ายดาย ต่อหน้าต่อตา ยอมรับผิดด้วยใจที่เบิกบาน ผาสุก ขอบคุณเจ้าของการเป๋าที่ช่วยฆ่ากิเลสตัว “อยากได้” จนได้ รู้ตื่น รู้เบิกบาน วางได้ โล่ง โปร่ง เบา สบาย

6. เมื่อไหร่จะเชื่อฟังสักที

เนื้อเรื่อง : วันหนึ่ง เราได้รับการแต่งตั้งให้เป็นคณะกรรมการร่วมประเมินผลงานทางวิชาการของบุคลากรในสังกัดเพื่อให้มีวิทยฐานะเพิ่มขึ้น หลังจากที่กระบวนการประเมินเสร้จสิ้นลงแล้ว ก็เป็นธรรมเนียมปฏิบัติของหน่วยงานที่ผู้รับการประเมินต้องพาผู้ประเมินไปเลี้ยงรับประทานอาหารกลางวันเพื่อเป็นการให้เกียรติและขอบคุณ ซึ่งก็แน่ว่าเป็นร้านอาหารมีชื่อเสียงในท้องถิ่น ซึ่งก็เป็นเมนูอาหารเนื้อสัตว์และมีของมึนเมาด้วย งานนี้เราจึงขอตัวไม่ไปร่วมด้วยเพราะเราเลิกทานของเหล่านั้นแล้ว (รู้สึกโชคดีจัง) แต่ลูกน้องที่รับการประเมินมาแจ้งว่าจะเชิญลูกน้องของเราที่อยู่ในสำนักงานไปร้านอาหารนั้นด้วยเพื่อฉลองความสำเร็จ เราก็บอกปฏิเสธไปว่าน้องที่ทำงานในสำนักงานเขาไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องอะไรกับการประเมินครั้งนี้ อีกทั้งถ้าออกไปรับประทานอาหารกลางวันก็มักจะกลับเข้ามาทำงานไม่ทันเวลาช่วงบ่าย และทางฝ่ายงานของเราก็ไม่ได้ส่งเสริมให้มีกิจกรรมที่ปลูกฝัง ยึดติดกับการเลี้ยงฉลองที่มักจะเลยเถิดเรื่องของมึนเมา อีกอย่างถ้ามีคนไปร่วมมากก็จะต้องเสียค่าใช้จ่ายมาก สิ้นเปลืองกันมากไปอีก อีกอย่างมักจะเกิดเหตุการณ์ทะเลาะวิวาทกันภายในครอบครัวของคนที่ไปร่วมงานหลายครั้ง เพราะจะพากันกลับบ้านค่ำมืดหรือจนดึกดื่น ไม่สนใจและละเลยหน้าที่ของตนในครอบครัว ซึ่งก็ดูเหมือนเขาจะเข้าใจในเหตุผลที่เราบอกไป…เมื่อเรากลับถึงสำนักงานซึ่งก็เป็นเวลาใกล้พักกลางวัน ลูกน้องในสำนักงานมาบอกว่าคนที่รับการประเมินส่งข้อความมาบอกให้ไปร่วมรับประทานอาหารกลางวันด้วย โดยได้สั่งอาหารเครื่องดื่มไว้รอแล้วด้วย ซึ่งในใจพวกเขาก็ไม่อยากออกไปเพราะช่วงบ่ายมีงานต้องเคลีย เนื่องจากสุดสัปดาห์นี้มีวันหยุด 4 วัน เกรงว่าจะมีงานค้าง…ความรู้สึกปิ้ดขึ้นมาในใจเลย อีกแล้วหรือ..คนนี้อีกแล้วหรือ..สัปดาห์ก่อนที่ส่งการบ้านก็คนนี้นะ …เฮ้อเมื่อไหร่จะเชื่อฟังที่เราพูดสักที…ต้องคนนี้อีกกี่ทีกัน…

ทุกข์ : รู้สึกขัดใจ ขุ่นในใจ คนนี้อีกแล้ว

สมุทัย : ยึดว่าลูกน้องเชื่อฟังและทำตามจะสุขใจ ลูกน้องไม่เชื่อฟัง ไม่ทำตามจะทุกข์ใจ

นิโรธ : ลูกน้องจะเชื่อฟัง และทำตามหรือไม่ เราก็ไม่ทุกข์ใจ

มรรค : พิจารณาเรื่องความดื้อ (ไม่เชื่อฟัง)ของคนเรา ช่างมีมากมายมหาศาล เหมือนไม่รู้จบสิ้นจริง ๆ แม้คนเดียวกันก็สามารถดื้อในเหตุการณ์เดียวกันได้ซ้ำ ๆ แล้วโลกใบนี้มีคนหลายล้านคนแล้วไอ้เจ้าความดื้อนี่เขาจะมีมากขนาดไหนกัน นี่ไงที่อ.หมอเคยบอกว่าคนเราเกิดมามีชาติภพแล้วนับครั้งไม่ถ้วน เราก็คงเป็นคนดื้อแบบนั้นมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วนเหมือนกัน แม้ชาตินี้เราเองก็เคยดื้อมาแล้วกี่ครั้งเคยนับได้บ้างไหม ตอนเด็กที่พ่อตี แม่ตี ครูตี เพราะเราดื้อไม่เชื่อฟังท่านน่ะกี่ครั้ง (ซึ่งก็ไม่ค่อยจะจำ ดื้อซ้ำ ทำซ้ำอยู่นั่นแหละ) กลับมามอง มาพิจารณาที่ตัวเรา…โห นี่มันเราชัด ๆ ..ไปบอกเขาใหม่ก็ได้นี่ บางครั้งกับบางคนอาจต้องพูดซ้ำหลายครั้งเขาถึงจะเข้าใจและทำอย่างที่เราต้องการ..บางทีตอนที่เราพูดเขาอาจจะไม่เข้าใจหรือสนใจฟัง หรือฟังไม่ชัด ก็เลยส่งข้อความกลับไปบอกเขาอีกครั้งว่า เราไม่อนุญาตให้เด็กในสำนักงานออกไปร่วมทานกลางวันด้วยนะ มีงานต้องเคลียให้เสร็จหลายอย่าง …แล้วหันมาหน้าตัวเองในกระจกเงาบนโต๊ะทำงาน ยิ้มให้คนในนั้นแล้วคิดในใจว่า อดทน สู้ ๆ นะ น่าจะได้เจอแบบนี้อีกหลายครั้งล่ะ….

7. ยอมให้จริง

ปกติเวลาโทรกลับไปบ้านเพื่อคุยกับแม่ จะเลี่ยงที่จะคุยเรื่องธรรมะกับพี่ จะคุยเท่าที่จำเป็นที่เกี่ยวกับการงานเท่านนั้น เพราะก่อนหน้านี้เวลาคุยธรรมะกันทีไร ความเห็นจะไม่ตรงกันสักที พี่จะพยายามพูดกับเราและกับใคร ๆ ตลอดว่า ตนเองรู้ธรรมอย่างนั้นอย่างนี้ อยากให้เราเคารพเขา ซึ่งเราก็เคารพในส่วนที่เขาเป็นพี่ชายและในส่วนดีของพี่อยู่ แต่เนื่องจากในมุมนี้เราเห็นว่าการกระทำกับคำพูดของพี่มันไม่สอดคล้องกันเอาเสียเลย มันต่างจากที่อาจารย์หมอเขียวและพ่อครูสมณะโพธิรักษ์สอนเอาไว้มาก คือภาษาน่ะใช่แต่การกระทำไม่ใช่ แต่เข้าใจว่าตนเองบรรลุธรรมขั้นสูงแล้ว และบ่อยครั้งเราก็มีกิเลสไปค้านพี่ว่าการกระทำกับคำพูดพี่ไม่สอดคล้องกันเลย แต่พี่ก็ไม่ยอมรับหรอก ก็เลยกลายเป็นว่าสวนกันไปสวนกันมา คือไม่มีใครยอมใคร จนเมื่อปี 2562 ได้ปรึกษาหมู่มิตรดี ท่านก็แนะนำว่า อย่าไปอะไรกับพี่เขา ก็ให้พี่เขาเป็นของเขาแบบนั้นไป คือ ให้เรายอม ให้เราวางใจที่เรา จึงได้ตั้งอธิศีลสำรวมกายวาจาใจกับพี่เขา

จนมาครั้งนี้ ก็เช่นกัน แม่ก็คุยกับเราไปแล้วก็สอนงานที่พี่เขายังทำไม่เป็นไปและติติงข้อที่แม่เห็นว่าไม่ดีและสอนไปด้วย แต่พี่เขาก็สวนแม่ทุกคำอยู่สักพักหนึ่ง เราก็หลุดช่วยแม่พูด แต่ดูแล้วไม่ได้ผล ก็เลยบอกพี่ไปว่าตอนนี้ทางสถาบันวิชชารามเขามีให้นักศึกษาส่งการบ้านอริยสัจ 4 ออนไลน์ได้ดวยนะ ถ้าสนใจก็ลองเข้าไปดูเผื่อจะไปร่วมกิจกรรมบ้าง อาจารย์ก็สนับสนุนให้ทำ แต่พี่เขาสวนกลับมาทันทีว่า ก็ไม่ทุกข์อะไรแล้วจะไปดูทำไม เราก็ตอบพี่ไปว่าคนที่ไม่มีทุกข์อะไรนี่มันคนที่หมดกิเลสหมดแล้วนี่พระอรหันต์เลยนะพี่ พี่ก็สวนกลับมาว่าอีกว่า แล้วน้องรู้ได้ยังไงว่าพี่ไม่ใช่ ซึ่งเราฟังแล้วก็รู้สึกขัดใจ แต่พอมีสตินึกถึงคำเตือนของหมู่มิตรดีขึ้นมาก็เลยหยุดและบอกว่ายอมแล้ว เพราะถ้าตอบไปอีกก็จะยาว แต่ก็รู้ตัวว่าการยอมของเรามันยังไม่ใช่ยอมที่ถึงใจหรอกแต่ยอมเพื่อให้สงบเท่านั้น

ทุกข์ : ขัดใจ ที่พี่พูดเชิงว่าตนบรรลุธรรมทั้ง ๆ ที่เราเห็นว่าไม่ใช่ความจริง

สมุทัย : อยากให้พี่ยอมรับความจริงว่าพี่เขามีแต่ภาษา ที่กำลังหลงว่าตนบรรลุธรรมอยู่ ยึดว่าคนที่บรรลุธรรมจริง การกระทำกับคำพูดจะต้องสอดคล้องกัน

นิโรธ : พี่จะยอมรับหรือไม่ยอมรับ จะบรรลุธรรมจริงหรือไม่ ก็ไม่ทุกข์ใจ

มรรค : แทนที่เราจะเมตตาเข้าใจและทำใจยอมรับความจริงตามความเป็นจริง เรากลับโง่หลงไปถือสาพี่ โลภจะเอาจากพี่ กดดันบีบคอพี่ เพื่อจะให้ได้สมใจ คือจะให้พี่ยอมรับให้ได้ว่าพี่กำลังหลงอยู่นะ ไปอยากได้ ในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้อยู่นั่นแหละ เรานี่ทั้งโง่ทั้งชั่วจริงๆ ทำไม รับไม่ได้หรือไงถ้าพี่จะบรรลุธรรมจริง ก็ถ้าพี่จะเป็นพระอรหันต์จริง ก็เป็นดีของพี่ เป็นเรื่องที่น่าอนุโมทนาไม่ใช่หรือ และถึงแม้จะไม่จริง ก็ไม่เห็นเป็นไรนี่ มันก็เป็นไม่ดีของพี่เป็นวิบากของพี่ ไม่เกี่ยวกับเรา เราจะมาทุกข์ใจทำไม น่าเห็นใจด้วยซ้ำ เราควรจะเมตตาปรารถนาดี และวางใจให้ได้สิจึงจะถูก นี่ถ้าเป็นคนอื่นเราจะทุกข์ขนาดนี้ไหมนี่ ก็ไม่นะ อ้อที่เราทุกข์ก็เพราะยึดว่าเขาเป็นพี่เรานี่เอง

อาจารย์ท่านก็สอนอยู่เสมอว่า ไม่มีชีวิตใดที่เกิดมาแล้วอยากโง่อยากชั่วอยากพร่องอยากพลาดหรอก แต่ทุกชีวิตก็ต้องโง่ต้องชั่วต้องพร่องต้องพลาดไปตามแรงอวิชชา ตามแรงวิบาก ตามกิเลส ที่หลงไปสั่งสมมา กว่าที่ชีวิตๆหนึ่งจะฝึกพัฒนาไปถึงอีกจุดหนึ่งได้นี่มันไม่ใช่เรื่องง่าย คนที่เขาเป็นอย่างนั้น ชาติก่อนเขาก็เป็นอย่างนั้นชาติก่อนๆเขาก็เป็นอย่างนั้นแหละ เพราะฉะนั้นอย่าโง่คิดที่จะไปเปลี่ยนใคร ที่สำคัญ เราเองก็เคยหลงโง่หลงชั่วหลงพลาดหลงพร่องมาเหมือนกันนั่นแหละ แม้ในชาตินี้เราจะไม่พร่องในมุมนี้แล้วก็ดีแล้วนี่ แต่เราก็ยังมีมุมที่ยังโง่ยังชั่วยังพลาดและยังพร่องในมุมอื่นๆอยู่อีกมากมาย เมื่อคิดได้ดังนี้จึงได้ตั้งจิตใหม่ คือ ขอสำนึกผิด ขอโทษขออโหสิกรรมกับพี่ ตั้งจิตเคารพในส่วนดีเมตตาในส่วนด้อยและปรารถนาให้พี่คิดได้คิดดีคิดถูกให้ไว ๆ แล้วก็วางใจให้เป็นไปตามวิบากดีร้ายของพี่ไป และตั้งอธิศีลสังวรอินทรีย์จะพยายามมีสติสำรวมกาวาจาใจกับพี่เขาต่อไป

สรุป เมื่อพิจารณามาถึงขั้นนี้ ก็สามารถทำให้ความทุกข์ความคา ใจในครั้งนี้สลายไปได้หมด แต่ก็ต้องมาดูกันอีกว่าผัสสะกับพี่ในคราวต่อๆไป เราจะยังทุกข์อยู่อีกไหม จะคุมกระบี่ได้ไหม ทุกข์จะลดลงหรือเพิ่มขึ้นอย่างไร ก็ค่อยมาดูกันอีกทีตามจริงในคราวต่อไป ทุกข์ครั้งนี้ทำให้ได้เรียนรู้ว่า อย่าโง่ไปเสียเวลาอย่าไปเอาจริงเอาจังเอาเป็นเอาตายในการเคี่ยวเข็ญให้คนอื่นพ้นทุกข์ แต่จงทุ่มโถมเวลาและเอาจริงเอาจังเอาเป็นเอาตายกับการขัดเกลาเคี่ยวเข็ญให้ตนเองพ้นทุกข์ไปตามลำดับดีกว่า คือ ทำนาตัวเองให้ดีที่สุดเท่าที่เสามารถทำได้ดีกว่า

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *